แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์
มิลินทปัญหา
ฐิตา:
พระนาคเสน กล่าวแก้ด้วยราชรถ
เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสอย่างนี้แล้ว พระนาคเสนองค์อรหันต์ ผู้สำเร็จปฏิสัมภิทาญาณ ผู้ได้อบรมเมตตามาแล้ว จึงนิ่งพิจารณาซึ่งวาระจิตของพระเจ้ามิลินท์อยู่สักครู่หนึ่งแล้วจึงกล่าวขึ้นว่า
" มหาบพิตรเป็นผู้มีความสุขมาแต่กำเนิดมหาบพิตรได้เสด็จออกจากพระนครในเวลาร้อนเที่ยงวันอย่างนี้ มาหาอาตมภาพได้เสด็จมาด้วยพระบาท ก้อนกรวดเห็นจะถูกพระบาทให้ทรงเจ็บปวด พระกายของพระองค์เห็นจะทรงลำบากพระหฤทัยของพระองค์เห็นจะเร่าร้อน ความรู้สึกทางพระวรกายของพระองค์ เห็นจะประกอบกับทุกข์เป็นแน่ เพราะเหตุไรอาตมภาพจึงว่าอย่างนี้ เพราะเหตุว่า มหาบพิตรมีพระหฤทัยดุร้าย ได้ตรัสพระวาจาดุร้าย มหาบพิตรคงได้เสวยทุกขเวทนาแรงกล้า อาตมาจึงขอถามว่า มหาบพิตรเสด็จมาด้วยพระบาท หรือด้วยราชพาหนะอย่างไร ? "
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสตอบว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้มาด้วยเท้า โยมมาด้วยรถต่างหาก "
พระนาคเสนเถระจึงกล่าวประกาศขึ้นว่า
" ขอพวกโยนกทั้ง ๕๐๐ กับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์นี้ จงฟังถ้อยคำของข้าพเจ้า คือพระเจ้ามิลินท์นี้ได้ตรัสบอกว่า เสด็จมาด้วยรถ ข้าพเจ้าจะขอถามพระเจ้ามิลินท์ต่อไป "
กล่าวดังนี้แล้ว จึงถามว่า
" มหาบพิตรตรัสว่า เสด็จมาด้วยรถจริงหรือ ? "
พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า
" เออ…ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมว่ามาด้วยรถจริง "
พระเถระจึงซักถามต่อไปว่า
" ถ้ามหาบพิตรเสด็จมาด้วยรถจริงแล้ว ขอจงตรัสบอกอาตมภาพเถิดว่า งอนรถหรือ…เป็นรถ ? "
" ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า "
" ถ้าอย่างนั้น เพลารถหรือ…เป็นรถ ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในเพลาหรือ ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น ล้อรถหรือ…เป็นรถ ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในล้อรถหรือ ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น ไม้ค้ำรถหรือ…เป็นรถ ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น กงรถหรือ…เป็นรถ ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น เชือกหรือ…เป็นรถ ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในเชือกหรือ ? "
" ไม่ใช่ "
" ถ้าอย่างนั้น คันปฏักหรือ…เป็นรถ ? "
" ไม่ใช่ "
"ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในคันปฏักหรือ ? "
" ไม่ใช่ "
"ถ้าอย่างนั้น แอกรถหรือ…เป็นรถ ? "
" ไม่ใช่ "
"ถ้าอย่างนั้น รถมีอยู่ในแอกหรือ ? "
" ไม่ใช่ "
" ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่เล็งเห็นว่า สิ่งใดเป็นรถเลย เป็นอันว่ารถไม่มี เป็นอันว่ามหาบพิตรตรัสเหลาะแหละเหลวไหล มหาบพิตรเป็นพระราชาผู้เลิศในชมพูทวีปนี้ เหตุไรมหาบพิตรจึงตรัสเหลาะแหละเหลวไหลอย่างนี้? "
เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกโยนกข้าราชบริพารทั้ง ๕๐๐ นั้น
ก็พากันเปล่งเสียงสาธุการขึ้นแก่พระนาคเสนเถระแล้วกราบทูลพระเจ้ามิลินท์ขึ้นว่า
" ขอมหาราชเจ้าจงทรงแก้ไขไปเถิดพระเจ้าข้า " พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสขึ้นว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน โยมไม่ได้พูดเหลาะแหละเหลวไหล
การที่เรียกว่ารถนี้เพราะอาศัยเครื่องประกอบรถทั้งปวง คือ งอนรถ เพลารถ ล้อรถ
ไม้ค้ำรถ กงรถ เชือกขับรถ เหล็กปฏัก ตลอดถึงแอกรถ มีอยู่พร้อม จึงเรียกว่ารถได้ "
พระเถระจึงกล่าวว่า
" ถูกแล้ว มหาบพิตร ข้อที่อาตมภาพได้ชื่อว่า " นาคเสน
" ก็เพราะอาศัยเครื่องประกอบด้วยอวัยวะทุกอย่าง คือ อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน
หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น อันจำแนกแจกออกไปเป็นขันธ์ ธาตุอายตนะทั้งปวง
ข้อนี้ถูกตามถ้อยคำของ นางปฏาจาราภิกษุณี ผู้เป็นพระอรหันต์
กล่าวขึ้นในที่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
" อันที่เรียกว่ารถ เพราะประกอบด้วยเครื่องรถทั้งปวงฉันใด
เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ก็สมมุติเรียกกันว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขาฉันนั้น "
ดังนี้ ขอถวายพระพร "
พระเจ้ามิลินท์ทรงฟังแก้ปัญหาจบลงน้ำพระทัยของพระบาทท้าวเธอปรีดาปราโมทย์ออกพระโอษฐ์ตรัสซ้องสาธุการว่า
" สาธุ..พระผู้เป็นเจ้าช่างแก้ปัญหาได้อย่างน่าอัศจรรย์
กล่าวปัญหาเปรียบเทียบอุปมาด้วยปฏิภาณอันวิจิตรยิ่ง
ให้คนทั้งหลายคิดเห็นกระจ่างแจ้งถูกต้องดีแท้ ถ้าพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่
ก็จะต้องทรงสาธุการเป็นแน่
ฐิตา:
ปัญหาที่ ๒ ถามพรรษา
ครั้งนั้นพระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามอรรถปัญหาสืบไปว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้ามีพรรษาเท่าไร ? "
พระนาคเสนตอบว่า
" อาตมภาพมีพรรษาได้ ๗ พรรษาแล้ว "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คำว่า " ๗ พรรษา " นั้น นับตัวพระผู้เป็นเจ้าด้วยหรือ…หรือว่านับแต่ปีเท่านั้น?"
อุปมาเงาในแก้วน้ำ
ก็ในคราวนั้น เงาของพระเจ้ามิลินท์ผู้ทรงประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวงนั้น ได้ปรากฏลงไป
ที่พระเต้าแก้วอันเต็มไปด้วยน้ำ พระนาคเสนได้เห็นแล้ว จึงถามขึ้นว่า
" มหาบพิตรเป็นพระราชา หรือว่าเงาที่ปรากฏอยู่ในพระเต้าแก้วนี้เป็นพระราชา ? "
" ข้าแต่พระนาคเสน เงาไม่ใช่พระราชา โยมต่างหากเป็นพระราชา แต่เงาก็มีอยู่เพราะอาศัยโยม "
" เงาที่มีขึ้นเพราะอาศัยพระองค์ฉันใดการนับพรรษาว่า ๗ เพราะอาศัยอาตมาก็มีขึ้นฉันนั้น
ขอถวายพระพร "
" น่าอัศจรรย์ พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าได้แก้ปัญหาปฏิภาณอันวิจิตรยิ่งถูกต้องดีแล้ว "
ฐิตา:
ปัญหาที่ ๓ ลองปัญญา
พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามขึ้นอีกว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน บรรพชามีประโยชน์ อย่างไร อะไรคือจุดมุ่งหมายสูงสุดในการบรรพชาของพระผู้เป็นเจ้า ? "
พระเถระตอบว่า
"บรรพชาของอาตมภาพนั้น เป็นประโยชน์เพื่อการดับทุกข์ให้สิ้นไป แล้วมิให้ทุกข์อื่นบังเกิดขึ้นได้ อีกประการหนึ่ง
บรรพชาย่อมให้สำเร็จประโยชน์แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย "
สนทนาอย่างบัณฑิตหรืออย่างโจร
พระเจ้ากรุงสาคลนครได้ทรงฟังพระนาคเสนเฉลยปัญหาได้กระจ่างแจ้ง ก็มิได้มีทางที่จะซักไซร้ จึงหันเหถามปัญหาอื่นอีกว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าจะสนทนากับโยมต่อไปได้หรือไม่ "
พระนาคเสนตอบว่า
" ถ้ามหาบพิตรจะสนทนาตามเยี่ยงอย่างบัณฑิต อาตมภาพก็จะสนทนากับมหาบพิตรได้ ถ้ามหาบพิตรจะสนทนาตามเยี่ยงอย่างของพระราชา อาตมาก็จะสนทนาด้วยไม่ได้ "
" บัณฑิตทั้งหลายสนทนากันอย่างไร ? "
" อ๋อ…ธรรมดาว่าบัณฑิตที่สนทนากันย่อมเจรจาข่มขี่กันได้ แก้ตัวได้ รับได้ ปฏิเสธได้ ผูกได้ แก้ได้ บัณฑิตทั้งหลายไม่โกรธบัณฑิตทั้งหลายสนทนากันอย่างนี้แหละมหาบพิตร "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระราชาทั้งหลายสนทนากันอย่างไร ? "
" ขอถวายพระพร พระราชาทั้งหลายทรงรับสั่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปแล้ว ผู้ใดไม่ทำตาม ก็ทรงรับสั่งให้ลงโทษผู้นั้นทันที พระราชาทั้งหลายสนทนากันอย่างนี้แหละ มหาบพิตร "
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมจะสนทนาตามเยี่ยงอย่างบัณฑิต จักไม่สนทนาตามเยี่ยงอย่างของพระราชา ขอพระเป็นเจ้า จงเบาใจเถิด พระผู้เป็นเจ้าสนทนากับภิกษุณี หรือสามเณร อุบาสก คนรักษาอารามฉันใด ของจงสนทนากับโยมฉันนั้น อย่ากลัวเลย "
" ดีแล้ว มหาบพิตร "
พระเถระแสดงความยินดีอย่างนี้แล้วพระราชาจึงตรัสต่อไปว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน โยมจักถามพระผู้เป็นเจ้า "
" เชิญถามเถิด มหาบพิตร "
" โยมถามแล้ว พระผู้เป็นเจ้า "
" อาตมภาพแก้แล้ว มหาบพิตร "
" พระผู้เป็นเจ้าแก้ว่าอย่างไร ? "
" ก็มหบพิตรตรัสถามว่าอย่างไร ? "
( พระเจ้ามิลินท์ไต่ถามปัญหาเช่นนี้ หวังจะลองปัญญาพระนาคเสนว่า จะเขลาหรือฉลาด
ยั่งยืนอยู่ไม่ครั่นคร้ามหรือประการใดเท่านั้น )
ในวันแรกนี้ พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามปัญหา ๓ ข้อ คือ ถามชื่อ ๑ ถามพรรษา ๑
ถามเพื่อทดลองสติปัญญาของพระเถระ ๑
ฐิตา:
นิมนต์พระนาคเสนไปในวัง
ลำดับนั้น พระเจ้ามิลินท์ทรงดำริว่าพระภิกษุองค์นี้เป็นบัณฑิต สามารถสนทนากับเราได้ สิ่งที่เราควรถามมีอยู่มาก สิ่งที่เรายังไม่ได้ถามก็มีอยู่เป็นอันมาก แต่เวลานี้ดวงสุริยะกำลังจะสิ้นแสงแล้ว พรุ่งนี้เถิดเราจึงจะสนทนากันในวัง ครั้งทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งเทวมันติยอำมาตย์ว่า
" นี่แน่ะ เทวมันติยะ จะอาราธนาพระผู้เป็นเจ้าว่า พรุ่งนี้จักมีการสนทนากันในวัง "
ตรัสสั่งดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับขึ้นทรงม้าพระที่นั่ง แล้วทรงพึมพำไปว่า " นาคเสน… นาคเสน…" ดังนี้
ฝ่ายเทวมันติยอำมาตย์ก็อาราธนาพระนาคเสนว่า
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระราชาตรัสสั่งว่า พรุ่งนี้จักมีการสนทนาในพระราชาวัง "
พระเถระก็แสดงความยินดีตอบว่า
" ดีแล้ว "
พอล่วงราตรีวันนั้น เนมิตติยอำมาตย์ อันตกายอำมาตย์ มังกุรอำมาตย์ สัพพทินนอำมาตย์
ก็พร้อมกันเข้าทูลถามพระเจ้ามิลินท์ว่า
" ข้าแต่มหาราชเจ้า จะโปรดให้พระนาคเสนเข้ามาได้หรือยัง พระเจ้าข้า ? "
พระราชาตรัสตอบว่า
" ให้เข้ามาได้แล้ว "
" จะโปรดให้เข้ามากับพระภิกษุสักเท่าไรพระเจ้าข้า ? "
" ต้องการมากับภิกษุเท่าใด ก็จงมากับภิกษุเท่านั้น "
สัพพทินนอำมาตย์ได้กราบทูลขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ ว่า
" ข้าแต่มหาราชเจ้า จะโปรดให้พระนาคเสนมากับพระภิกษุสัก ๑๐ รูป จะได้หรือไม่ ? "
พระองค์ตรัสตอบว่า
" พระนาคเสนต้องการจะมากับพระภิกษุเท่าใด ก็จงมากับพระภิกษุเท่านั้นเถิด "
จึงทูลถามขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๓ ว่า
" จะโปรดให้พระนาคเสนมากับพระภิกษุสัก ๑๐ รูป ได้หรือไม่ ? "
พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสว่า
" เราพูดอย่างไม่ให้สงสัยแล้วว่า พระนาคเสนต้องการจะมากับพระภิกษุเท่าใดจงมากับพระภิกษุเท่านั้น เราได้สั่งเป็นคำขาดลงไปแล้ว เราไม่มีอาหารพอจะถวายพระภิกษุทั้งหลายหรือ ? "
เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว สัพพทินนอำมาตย์ก็เก้อ ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้ง ๔ จึงพากันออกไปหาพระนาคเสน กราบเรียนให้ทราบว่า
" ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้ามิลินท์ตรัสสั่งว่า
พระผู้เป็นเจ้าต้องการจะเข้าไปในพระราชวังกับพระภิกษุเท่าใด ก็ขอให้เข้าไปได้เท่านั้นไม่มีกำหนด "
ฐิตา:
ปัญหาที่ ๔ ปัญหาของอันตกายอำมาตย์
เช้าวันหนึ่ง พระนาคเสนก็นุ่งสบงทรงจีวรมือสะพายบาตร แล้วเข้าไปสู่สาครนครกับพระภิกษุ ๘ หมื่นองค์ เวลาเดินมาตามทางนั้น อันตกายอำมาตย์ถามขึ้นว่า
" ข้าแต่พระนาคเสน ท่านได้บอกไว้ว่าเราชื่อ " นาคเสน " ดังนี้ แต่กล่าวว่าไม่มีสิ่งใดเป็นนาคเสน ข้อนี้ข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่ ? "
พระเถระจึงถามว่า
" เธอเข้าใจว่า มีอะไรเป็นนาคเสน อยู่ในคำว่า " นาคเสน " อย่างนั้นหรือ ? "
" ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ลมหายใจอันเข้าไปและออกมา นี้แหละ..เป็นนาคเสน "
" ถ้าลมนั้นออกไปแล้วไม่กลับเข้ามา ผู้นั้นจะเป็นอยู่ได้หรือ ? "
" เป็นอยู่ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า "
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version