อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล
พระเถรีสมัยพุทธกาล
ฐิตา:
เมื่อสมเด็จบรมขัตติยธิราชได้สดับว่า สมเด็จพระลูกยาเสด็จเที่ยวภิกขาจารโคจรบิณฑบาตเช่นนี้ ความที่ไม่ทรงทราบอะไร ก็ทรงมีพระหฤทัยกอบไปด้วยความสังเวชอดสูอยู่หนักหนา ทรงรีบอุฏฐาการลุกจากพระแท่นที่ พระหัตถ์ทรงผ้าสาฎกสะพักพระองค์เสด็จลงจาก ราชนิเวศน์บทจรโดยด่วน ไปหยุดยืนอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดาแล้วทรงตัดพ้อต่อว่าด้วยความน้อยพระราชหฤทัย
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ไฉนพระองค์จึงมาทรงกระทำให้บิดาได้รับความอายขายหน้าเป็นอัปยศ มาเที่ยวบทจรบิณฑบาตอันเป็นการมิสมควรแก่ราชสกุลเช่นนี้เล่า หรือสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงเข้าพระทัยว่า บิดานี้ มิอาจที่จะยังพระภิกษุสงฆ์องค์บริวารประมาณ ๒๐,๐๐๐ องค์ ให้ได้ขบฉันภัตตาหารเป็นการเพียงพอหรือไร ขอพระองค์จงอย่าได้ทรงกระทำอย่างนี้เลย พระเจ้าข้า"
สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงมีพระราชดำรัสตรัสตอบพระพุทธบิดาว่า
"ดุกรบพิตรพระราชสมภาร อันว่ามหาสมมติวงศ์ศักยราชนี้ หาใช่วงศ์ประเวณีแห่งตถาคตไม่ วงศ์ประเวณีแห่งตถาคตเป็นอีกวงศ์หนึ่งต่างหาก จริงอยู่ สมเด็จพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งปวง จำเดิมแต่พระพุทธทีปังกรเป็นต้น ลงมาจนตราบถึงพระพุทธกัสสปะย่อม สำเร็จกิจเลี้ยงชีวิตด้วยสปทานจาริกภิกขาจาริกวัตรทั้งสิ้น อันนี้เป็นวงศ์ประเวณีแห่งอาตมาตถาคต
ดูกรบพิตรพระราชสมภาร กาลเมื่อตถาคตประสูติ ณ ภายใต้มงคลสาลพฤกษ์ในป่าลุมพินีวัน บังเกิดบุรพนิมิตเป็นมหัศจรรย์ ๓๒ ประการ ขณะนั้น ก็ยังชื่อว่าประดิษฐานอยู่ในมหาสมมติวงศ์ศักยราช และกาลเมื่อออกสู่มหาภิเนษกรมณ์กระทำทุกกรกิริยาจนนิสัชนาการ เหนือวชิรบัลลังก์ ยังพญามารและพลมารให้อัปราชัย จวบจนได้รู้แจ้ง ในปุพเพนิวาสานุสติญาณตอนปฐมยาม ครั้นล่วงเข้ามัชฌิมยามได้บรรลุทิพยจักษุแลทิพยโสตญาณตอนนั้น ก็ยังชื่อว่าประดิษฐานอยู่ในมหาสมมติวงศ์ศักยราช ยังมิได้ขาดจากวงศ์เดิมนั้น
กาลเมื่อพิจารณาพระปฏิจจสมุปบาทปัจจยาการ ตอนปัจฉิมยามเพลาตามอรุณสมัยไขแสงทองสว่างอร่ามฟ้า ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสัพพัญญุตญาณ กาลนั้นเป็นอันว่ามหาสมมติวงศ์ศักยราชก็ขาดสูญประดิษฐานอยู่ในพระพุทธวงศ์อันประเสริฐจำเดิมแต่นั้นมา"
เมื่อมีพระพุทธฎีกาตรัสบอกฉะนี้แล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธบิดาด้วยสารพระคาถาว่า อุตฺติฏเฐ นปฺปมชุเชยฺย เป็นอาทิ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า บุคคลผู้ใดมิได้ประมาทในความเพียร อุตสาหะประพฤติในสุจริตธรรม และบุคคลผู้นั้นก็จะนิปัชชนาการเป็นสุขสำราญในอิธโลกและปรโลกเบื้องหน้า พอจบพระคาถาลง องค์บรมกษัตริย์สิริสุทโธทนะพระพุทธบิดาก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติญาณ อันเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติที่ ๑ ในพระพุทธศาสนา สำเร็จเป็นพระโสดาบัน อริยบุคคลแล้ว จึงทรงรับเอาบาตรและอาราธนาสมเด็จพระสัพพัญญูพร้อมทั้งหมู่อริยสงฆ์บริษัทให้ขึ้นสู่ปราสาท แล้วทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหาร เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์และพระอริยสงฆ์เสร็จภัตกิจแล้ว จึงหมู่นางพระสนมทั้งปวงมีพระมหาปชาบดีเป็นประธาน ก็พากันมาถวายนมัสการด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เว้นแต่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพิมพาราชเทวี มิได้เข้ามาเฝ้ากับเขาทั้งหลายในขณะนี้เพียงแต่มีเสาวนีย์สั่งมาว่า
"อันตัวพิมพานี้ ถ้ามีความชอบอยู่บ้าง แม้นว่าสมเด็จพระสัพพัญญูเสด็จมาสู่สำนัก จึงจักได้ถวายวันทนาการพระยุคลบาทต่อภายหลัง" ดังนี้
ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันที่คำรบสอง สมเด็จพระพุทธองค์ก็ทรงพาพระอริยสงฆ์เสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์อีก ตามคำอาราธนาของพระพุทธบิดา เมื่อเสร็จภัตกิจแล้วทรงพระมหากรุณาตรัสเทศนาโปรดพระมหาปชาบดีให้ได้สำเร็จ พระโสดาปัตติผลญาณ เป็นพระโสดาบันอริยบุคคล ส่วนสมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนมหาราชพุทธบิดาผู้มีญาณูปนิสัย ก็ได้สำเร็จธรรมวิเศษสูงขึ้นอีกชั้นหนึ่งในวันนี้คือ พระองค์ได้บรรลุพระสกิทาคามิผลญาณ อันเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติที่ ๒ สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
ครั้นรุ่งขึ้น เป็นตติยวารสมัย พอพระสุริยาไขแสงส่องอร่ามฟ้า สมเด็จพระบรมศาสดาก็พาพระอริยสงฆ์เสด็จไปสู่พระราชนิเวศน์ ตามคำอาราธนาของสมเด็จพระพุทธบิดาอีกเล่า สมเด็จพระปิตุเรศเจ้าซึ่งทรงเป็นพระสกิทาคามีอริยบุคคลแล้ว ก็มีจิตผ่องแผ้วกอบด้วยพระราชศรัทธาถวายยาคูภัตตาหารอันประณีต แด่สมเด็จพระทศพลและพระอริยสงฆ์องค์บริวารจำนวน ๒๐,๐๐๐ นั้น ครั้นเสร็จภัตกิจแล้ว องค์พระประทีปแก้วสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสเทศนา มหาธรรมปาลชาดกฉลองพระราชศรัทธา พอจบพระสัทธรรมเทศนาลง องค์บรมกษัตริย์ผู้มีพระบารมีแก่กล้า ก็ได้ทรงบรรลุพระอนาคามิผลญาณ อันเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติที่ ๓ ในพระพุทธศาสนา สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลฉับพลันเป็นอัศจรรย์
แล้วจึงหันพระพักตร์เหลียวแลไปดูหมู่สนมนางในทั้งปวง เมื่อมิได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าพิมพาราชสุณิสาในระหว่างหมู่คณานางทั้งสิ้น สมเด็จพระบรมนรินทร์ปิ่นกษัตริย์สิริสุทโธทนะพระอนาคามีอริยบุคคลผู้ได้สำเร็จใหม่ จึงมีพระราชดำรัสตรัสถามไปในขณะนั้นว่า
"แม่พิมพาเทวีราชสุณิสาแห่งเรา เจ้าสถิตอยู่ ณ ที่ไหน เหตุไรจึงไม่มาเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา เพื่อสดับพระธรรมเทศนาอันประเสริฐในวันนี้ด้วยเล่า? "
ทรงมีพระราชดำรัสถามด้วยความที่ทรงห่วงใยในพระราชสุณิสาฉะนี้แล้ว ก็ดำรัสใช้เปสกาบริจาริกานางหนึ่ง ให้ไปทูลพระราชสุณิสามาในที่ประชุมนั้นโดยไว แล้วก็ทรงกราบทูลพระบรมไตรโลกนาถเจ้าว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบรมไตรโลกนาถ เจ้าพิมพาราชเทวีศรีสะใภ้แห่งบิดานี้เจ้ามีแต่ทุกข์แต่โศกมาเป็นเวลานาน วันนี้ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาอนุเคราะห์ระงับเสียซึ่งหฤทัยเจ้าศรีสะใภ้ อันหม่นไหม้ไปด้วยวิปโยคโศกีมาประมาณเจ็ดแปดปีด้วยเถิดพระเจ้าข้า บิดานี้เข้าใจว่า เจ้าพิมพาราชเทวีคงจักสิ้นอาดูรเทวษอันรุ่มร้อนหฤทัยในวันนี้เป็นแน่แท้" ดังนี้
ฐิตา:
นางเปสกานารี ได้สดับคำรำพันฉะนี้ ก็ให้แสนสุดที่จะสงสาร รีบอัญชลีคมนาการไปกราบทูลตามคำพระราชสุณิสานั้นทุกประการ ในที่เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ซึ่งเสด็จอยู่ ณ ที่นั่นเป็นมหาสันนิบาตมากมาย ทั้งพระอริยสงฆ์และอำมาตย์ราชบริพารทั้งหลาย เมื่อได้ทรงเสวนาการข่าวสารแห่งพระพิมพาราชเทวีศรีสะใภ้ยอดสงสาร สมเด็จจอมนราภิบาลบรมกษัตริย์ ก็ทรงมีพระราชดำริจะให้สมเด็จพระสัพพัญญูผู้บวรดนัยได้ทรงทราบถึงความเป็นไปแห่งเจ้าพิมพา ขณะที่พระองค์เสด็จออกบรรพชาเพื่อแสวงหาโมกขธรรม จึงกราบทูลด้วยพระวาจาพรรณนาถึงคุณเจ้าพิมพาเทวีเป็นอันมาก แล้วในที่สุดก็กราบทูลขึ้นอีกว่า
"ข้าแต่พระสัพพัญญูผู้มีเพียรพยายามชำนะแก่สงคราม และกอบด้วยพระมหากรุณา ขออาราธนาเสด็จพระพุทธลีลาสู่นิวาสสถานแห่งเจ้าพิมพาราชเทวีในกาลบัดนี้เถิดพระเจ้าข้า แม้นว่าพระชินสีหเจ้าไม่ทรงอาศัยพระมหากรุณาเสด็จไปสู่นิเวศน์ของเจ้าพิมพาด้วยพระองค์เองแล้วไซร้ ก็น่าที่เจ้าจะเสียใจโศกาดูรเดือดร้อน ด้วยความรักเป็นกำลังคับคั่งอยู่ในกมลสันดาน เห็นเที่ยงที่จะดับสูญสิ้นสังขารภายในสิริไสยาสน์นั้นเป็นมั่นคง ผิว์เจ้าพิมพาปลดปลงชีวาตม์แล้ว เห็นว่าพระหลานแก้วราหุลกุมารก็จะทำลายล้างชีวาตม์ไปตามพระชนนี เมื่อเป็นเช่นนี้ อันว่าประเวณีที่จะสืบขัตติยวงศ์ก็จะพินาศ บ่มิอาจวัฒนาถาวรสืบไป อนึ่ง ในกาลก่อนแต่เสด็จออกบรรพชา เจ้าพิมพากับ พระองค์ก็เคยสนิทเสน่หา จะได้เคลื่อนคลาดธุลีพระบาทบทมาลย์ แม้แต่สักเพลาหนึ่งก็หามิได้ ดังนั้น ในกาลบัดนี้ จึงใคร่ที่จะขอรับพระราชทานชีวาเจ้าพิมพาไว้ อย่าให้ถึงชีวิตอันตรายในครั้งนี้เลย พระเจ้าข้า"
สมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์ เมื่อได้ทรงสดับอาราธนากถา แห่งพระพุทธบิดากราบทูลฉะนี้ จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
"ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร อันคำอาราธนาที่พระองค์ดำรัสนี้ เป็นการชอบสมควรยิ่งนัก ผิว์วันนี้ ตถาคตมิได้ไปเยี่ยมเยือนถึงนิเวศนสถานแล้วไซร้ ก็น่าที่เจ้าพิมพาจะมีดวงหฤทัยภินทนาการเป็นแม่นมั่น และเจ้าพิมพาราหุลมารดานี้ เป็นผู้ที่มีคุณแก่ตถาคตเป็นอันมากมาแต่อดีตกาลประมาณกว่าแสนชาติ ในชาตินั้นๆ เมื่อตถาคตบำเพ็ญบารมีทาน มีบุตรทานเป็นต้นในชาติใด เจ้าพิมพาก็เต็มใจยินยอมพร้อมร่วมศรัทธาในมหาบริจาคด้วยดีจะได้มีจิตคิดขัด แย้งกำเริบพิโรธ และมิได้เกิดความปราโมทย์ยินดีด้วยแม้แต่สักครั้งก็หามิได้ ตั้งแต่บำเพ็ญพระบรมโพธิญาณบารมี คุณความดีของพิมพาเจ้าก็ล้ำเลิศประเสริฐโดยยิ่งจะหาสิ่งใดที่จะเปรียบปาน นั้นมิได้ จนตราบเท่าชาตินี้ถึงปรมาภิเษกสมัย ได้สำเร็จแก่พระสรรเพชญโพธิญาณเห็นปานฉะนี้ จะหาสตรีใดดุจพิมพาซึ่งมีกมลเจตนาช่วยบำรุงพระกฤษฎาภินิหารให้ได้บรรลุพระ สัพพัญญุตญาณนั้น มิได้มีเลย ผิว์ตถาคตจักเมินเฉยไม่กระทำปัจจูปการสนองคุณความดีของเจ้าในครั้งนี้ เจ้าพิมพาราชเทวีก็จะคลาดจากประโยชน์ยิ่งใหญ่ไปอย่างน่าเสียดายนัก"
เมื่อสมเด็จพระพุทธบิดา ได้เสาวนาการพระพุทธบรรหารเช่นนั้น ก็ทรงชื่นชมโสมนัสเหลือประมาณ กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ขึ้นอีกว่า
"ข้าแต่พระอนันตญาณมุนี กาลบัดนี้ สมควรแล้วที่องค์พระประทีปแก้วจะเสด็จพระพุทธลีลาศสู่ปรางค์ปราสาทแห่งเจ้าพิมพา ขออาราธนาเสด็จเถิด พระเจ้าข้า"
กาลครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์อันกตัญญูกตเวทีเข้าตักเตือนพระหฤทัยจึงเขยื้อนพระวรกายอุฏฐาการจากบวรบัญญัตตาอาสน์ ประทานบาตรทรงให้พระพุทธบิดาเสด็จบทจรตามไป โดยให้พระมหาขีณาสพทั้งหลายยังคงรออยู่ในที่นั่น มีพระพุทธบัญชาให้ตามเสด็จแต่เพียงคู่อัครสาวกทั้งสอง คือ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลาน์ทำหน้าที่เป็นปัจฉาสมณะ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่ปราสาทแห่งสมเด็จพระพิมพาราชเทวี พลางมีพระพุทธฎีกาตรัส แก่สองอัครสาวกว่า
"ดูกรสารีบุตรและโมคคัลลาน์ เจ้าพิมพาราหุลมารดานี้ เป็นสตรีมีคุณแก่ตถาคตเป็นอันมาก ในกาลบัดนี้ ผิว์นางจักจับบาทตถาคตลูบคลำสัมผัสและโศกาดูรพิลาปด้วยกำลังเสน่หา เธอทั้งสองจงอย่าได้ห้ามปราม จงปล่อยให้นางทำไปตามอัธยาศัย ให้นางพิไรรำพันปริ เวทนาการไปจนกว่าจะสิ้นโศก หากว่าจักห้ามนางในขณะนี้แล้วไซร้ นางก็จะวางวายม้วยมุดมรณาอาสัญ มิได้ทันเป็นสุพรรณภาชนะทองรองรับสดับพระธรรมเทศนา และตถาคตนี้ก็ยังประกอบไปด้วยเป็นหนี้แห่งเจ้าพิมพา ยังมิได้ปลดเปลื้องไปให้พ้น จะได้โอกาสเลิศล้นทดแทนใช้หนี้แก่เจ้าพิมพาก็แต่ในกาลครั้งนี้
อนึ่ง ตถาคตนี้ก็เป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ ปราศจากขันธสันดาน เป็นสมุจเฉทปหานสิ้นสูญมูลรากเด็ดขาด มิอาจบังเกิดเจริญอีกสืบไปในเบื้องหน้า ครุวนาดุจยอดตาลที่ถูกตัดขาดมิอาจวัฒนาการสืบไป จะได้หวั่นไหวด้วยราคาทิกิเลสนั้น ย่อมเป็นอันมิได้มีอีกดังนั้น หากเจ้าพิมพาราชเทวีที่ไม่ได้พบเห็นตถาคตมานาน เจ้าจักเข้ามาลูบคลำสัมผัสด้วยความเสน่หาตามประสาสตรี ขอเธอทั้งสองจงอย่าห้ามปรามในครั้งนี้เลย"
ตรัสบอกแก่คู่อัครสาวกผู้ทำหน้าที่เป็นปัจฉาสมณะฉะนี้แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เปล่งพระพุทธรังสีให้โอกาส เพียงดังภาณุมาสสักแสนดวงที่บังเกิดปรากฏเหนือยอดไกรลาสบรรพตมหาหิมวัตคีรี ถ่องแถวพระรัศมีทั้ง ๖ ก็ไพโรจน์โชตนาการส่องสว่างเข้าไปภายในปราสาทสิริไสยาสน์แห่งพระนางพิมพาราชเทวี มีประมาณเท่าลำต้นตาล พุ่งเข้าไปโดยช่องสีหบัญชรทวารกาญจนปราสาท โอภาสไปทั่วบริเวณพระราชมณเฑียรทั้งสิ้น เพื่อจะให้บังเกิดความเลื่อมใสโสมนัสแก่พระนางพิมพา แล้วก็เสด็จพระพุทธลีลาเข้าไป ด้วยพระพุทธสิริวิลาสอันงามสุดที่จะหาอะไรมาเปรียบได้ สถิตบนรัตนบัลลังก์อาสน์มณฑล ดุจดวงทินกรสถิตเหนือยอดยุคนธรสิขรินทร์
ฝ่ายว่าอเนกนางสนมทั้งสิ้น ได้ทอดทัศนาเห็นสมเด็จพระสัพพัญญูพร้อมกับคู่อัครสาวก เสด็จเข้าสู่พระมณเฑียรสถาน ทรงนิสัชนาการเหนือรัตนบัลลังก์อาสน์ ด้วยพระพุทธลีลาอันงามสุดประมาณเช่นนั้น ต่างก็พากันเข้าไปทูลพระพิมพาราชเทวีซึ่งกำลังทรงพระโศกีหมองไหม้ด้วยหทัยทุกข์ว่า
"ข้าแต่พระแม่เจ้า บัดนี้ สมเด็จพระปิ่นเกล้ากษัตริย์ภัสดาเสด็จมาสถิตบนรัตนบัลลังก์อาสน์ดังแต่กาลก่อนแล้วนะ พระแม่เจ้า"
ฐิตา:
เมื่อสมเด็จพระนางพิมพาราชเทวี ได้ทรงสดับนางสนมพากันมาทูลความฉะนี้ ก็ให้ดีพระหฤทัยค่อยเคลื่อนคลายระบาย พระอัสสาสะปัสสาสะอันร้อนผ่อนยาวออกได้ จึงอุฏฐาการลุกขึ้นฉับพลันทันใด พระกรจูงหัตถ์พระราหุลบวรดนัย มิได้ทันทรงประดับสรรพาภรณ์ รีบด่วนบทจรมาสถิตยังธรณีพระทวาร ปรารถนาจะทอดทัศนาการพระบรมราชสามี พระอัสสุชลวารีก็ให้มีเป็นอันหลั่งไหลนองพระนัยนากว่าร้อยพันหยาด พอเหลือบเห็นองค์พระมุนีนาถ น้ำพระอัสสุชลนัยน์ก็ไหลหลั่งดั่งกระแสสายสินธุ์นทีธาร ทำให้พระนางมิอาจจะได้ทอดทัศนาการสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์โดยสะดวกเป็น ปรกติสุขได้ จึงตรัสพิไรรำพันพ้อต่อน้ำพระเนตรว่า
"อนิจจา น้ำตาเอ๋ย! กระไรเลยเจ้าช่างไม่เวทนาต่อพิมพา ช่างไม่มีความเมตตาปรานีต่อพิมพานี้บ้างเลยหรือไร จะขอโอกาสเจ้าแต่พอเพ่งพักตร์พระราชสวามีให้เต็มเนตรก็มิใคร่จะได้ แกล้งไหลหลั่งพรั่งไปไม่หยุดยั้ง กำบังเสียซึ่งทัศนวิสัยมิให้ได้เชยชมพระอุดมรูป สิริวิลาสถนัดตา แลพิมพานี้ก็ให้โอกาสแก่เจ้าให้ไหลออกมาสิ้นกาลช้านาน คณนาได้ถึงเจ็ดแปดปีเศษ ยังไม่พอแก่โศกาดูรเทวษหรือประการใด นี่น้ำตาเจ้าจะก่อกรรมทำเวรแก่เรานี้ไปถึงไหนหนอ ไฉนจึงไม่รู้จักเพียงพอเสียทีเล่า เฝ้าหลั่งไหลมิรู้ขาดสายวางวายฉะนี้แล้วพิมพาจะได้มีโอกาสได้ทอดทัศนาพระราช สามีที่จากไปนานได้อย่างไร ขอน้ำตาเจ้าจงให้โอกาสแก่เราในกาลนี้สักหน่อยเป็นไรหนอ"
สมเด็จพระนางเจ้ามีพระเสาวนีย์ตัดพ้อบริภาษอัสสุธาราดั่งนี้ แล้วก็ค่อยมีสติอดกลั้นเสียซึ่งความโศก ค่อยคลานเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า พระกรกอดเอาข้อพระยุคลบาทซบพระเศียรลง ถวายนมัสการ พลางทรงพระพิลาปกราบทูลด้วยเนื้อความว่า
"ข้าแต่พระลูกเจ้าบรมราชสวามี โทษของกระหม่อมฉันพิมพานี้ คงจะมีมากถึงขั้นเป็นหญิงกาลกิณีหรือไร สมเด็จพระลูกเจ้าบรมราชสวามีจึงเสด็จหลีกหนีออกไปบรรพชา ปล่อยให้พิมพานี้ต้องอาดูรด้วยเสน่หาแต่กาลยังดรุณภาพ พระองค์มิได้ตรัสบอกให้ทราบแสร้งทรงสละข้าพระบาทไว้ไม่มีพระอาลัย ดุจก้อนเขฬะในปากพระชิวหาอันถ่มออกจากพระโอษฐ์มิได้โปรดปราน เสด็จบำราศร้างจากนิวาสสถาน ในยามรัตติกาลออกไปทรงบรรพชา เบื้องว่าข้าพระบาทพิมพานี้มีโทษหนักแล้วก็แล้วไปเถิด แต่พระลูกแก้วราหุลราชบวรดนัยเพิ่งประสูติจากพระครรภ์ในวันนั้น ยังมิได้รู้ผิดชอบประการใด นั่นจะมีโทษสิ่งไรไปด้วยเล่า พระผ่านเกล้าจึงแกล้งทอดทิ้งไว้ให้ร้างพระปิตุรงค์
อนึ่ง อันตัวพิมพาข้าพระบาทบงกชนี้ เหล่าเนมิตตกาจารย์ผู้ชำนาญรอบรู้ดูลักษณะก็ได้ทำนายทายทักไว้แต่ยังเยาวทาริกาว่า จะมีบุญญาธิการอภินิหารใหญ่ยิ่งสมควรเป็นมิ่งมเหสีอดุลกษัตริย์จักรพัตราธิราช แลคำทำนายทายทักนั้นก็เคลื่อนคลาดเพี้ยนผิด กลับแปรพิปริตไปสิ้นใช้ไม่ได้ อันที่จริงควรจักทำนายว่า พิมพานี้จะเป็นม่ายได้อัปยศความชอกช้ำระกำใจแต่ยังสาวคราวมีลูก นั่นแลจึงจะถูกจะต้องเป็นที่สุด ประการหนึ่ง ศากยราชนารีมีศักดิ์ใหญ่ทรงพระนามว่า กีสาโคตมี ได้เคยสดุดีสรรเสริญไว้ว่า สตรีใดได้พระลูกเจ้าเป็นพระราชสวามี สตรีนั้นนับว่ามีบุญกุศลมหาศาล ดับเสียได้ซึ่งหทัยทุกข์เป็นสุขนิตยนิรันดร์ คำสรรเสริญสดุดีนั้นก็ให้มีอันเป็นวิปลาสคลาดเคลื่อนไปอีก ด้วยว่าพิมพาข้าพระบาทนี้ได้พระลูกเจ้าเป็นพระราชสวามี บัดนี้ ไม่เห็นจะมีสุขแต่อย่างใด กลับได้แต่ทุกข์อาดูรเทวษบ่มิเว้นวาย"
สมเด็จพระพิมพาเทวีเจ้าบรรยายปริเทวนากถา โดยนัยดังพรรณนาฉะนี้ แล้วก็กลิ้งเกลือกพระอุตตมางคโมลี เหนือหลังพระบาทสมเด็จพระจอมมุนี โศกีพิลาปรำพันอยู่หนักหนา
ตอน สมเด็จพระพิมพาสำเร็จมรรคผล
สมเด็จพระเจ้าสิริสุทโธทนะจอมชนแห่งกบิลพัสดุ์บุรี ทรงเห็นเป็นโอกาสดีเลิศประเสริฐแล้ว จึงกราบทูลแถลงคุณสมบัติแห่งนางกษัตริย์ศรีสุณิสา แด่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าว่า
"ข้าแต่พระบรมครูแห่งนิกรสัตวโลก อันเจ้าพิมพาศรีสุณิสาแห่งบิดานี้ จำเดิมแต่วิปโยคพลัดพรากจากพระองค์ ตั้งแต่วันที่เสด็จออกเพื่อทรงบรรพชากระทำทุกกรกิริยาแสวงหาวิมุตติธรรม เจ้าจะนั่งนอนเดินยืนอยู่ในที่ใดๆก็ไม่มีอารมณ์เป็นสุข มีแต่ทุกข์เศร้าโศกทุก เพลาเช้าเย็นแลราตรีมิได้ขาด ยามเมื่อเข้าห้องสิริไสยาสน์เห็นเศวตฉัตรอันกางกั้นรัตนบัลลังก์ ก็ตั้งหน้าแต่ร้องร่ำกำสรดโศกถึงพระองค์มิเว้นวาย เมื่อได้สดับข่าวว่าทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ก็ปฏิบัตินุ่งห่มผ้า ย้อมน้ำฝาดบ้าง ทั้งนี้เมื่อแจ้งว่าทรงเว้นจากสุคันธวิเลปนมาลาก็มิได้ลูบไล้กายาด้วยจุณสุคนธ์ มิได้ประดับตนทัดทรงบุปผชาติ เมื่อขัตติยประยูรญาติส่งข่าวสารมาว่า จะรับไปบำรุงเลี้ยงรักษาปฏิบัติ ก็มิได้เล็งแลดูหมู่กษัตริย์ราชวงศ์องค์ใด ตั้งใจจงรักภักดีมีสัตย์ซื่อเสน่หาเฉพาะพระองค์ดำรงหฤทัยสุจริต จะได้คิดแปรปรวนไปแต่ในสิ่งใดอื่นมิได้มีเป็นแท้ แลพิมพาศรีสุณิสาแห่งบิดานี้ เจ้าเป็นหญิงกอบด้วยคุณอดุลประเสริฐเลิศกว่าอเนกนิกรกัญญา ควรที่จักกล่าวพรรณนาอีกมากมายสุดประมาณ ”
เมื่อสมเด็จพระชินสีหเจ้า ได้ทรงเสาวนาการคุณแห่งเจ้าหญิงพิมพาที่พระพุทธบิดาพรรณนามาฉะนี้ จึงทรงมีพระพุทธฎีกาดำรัสว่า
“ ดูกรมหาบพิตรพระราชสมภาร การที่ว่าเจ้าพิมพาราชเทวีมีจิตสนิทเสน่หาสวามิภักดิ์ในตถาคต ซึ่งปรากฏมีในกาลบัดนี้นั้น มิสู้จะอัศจรรย์ ในอดีตกาลเมื่อบังเกิดในกำเนิดแห่งสัตว์เดียรฉาน เจ้าพิมพานี้ก็มีจิตสุจริตเสน่หาในตถาคตมั่นคงบ่มิได้กัมปนาท ประหนึ่งสิเนรุราชบรรพตปรากฏในสกลโลกธาตุ บริจาคชีวิตให้เป็นทานแก่ตถาคตเป็นมหัศจรรย์ "
สมเด็จพระบรมศาสดาสัพพัญญูเจ้า ดำรัสดั่งนี้แล้ว ก็ทรงมีพระมหากรุณาเผยพระโอษฐ์โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาจันทกินรีชาดกโดยพิสดาร เพื่อประหารเสียซึ่งโศกาดูรเทวษแห่งพระพิมพาราชเทวี ให้ระงับด้วยสิโตทกวารีคือมธุรธรรมกถา ส่วนว่าสมเด็จพระนางพิมพาราชกัญญาเจ้า เฝ้าทอดทัศนาการพระพักตร์มณฑลแห่งสมเด็จพระทศพลพลางสดับอมฤตรสบทพระธรรมอันวิจิตรไพเราะลึกซึ้งเป็นนิรันดร์ ดุจกระแสสายสินธุ์คงคาที่หลั่งไหลมามิรู้ขาด แล้วพระนางก็ยังประสาทปีติให้บังเกิดในพระกมลสันดาน ด้วยจินตนาการว่าเคยได้สร้างบารมีมากับพระองค์แต่อดีตภพ ก็รำงับเสียซึ่งความโศกให้สงบด้วยปีติปราโมทย์ ในไม่ช้า พระนางก็สามารถยังวิปัสสนาญาณให้บังเกิดขึ้นในขันธสันดานโดยลำดับ จนได้บรรลุพระโสดาปัตติมรรคญาณ ประหารเสียซึ่งกองกิเลสโทษสังโยชน์ทั้ง ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสให้อันตรธาน ประดิษฐานอยู่ในพระโสดาปัตติผลญาณ อันเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติที่ ๑ ในพระพุทธศาสนา สำเร็จ เป็นพระโสดาบันอริยบุคคลแต่เวลานั้น สมเด็จพระสรรเพชญภควันตมุนีนาถ ครั้นทรงทราบอย่างแจ่มชัดว่าเจ้าพิมพาราชเทวีได้ดื่มอมตธรรมสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล มีจิตไม่จลาจลหวั่นไหวในคุณแห่งพระศรีรัตนตรัยแล้ว องค์พระประทีปแก้วก็เสด็จพระพุทธลีลา พร้อมกับคู่พระอัครสาวกคืนสู่พระนิโครธาราม เพื่อทรงบำเพ็ญพุทธกิจโปรดพระยูรญาติศากยวงศ์ในกรุงกบิลพัสดุ์ต่อไป
สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี
จาก หนังสือ วิมุตติรัตนมาลี
รจนาโดย พระพรหมโมลี วัดยานนาวา กทม.
ฐิตา:
สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี
คำนำ
สุมิตตากุมารี
พิมพายโสธราเทวี
พระกาฬุทายีพรรณนาสถลวิถี
สมเด็จพระพิมพารำพัน
สมเด็จพระพิมพาสำเร็จมรรคผล
สมเด็จพระพิมพาทูลลานิพพาน
อติทุกขกุมารี
พระนางนันทาเทวี
นาคีกุมารี
นางพญาปลาดุก
อนิมิตตาเศรษฐีนี
ปทุมากุมารี
มกฏนารี
ปัญญากุมารี
โกกิลนารี
นางกินรี
วิมลาเทวี
กัลยาณีกุมารี
จันทมาลากุมารี
มังคลีกุมารี
มงคลเทวี
นางพญาหงส์ทอง
ธรรมิกราชธิดา
นางพญาสกุณี
พระนางมัทรี
ปฏิหาริย์พระราหุลอรหันต์
สุวรรณทีปกุมาร
ภัททิยเศรษฐี
สมเด็จพระพิมพาดับขันธนิพพาน
อวสานบท
ปัจฉิมพจน์
สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี
จาก หนังสือ วิมุตติรัตนมาลี
รจนาโดย พระพรหมโมลี วัดยานนาวา กทม.
คลิ๊ก.. เพื่ออ่านตอนอื่นๆต่อค่ะ : http://palapanyo.com/pimpa/index.html
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
ฐิตา:
http://youtu.be/V1pqU49BTpk
สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี ๒ hiphoplanla Uploaded on Dec 23, 2011
Playlist :
วิมุตติรัตนมาลี ตอน สมเด็จพระนางพิมพาภิกษุณี 1-2
พระพรหมโมลี (วิลาส ญาณวโร ป.ธ. ๙)
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง :http://www.84000.org/one/2/11.html
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version