แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มิลินทปัญหา

<< < (59/78) > >>

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๘ ว่าด้วยการทำบุญให้ผู้ตาย

" ข้าแต่พระนาคเสน พวกทายกให้ทานแล้ว อุทิศให้แก่ผู้ที่ตายไปก่อนแล้วว่า ขอทานนี้จงมีแก่พวกนั้น ดังนี้ ขอถามว่า พวกนั้นได้รับผลจากทานนั้นบ้างหรือไม่ ? "
" ขอถวายพระพร บางพวกก็ได้รับ บางพวกก็ไม่ได้รับ "

" พวกไหนได้รับ พวกไหนไม่ได้รับ พระผู้เป็นเจ้า ? "
" ขอถวายพระพร พวกเกิดในนรก สวรรค์ เดรัจฉาน ทั้ง ๓ จำพวกนี้ไม่ได้รับ และอีก ๓ จำพวก คือ จำพวกอสุรกาย จำพวกเปรต อดข้าวอดน้ำ จำพวกเปรตเพลิงไหม้อยู่เป็นนิจก็ไม่ได้รับ ได้รับแต่จำพวก ปรทัตตูปชีวีเปรต คืออาศัยผู้อื่นอุทิศให้จำพวกเดียวเท่านั้น "

" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น ทานที่พวกทายกให้ ก็เป็นทานเสียเปล่า ไม่มีผลเพราะพวกที่ตายไปแล้วไม่ได้รับ ? "
" ขอถวายพระพร จะไม่มีผลหามิได้เพราะพวกทายกยังได้รับผลแห่งทานนั้นอยู่ "

" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอ้างเหตุให้โยมเข้าใจ "
" ขอถวายพระพร เหมือนอย่างมีคนพวกหนึ่ง จัดปลา เนื้อ สุรา อาหาร ส่งไปให้แก่พวกญาติ ถ้าพวกญาติไม่รับไว้ ข้าวน้ำที่ส่งไปทั้งหลายนั้น จะเสียเปล่าหรืออย่างไร ? "
" ไม่เสียเปล่า พระผู้เป็นเจ้า ของนั้นเขาต้องส่งกลับมาให้เจ้าของอีก "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ถึงพวกที่ล่วงลับไปแล้วไม่ได้รับผลทานนั้น พวกทายกก็ยังได้รับ อีกอย่างหนึ่ง อาตมภาพขอถามว่า เมื่อบุรุษเข้าไปในห้อง ไม่มีประตูทะลุออกไป เขาจะออกทางไหน ? "
" เขาต้องออกทางที่เข้าไปซิ พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร พวกทายกก็ยังได้รับผลทานนั้นอยู่ "
" อย่างนั้นพระนาคเสน โยมรับว่า พวกทายกยังได้รับผลทานของเขาอยู่ เพราะฉะนั้นโยมไม่ซักถึงเหตุผลอีกละ "

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๙ ว่าด้วยความใหญ่และไม่ใหญ่แห่งกุศลอกุศล

" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าทานที่พวกทายกให้ไปถึงผู้ที่ตายไปแล้ว พวกที่ตายไปแล้วได้รับผลทานนั้น ผู้ใดฆ่าสัตว์ ฆ่ามนุษย์ มีมือเปื้อนด้วยโลหิต มีใจคิดร้าย ทำกรรมหยาบช้าแล้วอุทิศผลให้แก่พวกที่ตายไปแล้วว่า ผลแห่งกรรมของเรานี้จงไปถึงพวกที่ตายไปแล้ว ดังนี้ ผลแห่งกรรมนั้นจะถึงพวกที่ตายไปแล้วหรือไม่ ? "

พระนาคเสนตอบว่า
" ไม่ถึง มหาบพิตร "
" เหตุไร พระผู้เป็นเจ้า อกุศลนั้นจึงไม่ไปถึง ? "

" ขอถวายพระพร ธรรมดาอกุศลย่อมไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครอาจทำโลกทั้งสิ้นให้มีรสชาติอันเดียวกัน ขอมหาบพิตรอย่าถามอาตมภาพอย่างนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ควรถามเช่นจะถามว่า เหตุใดฝักข้าวโพดจึงตั้ง ลูกฟักเขียวฟักทองจึงห้อย น้ำในคงคาจึงไม่ไหลขึ้นข้างบนมนุษย์กับสัตว์มีปีกจึงมี ๒ เท้า สัตว์ป่าเป็นต้นมี ๔ เท้า ดังนี้ เป็นของไม่ควรถามทั้งนั้น "

" ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้ถามด้วยมุ่งจะทำให้พระผู้เป็นเจ้าลำบากใจ โยมถามด้วยมุ่งให้หมดความสงสัยเท่านั้น พวกมนุษย์เป็นอันมากที่ทำบาป ที่ไม่รู้จักอะไร ย่อมไม่ได้โอกาสที่จะถามพระผู้เป็นเจ้า เพราะฉะนั้นโยมจึงถามพระผู้เป็นเจ้าอย่างนี้ "
" ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่อาจจำแนกบาปกรรมให้หมดรวดเดียวได้ด้วยอนุมานอันนี้ เหมือนอย่างว่า พวกมนุษย์กระทำให้น้ำไหลไปไกลได้ด้วยรางได้ แต่ว่าอาจให้น้ำไหลขึ้นไปสู่ภูเขา ที่เป็นโพรงด้วยรางน้ำได้หรือไม่ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร อาตมาอาจแบ่งผลกุศลได้ แต่ไม่อาจแบ่งผลอกุศลได้อีกอย่างหนึ่ง ประทีปย่อมลุกโพลงด้วยน้ำมัน แต่มหาบพิตรอาจทำให้ประทีปปลุกโพลงด้วยน้ำได้หรือไม่ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "

" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร อาตมาก็อาจแบ่งผลกุศลได้ แต่ไม่อาจแบ่งผลอกุศลได้อีกประการหนึ่ง พวกชาวนาย่อมไขน้ำจากเหมืองมาสู่นาทำให้ข้าวงามได้ แต่ว่าอาจไขน้ำมหาสมุทรเข้ามาสู่นา ทำให้ข้าวงามได้หรือไม่ ? "
" ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร อาตมาก็อาจแบ่งผลกุศลได้ แต่ไม่อาจแบ่งผลอกุศลได้ "

" ข้าแต่พระนาคเสน เหตุใดจึงว่าอาจแบ่งผลกุศลได้ ไม่อาจแบ่งผลอกุศลได้ ขอจงอ้างเหตุให้โยมเข้าใจ โยมไม่ใช่คนตาบอดไม่ใช่ผู้ไม่มีเครื่องกำหนด โยมได้ฟังแล้วจักเข้าใจได้ "
" ขอถวายพระพร บาปมีผลน้อย บุญมีผลมาก อกุศลย่อมให้มีผลเฉพาะผู้กระทำเท่านั้นแผ่ผลไปถึงผู้อื่นไม่ได้ ส่วนกุศลย่อมแผ่ผลไปทั่วโลกได้ "

" ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมา "
" ขอถวายพระพร คือ นายปุณณกะ ผู้เป็นทาสของเศรษฐี ( เมณฑกเศรษฐี ) ซึ่งได้ใส่บาตรพระสารีบุตรเถระ แล้วได้เป็นเศรษฐีในวันนั้น พระนางโคปาลมาตาเทวี ตัดมวยผมออกขายได้เงิน ๘ กหาปณะ แล้วซื้ออาหารถวายแก่พระ ๘ องค์ มีพระมหากัจจายนเถระเป็นประธาน แล้วได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน ( ในพระสูตรว่าเป็นพระเจ้าจัณฑปัชโชติ ) ในวันนั้นนางสุปิยาอุลาสิกา เชือดเนื้อขาออกปิ้งถวายพระอาพาธองค์หนึ่ง แล้วรุ่งขึ้นก็มีเนื้องอกขึ้นเต็มเป็นปกติ พระนางมัลลิกา ได้เอาขนมถั่วใส่บาตรพระพุทธเจ้า แล้วได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าโกศลในวันนั้น นายสุมนมาลาการ บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกมะลิ ๘ กำมือ แล้วได้รับพระราชทานรางวัลจากพระราชาสิ่งละ ๘ ในวันนั้น เป็นอันว่าบุคคลทั้งสิ้นนี้ ได้ทรัพย์ ยศ ในชาติปัจจุบันนี้ขอถวายพระพร "

" ข้าแต่พระนาคเสน ท่านพิจารณาเห็นเพียง ๖ คนเท่านี้หรือ ? "
" เพียง ๖ คนเท่านี้แหละ มหาบพิตร "

ฐิตา:

พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสอีกว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าอย่างนั้น อกุศลก็มีกำลังยิ่งนัก เพราะว่าคราวหนึ่งโยมได้เห็นบุรุษคราวละ ๑๐ คน ๒๐ คน ๓๐ คน ๔๐ คน ๑๐๐ คน ๑,๐๐๐ คน ถูกเสียบหลาวทั้งเป็นด้วยผลบาปของเขา บุตรของเสนาบดีแห่งพระเจ้าจันทคุตต์ชื่อว่า " ภัททบาล "

ได้เกิดทำสงครามกับพระเจ้าจัตทคุตต์ ในการทำสงครามกลางเมืองคราวนั้นพลนิกายทั้สองฝ่าย ต่างก็มีมือถือดาบอันคมกล้า ฆ่าฟันกันล้มตายเป็นอันมาก การที่พวกนั้น ถึงความพินาศอย่างนั้นก็เพราะผลของบาปกรรม เหตุอันนี้แหละโยมจึงว่าอกุศลมีกำลังยิ่งกว่า โยมได้ฟังมาว่า พระเจ้าโกสล ได้ถวายอสทิสทาน ในครั้งพระพุทธองค์ยังทรงดำรงอยู่ จริงไหม ? "

พระนาคเสนยอมรับว่า
" จริง มหาบพิตร "
" ข้าแต่พระนาคเสน พระเจ้าโกศลถวายอสทิสทานนั้นแล้วได้ทรัพย์ ยศ หรือสุขอย่างใดอย่างหนึ่งในปัจจุบันหรือไม่ ? "
" ไม่ได้ มหาบพิตร "
" ถ้าไม่ได้ ก็เป็นอันว่า อกุศลมีกำลังยิ่งกว่า "

" ขอถวายพระพร อกุศลย่อมให้ผลเร็วเพราะเป็นของเล็กน้อย ส่วนกุศลย่อมให้ผลช้าเพราะเป็นของใหญ่ ความข้อนี้ควรทราบด้วยอุปมา ดังนี้ในอปรันตชนบทมีธัญชาติ คือข้างเปลือกชนิดหนึ่งชื่อว่า " กุมุทธภัณฑิกา "อันจัดเป็นข้าวเบา หว่านลงในนาเดือนเดียวก็ได้ผล ส่วนข้าวสาลีต้อง ๕ - ๖ เดือนจึงจักได้ผล ข้อนี้มหาบพิตรว่าเป็นเพราะอะไร ? "

" โยมว่าเป้นเพราะข้าวกุมุทธภัณฑิกาเป็นของเล็กน้อย ส่วนข้าวสาลีเป็นของใหญ่เพราะเป็นข้าวเสวยของพระราชา ส่วนข้าวกุมุทธกัณฑิกา เป็นข้าวของพวกทาสกรรมกร "
" ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เพราะอกุศลเป็นของเล็กน้อย จึงให้ผลเร็ว ส่วนกุศลเป็นของใหญ่ จึงให้ผลช้า "

พระเจ้ามิลินท์ตรัสต่อไปว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งใดให้ผลเร็ว สิ่งนั้นชื่อว่า มีกำลังยิ่งกว่า เพราะฉะนั้น อกุศลจึงมีกำลังยิ่งกว่า เหมือนกับพลรบที่เข้าสู่สนามรบผู้ใดจับศัตรูมาได้เร็ว ผู้นั้นชื่อว่าผู้แกล้วกล้าสามารถ หมอผ่าตัดคนใดถอนลูกศรออกได้เร็วหมอผ่าตัดคนนั้นชื่อว่าหมอฉลาด คนนับคนใดนับได้เร็ว คนนับคนนั้นก็ชื่อว่าเก่ง คนปล้ำคนใดจับคู่ปล้ำด้วยกันฟาดลงได้ทั้งยืน คนปล้ำคนนั้นก็ชื่อว่าแกล้วกล้าสามารถ ข้อเปรียบเหล่านี้มีอุปมาฉันใด กุศลหรืออกุศลใดสามารถ ให้ผลเร็ว กุศลหรืออกุศลนั้น ก็ชื่อว่ามีกำลังยิ่งกว่าฉันนั้น "

พระนาคเสนอธิบายว่า
" ขอถวายพระพร กรรมทั้งสองนี้ เป็นกรรมให้ผลในชาติที่ ๒ รองจากชาตินี้ลงไปอีกอย่างหนึ่ง อกุศลที่ให้ผลในปัจจุบันนั้น เป็นเพราะมีโทษมาก กษัตริย์องค์ก่อน ๆ ทรงกำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ขโมยของผู้อื่น เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น กล่าวเท็จ ปล้นบ้านเมือง แย่งชิงคนเดินทาง ทำของปลอม ทำการหลอกลวง ผู้นั้นต้องได้รับโทษอาญาคือฆ่าหรือตัดอวัยวะหรือเฆี่ยนตี อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ แล้วพระราชาเหล่านั้น ก็ลงโทษตามที่ทรงกำหนดไว้ ส่วนผลของทานศีล มีผู้กำหนดไว้หรือไม่ว่า ผู้ใดให้ทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถ พระราชาต้องพระราชทานทรัพย์ ยศ แก่ผู้นั้นเหมือนกับการลงโทษผู้กระทำผิดกฏหมาย ? "
" ไม่มี พระผู้เป็นเจ้า "

" ขอถวายพระพร ถ้ามี กุศลก็ต้องให้ผลทันตาเห็นแก่ผู้ให้ทานทั้งหนั้น แต่เพราะไม่มีพระราชกำหนดกฏหมายไว้ กุศลจึงไม่ได้ผลทันตาเห็นเสมอไป ส่วนในภพต่อ ๆ ไป เขาก็ได้ผล มีกำลังยิ่งกว่า สำหรับอกุศลไม่ใช่อย่างนั้น "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ปัญหานี้ท่านได้แก้ไขถูกต้องดีแล้ว "

ฐิตา:

ปัญหาที่ ๑๐ ว่าด้วยฝัน
(เป็นสำนวนแปลของนายยิ้ม ปัณฑยางกูร จากหนังสือ "ปัญหาพระยามิลินท์" ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า ดูด่อนพระนาคเสน คนที่นอนฝันเป็นเพราะอะไร
พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร เป็นเพราะลมกำเริบ ๑ เพราะดีกำเริบ ๑ เพราะเสมหะกำเริบ ๑ เพราะเทวดาสังหรณ์ ๑ เพราะอารมณ์ที่แนบอยู่กับจิต ๑ เพราะบุรพนิมิต ๑ ขอถวายพระพร ใน ๖ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือยิ่งกว่า เป็นเหตุให้คนเรานอนฝัน และฝันเพราะบุรพนิมิตเป็นฝันที่แน่นอน

ม. ขณะเมื่อจะฝัน เป็นด้วยนิมิตผ่านเข้าไปหาจิต หรือเป็นด้วยจิตไปยึดเอานิมิตมาฝัน หรือมีใครมาบอก
น. ขอถวายพระพร เป็นด้วยนิมิตผ่านเข้าไปหาจิต หาใช่เป็นด้วยอย่างอื่นไม่ เปรียบเหมือนเงาที่กระจก นิมิตได้แก่เงา จิตได้แก่กระจก ฉะนั้น

ม. ขณะเมื่อฝัน หลับหรือตื่น
น. มิใช่ขณะหลับหรือตื่น ขณะใดที่จิตจะก้าวลงสู่ภวังค์ หรือก้าวมาจากภวังค์ ขณะนั้นแล เป็นเวลาที่จะฝัน ขอถวายพระพร คนหลับ ๑ ท่านที่เข้านิโรธสมาบัติ ๑ จิตไม่หวั่นไหว จิตก้าวลงสู่ภวังค์ เมื่อเป็นดังนั้น นิมิตก็ผ่านเข้าไปไม่ถึงจิต เหมือนแสงพระอาทิตย์ เมื่อมีเมฆและหมอกเป็นต้น มาปิดบังเสีย ก็ส่องแสงมายังโลกเราได้น้อย หรือไม่ถึงเลยฉะนั้น ส่วนคนตื่นอยู่ จิตขุ่นมัวไม่แน่วแน่ ไม่เป็นปรกติ นิมิตก็เดินไปไม่ถึงจิต เช่นเดียวกัน

ม. นี่เธอ เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งความหลับมีหรือไม่
น. มี คือขณะเมื่อร่างกายบางส่วนพักผ่อนหยุดการทำงาน นี้เป็นเบื้องต้น ขณะเมื่อจิตหลับม่อยไปดุจวานรหลับ นี้เป็นท่ามกลาง ขณะเมื่อหลับสนิทจิตก้าวลงสู่ภวังค์ นี้เป็นที่สุดแห่งความหลับ ขอถวายพระพร ท่ามกลางแห่งความหลับนั้นแล เป็นเวลาที่จะฝัน
ม. เข้าใจ

ต๊ะติ้งโหน่ง:
ฝันว่าเข้านิโรธหลับมีจิตไม่หวั่นไหว
ฝันว่าตื่นมีจิตขุ่นมัว..อ่า

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version