แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มิลินทปัญหา

<< < (17/78) > >>

ฐิตา:
ปัญหาที่ ๑๓ ถามลักษณะวิตก 
     
   " ข้าแต่พระนาคเสน วิตก มีลักษณะอย่างไร "
   
   " ขอถวายพระพร วิตก มีการ ประกบแน่น เป็นลักษณะ"
   
   " ขอนิมนต์อุปมาด้วย "
   
   " ขอถวายพระพร ช่างไม่ย่อมเข้าไม้ในที่ต่อ แล้วโบกด้วยปูนหรือทาด้วยสีให้สนิทฉันใด วิตก ก็มีการประกบแน่น มีการแนบแน่นเป็นลักษณะฉันนั้น"
   
   " ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "

ฐิตา:
ปัญหาที่ ๑๔ ถามลักษณะวิจาร
     
   " ข้าแต่พระนาคเสน วิจาร มีลักษณะอย่างไร"
   
   " ขอถวายพระพร วิจาร มีการ ลูบคลำไปตามวิตก เป็นลักษณะ"
   
   " ขอนิมนต์อุปมาด้วย "
   
   " ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่ากังสดาลอันบุคคลเคาะด้วยสันดาบ ก็มีเสียงดังเป็นกังวานต่อ ๆ กันไปฉันใด วิตก ก็เหมือนกับการเคาะฉันนั้น ส่วน วิจาร เหมือนกับเสียวดังครวญครางไป "
   
   " สมควรแล้ว พระนาคเสน "
   
   จบวรรคที่ ๓

ฐิตา:
มิลินทปัญหา วรรคที่ ๔     

ปัญหาที่ ๑ ถามลักษณะมนสิการ

   
   พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน มนสิการ มีลักษณะอย่างไร ? "
   
   พระเถระตอบว่า
   
   " ขอถวายพระพร มนสิการ มีการ นึก เป็นลักษณะ "
   
   " ถูกแล้ว พระนาคเสน

ฐิตา:
ปัญหาที่ ๒ ถามลักษณะสิ่งที่มีภาวะอย่างเดียวกัน
   
   พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า
   
   " ข้าแต่พระนาคเสน พระผู้เป็นเจ้าอาจแยกธรรมที่รวมเป็นอันเดียวกันเหล่านี้ ให้รู้ว่าต่างกันว่า อันนี้เป็น ผัสสะ อันนี้เป็น เวทนา อันนี้เป็น สัญญา อันนี้เป็น เจตนา อันนี้เป็น วิตก อันนี้เป็น วิจาร ได้หรือไม่?"
   
   " ไม่อาจ ขอถวายพระพร "
   
   " ขอนิมนต์อุปมาด้วย "
   
   " ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนพ่อครัวของพระราชา เมื่อจะตกแต่งเครื่องเสวยก็ใส่เครื่องปรุงต่างๆ คือ นมส้ม เกลือ ขิง ผักชี พริก และสิ่งอื่น ๆ ลงไป ถ้าพระราชาตรัสสั่งว่า
   
   " เจ้าจงแยกเอารสนมส้มมาให้เรา จงแยกเอารสเกลือ รสขิง รสหวา รสเปรี้ยว มาให้เราทีละอย่าง ๆ "
   
   พ่อครัวนั้นอาจแยกเอารสที่รวมกันอยู่เหล่านั้นมาถวายพระราชาว่า นี้เป็นรสเปรี้ยว นี้เป็นรสเค็ม นี้เป็นรสขม นี้เป็นรสเผ็ด นี้เป็นรสฝาด ได้หรือไม่ ? "
   
   " ไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้า ก็แต่ว่าเขาอาจรู้ได้ตามลักษณะของรสแต่ละรส"
   
   " ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร เมื่อ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ วิตก วิจาร รวมกันเข้าแล้ว อาตมภาพก็ไม่อาจแยกออกให้รู้ได้แต่ละอย่าง ก็แต่ว่าอาจให้เข้าใจได้ตามลักษณะแห่งธรรมเป็นอย่าง ๆ "
   
   " ขอถวายพระพร เกลือ เป็นของจะต้องรู้ด้วย ตา ใช่ไหม? "
   
   " ใช่ พระผู้เป็นเจ้า "
   
   " ขอมหาบพิตรจงจำคำนี้ไว้ให้ดีนะ "
   
   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น เกลือ เป็นของรู้ด้วย ลิ้น อย่างนั้นหรือ ? "
   
   " อย่างนั้น มหาบพิตร "
   
   " ถ้าบุคคลรู้จักเกลือทั้งหมดด้วยลิ้นเหตุไฉนจึงบรรทุกเกลือมาด้วยเกวียน ควรบรรทุกมาเฉพาะความเค็มเท่านั้นไม่ใช่หรือ ? "
   
   " ไม่อาจบรรทุกมาแต่ความเค็มเท่านั้นได้ เพราะว่าของเหล่านี้เป็นของรวมกัน ส่วนความเค็มบุคคลอาจชั่งได้ด้วยตาชั่งหรือไม่มหาบพิตร? "
   
   " อาจชั่งได้ พระผู้เป็นเจ้า "
   
   " มหาบพิตร จงจำคำนี้ไว้ให้ดีว่า บุคคลอาจชั่งความเค็มได้ด้วยตาชั่ง"
   
   " ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าว่าบุคคลไม่อาจชั่งความเค็มได้ด้วยตาชั่งอย่างนั้นหรือ? "
   
   " อย่างนั้น มหาบพิตร "
   
   " ถูกต้องดีแล้ว พระนาคเสน "

ฐิตา:
ปัญหาที่ ๓ ถามการเกิดแห่งอายตนะ ๕     

   " ข้าแต่พระนาคเสน อายตนะ ๕ ( ตา หู จมูก ลิ้น กาย ) เกิดด้วยกรรมต่าง ๆ กันหรือเกิดด้วยกรรมอย่างเดียวกัน ? "
   
   " ขอถวายพระพร อายตนะ ๕ นั้น เกิดด้วยกรรมต่าง ๆ กัน ที่เกิดด้วยกรรมอันเดียวกันไม่มี "
   
   " ขอนิมนต์อุปมาด้วย "
   
   " ขอถวายพระพร พืชต่าง ๆ ๕ ชนิดที่บุคคลหว่านลงไปในนาแห่งเดียวกัน ผลแห่งพืช ๕ ชนิดนั้น ก็เกิดต่าง ๆ กันฉันใด อายตนะ ๕ เหล่านี้ ก็เกิดด้วยกรรมต่างกันฉันนั้น ที่เกิดด้วยกรรมอย่างเดียวกันไม่มี "
   
   " พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก้ถูกต้องดีแล้ว "

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version