ผู้เขียน หัวข้อ: มิลินทปัญหา  (อ่าน 108410 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #210 เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2011, 01:43:59 pm »

   สัตว์นรกยังกลัวตายหรือ

   " ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนี้จงยกไว้ โยมรับละ คือจงยกพระอรหันต์ทั้งหลายเสียให้สะดุ้ง แต่สัตว์นอกนั้น โยมจะขอถามว่าพวกสัตว์นรกที่ได้รับทุกขเวทนาเผ็ดร้อนกล้าแข็ง มีร่างกายทั้งสิ้นถูกไฟเผา เร่าร้อนหวั่นไหวอยู่ด้วยไฟมีหน้าเต็มไปด้วยน้ำตาที่ร้องไห้รำพันคร่ำครวญ ถูกทุกข์เผ็ดร้อนกล้าแข็งครอบงำอย่างเหลือเกิน ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีเวลาสร่างทุกข์โศก มีแต่จะได้รับทุกขเวทนาไปท่าเดียว มีแต่จะได้รับทุกข์โศกไปอย่างเดียว ถูกไฟเผาลนอย่างร้ายกาจ มีเสียงร้องน่าสะพรึงกลัว มีเปลวไฟ ๖ อย่างห้อมล้อมอยู่ ไม่ว่างจากเปลวไฟอันแผ่ไปตลอด ๑๐๐ โยชน์ เมื่อจะตายไปจากนรกใหญ่อันเผ็ดร้อนอย่างนั้น ยังจะกลัวตายอยู่หรือพระผู้เป็นเจ้า ?"
 
   พระนาคเสนชี้แจงว่า
   " ขอถวายพระพร ยังกลัวตายอยู่ "

   " ข้าแต่พระนาคเสน นรกมีแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียวไม่ใช่หรือ เหตุไรพวกสัตว์นรกที่ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างเดียว เมื่อจะตายจึงยังกลัวตายอยู่ สัตว์นรกเหล่านั้น ยังยินดีอยู่ในนรกหรือ ? "
   " ขอถวายพระพร สัตว์นรก เหล่านั้นได้ยินดีอยู่ในนรกเลย มีแต่อยากพ้นไปจากนรก แต่ที่กลัวตายนั้น เป็นเพราะอานุภาพแห่งความตาย"

   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คำที่ว่าสัตว์นรกอยากพ้นจากนรก แต่ยังกลัวตายนั้น โยมไม่เชื่อ เพราะผู้ที่อยากพ้นจากทุกข์ จะกลัวอย่างไร สัตว์ทั้งหลายได้สิ่งใดสมความปรารถนาก็ร่าเริงดีใจ เพราะฉะนั้น ขอจงให้โยมเข้าใจความข้อนี้ด้วยเถิด "

   " ขอถวายพระพร อันความตายย่อมเป็นเหตุให้เกิดความสะดุ้งแก่สัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่เห็นสัจจะ พวกที่ยังไม่เห็นสัจจะ คือความจริง ย่อมสะดุ้ง ย่อมพรั่นพรึง ผู้ใดกลัวงูเห่าดำ ผู้นั้นก็กลัวตาย ผู้ใดกลัวตาย ผู้นั้นก็กลัวงูเห่าดำ ผู้ใดกลัวช้าง สิงห์ เสือโคร่ง เสือ เหลือง หมี หมาไน กระบือป่า กระบือบ้าน โจร ไฟ น้ำ ตอหนาม ยักษ์ ผีเสื้อน้ำ ผู้นั้นก็กลัวความตาย ความตายมีเดชแรงกล้าอย่างนี้ พวกที่มีกิเลสจึงกลัวตาย พวกสัตว์นรกอยากพ้นจากนรกก็จริงแต่ก็ยังกลัวตาย"

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #211 เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2011, 03:15:34 pm »

อุปมาบุรุษผู้เป็นฝี

" ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งเป็นฝีทนทุกขเวทนา อยากจะหมดทุกข์จึงให้หาหมอผ่าตัด เมื่อหมอผ่าตัดมาถึง ก็วางเครื่องมือไว้แล้วลับมีดให้คม เผาซี่เหล็กให้แดง บดยากัดไว้ เวลาหมอทำอย่างนั้นอยู่ คนที่เป็นฝีนั้น จะสะดุ้งกลัวต่อการกระทำของหมอนั้นหรือไม่ ? "

" สะดุ้งกลัว พระผู้เป็นเจ้า "
" ขอถวายพระพร ผู้อยากจะหายโรคยังสะดุ้งกลัวต่อวิธีการรักษาอยู่ฉันใด พวกสัตว์นรกก็ยังสะดุ้งกลัวต่อความตายฉันนั้น "


อุปมาบุรุษผู้ถูกงูพิษกัด

" ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกับบุรุษถูกงูพิษกัดล้มกลิ้งอยู่ มีบุรุษอีกคนหนึ่ง เรียกงูพิษนั้นกลับมาด้วยอำนาจมนต์ ให้มาดูดเอาพิษไป บุรุษผู้ถูกงูกัดนั้นจักกลัวหรือไม่? "

" กลัว พระผู้เป็นเจ้า "
" ความกลัวย่อมมีแก่บุรุษผู้ถูกงูกัด ผู้กำลังจะหายจากงูพิษฉันใด ถึงพวกสัตว์นรกอยากจะพ้นนรกก็ยังกลัวความตายอยู่ฉันนั้น ความตายเป็นของที่ไม่ต้องการ ไม่รักใคร่พอใจของสัตว์ทั้งปวง เพราะฉะนั้น พวกสัตว์นรกจึงกลัวตาย ขอถวายพระพร "

"ถูกแล้วพระนาคเสน โยมยินดีรับว่าถูกต้อง "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #212 เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2011, 03:29:51 pm »


ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องพ้นจากบ่วงมรณะ

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามปัญหาสืบไปว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายจะเร้นซ่อนตนอยู่ในที่ใด ๆ ก็ตาม ที่พ้นความตายไม่มี ที่ความตายจะครอบงำไม่ได้ไม่มีดังนี้ แต่ได้ทรงแสดงพระปริตร คือพระพุทธมนต์อันเป็นเครื่องป้องกันไว้พระปริตรนั้นได้แก่อะไรบ้างคือ ขันธปริตร ๑ สุวัตถิปริตร ๑ โมรปริตร ๑ ธชัคคปริตร ๑ อาฏานาฏิยปริตร ๑ ถ้าผู้อยู่ในอากาศ หรือในท่ามกลางมหาสมุทร หรืออยู่ในท่ามกลางภูเขา ไม่พ้นจากอำนาจความตายแล้ว พระปริตรนั้นก็ผิดไป ถ้าพ้นจากความตายด้วยพระปริตรคำว่า "ที่ความตายไม่ครอบงำไม่มีนั้น" ก็ผิดไป ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ ยุ่งยากมากขอพระผู้เป็นเจ้าจงแก้ไขให้ง่ายเถิด"

พระนาคเสนจึงตอบว่า
" ขอถวายพระพร สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสไว้อย่างนั้นจริง และได้ทรงแสดงพระปริตรไว้เป็นอันมากจริง พระปริตรนั้นย่อมป้องกันได้เฉพาะผู้ที่ยังไม่หมดอายุขัย ทั้งไม่มีบุพพกรรมมาตัดรอนเท่านั้น ส่วนผู้ที่หมดอายุขัยแล้ว ไม่สามารถที่กระทำอย่างใดที่จะให้มีอายุสืบต่อไปได้ ขอถวายพระพร

ต้นไม้ที่ตายแล้วแห้งผุแล้ว ไม่มียางแล้ว มีเปลือกกระพี้ร่วงไปหมดแล้ว ถึงจะตักน้ำมารดวันละพันโอ่งก็ตาม ต้นไม้แห้งนั้นก็ไม่กลับสดเขียวขึ้นได้อีกฉันใด ผู้ที่หมดอายุขัยแล้ว จะทำให้มีอายุด้วยยา หรือด้วยพระปริตรก็ไม่ได้ฉันนั้น

ยาทั้งสิ้นในแผ่นดินนี้ ไม่มีประโยชน์แก่ผู้ที่หมดอายุขัยแล้ว มีประโยชน์แก่ผู้มีอายุขัยยังเหลืออยู่เท่านั้น พระปริตรทั้งหลายก็รักษาคุ้มครองอยู่แต่ผู้ยังไม่ถึงที่ตาย ผู้ไม่มีบุพพกรรมตามทันเท่านั้น สมเด็จพระทรงธรรม์ได้ทรงแสดงพระปริตรไว้เพื่อผู้มีอายุขัยยังเหลืออยู่ ทั้งไม่มีบุพพกรรมเท่านั้น ชาวนาเมื่อข้าวแก่แล้ว ก็กั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าไปในนา ส่วนข้าวกล้าที่ยังไม่แก่ ก็งอกงามขึ้นด้วยน้ำที่มีอยู่ฉันใด ยากับพระปริตรก็มีไว้สำหรับผู้ยังมีอายุขัยเหลืออยู่ฉันนั้น"

" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าผู้หมดอายุขัยแล้วย่อมตายไป ผู้ยังไม่หมดอายุขัยก็ยังมีชีวิตอยู่เป็นธรรมดา พระปริตรกับยาก็ไม่มีประโยชน์อันใด ? "
" ขอถวายพระพร ผู้ที่หายจากโรคด้วยยา มหาบพิตรเคยเห็นหรือไม่? "

" เคยเห็นหลายร้อยราย พระผู้เป็นเจ้า "
" ถ้าอย่างนั้น คำที่มหาบพิตรว่า ยากับพระปริตรไม่มีประโยชน์ก็ผิดไป"

" ข้าแต่พระนาคเสน โรคย่อมหายไปด้วยการกระทำของหมอทั้งหลายมีปรากฏอยู่"
" ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้เคยทรงสดับเสียงของผู้สวดพระปริตรจนสิ้นแห้งอ่อนใจ คอแหบ แล้วหายจากความเจ็บไข้ทั้งปวง หายจัญไรทั้งปวง และเคยเห็นหรือไม่ว่า ผู้ถูกงูกัดแล้วหายด้วยอำนาจมนต์? "
" เคยได้สดับ ผู้เป็นเจ้า เพราะในโลกได้เคยมีอย่างนี้ จนกระทั่งทุกวันนี้ "

" ขอถวายพระพร กุศลที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญมานั้น เป็นของที่ให้สำเร็จประโยชน์ แต่กุศลนั้นอันมารผู้ใจบาปปิดไว้เสียด้วยกำลังอกุศลจิตอันแรงกล้าของตน "
"ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น ก็จะมีคำกล่าวเข้ามาได้ ๒ ประการ คือประการหนึ่งว่า "อกุศลมีกำลังมากกว่ากุศล" อีกประการหนึ่งว่า " มารมีกำลังมากกว่าพระพุทธเจ้า"

ข้างปลายไม้หนักกว่าข้างต้น ผู้ที่ลามกมีกำลังกว่าผู้สมบูรณ์ด้วยความดี จะมีได้เพราะเหตุใด ? "

" ขอถวายพระพร ไม่ใช่อกุศลมีกำลังมากกว่ากุศลเลย ไม่ใช่มารมีกำลังมากกว่าพระพุทธเจ้าเลย แต่มีเหตุอยู่อย่างหนึ่งซึ่งเป็นของควรรู้ คือมีบุรุษคนหนึ่ง นำเอาน้ำผึ้ง น้ำอ้อยข้าวน้ำ อย่างใดอย่างหนึ่งมาถวายพระเจ้าจักรพรรดิ นายประตูบอกว่า ไม่ใช่เวลาเฝ้าพระราชา พวกท่านจงขับคนนี้ออกไปเสียโดยเร็ว อย่าให้พระราชาทรงลงโทษ บุรุษนั้นกลัวพระราชอาญา จึงรีบถือเอาของเหล่านั้นกลับไปโดยเร็ว ขอถามมหาบพิตรว่า จะว่าพระเจ้าจักรพรรดิมีกำลังน้อยกว่านายประตู ด้วยเหตุเพียงไม่ให้นำของเข้าไปถวาย ทั้งไม่ให้ผู้อื่นได้รับของนั้นด้วยหรืออย่างไร? "

" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่นายประตูนั้นมีกำลังมากกว่า"
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ไม่ใช่ว่ามารที่เข้าดลใจพวกพราหมณ์และคฤหบดีที่บ้านปัญจสาลคามด้วยความริษยานั้น จะมีกำลังมากกว่าพวกเทวดาอื่นอีกตั้งหลายแสนกล่าวกันว่า พวกเราจักถือเอาทิพยโอชาอันไม่รู้จักตายเข้าไปโปรยลงในพระกายของพระพุทธเจ้า แล้วก็พากันไปยืนประนมมือเฝ้าอยู่ "

พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนี้จงยกไว้ อันปัจจัย ๔ เป็นของพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดในโลกนี้ได้โดยง่าย พระพุทธเจ้าย่อมได้เสวยพระกระยาหารตามพระพุทธประสงค์ พระพุทธเจ้าผู้ที่เทวดาทั้งหลายทูลอ้อนวอนแล้ว ย่อมเสวยปัจจัย ๔ แต่ว่าความประสงค์อันใดของมารมีอยู่ ความประสงค์อันนั้นก็สำเร็จด้วยเหตุที่ไม่ให้พระพุทธเจ้าได้อาหารบิณฑบาต เป็นอันว่า มารได้ทำอันตรายแก่โภชนาหารของพระพุทธเจ้า โยมยังสงสัยในข้อนี้มาก เพราะสมเด็จพระบรมโลกนาถผู้ล้ำเลิศในโลก ผู้ได้สะสมบุญกุศลไว้เต็มที่แล้วผู้ไม่มีผู้เสมอ ไม่มีผู้เกลียด แต่มารยังทำอันตรายแก่ลาภอันเล็กน้อยได้ "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #213 เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2011, 03:42:26 pm »


อันตรายแห่งลาภ ๔ ประการ

" ขอถวายพระพร อันตรายแห่งลาภมีอยู่ ๔ ประการ คือ อทิฏฐันตราย ๑ อุทิสกตันตราย ๑ อุปักขตันตราย ๑ ปริโภคันตราย ๑

อทิฏฐันตราย นั้นคืออย่างไร ? คือมีผู้ใดผู้หนึ่งกระทำการขัดขวางซึ่งลาภ อันบุคคลตกแต่งไว้โดยเฉพาะเจาะจง และไม่ทันได้เห็นผู้จะรับด้วยการกล่าวว่า " ประโยชน์อะไรในการให้แก่ผู้อื่น " ดังนี้ อันนี้ชื่อว่า อทิฏฐันตราย
อุทิสกตันตราย นั้นได้แก่อะไร ? ได้แก่การขัดขวางซึ่งโภชนะ อันบุคคลจัดไว้เฉพาะเจาะจงผู้รับ

อุปักขตันตราย นั้นได้แก่สิ่งใด ? ได้แก่การขัดขวางซึ่งลาภ อันผู้ใดผู้หนึ่งตกแต่งไว้แล้ว แต่ผู้รับยังไม่ได้รับ
ปริโภคันตราย นั้นเป็นประการใด ? คือการขัดขวางลาภในขณะที่บริโภคอยู่

มหาบพิตร มารผู้ลามกได้เข้าสิงใจพวกพราหมณ์และคฤหบดีในบ้านปัญจสาลคาม ไม่ให้ใส่บาตรพระพุทธเจ้านั้น เป็นการขัดลาภที่บุคคลยังไม่ได้ตกแต่งไว้ และไม่ได้กระทำไว้เฉพาะว่าจะถวาย หรือให้แก่ผู้นั้นผู้นี้ ทั้งยังไม่ได้เห็นผู้รับด้วย ไม่เข้าในลักษณะ ๔ นั้น การที่มารขัดขวางลาภคราวนั้น ไม่ใช่ขัดขวางเฉพาะลาภของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น แม้พวกนิครนถ์ทั้งหลาย ก็ไม่ได้โภชนาหารเลยในวันนั้น อาตมภาพไม่เล็งเห็นผู้จะขัดขวางลาภ ๓ ประการ คือลาภที่จะ จัดไว้เฉพาะ ๑ จัดตั้งไว้แล้ว ๑ กำลังเสวยอยู่ ๑ ของพระพุทธเจ้าได้ ถ้าผู้ใดขัดขวางลาภ ๓ ประการนี้ของพระพุทธเจ้า ด้วยความริษยาเกลียดชัง ศีรษะของผู้นั้น จะต้องแตกร้อยเสี่ยงพันเสี่ยงเป็นแน่แท้ "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #214 เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2011, 03:49:49 pm »


อนาวรณิยฐาน ๔ ประการ

" ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้ามีของอยู่ ๔ ประการ ที่ไม่มีใครหวงห้ามกั้นกางได้ เรียกว่า อนาวรณิยฐาน ของ ๔ ประการนั้นคืออะไรบ้าง คือลาภที่บุคคลตั้งใจจัดไว้เฉพาะพระพุทธองค์ ๑ พระรัศมีด้านละวาที่ประจำพระองค์ ๑ พระสัพพัญญุตญาณ ๑ พระชนม์ชีพ ๑ ของ ๔ ประการนี้ ไม่มีใคร ๆ ในโลกจะทำอันตรายได้ ของ ๔ ประการนี้ มีรสเป็นอันเดียวกัน คือเป็นของที่แน่นอน คงที่ ไม่มีใครทำให้แปรปรวนเป็นอย่างอื่นได้ การที่มารผู้ลามกเข้าสิงใจของพวกพราหมณ์และคฤหบดี ในปัญจสาลคามคราวนั้น ด้วยการลอบเข้าสิงใจ เหมือนกับหญิงที่มีสามีลอบคบบุรุษอื่นฉะนั้น ขอถวายพระพร ถ้าหญิงคบหาบุรุษต่อหน้าสามี เขาจักได้รับความสวัสดีหรือไม่? "

" ไม่ได้รับเลย พระผู้เป็นเจ้า ถ้าสามีได้เห็นก็จะต้องฆ่าตี จองจำ หรือปลดให้เป็นทาสี อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่"

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือมารลอบเข้าสิงใจพวกพราหมณ์และคฤหบดีในบ้านปัญจสาลคาม ถ้าได้กระทำอันตรายแก่ลาภของพระพุทธเจ้า ที่เขาทำไว้ด้วยตั้งใจถวายพระพุทธเจ้าแล้ว ยกเข้าไปตั้งไว้แล้วหรือพระพุทธเจ้ากำลังเสวยอยู่ มารนั้นจะต้องแหลกเป็นผงไปเหมือนขี้เถ้า หรือไม่อย่างนั้นศีรษะของศีรษะของมารนั้น ก็จะต้องแตกออกไปร้อยเสี่ยงพันเสี่ยง

อีกประการหนึ่ง เหมือนกับพวกโจรลอบทำร้ายคนเดินทาง ในปลายแดนพระราชอาณาเขต พระราชาได้พบเห็นก็จะต้องให้ผ่าศีรษะของโจรนั้น ด้วยขวานให้แตกเป็นร้อยเสี่ยงพันเสี่ยงฉะนั้น ขอถวายพระพร"

" สาธุ... พระผู้เป็นเจ้า ปัญหานี้ลึกซึ้งยากยิ่งนัก ยากที่บุคคลอื่นจะแก้ไขได้ พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาให้แจ้งกระจ่างแล้ว โยมจะขอรับเอาไว้ในกาลบัดนี้ "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #215 เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2011, 04:01:37 pm »


ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องทรงบำเพ็ญ ประโยชน์แก่สรรพสัตว์

พระเจ้ามิลินท์มีพระราชดำรัสถามว่า

" ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวไว้ว่า สมเด็จพระบรมศาสดามีแต่กำจัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายออกไปทรงเพิ่มให้แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ดังนี้

แล้วกล่าวไว้อีกว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมปริยาย อันเปรียบด้วยกองเพลิงให้ภิกษุทั้งหลายฟัง จิตของภิกษุ ๖๐ รูป ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ภิกษุอีก ๖๐ รูปก็ได้สึกไป ส่วนภิกษุอีก ๖๐ รูป ก็อาเจียนเป็นโลหิตออกมา

ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าพระตถาคตเจ้ามีแต่กำจัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย แล้วเพิ่มสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ คำว่า "เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมปริยายอันเปรียบด้วยกองเพลิง โลหิตร้อน ๆ ก็พลุ่งออกจากปากของภิกษุ ๖๐ รูป" นั้นก็ผิด

ถ้าคำว่า "เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมปริยายอันเปรียบด้วยกองเพลิง โลหิตร้อน ๆ ก็พลุ่งออกจากปากของภิกษุ ๖๐ รูป" นั้นถูก คำว่า "พระพุทธเจ้าทรงกำจัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย เพิ่มให้แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์นั้นก็ผิด "

ปัญหานี้เป็นอุภโตโกฏิ ถอนได้ยากลึกมาก ได้มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว "

พระนาคเสนถวายพระพรว่า

" มหาราชะ ข้อว่า พระพุทธเจ้าทรงกำจัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แห่งสัตว์ทั้งหลายออกไปเสีย เพิ่มแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ก็ถูก คำว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมปริยายอันเปรียบด้วยกองเพลิง โลหิตร้อน ๆ ของภิกษุ ๖๐ รูปได้พลุ่งออกมาจากปากนั้น ก็ถูก แต่ว่าการที่โลหิตร้อน ๆ พลุ่งออกจากปากภิกษุเหล่านั้น ไม่ใช่ด้วยการกระทำของพระพุทธเจ้า เป็นด้วยการกระทำของภิกษุเหล่านั้นต่างหาก "

" ข้าแต่พระนาคเสน การแก้อย่างนี้ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงธรรมปริยาย อันเปรียบด้วยกองเพลิงหรือภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ฟัง โลหิตร้อน ๆ จะพลุ่งออกจากปากของภิกษุเหล่านั้นหรือ ? "

" ขอถวายพระพร ไม่พลุ่ง ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติผิดได้ฟังธรรมพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เกิดความเร่าร้อนขึ้นในกาย โลหิตร้อน ๆ ก็ได้พลุ่งออกจากปากด้วยความเร่าร้อนนั้น "

" เป็นอันว่า พระตถาคตเจ้าได้ทรงกระทำให้ภิกษุเหล่านั้น อาเจียนเป็นโลหิตออกมา ข้าแต่พระนาคเสน เปรียบเหมือนงูเลื้อยเข้าไปอยู่ในรูจอมปลวก มีบุรุษคนหนึ่งต้องการฝุ่นดิน จึงไปขุดจอมปลวกนำฝุ่นไป ดินก็ได้ไปถมรูจอมปลวก งูหายใจไม่ได้ก็ต้องตาย จะว่างูนั้นตายเพราะการกระทำของบุรุษนั้นได้หรือไม่ ? "

"ได้ มหาบพิตร "

" ข้อนี้มีอุปมาฉันนั้นแหละ พระนาคเสน ก็เป็นอันว่า ภิกษุเหล่านั้นอาเจียนเป็นโลหิตร้อน ๆ ออกมาด้วยการกระทำของพระพุทธเจ้า "

"ขอถวายพระพร พระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงธรรมไม่ได้ทรงแสดงด้วยความคิดยินดียินร้ายอย่างไร ทรงแสดงด้วยปราศจากความยินดียินร้าย เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงแสดงธรรม พวกใดปฏิบัติถูก พวกนั้นก็รู้ธรรม พวกใดปฏิบัติผิด พวกนั้นก็ตกไป บุรุษผู้รักษาต้นมะม่วงหรือต้นหว้า ต้นมะซาง ที่กำลังมีผล ผลเหล่าใดที่มั่นคงดี ผลเหล่านั้นก็ไม่หล่น ส่วนผลเหล่าใดมีขั้วรากเน่า ผลเหล่านั้นก็หล่นไปฉันใด สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ทรงแสดงธรรมไปตามวิถีธรรม แต่เมื่อทรงแสดงธรรม พวกใดปฏิบัติถูก พวกนั้นก็รู้ธรรม พวกใดปฏิบัติผิด พวกนั้นก็ตกไปจากธรรมฉันนั้น

อีกประการหนึ่ง
พวกชาวนาอยากจะหว่านข้าวจึงไถนา เมื่อไถนาไปหญ้าก็ตายตั้งพัน ๆ ฉันใด สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดงธรรม เพื่อให้ผู้มีบารมีแก่กล้ารู้ธรรม เมื่อทรงแสดงธรรมอยู่พวกปฏิบัติถูกก็รู้ธรรม พวกปฏิบัติผิดก็ตายไป เหมือนกับหญ้าทั้งหลายฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง เมื่อพวกมนุษย์จะหีบอ้อยด้วยต้องการน้ำอ้อย ก็นำอ้อยเข้าเครื่องหีบ บุ้ง หนอน ตัวเล็กๆ ที่อยู่ในอ้อยนั้นก็ตายไปฉันใด สมเด็จพระบรมโลกนาถก็บีบเวไนยสัตว์ผู้มีบารมีแก่กล้าด้วยเครื่องยนต์คือ พระธรรมเพื่อให้รู้แจ้ง พวกปฏิบัติผิดก็ตายไปเหมือนตัวบุ้งตัวหนอนเล็ก ๆ ฉะนั้น "

"ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้นพระภิกษุทั้ง ๖๐ รูปนั้น ก็ตกไปด้วยพระธรรมเทศนานั้นอย่างนั้นหรือ ? "

" อย่างนั้น มหาบพิตร แต่อาตมภาพขอถามว่า ช่างถากไม้ย่อมถากไม้ให้เกลี้ยงให้ตรงใช่ไหม ? "

" ใช่แล้ว พระผู้เป็นเจ้า "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือสมเด็จพระพิชิตมารผู้รักษาบริษัท ไม่อาจให้ผู้ไม่ใช่พุทธเวไนยรู้ได้ ก็กำจัดพวกปฏิบัติผิดเสีย แล้วกระทำพวกปฏิบัติถูกให้รู้ธรรม พวกปฏิบัติผิดก็ตกไปด้วยการกระทำของตน อนึ่ง โจรได้ถูกควักลูกตาเสียก็มี ถูกเสียบหลาวทั้งเป็นก็มี ถูกตัดมือตัดเท้า ตัดศีรษะก็มี เพราะการกระทำของเขาฉันใด พวกปฏิบัติผิดก็ตกไปจากพระพุทธศาสนาฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง ต้นกล้วย ไม้ไผ่ แม่ม้าอัศดร ย่อมตายไปด้วยผลของตนเองฉันใด พวกปฏิบัติผิดก็ตกไปจากพระพุทธศาสนาฉันนั้น พวกภิกษุ ๖๐ รูป ได้อาเจียนเป็นโลหิตร้อน ๆ ออกมานั้น ไม่ใช่เป็นด้วยการกระทำของพระพุทธเจ้า หรือของผู้อื่นเลยเป็นด้วยการกระทำของตนต่างหาก

อีกประการหนึ่ง เหมือนดังเช่นบุรุษคนหนึ่งให้ยาอมฤตแก่คนทั้งปวง คนทั้งปวงนั้นได้ดื่มยาอมฤตแล้ว ก็หายโรคมีอายุยืนหมดจัญไร แต่อีกพวกหนึ่งหายโรคมีอายุยืน อีกพวกหนึ่งตายเพราะการทำไม่ดีของตน ขอถามว่าบุรุษผู้ให้ยาอมฤตนั้น จะได้บาปอย่างไรหรือไม่ ? "

" ไม่ได้บาปอะไรเลย ผู้เป็นเจ้า "

"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือพระตถาคตเจ้าย่อมทรงประทานธรรมอันไม่รู้จักตายให้แก่เทพยดามนุษย์ในหมื่นโลกธาตุ พวกใดได้อบรมวาสนาบารมีมาแล้วพวกนั้นก็รู้ธรรม พวกนั้นก็ตกไปด้วยยาอมฤต คือพระธรรม พวกฟังอมตธรรมแล้วตกไปจากความเป็นสมณะนั้นเปรียบเหมือนพวกกินยาอมฤตแล้วตายไปฉะนั้น ธรรมดาโภชนะย่อมรักษาชีวิตสัตว์ทั้งปวงไว้ แต่บางคนกินแล้วก็เสียดท้องตายผู้ที่ให้โภชนะนั้นก็ไม่ได้บาปอะไร ขอถวายพระพร "

"ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าแก้ปัญหาข้อนี้ โยมขอรับทราบไว้ว่าถูกต้องดีแล้ว "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #216 เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2011, 04:05:41 pm »


ปัญหาที่ ๗ ถามถึงธรรมอันประเสริฐสุด

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า พระธรรมเป็นของประเสริฐสุด ทั้งในโลกนี้และโลกอื่น แต่ตรัสไว้อีกว่า คฤหัสถ์ถึงความเป็นพระโสดาบัน ละอบายภูมิทั้ง ๔ แล้ว ถึงความเห็นแล้ว รู้แจ้งศาสนาแล้ว ก็ยังกราบไหว้ลุกรับ ซึ่งพระภิกษุสามเณรผู้เป็นปุถุชนอยู่

ถ้าถือว่าพระธรรมประเสริฐสุดจริง คำที่กล่าวถึงการที่คฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบันกราบไหว้พระภิกษุสามเณรปุถุชนนั้นก็ผิดไป

ถ้าคำว่า คฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบันกราบไหว้พระภิกษุสามเณรผู้เป็นปุถุชนนั้นถูก คำว่าพระธรรมประเสริฐสุดในโลกนั้นก็ผิดไป

ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ แก้ได้ยาก ขอได้โปรดแก้ให้สิ้นสงสัยด้วยเถิดพระคุณเจ้าข้า "

พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไว้ว่า

"ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้นถูกต้องทั้งนั้น แต่ว่าเหตุที่ให้คฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบันกราบไหว้พระภิกษุสามเณรปุถุชนนั้น มีอยู่ต่างหาก

เหตุนั้นคืออะไร ? คือ สมณกรณธรรม ๒๐ อย่าง และ เพศ ๒ อย่าง

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #217 เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2011, 04:10:57 pm »


สมณกรณธรรม ๒๐ นั้นคือ

๑. มีภูมิอันประเสริฐ
๒. มีความนิยมอันเลิศ
๓. ความประพฤติอันดีงาม
๔. ธรรมเป็นเครื่องอยู่
๕. ความสำรวมอินทรีย์ ๖

๖. ความระวังปาฏิโมกข์
๗. ความอดทน
๘. ความยินดีในธรรมอันดี
๙. ความยินดียิ่งในธรรมอันแท้
๑๐. ความประพฤติในธรรมเที่ยงแท้

๑๑. ความอยู่ในที่สงัด
๑๒. ความละอาย
๑๓. ความสะดุ้งกลัว
๑๔. ความเพียร
๑๕. ความไม่ประมาท

๑๖. บำเพ็ญสิกขา
๑๗. ตั้งใจเล่าเรียนสอบถาม
๑๘. ยินดียิ่งในศีลเป็นต้น
๑๙. ไม่มีความอาลัย
๒๐. ทำสิกขาบทให้เต็ม

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #218 เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2011, 04:17:06 pm »


เพศ ๒ นั้นได้แก่ นุ่งห่มผ้าเหลือง ๑ มีศีรษะโล้น ๑

ภิกษุย่อมถือสรณกรณธรรม ๒๐ กับเพศ ๒ ไว้อย่างนี้ ภิกษุนั้นชื่อว่าย่างลงสู่ภูมิของพระเสขะ ชื่อว่าย่างลงสู่ภูมิพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านั้นอย่างบริบูรณ์ สมควรเรียกว่าผู้ถึงซึ่งระหว่างแห่งภูมิอันประเสริฐ ผู้ถึงซึ่งที่ตั้งแห่งเหตุอันจะให้เป็นพระอรหันต์

เพราะฉะนั้น
อุบาสกผู้เป็นพระโสดาบันจึงควรกราบไหว้ ลุกรับ พระภิกษุปุถุชนด้วยคิดว่า
ท่านผู้สิ้นอาสวะแล้วย่อมเข้าถึงความเป็นสมณะ คุณวิเศษอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่เรา ๑

คิดว่าท่านเข้าถึงความเป็นบริษัทอันเลิศ และได้เพื่อจะฟังปาฏิโมกข์อุทเทส เราไม่ได้ฟัง ๑
ท่านให้บรรพชาอุปสมบทได้ อาจให้พระพุทธศาสนาเจริญได้ เราให้บรรพชาอุปสมบทไม่ได้ ๑

ท่านเป็นผู้ปฏิบัติในสิกขาบาท อันไม่มีประมาณ เราไม่ได้ปฏิบัติ ๑
ท่านประกอบด้วยเพศสมณะ ถูกต้องตามพระพุทธประสงค์ เราห่างไกลจากเพศนั้น ๑

ท่านไม่ปล่อยขนรักแร้ เล็บมือเล็บเท้า หนวดเคราให้รกรุกรัง ทั้งไม่หวั่นไหวในกามารมณ์ ไม่ได้ประดับประดาร่างกาย ไม่ได้ลูบไล้เครื่องหอม ส่วนเรายังยินดีอยู่ในการตกแต่งร่างกาย ๑

ขอถวายพระพร สมณกรณธรรม ๒๐ กับ เพศ ๒ นั้นย่อมมีแก่ภิกษุ พระภิกษุนั้นย่อมทรงธรรมเหล่านั้นไว้ และให้ผู้อื่นศึกษาในธรรมเหล่านั้น อุบาสกผู้เป็นพระโสดาบัน ควรกราบไหว้ลุกรับภิกษุปุถุชน ด้วยคิดว่า ความรู้ความดีเหล่านั้น ไม่ได้มีอยู่แก่เรา "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #219 เมื่อ: กรกฎาคม 31, 2011, 04:21:53 pm »


อุปมาพระราชโอรส

" ขอถวายพระพร เนื้อความข้อนี้ควรกำหนดทราบด้วยอุปมาอย่างเช่นว่า พระราชโอรสย่อมศึกษาวิชาในสำนักปุโรหิต เมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้นก็ได้อภิเษกเป็นพระราชา พระราชกุมารนั้นย่อมกราบไหว้ลุกรับอาจารย์ด้วยคิดว่า เป็นผู้สอนวิชาให้ฉันใดพระภิกษุก็เป็นผู้ในศึกษา เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความสำรวม เพราะฉะนั้น อุบาสกผู้เป็นพระโสดาบัน จึงควรกราบไหว้ ลุก รับ ภิกษุปุถุชน

อีกประการหนึ่ง ขอจงทราบว่า ภูมิของภิกษุเป็นภูมิใหญ่ ไม่มีภูมิอื่นเสมอ เป็นภูมิไพบูลย์ด้วยปริยายอันนี้ ถ้าอุบาสกผู้เป็นพระโสดาบันได้สำเร็จพระอรหันต์ มีคติอยู่ ๒ คือต้องปรินิพพานในวันนั้น หรือเข้าถึงความเป็นภิกษุในวันนั้นจึงจะได้ เพราะว่าบรรพชานั้นเป็นของใหญ่ เป็นของบริสุทธิ์ เป็นของถึงซึ่งความเป็นของสูง คือภูมิของภิกษุ ขอถวายพระพร "

" ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหานี้พระผู้เป็นเจ้าผู้มีญาณ ผู้มีกำลัง ผู้มีวุฒิยิ่ง ได้ชี้แจงไว้แล้ว ผู้อื่นนอกจากพระผู้เป็นเจ้า ไม่มีใครสามารถให้รู้แจ้งได้ "