อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > มาลาบูชาครู

แด่เธอ... ผู้รู้สึกตัว โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

<< < (2/4) > >>

ฐิตา:
เมื่ออาการปรากฏนี้เกิดขึ้น เราไม่ได้ตาย เราก็ยังสามารถทำงานไปตามหน้าที่ของเรา เราสามารถกินดื่มและนอนหลับ แต่บัดนี้โดยกฎของธรรมชาติทุกสิ่งเป็นความว่าง และนี้คือกฎที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ สมมติว่ามีเชือกเส้นหนึ่ง ขึงตึงระหว่าเสา ๒ ต้น และเราตัดมันขาดที่กึ่งกลาง เชือกก็จะขาดออกจากกัน ถ้าเราต้องการผูกมันเข้าด้วยกันอีก เราไม่สามารถที่จะกระทำได้ ถ้าเราแก้เชือกออกจากเสาต้นหนึ่งเพื่อนำไปผูกที่กึ่งกลางแล้ว เราก็ไม่สามารถผูกมันเข้าที่เสาต้นเดิมได้อีก เรื่องนี้เปรียบเหมือนกับประสาทสัมผัสทั้งหกของบุคคลที่ประจักษ์แจ้งธรรมชาติดั้งเดิมของเขา เมื่อตาของเขากระทบเข้ากับวัตถุสิ่งหนึ่ง จะไม่มีความยึดติด เช่นเดียวกับน็อตที่เกลียวหวานไม่สามารถทำหน้าที่ยึดเกาะได้อีก

    คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อยังความสิ้นสุดแก่ความทุกข์ ถ้าเราไม่เข้าใจสิ่งนี้ เราจะเกิดความลังเลสงสัยเกี่ยวกับคำสอนของพระองค์ และจะคาดคิดเกี่ยวกับเรื่องการเกิดใหม่ สวรรค์ นรก และอื่นๆ การคาดคิดซึ่งควรจะละทิ้งนั้นกลับระบาดอยู่ในใจของเรา คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไร้กาลเวลา และไม่ถูกจำกัดอยู่ด้วยภาษา เชื้อชาติ สัญชาติหรือศาสนาใดๆ ตามหลักฐานในสติปัฏฐานสูตร ถ้าเธอปฏิบัติสติปัฏฐานอย่างต่อเนื่องดุจดังลูกโซ่นั้นคือเจริญสติในทุกขณะแล้ว ความเป็นพระอรหันต์ (ผู้ดับกิเลสได้ ดับเชื้อได้ เห็นจริงรู้แจ้งในตัวของตัว) หรือภาวะแห่งพระอนาคามี (“ผู้ไม่หวนกลับ”) เป็นสิ่งที่หวังได้ อย่างนานภายใน ๗ ปี อย่างกลาง ๗ เดือน และอย่างเร็วที่สุด ๗ วัน ถ้าเธอเจริญสติตามวิธีที่ข้าพเจ้าอธิบายให้ฟัง และมีสติอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นลูกโซ่แล้ว อย่างนานที่สุดภายใน ๓ ปี ความทุกข์ก็จะลดน้อยลงถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และในบางกรณีอาจจะหมดสิ้นโดยสมบูรณ์ สำหรับบุคคลบางคนนั้นอาจจะได้รับผลนี้ภายในเวลา ๑ ปี หรือภายในเวลา ๙๐ วัน จะไม่มีความดีใจหรือเสียใจ ความพอใจหรือความไม่พอใจ หนทางไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์นี้เป็นหนทางที่ง่าย เหตุที่ยากก็เพราะเราไม่รู้มันอย่างแท้จริง เราจึงมีแต่ความสงสัยและลังเล

ฐิตา:
เมื่อเรามีความมั่นใจในทุกๆ ก้าวของการปฏิบัติ มันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยากเย็นอะไร เธอสามารถปฏิบัติมันได้ในที่ทุกหนทุกแห่ง แต่เธอควรจะรู้ถึงการปฏิบัติอย่างถูกต้องและแท้จริง ถ้าเธอสามารถรับรองตัวของเธอเองได้แล้ว ก็หมายความว่าเธอมีที่พึ่งในตัวเอง ศาสนาหมายถึงที่พึ่ง อันนี้หากว่าเธอได้ศึกษาตำรามาเป็นเวลาหลายปี นั้นก็ยังคงเป็นเพียงทฤษฎีอยู่ แต่ถ้าเธอได้ปฏิบัติอย่างแท้จริง เธอจะไม่ต้องเสียเวลานานถึงเพียงนั้น และสิ่งที่เธอรู้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีกว่านักทฤษฎีอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ ในภาษาบาลี มีคุณภาพทางจิตใจที่สำคัญอยู่สองสิ่ง สิ่งแรกคือ สติ การเรียกกลับมาที่จิตใจ และสิ่งที่สองคือ สัมปชัญญะ ความรู้สึกที่ตัวของเราเอง เมื่อเรามีความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของมือของเรา เรามีทั้งสติและสัมปชัญญะ ผลแห่งการกระทำนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นสิ่งที่มิอาจหาค่าได้ เราไม่อาจซื้อความไม่ทุกข์ แต่จะต้องลงมือปฏิบัติด้วยตัวของเราเองจนกระทั่งสิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ก่อนแล้ว

    การทำบุญและการรักษาศีลเปรียบประดุจดั่งข้าวเปลือกซึ่งไม่อาจจะกินได้แต่ก็เป็นประโยชน์ เพราะเราจะใช้มันสำหรับการเพาะปลูกในปีถัดไป การทำตนเองให้สงบนั้นเปรียบดั่งเช่นข้าวสารที่ยังมิได้หุงและก็ยังคงกินไม่ได้ ความสงบนั้นมี ๒ อย่าด้วยกัน อย่างแรกคือความสงบแบบสมถะ (ความจดจ่ออยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งหรือสงบแบบไม่รู้) อย่างที่สองคือ ความสงบแบบวิปัสสนา (ปัญญาญาณ, เห็นแจ้งรู้จริงสัมผัสได้ ไม่ทุกข์) ในการกระทำสมถภาวนานั้น เธอจะต้องนั่งนิ่ง หลับตาและเฝ้าดูลมหายใจเข้าและลมหายใจออกของเธอเมื่อลมหายใจละเอียดอ่อนมากเข้าบางครั้งเธอจะไม่รู้สึกถึงลมหายใจนั้น และเธอรู้สึกสงบมาก แต่โทสะ โมหะ โลภะ ไม่สามารถถูกขจัดออกไป เพราะยังคงมีความไม่รู้อยู่ และเธอเองก็ไม่รู้สึกถึงตัวความคิดของเธอ แต่วิปัสสนาภาวนานั้นสามารถขจัดโทสะ โมหะ โลภะ และความสงบชนิดนี้สามารถมีได้ในทุกหนทุกแห่ง และในทุกเวลา ดังนั้นแล้วเราจึงไม่จำเป็นต้องนั่งปิดหูปิดตา ตาของเราสามารถดู หูของเราสามารถได้ยิน แต่เมื่อความคิดเกิดขึ้นเราเห็นมัน ความสงบแบบนี้เป็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวคนทุกคน

    จิตใจดั้งเดิมของเรานั้นสะอาด สว่าง และสงบ สิ่งซึ่งมิได้สะอาดสว่างและสงบนั้น มิใช่จิตใจของเรา มันคือกิเลส (ยางเหนียว) เราพยายามที่จะเอาชนะกิเลสนี้ แต่แท้ที่จริงแล้วนั้นกิเลสมิได้มีอยู่จริงแล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องกระทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัดเมื่อเราเห็นจิตใจอย่างชัดเจนโมหะก็จะไม่มีอยู่

ฐิตา:


คำว่า “สะอาด” ชี้เฉพาะไปที่ภาวะธรรมชาติของจิตใจ ซึ่งไม่ถูกแปดเปื้อนหรือถูกครอบคลุมโดยสิ่งใด เรามีสติปัญญาแทงตลอดเข้าไปถึงจิตใจ และเห็นจิตใจอย่างชัดเจน รู้ว่าจิตใจนั้นมีความสมดุล และไม่มีสิ่งใดมากระทบมันได้ นี้คือความสะอาดของจิตใจ ความ “สว่าง” ของจิตใจเปรียบดั่งแสงที่ส่องสว่างซึ่งช่วยให้เราเกิดความปลอดภัยไม่ว่าเราจะไป ณ ที่ใด ในภาวะแห่งความสว่างแจ่มจรัสนี้ เราเห็นชีวิตจิตใจของเราเองตลอดเวลาทุกๆ นาที ทุกๆ วินาที และทุกๆ ขณะ นี้คือ ความสว่างของจิตใจ ความ “สงบ” หมายถึงการหยุด ความสิ้นสุดของโทสะ โมหะ โลภะ ความเร่าร้อนปั่นป่วนและความทุกข์ยากทั้งมวลอีกทั้งยังหมายถึงการยุติการแสวงหาวิธีหรือระบบต่างๆ อีกด้วย เราไม่จำเป็นต้องออกเสาะแสวงหาครูอาจารย์อีก เพราะเรารู้อย่างแท้จริง เพื่อตัวเราเอง และในตัวเราเอง เมื่อเรารู้จักจิตใจเราอย่างแท้จริง เรารู้ว่าจิตใจนั้นสะอาด สว่าง และสงบในทุกเวลา

    เมื่อเรารู้จักจิตใจ เราจะรู้ถึงภาวะที่ความทุกข์เกิด และภาวะที่ความทุกข์ดับ เรารู้ความคิดทุกครั้งที่มันคิด เรารู้แม้กระทั่งเสียงหัวใจเต้น และไม่ว่าเราจะเคลื่อนไหวด้วยอิริยาบถใด เรารู้มันทั้งหมด เรารู้ด้วยการเฝ้าดูโดยปกติธรรมดา โดยไม่จำเป็นต้องพยายามหรือฝืน การรู้นี้เป็นสิ่งที่รวดเร็วมาก มันรวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้า ยิ่งกว่าไฟฟ้า และยิ่งกว่าสิ่งใดๆ การรู้เป็นสิ่งเดียวกับปัญญา เป็นสิ่งเดียวกับสติปัญญา สติและสมาธิและปัญญา ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งเดียวกัน ปัญญารอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ แม้แต่ว่าเสียงที่แผ่วเบาที่สุดเกิดขึ้นเราก็รู้ เมื่อลมพัดมาถูกผิวหนังของเราเราก็รู้ ความคิดไม่ว่าจะเกิดในลักษณะอาการเช่นใดเราก็รู้ เมื่อความคิดอยู่ลึกปัญญาก็ลึกด้วย เมื่อความคิดว่องไวกิเลสก็ว่องไวและปัญญาก็ว่องไวด้วย ไม่ว่าความคิดจะเกิดโดยรวดเร็วเพียงใด ปัญญาจะรู้ความคิดนั้น

ฐิตา:
นี้คือสิ่งที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท (“การเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน”) เมื่อไม่มีอวิชชา (การไม่รู้) สายโซ่ซึ่งยังให้เกิดทุกข์ก็ขาดสะบั้นลง เพราะการรู้เข้าไปแทนที่ เธออาจจะเคยได้ยินมาว่าพระพุทธเจ้าทรงตัดผมของพระองค์เพียงครั้งเดียว และผมของพระองค์ก็ไม่ขึ้นมาอีกเลย ข้อนี้เป็นปริศนาธรรม เมื่อผมถูกตัดออกไปมันไม่อาจจะกลับมาติดได้ดั่งเดิม ข้อนี้ฉันใด การตัดอวิชชาออกไปอย่างเด็ดขาด โดยที่มันไม่อาจจะหวนกลับมาได้อีก ก็เป็นฉันนั้น นี้คือกฎตายตัวของธรรมชาติ ดุจดังเชือกที่ขึงตึงไว้กับเสาสองต้น เมื่อเราตัดให้ขาดออกจากกันที่ตรงกลางก็ไม่อาจจะกลับเข้ามาผูกติดกันได้อีกเมื่อเราเห็นมาถึงจุดนี้เราจะรู้ว่า ภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในคน แล้วทำไมมันจึงกลายเป็นเรื่องยากเย็น มันไม่ใช่เป็นที่ยากแต่ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่าย มันเป็นสิ่งที่ทั้งยากและง่าย

    มีภาษิตบทหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยกล่าวไว้ว่า “คนจนมั่งมี เศรษฐีทุกข์ไส้” ทำไมจึงทุกข์ ทำไมจึงจน เศรษฐีนั้นรวยเฉพาะแต่ในเรื่องเงินทองเท่านั้น แต่ยากจนเพราะไม่เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของตน ส่วนคนยากจนใดที่เห็นถึงกฎของธรรมชาติข้อนี้ ถือว่าเป็นผู้มั่งคั่งโดยแท้ เงินทองไม่อาจจะนำใครมาถึงจุดนี้ได้ คนทุกคนมีความสามารถทัดเทียมกันที่จะมาถึงจุดนี้ เพราะว่าทุกคนมีเหมือนกัน ไม่ว่าเราจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย คนไทย คนจีน หรือชาวตะวันตก และไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาใดๆ ด้วย เราทั้งหมดมีจิตใจดั้งเดิมเป็นสิ่งเดียวกัน ข้อนี้เป็นกฎธรรมชาติเช่นเดียวกับที่ร่างกายของคนทุกคนประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ อย่างเดียวกัน ข้าพเจ้าสามารถให้คำมั่นแก่พวกเธอทั้งหลายได้ว่า ตัวเธอทุกคนนี้แหละปฏิบัติได้ แต่เธอจะต้องมีความจริงใจ

    ข้าพเจ้าเชื่อในคำพูดที่ว่า พระธรรมนั้นมีอยู่ก่อนการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นเพียงบุคคลแรกที่ทรงค้นพบ ก่อนการอุบัติของพระพุทธเจ้านั้น พระธรรมถูกปกปิดอยู่ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงแต่ทรงเปิดเผยพระธรรมนั้น ธรรมชาติที่แท้จริงนี้ดำรงอยู่แล้วในคนทุกคน เมื่อเธอลุกขึ้นยืน ธรรมชาติที่แท้จริงนี้ก็ลุกขึ้นยืนพร้อมกับเธอ เมื่อเธอนั่งลง มันก็นั่งตามด้วย เมื่อเธอนอนหลับมันก็นอนหลับพร้อมๆ กับเธอ และเมื่อเธอไปเข้าห้องน้ำ มันก็ยังติดตามเธอไปที่นั่นด้วย มันไปทุกหนทุกแห่งพร้อมกับเธอ ดังนั้นเธอจึงสามารถปฏิบัติได้ในทุกสถานที่ เธอควรจะรู้ถึงวิธีการปฏิบัติ เธอควรจะรู้ถึงวิธีการดูความคิด เมื่อเธอรู้ถึงต้นตอหรือแหล่งที่มาของความคิด นี้เป็นจุดที่สำคัญยิ่ง จากจุดนี้หนทางอันยิ่งใหญ่จะเปิดเผยตัวของมันเอง

แก้วจ๋าหน้าร้อน:
 :13:   อนุโมทนาสาธุครับ ขอบคุณครับพี่แป๋ม

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version