แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มิลินทปัญหา

<< < (8/78) > >>

ฐิตา:
  ปัญหาที่ ๑๕ ลักษณะแห่งธรรมที่ต่างๆกัน
   
        " ข้าแต่พระนาคเสน ธรรมเหล่านี้มีอยู่ต่าง ๆ กัน แต่ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกันหรือ? "
   " อย่างนั้น มหาบพิตร ธรรมเหล่านี้มีอยู่ต่าง ๆ กัน แต่ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน คือฆ่ากิเลสเหมือนกัน ขอถวายพระพร "
   " ขอนิมนต์อุปมาด้วย "

ฐิตา:
อุปมาเสนาต่าง ๆ
   
        " มหาราชะ เสนามีหน้าที่ต่าง ๆ กันคือ เสนาช้าง เสนาม้า เสนารถ เสนาพลเดินเท้า เสนาเหล่านั้น ย่อมให้สำเร็จสงครามอย่างเดียวกัน ย่อมชนะเสนาฝ่ายอื่นในสงครามอย่างเดียวกันฉันใดธรรมเหล่านี้ ถึงมีอยู่ต่าง ๆ กัน ก็ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน คือฆ่ากิเลสอย่างเดียวกัน ขอถวายพระพร"
   
   
   " พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาสมควรแล้ว "
   
   
   จบวรรคที่ ๑

ฐิตา:
มิลินทปัญหา วรรคที่ ๒
   
   ปัญหาที่ ๑ ความสืบต่อแห่งธรรม   
   
   สมเด็จพระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ พระบาทท้าวเธอได้ตรัสถามปัญหาต่อไปว่า
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน ผู้ใดเกิดก็เป็นผู้นั้นหรือว่ากลายเป็นผู้อื่น? "
   
   พระเถระถวายพระพรตอบว่า
     
        " ไม่ใช่ผู้นั้น และไม่ใช่ผู้อื่น "
       
        " โยมยังสงสัยขอนิมนต์อุปมาก่อน "

   " ขอถวายพระพร มหาบพิตรเข้าพระทัยว่าอย่างไร…คือมหาบพิตรเข้าพระทัยว่า เมื่อมหาบพิตรยังเป็นเด็กอ่อน ยังนอนหงายอยู่ที่พระอู่นั้น บัดนี้ มหาบพิตรเป็นผู้ใหญ่แล้วก็คือเด็กอ่อนนั้น…อย่างนั้นหรือ? "

   " ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า คือเด็กอ่อนนั้นเป็นผู้หนึ่งต่างหาก มาบัดนี้โยมซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้วก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหาก"

   " มหาราชะ เมื่อเป็นอย่างนั้น มารดาก็จักนับว่าไม่มี บิดาก็จักนับว่าไม่มี อาจารย์ก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีศีลก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีศิลปะก็จักนับว่าไม่มี ผู้มีปัญญาก็จักนับว่าไม่มีทั้งนี้เพราะอะไร

   เพราะว่า

   มารดาของผู้ยังเป็น กลละ อยู่ เป็นผู้หนึ่งต่างหาก

   มารดาของผู้เป็น อัพพุทะ คือผู้กลายจากกลละ อันได้แก่กลายจากน้ำใส ๆ เล็กๆ มาเป็นน้ำคล้ายกับน้ำล้างเนื้อ ก็ผู้หนึ่งต่างหา

   เมื่อผู้นั้นกลายเป็นก้อนเนื้อ มารดาก็ผู้หนึ่งต่างหาก

   เมื่อผู้นั้นกลายเป็นแท่งเนื้อ มารดาก็เป็นอีกผู้หนึ่ง

   เมื่อผู้นั้นยังเล็กอยู่ มารดาก็เป็นผู้หนึ่งอีกต่างหาก

   เมื่อผู้นั้นโตขึ้น มารดาก็เป็นอีกผู้หนึ่งต่างหาก อย่างนั้นหรือ

   ผู้ศึกษาศิลปะ ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก ผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก

   ผู้ทำบาปกรรมก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก

   ผู้มีมือด้วนเท้าด้วน ก็เป็นผู้หนึ่งต่างหาก อย่างนั้นหรือ ?

   " ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้เป็นเจ้า ในเมื่อโยมกล่าวอย่างนี้ ส่วนพระผู้เป็นเจ้าจะกล่าวว่าอย่างไร ?

   " ขอถวายพระพร เมื่อก่อนอาตมายังเป็นเด็กอ่อนอยู่ บัดนี้ ได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ อวัยวะทั้งปวงนั้น รวมเข้าเป็นอันเดียวกัน เพราะอาศัยกายอันนี้แหละ

   " ขอได้โปรดอุปมาด้วย

   " มหาราชะ เปรียบเสมือนว่า บุรุษคนหนึ่งจุดประทีปไว้ ประทีปนั้นจะสว่างอยู่ตลอดคือหรือไม่ ?

   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ประทีปนั้นต้องสว่างอยู่ตลอดคืน

   " มหาราชะ เปลวประทีปในยามต้น ก็คือเปลวประทีปในยามกลางอย่างนั้นหรือ?

   " ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า

   " เปลวประทีปในยามกลาง ก็คือเปลวประทีปในยามปลายอย่างนั้นหรือ ?

   " ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า

   " มหาราชะ เปลวประทีปในยามต้น ก็เป็นอย่างหนึ่ง เปลวประทีปในยามกลาง ก็เป็นอย่างหนึ่ง เปลวประทีปในยามปลาย ก็เป็นอย่างหนึ่ง อย่างนั้นหรือ ?

   " ไม่ใช่อย่างนั้น ผู้เป็นเจ้า คือเปลวประทีปนั้นได้สว่างอยู่ตลอดคืน ก็เพราะอาศัยประทีปดวงเดียวกันนั้นแหละ

   " ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ ธรรมสันตติ ความสืบต่อแห่งธรรม ย่อมสืบต่อกัน เมื่อสิ่งหนึ่งเกิด สิ่งหนึ่งดับ ย่อมติดต่อกันไม่ก่อนไม่หลังเพราะฉะนั้น จะว่าผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่าผู้อื่นก็ไม่ใช่ ย่อมถึงซึ่งการจัดเข้าในวิญญาณดวงหลัง ขอถวายพระพร

   " ขอนิมนต์อุปมาให้ยิ่งขึ้นไปอีก

   " มหาราชะ ในเวลาที่คนทั้งหลายรีดนม นมสดก็กลายเป็นนมส้ม เปลี่ยมจากนมส้ม ก็กลายเป็นนมข้น เมื่อเปลี่ยนจากนมข้น ก็กลายเป็นเปรียง ผู้ใดกล่าวว่า นมสดนั้นแหละคือนมส้ม นมส้มนั้นแหละคือนมข้น นมข้นนั้นแหละคือเปรียง จะว่าผู้นั้นกล่าวถูกต้องดีหรืออย่างไร ?

   " ไม่ถูก พระผู้เป็นเจ้า คือเปรียงนั้นก็อาศัยนมสดเดิมนั้นแหละ

   " ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร ธรรมสันตติ คือความสืบต่อแห่งธรรม ก็ย่อมสืบต่อกันไป อย่างหนึ่งเกิด อย่างหนึ่งดับ สืบต่อกันไปไม่ก่อนไม่หลัง เพราะฉะนั้น จะว่าผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะว่า ผู้อื่นก็ไม่ใช่ ว่าได้แต่เพียงว่า ถึงซึ่งการสงเคราะห์เข้าในวิญญาณดวงหลังเท่านั้น ขอถวายพระพร "

   " พระผู้เป็นเจ้าแก้ไขนี้สมควรแล้ว "

ฐิตา:
ปัญหาที่ ๓ ถามที่ดับปัญญา   

          " ข้าแต่พระนาคเสน ญาณ เกิดแก่ผู้ใด ปัญญา เกิดแก่ผู้นั้นหรือ ? "     " เกิด…มหาราชะ คือ ญาณ เกิดแก่ผู้ใด ปัญญา ก็เกิดแก่ผู้นั้น"
   " ข้าแต่พระนาคเสน สิ่งใดเป็นญาณสิ่งนั้นหรือเป็นปัญญา? "
   " ถูกแล้ว…มหาราชะ คือสิ่งใดเป็นญาณก็สิ่งนั้นแหละเป็นปัญญา"
   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ญาณได้เกิดแก่ผู้ใดปัญญานั้นได้เกิดแก่ผู้นั้น ผู้นั้นหลงหรือไม่หลง ? "
   " มหาราชะ ผู้มีปัญญาหลงในบางสิ่งบางอย่าง ไม่หลงในบางสิ่งบางอย่าง"
   " หลงในสิ่งไหน ไม่หลงในสิ่งไหน ? "
   " ขอถวายพระพร หลงในศิลปะที่ไม่ชำนาญก็มี ในทิศที่ไม่เคยไปก็มี ในชื่อหรือสถานที่ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มี "
   " อ๋อ…แล้วไม่หลงในอะไร พระผู้เป็นเจ้า ? "
   " ไม่หลงในสิ่งที่ตนรู้แล้วว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา "
   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ก็โมหะ คือความหลงของผู้นั้นไปอยู่ที่ไหนล่ะ? "
   " มหาราชะ พอ ญาณ เกิดแล้ว โมหะ คือความหลงก็ดับไปในญาณนั้นเอง"
   " ขอนิมนต์อุปมาเถิด "

ฐิตา:
อุปมาผู้จุดประทีป   

  " ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง จุดประทีปเข้าไปในเรือนที่มืด ในขณะนั้นความมืดก็ดับไป แสงสว่างก็ปรากฏขึ้นฉันใด เมื่อ ญาณ เกิดขึ้นแล้ว โมหะ ก็ดับไปในที่นั้นฉันนั้นแหละ"
   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ก็ปัญญานั้นเล่า…ไปอยู่ที่ไหน? "
   " มหาราชะ ปัญญา ทำหน้าที่ของตนแล้วก็ดับไปในที่นั้นเอง สิ่งใดที่ทำด้วยปัญญานั้นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งนั้นไม่ดับ "
   " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวไว้แล้วว่า ปัญญาทำหน้าที่ของตนแล้วก็ดับไป แต่สิ่งใดที่ทำด้วยปัญญานั้นว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งนั้นไม่ดับ ดังนี้ "
   "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาด้วย"

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version