แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มิลินทปัญหา

<< < (52/78) > >>

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๘ ถามคุณและโทษแห่งสันถวไมตรี
ปัญหาข้อนี้ซ้ำกับปัญหาที่ ๖ เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๔

ปัญหาที่ ๙ ถามถึงเรื่องผู้ควรแก่การขอ
ปัญหาข้อนี้ซ้ำกับปัญหาที่ ๑๐ เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๔


ปัญหาที่ ๑๐ ว่าด้วยมรรคเป็นของเก่าหรือใหม่
(เป็นสำนวนแปลของนายยิ้ม ปัณฑยางกูร
จากหนังสือ "ปัญหาพระยามิลินท์" ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน พระพุทธพจน์มีอยู่ว่า เราตถาคตเป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่ได้เกิดให้เกิดขึ้นแล้ว ฉะนี้มิใช่หรือ
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร มีอยู่เช่นนั้น

ม. ก็ถ้าเช่นนั้น จะมิแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ว่า เราตถาคตได้เห็นมรรคของเก่า ทางของเก่า อันพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนเสด็จดำเนินมาแล้ว ฉะนี้หรือ

น. ขอถวายพระพร ไม่แย้ง เพราะว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อน เสด็จเข้านิพพานไปแล้ว ศาสนาก็อันตรธานเสื่อมสูญไป โดยไม่มีใครสั่งสอนและปฏิบัติกันสืบมา เมื่อเป็นเช่นนั้น มรรคคือหนทางที่พระพุทธเจ้านั้น ๆ ได้เสด็จดำเนินมา ก็เลอะเลือนเสื่อมสูญไป ครั้นมาถึงวาระที่พระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงอุบัติขึ้น มรรคคือหนทางอย่างเดียวกับของเก่านั้น ก็เกิดขึ้นมาด้วย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เราตถาคตเป็นผู้ยังมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นแล้ว ขอถวายพระพร ความข้อนี้เปรียบเหมือนหนทางที่กรุยและปราบเรียบร้อยแล้วต่อมาปล่อยให้รก เดินไม่ได้ ภายหลังมีผู้ทำให้เตียนขึ้นได้อีก ฉะนั้น

ม. เธอฉลาดว่า

จบวรรคที่ ๕

ฐิตา:

วรรคที่ ๖

ปัญหาที่ ๑ ถามถึงโทษแห่งปฏิปทา

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า "ข้าแต่พระนาคเสน นับแต่พระโพธิสัตว์เจ้าได้ทำทุกกรกิริยาแล้วมา ก็ไม่ได้ทำความเพียรสู้รบกับกิเลส กำจัดเสนามัจจุ กำหนดอาหาร ในที่อื่นอีก ในการทำความเพียรยิ่งใหญ่อย่างนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าก็ไม่ได้ความดีใจอย่างใด จึงได้ทรงเปลี่ยนความคิดอย่างนั้นเสีย แล้วได้ตรัสไว้ว่า

" เราไม่ได้สำเร็จความรู้ความเห็นพิเศษอันเป็นของพระอริยะ อันยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ธรรมดา ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้เลย ทางตรัสรู้ทางอื่นเห็นจะมี "

ทรงดำริดังนี้แล้ว ก็เลิกทุกกรกิริยานั้นเสีย แล้วได้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณด้วยทางอื่น แล้วทรงแนะนำสั่งสอนพวกสาวกด้วยปฏิปทานั้นอีกว่า
" เธอทั้งหลาย จงทำความเพียร จงประกอบในพระพุทธศาสนา จงกำจัดเสนามัจจุ เหมือนช้างหักไม้อ้อฉะนั้น " ดังนี้
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระตถาคตเจ้าทรงเบื่อหน่ายในปฏิปทาใดแล้ว เหตุไรจึงทรงชักนำพวกสาวกในปฏิปทานั้น ? "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร ในคราวนั้นก็ดี ในบัดนี้ก็ดี ปฏิปทานั้นก็คงเป็นปฏิปทานั้นเอง พระโพธิสัตว์เจ้าปฏิบัติตามปฏิปทานั้นแล้ว จึงสำเร็จความเป็นพระสัพพัญญู ในเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าทรงทำความเพียรอันยิ่ง ก็ได้ตัดอาหารไม่ให้เหลือ เมื่อตัดอาหารหมดแล้ว ก็หมดกำลังใจ เมื่อหมดกำลังใจ ก็ไม่อาจสำเร็จความเป็นพระสัพพัญญูได้ เมื่อทรงเสวยอาหารที่เป็นคำ ๆ ตามสมควร ไม่ช้าก็ได้สำเร็จความเป็นพระสัพพัญญูด้วยปฏิปทานั้น ปฏิปทานั้นแหละ ทำให้ได้พระสัพพัญญุตญาณ แก่พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย เหมือนกับอาหารอันให้ความสุขสำราญแก่สัตว์ทั้งหลายฉันนั้น

องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ไม่ได้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณในขณะนั้นด้วยสิ่งใดสิ่งนั้นไม่ใช่โทษแห่งการทำความเพียร ไม่ใช่โทษแห่งการสู้รบกับกิเลส เป็นโทษแห่งการตัดอาหารเท่านั้น ปฏิปทานั้นเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ บุรุษเดินทางไกลด้วยความรีบร้อนจะต้องเสียกำลังแข้งขา หรือเป็นง่อยเปลี้ยเดินไปมาไม่ได้ การที่เดินไปมาไม่ได้นั้น จะว่าเป็นโทษแห่งแผ่นดินอย่างนั้นหรือ...มหาบพิตร ?"

" ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า แผ่นดินอันใหญ่นี้ย่อมมีประจำอยู่ทุกเมื่อ การที่บุรุษนั้นเสียกำลังแข้งขาจนเดินไม่ได้นั้น ไม่ใช่เป็นโทษแห่งแผ่นดิน เป็นโทษแห่งความพยายามต่างหาก "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร การที่สมเด็จพระพิชิตมาร ไม่สำเร็จสัพญญุตญาณในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นโทษแห่งความเพียร ไม่ใช่เป็นโทษแห่งการสู้รบกิเลส เป็นโทษแห่งการขาดอาหารต่างหาก ปฏิปทานั้นมีอยู่ทุกเมื่อ

อีกอย่างหนึ่ง บุรุษนุ่งผ้าที่เศร้าหมองไม่รู้จักซัก ปล่อยให้เศร้าหมองอยู่นั่นเอง การที่ผ้าเศร้าหมองนั้น ไม่ใช่เป็นโทษแห่งน้ำ น้ำมีอยู่ทุกเมื่อ เป็นโทษแห่งบุรุษนั้นต่างหากฉันใด การที่พระโพธิสัตว์ไม่สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณ ในขณะที่บำเพ็ญทุกกรกิริยานั้นไม่ใช่เป็นโทษแห่งความเพียร ไม่ใช่เป็นโทษแห่งการสู้รบกับกิเลส เป็นโทษแห่งการขาดอาหารต่างหากฉันนั้น

ปฏิปทานั้นมีอยู่ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น สมเด็จพระภควันต์จึงทรงสั่งสอนชักชวนพวกสาวก ด้วยปฏิปทานั้น ปฏิปทานั้นเป็นของดีไม่มีโทษ เป็นของมีอยู่อย่างนั้นแหละ มหาบพิตร "

" ข้าแต่พระนาคเสน ข้อนี้พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว"

ฐิตา:


ปัญหาที่ ๒ ถามถึงธรรมที่ไม่ให้เนิ่นช้า

"ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีเครื่องไม่เนิ่นช้าเป็นที่มายินดี จงยินดีในเครื่องไม่เนิ่นช้า " ดังนี้ โยมขอถามว่า เครื่องไม่เนิ่นช้านั้นได้แก่อะไร?"

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร เครื่องไม่เนิ่นช้าได้แก่ โสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตผล "

พระเจ้ามิลินท์ซักถามต่อไปว่า
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าโสดาปัตติผลตลอดถึงอรหัตผลเป็นเครื่องไม่เนิ่นช้าแล้ว เหตุใดภิกษุทั้งหลายจึงเล่าเรียนสอบถามซึ่งพระพุทธวจนะมีองค์ ๙ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อติวุตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ( รวมเรียกพระไตรปิฎก ) อยู่ และยังเกี่ยวข้องอยู่กับ นวกรรม คือการก่อสร้าง และเกี่ยวข้องอยู่กับทาน การบูชา ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่ากระทำกรรมที่ทรงห้ามไม่ใช่หรือ? "

พระนาคเสนชี้แจงว่า
" ขอถวายพระพร ภิกษุเหล่าใดยังเล่าเรียนสอบถามอยู่ ยังเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอยู่ ยังเกี่ยวข้องกับทานอยู่ เกี่ยวข้องกับการบูชาอยู่ ภิกษุเหล่านั้นทั้งสิ้น ชื่อว่า กระทำเพื่อถึงเครื่องไม่เนิ่นช้าทั้งนั้น ขอถวายพระพร

ภิกษุเหล่านั้นได้บริสุทธิ์ตามสภาพอยู่แล้ว มีวาสนาบารมีอันได้อบรมไว้ในปางก่อนมาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ไม่มีเครื่องเนิ่นช้า ด้วยขณะแห่งจิตดวงเดียว ( ได้บรรลุมรรคผลในชั่วขณะจิตเดียว) ส่วนภิกษุเหล่าใด ยังเป็นผู้ศึกษาอยู่ ภิกษุเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ไม่มีเครื่องเนิ่นช้าด้วยประโยค คือยังต้องบำเพ็ญบารมีด้วยสิ่งเหล่านี้อยู่ เนื้อความข้อนี้ควรทราบด้วยอุปมา

คือสมมุติว่ามีบุรุษชาวนาผู้หนึ่ง หว่านพืชลงในนาแล้ว ก็เก็บผลแห่งพืชข้าว ได้ด้วยกำลังและความเพียรของตน โดยไม่ต้องล้อมรั้วก็มีบุรุษอีกคนหนึ่ง หว่านพืชลงในนาแล้ว ต้องเข้าป่าตัดเอากิ่งไม้ ใบไม้ และหลักรั้ว มาทำรั้วจึงได้ผลแห่งพืชข้าว การแสวงหาเครื่องล้อมรั้วนั้น ก็เพื่อพืชข้าวฉันใด

ภิกษุเหล่าใดบริสุทธิ์อยู่ตามสภาพแล้ว ได้อบรมวาสนาบารมีไว้ในปางก่อนแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็เป็นผู้ไม่มีเครื่องเนิ่นช้า ด้วยขณะจิตเดียว เปรียบเหมือนบุรุษที่ได้ข้าวด้วยไม่ต้องล้อมรั้วฉะนั้น

ส่วนภิกษุเหล่าใดยังศึกษาอยู่ ภิกษุเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ชื่อว่าไม่เนิ่นช้า ด้วยการบำเพ็ญบารมีสิ่งเหล่านี้ เหมือนกับบุรุษที่ล้อมรั้ว แล้วจึงได้ข้าวฉะนั้น

อีกประการหนึ่ง ขั้วผลไม้ย่อมอยู่บนยอดต้นไม้ใหญ่ มีผู้มีฤทธิ์คนใดคนหนึ่ง มาถึงต้นไม้ใหญ่นั้น ก็นำเอาผลไม้นั้นไปได้ทีเดียว ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นผู้ไม่มีฤทธิ์ เมื่อมาถึงต้นไม้นั้นแล้ว ต้องหาตัดไม้และเถาวัลย์มาผูกเป็นพะอง พาดขึ้นต้นไม้ใหญ่นั้น จึงจะเก็บเอาผลไปได้

การที่บุรุษนั้นหาไม้มาทำพะอง ก็เพื่อต้องการผลไม้ฉันใด ภิกษุเหล่าใดบริสุทธิ์อยู่ตามสภาพแล้ว ได้อบรมวาสนาบารมีแล้วภิกษุเหล่านั้นก็เป็นผู้ไม่เนิ่นช้า คือสำเร็จได้ด้วยขณะจิตเดียวเท่านั้น เปรียบเหมือนผู้มีฤทธิ์นำผลไม้นั้นไปได้ฉะนั้น

ส่วนพวกที่ยังศึกษาอยู่ ก็ย่อมสำเร็จมรรคผล ด้วยการบำเพ็ญบารมีสิ่งเหล่านี้เหมือนกับบุรุษนำผลไม้ไปได้ ด้วยอาศัยมีพะองพาดขึ้นไปฉะนั้น

อีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับผู้จะทำประโยชน์คนหนึ่งมีความเข้าใจดี ก็ทำให้สำเร็จได้โดยลำพังผู้เดียว อีกคนหนึ่งเป็นคนมีทรัพย์ แต่ไม่เข้าใจดี ต้องจ้างคนอื่นให้ช่วยทำจึงสำเร็จได้ การที่บุรุษนั้นมีทรัพย์ จ้างคนอื่นก็เพื่อกิจธุระนั้นฉันใด พวกใดที่บริสุทธิ์ตามสภาพแล้วได้อบรมวาสนาบารมีไว้ในปางก่อนแล้ว พวกนั้นก็ได้สำเร็จอภิญญา ๖ ด้วยขณะจิตเดียว เปรียบเหมือนบุรุษสำเร็จประโยชน์โดยลำพังผู้เดียวฉะนั้น ส่วนพวกใดยังศึกษาอยู่ พวกนั้นย่อมสำเร็จอริยสัจ ด้วยการบำเพ็ญบารมีสิ่งเหล่านี้เหมือนกับบุรุษผู้ให้สำเร็จประโยชน์ ด้วยเอาทรัพย์จ้างผู้อื่นฉะนั้น "

" ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหาข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าแก้ถูกต้องดีแล้ว โยมขอรับทราบว่าถูกต้องดีแท้ "

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๓ ถามถึงความเป็นพระอรหันต์แห่งคฤหัสถ์

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า

" ข้าแต่พระนาคเสน มีคำกล่าวไว้ว่า " คฤหัสถ์ผู้สำเร็จอรหันต์แล้ว ย่อมมีคติ ๒ ประการ คือบรรพชาในวันนั้น ๑ ปรินิพพานในวันนั้น ๑ ไม่อาจเลยวันนั้นไปได้ " ดังนี้

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าในวันนั้น ไม่ได้อาจารย์ หรืออุปัชฌาย์ หรือบาตร จีวร ผู้สำเร็จอรหันต์แล้วนั้นจะบรรพชาเอง หรือเลยวันนั้นไป หรือมีพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์องค์ใดองค์หนึ่งมาให้บรรพชา จะได้หรือไม่ หรือต้องปรินิพพานไป ? "

พระนาคเสนตอบว่า

" ขอถวายพระพร พระอรหันต์ทั้งบรรพชาเองไม่ได้ ถ้าบรรพชาเองก็ชื่อว่า " ไถยสังวาส "  และเลยวันนั้นไปก็ไม่ได้ จะมีพระอรหันต์องค์อื่นมาหรือไม่มีก็ตาม ก็ต้องปรินิพพานในวันนั้น"

" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้นความเป็นพระอรหันต์ ก็ทำให้สิ้นชีวิตน่ะซิ "

" ขอถวายพระพร คฤหัสถ์ถึงสำเร็จอรหันต์แล้วต้องบรรพชา หรือปรินิพพานในวันนั้น เพราะเพศคฤหัสถ์ไม่มีกำลังพอ ข้อที่สิ้นชีวิตไปนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะโทษแห่งความเป็นพระอรหันต์ เป็นเพราะโทษแห่งคฤหัสถ์ ไม่มีกำลังพอต่างหาก ขอถวายพระพร

ธรรมดาโภชนาหารย่อมรักษาอายุ รักษาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายไว้ แต่ว่าโภชนาหารนั้น ย่อมทำให้สิ้นชีวิตได้ด้วยไฟย่อยอาหารไม่พอ การสิ้นชีวิตนั้นไม่ใช่เป็นโทษแห่งอาหารนั้น เป็นโทษแห่งไฟย่อยอาหารไม่พอฉันใด การที่คฤหัสถ์ผู้ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้วต้องบรรพชาหรือปรินิพพานในวันนั้น ข้อนั้นไม่ใช่เป็นโทษแห่งความเป็นพระอรหันต์ เป็นโทษแห่งเพศคฤหัสถ์มีกำลังไม่พอฉันนั้น

อีกประการหนึ่ง เหมือนกับบุคคลยกเอาก้อนศิลาหนัก ๆ วางลงบนฟ่อนหญ้าเล็ก ๆ ฟ่อนหญ้าเล็ก ๆ นั้น ก็ต้องจมลงไปเพราะกำลังไม่พอฉันใด ข้อนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง เหมือนบุรุษผู้มีบุญน้อยเมื่อได้ราชสมบัติอันใหญ่แล้ว ก็ไม่อาจรักษาความเป็นอิสระไว้ได้ฉันใด คฤหัสถ์ผู้ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่อาจรับรองความเป็นอรหันต์ไว้ได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องบรรพชาหรือปรินิพพานในวันนั้น ขอถวายพระพร "

" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "

ฐิตา:

  ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องโลมกัสสปฤๅษี

   " ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
   " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราเป็นมนุษย์อยู่เมื่อก่อน เราไม่ชอบเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย " ดังนี้

   แต่คราวเสวยพระชาติเป็น โลมกัสสปฤๅษี ได้เห็นนางจันทวดี ก็ได้ฆ่าสัตว์หลายร้อยบูชายัญ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าข้อว่า " ไม่เคยเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย " เป็นของถูก ข้อว่า " ฆ่าสัตว์บูชายัญด้วยครั้งเป็นโลมกัสสปฤๅษี " ก็ผิดไป

   ถ้าข้อว่า " เป็นโลมกัสสปฤๅษีได้ฆ่าสัตว์บูชายัญ " นั้นถูก ข้อว่า " ไม่เคยเบียดเบียนสัตว์ " นั้นก็ผิด
   ปัญหาข้อนี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ แก้ได้ยากโปรดแก้ให้สิ้นสงสัยด้วยเถิด "

   พระนาคเสนจึงตอบว่า
   " ขอถวายพระพร ข้อที่ตรัสว่า " เมื่อเราเป็นมนุษย์อยู่ชาติก่อน เราไม่ได้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย " นั้นก็ถูก ข้อว่า " ครั้งเป็นโลมกัสสปฤๅษีได้ฆ่าสัตว์หลายร้อยบูชายัญ " นั้นก็ถูก ก็แต่ว่าข้อนั้น เป็นด้วยอำนาจราคะ รักใคร่หลงใหลในนางจันทวดี หาได้มีเจตนาแกล้งฆ่าสัตว์ให้ตายไม่ "

   " ข้าแต่พระนาคเสน บุคคลย่อมฆ่าผู้อื่นด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ ด้วยอำนาจราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ โลภะ ๑ ชีวิต ๑ ความโง่เขลา ๑ ตามบทบัญญัติ ๑ ส่วนโลมกัสสปฤๅษีกระทำนั้น เป็นการกระทำปกติ "

   " ขอถวายพระพร ไม่ใช่เป็นการกระทำปกติ ถ้าโลมกัสสปฤๅษีน้อมใจลงไป เพื่อจะบูชายัญใหญ่ตามสภาวะปกติ ไม่ใช่ด้วยปัญญาก็คงไม่กล่าวไว้ว่า
   " บุคคลไม่ควรต้องการแผ่นดิน อันมีสมุทรเป็นขอบเขต มีสาครเป็นกุณฑล พร้อมกับการนินทา ดูก่อนเสยหะอำมาตย์ เธอจงรู้อย่างนี้เถิด..." ดังนี้ ขอถวายพระพร

   โลมกัสสปฤๅษีผู้พูดอย่างนี้ แต่พอได้เห็นพระนางจันทวดีก็เสียสติหลงใหล ได้ฆ่าสัตว์บูชายัญด้วยความเสียสติ ขอถวายพระพร ธรรมดาคนเสียสติคือคนบ้า ย่อมเหยียบไฟก็ได้ กินยาพิษก็ได้ วิ่งเข้าหาช้างตกมันก็ได้ แล่นลงไปสู่ทะเลที่ไม่ใช่ท่าก็ได้ ตกน้ำครำก็ได้ เหยียบหนามเหยียบตอก็ได้ กระโดดลงจากภูเขาก็ได้ กินของน่าเกลียดโสโครกก็ได้ เปลือยกายเดินไปตามถนนก็ได้ ทำสิ่งที่ไม่ควรทำได้ต่าง ๆ ฉันใด โลมกัสสปฤๅษีก็เสียสติ จึงได้ฆ่าสัตว์บูชายัญในคราวนั้น บาปที่คนบ้าทำ ย่อมไม่มีโทษ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาตมภาพขอถามว่า ถ้ามีคนบ้าทำผิด จะทรงลงโทษหรือไม่ ? "
   " ไม่ลงโทษ พระผู้เป็นเจ้า เพียงแต่ให้ไล่ตีให้หนีไปเท่านั้น "

   " ขอถวายพระพร ความผิดย่อมไม่มีแก่คนบ้าฉันใด โลมกัสสปฤๅษีก็ไม่มีความผิดในการฆ่าสัตว์บูชายัญ เพราะความเป็นบ้าในคราวนั้น พอจิตเป็นปกติขึ้น ก็ได้สำเร็จอภิญญา ๕ อีก แล้วได้ขึ้นไปเกิดในพรหมโลกขอถวายพระพร "

   " ข้าแต่พระนาคเสน ปัญหาข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขถูกต้องดีแล้ว "

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version