อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

พระเถรีสมัยพุทธกาล

<< < (9/12) > >>

ฐิตา:




สิงคาลมาตาออกบวช

ต่อมา สิงคาลมาตา หลังจากที่สามีได้ถึงแก่กรรมแล้ว และบุตรชายของนาง
ก็เข้าถึงพระรัตนตรัย นางได้ฟังพระธรรมกถาของพระบรมศาสดา
แล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างแรงกล้า จึงเข้าไปกราบทูลขอบรรพชา
อุปสมบทในพระพุทธศาสนาต่อพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงอนุญาต
ให้ไปบวชในสำนักภิกษุณีสงฆ์ ครั้นบวชแล้วศรัทธาของนางกลับเพิ่มทวียิ่งขึ้น

วันหนึ่ง นางไปยังพระวิหารที่ประทับของพระบรมศาสดาเพื่อฟังธรรม
เมื่อเห็นพระพุทธองค์เท่านั้น ยังมิทันที่จะเข้าไปกราบถวายบังคม
ได้แต่ยืนเพ่งมองดู
พระสิริสมบัติของพระทศพล อยู่ด้วยกำลังศรัทธาอย่างแรงกล้า

ขณะนั้น พระบรมศาสดาทรงทราบว่านางเป็นผู้ดำรงมั่นในศรัทธา
จึงตรัสพระธรรมเทศนาอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส แม้นางเองก็อาศัย
ศรัทธาเป็นที่ตั้ง
ส่งจิตไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ได้บรรลุพระอรหัตผลในขณะที่ยืนอยู่นั้น

ในสมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวัน เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณี
ทั้งหลายในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ ได้ทรงสถาปนา พระสิงคาลมาตาเถรี
ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่า
ภิกษุณีสาวิกาทั้งหลายในฝ่ายศรัทธาวิมุตติ คือ ผู้หลุดพ้นกิเลสด้วยศรัทธา 



ที่มา : www.84000.org
Credit by : http://www.puansanid.com/forums/showthread.php?s=01240d71241e01926ba1b75189f2a204&t=8994&page=2
Pics by : Google
ขอบพระคุณที่มาทั้งหมดมากมาย
อนุโมทนาสาธุค่ะ


แก้วจ๋าหน้าร้อน:
 :13: อนุโมทนาครับพี่แป๋ม^^

ฐิตา:




พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
เอตทัคคะในฝ่ายผู้รัตตัญญู
พระมหาปชาบดีเถรี เป็นราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งพระนครเทวทหะ เป็นพระกนิษฐภคินีของพระนางสิริมหามายา ( พุทธมารดา) พระประยูรญาติถวายพระนามว่า “ โคตมี ” เป็นทั้งพระน้านางและมารดาเลี้ยง

พระนางสิริมหามายาทรงอภิเษกเป็นพระมเสีของพระเจ้าสุทโธทนะศากยราช แห่งพระนครกบิลพัสดุ์ ต่อมาพระบรมโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายาราชเทวี พอประสูติพระราชโอรสคือเจ้าชายสิทธิธัตถะได้เพียง ๗ วัน พระนางสิริมหามายาราชเทวี ก็สวรรคตไปบังเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดุสิต พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบการเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้มีศักดิ์เป็นพระมาตุจฉา ( พระน้านาง ) ซึ่งต่อมมาได้สถาปนาพระนางไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี และได้ประสูติพระราชโอรสนามว่า “ นันทกุมาร ” และพระธิดานามว่า “ รูปนันทา ”

ครั้นเมื่อพระบรมโพธิสัตว์เสด็จออกผนวชได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว เสด็จโปรดพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัพดุ์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนคร และทรงแสดงธรรมกถาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ในระหว่างถนน ให้ดำรงอยู่ในอริยภูมิชั้นพระโสดาบัน ครั้นวันที่ ๒ เสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระน้านางยังพระบิดาให้ดำรงอยู่ในพระสกทาคามี ยังพระน้านางให้บรรลุพระโสดาปัตติผลและในวันรุ่งขึ้น ทรงแสดงมหาปาลชาดกโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พอจบลงพระพุทธบิดาทรงบรรลุเป็นบุคคลชั้นพระอนาคามี

ขอบวชแต่ผิดหวัง
ในวันที่ ๔ แห่งการเสด็จโปรดพระประยูรญาติ พระพุทธองค์เสด็จไปในพิธีอาวาหมงคลอภิเษกสมรสนันทกุมารพระอนุชาต่างพระมารดา กับพระนางชนบทกัลยาณี เมื่อพิธีอาวาหมงคล พระพุทธองค์ได้นำนันทกุมารไปบวชในวันนั้น ครั้นถึงวันที่ ๗ แห่งการเสด็จกบิลพัสดุ์ ได้ทรงพาราหูลกุมารออกบรรพชาเป็นสามเณรอีก จึงยังความเศร้าโศกให้บังเกิดแก่พระเจ้าสุทโธทนะยิ่งนักเพราะเกรงว่าจะขาดรัชทายาทสืบสันติวงศ์

ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะได้บรรลุพระอรหัตผลแล้วเข้าสู่ปรินิพพาน เมื่อมีการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นลงแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีรู้สึกว้าเหว่พระทัย มีพระประสงค์จะทรงผนวชในพระพุทธศาสนาจึงเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่นิโครธาราม กราบทูลขออุปสมบท แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้สัตรีบวชในพระพุทธศาสนา พระนางกราบทูลอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่เป็นผล รู้สึกผิดหวังเศร้าโศกโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงกราบทูลลาเสด็จกลับพระราชนิเวศน์

พระบรมศาสดาประทับ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ โดยสมควรแก่พระอัธยาศัยแล้ว พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวาร เสด็จไปยังพระนครเวสาลีประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน

พระอานนท์ช่วยกราบทูลจึงได้บวช
ขณะนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีผู้มีพระทัยศรัทธา รับสั่งให้ช่างกัลบกมาปลงพระเกษาแล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ นำพาศากยนารีเป็นบริวารประมาณ ๕๐๐ พระองค์ ( นางกษัตริย์เหล่านี้สวามีออกบวชไปก่อนแล้ว ) เสด็จมุ่งตรงไปยังเมืองเวสาลีแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลอ้อนวอนขออุปสมบท ถึงอย่างนั้น พระองค์ก็ยังไม่ทรงอนุญาต จึงเสด็จออกมายืนร้องไห้อยู่ที่หน้าซุ้มประตู ขณะนั้นพระอานนท์ผ่านมาพบจึงสอบถามความโดยตลอดแล้ว พระเถระรู้สึกสงสารคิดจะช่วยพระนาง จึงเข้าเฝ้ากราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า
“ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถ้าสตรีบวชในพระศาสนาแล้ว อาจทำให้แจ้งซึ่งพระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิผล พระอนาคามิผล และพระอรหัตผลได้หรือไม่พระเจ้าข้า ? ”
“ ดูก่อนอานนท์ อาจทำให้แจ้งได้เหมือนบุรุษเพศทุกประการ ”
“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้นควรจะอนุเคราะห์แก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้เป็นคุณูปการบำรุงเลี้ยงดูพระองค์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ให้สมปรารถนาด้วยเถิด พระเจ้าข้า ”
“ ดูก่อนอานนท์ ถ้าปชาบดีโคตมีรับประพฤติครุธรรม ๘ ประการได้ ตถาคตก็อนุญาตให้อุปสมบทได้ ”

ลำดับนั้น พระเถระได้ศึกษาครุธรรม ๘ ประการ จากพระผู้มีพระภาคโดยลำดับ คือ
๑ ภิกษุณี แม้อุปสมบทแล้วได้ ๑๐๐ พรรษา ก็พึงเคารพกราบไหว้ พระภิกษุ แม้อุปสมบทได้วันเดียว
๒ ภิกษุณี จะอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีพระภิกษุนั้นไม่ได้ ต้องอยู่ในโอวาสที่มีพระภิกษุ
๓ ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับฟังโอวาทจากสำนักภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔ ภิกษุณี อยู่จำพรรษาแล้ว วันออกพรรษาต้องทำปวารณาในสำนักสงฆ์ทั้งสองฝ่าย ( ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)
๕ ภิกษุณี ถ้อต้องอาบัติสังฆาทิเสส อยู่ปริวาสกรรมต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย

๖ ภิกษุณี ต้องอุปสมบทในสำนักสงฆ์สองฝ่าย หลังจากเป็นนางสิกขมา มารักษาสิกขาบท ๖ ประการ คือ
๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๒ เว้นจากการลักขโมย ๓ เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
๔ เว้นจากการพูดเท็จ ๕ เว้นจากการดื่มสุราเมรัยและของมึนเมา ๖ เว้นจาการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล
ทั้ง ๖ ประการนี้ มิให้ขาดตกบกพร่องเป็นเวลา ๒ ปี ถ้าบกพร้องในระหว่าง ๒ ปี ต้องเริ่มปฏิบัติใหม่

๗ ภิกษุณี จะกล่าวอักโกสกาถาคือด่าบริพาษภิกษุ ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้
๘ ภิกษุณี ตั้งแต่วันอุปสมบทเป็นต้นไป พึงฟังโอวาทจากภิกษุเพียงฝ่ายเดียว จะให้โอวาสภิกษุมิได้

พระเถระจดจำนำเอาครุธรรมทั้ง ๘ ประการนี้มาแจ้งแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางได้สดับแล้วมีพระทัยผ่องใสโสมนัสยอมรับปฏิบัติได้ทุกประการ พระพุทธองค์จึงประทานการอุปสมบทให้แก่พระน้านางสมเจตนาพร้อมทั้งศากยขัตติยนารีที่ติดตามมาด้วยทั้งหมด

เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้อุปสมบทสำเร็จเป็นภิกษุณีแล้วเรียนพระกรรมฐานในสำนักพระบรมศาสดา อุตสาห์บำเพ็ญเพียรด้วยความไม่ประมาทไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยภิกษุณีบริวารทั้ง ๕๐๐ รูป และได้บำเพ็ญกิจพระศาสนาเต็มกำลังความสามารถ

ลำดับต่อมมา เมื่อพระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงสถาปนาภิกษุณีในตำแหน่งเอตทัคคะหลายตำแหน่ง พระพุทธองค์ทรงพิจราณาเห็นว่า พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เป็นผู้มันวัยวุฒิสูง คือรู้กาลนาน มีประสมการณ์มาก รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ มาตั้งแต่ต้น จึงทรงสถาปนาพระนางในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้รัตตัญญู คือ ผู้รู้ราตรีนาน........

dhammajak.net




พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
.......พระเถรีแม้รูปนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตระ ก็ยังเกิดในเรือนผู้มีสกุล กรุงหังสวดี รู้เดียงสาแล้วกำลังฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศของภิกษุณีผู้รัตตัญญู ทำกุศลกรรมให้ยิ่งยวดขึ้นไปแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น ทำบุญมีทานเป็นต้นจนตลอดชีวิต เที่ยวเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ตลอดแสนกัป ได้บังเกิดเป็นหัวหน้าทาสี ๕๐๐ ในกรุงพาราณสี ในโลกซึ่งว่างพระพุทธเจ้าในระหว่างพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า กัสสปะ กับพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งเราทั้งหลาย

ครั้งนั้นนางได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕ องค์ในวันเข้าพรรษา ลงจากเงื้อมเขานันทมูลกะมาที่อิสิปตนะ แล้วเที่ยวบิณฑบาตในเมือง ก็กลับไปอิสิปตนะอีก แสวงหาหัตถกรรมเพื่อสร้างกุฏิใน วันเข้าพรรษา ได้ชักชวนหญิงรับใช้เหล่านั้นและสามีของตนให้ช่วยกันสร้างกุฏิ ๕ หลัง พร้อมด้วยบริวารมีที่จงกรมเป็นต้น ตั้งเตียงตั่งน้ำฉันน้ำใช้และภาชนะเป็นต้นไว้เสร็จ นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าเพื่ออยู่ จำพรรษาตลอดไตรมาสในที่นั้นนั่นเอง

จึงตั้งภิกษาไว้ถวายตามวาระกัน หญิงคนใดไม่สามารถจะถวายภิกษาในวันที่ถึงวาระของตนได้ นางก็นำเอาภิกษาจากเรือนของตนไปถวายแทน นางปฏิบัติอยู่อย่างนี้ตลอดไตรมาส เมื่อถึงวันปวารณาให้นางทาสีแต่ละคนสละผ้าสาฏกคนละผืน รวมเป็นผ้าสาฏก เนื้อหยาบ ๕๐๐ ผืน ให้จัดผ้าเหล่านั้นทำเป็นไตรจีวรถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕ องค์ พระปัจเจก-พุทธเจ้าทั้ง ๕ องค์ ได้เหาะไปสู่ภูเขาคันธมาทน์ต่อหน้าหญิงเหล่านั้นแล

หญิงเหล่านั้นทุกคนได้ทำกุศลจนตลอดชีวิตแล้วไปบังเกิดในเทวโลก หัวหน้าหญิงเหล่านั้นจุติจากเทวโลกนั้นไปบังเกิดในเรือนของหัวหน้าช่างหูกในหมู่บ้านช่างหูก กรุงพาราณสี รู้เดียงสาแล้วได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระนางปทุมวดี รู้สึกนึกรัก ไหว้ท่านทุกองค์แล้วถวายภิกษา ท่านฉันเสร็จ ก็กลับไปยังภูเขาคันธมาทน์

หญิงหัวหน้าทาสีนั้น ทำกุศลจนตลอดชีวิต เที่ยวเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ ถือปฏิสนธิในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ามหาสุปปพุทธะ กรุงเทวทหะ ก่อนแต่พระศาสดาของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติ ได้มีพระนามตามโคตรว่า โคตมี เป็นกนิษฐภคนีของ พระนางมหามายา แม้พวกหมอดูลักษณะได้พยากรณ์ไว้ว่า ทารกทั้งหลายที่อยู่ในท้องของหญิงทั้งสองนี้จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงทำมงคลทั้งสองพระองค์แล้ว นำไปยังพระราชมณเฑียรของพระองค์ในเวลาเจริญพระชนม์

ต่อมาเมื่อพระศาสดาของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้น ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ ทำการอนุเคราะห์โปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายในที่นั้นๆ โดยลำดับ ทรงอาศัยกรุงเวสาลี ประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงทำให้แจ้งพระอรหัตแล้ว เสด็จปรินิพพานภายใต้พระมหาเศวตฉัตร

.......ครั้งนั้นพระนางมหาปชาบดีโคตมีมีพระประสงค์จะผนวช เมื่อทูลขอบรรพชากะพระศาสดาครั้งแรกไม่ได้ ครั้งที่สองให้ตัดพระเกศาแล้วทรงนุ่งห่มผ้ากาสายะ พอจบการแสดง "กลหวิวาทสูตร" ได้เสด็จไปกรุงเวสาลีกับพวกหญิงบาทปริจาริกาของศากยกุมาร ๕๐๐ ซึ่งประสงค์จะบวชด้วยกัน ได้ให้พระอานนท์ทูลอ้อนวอนพระศาสดา จึงได้บรรพชาและอุปสมบทด้วย ครุธรรม ๘ ประการ ส่วนหญิงนอกนี้ได้อุปสมบทพร้อมกันทั้งหมด


ฐิตา:



ฝ่ายพระนางมหาปชาบดีโคตมีได้อุปสมบทอย่างนี้แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดาถวายอภิวาทแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้นพระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พระนางแล้ว พระนางทรงเรียนพระกรรมฐานในสำนักพระศาสดา พากเพียรภาวนาอยู่ไม่นานนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัตที่แวดล้อมด้วยอภิญญาและปฏิสัมภิทา ส่วนภิกษุณี ๕๐๐ ที่เหลือได้อภิญญา ๖ เมื่อจบ นันทโกวาทสูตร ภายหลังวันหนึ่ง

พระศาสดาประทับนั่งท่ามกลางหมู่พระอริยะในพระเชตวันมหาวิหาร กำลังทรงสถาปนาภิกษุณีไว้ในตำแหน่ง จึงทรงสถาปนาพระมหาปชาบดีโคตรมีเถรีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศของภิกษุณี ฝ่ายรัตตัญญู ผู้รู้ราตรีนาน พระนางทรงยับยั้งอยู่ด้วยผลสุข และด้วยนิพพานสุข ดำรงอยู่ในความกตัญญู

ในวันหนึ่ง เมื่อจะทรงพยากรณ์พระอรหัตโดยมุข คือทำการสรรเสริญพระคุณและความที่มีอุปการะก่อนแก่พระศาสดาให้แจ่มแจ้งจึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า

“ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง หม่อมฉันขอนอบน้อมแด่พระองค์ผู้ทรงช่วยปลดเปลื้องหม่อมฉันและชนอื่นเป็นอันมากให้พ้นจากทุกข์ หม่อมฉันกำหนดรู้ทุกข์ทั้งปวงแล้ว เผาตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ให้เหือดแห้งแล้ว ได้เจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ได้บรรลุนิโรธแล้ว ชนทั้งหลายเป็นมารดา เป็นบุตร เป็นธิดา เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นปู่ย่าตายายกันมาในชาติก่อนๆ หม่อมฉันไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่พบที่พึ่ง จึงท่องเที่ยวไป ก็หม่อมฉันได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล้ว

อัตภาพนี้เป็นอัตภาพสุดท้าย ชาติสงสารสิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรพระสาวกทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ มีความพร้อมเพรียงกัน การทำโลกุตรธรรมให้ประจักษ์แก่ตนอย่างนี้ เป็นการถวายบังคมต่อพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระนางเจ้ามหามายาเทวีได้ประสูติพระโคดมมา เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากหนอ เพราะพระองค์ได้ทรงบรรเทากองทุกข์ของชนทั้งหลายผู้ถูกพยาธิและมรณะทิ่มแทงแล้ว”

บางคราว พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี พระองค์เองก็ประทับอยู่ สำนักภิกษุณี กรุงเวสาลี ในเวลาเช้าเสด็จเที่ยวบิณฑบาต เสวยภัตตาหารแล้วก็ยับยั้งอยู่ด้วยสุขในผลสมาบัติตามเวลาที่กำหนดไว้ในสถานที่พักกลางวันของพระองค์ ออกจากผลสมาบัติ พิจารณาการปฏิบัติของพระองค์เกิดโสมนัส รำพึงอายุสังขารของพระองค์อยู่ ก็ทรงรู้ว่าอายุสังขารเหล่านั้นสิ้นแล้ว ทรงดำริอย่างนี้ว่า

ถ้ากระไรจำเราจะไปพระวิหาร ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้ว อำลาพระเถระทั้งหลายและเพื่อนสหพรหมจารีทุกรูป ซึ่งเป็นที่เจริญใจของตน พึงมาปรินิพพานเสียในที่นี้นี่แหละ ภิกษุณี ๕๐๐ รูป ผู้เป็นบริวารของพระนางก็ได้มีความปริวิตกเหมือนพระเถรี

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นประทีปส่องโลกให้สว่างไสวเป็นสารถีฝึกนรชน ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน กรุงเวสาลี ครั้งนั้น พระมหาโคตมีภิกษุณีพระมาตุจฉาของพระชินพุทธเจ้า อยู่ในสำนักนางภิกษุณีในพระบุรีอันรื่นรมย์นั้นพร้อมด้วยภิกษุณี ๕๐๐ รูป ซึ่งพ้นจากกิเลสแล้ว พระมหาปชาบดีโคตมีนั้น อยู่ในที่สงัดตรึกนึกคิดอย่างนี้ว่า

การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าก็ดี ของพระอัครสาวกก็ดี ของพระราหุล พระอานนท์ และพระนันทะก็ดี เราจะไม่ได้เห็น จำเราที่พระโลกนาถผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ทรงอนุญาตแล้ว พึงปลงอายุสังขารแล้ว นิพพานก่อนการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าหรือคู่พระอัครสาวก พระมหากัสสป พระนันทะ พระอานนท์ และพระราหุล พระภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ได้ตรึกอย่างนั้นเหมือนกัน

ฐิตา:



แม้พระเขมาภิกษุณีเป็นต้น ก็ได้ตรึกเช่นนี้เหมือนกัน ครั้งนั้นเกิดแผ่นดินไหว กลองทิพย์ บันลือลั่นขึ้นเอง ทวยเทพที่สิงอยู่ในสำนักภิกษุณี ถูกความโศกบีบคั้น พร่ำเพ้ออยู่อย่างน่าสงสาร หลั่งน้ำตาแล้วในที่นั้น ภิกษุณีทุกๆ รูป พร้อมด้วยทวยเทพเหล่านั้นเข้าไปหาพระมหาโคตมีภิกษุณี ซบศีรษะแทบพระบาทแล้วกล่าวว่า

“ข้าแต่พระแม่เจ้า พวกเราถูกหยดน้ำคือวิมุตติรดแล้วในสำนักพระภิกษุณีนั้นมาด้วยกัน อยู่ในที่ลับ แผ่นดินนั้นก็ไหวหวั่นสั่นสะเทือน กลองทิพย์ ก็บันลือลั่นขึ้นเอง และเราได้ยินเสียงคร่ำครวญ ข้าแต่พระโคตมีจะต้องมีเหตุอะไรเกิดขึ้นแน่”

ครั้งนั้นพระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณีได้ตรัสบอกถึง เหตุตามที่ตนปริวิตกแล้วทุกประการ ลำดับนั้นพระภิกษุณีทุกๆ รูป ก็ได้บอกถึงเหตุที่ตนปริวิตกแล้วกล่าวว่า

“ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าพระแม่เจ้าชอบใจการนิพพานอันเกษมอย่างยิ่งไซร้ ถึงข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักนิพพานกันหมด ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงพระอนุญาต พวกข้าพเจ้าได้ออกจากเรือนจากภพพร้อมด้วยพระแม่เจ้า ก็จักไปสู่นิพพานบุรี อันยอดเยี่ยมพร้อมๆ กันกับพระแม่เจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักไปพร้อมกับพระแม่เจ้าเหมือนกัน พระมหาปชาบดีโคตมีได้ตรัสว่า เมื่อท่านทั้งหลายจะไปนิพพานเราจักว่าอะไรเล่า” แล้วได้ออกจากสำนักภิกษุณีไปพร้อมกับภิกษุณีทั้งหมด

ในครั้งนั้นพระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณีได้กล่าวกะทวยเทพทั้งหลายที่สิงอยู่ ณ สำนักภิกษุณีว่า “จงอดโทษแก่เราเถิด การเห็นสำนักภิกษุณีของเรานี้ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย ในที่ใดไม่มีความแก่หรือความตาย ไม่มีการประกอบด้วยสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รัก ไม่มีการพลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก ที่นั้นนักปราชญ์กล่าวว่า เป็นอสังขตสถาน”

พระโอรสของพระสุคตทั้งหลายที่ยังไม่ปราศจากราคะ ได้สดับคำของพระนางนั้นเป็น ผู้โศกกำสรดปริเทวนาการว่า น่าสังเวชหนอ พวกเราเป็นคนมีบุญน้อย สำนักนางภิกษุณีนี้จะว่างเปล่า เว้นภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีผู้ชิโนรสจะไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนดวงดาวทั้งหลายไม่ปรากฏในเวลาสว่างฉะนั้น พระโคตมีภิกษุณีจะไปสู่นิพพานพร้อมกับภิกษุณี ๕๐๐ รูป เหมือนกับแม่น้ำคงคาไหลไปสู่สาครพร้อมกับแม่น้ำ ๕๐๐ สาย ฉะนั้น

อุบาสิกาทั้งหลายผู้มีศรัทธาเห็นพระโคตมีภิกษุณีนั้น กำลังเสด็จไปตามถนนได้พากันออกจากเรือนหมอบแทบเท้าแล้วกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าทั้งหลายเลื่อมใสในพระแม่เจ้า พระแม่เจ้าจะละทิ้งข้าพเจ้าทั้งหลายไว้ให้เป็นคนอนาถาเสียแล้ว พระแม่เจ้ายังไม่สมควรที่จะปรินิพพาน”

อุบาสิกาเหล่านั้นถูกความอยากให้ท่านอยู่บีบคั้น แล้วเพื่อจะให้อุบาสิกาเหล่านั้นละเสียซึ่งความโศก พระเถรีจึงได้กล่าวอย่างเพราะพริ้งว่า

“อย่าร้องไห้ไปเลยลูกเอ๋ย วันนี้เป็นเวลารื่นเริงของท่านทั้งหลาย ความทุกข์เราก็กำหนดรู้แล้ว ตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เราก็เว้นขาดแล้ว ความดับทุกข์เราก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว ทั้งมรรค เราก็ได้อบรมดีแล้ว พระศาสดาเราก็ได้บำรุงแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราก็ได้ทำเสร็จแล้ว ภาระอันหนักเราก็ปลงลงแล้ว ตัณหาอันนำไปในภพเราก็ถอนเสียแล้ว คนทั้งหลายออกจากเรือนบวชไม่มีเรือน เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราก็บรรลุแล้วโดยลำดับ สังโยชน์ทุกอย่างก็หมดไป

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version