แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มิลินทปัญหา

<< < (25/78) > >>

ฐิตา:
ปัญหาที่ ๑๐ ถามถึงเหตุที่ให้ระลึกถึงสิ่งที่ล่วงแล้วได้
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลระลึกถึงสิ่งที่ล่วงไปนานแล้วได้ด้วยอะไร? "
   
   " ได้ด้วย สติ ขอถวายพระพร "
   
   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สิ่งที่ล่วงไปนานแล้วสิ่งหนึ่ง บุคคลระลึกได้ด้วย จิต ต่างหาก ไม่ใช่ระลึกได้ด้วยสติ"
   
   " ขอถวายพระพร มหาบพิตรทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้แล้ว ระลึกไม่ได้มีอยู่หรือไม่? "
   
   " มีอยู่ พระผู้เป็นเจ้า "
   
   " ขอถวายพระพร ในเวลานั้นพระองค์ไม่มีจิตหรือ ? "
   
   " จิตมี แต่เวลานั้นสติไม่มี "
   
   " ถ้าอย่างนั้น ขอมหาบพิตรจงเข้าพระทัยเถิดว่า บุคคลระลึกได้ด้วย สติ ไม่ใช่ระลึกได้ด้วย จิต "
   
   " ถูกดีแล้ว พระนาคเสน "
   

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๑๑ ถาม สติเกิดขึ้นได้เอง หรือเกิดจากผู้อื่น  
 
   ข้าแต่พระนาคเสน สตินั้นเกิดขึ้นเอง หรือเกิดขึ้นต่อเมื่อมีคนเตือน
   
   ขอถวายพระพร มหาบพิตร เกิดขึ้นได้ทั้ง ๒ ทาง
   
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ตามความเห็น  เห็นว่า เกิดขึ้นเอง มิต้องมีคนอื่นเตือน
   
   ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าเป็นอย่างพระองค์ตรัส ก็ไม่ต้องมีครูอาจารย์คอยตักเตือนว่ากล่าว
   แต่เพราะมิได้เป็นเช่นนั้น จึงต้องมีครูอาจารย์ คอยให้สติในเมื่อเราพลั้งเผลอ
   
   ถูกดีแล้วพระผู้เป็นเจ้า
   
   จบวรรคที่ ๖

ฐิตา:

มิลินทปัญหา วรรคที่ ๗
   
   ปัญหาที่ ๑ ถาม สติเกิดแต่อาการเท่าไร
       
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า  สติความระลึกและความจำ เกิดแต่อาการเท่าไร
   
   ขอถวายพระพรมหาบพิตร  เกิดแต่อาการ ๑๗ อย่างคือ
   
   (๑) เกิดแต่ความรู้ยิ่ง ดังผู้รู้ประวัติการณ์ที่ล่วง มาแล้ว ความรู้นั้นย่อมระลึกถึงเหตุการณ์แต่หลังได้   
   (๒) เกิดแต่การที่ได้กระทำเครื่องหมายไว้   
   (๓) เกิดแต่การได้ขยับฐานะสูงขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้นึก ให้จำกิจการที่ตนได้กระทำมาแต่หลัง   
   (๔) เกิดแต่การได้รับความสุข ถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว   
   (๕) เกิดแต่การได้รับความทุกข์  นึกถึงเหตุแห่งความทุกข์นั้น ๆ
   
   (๖) เกิดแต่การได้รู้เห็นสิ่งที่คล้ายกัน เป็นเหตุให้ ระลึกอีกสิ่งหนึ่งได้   
   (๗) เกิดแต่การรู้เห็นสิ่งที่ตรงกันข้าม   
   (๘) เกิดแต่การได้รับคำเตือน   
   (๙) เกิดแต่รู้เห็นตำหนิ หรือลักษณะ   
   (๑๐) เกิดแต่นึกขึ้นได้โดยลำพัง
   
   (๑๑) เกิดแต่การพินิจพิเคราะห์   
   (๑๒) เกิดแต่การนับจำนวนไว้   
   (๑๓) เกิดแต่การทรงจำไว้ได้ตามธรรมดา   
   (๑๔) เกิดแต่การอบรม     
   (๑๕) เกิดแต่การได้จดบันทึกไว้
   
   (๑๖) เกิดแต่การเก็บไว้   
   (๑๗) เกิดแต่การเคยพบ เคยเห็น
   
   ข้าแต่พระผู่เป็นเจ้า มี มากอย่าง

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๒ ถามว่า ผู้ที่ทำบาปมาตั้ง ๑๐๐ ปี ถ้าเวลาจะตาย ทำจิตให้ผ่องใสได้ก็ไปสุคคติ จะไปได้จริงหรือ
     
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า  คำที่เธอว่าผู้ที่ทำบาปกรรมเรื่อยมาแม้ตั้ง ๑๐๐ ปี แต่ถ้าเวลาจะตาย มีสติระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าได้ ก็ย่อมนำไปเกิดในสวรรค์ ส่วนผู้ที่ทำบาปแม้แต่ครั้งเดียวก็ย่อมไปเกิดในนรกนั้น ดูไม่สมเหตุผล
   
   ขอถวายพระพรมหาบพิตร  ศิลาแม้ก้อนเล็กโดยลำพังจะลอยน้ำได้หรือไม่   
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ย่อมไม่ได้
   
    ขอถวายพระพรมหาบพิตร  ก็ถ้าศิลาตั้ง ๑๐๐ เล่มเกวียน แต่อยู่ในเรือ ศิลานั้นจะลอยน้ำได้หรือไม่   
    ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เป็นไปได้
   
   ขอถวายพระพรมหาบพิตร  เปรียบบุญกุศลเหมือนเรือ บาปกรรมเหมือนศิลา อันคนที่กระทำบาปอยู่เสมอจนตลอดชีวิต ถ้าเวลาจะตาย มิได้ปล่อยจิตใจให้ตามระทมถึงบาปที่ตัวทำมาแต่หลังนั้น สามารถประคองใจไว้ในแนวแห่งกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นแน่วแน่อยู่ในพุทธานุสติ  ถ้าตายลงในขณะจิตนั้น ก็เป็นอันหวังได้ว่าไปสู่สุคติ ประหนึ่งศิลา ซึ่งมีเรือทานน้ำหนักไว้ มิให้จมลงฉะนั้น ส่วนผู้ที่กระทำบาปที่สุดแต่ครั้งเดียว ถ้าเวลาใกล้จะดับจิต เพียงแต่จิตหวนไปพัวพันถึงกิริยาอาการที่ตัวกระทำบาปกรรมไว้  ก็จักเป็นหนักพอที่จะถ่วงตัวไปให้เกิดในนรก เหมือนศิลาที่เราโยนลงไปในน้ำ แม้จะก้อนเล็กก็จมเช่นเดียวกัน
   
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า นับเป็นเหตุผลถูกต้องแล้ว

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๓ ถามว่า จะเพียรดับทุกข์ที่ยังไม่มาถึงจะได้หรือไม่   
   
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า  พระองค์ได้ฝึกฝนตน ด้วยมีประสงค์จะละทุกข์ที่ล่วงมาแล้วกระนั้นหรือ   
   ขอถวายพระพรมหาบพิตร  หามิได้
   
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า หรือจะละทุกข์ที่ยังมาไม่ถึง   
   หามิได้มหาบพิตร
   
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเช่นนั้น ก็จะละทุกข์ที่มีอยู่ในบัดนี้   
   ขอถวายพระพร มหาบพิตร จะว่าเฉพาะทุกข์ในบัดนี้ก็ไม่ใช่
   
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้า เพียรพยายามทำไม   
   ขอถวายพระพร อาตมภาพพยายามด้วยหวังว่า จะดับทุกข์ที่มีอยู่ และทุกข์ที่จะมีในกาลข้างหน้า
   
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ทุกข์ที่ยังมาไม่ถึงนั้น จะพยายามไม่ให้มีขึ้นได้หรือ   
   ขอถวายพระพรมหาบพิตร ได้
   
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้นความพยายามจะละทุกข์ที่ยังมีมาไม่ถึงก็ได้   
   ขอถวายพระพรมหาบพิตร  พระองค์เคยถูกราชศัตรูยกพลมาเพื่อจะชิงเอาพระนครบ้างหรือไม่   

   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เคยถูกอยู่บ้าง   
   ถวายพระพรมหาบพิตร ในทันทีนั้น พระองค์ตรัสสั่งให้ลงมือขุดคู สร้างป้อมปราการ และฝึกหัดทหารซ้อมเพลงอาวุธ หรือไม่   

   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ต้องมีการจัดทำเตรียมไว้ก่อน
   ถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์มีพระประสงค์อย่างไร จึงเตรียมล่วงหน้าไว้
 
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า  เมื่อเกิดสงครามขึ้น จะได้ทำการต่อสู้ข้าศึกได้ทันท่วงที มิฉะนั้น ถึงเวลาสงครามก็จะหาโอกาสจัดทำได้ยาก ที่สุดก็จะต้องพ่ายแพ้ข้าศึก และการที่เตรียมจัดทำไว้ในเวลาปกติย่อมทำได้ดี ทั้งเป็นที่เกรงขามของข้าศึกที่ยังมีมาไม่ถึงได้ด้วย
   
   ขอถวายพระพร ข้าศึกที่ยังมีมาไม่ถึงก็มีด้วยหรือ   
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มี
   
   ขอถวายพระพรมหาบพิตร เหตุผลที่พระองค์ตรัสถามเบื้องต้นก็มีเช่นนี้แล การที่อาตมภาพเพียรฝึกฝนกาย วาจา ใจ ไว้ให้อยู่ในความควบคุมของจิตที่อบรมดีแล้ว ก็เพื่อปราบทุกข์ที่มีอยู่ในบัดนี้ และเพื่อไว้ต่อสู้ หรือป้องกันทุกข์ที่ยังมาไม่ถึง เช่นเดียวกับพระองค์เหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมเป็นช่องทางที่จะให้ความทุกข์เข้ามาผจญใจได้ เมื่อกำลังใจมีไม่พอที่จะต้านทาน ก็ต้องยอมเป็นเชลยแห่งความทุกข์เรื่อยไป เป็นอันหาโอกาสที่จะทำเช่นนี้ได้อีกยาก เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงต้องพยายามฝึกฝนตนไว้ก่อน
   
   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ที่กล่าวมานี้ชอบแล้ว
 

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version