ภาพยนตร์บันเทิง : Children of Heaven เด็กน้อยจากสรวงสวรรค์
นส.วิชชุตา วัจนะรัตน์
Children of Heaven : เด็กน้อยจากสรวงสวรรค์
Children of Heaven ภาพยนตร์อิหร่านที่สร้างความประทับใจแก่คนดูทุกเพศทุกวัย ผลงานการกำกับของ Majid Majidi ในปี 1997 หนังเล่าประเด็นความรักระหว่างพี่กับน้องได้อย่างถึงแก่น โดยไม่ต้องอาศัยบทสนทนาที่บีบคนดูให้น้ำตาร่วง ผ่านตัวเอกคือเด็กชายวัยประถมเจ้าของนัยน์ตาแสนเศร้าที่ชื่อ “อาลี” ผู้อาศัยอยู่กับครอบครัวที่แสนจะรันทด ผู้เป็นพ่อทำอาชีพรับจ้าง แม่ซึ่งท้องแก่ยังคงต้องทำงานอย่างหนัก น้องสาวคนกลาง(ซาร่าห์)ขยันทำงานบ้านช่วยพ่อแม่อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย และน้องสาวคนเล็กซึ่งยังทำได้เพียงนอนร้องอุแว้ อุแว้
เนื้อเรื่อง
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่ง อาลีผู้พี่นำรองเท้าสีชมพูของน้องสาวที่พังแล้วไปซ่อม ระหว่างทางกลับบ้านเขาแวะที่ร้านขายผัก และวางถุงใส่รองเท้าไว้ ชายเก็บขยะที่ผ่านมาก็เก็บไปแล้ว อาลีกลับมาไม่เห็น เพียรพยายามหาเท่าไหร่ก็ไม่มีทางเจอ เขากลับบ้านไปด้วยความสิ้นหวัง ในเมื่อน้องสาวไม่มีรองเท้าใส่ไปเรียน อาลีตกลงกับน้องสาวว่า ให้เธอยืมรองเท้าผ้าใบคู่เก่าของเขาไปใส่ในตอนเช้า พอเลิกเรียนปุ๊บ ให้วิ่งมาเปลี่ยนรองเท้ากับเขาเพื่อไปเรียนในตอนบ่าย โดยห้ามให้พ่อรู้เป็นเด็ดขาด
วันหนึ่งทางโรงเรียนประกาศรับสมัครตัวแทนไปแข่งวิ่งมาราธอน เขาได้ไปคัดเลือกและได้เป็นตัวแทนโรงเรียน เพียงเพื่อหวังรางวัลที่ 3 นั่นก็คือ รองเท้าผ้าใบคู่ใหม่เอี่ยม ความพยายามเพื่อน้องสาวที่รักและทักษะการวิ่งที่เขาฝึกฝนอย่างไม่รู้ตัวในระหว่างการสลับเปลี่ยนรองเท้าทุกๆวัน ผลที่ได้เกิดคาดที่อาลีคิด เขาชนะแข่งวิ่งเป็นที่ 1 แน่นอน เขาผิดหวัง น้ำตานองหน้าด้วยความเสียใจ ทั้งๆที่ถือถ้วยรางวัลอยู่ในมือ เขาไม่ต้องการรางวัลที่ 1 ซึ่งคือ ชุดกีฬา การสรรเสริญจากผู้คนรอบข้าง ความต้องการอันแสนบริสุทธิ์จากใจของเด็กชายตัวเล็กๆก็เพียงรองเท้าคู่ใหม่คู่เดียวเท่านั้น
หากจะวิเคราะห์ในส่วนของตัวบท(context)แล้ว เนื้อเรื่องสามารถตอบโจทย์ที่เป็นประเด็นหลักของเรื่องได้ชัดเจนมาก นั่นคือ “ความรักของพี่กับน้อง” โดยตัวละครเอกมีอุปสรรคบางอย่างซึ่งในตอนท้ายเป็นการพยายามจะarchieve goal นั้นให้สำเร็จ ผ่านการกดดันอารมณ์ของเรื่องให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่มีรองเท้าต้องใช้รองเท้าผ้าใบเก่าๆสลับเปลี่ยนกับพี่ทุกวัน” เรื่องดำเนินจากเหตุการณ์กระทบที่เบาๆแล้วค่อยหนักหน่วง กล่าวคือ ในวันแรกที่ไปเรียน น้องสาวเกิดความไม่มั่นใจเวลาที่เห็นเพื่อนใส่รองเท้าสวยและใหม่กว่า ต่อมาในคาบวิชาพละ คุณครูก็ย้ำนักย้ำหนาว่า หากใส่รองเท้าหลวมแล้ว เวลากระโดดไกลก็จะหกล้มได้ง่ายๆแบบเพื่อนคนก่อนหน้านี้ วันต่อมาคราวที่น้องต้องทำข้อสอบ เธอกระวนกระวายรีบออกจากห้องสอบก่อนเพราะกลัวจะไปสลับรองเท้ากับพี่ไม่ทัน ส่วนพี่เองก็ได้รับผลกระทบเองเช่นกัน อาลีมาสายสองครั้งจนครูใหญ่ตำหนิเขา แต่เขาเองก็ไม่ปริปากเรื่องรองเท้านั้นกับใคร เขายอมรับความผิดเองแต่โดยดี จนสุดท้าย น้องเผอิญทำรองเท้าตกท่อ รองเท้าเปียกและสกปรกมาก จนเธอบอกว่า “ไม่อยากใส่รองเท้าแบบนี้อีกแล้ว”
ลักษณะของการเน้นย้ำ (recognition) ในเรื่องช่วยให้คนดูเกิดการระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วและนำมาสู่อารมณ์ร่วมในตอนท้าย ในฉากสำคัญคือ “อาลีวิ่งเพื่อน้อง” ขณะที่เขาวิ่งไป ภาพของน้องสาวขณะวิ่งเปลี่ยนรองเท้าผุดขึ้นมาในหัวร่วมกับเสียงของน้องที่บ่นว่าเธอหมดความอดทนกับรองเท้าเส็งเคร็งแบบนี้แล้ว นั่นทำให้เขาฮึดสู้ แม้จะถูกผลักล้มลง อาลีลุกขึ้น และวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก
การนำเสนอ
ด้วยการนำเสนออย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ทำให้ผู้ชมไม่รู้สึกว่ากำลัง “ดูหนัง” อยู่ แต่กลับรู้สึกเหมือนได้รับรู้ “ชีวิตจริง” ของเด็กชายอาลี ความสมจริง(realism)ในภาพยนตร์เรื่องนี้ บางคนกล่าวว่าเทียบได้กับ The Bicycle Theif(1948)ของ Vittorio De Sica เลยทีเดียว การใช้กล้องส่วนมากเป็น long take ซึ่งเป็นการไม่บีบให้คนดู “ต้อง” เห็นภาพใดภาพหนึ่ง แต่สามารถ “เลือก” จะชมสิ่งใดตามที่เป็นจริง บทสนทนาไม่เวิ่นเว้อและเปี่ยมไปด้วยความหมาย และที่ต้องชมมากที่สุดคือ ความสามารถของเด็กทั้งสองคน ที่ไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ แต่แสดงได้อย่างเป็นธรรมชาติ เด็กชายอาลี มีแววตาสีหน้าที่เศร้าสร้อย และเวลาเขาร้องไห้ดูเหมือนโลกทั้งโลกจะเศร้าไปกับเขาด้วย ส่วนตัวน้องสาวเองแสดงได้อย่างมีมิติ และมีเสน่ห์มาก
ในเรื่องสามารถสะท้อนสังคมอิหร่านในขณะนั้นออกมาได้เป็น 2 ประเด็นหลักๆคือ
(1)สภาพสังคมแห่งการเหลื่อมล้ำ
ถ่ายในกรุง เตหะหร่าน เมืองหลวงที่ศิวิไลซ์ ครบเครื่องด้วยสถาปัตยกรรมและการคมนาคมสุดไฮเทค แต่ในอีกมุมหนึ่งมันสะท้อนสภาพสังคมในยุคแห่งความเหลื่อมล้ำ ชาวบ้านนอกเมืองมีฐานะแร้นแค้น จะเห็นได้จากคนรถเข็นที่ร้องตะโกนว่า “มีเกลือมาแลกขนมปัง” ปรากฏเกือบทุกฉาก สิ่งที่พวกเขาพึ่งได้คือศาสนา จะเห็นได้จากฉากที่พ่อตัดสินใจจะเข้าเมืองเพื่อหางานทำ แม่ก็ถามเพื่อความแน่ใจ และพ่อบอกว่า “พระเจ้าจะช่วยเราเอง” ความกันดารผลักดันให้ชาวบ้านหางานทำในเมือง ตึกราสูงระฟ้า ป้ายโฆษณาสินค้าจากต่างประเทศ อิทธิพลแห่งทุนนิยมเปลี่ยนแปลงสังคมเมืองให้ก้าวไปอีกระดับ ทิ้งสังคมอื่นๆให้ไกลห่างจากความศิวิไลซ์ออกไปทุกที แต่ชาวบ้านก็พยายามจะวิ่งตามกระแสแห่งทุนนิยมนี้ให้ทัน จะเห็นได้จากตอนที่พ่ออาลีได้เงินก้อนใหญ่จากการทำสวน เขาวางแผนการใช้เงินไว้ว่า “จะไปซื้อโต๊ะเครื่องแป้ง ซื้อมอเตอร์ไซค์ หรือจะซื้อรองเท้าคู่ใหม่ให้น้องก็ย่อมได้... และถ้าหาเงินได้เยอะแบบนี้ก็จะกลับมาอีก” คาดเดาได้เลยว่าอนาคตลูกที่จะเกิดมาอาจจะอยู่ โดยเจอหน้าพ่อนับครั้งก็เป็นได้
สภาพบ้านเดี่ยวในเมืองอยู่กันแบบ “ตัวใครตัวมัน” รั้วเหล็กกั้นสูงท่วมหัว intercom ติดไว้หน้าบ้านทุกบ้านแทนการออกไปพบปะที่หน้าประตู เหล่านี้แสดงถึงการป้องกันภัยอย่างหนาแน่นจากโจรขโมย วิถีในเมืองอยู่กันแบบไม่ปลอดภัย เด็กน้อยต้องอยู่กับปู่สองคน เพราะพ่อแม่ไปทำงาน เมื่อเขาเห็นอาลีจึงไม่รีรอที่จะชวนมาเล่นด้วย ภาพของพ่ออาลี พรวนดิน ฉีดยาฆ่าแมลงอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตัดสลับกับภาพเด็กชายผิวขาวลูกผู้ดีที่กำลังนั่งเก้าอี้แกว่งไกวอย่างสนุกกับอาลี แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสภาพความเป็นมนุษย์ ช่างไม่ต่างกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันเลย
(2)ความน่ารันทดของครอบครัวหนึ่ง
นอกจากสภาพสังคมในมุมกว้างแล้ว เมื่อมองในบริบทที่แคบลง ครอบครัวอาลีก็เป็นตัวแทนของอีกหลายครอบครัวในชีวิตจริงที่สภาพไม่ต่างกัน อาลีรับจ้างในโรงงานทำแป้งทอด จัดรองเท้าหน้าห้องทำพิธี ส่วนพ่อก็รับจ้างทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ตอกน้ำตาล ทำสวน ค่าเช่าบ้านค้างจ่าย ทั้งๆที่สภาพการเงินไม่ค่อยดี แต่ก็ยังมีลูกอีกคนที่อยู่ในท้องนอนรอรับชะตากรรม
แม้จะยากจนแต่พวกเขากลับมีความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดกันมากกว่าคนเมือง ความมีน้ำใจส่งผ่านจากบ้านหนึ่งไปอีกบ้านหนึ่ง พ่อแม่อาลีคุยกันเรื่องเพื่อนบ้านที่มีเมียไม่สบาย และแบ่งปันซุปที่ทำเองไปให้อีกบ้าน ส่วนเพื่อนบ้านก็ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบและส่งเมล็ดลูกเกดมาเป็นสิ่งตอบแทน อีกฉากหนึ่งคือตอนที่น้องสาวทำรองเท้าตกท่อ ลุงใจดีคนหนึ่งรีบวิ่งออกมาช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ
แม้ Children of Heaven จะทิ้งท้ายแบบเป็นคำถามปลายเปิด สร้างอารมณ์หดหู่โดยไม่ขมวดอารมณ์ให้จบแบบ happy ending สรุปแล้วน้องสาวจะได้รองเท้าคู่ใหม่หรือไม่ ชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป รวมถึงฉากสุดท้ายที่เด็กชายถอดถุงเท้าแล้วเอาเท้าจุ่มลงในบ่อน้ำให้ปลาสีส้มตอดขา จะมีความหมายใดแอบแฝงหรือไม่ แต่เท่าที่รู้ ภาพยนตร์ฟอร์มเล็กเรื่องนี้ ได้กลายมาอยู่ในใจใครหลายๆคน โดยเฉพาะคนเมืองอย่างเราๆ เพราะมันได้ “หยิบ” บางสิ่งที่เราทิ้งไว้เบื้องหลัง สิ่งที่เราโหยหามาตลอด ทั้งๆที่แท้จริงแล้ว เราอยู่ใกล้กับมันเพียงแค่เอื้อมมือ “ความสุข” ที่ไม่ต้องแลกด้วยเงินอาจเป็นสิ่งเดียวที่คนในเมืองไม่อาจหาซื้อมาได้
http://semsikkha.org/sem/index.php?option=com_content&view=article&id=286:children-of-heaven-&catid=37:movies