แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มิลินทปัญหา

<< < (49/78) > >>

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องทรงขับไล่ภิกษุ

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
" เราเป็นผู้ไม่โกรธ เป็นผู้ไม่มีตะปู คือความโกรธแล้ว"
แต่ภายหลังได้ทรงประณามขับไล่ พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร พร้อมทั้งบริวาร

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงขับไล่ เพราะความโกรธ หรือเพราะความดีพระทัย ขอได้โปรดแก้ไขให้โยมเข้าใจ
ถ้าทรงขับไล่ด้วยความโกรธ ก็เป็นอันว่าพระตถาคตเจ้า ยังไม่ทรงละความโกรธ ถ้าทรงขับไล่ด้วยยินดี ก็เป็นอันว่าไม่รู้ แต่ทรงกระทำให้เมื่อยังไม่มีเหตุสมควร
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ให้สิ้นสงสัยนะ พระคุณเจ้าข้า "

พระนาคเสนชี้แจงว่า
" ขอถวายพระพร ข้อที่สมเด็จพระชินวรเจ้าตรัสว่า เราเป็นผู้ไม่มีความโกรธ เป็นผู้ที่ไม่มีตะปู คือความโกรธแล้ว แต่ได้ทรงขับไล่พระโมคัลลาน์พระสารีบุตร พร้อมทั้งบริวาร การทรงขับไล่นั้น ไม่ใช่ทรงขับไล่ด้วยความโกรธ มหาราชะ

เหมือนอย่างบุรุษผู้หนึ่งพลาดล้มลงที่พื้นดิน หรือล้มลงที่แผ่นหิน ถูกก้อนกรวด หลักตอ ที่ไม่สม่ำเสมอ ที่มีตมมีโคลนย่อมมีอยู่ อาตมภาพขอถามว่า แผ่นดินโกรธหรือ จึงทำให้ผู้นั้นพลาดล้ม ? "
" แผ่นดินไม่ได้โกรธเลย ผู้เป็นเจ้า ความโกรธหรือความเลื่อมใสไม่มีแก่แผ่นดิน แผ่นดินไม่มีความยินดียินร้าย เขาพลาดล้มของเขาเอง"

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร สมเด็จพระพิชิตมารไม่มีความโกรธ ความยินดีร้ายอันใด แต่พระอัครสาวกทั้งสองนั้น ถูกขับไล่เพราะการกระทำผิดของตนต่างหาก อาตมภาพขอถามว่า ธรรมดามหาสมุทรย่อมไม่อยู่ร่วมกับซากศพ หรือจอกแหนสาหร่าย แต่อย่างใด มีแต่พัดเอาจอกแหนสาหร่าย ขึ้นไปบนฝั่งเสียโดยเร็ว มหาสมุทรนั้นโกรธหรือ จึงได้ทำอย่างนั้น ? "
" ไม่โกรธ ผู้เป็นเจ้า เพราะมหาสมุทรไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร"

" ข้อนี้มีอุปมาฉันใด สมเด็จพระจอมไตรก็ไม่ทรงยินดียินร้ายแต่อย่างใด พระอัครสาวกทั้งสองนั้น ถูกขับไล่เพราะความผิดพลาดของตนต่างหาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคมีแต่ทรงมุ่งประโยชน์สุข ได้ทรงขับไล่ด้วยทรงเห็นว่าภิกษุเหล่านี้ จักพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยอาการอย่างนี้ ขอถวายพระพร "

" สาธุ...พระนาคเสน โยมขอรับว่า ถูกอย่างพระผู้เป็นเจ้ากล่าวแล้วทุกประการ"

ฐิตา:

   ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องความเป็นสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า

   พระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ตรัสถามว่า

   " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า พระพุทธเจ้าเป็นพระสัพพัญญู แต่กล่าวไว้อีกว่า เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงขับไล่พระภิกษุสงฆ์ มี พระโมคคัลลาน์พระสารีบุตร เป็นหัวหน้าไม่ให้เช้ามาเฝ้า แล้วพวกกษัตริย์ศากยราชกับท้าวสหัมบดีพรหม ได้พร้อมกันเข้าไปเฝ้าทูลขอโทษต่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคำอุปมากับพืชและลูกโค

   ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อุปมาทั้งสองข้อ ที่ทำให้สมเด็จพระบรมศาสดาทรงอดโทษนั้น พระตถาคตเจ้าไม่ทรงทราบหรือ ถ้าไม่ทรงทราบจะว่าพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูได้อย่างไร

   ถ้าทรงทราบ แต่ทรงพระประสงค์จะทดลองใจของภิกษุเหล่านั้นว่าจะคิดอย่างไรจึงได้ทรงขับไล่ ก็เป็นอันว่า พระตถาคตเจ้าไม่มีพระกรุณา
   ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิได้มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว "

   พระนาคเสนตอบว่า
   " ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าเป็นพระสัพพัญญูจริง แต่ว่าทรงอดโทษด้วยอุปมาทั้งสองข้อนั้น คือเทพยดามนุษย์ทั้งหลายย่อมทำให้พระตถาคตเจ้า ผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรม ทรงเลื่อมใสได้ด้วยธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงไว้แล้ว ขอถวายพระพร

   ภรรยาย่อมให้สามีดีใจ ด้วยทรัพย์ของสามีที่หามาได้เอง คือเมื่อได้เห็นภรรยานำทรัพย์ที่ตนหามาได้นั้นออกมาให้ดูก็ดีใจฉันใด พวกกษัตริย์ศากยราช กับท้าวสหัมบดีพรหม ก็ได้ทำให้พระตถาคตเจ้าทรงชื่นชมยินดี ด้วยธรรมของพระองค์เองฉันนั้น

   อีกประการหนึ่ง ช่างกัลบกผู้ตกแต่งพระเกศของพระราชา ก็ทำให้พระราชาทรงพอพระทัย ด้วยเครื่องประดับของพระราชาเอง ถึงกับได้รับพระราชทานรางวัลฉันใด พวกนั้นก็ได้ทำให้พระตถาคตเจ้า ทรงโปรดปรานด้วยธรรมของพระองค์เอง พระตถาคตเจ้าก็ได้ทรงแสดงความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ให้พวกนั้นฟังฉันนั้น

   อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนสัทธิวิหาริก ได้ทำให้อุปัชฌาย์ดีใจ ด้วยอาหารที่อุปัชฌาย์บิณฑบาตมาได้เอง คือเมื่ออุปัชฌาย์บิณฑบาตได้อาหารมาไว้แล้ว สัทธิวิหาริกก็จัดน้อมเข้าไปถวาย อุปัชฌาย์ก็ดีใจฉะนั้น ขอถวายพระพร "

   " สาธุ...พระนาคเสน โยมรับว่าถูกต้องดีแล้ว"

ฐิตา:

   ปัญหาที่ ๕ ว่าด้วยบรรพชิตมีโอกาสได้มรรคผลมากกว่าฆราวาส

   พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธพจน์มีอยู่ว่า ฆราวาสก็ดี บรรพชิตก็ดี เมื่อหมั่นปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้ว ก็ย้อมได้บรรลุมรรคผลเหมือนกัน ฉะนี้มิใช่หรือ
   
   พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นดังพระองค์ตรัสนั้นแล

   ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น จะบวชทำไม  ต้องโกนผม โกนหนวด ต้องสำรวมกายวาจาใจ ส่วนฆราวาส
   มีของบำเรอสุขสบายทุกอย่างทุกประการ แต่เมื่อปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้ว ก็ย่อมได้บรรลุมรรคผลเหมือนกัน ถ้าเป็นเช่นนี้ ฆราวาสจะมิดีกว่าหรือ

   ขอถวายพระพรมหาบพิตร   เพศบรรพชิตย่อมทรงคุณพิเศษ กว่าฆราวาส ยังมีทางที่จะได้บรรลุมรรคผลได้
   เพราะบรรพชิตไม่ต้องเสียเวลาแสวงหาสิ่งที่จำเป็น เช่นเครื่องนุ่งห่ม อาหาร หรือที่อยู่อย่างฆราวาส มีโอกาสที่จะพึงประพฤติมักน้อย สันโดษ ยินดีในที่สงัดเงียบ และตัดความกังวลทั้งหลายเสียได้ ไม่มีสิ่งบำเรอความสุขซึ่งจะมาหน่วงเหนี่ยวใจให้เกิดความยินดีและความอาลัย โอกาสที่จะพึงกระทำศีลสมาธิปัญญาให้บริบูรณ์ยิ่ง ๆ จึงมีได้

   ขอถวายพระพร ก็เมื่อบรรพชิตมีโอกาสได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบถึงอย่างนี้ บรรพชิตจะมิดีกว่าฆราวาสหรือ

   ข้าแต่พระคุณเจ้า ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ดีกว่า

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๖ ถามเรื่องไม่มีที่อยู่ประจำและไม่มีอาลัย

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า
" การไม่มีที่อยู่ประจำไม่มีความอาลัยในสิ่งใดเป็นความเห็นของมุนี"

ดังนี้ แล้วตรัสอีกว่า
" บุคคลควรสร้างวิหารให้น่ายินดี ควรให้ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูตรมาอยู่ในวิหารนั้น"
ดังนี้ ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิควรแก้ไขให้สิ้นสงสัย"

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้าได้ตรัสคำทั้งสองนั้น ไว้อย่างนั้นจริง ๆ คำที่ตรัสว่า " การไม่มีที่อยู่ประจำ ไม่มีความอาลัยในสิ่งใด เป็นความเห็นของมุนีนั้น " เป็นคำที่ตรัสออกไปด้วยทรงเห็นว่า สิ่งทั้งสองนั้นสมควรแก่สมณะ เพราะสมณะไม่ควรมีที่อยู่ประจำ ไม่ควรอาลัยในสิ่งใดควรทำตนเหมือนกับเนื้อในป่าฉะนั้น

ข้อที่ตรัสไว้ว่า
" บุคคลควรสร้างวิหารให้น่ายินดี แล้วให้ภิกษุผู้เป็นพหูสูตรทรงพระไตรปิฎกมาอยู่นั้น ตรัสด้วยทรงเล็งเห็นประโยชน์ ๒ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ทรงเล็งเห็นว่า วิหารทาน การให้ที่อยู่ที่อาศัยเป็นทาน เป็นของที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญว่าดี พวกสร้างวิหารให้เป็นทาน อาจสำเร็จแก่พระนิพพาน พ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันนี้เป็นอานิสงส์ในการสร้างวิหารทานเป็นข้อแรก

ประการที่ ๒ เมื่อมีวิหารอยู่ ก็จักมีพระภิกษุผู้มีความรู้ มาอาศัยอยู่เป็นอันมากใครอยากพบเห็นก็จะพบเห็นได้ง่าย อันนี้เป็นอานิสงส์ในวิหารข้อที่สอง

แต่พระภิกษุไม่ควรมีความอาลัยเกี่ยวข้องในที่อยู่ จึงทรงสอน อย่างนั้น ขอถวายพระพร

" ถูกแล้ว พระนาคเสน"

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๗ ถามเรื่องสำรวมท้อง

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
" ภิกษุไม่ควรประมาทในอาหารที่ลุกขึ้นยืนรับ ควรเป็นผู้สำรวมท้อง"

ดังนี้แล้วตรัสอีกว่า
" ดูก่อนอุทายี บางคราวเราตถาคตได้ฉันอาหารเต็มเสมอขอบปากบาตร บางคราวก็ยิ่งกว่านั้น"

ดังนี้ ถ้าทรงสอนให้สำรวมท้อง คำที่ตรัสว่า
" บางคราวเสวยอาหารเต็มเสมอขอบปากบาตรและยิ่งกว่าก็มีนั้น" ก็ผิดไป

ถ้าไม่ผิด คำว่า " ควรสำรวมท้อง " ก็ผิดไป
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไขให้สิ้นสงสัยเช่นกัน"

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร คำที่ตรัสไว้ทั้งสองอย่างนั้น เป็นจริงทั้งนั้น ส่วนคำที่ตรัสว่า " ไม่ควรประมาทในอาหารที่ลุกขึ้นยืนรับ ควรเป็นผู้สำรวมท้องนั้น" เป็นถ้อยคำที่ปรากฏทั่วไปของพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสัพพัญญูเจ้าทั้งหลาย

เพราะเหตุว่า ผู้ไม่สำรวมท้อง ย่อมทำบาปต่าง ๆ ได้ คือทำปาณาติบาติก็มี ทำอทินนาทานก็มี ทำกาเมสุมิจฉาจารก็มี กล่าวมุสาวาทก็มี ดื่มน้ำเมาก็มี ฆ่ามารดาบิดาก็มี ฆ่าพระอรหันต์ก็มี ทำสงฆ์ให้แตกกันก็มี ทำโลหิตุปบาทก็มี

พระเทวทัต ทำสงฆ์ให้แตกกัน ไม่ใช่เพราะไม่สำรวมท้องหรือ...

สมเด็จพระบรมศาสดาทรงเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ จึงได้ทรงสอนให้สำรวมท้อง ผู้สำรวมท้องย่อมล่วงรู้อริยสัจ ๔ สำเร็จ สามัญผล ๔ มีความชำนาญในปฏิสัมภิทา ๔ สมาบัติ ๔ อภิญญา ๖ ทรงไว้ซึ่งสมณธรรมทั้งสิ้น ลูกนกแขกเต้าเป็นผู้สำรวมท้อง จึงได้ทำให้สวรรค์ชั้นดาวดึงส์หวั่นไหว ทำให้พระอินทร์เสด็จลงมาหา ใช่หรือไม่ สมเด็จพระจอมไตรทรงเห็นอานิสงส์ต่าง ๆ อย่างนี้จึงได้ทรงสอนให้สำรวมท้อง

ส่วนข้อที่ตรัสว่า" บางคราวได้เสวยอาหารเสมอขอบปากบาตรก็มี ยิ่งกว่าก็มีนั้น" เป็นคำที่พระตถาคตเจ้าผู้สำเร็จกิจทั้งปวงแล้วได้ตรัสไว้ด้วยมุ่งหมายพระองค์เองเท่านั้น ผู้เป็นโรคเมื่อต้องการหายจากโรค ควรงดเว้นของแสลงฉันใด ผู้ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่เห็นของจริง ก็ควรสำรวมท้องฉันนั้น อีกอย่างหนึ่ง แก้วมณีที่บริสุทธิ์ผ่องใสอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขัดสีฉันใด พระพุทธเจ้าผู้สำเร็จพุทธวิสัยแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องห้ามในพุทธจริยาทั้งหลายฉันนั้น ขอถวายพระพร "

" ถูกดีแล้ว พระนาคเสน"

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version