แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์
มิลินทปัญหา
ฐิตา:
เมณฑกปัญหา วรรคที่ ๘
ปัญหาที่ ๑ ถามถึงความตายแห่งยักษ์
" ข้าแต่พระนาคเสน ยักษ์มีอยู่ในโลกหรือ ? "
" ขอถวายพระพร มี "
"ยักษ์จุติจากกำเนิดของยักษ์ไหม ? "
" ขอถวายพระพร จุติ "
" แต่เหตุไร เวลายักษ์ตายจึงไม่เห็นซากศพไม่ได้กลิ่นซากศพ? "
" ขอถวายพระพร ซากศพของยักษ์ที่ตายไปแล้วมีอยู่ แต่กลิ่นซากศพถูกลมพัดไปเสียด้วยว่าเวลายักษ์ตายแล้วนั้น ปรากฏว่าเป็นตั้กแตนก็มี เป็นหนอนก็มี เป็นมดก็มี เป็นยุงก็มี เป็นงูก็มี เป็นแมงป่องก็มี เป็นตะขาบก็มี เป็นสัตว์เกิดจากฟองไข่ก็มี เป็นเนื้อป่าสัตว์ป่าก็มี"
" ข้าแต่พระนาคเสน ผู้อื่นนอกจากผู้มีความรู้อย่างพระผู้เป็นเจ้า ย่อมแก้ปัญหาข้อนี้ไม่ได้ "
ฐิตา:
ปัญหาที่ ๒ ถามเรื่องไม่ทรงบัญญัติสิกขาบท
" ข้าแต่พระนาคเสน พวกอาจารย์ของพวกแพทย์ปางก่อนมีอยู่ เช่น นารทะ ๑ ธัมมันตริกะ ๑ อังคีรสะ ๑ กปิละ ๑ กัณฑรัตติกามะ ๑ อตุละ ๑ บุพพกัจจายตนะ ๑ อาจารย์เหล่านั้นทั้งสิ้น รู้จักความเกิดขึ้นแห่งโรคต้นเหตุแห่งโรค แดนเกิดแห่งโรค สมุฏฐานแห่งโรค กิริยาอาการแห่งโรค การรักษาโรครักษาหายและไม่หายได้โดยเร็วพลันว่า ในร่างกายจักมีโรคเกิดขึ้นเท่านี้ รู้ได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับจับกลุ่มด้ายแล้วม้วนไปตามลำดับฉะนั้น อาจารย์เหล่านั้นทั้งสิ้นไม่ใช่พระสัพพัญญู ส่วนสมเด็จพระบรมครูเจ้าเป็นพระสัพพัญญูทรงรู้อนาคตได้สิ้นว่า ในเรื่องนั้นจะต้องบัญญัติสิกขาบทเท่านั้น แต่เหตุใดจึงไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ให้สิ้นเชิงทีเดียว ต่อเมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว มีพวกมนุษย์ติเตียนแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ? "
พระนาคเสนตอบว่า
" ขอถวายพระพร พระตถาคตเจ้าทรงทราบแล้วว่า ในสมัยนี้เมื่อมนุษย์เหล่านี้ติเตียนเราจักต้องบัญญัติสิกขาบท ๑๕๐ สิกขาบทกว่า ๆ แต่ว่าพระตถาคตเจ้าทรงเล็งเห็นว่า ถ้าเราจักบัญญัติสิกขาบทไว้ให้ครบทีเดียวมหาชนก็จักร้อนใจว่า ในศาสนานี้มีสิ่งที่จะต้องรักษาอยู่มาก เป็นการยากที่จะบรรพชาในศาสนาของพระสมณโคดม ถึงพวกอยากบรรพชาก็จักไม่บรรพชา ทั้งจักไม่มีผู้เชื่อฟังถ้อยคำของเรา พวกที่ไม่เชื่อฟังถ้อยคำของเราก็จักไปเกิดในอบาย เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว มีความเสียหายปรากฏขึ้นแล้ว เราจึงบัญญัติสิกขาบท องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นอย่างนี้ จึงไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ล่วงหน้าทีเดียว ขอถวายพระพร "
" อย่างนั้น พระนาคเสน เป็นอันพระตถาคตเจ้าทรงเล็งเห็นเรื่องนี้ได้ดีแล้ว ถ้ามีผู้ได้ยินได้ฟังว่า มีสิ่งที่จะต้องรักษาในพระพุทธศาสนาอยู่มาก ก็จักสะดุ้งกลัว จักไม่มีผู้บรรพชาโยมยอมรับว่าถูกต้อง อย่างที่พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนา "
ฐิตา:
ปัญหาที่ ๓ ถามถึงมลทินแห่งดวงอาทิตย์
" ข้าแต่พระนาคเสน ดวงอาทิตย์นี้แผ่รัศมีแรงกล้าอยู่เป็นนิจ หรือว่าบางเวลาก็อ่อนไป ? "
" ขอถวายพระพร ดวงอาทิตย์นี้แผ่รัศมีแรงกล้าอยู่ทุกเวลา"
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าดวงอาทิตย์นี้แผ่รัศมีแรงกล้าอยู่ทุกเวลา เหตุไรบางเวลาจึงร้อนน้อย บางเวลาจึงร้อนมาก ? "
" ขอถวายพระพร เหตุว่าดวงอาทิตย์ถูกโรค ๔ อย่าง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งบีบคั้นจึงร้อนน้อยไป โรค ๔ อย่างนั้น ได้แก่ หมอก ๑ ควัน ๑ เมฆ ๑ ราหู ๑ "
" น่าอัศจรรย์ ! พระนาคเสน ถึงดวงอาทิตย์อันมีเดชกล้าก็ยังมีโรค ไม่ต้องพูดถึงสัตว์เหล่าอื่น การจำแนกปัญหานี้ ผู้อื่นนอกจากผู้มีความรู้ดังพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ไม่อาจจำแนกได้ "
ฐิตา:
ปัญหาที่ ๔ ถามเรื่องความร้อนแห่งดวงอาทิตย์
" ข้าแต่พระนาคเสน เหตุไฉนดวงอาทิตย์จึงต้องแผ่รัศมีแรงกล้าในฤดูหนาว ส่วนในฤดูร้อนไม่แผ่รัศมีแรงกล้า ? "
" ขอถวายพระพร เพราะในฤดูร้อนมีผงธุลีน้อย มีฝุ่นละอองในท้องฟ้าน้อย มีหมอกหนา มีลมแรงกล้า สิ่งเหล่านี้ปิดรัศมีแห่งดวงอาทิตย์ไว้ เพราะฉะนั้น ในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จึงแผดแสงน้อยไป ส่วนในฤดูหนาว เบื้องต่ำแผ่นดินเย็นเบื้องบนมีเมฆใหญ่ตั้งขึ้น มีผงธุลีมากส่วนละอองสงบนิ่งอยู่ไม่เที่ยวไปในท้องฟ้า ท้องฟ้าปราศจากมลทิน ลมบนอากาศพัดอ่อน ๆ เมื่อเป็นอย่างนั้น ดวงอาทิตย์ก็บริสุทธิ์รัศมีแห่งดวงอาทิตย์ก็แรงกล้า เพราะพ้นจากเครื่องขัดขวาง ส่วนที่ประกอบเครื่องขัดขวางมีเมฆ เป็นต้น ย่อมทำให้รัศมีแห่งดวงอาทิตย์ไม่แรงกล้า ด้วยเหตุนี้แหละ ดวงอาทิตย์จึงเปล่งรัศมีแรงกล้าในฤดูหนาว ไม่เปล่งรัศมีแรงกล้าในฤดูร้อน ขอถวายพระพร "
" ข้าแต่พระนาคเสน เป็นอันว่า ดวงอาทิตย์พ้นจากเครื่องกีดขวางทั้งหลาย จึงแผ่รัศมีแรงกล้า ถ้าประกอบด้วยเมฆ เป็นต้น ก็ไม่แผ่รัศมีแรงกล้า"
ฐิตา:
ปัญหาที่ ๕ ถามถึงเรื่องทานของพระเวสสันดร
" ข้าแต่พระนาคเสน พระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมให้บุตรภรรยาเป็นทานเหมือนกันหมดหรือ หรือให้เฉพาะพระเวสสันดรเท่านั้น ? "
" ขอถวายพระพร เหมือนกันหมด ไม่เฉพาะแต่พระเวสสันดร"
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ให้ทานบุตรภรรยาเหมือนกันหมดก็ขอถามว่าให้ด้วยความยินยอมของบุตรภรรยาเหล่านั้นหรือไม่? "
" ขอถวายพระพร สำหรับภรรยายินยอมแต่ทว่าบุตรนั้นที่ยังเป็นทารกอยู่ ก็ร้องไห้เพราะยังไม่รู้จักอะไร ถ้ารู้จักความดีแล้วก็ยินดีตาม ไม่ร้องไห้รำพันเช่นนั้น "
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version