คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
มีท่านผู้อ่านสงสัยและเขียนถามไปมากพอสมควรเกี่ยวกับคำว่า “ไม่ตัดสิน” ซึ่งนับเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำความเข้าใจกันค่อนข้างยากสักนิดหนึ่งอาจจะในแง่ของภาษาด้วย ผมอยากจะขอลองเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวผมเองก่อนหน้าที่จะได้รู้จัก “สุนทรียสนทนา” ซึ่งหมายถึงก่อนหน้าที่จะได้เข้าใจถึงเรื่องของ “การไม่ตัดสิน”
ผมเองก็เคยเป็นคนหนึ่งที่มีชีวิตเป็น “ไม้บรรทัด” และยึดถือคุณค่าของความถูกต้องแบบ “ตรงเป๊ะ” มากเกินไปไม่ยืดหยุ่นจนทำให้ชีวิตไม่มีความสุขเท่าที่ควร ก็ดูชื่อผมสิครับ “วิธาน” แปลว่า “การจัดหมวดหมู่ จัดระเบียบวินัยข้อบังคับ” คือเรื่องการยึดถือความถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่ดีแต่การยึดถือแบบ “ตรงเป๊ะเป็นไม้บรรทัด” โดยมุ่งการตัดสินคนนั้นเป็นเรื่องที่นำความลำบากมาให้ผมเองในการทำงาน
ในสมัยที่ทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุนนั้น แพทย์รุ่นพี่คนไหนไม่ดูคนไข้หรือดูคนไข้ไม่ดี (ในสายตาของผม) ผมก็ถือว่าแพทย์คนนั้นเลว ไม่ได้มาตรฐาน พยาบาลคนไหนทำงานไม่ดี ไม่ดูคนไข้ รายงานอาการของคนไข้ไม่ถูกต้อง ทำแผลคนไข้ไม่เรียบร้อย ผมก็จะตัดสินทันทีว่าพยาบาลคนนั้นทำงานไม่ได้เรื่อง แย่ ไม่ได้มาตรฐาน
พอไปเรียนต่อระหว่างที่เป็นแพทย์ประจำบ้าน ผมต้องไปทำงานตั้งแต่ 06.30 น. ทุกวัน แพทย์รุ่นน้องคนไหนมาทำงานสายกาว่าผมซึ่งเป็นแพทย์รุ่นพี่ 5 นาที แพทย์รุ่นน้องคนนั้นก็กลายเป็นแพทย์ที่เลว ขี้เกียจและไม่รับผิดชอบ
ชีวิตที่ “ตัดสินคน” แบบนี้ทำให้ผมพบว่าผมเจอ “คนที่ได้มาตรฐาน” ของผมน้อยลงไปทุกวันๆ ทำไปทำมาคนที่ทำงานรอบๆข้างของผมเลวไปหมด พยาบาลส่วนมากทำงานไม่ได้เรื่อง แพทย์ส่วนใหญ่ก็ทำงานห่วย สู้ผมไม่ได้สักคน และบางครั้งผมรู้สึกว่าเหลือผมเป็นคนดีอยู่คนเดียวจริงๆ
เรื่องการตัดสินยังไม่จบแค่นั้นเพราะเป็นเรื่องที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของผมทุกๆเรื่องอย่างแยกไม่ออกเลยทีเดียว
ร้านก๋วยเตี๋ยวแสนอร่อยร้านหนึ่งทำก๋วยเตี๋ยวให้กับลูกค้าแซงคิวผม ผมถือว่าไม่ได้มาตรฐาน บริหารห่วย มีอย่างที่ไหนไม่ดูเลยว่าใครมาก่อนมาหลัง ผมก็ไม่เหยียบร้านก๋วยเตี๋ยวร้านนั้นอีกเลย ร้านคอมพิวเตอร์ร้านหนึ่ง ส่งช่างไปซ่อมคอมพิวเตอร์ของผมไม่ทันใจ ผมก็ตัดสินทันทีว่าร้านนี้ทำงานไม่ดี ห่วย ผมก็เปลี่ยนร้านและไม่ซื้อของจากร้านนั้นอีกเลย ปั๊มน้ำมันปั๊มหนึ่ง เด็กปั๊มไม่ยอมให้น้ำดื่มแถมตามที่เขียนบอกไว้ ผมก็ว่าปั๊มนี้ห่วย ฯลฯ
ทำไปทำมา ผมเหลือร้านอาหารที่จะเข้าได้เพียงไม่กี่ร้าน เพราะร้านนั้นก็ไม่ดี ร้านนี้ก็ไม่ดี ทำไปทำมา ผมแทบจะไม่เหลือร้านคอมพิวเตอร์ให้เข้า ทำไปทำมา ผมแทบจะไม่เหลือปั๊มน้ำมันให้เติม เพราะมีแต่ปั๊มห่วยๆ ไม่ได้มาตรฐาน
ผมรู้สึกว่าสังคมแย่จัง มีแต่เรื่องไม่ได้มาตรฐาน ชุ่ย แฉะและเลวร้าย ผมไม่รุ้ตัวหรอกว่าสุขภาพของผมก็เลวร้ายตามไปด้วย ผมโกรธง่าย อารมณ์ฉุนเฉียวและเป็นแผลในกระเพาะอาหารที่รักษาไม่หายเสียที
สองเรื่องที่ช่วยให้ผมเข้าใจถึงโทษของ “การตัดสิน” และทำให้ผมได้เรียนรู้และก้าวไปสู่พื้นที่ของ “การไม่ตัดสิน” มากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งคือการพยายามฝึกตัวเองให้เข้าไปสู่ “สภาวะแห่งความเป็นปกติ ” ตามที่ได้เขียนถึงมาตลอดในคอลัมน์นี้แล้ว และสองก็คือ “สุนทรียสนทนา” นั่นเอง
“สภาวะแห่งความเป็นปกติ” นั้นเป็นเรื่องของปัจเจกแต่ละบุคคล มีวิธีการหลายวิธีมาที่จะช่วยนำทางให้เราเข้าสู่ “สภาวะ” แบบนี้ได้ เช่น การฝึกลมหายใจ โยคะ ชี่กง เทคนิคการใช้พลังงานของหัวใจ การนั่งสมาธิ กีฬาที่พ้นมิติการแข่งขันและเงินรางวัล ฯลฯ
“สุนทรียสนทนา” เป็นเรื่องของกลุ่มของชุมชนที่ช่วยเอื้อซึ่งกันและกัน องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดหนึ่งในสามเรื่องของ “สุนทรียสนทนา” ก็คือ “การไม่ตัดสิน” หรือ “การแขวนการตัดสิน” “การชะลอการตัดสิน” “การไม่ตัดสิน” ตรงนี้มาจากภาษาอังกฤษคำว่า “Nonjudgement” ไม่เกี่ยวข้องกับคำว่า “การตัดสินใจ” (Decision)
การตัดสินนั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และ “คุณสมบัติอย่างหนึ่ง” ที่สำคัญของความเป็นวิทยาศาสตร์เก่าอย่างชัดเจน เพราะวิทยาศาสตร์เก่านั้นต้องการจะบ่งบอกถึง “ความแน่นอน” “ความชัดเจน” “ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเท่านั้น” “ไม่ใช่ข้างฉันก็เป็นศัตรูกับฉัน”ความเป็นวิทยาศาสตร์แบบเก่ามีแนวโน้มที่จะผลักดันให้มนุษย์คิดแบบตายตัว เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนกับว่าชีวิตนี้มีเรื่องเพียงสองแบบให้คุณต้องเลือก “ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง” (Either) เท่านั้น แต่วิทยาศาสตร์ใหม่บอกว่า เราสามารถเลือกแบบใดแบบหนึ่งก็ได้ เลือกทั้งสองแบบก็ได้ หรือไม่เลือกทั้งสองแบบก็ได้ (Both, And) พอความคิดของเราสามารถพัฒนาไปพ้น “ทวิภาวะ” (Dualism) ได้ เราจะรู้สึกถึง “ความเบาสบาย” อย่างแปลกประหลาดเพราะการตัดสินนั้นทำให้เราไปไม่พ้น “ทวิภาวะ” เป็นขอบเขตที่มนุษย์ไปกำหนดเอาเอง
ผมพบว่าเมื่อผมลอง “ไม่ตัดสิน” ลอง “แขวนการตัดสิน” ไว้ ผมรู้สึกได้ว่าผมเข้าใจคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างไปจากผมได้ เหมือนกับว่าเรารู้เท่าทันความคิดที่ผุดขึ้นมาในศีรษะของเราอย่างทันท่วงทีก่อนที่ความคิดเหล่านั้นจะไป ทำให้เกิดปฏิกิริยาออกมาเป็นอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จากเดิมที่พอคนพูดอะไรไม่เข้าหูก็จะโกรธทันทีเลย กลายมาเป็นสามารถมองเห็นความดีในคนอื่นๆมากขึ้น มองเห็นได้ว่าคนมีทั้งดีทั้งเลวอยู่ในตัว ไม่มีใครดีทุกเรื่อง ไม่มีใครเลวทุกเรื่อง แต่แท้ที่จริงแล้ว การไม่ตัดสินทำให้ตัวเราเองนั่นแหละมีความสุขมากขึ้นต่างหาก
ที่เขียนเล่านี้ไม่ได้มีเจตนาจะยกตัวเองว่าดีว่าเก่งอะไรนะครับ ผมเพียงรู้สึกว่าอยากจะเล่าถึงเรื่องราวที่เปลี่ยนแปลงไปของผมมาประกอบบ้าง และตัวผมเองก็ยังจะต้องพัฒนาในเรื่องนี้ต่อไปอีกมากเพราะยังจะมีเรื่องหลายเรื่องที่ทำให้ผม “ติดกับดัก” การตัดสินได้อีกทีผมจะต้องเรียนรู้ต่อไปอีกเช่นกัน
ที่มา : น.พ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์. คอลัมน์จับจิตด้วยใจ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547. ปีที่ 27. ฉบับที่ 9759. *****@_@*****&*****@_@*****&*****@_@*****
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา สถาบันสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
http://peacestudies.psu.ac.th/ **------------------------------------------------------------------**
http://share.psu.ac.th/blog/saitan/16835