แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มิลินทปัญหา

<< < (75/78) > >>

ฐิตา:


  องค์ ๒ แห่งนกเค้า  
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งนกเค้าได้แก่อะไร ?"
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา นกเค้า ย่อมเป็นศัตรูกันกับกา พอถึงเวลากลางคืนก็ไปตีฝูงกา ฆ่าตายเป็นอันมากฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นข้าศึกกับอวิชชา ควรนั่งอยู่ในที่สงัดแต่ผู้เดียว ควรตัดอวิชชาทิ้งเสียพร้อมทั้งรากฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนกเค้า   
   ธรรมดานกเค้าย่อมซ่อนตัวอยู่ดีฉันใด พระโยคาวจรก็ควรซ่อนตัวไว้ดี ด้วยการยินดีในที่สงัดฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนกเค้า
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย ว่า   
   " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอควรอยู่ในที่สงัด เพราะผู้อยู่ในที่สงัด ผู้ยินดีในที่สงัดย่อมพิจารณาเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค " ดังนี้ ขอถวายพระพร "


   องค์ ๑ แห่งนกตะขาบ 
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งนกตะขาบได้แก่อะไร ?"
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา นกตะขาบ ย่อมร้องบอกความปลอดภัย และความมีภัยแก่ผู้อื่นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรแสดงธรรมบอกนรก สวรรค์ นิพพาน แก่ผู้อื่นฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนกตะขาบ
   
   ข้อนี้สมกับคำที่ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ กล่าวไว้ว่า   
   " พระโยคาวจรควรแสดงสิ่งที่น่าสะดุ้งกลัวในนรก และความสุขอันไพบูลย์ในนิพพานให้ผู้อื่นฟัง" ดังนี้ ขอถวายพระพร "

ฐิตา:


   องค์ที่ ๒ แห่งค้างคาว   
   "ข้าแต่ พระนาคเสน องค์ ๒ แห่งค้างคาวได้แก่อะไร? "
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา ค้างคาว บินเข้าไปในเรือนแล้ว บินวนไปวนมาแล้วก็บินออกไป ไม่กังวลอยู่ในเรือนฉันใด พระโยคาวจรเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน เที่ยวไปตามลำดับแล้วได้หรือไม่ได้ก็ตาม ก็ควรกลับออกไปโดยเร็วพลันฉันนั้น ไม่ควรกังวลอยู่ในบ้าน อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งค้างค้าว
   
   ธรรมดาค้างคาว เมื่ออาศัยอยู่ในเรือนคนก็ไม่ทำความเสียหายให้แก่คนฉันใด พระโยคาวจรเข้าไปถึงตระกูลแล้ว ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนเสียใจให้คนทั้งหลาย ด้วยการขอสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือด้วยการทำไม่ดีทางกาย หรือด้วยการพูดมากเกินไป หรือด้วยการทำตนให้เป็นผู้มีสุขทุกข์เท่ากับคนในตระกูลนั้น ไม่ควรทำให้เสียบุญกุศลของเขา ควรทำแต่ความเจริญให้เขาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งค้างคาว
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน ลักขณสังยุต ในคัมภีร์ทีฆนิกายว่า   
   " ภิกษุไม่ควรทำให้ชาวบ้านเสื่อมศรัทธา ศีล สุตะ พุทธิ จาคะ ธรรมะ ทรัพย์สมบัติ ไร่นา เรือกสวน บุตร ภรรยา สัตว์ ๔ เท้า ญาติมิตร พวกพ้อง กำลัง ผิวพรรณ ความสุขสบายแต่อย่างใด พระโยคาวจรย่อมมุ่งแต่ความมั่นคั่งให้แก่ชาวบ้าน" ดังนี้ ขอถวายพระพร "


   องค์ ๑ แห่งปลิง  
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งปลิง ได้แก่อะไร ? "
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา ปลิง เกาะในที่ใดก็ตาม ต้องเกาะให้แน่นในที่นั้นแล้วจึงดูดกินเลือดฉันใด พระโยคาวจรมีจิตเกาะในอารมณ์ใด ควรเกาะอารมณ์นั้นให้แน่น ด้วยสี สัณฐาน ทิศ โอกาส กำหนด เพศ นิมิต แล้วดื่มวิมุตติรสอันบริสุทธิ์ด้วยอารมณ์นั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งปลิง
   
   ข้อนี้สมกับคำของ พระอนุรุทธเถระ ว่า   
   " พระภิกษุควรมีจิตบริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในอารมณ์แล้ว ควรดื่มวิมุตติรสอันบริสุทธิ์ด้วยจิตนั้น " ดังนี้ขอถวายพระพร"

ฐิตา:


   องค์ ๓ แห่งงู   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๓ แห่งงูได้แก่อะไร ? "
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา งู ย่อมไปด้วยอกฉันใด พระโยคาวจรก็ควรไปด้วยปัญญาฉันนั้น เพราะจิตของพระโยคาวจรผู้ไปด้วยปัญญา ย่อมเที่ยวไปในธรรมที่ควรรู้ ย่อมละเว้นสิ่งที่ไม่ควรกำหนดจดจำ อบรมไว้แต่สิ่งที่ควรกำหนดจดจำฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งงู   
   ธรรมดางูเมื่อเที่ยวไป ย่อมหลีกเว้นยาแก้พิษของตนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรหลีกเว้นทุจริตฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งงู
   
   ธรรมดางูเห็นมนุษย์แล้ว ย่อมทุกข์โศกฉันใด พระโยคาวจรเมื่อนึกถึงวิตกที่ไม่ดีแล้วก็ควรทุกข์โศกเสียใจว่า วันของเราได้ล่วงไปด้วยความประมาทเสียแล้ว วันที่ล่วงไปแล้วนั้นเราไม่อาจได้คืนมาอีก อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งงู
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน กินนรชาดก ว่า   
   " ดูก่อนนายพราน เราพลัดกันเพียงคืนเดียว ก็นึกเสียใจไม่รู้จักหาย นึกเสียใจว่าคืนที่เราพลัดกันนั้น เราไม่ได้คืนมาอีก" ดังนี้ ขอถวายพระพร "


   องค์ที่ ๑ แห่งงูเหลือม    
   " ขอถวายพระพร องค์ ๑ แห่งงูเหลือมได้แก่อะไร ? "
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา งูเหลือม ย่อมมีร่างกายใหญ่ มีท้องพร่องอยู่หลายวัน ไม่ได้อาหารพอเต็มท้อง ได้พอยังร่างกายให้เป็นไปได้เท่านั้นฉันใด พระโยคาวจรผู้เที่ยวไปบิณฑบาต ก็มุ่งอาหารที่ผู้อื่นให้ งดเว้นจากการถือเอาด้วยตนเอง ได้อาหารพอเต็มท้องได้ยาก แต่ผู้อยู่ในอำนาจเหตุผล ถึงได้ฉันอาหารยังไม่อิ่ม ต้องมีอีก ๔ หรือ ๕ คำจึงจักอิ่มก็ควรเติมน้ำลงไปให้เต็ม อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งงูเหลือม
   
   ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า   
   " ภิกษุผู้ฉันอาหาร ทั้งสดและแห้ง ก็ไม่ควรฉันให้อิ่มนัก ควรให้มีท้องพร่อง รู้จักประมาณในอาหาร ควรมีสติละเว้น ไม่ควรฉันอาหารให้อิ่มเกินไป เมื่อรู้ว่ายังอีก ๔ - ๕ คำก็จักอิ่ม ก็ควรหยุดดื่มน้ำเสีย เพราะเท่านี้ก็พออยู่สบาย สำหรับภิกษุผู้กระทำความเพียร" ดังนี้ ขอถวายพระพร "
   
   จบสีหวรรคที่ ๕

ฐิตา:


   อุปมากถาปัญหา   
   มักกฏ วรรคที่ ๖
   
   องค์ ๑ แห่งแมงมุม   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งแมงมุมได้แก่อะไร ?"
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา แมงมุม ชักใยขวางทางไว้แล้วก็จ้องดูอยู่ ถ้าหนอนหรือแมลงมาติดในใยของตน ก็จับกินเสียฉันใด พระโยคาวจรก็ควรชัดใย คือสติปัฏฐาน ขึงไว้ที่ทวารทั้ง ๖ ถ้ามีแมลง คือกิเลสมาติด ก็ควรฆ่าเสียฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งแมงมุม
   
   ข้อนี้สมกับคำของ พระอนุรุทธเถระ ว่า   
   " เพดานที่กั้นทวารทั้ง ๖ อยู่ คือสติปัฏฐานอันประเสริฐ เวลากิเลสมาติดที่เพดาน คือสติปัฏฐานนั้น พระภิกษุก็ควรฆ่าเสีย" ดังนี้ ขอถวายพระพร "


   องค์ ๑ แห่งทารก   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งทารกที่ยังกินนมอยู่ได้แก่อะไร? "
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา ทารกที่ยังกินนมอยู่ ย่อมขวนขวายในประโยชน์ของตนเวลาอยากกินนมก็ร้องไห้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรขวนขวายในประโยชน์ของตนฉันนั้นคือควรขวนขวายในธรรมอันชอบใจตน ควรขวนขวายในการเล่าเรียนไต่ถาม การประกอบความสงัด การอยู่ในสำนักครู การคบกัลยาณมิตร อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งทารก
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน ทีฆนิกายปรินิพพานสูตร ว่า   
   " ดูก่อนอานนท์ พวกเธอจงประกอบในประโยชน์ของตน อย่าได้ประมาทในประโยชน์ของตน" ดังนี้ ขอถวายพระพร "


   องค์ ๑ แห่งเต่าเหลือง    
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๑ แห่งเต่าเหลืองได้แก่อะไร? "
   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา เต่าเหลือง ย่อมเว้นน้ำเพราะกลัวน้ำ เมื่อเว้นน้ำก็มีอายุยืนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเห็นภัยในความประมาท เห็นคุณวิเศษในความไม่ประมาทจึงจักไม่เสื่อมจากคุณวิเศษ จักได้เข้าใกล้นิพพาน อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งเต่าเหลือง
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน พระธรรมบท ว่า   
   " ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท ผู้เห็นภัยในความประมาท ย่อมไม่เสื่อม ย่อมได้อยู่ใกล้นิพพาน " ดังนี้ ขอถวายพระพร"

ฐิตา:


   องค์ ๕ แห่งป่า
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน องค์ ๕ แห่งป่าได้แก่สิ่งใด ?"   
   " ขอถวายพระพร ธรรมดา ป่า ย่อมปิดบังคนที่ไม่สะอาดไว้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรปิดบังความผิดพลั้งของผู้อื่นไว้ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งป่า
   
   ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่ว่างเปล่า ไม่มีคนไปมาฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้ว่างเปล่าจากกิเลสทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งป่า   
   ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่เงียบสงัดฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเงียบสงัดจากสิ่งที่เป็นบาปอกุศลฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งป่า
   
   ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่บริสุทธิ์ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้บริสุทธิ์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งป่า   
   ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่อาศัยอยู่ของพระอริยชนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรคบอริยชนฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งป่า
   
   ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย ว่า   
   " บุคคลควรอยู่ร่วมกับอริยะผู้สงัด ผู้มีใจตั้งมั่น ผู้รู้แจ้ง ผู้มีความเพียรแรงกล้าเป็นนิจ " ดังนี้ ขอถวายพระพร "

ต่อที่ หน้า ๒๘ #๔๐๕ องค์ที่ ๓ แห่งต้นไม้
-http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=205.405

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version