แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มิลินทปัญหา

<< < (74/78) > >>

ฐิตา:


   องค์ ๒ แห่งสุกร
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งสุกรได้แก่อะไร ? "
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา สุกร ย่อมชอบนอนแช่น้ำในฤดูร้อนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรอบรมเมตตาภาวนาอันเย็นดี ในเวลาจิตเร่าร้อนตื่นเต้นฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งสุกร   
   ธรรมดาสุกรย่อมขุดดินด้วยจมูกของตน ทำให้เป็นรางน้ำในที่มีน้ำ แล้วนอนแช่อยู่ในรางฉันใด พระโยคาวจรก็ควรพิจารณากายไว้แล้วฝังอารมณ์ให้นอนอยู่ภายในใจฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งสุกร
   
   ข้อนี้สมกับคำของ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ว่า
   " ภิกษุผู้เล็งเห็นสภาพแห่งกายแล้ว ควรหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว แล้วนอนอยู่ในภายในอารมณ์ " ดังนี้ ขอถวายพระพร "


ต่อที่ หน้า ๒๗ #๓๙๐ องค์ ๕ แห่งช้าง
-http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=205.390

ฐิตา:


 องค์ ๕ แห่งช้าง
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งช้างได้แก่อะไร ? "   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา ช้าง เมื่อเที่ยวไป ย่อมเอาเท้ากระชุ่นดินฉันใด พระโยคาวจรผู้พิจารณากาย ก็ควรทำลายกิเลสทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งช้าง
   
   ธรรมดาช้าง ย่อมแลไปตรง ๆ ไม่แลดูทิศโน้นทิศนี้ฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรเหลียวดูทิศโน้นทิศนี้ ไม่ควรแหงนดู ก้มดู ควรดูเพียงชั่วระยะแอกฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งช้าง   
   ธรรมดาช้าง ย่อมไม่นอนประจำอยู่ในที่แห่งเดียว เที่ยวหากินในที่ใด ไม่พักนอนในที่นั้นฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรนอนประจำคือไม่ควรห่วงใยในที่เที่ยวบิณฑบาต ถ้าได้เห็นที่ชอบใจ คือปะรำ หรือโคนต้นไม้ หรือถ้ำ หรือเงื้อมเขา ก็ควรเข้าพักอยู่ในที่นั้น แล้วไม่ควรห่วงใยในที่นั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งช้าง
   
   ธรรมดาช้าง เวลาลงน้ำย่อมเล่นน้ำตามสบายฉันใด พระโยคาวจรเวลาลงสู่สระโบกขรณี คือมหาสติปัฏฐาน อันเต็มเปี่ยมด้วยน้ำอันประเสริฐ คือพระธรรมอันเย็นใสอันดาษไปด้วยดอกไม้ คือวิมุตติ ก็ควรเล่นอยู่ด้วยการพิจารณาสังขาร อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งช้าง   
   ธรรมดาช้าง ย่อมมีสติทุกเวลายกเท้าขึ้นวางเท้าลงฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีสติสัมปชัญญะทุกเวลายกเท้าขึ้นวางเท้าลงทุกเวลาเดินไปมา คู้เหยียด แลเหลียว ฉันนั้นอันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งช้าง
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย ว่า
   " การสำรวมกาย วาจา ใจ เป็นของดี การระวังในสิ่งทั้งปวงเป็นของดี ผู้ระวังในสิ่งทั้งปวง ผู้มีความละอาย เรียกว่า ผู้รักษากาย วาจา ใจ ดีแล้ว " ดังนี้ ขอถวายพระพร "
   
   จบกุญชรวรรคที่ ๔

ฐิตา:


   อุปมากถาปัญหา    
   สีหวรรคที่ ๕
   
   องค์ ๗ แห่งราชสีห์   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๗ แห่งราชสีห์ได้แก่อะไร? "   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา ราชสีห์ ย่อมมีกายขาวบริสุทธิ์ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้มีจิตขาวบริสุทธิ์ ปราศจากความรำคาญฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งราชสีห์
   
   ธรรมดาราชสีห์ ย่อมเที่ยวไปด้วยเท้าทั้ง ๔ มีการเที่ยวไปงดงามฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเที่ยวไปด้วยอิทธิบาท ๔ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งราชสีห์   
   ธรรมดาราชสีห์ ย่อมมีไกรสรคือสร้อยคอสีสวยงามยิ่งฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีไกรสรคือศีลอันสวยงามยิ่งฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งราชสีห์
   
   ธรรมดาราชสีห์ถึงจะตาย ก็ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อใครฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรอ่อนน้อมต่อใคร เพราะเห็นแก่ปัจจัย ๔ ถึงจะสิ้นชีวิตก็ช่าง อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งราชสีห์   
   ธรรมดาราชสีห์ ย่อมเที่ยวหาอาหารไปตามลำดับ ได้อาหารในที่ใดก็กินให้อิ่มในที่นั้นไม่เลือกกินเฉพาะเนื้อที่ดี ๆ ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตระกูล ไม่ควรเลือกตระกูลและอาหารฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งราชสีห์
   
   ธรรมดาราชสีห์ ย่อมไม่สะสมอาหารกินคราวหนึ่งแล้วไม่เก็บไว้กินอีกฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรสะสมอาหารฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๖ แห่งราชสีห์   
   ธรรมดาราชสีห์เวลาหาอาหารไม่ได้ ก็ไม่ทุกข์ร้อน ได้แล้วก็ไม่ติดฉันใด พระโยคาวจรเวลาหาอาหารไม่ได้ ก็ไม่ควรทุกข์ร้อน เวลาได้ก็ไม่ควรติดใจรสอาหาร ควรฉันด้วยการพิจารณา เพื่อจะออกจากโลก อันนี้เป็นองค์ที่ ๗ แห่งราชสีห์
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย ว่า
   " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระกัสสปนี้ย่อมยินดีด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้สรรเสริญความยินดีในบิณฑบาตตามมีตามได้ ไม่แสวงหาบิณฑบาตในทางไม่ชอบ เมื่อไม่ได้ก็ไม่ควรทุกข์ร้อน เวลาได้ก็ไม่ติดในรสอาหาร รู้จักพิจารณาโทษแห่งอาหาร" ดังนี้ ขอถวายพระพร "

ฐิตา:


   องค์ที่ ๓ แห่งนกจากพราก
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งนกจากพรากได้แก่อะไร? "   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา นกจากพราก ย่อมไม่ทิ้งเมียจนตลอดชีวิตฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรทิ้งโยนิโสมนสิการจนตลอดชีวิตฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนกจากพราก
   
   ธรรมดานกจากพราก ย่อมกินหอย สาหร่าย จอกแหน เป็นอาหารด้วยความยินดี จึงไม่เสื่อมจากกำลังและสีกาย ด้วยความยินดีนั้นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรยินดีตามมีตามได้ฉันนั้น เพราะผู้ยินดีตามมีตามได้ย่อมไม่เสื่อมจากศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ และกุศลธรรมทั้งปวง อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนกจากพราก
   
   ธรรมดานกจากพราก ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทิ้งท่อนไม้และอาวุธ ควรมีความละลาย มีใจอ่อน นึกสงเคราะห์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งนกจากพราก
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน จักกวากชาดก ว่า   
   " ผู้ใดไม่ฆ่าเอง ไม่ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง ไม่ให้ผู้อื่นชนะ ผู้นั้นชื่อว่ามีเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย เวรย่อมไม่มีแก่ผู้นั้นด้วยเหตุใดๆ " ดังนี้ ขอถวายพระพร "

ฐิตา:


   องค์ ๒ แห่งนางนกเงือก    
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งนางนกเงือกได้แก่อะไร? "   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา นางนกเงือก ย่อมให้ผัวอยู่เลี้ยงลูกในโพรงด้วยความหึงฉันใด พระโยคาวจรเมื่อกิเลสเกิดขึ้นในใจของตนก็ควรเอาใจของตนใส่ลงในโพรง คือการสำรวมโดยชอบ เพื่อความกั้นกางกิเลส แล้วอบรมกายคตาสติไว้ด้วยมโนทวาร อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนางนกเงือก
   
   ธรรมดานางนกเงือก เวลากลางวันไปเที่ยวหากินในป่า พอถึงเวลาเย็นก็บินไปหาเพื่อนฝูง เพื่อรักษาตัวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรหาที่สงัดโดยลำพังผู้เดียว เพื่อให้หลุดพ้นจากสังโยชน์ เมื่อได้ความยินดีในความสงัดนั้น ก็ควรไปอยู่กับหมู่สงฆ์ เพื่อป้องกันภัย คือการว่ากล่าวติเตียนฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนางนกเงือก
   
   ข้อนี้สมกับคำที่ ท้าวสหัมบดีพรหม ได้กล่าวขึ้นในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าว่า   
   " พระภิกษุควรอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด เพื่อปลดเปลื้องจากสังโยชน์ ถ้าไม่ได้ความยินดีในที่สงัดนั้น ก็ควรไปอยู่ในหมู่สงฆ์ ควรมีสติรักษาตนให้ดี " ดังนี้ ขอถวายพระพร "


   องค์ ๑ แห่งนกกระจอก   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งนกกระจอกได้แก่อะไร? "
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา นกกระจอก ย่อมอาศัยอยู่ในเรือนคน แต่ไม่เพ่งอยากได้ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งของคน มีใจเป็นกลางเฉยอยู่ มากไปด้วยความจำฉันใด พระโยคาวจรเข้าไปถึงตระกูลอื่นแล้ว ก็ไม่ควรถือเอานิมิตในเตียง ตั่ง ที่นั่ง ที่นอน เครื่องประดับประดา เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ เครื่องกิน ภาชนะใช้สอยต่าง ๆ ของสตรีหรือบุรุษในตระกูลนั้น ควรมีใจเป็นกลาง ควรใส่ใจไว้แต่ในสมณสัญญาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งนกกระจอก
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน จูฬนารทชาดก ว่า   
   " ภิกษุเข้าไปสู่ตระกูลอื่นแล้ว ควรขบฉันข้าวน้ำตามที่เขาน้อมถวาย แต่ไม่ควรหลงใหลไปในรูปต่างๆ" ดังนี้ ขอถวายพระพร "

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version