แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มิลินทปัญหา

<< < (71/78) > >>

ฐิตา:


   องค์ ๕ แห่งมหาสมุทร
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งมหาสมุทรได้แก่อะไร ? "
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา มหาสมุทร ย่อมไม่อยู่ร่วมกับซากศพฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรอยู่ร่วมกับราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ลบหลู่คุณท่าน ตระหนี่ ริษยา มายาสาไถย โกหก ความคดโกง ความทุจริต กิเลสมลทินทั้งหลายฉันนั้น อันนี้เป็นองค์แรกแห่งมหาสมุทร
   
   ธรรมดามหาสมุทรย่อมรักษาไว้ซึ่งแก้วต่าง ๆ คือ แก้วมณี แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ แก้วผลึก ไว้ไม่ให้กระจัดกระจายออกไปภายนอกได้ฉันใด พระโยคาวจรได้บรรลุมรรคผล ฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ วิปัสสนา อภิญญาแล้วก็ควรปกปิดไว้ ไม่ควรนำออกไปภายนอกฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งมหาสมุทร
   
   ธรรมดามหาสมุทรย่อมอยู่ร่วมกับสัตว์ใหญ่ ๆ ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มักน้อย ผู้สันโดษ ผู้กล่าวคำอันเป็นเครื่องกำจัด ผู้มีความขัดเกลา ผู้สมบูรณ์ด้วยกิริยามารยาท ผู้เป็นลัชชี ผู้มีศีลเป็นที่รัก ผู้เป็นที่เคารพ เป็นที่นับถือ เป็นผู้ว่ากล่าว เป็นผู้ควรแก่การว่ากล่าว ผู้ตักเตือน ผู้ติเตียนความชั่ว ผู้สั่งสอน ผู้ให้รู้แจ้ง ผู้ให้เห็นจริง ให้ถือมั่น ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งมหาสมุทร
   
   ธรรมดามหาสมุทรย่อมเต็มด้วยน้ำไหลมาจากแม่น้ำต่าง ๆ หลายร้อยสาย มีแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ เป็นต้น ทั้งมีน้ำฝนตกลงมาจากอากาศ แต่น้ำเหล่านั้นก็ไม่ล้นฝั่งไปได้ฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรแกล้งล่วงสิกขาบทเพราะเห็นแก่ลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ ความนับถือ การไหว้การบูชา ตลอดถึงเหตุที่จะให้สิ้นชีวิต อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งมหาสมุทร
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธฎีกาที่ตรัสประทานไว้ว่า   
   " มหาสมุทรมีน้ำเต็มฝั่ง ไม่ล้นฝั่งไปได้ฉันใด สาวกทั้งหลายของเรา ก็ไม่ล่วงสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตฉันนั้น "
   
   ธรรมดามหาสมุทรย่อมไม่รู้จักเต็มด้วยน้ำ อันไหลมาจากแม่น้ำทั้งปวง มีแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหิ เป็นต้น อีกทั้งน้ำฝนด้วยฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรอิ่มด้วยการเรียน การฟัง การทรงจำ การวินิจฉัย พระธรรมวินัย พระสูตร วิเคราะห์ นิกเขปบท บทสมาธิ บทวิภัตติ ในพระพุทธศาสนาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งมหาสมุทร
   
   ข้อนี้สมกับคำของสมเด็จพระบรมสุคตใน มหาสุตตโสมชาดก ว่า   
   " ไฟนี้ไหม้หญ้าและไม้ย่อมไม่รู้จักอิ่มด้วยเชื้อไฟ มหาสมุทรย่อมไม่รู้จักอิ่มด้วยน้ำฉันใด บัณฑิตทั้งหลายไม่รู้จักอิ่ม ด้วยคำอันเป็นสุภาษิตฉันนั้น " ขอถวายพระพร "
   
   จบลาวุตตา วรรคที่ ๒

ฐิตา:


   อุปมากถาปัญหา
   จักกวัตติ วรรคที่ ๓
   
   องค์ ๕ แห่งแผ่นดิน    
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งแผ่นดินได้แก่อะไร ? "
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา แผ่นดิน ถึงจะมีคนเทของที่น่ายินดีและไม่น่ายินดี คือการบูร กฤษณา จันทน์ หญ้าฝรั่น เป็นต้นก็ดีเทลงไปซึ่งดี เสมหะ โลหิต เหงื่อ มันข้น น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้นก็ดี ก็เป็นอยู่เช่นนั้นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นเช่นนั้น ในสิ่งที่น่าต้องการ คือ ลาภ ความไม่มีลาภ ยศ ความไม่มียศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์แรกแห่งแผ่นดิน
   
   ธรรมดาแผ่นดินย่อมปราศจากเครื่องประดับตกแต่ง มีแต่อบรมอยู่ด้วยกลิ่นของตนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรปราศจากเครื่องประดับตกแต่ง ควรอบรมด้วยกลิ่นศีลของตนฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งแผ่นดิน
   
   ธรรมดาแผ่นดินย่อมไม่มีระหว่าง ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นของหนาแน่นกว้างขวางฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้มีศีลอยู่เป็นนิจ อย่าได้ให้ศีลขาดวิ่นเป็นช่องเป็นรู ให้ศีลหนาแน่นกว้างขวางอยู่ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งแผ่นดิน
   
   ธรรมดาแผ่นดินย่อมทรงไว้ซึ่งคามนิคม นคร ชนบท ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เนื้อ นก นรชน หญิงชายไม่ย่อท้อฉันใด พระโยคาวจรถึงจะต้องเป็นผู้ว่ากล่าวสั่งสอนผู้อื่น หรือถูกผู้อื่นว่ากล่าวสั่งสอน ก็ไม่ควรย่อท้อฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งแผ่นดิน
   
   ธรรมดาแผ่นดินย่อมปราศจากความยินดียินร้ายฉันใด พระโยคาวจรก็ควรปราศจากความยินดียินร้าย ความมีใจเสมอกับแผ่นดินฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งแผ่นดิน
   
   ข้อนี้สมกับคำของอุบาสิกา จูฬสุภัททา กล่าวสรรเสริญสมณะของตนไว้ว่า   
   " ถึงมีผู้ถากข้างหนึ่งด้วยมีดพร้า ทาร่างกายข้างหนึ่งด้วยของหอมให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไม่มีความยินดียินร้าย จิตของข้าพเจ้าเสมอด้วยแผ่นดิน สมณะทั้งหลายของข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกัน " ขอถวายพระพร "

ฐิตา:


   องค์ ๕ แห่งน้ำ
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งน้ำได้แก่อะไร ? " " ขอถวายพระพร ธรรมดา น้ำ อันตั้งอยู่นิ่ง ๆ ไม่ไหว ไม่มีผู้กวน ย่อมบริสุทธิ์ตามสภาวะปกติ คือความเป็นเองฉันใด พระโยคาวจรก็ควรละการลวงโลก การโอ้อวด การพูดเลียบเคียง เพื่อหาลาภ การพูดเหยียดผู้อื่นเพื่อหาลาภเสียแล้ว ควรเป็นผู้มีความประพฤติบริสุทธิ์ตามสภาวะปกติฉันนั้นอันนี้เป็นองค์แรกแห่งน้ำ
   
   ธรรมดาน้ำย่อมตั้งอยู่ตามสภาพ คือความเย็นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้ทำความเย็นให้แก่ผู้อื่นด้วยขันติ และความไม่เบียดเบียน ความเมตตากรุณาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งน้ำ
   
   ธรรมดาน้ำย่อมทำสิ่งที่ไม่สะอาดให้สะอาดฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำแต่สิ่งที่ไม่มีโทษในที่ทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งน้ำ
   
   ธรรมดาน้ำย่อมเป็นที่ต้องการ แห่งคนและสัตว์เป็นอันมากฉันใด พระโยคาวจรผู้มักน้อย สันโดษ สงัด เงียบ ก็เป็นที่ต้องการแห่งโลกทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งน้ำ
   
   ธรรมดาน้ำย่อมไม่นำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เข้าไปให้แก่ใครฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรทำให้เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทบาดหมาง ความเพ่งโทษ ความริษยา ให้เกิดแก่ผู้อื่นฉันนั้นอันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งน้ำ
   
   ข้อนี้ สมกับคำของพระพุทธเจ้าใน กัณเหชาดก ว่า   
   " ข้าแต่ท้าวสักกะ ผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งปวง ถ้าพระองค์จะทรงประทานพรแก่หม่อมฉัน ก็ขอจงประทานพรว่า อย่าให้กายหรือใจของหม่อมฉัน ทำให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นเลย "
   
   ดังนี้ ขอถวายพระพร "

ฐิตา:


   องค์ ๕ แห่งไฟ
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งไฟได้แก่อะไร ? "
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา ไฟ ย่อมเผา หญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ฉันใด พระโยคายจรก็ควรเผากิเลสทั้งภายนอกภายในด้วยไฟ คือญาณ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งไฟ
   
   ธรรมดาไฟย่อมไม่มีเมตตากรุณาฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่มีควรมีเมตตากรุณา ในกิเลสทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งไฟ
   
   ธรรมดาไฟย่อมกำจัดความเย็นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำให้เกิดไฟ คือความเพียรเผากิเลสทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งไฟ
   
   ธรรมดาไฟย่อมไม่มีความยินดียินร้ายมีแต่ทำให้เกิดความร้อนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีใจเสมอด้วยไฟ ปราศจากความยินดียินร้ายฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งไฟ
   
   ธรรมดาไฟย่อมกำจัดความมืด ทำให้เกิดความสว่างฉันใด พระโยคาวจรก็ควรกำจัดความมืดถืออวิชชา ทำให้เกิดความสว่าง คือญาณฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งไฟ
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธโอวาทที่ทรงสอน พระราหุล ว่า   
   " ดูก่อนราหุล เธอจงอบรมจิตใจให้เสมอกับไฟ เพราะเมื่อเธออบรมจิตใจให้เสมอกับไฟได้แล้ว สิ่งที่ถูกต้องอันเป็นที่พอใจและไม่พอใจ ย่อมไม่ครอบงำจิตใจได้ " ดังนี้ ขอถวายพระพร "

ต่อที่ หน้า ๒๖ #๓๗๕ องค์ ๕ แห่งภูเขา
-http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=205.375

ฐิตา:


   องค์ ๕ แห่งภูเขา

   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งภูเขาได้แก่อะไร ? "
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา ภูเขา ย่อมไม่หวั่นไหวฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรหวั่นไหว ในสิ่งที่น่ายินดียินร้ายฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งภูเขา
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า
   " ภูเขาศิลาแท่งทึบ ย่อมไม่ไหวด้วยลมฉันใด บัณฑิตทั้งหลายก็ไม่ไหวด้วยนินทาสรรเสริญฉันนั้น " ดังนี้
   ธรรมดาภูเขาย่อมเป็นของแข็ง ไม่ระคนกับสิ่งใดฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีใจเข้มแข็งในสิ่งทั้งปวง ไม่คลุกคลีกับกิเลสใด ๆ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งภูเขา
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า
   " ผู้ที่ไม่คลุกคลีกับคฤหัสถ์บรรพชิตไม่มีความห่วงใย มีแต่ความมักน้อย เราเรียกว่า พราหมณ์ " ดังนี้
   ธรรมดาภูเขาศิลาย่อมไม่มีพืชพรรณงอกขึ้นได้ฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรให้กิเลสงอกขึ้นในใจของตนฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งภูเขา
   
   ข้อนี้สมกับคำของ พระสุภูติเถระ ว่า
   " เวลาที่จิตประกอบด้วย ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นแก่เรา เราก็พิจารณาอยู่ผู้เดียว เราไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ในสิ่งที่น่าเกิด ราคะ โทสะ โมหะ เราสอนตัวเราเองว่า ถ้าท่านเกิดราคะ โทสะ โมหะ ก็จงออกไปจากป่า เพราะที่ป่านี้เป็นที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์ ผู้ไม่มีมลทิน ผู้มีตบะ ท่านอย่าทำลายที่อันบริสุทธิ์ ท่านจงออกไปจากป่า " ดังนี้ ธรรมดาภูเขาย่อมเป็นของสูงฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้สูงด้วยญาณฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งภูเขา
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า
   " เมื่อใดบัณฑิตกำจัดความประมาทด้วยความไม่ประมาทได้แล้ว ขึ้นสู่ปราสาทคือปัญญา เมื่อนั้นท่านก็ไม่มีความเศร้าโศกได้เล็งเห็นผู้เศร้าโศก เหมือนกับผู้อยู่บนเขาแลเห็นคนผู้อยู่ข้างล่างฉะนั้น "
   ธรรมดาภูเขาย่อมไม่ฟูขึ้นยุบลงฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรฟูขึ้นและยุบลงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งภูเขา
   
   ข้อนี้สมกับคำของอุบาสิกา จูฬสุภัททา ว่า
   " พระสมณะทั้งหลายของเรา ย่อมไม่ฟูขึ้นยุบลง ด้วยความมีลาภและความไม่มีลาภเหมือนกับคนอื่นๆ" ดังนี้ ขอถวายพระพร "

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version