แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มิลินทปัญหา

<< < (50/78) > >>

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๘ ถามเรื่องปกปิดพระธรรมวินัย

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จมหามุนีได้ตรัสคำนี้ไว้ว่า
" ธรรมวินัยอันพระตถาคตเจ้าประกาศไว้แล้ว มีผู้เปิดเผยจึงสว่างไสว เมื่อปิดก็ไม่สว่างไสว " แล้วตรัสไว้อีกว่า

" พระปาฏิโมกข์และพระวินัยทั้งสิ้น เป็นของอันภิกษุทั้งหลายปกปิดแล้ว"
ดังนี้ ถ้าบุคคลได้ความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนา เปิดพระวินัยบัญญัติไว้ จะทำให้งามดี การศึกษา การสำรวมในพระวินัยบัญญัติและศีลคุณ อาจารบัญญัติ อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส จะปรากฏรุ่งเรืองขึ้น

ถ้าคำว่า " เปิดพระธรรมวินัยไว้ จะรุ่งเรืองดี " เป็นคำถูก คำว่า " พระปาฏิโมกข์และพระวินัยทั้งสิ้น เป็นของอันภิกษุทั้งหลายปกปิดแล้ว" ก็เป็นของผิด

ถ้าคำว่า " เปิดพระธรรมวินัยไว้ จะรุ่งเรืองดี " เป็นคำผิด คำว่า " พระปาฏิโมกข์และพระวินัยทั้งสิ้น เป็นของอันภิกษุทั้งหลายปกปิดแล้ว" ก็เป็นของถูก
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไข"

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้น ถูกต้องทั้งนั้น ก็แต่กว่าการปิดนั้น ไม่ได้ปิดทั่วไปปิดมีเขตแดนต่างหาก คือสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปิดพระปาฏิโมกข์ อันมีสีมาเป็นเขตแดน ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ

๑. ปิดตามวงค์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน
๒. ปิดด้วยความเคารพพระธรรม
๓. ปิดด้วยความเคารพภูมิของภิกษุ

๑. ปิดตามวงค์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน คืออย่างไร... คือพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทรงแสดง พระปาฏิโมกข์ ในท่ามกลางภิกษุทั้งหลาย ปิดเฉพาะพวกนอกจากภิกษุเท่านั้น เหมือนกับขัตติยมายา คือประเพณีของกษัตริย์ทั้งหลาย ย่อมรู้เฉพาะในวงศ์กษัตริย์เท่านั้น ปกปิดพวกอื่นไม่ให้รู้

๒. ปิดเพราะเคารพพระธรรมนั้น คืออย่างไร...คือพระธรรมเป็นของควรเคารพเป็นของหนัก ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระธรรมจึงจะสำเร็จธรรมได้ ถ้าไม่ปกปิดไว้ ผู้ไม่ปฏิบัติชอบในระบอบธรรมวินัย คือพวกคฤหัสถ์ก็จะติเตียนได้ จึงทรงโปรดให้ปกปิดพระปาฏิโมกข์ไว้ ด้วยเคารพพระธรรมว่า อย่าให้พระธรรมอันเป็นแก่นอันประเสริฐนี้ เป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนดูถูกติเตียน ของพวกที่ไม่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเลย

เปรียบเหมือนจันทร์แดง อันมีแก่นประเสริฐ สมควรแก่ขัตติยกัญญาเท่านั้น ฉะนั้น

๓. ปิดเพราะความเคารพภูมิของภิกษุนั้น คืออย่างไร...คือความเป็นภิกษุเป็นของมีคุณ ชั่งไม่ได้ ประมาณไม่ได้ ตีราคาไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดเสมอ เปรียบเหมือนทรัพย์อันประเสริฐอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเครื่องนุ่งห่ม เครื่องปู ม้า ช้าง รถ ทอง เงิน ที่ช่างทองตกแต่งดีแล้ว ย่อมสมควรแก่พระราชาทั้งหลายฉันใด คุณธรรม คือการศึกษาเล่าเรียน การสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ย่อมสมควรแก่ภิกษุสงฆ์ฉันนั้น ขอถวายพระพร "

" ถูกดีแล้ว พระนาคเสน"

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องความหนักเบาแห่งมุสาวาท

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า
" เป็นปาราชิกเพราะแกล้งกล่าวเท็จ"

แต่ตรัสอีกว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นอาบัติเบา แสดงในสำนักภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้"
ความ ๒ ข้อนี้ต่างกันอย่างไร เหตุไรข้อหนึ่งจึงเป็น อเตกิจฉา คือแก้ไขไม่ได้ อีกข้อหนึ่งเป็น สเตกิจฉา คือแก้ไขได้

ถ้าที่ตรัสว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นปาราชิก " ถูกแล้ว คำที่ตรัสว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นอาบัติเบา " ก็ผิดไป
ถ้าที่ตรัสว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นอาบัติเบา " นั้นถูก ที่ตรัสว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นปาราชิก" นั้นก็ผิดไป
ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไข "

พระนาคเสนตอบว่า " ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นปาราชิก " นั้นก็ถูก ที่ตรัสว่า " แกล้งกล่าวเท็จเป็นอาบัติเบา " นั้นก็ถูก
เพราะว่าการแกล้งกล่าวเท็จนั้น เป็นของหนักและเบาตามวัตถุ มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร ถ้ามีบุรุษคนหนึ่งตบตีบุรุษอีกคนหนึ่งด้วยมือ พระองค์จะทรงลงโทษแก่ผู้ตบนั้นอย่างไร ? "

" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าบุรุษนั้นไม่ขอโทษก็จะต้องไหมเขา เป็นเงิน ๑ กหาปณะเป็นอย่างมาก "
" ขอถวายพระพร ถ้าบุรุษคนเดียวกันนั้นเอง ตีมหาบพิตรด้วยฝ่ามือ บุรุษนั้นจะได้รับโทษอย่างไร ? "
" ข้าแต่พระนาคเสน ต้องให้ตัดมือบุรุษนั้นจนกระทั่งถึงตัดศีรษะ ริบบ้านเรือน ให้ฆ่าเสียถึง ๗ ชั่วตระกูล "
" ขอถวายพระพร การตบตีด้วยมืออย่างเดียวกัน เหตุไฉนจึงมีโทษหนักเบากว่ากันล่ะ ? "

" อ๋อ...เพราะเป็นเหตุด้วยวัตถุ "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร การแกล้งกล่าวเท็จ ก็มีโทษหนักเบาตามวัตถุขอถวายพระพร "

" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน"

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๑๐ ถามถึงเรื่องผู้ควรแก่การขอ

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ได้ตรัสประทานไว้ว่า " เราเป็นพราหมณ์ ผู้ควรแก่การขอ ผู้มีมืออันล้างไว้เนือง ๆ ผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้าย ผู้เยี่ยม"

แล้วตรัสอีกว่า " พระพากุละเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นสาวกของเรา ในทางมีอาพาธน้อย " ดังนี้

อาพาธได้เกิดในพระวรกายของพระพุทธเจ้าหลายครั้ง ถ้าพระตถาคตเจ้าเป็นผู้เยี่ยมจริง คำที่ว่า " พระพากุละเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา ในทางมีอาพาธน้อย " ก็ผิดไป ถ้าพระพากุละเป็นผู้มีอาพาธน้อยจริงคำที่ว่า " พระตถาคตเจ้าเป็นผู้เยี่ยม" ก็ผิดไป
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ สมควรแก้ไขอีก "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสไว้ทั้งสองนั้นถูกทั้งนั้น ข้อที่ตรัสไว้นั้น เป็นความดีภายนอกต่างหาก คือพระสาวกทั้งหลายที่ไม่นอนเลย ได้แต่ยืนกับเดินเท่านั้นตลอดวันก็มี ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้ามีทั้งทรงยืน เดิน นั่ง นอน สาวกเหล่านั้น จึงมีการยืน กับการเดินนั้น เป็นคุณพิเศษ

พวกสาวกที่นั่งฉันในอาสนะเดียว ถึงจะเสียชีวิตก็ไม่ยอมนั่งฉันในอาสนะที่สองก็มี ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเสวยในอาสนะที่สองก็ได้ พวกนั้นจึงมีการนั่งฉันในอาสนะเดียวนั้นเป็นคุณวิเศษ

ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ว่าเป็นผู้เยี่ยมนั้น คือเยี่ยมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ทศพลญาณ เวสารัชชญาณ พุทธธรรม ๑๘ ที่ว่าเป็นผู้เยี่ยมทรงหมายพุทธวิสัยทั้งสิ้น ในหมู่มนุษย์ ผู้หนึ่งมีชาติตระกูลสูงผู้หนึ่งมีทรัพย์ ผู้หนึ่งมีวิชา ผู้หนึ่งมีศิลปะ ผู้หนึ่งแกล้วกล้า ผู้หนึ่งเฉียบแหลม มีคุณวิเศษต่าง ๆ กัน แต่พระราชาย่อมสูงสุดกว่าบุรุษเหล่านั้นฉันใด สมเด็จพระจอมไตรก็เป็นผู้ล้ำเสิศประเสริฐสุดกว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายฉันนั้น พระพากุละผู้มีอาพาธน้อย จึงเลิศกว่าผู้อื่นในทางอาพาธน้อยเท่านั้น ไม่ใช่เลิศกว่าผู้อื่นในสิ่งทั้งปวง ขอถวายพระพร "

" ถูกแล้วพระนาคเสน โยมรับรองว่าถูกต้องดี"

จบวรรคที่ ๔

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๑ ถามถึงอำนาจฤทธิ์และกรรม

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

" บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา มหาโมคคัลลาน์เป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์ " แล้วมีปรากฏว่า พระมหาโมคคัลลาน์นั้นถูกพวกโจรทุบตีจนศีรษะแตก กระดูก เส้นเอ็น สมอง แหลกละเอียด เหมือนกับเมล็ดข้าวสาร แล้วพระมหาโมคคัลลาน์ก็ปรินิพพานด้วยเหตุนั้น ดังนี้

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระโมคคัลลาน์เป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์จริง ข้อที่ว่า
" พวกโจรทุบตีแหลกละเอียดจนปรินิพพาน " นั้นก็ผิด
ถ้าข้อที่ว่า " ถูกพวกโจรทุบตีแหลกละเอียดจนปรินิพพาน " นั้นถูก
ข้อที่ว่า " พระมหาโมคคัลลาน์เป็นผู้เลิศในทางฤทธิ์ " นั้นก็ผิด พระมหาโมคคัลลาน์ไม่สามารถกำจัดพวกโจรอันจักมีแก่ตนด้วยฤทธิ์ได้หรือ...ไม่อาจเป็นที่พึ่งของมนุษย์โลกเทวโลกได้หรือ...
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ ควรแก้ไขให้สิ้นสงสัยเช่นกัน "

พระนาคเสนชี้แจงว่า
" ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสว่า " พระมหาโมคคัลลาน์เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ " นั้นก็ถูก ข้อที่ว่า " พระมหาโมคคัลลาน์ถูกโจรทุบตีถึงปรินิพพาน " นั้นก็ถูก แต่ข้อนั้นเป็นด้วย กรรม เข้ายึดถือ "

" ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งทั้งสอง คือ วิสัยของผู้มีฤทธิ์ ๑ ผลของกรรม ๑ เป็นอจินไตยใคร ๆ ไม่ควรคิดไม่ใช่หรือ ? "

" ขอถวายพระพร สิ่งที่ไม่ควรคิดทั้งสองอย่างนี้ อย่างหนึ่งมีกำลังมากกว่า ข้อนี้เปรียบเหมือนพระราชากับประชาชน พระราชองค์เดียว ย่อมมีอำนาจครอบประชาชนฉันใด ผลของกรรมอันมีกำลังยิ่งกว่า ก็ครอบสิ่งทั้งปวงฉันนั้น

กิริยาอย่างอื่นของผู้ที่กรรมเข้ายึดถือแล้ว ย่อมไม่ได้โอกาส มีบุรุษคนหนึ่งกระทำผิดพระราชาอาชญาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมไม่มีใครช่วยได้

มารดาบิดา พี่หญิงพี่ชาย มิตรสหาย ก็ช่วยไม่ได้ พระราชาต้องทรงลงโทษแก่ผู้นั้น ตามความผิดของเขาฉันใด ผลของกรรมก็มีกำลังแรงกว่าฤทธิ์ ย่อมครอบงำฤทธิ์ได้ฉันนั้น

อีกประการหนึ่ง เมื่อไฟไหม้ป่าลุกลามมาใหญ่ ถึงจะตักน้ำไปดับตั้งพันโอ่ง ก็ไม่อาจดับได้ สู้ไฟป่านั้นไม่ได้ เพราะไฟป่ามีกำลังมากกว่าฉันใด ผลของกรรมก็มีกำลังมากกว่าฤทธิ์ ครอบงำฤทธิ์ได้ฉันนั้น

เพราะฉะนั้นแหละ มหาบพิตร พระมหาโมคคัลลาน์ผู้ที่กรรมเข้ายึดถือแล้ว จึงถูกพวกโจรทุบตี ไม่สามารถกางกั้นได้ด้วยฤทธิ์ "

" สาธุ...พระนาคเสน โยมรับว่าถูกต้องดีแล้ว"

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๒ ถามถึงธรรมดาของพระโพธิสัตว์

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสไว้ในธัมมตาปริยายว่า
" มารดาบิดาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในปางก่อนย่อมเป็นนิตตะ คือแน่นอน การตรัสรู้ก็แน่นอน อัครสาวกทั้งสองก็แน่นอน พระโอรสก็แน่นอน อุปัฏฐากก็แน่นอน" ดังนี้

แต่มีกล่าวอีกว่า พระโพธิสัตว์ผู้ยังประทับอยู่ในดุสิตสวรรค์ได้เล็งดู มหาวิโลกนะ ๘ คือเล็งดูกาลเวลา ๑ เล็งดูทวีป ๑ เล็งดูประเทศ ๑ เล็งดูพระชนนี ๑ ตระกูล ๑ อายุ ๑ เดือน ๑ การเสด็จออกบรรพชา ๑ ดังนี้

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เมื่อญาณยังไม่แก่กล้าการตรัสรู้ย่อมไม่มี เมื่อญาณแก่กล้าแล้ว ไม่อาจรอเวลาพิจารณาได้ เหตุไรพระโพธิสัตว์จึงเล็งดูเวลาว่า เป็นเวลาที่เราสมควรจะลงไปเกิดในมนุษย์หรือไม่...

ข้าแต่พระนาคเสน ถ้ามารดาบิดาของพระโพธิสัตว์แน่นอนแล้ว ข้อที่ว่า " เล็งดูตระกูลบิดามารดานั้น" ก็ผิด
ถ้าข้อที่ว่า " เล็งดูตระกูลบิดามารดานั้น " ถูก ข้อที่ว่า " มารดาบิดาของพระโพธิสัตว์แน่นอนนั้น " ก็ผิด
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าควรแก้ไข

" พระนาคเสนวิสัชนาว่า
" ขอถวายพระพร มารดาบิดาของพระโพธิสัตว์เป็นของแน่นอนนั้นก็จริง พระโพธิสัตว์เล็งดูตระกูลมารดาบิดานั้นก็จริง การเล็งดูตระกูลของมารดาบิดานั้นเล็งดูอย่างไร...คือเล็งดูว่ามารดาบิดาของเราเป็นกษัตริย์หรือพราหมณ์

ผู้ที่เล็งดูมี ๘ จำพวก
สิ่งที่เป็นอนาคต แต่ควรเล็งดูก่อนนั้นมีอยู่ ๘ อย่าง คือ

๑. พ่อค้า ต้องเล็งดูสินค้าก่อน
๒. ช้าง ต้องคลำหนทางด้วยงวงก่อน
๓. พ่อค้าเกวียน ต้องพิจารณาดูท่าข้ามก่อน
๔. ต้นหน คือนายท้ายสำเภา ต้องพิจารณาดูฝั่งเสียก่อน

๕. แพทย์ ต้องตรวจดูอายุก่อน จึงเข้าใกล้คนไข้
๖. ผู้จะข้ามสะพาน ต้องดูว่าสะพานมั่นคงหรือไม่เสียก่อน
๗. พระภิกษุ ต้องพิจารณาเสียก่อนจึงฉัน
๘. พระโพธิสัตว์ชาติสุดท้าย ต้องพิจารณาดูตระกูลเสียก่อน ดังนี้ ขอถวายพระพร "

" สาธุ...พระนาคเสน โยมรับว่าถูกต้อง"

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version