แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มิลินทปัญหา

<< < (22/78) > >>

ฐิตา:

  ปัญหาที่ ๗ ถามถึงการก้าวไปแห่งสภาพ    
 
   " ข้าแต่พระนาคเสน สภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ก้าวไปจากกายนี้สู่กายอื่นมีอยู่หรือ ? "
   
   " ขอถวายพระพร ไม่มีเลย "
   
   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าสภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ก้าวจากกายนี้ไปสู่กายอื่นไม่มีบุคคลก็จะพ้นจากบาปกรรมทั้งหลายมิใช่หรือ "
   
   " ขอถวายพระพร ถ้าเขาไม่เกิดอีก ก็จะพ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย แต่เพราะเขายังเกิดอยู่ เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรมทั้งหลาย "
   
   " ขอนิมนต์อุปมาด้วย "
   
   " ขอถวายพระพร เปรียบเช่นเดียวกับบุรุษคนหนึ่ง ขโมยมะม่วงที่ผู้อื่นปลูกไว้ เขาควรจักต้องได้รับโทษหรือไม่ ? "
   
   " ควรได้รับโทษ พระผู้เป็นเจ้า "
   
   " ขอถวายพระพร มะม่วงที่บุรุษนั้นขโมยไป ไม่ใช่มะม่วงลูกที่บุรุษนั้นปลูกไว้เหตุใดผู้ขโมยจึงควรได้รับโทษ "
   
   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มะม่วงเหล่านั้นอาศัยมะม่วงลูกที่บุรุษนั้นปลูกไว้ จึงเกิดเป็นลำดับขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ขโมยจึงควรได้รับโทษ "
   
   " ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือบุคคลย่อมทำกรรมดีหรือชั่วไว้ด้วย นามรูปนี้ แล้ว นามรูปอื่น ก็เกิดขึ้นด้วยกรรมนั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่พ้นจากบาปกรรม "
   
   " แก้ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า "

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๘ ถามถึงที่อยู่แห่งผลกรรม   

   " ข้าแต่พระนาคเสน กรรมดีและกรรมชั่ว ที่บุคคลทำด้วยนามรูปนี้ไปอยู่ที่ไหน ? "
   
   " ขอถวายพระพร ติดตามผู้ทำไปเหมือนกับเงาตามตัว "
   
   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อาจชี้กรรมเหล่านั้นได้หรือไม่ว่า กรรมเหล่านั้นอยู่ที่ไหน ? "
   
   " ขอถวายพระพร ไม่อาจชี้ได้ "
   
   " ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนต้นไม้ที่ยังไม่มีผล มหาบพิตรอาจชี้ได้หรือไม่ว่าผลอยู่ที่ไหน ? "
   
   " ไม่อาจชี้ได้ พระผู้เป็นเจ้า "
   
   " ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อการสืบต่อยังไม่ขาด ก็ไม่อาจชี้กรรมเหล่านั้นได้ว่ากรรมเหล่านั้นอยู่ที่ไหน "
   
   พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า
   
   " ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า "

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๙ ถามถึงความรู้สึกของผู้จะเกิดอีก
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดจะเกิด ผู้นั้นรู้หรือว่า เราจะเกิด ? "
   
   " ขอถวายพระพรรู้ "
   
   " ขอนิมนต์อุปมาด้วย "
   
   " ขอถวายพระพร เหมือนอย่างชาวนาหว่านพืชลงที่แผ่นดินแล้ว เมื่อฝนตกดีเขารู้หรือว่า พืชจักงอกงามขึ้น ? "
   
   " รู้พระผู้เป็นเจ้า "
   
   " ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ใดจะเกิด ผู้นั้นก็รู้ว่า เราจักเกิด "
   
   " ชอบแล้ว พระผู้เป็นเจ้า "
 
 
 
 

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๑๐ ถามเรื่องที่อยู่ของพระพุทธเจ้าที่ปรินิพพาน   
   
    " ข้าแต่พระนาคเสน พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ? "
   
   " ขอถวายพระพร มีจริง "
   
   " พระผู้เป็นเจ้าอาจชี้ได้หรือไม่ว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ? "
   
   " ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าปรินิพพานด้วยการดับขันธ์แล้ว ไม่อาจชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน "
   
   " ขอนิมนต์อุปมาด้วย "
   
   " ขอถวายพระพร เปลวไฟที่ดับไปแล้วมหาบพิตรอาจชี้ได้หรือไม่ว่า เปลวไฟนั้นไปอยู่ที่ไหน ? "
   
   " ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า เพราะเปลวไฟนั้นถึงซึ่งความไม่มีบัญญัติแล้ว "
   
   " ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็ไม่มีใครอาจชี้ได้ว่าไปอยู่ที่ไหน อาจชี้ได้เพียง พระธรรมกาย ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น "
   
   " พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้สมควรแล้ว "   

   
   จบวรรคที่ ๕

ฐิตา:

มิลินทปัญหา วรรคที่ ๖ 
 
   ปัญหาที่ ๑ ถามถึงความรักร่างกายแห่งบรรพชิต
   
   พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน ร่างกายเป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลายหรือ? "
   
   พระเถระตอบว่า
   
   " ขอถวายพระพร ร่างกายไม่ได้เป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลาย"
   
   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น ทำไมบรรพชิตจึงยังอาบน้ำชำระกาย ถือว่ากายของเราอยู่ ? "
   
   " ขอถวายพระพร ผู้เข้าสู่สงครามเคยถูกบาดเจ็บบ้างหรือไม่? "
   
   " อ๋อ...เคยซิ พระผู้เป็นเจ้า "
   
   " ขอถวายพระพร แผลที่ถูกอาวุธนั้น ฉาบทาด้วยเครื่องฉาบทา ทาด้วยน้ำมัน พันด้วยผ้าเนื้อละเอียดแลหรือ ? "
   
   " ถูกแล้วพระผู้เป็นเจ้า ต้องทำอย่างนั้น "
   
   " ขอถวายพระพร บาดแผลนั้นเป็นที่รักของผู้นั้นหรือ? "
   
   " ไม่ได้เป็นที่รักของผู้นั้นเลย แต่ว่าเขาทำอย่างนั้น เพื่อให้เนื้อตรงนั้นงอกขึ้นเป็นปกติ "
   
   " ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ร่างกายไม่ได้เป็นที่รักของบรรพชิตทั้งหลาย แต่บรรพชิตทั้งหลายรักษาร่างกายนี้ไว้ เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ อันว่าร่างกายนี้เปรียบเหมือนกับแผล บรรพชิตรักษาร่างกายนี้ไว้เหมือนกับบุคคลรักษาแผล"
   
   ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระทศพลตรัสไว้ว่า
   
   " กายนี้มีทวาร ๙ เป็นแผลใหญ่ อันหนังสดปกปิดไว้ คายของโสโครกออกโดยรอบ ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น "
   
   " ถูกดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า "

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version