The Bow รักเจ้าดึงรั้งดั่งคันศร
The Bow
รักเจ้าดึงรั้งดั่งคันศร
พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 9 เมษายน 2549
กลายเป็นผู้กำกับฯขาประจำของผู้เขียนไปแล้วสำหรับนักสร้างหนังชาวเกาหลีชื่อ คิม คี ดุก เมื่อไหร่มีงานใหม่ออกมาเป็นต้องขวนขวายมาชมให้ได้โดยไว และด้วยธรรมชาติของเขาซึ่งเป็นคนทำงานเร็ว จึงมีงานใหม่ออกมาแทบจะหัวปีท้ายปี
อันที่จริง อาการโปรดปรานงานของคิม คี ดุก ไม่ได้เกิดขึ้นแต่แรกเริ่ม ช่วงต้นที่งานยังวนเวียนอยู่กับความรุนแรงแบบซาโด-มาโซคิสม์ เช่นใน The Isle(2000) ชื่อของเขาถูกจัดอยู่ในจำพวกของแสลงที่ไม่น่าลิ้มลองอีก
กระทั่ง Spring, Summer, Fall, Winter... and Spring(2003) เรื่องราวอิงหลักศาสนาพุทธซึ่งวิจิตรงดงาม ละเมียดละไม จนไม่น่าเชื่อว่าเป็นงานของคนที่เคยถูกสื่อต่างชาติประณามว่าเป็น “ปีศาจ” ทำให้ใครต่อใครมองเขาในแง่มุมใหม่ เปลี่ยนทัศนคติจากร้ายกลายเป็นดีแบบพลิกฝ่ามือ
หลังจากนั้น คิม คี ดุก มีงานต่อยอดความสำเร็จออกมาในปี 2004 ถึง 2 เรื่อง เริ่มจาก Samaritan Girl(2004) ซึ่งอ้างอิงจาก The Divine Comedy ของดังเต้ ที่ส่งให้เขาได้รางวัลผู้กำกับฯยอดเยี่ยมที่เบอร์ลิน ตามมาด้วย 3-Iron (2004) กับรางวัลสิงโตเงินที่เวนิซ
ทั้งสองเรื่องแม้ว่ายังมีร่องรอยของความรุนแรงอยู่ แต่ภาพรวมของหนังคือความรันทดงดงามที่ติดตรึงความรู้สึกอย่างยิ่ง
โดยไม่ต้องให้คอยนาน ปี 2005 คิม คี ดุก ปล่อยงานใหม่ชื่อ The Bow มาให้ดื่มด่ำกันต่อ
The Bow เป็นเรื่องของชายชราผู้ใช้ชีวิตตามลำพังบนเรือกลางทะเลกับเด็กสาววัย 16 ปี โดยตั้งใจไว้ว่าเมื่อเด็กสาวครบ 17 ปีเมื่อไร เธอจะกลายเป็นเจ้าสาวของเขา
ชายชราหาเลี้ยงชีพด้วยการพาคนจากฝั่งมานั่งตกปลาบนเรือ ผู้ชายรายแล้วรายเล่าต่างหมายเกี้ยวพาล่วงเกินเด็กสาว แต่ลูกธนูจากคันศรของชายชราที่พุ่งแหวกอากาศเฉียดร่างคนเหล่านั้นห่างไปไม่กี่นิ้ว ช่วยปราบพฤติกรรมต่ำทรามได้ชะงัด
นอกจากชายชราจะใช้ธนูเป็นอาวุธคู่มือแล้ว ยามฟ้าพลบหลังจาก “อาบน้ำ” ให้เด็กสาวแล้ว เขาจะนั่งบรรเลงเพลงไพเราะบนหัวเรือ โดยใช้คันศรนั้นดัดแปลงเป็นเครื่องดนตรี
ที่ประหลาดกว่านั้นคือชายชราใช้ธนูนี้เป็นเครื่องมือดูดวงให้ลูกค้า ด้วยการยิงศรใส่เด็กสาวขณะนั่งไกวชิงช้าข้างลำเรือ สร้างความหวาดเสียวแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก
ช่วงเวลานับถอยหลังสู่วันวิวาห์ถึงคราวไม่ราบเรียบ เมื่อปรากฏเด็กหนุ่มนักศึกษาหน้าตาดีคนหนึ่งมาเป็นลูกค้าบนเรือ ว่าที่เจ้าสาวซึ่งยังไม่เคยพบเจอเด็กหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันจึงถูกตาต้องใจแต่แรกพบ เด็กหนุ่มมอบเครื่องเล่นเพลงพกพาแก่เด็กสาว เธอเฝ้าฟังมันไม่หยุดจนไม่สนใจชายชรา ไม่สนใจเพลงที่เธอเคยฟังยามพลบค่ำ
คล้ายว่าสวรรค์กลางทะเลของชายชรากำลังจะพังทลายลงต่อหน้าต่อตา...
ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Bow เป็นการเล่นกับความหมายหลากหลายของคำ โดยแต่ละความหมายต่างเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาเรื่องราวของหนัง
คำนี้ตามคำอ่านแบบหนึ่งแปลได้ 2 ความหมาย หนึ่งคือ “คันศร” และอีกความหมายคือ “คันชัก” ของเครื่องสาย อีกคำอ่านหนึ่งแปลได้ 2 ความหมายเช่นกัน นั่นคือ “หัวเรือ” และการ “ก้มศีรษะ” ซึ่งในเรื่องนี้น่าจะหมายถึงการยอมจำนน
ซึ่งทั้ง “คันศร” “คันชัก” “หัวเรือ” และ “การยอมจำนน” ล้วนแต่เชื่อมโยงกับชีวิตของชายชราทั้งสิ้น
หนังแสดงให้เห็นว่าชีวิตของชายชราผูกโยงยึดแน่นอยู่กับธนูเสมอ ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่ชายชราจัดเตรียมดัดแปลงคันศรเป็นเครื่องดนตรี ต่อมาเราจึงได้เห็นเขาใช้เครื่องดนตรีนี้บรรเลงเพลงเพื่อแสดงออกทางอารมณ์ทั้งยามสุขและทุกข์ นอกจากนี้ เขายังใช้ปกป้องเด็กสาวผู้เป็นที่รัก จนถึงฉากจบที่ธนูปรากฏต่างตัวชายชราในวันวิวาห์
ส่วนเรือซึ่งมีรูปทรงไม่ต่างจากคันศร นอกจากจะเป็นบ้านแห่งเดียวของชายชราแล้ว เหตุที่เกิดกับเรือลำนี้ยังแสดงถึงความเป็นไปของชายชราด้วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ที่เริ่มรวน หรือเมื่อมันค่อยๆ จมสู่ท้องทะเล
นั่นหมายถึงห้วงเวลาแห่งการยอมจำนนนั่นเอง
หนังงดงามด้วยภาพอันเปี่ยมสีสัน ทั้งสีเขียว สีแดง จากเสื้อผ้าของเด็กสาว สีฟ้าของท้องฟ้าและน้ำทะเล สีส้มของเรือ ผสานกับเสียงเพลงไพเราะที่ผสมระหว่างเครื่องดนตรีดั้งเดิมกับเครื่องดนตรีสากล กระทั่งเป็นส่วนที่โดดเด่นที่สุดของหนัง
หลายฉากกลายเป็นฉากที่น่าจดจำ เช่น ฉากเปิดเรื่อง ฉากไกวชิงช้าดูดวง ฉากงานวิวาห์ ฉากเหล่านี้ล้วนมีเสน่ห์ด้วยอารมณ์กึ่งจริงกึ่งฝันเชิญชวนให้ลุ่มหลง นอกจากภาพและเสียงที่งดงามในตัวเองอยู่แล้ว
ทุกความงดงามที่กล่าวมาทำให้เรื่องราวของชายวัยใกล้ฝั่งที่หวังครองรักกับเด็กสาว ซึ่งอาจจะดูผิดครรลองคลองธรรม แต่ในโลกเฉพาะของตัวละคร การกระทำของชายชราคือการแต้มเติมความงามให้กับทุกจังหวะชีวิต แม้ตนเองอยู่ในช่วงบั้นปลายแล้วก็ตาม
Han Yeo-reum นักแสดงวัย 23 ปี ที่เคยเล่นเป็นนักเรียนขายตัวใน Samariton Girl แสดงเป็นเด็กสาวได้อย่างเหมาะสม เธอคือศูนย์กลางของเรื่องราวที่มีแรงดึงดูดรุนแรง สีหน้าไร้เดียงสาที่ซ่อนความดื้อรั้นและร้ายกาจ กำหนดการกระทำของตัวละครอื่น ขณะเดียวกันก็กำหนดความเป็นไปของเรื่องราวทั้งหมด
คิม คี ดุก ยังคงเอกลักษณ์ที่เห็นบ่อยครั้งในงานของเขา นั่นคือ ใช้ตัวละครไม่กี่ตัว ไม่ระบุชื่อ พูดน้อย แต่เดินเรื่องได้หนักแน่นชัดเจน เป็นเรื่องราวกึ่งจริงกึ่งแฟนตาซีราวกับโลกที่ไม่มีอยู่จริง และเป็นอีกครั้งที่ปรากฏ “โลกกลางน้ำ” ในหนังของเขา ดังเช่นเรือนแพใน The Isle และสำนักสงฆ์ใน Spring, Summer, Fall, Winter... and Spring
The Bow อาจจะไม่ลึกซึ้งเท่า Spring ที่ว่ากันว่าเป็นมาสเตอร์พีซของเขา แต่เรื่องความงดงามนับว่าไม่ได้ด้อยกว่ากัน ซ้ำยังโดดเด่นยิ่งกว่าด้วยดนตรีประกอบอันอ่อนช้อยน่าอัศจรรย์ที่ใส่เข้ามาอย่างเหมาะเจาะลงตัว
ดูจบแล้วอยากค้อมคารวะในความเป็นศิลปินของคิม คี ดุก จริงๆ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aloneagain&month=06-2006&date=20&group=1&gblog=31