ผู้เขียน หัวข้อ: มิลินทปัญหา  (อ่าน 108422 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #260 เมื่อ: สิงหาคม 25, 2011, 11:08:39 am »

ปัญหาที่ ๕ ถามเรื่องพญาช้างฉัททันต์

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าคราวเป็นพญาช้างฉัททันต์ได้กล่าวไว้ว่า

" เราได้จับนายพรานไว้ด้วยคิดว่าจะฆ่า แต่พอได้เห็นผ้ากาสาวะ อันเป็นธงของฤๅษีทั้งหลายเราก็นึกขึ้นได้ว่า ผู้ที่มีธงของพระอรหันต์เป็นผู้ไม่ควรฆ่า " ดังนี้

และมีกล่าวไว้อีกว่า " ครั้งพระองค์เป็น โชติปาลมาณพ ได้ด่าว่า สมเด็จพระพุทธกัสสป ด้วยคำว่า "สมณะศีรษะโล้น..." ดังนี้

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระโพธิสัตว์ถึงเป็นเดรัจฉานก็เคารพผ้ากาสาวะ ข้อที่ว่า " โชติปาลมาณพด่าว่าสมเด็จพระพุทธเจ้ากัสสปอย่างนั้น " ก็ผิดไป
ถ้าไม่ผิด ข้อว่า " พญาช้างฉัททันต์เคารพผ้ากาสาวะนั้น " ก็ผิด

เป็นเพราะเหตุใด พระโพธิสัตว์ผู้เป็นมนุษย์ ผู้มีญาณแก่กล้าแล้ว ได้เห็นสมเด็จพระพุทธกัสสป ผู้ล้ำเลิศในโลก ผู้ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวะจึงไม่เคารพ
ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ ขอได้โปรดแก้ไขด้วย "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร ทั้งสองเรื่องนั้นถูกทั้งนั้น ก็แต่ว่าเรื่องที่โชติปาลมาณพว่า สมเด็จพระพุทธกัสสปในคราวนั้น เป็นด้วยอำนาจ เขาถือชาติตระกูลของเขาเกินไป คือ โชติปาลมาณพเกิดในตระกูลที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใส มารดาบิดา พี่น้องหญิง พี่น้องชาย ทาสีทาสาคนใช้ คนบำเรอ และศิษย์ของมาณพนั้นทั้งสิ้น ล้วนแต่เคารพพรหม ถือว่าพวกพราหมณ์เท่านั้นประเสริฐสูงสุด แล้วติเตียนเกลียดชังบรรพชิตทั้งหลาย

โชติปาลมาณพได้เชื่อถือตามลัทธิของพวกพราหมณ์ ได้ฟังถ้อยคำของพวกพราหมณ์ที่ด่าว่าบรรพชิตอยู่เสมอ เวลาชาวปั้นหม้อ ชื่อว่า ฆฏิการะ ชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงได้ตอบว่า " ต้องการอะไรกับการที่จะพบสมณะศีรษะโล้น... " ขอถวายพระพร

ยาอมฤตเมื่อผสมกับยาพิษก็กลายเป็นรสขม ส่วนยาพิษเวลามาผสมกับยาอมฤต ก็กลายเป็นรสหวานฉันใด น้ำเย็นถูกไฟก็ร้อน คนเลวได้มิตรดีก็เป็นคนดี คนดีได้มิตรเลวก็เป็นคนเลวฉันใด โชติปาลมาณพเกิดในตระกูลที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสก็กลายเป็นอันธพาลไปตามตระกูลฉันนั้น

กองไฟใหญ่ที่ลุกรุ่งโรจน์อยู่ ก็มีแสงสว่างดี เวลาถูกน้ำก็หมดแสง กลายเป็นสีดำไป เหมือนกับผลไม้ที่หล่นจากขั้ว แก่งอมแล้วเน่าไปฉะนั้น

ด้วยเหตุนั้นแหละ มหาบพิตร โชติปาลมาณพผู้มีปัญญา มีแสงสว่าง ด้วยความไพบูลย์แห่งญาณอย่างนั้นก็จริง แต่เวลาเกิดในตระกูลที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใส ก็กลายเป็นอันธพาลไปถึงกับได้ด่าว่าพระพุทธเจ้า เวลาเช้าไปถึงพระพุทธเจ้าแล้วจึงรู้จักคุณของพระองค์ แล้วได้บรรพชาในพระพุทธศาสนา ทำอภิญญาสมาบัติให้เกิด แล้วก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก ขอถวายพระพร "

" สาธุ...พระนาคเสน โยมขอรับว่าถูกต้องดีแล้ว "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #261 เมื่อ: สิงหาคม 25, 2011, 11:19:13 am »

ปัญหาที่ ๖ ถามถึงเรื่องฆฏิการอุบาสก

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
" ที่อยู่ของช่างหม้อชื่อว่า ฆฏิการะ กระทำอากาศให้เป็นหลังคา ฝนตกลงมาไม่รั่วตลอด ๓ เดือนฤดูฝน "

แต่ตรัสไว้อีกว่า " พระคันธกุฎีของพระพุทธกัสสปฝนรั่ว "
โยมจึงขอถามว่า เหตุไรพระคันธกุฎีของพระพุทธกัสสป ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยพระบารมีแล้วฝนจึงรั่ว

ถ้าที่อยู่ของฆฏิการช่างหม้อไม่มีหลังคา แต่ฝนไม่รั่วตลอด ๓ เดือนเป็นของถูกแล้ว คำที่ว่า " พระคันธกุฎีของพระพุทธกัสสปฝนรั่วนั้น " ก็ผิด
ถ้าคำว่า " พระคันธกุฎีของพระพุทธกัสสปรั่ว " นั้นถูก คำที่ว่า " เรือนของฆฏิการช่างหม้อไม่มีหลังคา แต่ฝนตกลงมาไม่รั่ว ไม่เปียกนั้น " ก็ผิด
ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิโปรดแก้ไขให้สิ้นสงสัยเถิด "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร คำทั้งสองนั้นถูกทั้งนั้นแต่ว่าฆฏิการช่างหม้อ เป็นคนมีศีล มีธรรมอันดีได้สร้างสมบุญกุศลไว้มากแล้ว ได้เลี้ยงมารดาบิดาผู้ชราตาบอดอยู่ เวลาที่เขาไม่อยู่ ได้มีคนไปรื้อเอาหญ้าที่มุงหลังคาเรือนของเขา ไปมุงพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าเสีย เวลาเขากลับมารู้เข้า เขาก็เกิดปีติโสมนัสเต็มที่ว่า เป็นอันว่า เราได้สละหลังคาถวายแก่พระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสูงสุดในโลกแล้วเขาจึงได้รับผลเห็นทันตาอย่างนั้น

องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ย่อมไม่ทรงหวั่นไหว ด้วยอาการแปลกเพียงเท่านั้น เหมือนกับพระยาเขาสิเนรุราช อันไม่หวั่นไหวด้วยลมใหญ่อันพัดเอาตั้งแสน ๆ ฉะนั้น
หรือเหมือนกับมหาสมุทรอันไม่รู้จักเต็ม ไม่รู้จักพร่อง ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ด้วยน้ำที่ไหลไปจากคงคาใหญ่ ๆ ตั้งหลายหมื่นหลายแสนสายฉะนั้น

การที่พระคันธกุฎีรั่วนั้น ย่อมเป็นด้วยทรงพระมหากรุณาแก่มหาชน คือสมเด็จพระทศพลเจ้าทั้งหลาย ย่อมเล็งเห็นประโยชน์ ๒ ประการ จึงไม่ทรงรับปัจจัยที่ทรงเนรมิตขึ้นเอง ด้วยทรงเห็นว่า เทพยดามนุษย์ทั้งหลายได้ถวายปัจจัยแก่พระพุทธเจ้าด้วยความเลื่อมใสว่า เป็นผู้ควรแก่การถวายอย่างเลิศแล้ว ก็พ้นจากทุคติทั้งปวง
อีกประการหนึ่ง
ทรงเห็นว่าอย่าให้คนอื่น ๆ ติเตียนได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงต้องการสิ่งใด ก็ทรงเนรมิตเอาเอง ดังนี้

ถ้าพระอินทร์หรือพระพรหม จะทำให้พระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าไม่รั่ว หรือถ้าหากพระพุทธเจ้าทรงทำเอง ก็จะมีผู้ติเตียนได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงทำสิ่งอันเป็นหน้าที่ของสัตว์โลกทั่วไป หาสมควรแก่พระองค์ไม่ พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่ทรงขอวัตถุสิ่งของใด ๆ ถึงไม่มีก็ไม่ทรงขอ จึงมีเทพยดามนุษย์สรรเสริญทั่วไป ขอถวายพระพร "

" สาธุ...พระนาคเสน ข้อนี้ถูกต้องดีแล้ว "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #262 เมื่อ: สิงหาคม 25, 2011, 11:32:00 am »

ปัญหาที่ ๗ ถามถึงความเป็นพระราชาของพระพุทธเจ้า

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสได้ว่า
" ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราเป็นพราหมณ์ เป็นผู้ควรแก่การขอ "

แต่ตรัสไว้อีกว่า " ดูก่อนเสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชา " ดังนี้
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าคำที่ว่า " เราเป็นพราหมณ์ " นั้นถูก คำที่ว่า " เราเป็นพระราชา " ก็ผิด
ถ้าคำที่ว่า " เราเป็นพระราชา " ถูก คำที่ว่า " เราเป็นพราหมณ์ " ก็ผิด เพราะเหตุว่าในชาติ ๆ เดียว จะมี ๒ วรรณะ คือเป็นทั้งกษัตริย์ทั้งพราหมณ์ไม่ได้
ปัญหานี้ก็เป็นอุภโตโกฏิ โปรดแก้ไขด้วย "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร ถูกทั้งสองอย่าง คือเหตุที่ให้เป็นพราหมณ์ก็มี เหตุที่ให้เป็นพระราชาก็มี"

" ข้าแต่พระนาคเสน เหตุอะไรทำให้เป็นพราหมณ์ เหตุอะไรทำให้เป็นพระราชา ? "
" ขอถวายพระพร เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงละบาปอกุศลทั้งสิ้นนั้นแหละ ทำให้เป็นพราหมณ์ ธรรมดาผู้ชื่อว่า พราหมณ์ ย่อมล่วงพ้นความสงสัยทั้งสิ้นด้วยตนเอง

อีกอย่างหนึ่ง ธรรมดาพราหมณ์ย่อมพ้นจาก ภพ คติ กำเนิด ทั้งสิ้น พ้นจากมลทินทั้งสิ้น ไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นผู้มากไปด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งการเรียน การสอน การขวนขวาย การทรมานตน สำรวมตน มีนิยมเป็นกำหนดการ เป็นผู้รักษาไว้ซึ่งคำสอนและประเพณีอันดีทั้งปวง เป็นผู้อยู่ด้วยฌาน เป็นผู้ทรงทราบซึ่งความเป็นไปในภพน้อย ภพใหญ่ และคติทั้งปวง เป็นผู้ที่ได้พระนามขึ้นเองว่า เป็น พราหมณ์ พร้อมกับเวลาที่ได้สำเร็จพระสัพพัญญุตญาณ ภายใต้ไม้ศรีมหาโพธิ

ข้อที่ได้พระนามว่าเป็น พระราชา นั้นเพราะธรรมดา
พระราชา ย่อมสั่งสอนนรชนในอาณาเขตของตน พระพุทธเจ้าก็ทรงสั่งสอนสัตว์โลกทั้งสิ้น

ธรรมดาพระราชา ย่อมครอบงำมนุษย์ทั้งหลาย ทำให้หมู่ญาติรื่นเริง ทำให้หมู่ศัตรูทุกข์โศก ทรงยกเศวตฉัตรอันขาวสะอาดปราศจากมลทิน มีซี่ไม่ต่ำกว่าร้อย มีคันไม้แก่นแน่นหนา นำมาซึ่งพระเกียรติยศและศิริอันใหญ่ฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงยกเศวตฉัตรอันบริสุทธิ์คือวิมุตติ มรรค ผล นิพพาน แล้วทรงทำหมู่เสนามารที่ปฏิบัติผิดให้เศร้าโศก ทรงทำเทพยดามนุษย์ที่ปฏิบัติถูกให้รื่นเริง ทรงยกเศวตฉัตรอันมีซี่ คือพระปรีชาญาณอันประเสริฐ มีคันไม้แก่นแน่นหนา แข็งแรง คือพระขันติอันนำมาซึ่งยศและศิริอันใหญ่ ในหมื่นโลกธาตุฉันนั้น

ธรรมดาพระราชา ย่อมเป็นที่กราบไหว้ของประชาชนผู้พบเห็นฉันใด พระพุทธเจ้าควรเป็นที่กราบไหว้ของเทพยดามนุษย์ทั้งหลายฉันนั้น
ธรรมดาพระราชา ย่อมทรงโปรดปรานแก่ผู้ทำถูกฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงโปรดปรานผู้ปฏิบัติถูกฉันนั้น

ธรรมดาพระราชาย่อมทรงเคารพนับถือโบราณพระราชาประเพณี ดำรงราชสกุลวงศ์ไว้ให้ยั่งยืนฉันใด พระพุทธเจ้าก็ทรงเคารพนับถือ ซึ่งพระพุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน ไว้ให้ดีฉันนั้น

ด้วยเหตุนี้แหละ มหาบพิตร สมเด็จพระธรรมสามิสร์จึงได้พระนามว่า
เป็น พระราชา ด้วยพระคุณธรรมของพระองค์เอง เหตุที่จะให้พระตถาคตเจ้าได้พระนามว่าเป็น พราหมณ์ และเป็น พระราชา นั้นมีอยู่มาก ถึงจะพรรณนาไปตลอดกัปก็ไม่รู้จักสิ้น ไม่จำเป็นอะไรที่จะพูดให้มากเกินไป เชิญรับไว้เพียงย่อ ๆ เท่านี้เถิด ขอถวายพระพร "


" สาธุ...พระนาคเสน ท่านแก้ปัญหาข้อนี้ถูกต้องดีแล้ว "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #263 เมื่อ: สิงหาคม 25, 2011, 12:05:17 pm »

ปัญหาที่ ๘ ถามถึงเหตุที่ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกัน ๒ พระองค์

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

" พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เกิดพร้อมกันในโลกธาตุอันเดียว " ก็พระตถาคตเจ้าทั้งปวง เมื่อจะทรงแสดงธรรม ก็ทรงแสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ อริยสัจ ๔ เมื่อจะให้ศึกษาก็ให้ศึกษาในไตรสิกขา ( ศีล สมาธิ ปัญญา ) เมื่อจะทรงพร่ำสอนก็ทรงพร่ำสอนในอัปปมาทปฏิบัติ (การเป็นผู้ไม่ประมาท) เหมือนกันทั้งสิ้น แต่เหตุไรจึงไม่เกิดพร้อมกัน ๒ องค์

โยมเห็นว่า ถ้ามีพระพุทธเจ้าเกิดพร้อมกันหลายองค์ จะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่โลกมากยิ่งขึ้น แต่เหตุไรจึงเกิดพร้อมกับ ๒ องค์ไม่ได้ โยมสงสัย ? "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร หมื่นโลกธาตุนี้ ทรงไว้ได้เพียงพระคุณธรรมของพระพุทธเจ้า คราวละพระองค์เดียวเท่านั้น ถ้ามีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกันถึง ๒ พระองค์ หมื่นโลกธาตุนี้ก็จะทรงอยู่ไม่ไหว จักถล่มทะลายไป เรือที่พอนั่งคนเดียวได้ เมื่อมีผู้มานั่ง ๒ คน เรือนั้นจะทรงอยู่ได้หรือไม่ ? "

" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า เรือนั้นต้องจม "
" ข้อนี้ก็อุปมาฉันนั้นแหละ มหาบพิตรอีกประการหนึ่ง บุรุษกินข้าวอิ่มแล้ว มีผู้ให้กินข้าวอีกเท่านั้นลงไป บุรุษนั้นจะเป็นสุขหรือไม่ ? "

" ไม่เป็นสุข พระผู้เป็นเจ้า ถ้าเขาขืนกินลงไปให้มากอีกเท่านั้น เขาก็ต้องตาย "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร อีกอย่างหนึ่ง มีเกวียนอยู่ ๒ เล่ม บรรทุกเต็มไปด้วยรัตนะเหมือนกัน แต่เมื่อมีผู้มาขนเอารัตนะจากเกวียนอีกเล่มหนึ่ง ขึ้นไปบรรทุกรวมเกวียนเล่มเดียวกัน เกวียนเล่นนั้นจะทรงไหวไหม ? "

" ไม่ไหว พระผู้เป็นเจ้า เกวียนเล่มนั้นดุมต้องแตก กำต้องหัก กงต้องทรุดลง เพลาต้องหัก เพราะหนักเกินไป "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร แต่ขอให้พระองค์ทรงสดับเหตุอื่นต่อไปอีก คือถ้ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกัน ๒ พระองค์ ความวิวาทของพุทธบริษัทก็จักมีขึ้นคือ ต่างฝ่ายก็จะยกย่องพระพุทธเจ้าของตน เปรียบเหมือนบริวารของอำมาตย์ผู้ใหญ่ ๒ คน ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ยกย่องนายของตนฉะนั้น

อนึ่ง ถ้ามีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นพร้อมกันถึง ๒ พระองค์ คำว่า อัคโค พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นอัครบุคคลนั้น คำนี้มิผิดไปหรือ เชฏโฐ พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญที่สุดก็จะผิด วิสิฏโฐ พุทโธ พระพุทธเจ้าประเสริฐกว่าเทพยดามนุษย์นั้นก็ผิด อุตตโม พุทโธ พระพุทธเจ้าเป็นผู้อุดมก็จะผิดไปสิ้น ดังนี้ เป็นต้น

อีกประการหนึ่ง ธรรมดามีอยู่ว่า ในแผ่นดินใหญ่หนึ่ง ๆ ก็มีสาครใหญ่เพียงหนึ่ง เขาสิเนรุราชเพียงหนึ่ง อากาศเพียงหนึ่ง ท้าวสักกะเพียงหนึ่ง มารเพียงหนึ่ง มหาพรหมเพียงหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุเหล่านี้แหละ
จึงไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดพร้อมกันถึง ๒ พระองค์ ขอถวายพระพร "

" ข้าแต่พระนาคเสนปัญหาข้อนี้ พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขดีด้วยเหตุการณ์หลายอย่าง โยมขอรับว่าถูกต้องดีทั้งนั้น "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #264 เมื่อ: สิงหาคม 25, 2011, 05:15:29 pm »

         

ปัญหาที่ ๙ ถามเรื่องสัมมาปฏิบัติของคฤหัสถ์และบรรพชิต

" ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

" เราสรรเสริญสัมมาปฏิบัติ ทั้งของคฤหัสถ์และบรรพชิต เพราะถ้าคฤหัสถ์และบรรพชิตปฏิบัติชอบ ก็ได้สำเร็จเญยยธรรม  อันเป็นกุศล " ดังนี้

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าหากคฤหัสถ์ผู้เกลือกกลั้วด้วยบุตร ภรรยา ผู้ได้นุ่งห่มดี ผู้ได้ตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอมเครื่องย้อมทา ผู้ยินดีในเงินทอง ผู้ประดับผมด้วยเครื่องประดับมีค่า ได้สำเร็จธรรมที่พึงรู้ได้เหมือนกับบรรพชิต ผู้นุ่งห่มผ้าย้อมฝาด อาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ ทำให้บริบูรณ์ในสีลขันธ์ทั้ง ๔ ยึดมั่นในสิกขาบททั้งหลาย ประพฤติธุดงคคุณ ๑๓ แล้ว คฤหัสถ์และบรรพชิต ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรกัน

การบรรพชาทนอดอยาก ก็ไม่เห็นจะมีประโยชน์อันใด สู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ได้ประโยชน์อะไรที่จะทำตัวให้ลำบาก เพราะผู้ทำให้ตัวเป็นสุข ก็ได้สุขเหมือนกัน "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร สมเด็จพระชินวรเจ้าได้ตรัสไว้ว่า " เราสรรเสริญสัมมาปฏิบัติทั้งของคฤหัสถ์และบรรพชิต คฤหัสถ์ก็ตามบรรพชิตก็ตาม เมื่อปฏิบัติชอบแล้วก็ได้สำเร็จธรรมที่พึงรู้ทั้งนั้น " ข้อนี้ ทรงมุ่งการปฏิบัติชอบเป็นใหญ่ เพราะถึงเป็นบรรพชิตถ้าไม่ปฏิบัติชอบ ก็ห่างไกลจากคุณวิเศษ ไม่ต้องพูดถึงคฤหัสถ์ ถึงจะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าปฏิบัติชอบก็สำเร็จธรรมที่พึงรู้ได้เหมือนกับบรรพชิต ก็แต่ว่าบรรพชิตเป็นใหญ่แห่งสามัญผล  เพราะการบรรพชาเป็นของมีคุณมาก มีคุณเป็นเอนก มีคุณหาประมาณมิได้ ไม่อาจประมาณคุณของบรรพชาได้ เหมือนกับแก้วมณีโชติของพระเจ้าจักรพรรดิ ที่ไม่มีใครอาจตีราคาได้ หรือเหมือนกับลูกคลื่นในมหาสมุทร ซึ่งไม่มีใครประมาณได้ฉะนั้น สิ่งที่ควรทำทุกสิ่ง บรรพชิตเป็นผู้มักน้อย ผู้สันโดษ ผู้เงียบสงัด ผู้ไม่คลุกคลี ผู้มีความเพียรแรงกล้า ผู้ไม่มีห่วงใย ผู้มีศีลบริสุทธิ์ผู้มีอาจาระ  ขัดเกลาแล้ว ฉลาดในการปฏิบัติธุดงค์ ย่อมสำเร็จคุณวิเศษได้เร็ว เหมือนกับลูกศรที่ไม่มีข้อมีปมที่เหลาเกลี้ยงเกลาดี ที่ตรงดี เวลายิงไปย่อมไปได้รวดเร็วฉันนั้น เป็นอันว่า สิ่งที่ควรทำทั้งสิ้น บรรพชิตทำให้สำเร็จได้เร็วกว่าคฤหัสถ์ ขอถวายพระพร "

" ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #265 เมื่อ: สิงหาคม 25, 2011, 06:00:30 pm »

ปัญหาที่ ๑๐ ถามเรื่องพระสึก

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน ศาสนาของพระตถาคตเจ้านี้ เป็นของใหญ่ เป็นแก่น เป็นของที่เลือกแล้ว เป็นของดีที่สุด เป็นของประเสริฐไม่มีอะไรเปรียบ เป็นของบริสุทธิ์ เป็นของไม่มีมลทิน เป็นของขาว เป็นของไม่มีโทษ จึงไม่สมควรให้คฤหัสถ์บรรพชา ต่อเมื่อคฤหัสถ์นั้น ได้สำเร็จมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่อาจสึกมาได้ จึงควรให้บรรพชา

ทั้งนี้ เพราะเหตุไร...เพราะเหตุว่า ปุถุชนบรรพชาในพระพุทธศาสนาอันบริสุทธิ์แล้วสึกออกมาก็เป็นเหตุให้มีผู้คิดว่า ศาสนาของพระสมณโคดม เป็นศาสนาเปล่า เพราะพวกที่บวชแล้วยังสึกมาได้ โยมเห็นอย่างนี้ โยมจึงว่าไม่สมควรให้คฤหัสถ์ปุถุชนบรรพชา "

พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร มีสระใหญ่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำเย็นใสสะอาดอยู่สระหนึ่ง เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งที่เปื้อนด้วยเหงื่อไคล ลงไปอาบน้ำในสระนั้นแล้ว ไม่ได้ขัดสีเหงื่อไคล หรือสิ่งที่เศร้าหมอง ได้ขึ้นมาจากสระ จะมีคนติเตียนบุรุษนั้น หรือติเตียนสระนั้นอย่างไร ? "

" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า จะมีแต่คนติเตียนบุรุษนั้นว่า ลงไปอาบน้ำในสระแล้วก็กลับขึ้นมาทั้งร่างกายยังสกปรกอยู่ ไม่มีใครจะติเตียนสระนั้นว่า ไม่ทำให้บุรุษนั้นสะอาด "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาราชะ คือพระตถาคตเจ้าได้ทรงสร้างสระอันประเสริฐ คือพระสัทธรรมเต็มด้วยน้ำใสสะอาด คือวิมุตติอันประเสริฐไว้อีก พวกที่เศร้าหมองด้วยกิเลสก็คิดว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายลงสรงน้ำในสระคือพระสัทธรรมนี้แล้ว ก็ล้างกิเลสทั้งปวงได้ แต้ถ้ามีผู้ใดลงอาบน้ำในสระ คือพระธรรมอันประเสริฐ แล้วหวนกลับออกไปทั้งกิเลส ก็จะมีผู้ติเตียนเขาได้ว่า ได้บรรพชาในศาสนาอันประเสริฐแล้ว ก็ยังทำที่พึ่งให้แก่ตนไม่ได้ ยังต้องสึกไป พระศาสนาอันประเสริฐจะทำผู้ไม่ปฏิบัติตาม ให้บริสุทธิ์เองได้อย่างใด จะโทษพระศาสนาได้อย่างไร

อีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่ามีบุรุษคนหนึ่งกำลังป่วยหนัก ได้เห็นหมอผ่าตัดที่เคยรักษาคนไข้หายมามากแล้ว เป็นผู้รอบรู้ในเรื่องความเกิดแห่งโรค แต่ไม่ให้หมอนั้นรักษา ได้กลับไปทั้งที่ยังเจ็บไข้อยู่ มหาชนจะติเตียนคนป่วยหรือติเตียนหมอ ? "
" อ๋อ...ต้องติเตียนคนป่วย ไม่มีใครจะติเตียนหมอเป็นแน่ พระผู้เป็นเจ้า "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือพระตถาคตเจ้าได้ทรงจัดยาอมฤต อันสามารถระงับโรค คือกิเลสทั้งสิ้นไว้ในผอบ อันได้แก่พระพุทธศาสนาไว้แล้ว พวกที่รู้ตัวว่าถูกโรคภัย คือกิเลสบีบคั้น ก็ได้ดื่มยาอมฤตของพระพุทธเจ้า แล้วก็หายโรค คือกิเลสทั้งสิ้น ส่วนผู้ที่ไม่ดื่มยาอมฤต ได้กลับสึกไปทั้งกิเลส ก็จะได้รับคำติเตียนว่า ได้บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ทำที่พึ่งให้แก่ตัวไม่ได้ ได้หมุนเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลวอีก พระพุทธศาสนาจักทำให้ผู้ไม่ปฏิบัติตาม ให้บริสุทธิ์เองได้อย่างไร โทษอะไรจะมีแก่พระพุทธศาสนา

อีกประการหนึ่ง บุรุษที่หิวข้าวไปถึงที่เขาเลี้ยงข้าวแล้ว ไม่กินข้าว ได้กลับไปทั้งความหิว คนจะติเตียนบุรุษที่หิวนั้น หรือว่าจะติเตียนข้าวล่ะ...มหาบพิตร ? "
" ต้องติเตียนบุรุษนั้นซิ ผู้เป็นเจ้า "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้น มหาบพิตร คือพระพุทธเจ้าได้ทรงจัดข้าว อันได้แก่กายคตาสติ อันมีรสอร่อยยิ่ง อันเป็นของเยี่ยม เป็นของประเสริฐเป็นของสงบ เป็นของเยือกเย็น เป็นของประณีต เป็นของอันไม่รู้จักตายไว้ในผอบ คือพระพุทธศาสนาแล้ว พวกใดมีความหิว คือมีกิเลสครอบงำมีใจเร่าร้อนด้วยตัณหา บริโภคข้าวอันนี้แล้ว ก็กำจัดตัณหาทั้งปวง ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ เสียได้ ส่วนผู้ที่ไม่กินข้าวนี้ กลับไปทั้งความหิวด้วยตัณหา ก็จะมีแต่ผู้ติเตียนเขา ไม่มีผู้ติเตียนพระพุทธศาสนา ขอถวายพระพร

ถ้าพระพุทธเจ้าให้คฤหัสถ์ผู้ได้สำเร็จ อย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อนแล้ว จึงโปรดให้บรรพชา การบรรพชานี้จะชื่อว่าเป็นไปเพื่อละกิเลส เพื่ออบรมความบริสุทธิ์ได้อย่างไร สิ่งที่ควรทำในบรรพชาก็ไม่มี

สมมุติว่า มีบุรุษคนหนึ่งได้ลงทุนให้คนขุดสระไว้ แล้วประกาศว่า พวกที่มีร่างกายเศร้าหมอง อย่ามาลงอาบน้ำที่สระนี้เป็นอันขาด ให้ลงอาบได้แต่ผู้มีกายไม่เศร้าหมองเท่านั้นอย่างนี้จะสมควรหรือไม่ ? "

" ไม่สมควร พระผู้เป็นเจ้า เพราะเขาได้ สร้างสระน้ำไว้ก็เพื่อต้องการให้คนที่มีร่างกายเศร้าหมองได้อาบ นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไร "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถ้าพระพุทธเจ้าจะโปรดให้บรรพชาเฉพาะคฤหัสถ์ ผู้ได้สำเร็จมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว สิ่งที่เขาควรทำในการบรรพชา เขาก็ได้ทำแล้ว เขาจะต้องการอะไรกับบรรพชา ขอถวายพระพร

อีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่ามีหมอวิเศษคนหนึ่ง ทำยาไว้แล้ว เขาควรประกาศว่า ผู้ที่เจ็บไข้อย่ามาหาข้าพเจ้า ให้มาแต่ผู้ที่ไม่เจ็บไข้เท่านั้น อย่างนี้หรือจึงจะสมควร ? "

" ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า เพราะยาของเขาเป็นของสำหรับรักษาโรค คนไม่มีโรคก็ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องรักษา "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือถ้าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ให้บรรพชาเฉพาะคฤหัสถ์ที่ได้มรรคผลแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องบรรพชา เพราะสิ่งที่ควรทำให้บรรพชาก็ได้ทำแล้ว ขอถวายพระพร

อีกประการหนึ่ง เหมือนกับบุรุษคนใดคนหนึ่ง จัดอาหารไว้หลายร้อยถาด แล้วเขาประกาศว่า พวกที่หิวอย่าเข้ามา จงให้เข้ามาแต่พวกที่อิ่มแล้ว เขาประกาศอย่างนี้จะสมควรหรือไม่ ? "

" ไม่สมควร พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #266 เมื่อ: สิงหาคม 25, 2011, 06:26:39 pm »

   คุณอันชั่งไม่ได้ ๕ ประการ

   " อนึ่ง พวกที่สึกไปย่อมแสดงให้คนอื่นเห็น ซึ่งคุณอันชั่งไม่ได้ ๕ ประการ ของพระพุทธศาสนา

   คุณอันชั่งไม่ได้ ๕ ประการนั้นคืออะไรบ้าง...คือ
   ความเป็นภูมิใหญ่ ๑
   ความเป็นของบริสุทธิ์ ๑
   ความไม่อยู่ร่วมกับผู้ลามก ๑
   ความรู้แจ้งแทงตลอดได้ยาก ๑
   ความมีการสำรวมมาก ๑

   ข้อที่ว่าแสดงความเป็นภูมิใหญ่นั้น คืออย่างไร...สมมุติว่ามีบุรุษคนหนึ่ง เป็นคนมีนิสัยต่ำช้า ไม่มีคุณวิเศษอันใด ไม่มีความรู้อันใด เมื่อได้ราชสมบัติอันใหญ่หลวง ไม่ช้าก็จะถึงความวิบัติ ไม่อาจรักษาความเป็นใหญ่ไว้ได้ เพราะความเป็นใหญ่นั้น เป็นของใหญ่ฉันใด

   พวกที่ไม่มีคุณวิเศษ ไม่ได้กระทำบุญไว้ ไม่มีความรู้อันใด เวลาได้บรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่อาจดำรงเพศบรรพชิตไว้ได้ ได้ตกออกไปจากพระพุทธศาสนาในไม่ช้า เพราะภูมิในพระพุทธศาสนาเป็นของใหญ่ฉันนั้น

   ข้อว่า แสดงให้เห็นความบริสุทธิ์อย่างเยี่ยมนั้น คืออย่างไร...คือน้ำที่ตกลงบนในบัวย่อมกลิ้งไหลลงไปจากใบบัว ไม่ติดอยู่ในใบบัวได้ เพราะใบบัวเป็นของบริสุทธิ์ฉันใด

   พวกที่มีนิสัยโอ้อวดคดโกง มีความเห็นไม่ดี ได้บรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่ช้าก็ตกออกไปจากพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาเป็นของบริสุทธิ์ฉันนั้น

   ข้อว่า แสดงให้เห็นความไม่อยู่ร่วมกันกับผู้ลามกนั้น คืออย่างไร...คือธรรมดามหาสมุทร ย่อมไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมพัดซากศพขึ้นไปบนบกโดยเร็วพลัน เพราะมหาสมุทรเป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่สัตว์ใหญ่ ๆ ฉันใด

   พวกที่ลามกได้บรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่ช้าก็ตกออกไปจากพระพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาเป็นที่อยู่ของผู้มีคุณธรรมใหญ่ คือพระอริยเจ้าทั้งหลายฉันนั้น

   ข้อว่า แสดงซึ่งความเป็นของรู้แจ้งได้ยากนั้น คืออย่างไร...คือพวกที่ไม่เก่งในวิชาธนูย่อมไม่อาจยิงให้ถูกปลายขนทรายได้ฉันใด

   พวกที่ไม่มีปัญญา บ้าเซ่อ ลุ่มหลง ก็ไม่อาจแทงตลอดซึ่งอริยสัจ ๔ อันเป็นของละเอียดยิ่งได้ฉันนั้น เขาจึงได้ตกออกไปจากพระพุทธศาสนาโดยเร็วพลัน

   ข้อว่า แสดงให้เห็นซึ่งความเป็นของมีการสำรวมมากนั้น คืออย่างไร...คือ บุรุษที่เข้าสู่ยุทธภูมิใหญ่ ได้เห็นข้าศึกล้อมรอบก็กลัวแล้ววิ่งหนี เพราะกลัวการระวังรักษา ซึ่งศาตราวุธมีอยู่มากฉันใด

   พวกที่มีนิสัยลามก ไม่ชอบสำรวม ไม่มีความละอายบาป ไม่มีความอดทน ก็ไม่อาจรักษาสิกขาบทเป็นอันมากไว้ได้ ต้องตกออกไปจากพระพุทธศาสนาในไม่ช้าฉันนั้น ขอถวายพระพร

   ดอกไม้ที่มีหนอนเจาะย่อมมีในกอดอกมะลิ อันนับว่าสูงสุดกว่าดอกไม้ที่เกิดอยู่บนบกทั้งสิ้น ดอกที่หนอนเจาะก็ตกร่วงลงไป ส่วนดอกที่ยังอยู่ก็ส่งกลิ่นหอมฉันใด พวกที่บวชในพระพุทธศาสนาแล้วสึกไป ก็เปรียบเหมือนดอกมะลิที่หนอนเจาะ แล้วตกร่วงไปฉันนั้น

   ส่วนพวกที่ยังอยู่ก็ทำให้มนุษย์โลก เทวโลก ได้รับกลิ่นหอม คือกลิ่นศีลอันประเสริฐฉันนั้น

   ข้าวสาลีอันชื่อว่า " กุรุมพกะ " อันมีในจำพวกข้าวสาลีแดงที่ไม่มีอันตราย แต่พอเกิดขึ้นแล้วก็เสียไปในระหว่าง ส่วนข้าวสาลีที่ยังอยู่ ก็สมควรเป็นเครื่องเสวยสำหรับพระราชาฉันใด

   พวกที่บรรพชาแล้วสึกไป ก็เหมือนกับข้าวสาลีที่เสียไปในระหว่างฉันนั้น
   ส่วนพวกที่ยังอยู่ก็สมควรแก่ความเป็นพระอรหันต์ฉันนั้น

   อีกประการหนึ่ง แก้วมณีอันให้สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง ถึงบางแห่งจะมีตำหนิก็ไม่มีผู้ติ ส่วนที่บริสุทธิ์ก็เป็นที่ชื่นชมยินดีของมหาชนทั้งปวงฉันใด พวกที่บรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้วสึกไป เท่ากับเป็นตำหนิหรือเป็นสะเก็ด ส่วนพวกที่ยังอยู่ย่อมทำให้เกิดความร่าเริงยินดีแก่เทพยดามนุษย์ทั้งหลายฉันนั้น

   อีกอย่างหนึ่ง แก่นจันทน์ถึงจะเน่าเป็นบางแห่ง ก็ไม่มีผู้ติ เพราะที่ไม่เน่าไม่เสียย่อมมีกลิ่นหอมฉันใด พวกที่สึกไปก็เหมือนแก่นจันทร์แดงที่เน่าที่เสีย ส่วนพวกที่ยังอยู่ก็ส่งกลิ่นหอมอันประเสริฐคือศีล ให้หอมทั่วเทวโลกมนุษย์โลกฉันนั้น ขอถวายพระพร "

   " สาธุ...พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้แสดงความเป็นของประเสริฐสุด แห่งพระพุทธศาสนาไว้ถูกต้องดีแล้วทุกประการ "

   จบวรรคที่ ๖

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #267 เมื่อ: สิงหาคม 25, 2011, 07:30:27 pm »

เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๗
ปัญหาที่ ๑ ถามเรื่องเวทนาทางกายทางใจของพระอรหันต์

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน มีคำกล่าวว่า พระอรหันต์ได้เสวยแต่เวทนาทางกายอย่างเดียวไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ ดังนี้ โยมขอถามว่า พระอรหันต์มีจิตไหมสิ่งใดเป็นไปเพราะอาศัยกาย พระอรหันต์ไม่ได้เป็นใหญ่ในสิ่งนั้นอย่างนั้นหรือ ? "

พระนาคเสนตอบว่า
" อย่างนั้น มหาบพิตร "

" ข้าแต่พระนาคเสน ข้อที่ว่า พระอรหันต์ไม่ได้เป็นใหญ่ในกาย อันเป็นไปของผู้มีจิตวิญญาณอยู่นั้น ย่อมไม่สมควร เพราะถึงนกก็ย่อมเป็นใหญ่ในรังของตน "

" ขอถวายพระพร สิ่งที่มีอยู่ในกาย วิ่งไปตามกาย หมุนไปตามกายทุกภพมีอยู่ ๑๐ อย่างคือ
ความเย็น ๑ ความร้อน ๑ ความหิว ๑ ความกระหาย ๑ อุจจาระ ๑ ปัสสาวะ ๑ ความง่วง ๑ ความแก่ ๑ ความเจ็บ ๑ ความตาย ๑ พระอรหันต์ไมได้เป็นใหญ่ในสิ่งทั้ง ๑๐ นั้น "

" ข้าแต่พระนาคเสน เหตุใดพระอรหันต์จึงไม่มีอำนาจในกาย ไม่เป็นใหญ่ในกาย ? "
" ขอถวายพระพร พวกสัตว์ที่อาศัยแผ่นดินทั้งสิ้น มีอำนาจในแผ่นดินหรือไม่ ? "
" ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ถึงจิตของพระอรหันต์อาศัยกาย พระอรหันต์ก็ไม่มีอำนาจทางกายฉันนั้น ขอถวายพระพร "
" ข้าแต่พระนาคเสน เพราะเหตุใด ปุถุชนจึงได้เสวยเวทนาทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ? "
" ขอถวายพระพร เพราะปุถุชนไม่ได้อบรมจิตใจ จึงได้เสวยเวทนาทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ข้อนี้เปรียบเหมือนโคที่กำลังหิว เขาผูกไว้ที่กอหญ้า หรือที่เครือไม้ เมื่อหิวจัดเข้าก็กระโดดหนีไป ทำให้เครื่องผูกนั้นขาดไปได้ฉันใด เวทนาเกิดแก่ผู้ไม่ได้อบรมจิตใจแล้วก็ทำจิตใจให้กำเริบ จิตกำเริบแล้วก็เกี่ยวเนื่องไปถึงกาย แล้วเขาก็ร้องไห้คร่ำครวญ อันนี้แหละเป็นเหตุให้ปุถุชน ได้เสวยเวทนาทางกายบ้าง ทางใจบ้าง "

" ข้าแต่พระผู้เป็น ก็เหตุอันใดเล่า ที่ทำให้พระอรหันต์ ได้เสวยแต่เวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ ? "

" ขอถวายพระพร เพราะพระอรหันต์ได้อบรมจิตใจไว้ดีแล้ว เวลาได้รับทุกขเวทนา ก็ยึดมั่นว่าเป็นอนิจจัง ผูกจิตไว้ในเสาคือสมาธิแล้วจิตก็ไม่ดิ้นรนหวั่นไหว มีแต่กายเท่านั้นที่เป็นไปตามอำนาจเวทนา เหตุอันนี้แหละทำให้พระอรหันต์ได้เสวยแต่เวทนาทางกายอย่างเดียว

" ข้าแต่พระนาคเสน ขอพระผู้เป็นเจ้าจงแสดงเหตุ ในการที่จิตไม่หวั่นไหวไปตามกายให้โยมฟัง ""
" ขอถวายพระพร ต้นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์ด้วยลำต้น กิ่ง ก้าน และใบ เมื่อกิ่งไหวเวลาถูกลมพัด ลำต้นจะไหวด้วยไหม ? "
" ไม่ไหว พระผู้เป็นเจ้า "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เพราะจิตของพระอรหันต์มั่นอยู่ในอนิจจัง ไม่รู้จักหวั่นไหว เปรียบเหมือนลำต้นแห่งต้นไม้ใหญ่ฉะนั้น "

" น่าอัศจรรย์ ! พระผู้เป็นเจ้า ธรรมประทีปอันมีประจำอยู่ทุกเมื่ออย่างนี้ โยมไม่เคยได้เห็นเลย "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #268 เมื่อ: สิงหาคม 25, 2011, 08:07:45 pm »

                 

#๒๘๕ ปัญหาที่ ๒ ว่าด้วยเหตุที่พระอรหันต์ไม่มีความทุกข์
(เป็นสำนวนแปลของนายยิ้ม ปัณฑยางกูร
จากหนังสือ "ปัญหาพระยามิลินท์" ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูก่อนพระนาคเสน เป็นเพราะเหตุไร พระอรหันต์ท่านจึงไม่มีความทุกข์ใจอย่างปุถุชนเล่าเธอ

พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นเพราะท่านมีสติสัมปชัญญะกำกับใจอยู่เสมอ กำหนดรู้อารมณ์ที่ผ่านมายังใจว่า มีเหตุมีผลเป็นอย่างไร ถ้าเป็นอารมณ์ที่จะให้เกิดความทุกข์ ท่านก็ไม่ปล่อยใจให้ไปนอนอยู่ในอารมณ์เช่นนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ อารมณ์อันเป็นแดนเกิดแห่งความทุกข์นั้น ๆ ก็บีบใจท่านไม่ได้ ขอถวายพระพร เหตุนี้พระอรหันต์ท่านจึงไม่มีความทุกข์ใจ

ม. ชอบละ


ปัญหาที่ ๓ ถามเรื่องอันตรายแห่งการสำเร็จธรรมของคฤหัสถ์ผู้ปาราชิก

" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้ามีคนคฤหัสถ์ผู้ใดผู้หนึ่งต้องปาราชิก (โดยไม่รู้) แล้ว (สึกไป) ต่อมาภายหลังได้บรรพชา (อีก) เขาเองก็ไม่รู้ว่า เราเป็นคฤหัสถ์ต้องปาราชิกแล้ว ผู้อื่นก็ไม่รู้ ธรรมาภิสมัย (การบรรลุมรรคผล) จะมีแก่เขาหรือไม่ ? "

" ไม่มี มหาบพิตร "
" เพราะเหตุไร พระผู้เป็นเจ้า ? "

" ขอถวายพระพร เพราะเหตุว่า เหตุอันใดที่จะทำให้ได้ธรรมาภิสมัย เหตุอันนั้นเขาได้ตัดขาดแล้ว เพราะฉะนั้น ธรรมาภิสมัยจึงไม่มีแก่เขา "

" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มีคำกล่าวว่า ความรำคาญใจย่อมมีแก่ผู้รู้ เมื่อมีความรำคาญใจก็มีเครื่องกั้น เมื่อมีเครื่องกั้นแล้วแล้ว ธรรมาภิสมัยก็ไม่มี ก็ผู้ไม่รู้ ไม่มีความรำคาญ มีจิตสงบอยู่ เหตุไรจึงไม่มีธรรมาภิสมัยแก้ไขยาก โปรดแก้ไขด้วย ? "

" ขอถวายพระพร พืชที่หว่านลงในที่ดินอันดี จะงอกขึ้นได้หรือไม่ ? "
" งอกได้ พระผู้เป็นเจ้า "

" ขอถวายพระพร ถ้าพืชนั้นเขาหว่านลงบนศิลาแลง จะงอกขึ้นได้หรือไม่ ? "
" งอกไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "

" ขอถวายพระพร เพราะเหตุไร พืชจึงงอกขึ้นในดินที่ดี เพราะเหตุไร จึงไม่งอกขึ้นที่ศิลาแลง ? "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เพราะศิลาแลง ไม่เป็นเหตุให้พืชงอกขึ้นได้ พืชจึงไม่งอกขึ้น "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เพราะเหตุที่เขาตัดสิ่งจะให้เกิดธรรมาภิสมัยเสียแล้ว ธรรมาภิสมัยจึงไม่มี อีกอย่างหนึ่ง ไม้ค้อน ก้อนดินที่บุคคลโยนขึ้นไปในอากาศ (จะค้างอยู่บนอากาศหรือไม่)? "
" ไม่ค้าง พระผู้เป็นเจ้า "

" เพราะเหตุไร มหาบพิตร ? "
" เพราะเหตุว่า อากาศไม่เป็นที่ตั้งอยู่แห่งไม้ค้อน ก้อนดิน "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เพราะเมื่อเขาตัดเหตุที่จะให้ได้อภิสมัยแล้ว อภิสมัยก็ไม่มี อีกประการหนึ่ง ธรรมดาไฟย่อมลุกโพลงอยู่บนบก จึงขอถามว่า ไฟนั้นจะลุกโพลงอยู่บนน้ำได้หรือ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "

" เพราะเหตุไร มหาบพิตร ? "
" เพราะเหตุว่า น้ำไม่เป็นที่ให้ไฟลุก "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อเขาตัดเหตุที่จะให้ได้ธรรมาภิสมัย ธรรมาภิสมัยก็ไม่มี "

" ข้าแต่พระนาคเสน ขอท่านจงคิดเนื้อความข้อนี้อีก คือสมมุติว่าโยมไม่รู้เลยว่าโยมเป็นปาราชิก เมื่อไม่รู้ก็ไม่เกิดความรำคาญใจจะมีเครื่องกั้นกางได้อย่างไร ?"
" ขอถวายพระพร ผู้ที่ไม่รู้ยาพิษอันแรงกล้า แต่ได้กินยาพิษนั้นเข้า เขาจะตายไหม ? "
" ตาย พระผู้เป็นเจ้า "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร บาปที่ผู้ไม่รู้กระทำ ก็กระทำอันตรายแก่อภิสมัยได้อีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่เหยียบไฟด้วยไม่รู้ ไฟจะไหม้ไหม ? "
" ไหม้ พระผู้เป็นเจ้า "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร บาปที่กระทำลงไปแล้ว ถึงไม่รู้ก็จะกระทำอันตรายแก่อภิสมัยได้ อีกประการหนึ่ง อสรพิษกัดผู้ที่ไม่รู้ตายไหม ? "
" ตาย พระผู้เป็นเจ้า "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงบาปผู้ไม่รู้กระทำ ก็กระทำอันตรายแก่อภิสมัยได้ ขอถวายพระพร พระราชากาลิงคราชผู้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ได้ทรงช้างแก้วไปทางอากาศ ถึงไม่ทราบว่า เป็นต้นไม้ศรีมหาโพธิเก่าอยู่ที่ตรงนั้น แต่ก็ไม่อาจเหาะข้ามไปบนต้นไม้ศรีมหาโพธินั้นไม่ใช่หรือ...อันนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า ถึงบาปที่ผู้ไม่รู้กระทำก็กระทำอันตรายแก่ธรรมาภิสมัยได้ "

" ข้าแต่พระนาคเสน คำแก้ไขของพระผู้เป็นเจ้านี้ ไม่อาจมีใครคัดค้านได้ "

ต่อ #๒๘๕ :http://agaligohome.com/index.php?topic=205.285

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #269 เมื่อ: กันยายน 09, 2011, 09:43:15 am »

ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องสมณะทุศีลคฤหัสถ์ทุศีล

" ข้าแต่พระนาคเสน คฤหัสถ์ทุศีล กับสมณะทุศีล ต่างกันอย่างไร คนทั้งสองนี้มีคติเสมอกัน มีวิบากเสมอกันหรืออย่างไร ? "

" ขอถวายพระพร คุณธรรม ๑๐ ประการของ สมณะทุศีล ทำให้ (สมณะทุศีล) ดียิ่งกว่า คฤหัสถ์ทุศีล (และเป็นเหตุ) ทำให้การถวายทานของชาวบ้าน (แม้กับสมณะทุศีล) มีผลมาก ได้ด้วยเหตุ ๑๐ ประการอีก

คุณธรรม ๑๐ ประการ
๑. ความเคารพในพระพุทธเจ้า
๒. ความเคารพในพระธรรม
๓. ความเคารพในพระสงฆ์
๔. ความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์
๕. ความพยายามเล่าเรียน

๖. ความมากไปด้วยการฟัง
๗. ความเคารพต่อที่ประชุม
๘. ความเป็นผู้มุ่งต่อความเพียร
๙. ยังรักษาไว้ซึ่งเพศภิกษุ
๑๐. ยังรู้จักปกปิดความชั่วของตัวไปด้วยความละอาย เหมือนกับหญิงที่มีสามี
ลักลอบทำความชั่ว ด้วยกลัวผู้อื่นจะรู้เห็นฉะนั้น

เหตุ ๑๐ ประการ
เหตุ ๑๐ ประการ ที่ทำให้การถวายทานของชาวบ้านมีผลมาก นั้น คืออะไรบ้าง คือ

๑. ความทรงไว้ซึ่งเกราะ คือกาสาวพัสตร์อันบุคคลไม่ควรฆ่า
๒. ความทรงไว้ซึ่งเพศภิกษุ
๓. ความเข้าถึงซึ่งการกระทำกิจวัตรของสงฆ์
๔. ความนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
๕. ความอบรมนิสัย ในทางความเพียร

๖. ความแสวงหาซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระชินวร
๗. การแสดงซึ่งธรรมอันประเสริฐ
๘. การถือพระธรรมเป็นเกราะ เป็นคติ เป็นที่พึ่งในเบื้องหน้า
๙. มีความเห็นตรงแน่วแน่ว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศ
๑๐. การถือมั่นซึ่งอุโบสถ ขอถวายพระพร

สมณะทุศีล ถึงมีศีลวิบัติแล้ว ก็ยังทำทานของทายกผู้ถวายให้บริสุทธิ์ได้ เปรียบเหมือนน้ำ (แม้เป็นน้ำสกปรก) อันชำระล้างซึ่งโคลน เลน ฝุ่นละออง เหงื่อไคลให้หายไปได้
หรือเปรียบเหมือนน้ำร้อน ถึงจะร้อน ก็ยังดับไฟกองใหญ่ได้ หรือเปรียบเหมือนโภชนะ อันกำจัดความหิวได้ฉะนั้น ข้อนี้ สมกับที่สมเด็จพระชินสีห์ได้ตรัสไว้ใน ทักขิณาวิภงคสูตร ว่า

" ผู้มีศีลมีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแล้ว ให้ทานของที่ได้มาโดยชอบแก่ผู้ทุศีล
การถวายทานของเขานั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก " ดังนี้ ขอถวายพระพร "

พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสสรรเสริญว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้กระทำปัญหาที่โยมถาม ให้มีรสไม่รู้จักตายให้เป็นของควรฟัง ด้วยอุปมาเหตุการณ์หลายอย่าง เหมือนพ่อครัว หรือลูกมือของพ่อครัวผู้ฉลาด ได้เนื้อมาเพียงก้อนเดียว ก็ตกแต่งอาหารได้หลายอย่าง เพื่อถวายแก่พระราชาฉันนั้น "