แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มิลินทปัญหา

<< < (73/78) > >>

ฐิตา:


   อุปมากถาปัญหา   
   กุญชรวรรคที่ ๔
   
   องค์ ๑ แห่งปลวก   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งปลวกได้แก่อะไร ? "   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา ปลวก ย่อมทำหลังคาปิดตัวเองแล้วอาศัยอยู่ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำหลังคา คือศีลสังวรปิดใจของตนอยู่ฉันนั้น เพราะเมื่อปิดใจของตนด้วยศีลสังวรแล้ว ย่อมล่วงพ้นภัยทั้งปวงได้ อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งปลวก
   
   ข้อนี้สมกับคำของ พระอุปเสนเถระ ว่า   
   " พระโยคีกระทำเครื่องมุงใจ คือศีลสังวรแล้ว ไม่ติดอยู่ในอะไร ย่อมพ้นจากภัยได้ " ดังนี้ ขอถวายพระพร "

   
   องค์ ๒ แห่งแมว   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งแมวได้แก่อะไร ? "   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา แมว เวลาไปที่ถ้ำหรือที่ซอก ที่รู ที่โพรง ที่ระหว่างถ้ำก็ดี ก็แสวงหาแต่หนูฉันใด พระโยคาวจรผู้ไปอยู่ที่บ้าน ที่ป่า หรือที่โค่นต้นไม้ ที่แจ้ง ที่ว่างบ้านเรือน ก็ไม่ควรประมาท ควรแสวงหาโภชนะ คือกายคตาสติ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งแมว
   
   ธรรมดาแมว ย่อมแสวงหาอาหารในที่ใกล้ ๆ ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรพิจารณาขันธ์ ๕ ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีความตั้งขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งแมว   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า   
   " ไม่ต้องกล่าวไปให้ไกลแต่นี้นัก ภวัคคพรหม ( พรหมชั้นสูงสุด) จักทำอะไรได้ ควรเบื่อหน่ายเฉพาะในกายของตน อันมีอยู่ในปัจจุบันนี้แหละ" ดังนี้ ขอถวายพระพร "


   องค์ ๑ แห่งหนู   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งหนูได้แก่อะไร ? "   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา หนู ย่อมเที่ยวหาอาหารข้างโน้นข้างนี้ฉันใด พระโยคาวจรเมื่อเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้ ก็ควรแสวงหาโยนิโสมนสิการฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งหนู
   
   ข้อนี้สมกับคำของ พระอุปเสนเถระ ว่า   
   " ผู้แสวงหาธรรม ผู้เห็นธรรมต่าง ๆ ผู้ไม่ย่อท้อ ผู้สงบ ย่อมมีสติอยู่อยู่ทุกเมื่อ"
   ดังนี้ ขอถวายพระพร"   
   

ฐิตา:


  องค์ ๑ แห่งแมงป่อง    
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งแมงป่อง ได้แก่อะไร? "   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา แมงป่อง ย่อมมีหางเป็นอาวุธ ย่อมชูหางของตนเที่ยวไปฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีญาณเป็นอาวุธ ควรชูญาณฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งแมงป่อง
   
   ข้อนี้สมกับคำของ พระอุปเสนเถระ ว่า   
   " ภิกษุผู้ถือเอาพระขรรค์ คือญาณ ผู้เห็นธรรมด้วยอาการต่าง ๆ ย่อมพ้นจากภัยทั้งปวง ภิกษุนั้นย่อมอดทนสิ่งที่ทนได้ยากในโลก" ดังนี้ ขอถวายพระพร "


  องค์ ๑ แห่งพังพอน   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งพังพอนนี้ได้แก่อะไร? "   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา พังพอน เมื่อจะไปสู้กับงู ย่อมมอมตัวด้วยยาเสียก่อนจึงเข้าไปใกล้งู เพื่อจะสู้กับงูฉันใด พระโยคาวจรเมื่อจะเข้าไปใกล้โลก อันมากไปด้วยความบาดหมาง ความทะเลาะวิวาท ก็ทาอวัยวะด้วยยา คือ เมตตาเสียก่อน จึงจะให้โลกทั้งปวงดับความเร่าร้อนได้ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งพังพอน
   
   ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า   
   " พระภิกษุควรมีเมตตาแก่ตนและผู้อื่นควรแผ่จิตเมตตาไป อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย" ดังนี้ ขอถวายพระพร"

ฐิตา:


   องค์ ๒ แห่งสุนัขจิ้งจอก
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งสุนัขจิ้งจอกได้แก่อะไร? "   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา สุนัขจิ้งจอก ได้โภชนะแล้วย่อมไม่เกลียดชัง ย่อมกินพอความประสงค์ฉันใด พระโยคาจรได้โภชนะแล้ว ก็ไม่ควรเกลียดชัง ไม่ว่าชนิดไหน ควรฉันพอให้ร่างกายเป็นไปได้ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งสุนัขจิ้งจอก
   
   ข้อนี้สมกับคำของ พระมหากัสสปเถระ ว่า   
   " เวลาเราออกจากเสนาสนะเข้าไปบิณฑบาตถึงบุรุษโรคเรื้อนที่กำลังกินข้าวอยู่ กำเอาคำข้าวด้วยมือเป็นโรคเรื้อนมาใส่บาตรให้เรา เราก็นำไปฉัน ไม่เกลียดชังอย่างไร " ดังนี้   
   "ธรรมดาสุนัขจิ้งจอกได้โภชนะแล้ว ย่อมไม่เลือกว่าเลวดีอย่างไรฉันใด พระโยคาวจรได้โภชนะแล้ว ก็ไม่เลือกว่าเลวดี ยินดีตามที่ได้ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งสุนัขจิ้งจอก
   
   ข้อนี้สมกับคำของ พระอุปเสนเถระ ว่า   
   " บุคคลควรยินดีแม้ด้วยของเลว ไม่ควรปรารถนาอย่างอื่น ใจของผู้ข้องอยู่ในรสทั้งหลาย ย่อมไม่ยินดีในฌาน ความสันโดษตามมีตามได้ ย่อมทำให้เป็นสมณะบริบูรณ์ " ดังนี้ ขอถวายพระพร "

ฐิตา:


   องค์ ๓ แห่งเนื้อในป่า
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ที่ ๓ แห่งเนื้อในป่าได้แก่อะไร? "
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา เนื้อในป่า ย่อมเที่ยวไปในป่า ในเวลากลางคืน ในที่แจ้งฉันใด พระโยคาวจรก็ควรอยู่ในป่าในเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืนควรอยู่ในที่แจ้ง อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งเนื้อในป่า
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ว่า
   " ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมอยู่ในที่แจ้งเวลากลางคืนหน้าหนาว ส่วนกลางวันอยู่ในป่า สำหรับเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน เวลากลางวันเราอยู่ในที่แจ้ง เวลากลางคืนเราอยู่ในป่า
   "ธรรมดาเนื้อในป่า ย่อมรู้จักหลบหลีกลูกศรฉันใด พระโยคาวจรก็ควรรู้จักหลบหลีกกิเลสฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งเนื้อในป่า
   
   ธรรมดาเนื้อในป่า ได้เห็นมนุษย์แล้วย่อมวิ่งหนี ด้วยคิดว่าอย่าให้มนุษย์ได้เห็นเราฉันใด พระโยคาวจรได้เห็นพวกทุศีล พวกเกียจคร้าน พวกยินดีในหมู่คณะ ก็ควรหนีไปด้วยคิดว่า อย่าให้พวกนี้ได้เห็นเรา อย่าให้เราได้เห็นพวกนี้ อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งเนื้อในป่า
   
   ข้อนี้สมกับคำอัน พระสารีบุตรเถระ กล่าวไว้ว่า   
   " เรานึกว่าคนมีความต้องการในทางลามก คนเกียจคร้าน คนท้อถอย คนสดับน้อย คนประพฤติไม่ดี คนไม่สงบ อย่าได้พบเห็นเราเลย" ดังนี้ ขอถวายพระพร "

ฐิตา:


   องค์ ๔ แห่งโค
   
   " ข้อแต่พระนาคเสน องค์ ๔ แห่งโคได้แก่อะไร ? "   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา โค ย่อมไม่ทิ้งคอกของตนฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรทิ้งโอกาสของตนฉันนั้น คือไม่ควรทิ้งซึ่งการนึกว่า กายนี้มีการขัดสีอบรมอยู่เป็นนิจมีการแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งโค
   ธรรมดาโคย่อมถือเอาแอก ย่อมนำแอกไปด้วยความสุขและความทุกข์ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต ด้วยการสู้สุขสู้ทุกข์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งโค
   
   ธรรมดาโคย่อมเต็มใจดื่มน้ำฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเต็มใจฟังคำสั่งสอนของพระอุปัชฌาย์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งโค
   ธรรมดาโคเมื่อเจ้าของฝึกหัดให้ทำอย่างไรย่อมทำตามทุกอย่างฉันใด พระโยคาวจรก็ควรยินดีรับคำสอนของภิกษุด้วยกัน หรือของอุบาสกชาวบ้านฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งโค
   
   ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า   
   " ถึงผู้บวชในวันนั้นมีอายุเพียง ๗ ขวบสอนเราก็ตาม เราก็ยินดีรับคำสอน เราได้เห็นผู้นั้น ก็ปลูกความพอใจ ความรักอย่างแรงกล้า ยินดีนอบน้อมว่าเป็นอาจารย์แล้วแสดงความเคารพเนือง ๆ " ดังนี้ "

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version