ผู้เขียน หัวข้อ: 19. ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม  (อ่าน 2758 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
19. ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม
« เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2010, 02:46:20 am »



19. ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม
คัดจากผู้จัดการรายวัน
รำลึก 100 ปี ชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 19)
โดย สุวินัย ภรณวลัย 5 กันยายน 2549 23:07 น.


“ท่านทั้งหลายไม่เข้าถึงพุทธธรรม ก็เพราะว่า พระพุทธเจ้า
ตามทัศนะของท่าน ขวางหน้าท่านอยู่”

พุทธทาสภิกขุ


อินทปัญโญได้ บันลือสีหนาท อีกครั้ง เมื่อเขาแสดงปาฐกถาเรื่อง “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม”
ณ พุทธสมาคม กรุงเทพฯ ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948)
ซึ่งมีเนื้อหาที่ “แรง” ที่สุดกว่าครั้งใดๆ เพราะครั้งนี้เขาได้นำเสนอถึง สิ่งซึ่งกีดขวาง หรือเป็นกำแพงมหึมาอยู่ข้างหน้าซึ่งทำให้คนเราเข้าถึงไม่ได้ ทั้งๆ ที่ผู้นั้นก็มีความภักดีต่อพุทธธรรมอย่างเต็มที่อยู่เสมอ อินทปัญโญสามารถนำเสนอเรื่องนี้ได้อย่างเข้าถึง และอย่างมีพลังมาก เพราะตัวเขาเองก็เพิ่ง ก้าวข้าม ภูเขามหึมาที่เคยขวางตัวเขามาได้เมื่อปีที่แล้วนี่เอง เขาจึงอยากถ่ายทอดสิ่งที่เป็น ประสบการณ์ทางวิญญาณ และ บทเรียนทางวิญญาณ ในการแสวงธรรมของตัวเขาให้แก่คนอื่นโดยเฉพาะคนรุ่นหลัง เพื่อที่พวกเขาจะสามารถก้าวข้ามสิ่งซึ่งกีดขวางไม่ให้เข้าถึงพุทธธรรมได้เหมือนอย่างเขา

อินทปัญโญบอกว่า ถ้าหากมีการตั้งปัญหาถามขึ้นมาว่า อะไรเป็นเครื่องปิดบังพระนิพพานอันเป็นตัวพุทธธรรมที่ผู้แสวงธรรมประสงค์จะเข้าถึง? เขาจะตอบอย่างฟันธงอย่างไม่ลังเลใจเลยว่า “พระพุทธเจ้า” นั่นเองที่กลับกลายมาเป็นภูเขามหึมาบังพระนิพพาน โดยเฉพาะ พระพุทธเจ้าตามทัศนะของแต่ละคน นี่แหละที่ขวางหน้าคนผู้นั้นไม่ให้เข้าถึงพุทธธรรม

เพราะคนเราเข้าใจเข้าถึง ความจริง ได้แค่ไหน ก็มีความเข้าใจเข้าถึง “พระพุทธเจ้าของเขา” ได้แค่นั้น ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ถูกขนานนามว่า พระพุทธเจ้า รวมทั้งการนิยามว่าอะไรเป็นพระพุทธเจ้า จึงมีอยู่ในลักษณะและขนาดมาตรฐานต่างๆ กัน แล้วแต่ ความยึดถือ ของแต่ละคนเป็นชั้นๆ ไป

คนที่เข้าถึงพระพุทธเจ้า แต่ในทางวัตถุโดยไม่สูงถึงทางจิตย่อมเข้าใจได้แต่เพียงว่า พระพุทธเจ้าคือเลือดเนื้อกลุ่มหนึ่งที่เดินท่องเที่ยวสั่งสอนประชาชนในประเทศอินเดีย เมื่อสองพันกว่าปีก่อน ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ทรงเคยปฏิเสธว่า เลือดเนื้อกลุ่มนั้น ยังไม่ใช่ตถาคต คนที่ไม่เห็นธรรมะของตถาคต คือคนที่ไม่เห็นตถาคต แม้ผู้นั้นจะคอยจับจีวรของพระองค์ดึงเอาไว้ ไปทางไหนไปด้วยกันทั้งกลางวันกลางคืน แต่ถ้าไม่เห็นธรรมะแล้ว ไม่ชื่อว่าเห็นตถาคตเลย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 26, 2010, 04:24:43 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: 19. ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2010, 03:03:44 am »

แม้คนที่มุ่งเข้าถึงพระพุทธเจ้าในทางจิต หากหลงไปยึดว่า
พระพุทธเจ้าเป็น อัตตาที่บริสุทธิ์ ไม่เกิดไม่ตาย
มีอยู่ในทุกแห่ง พร้อมที่จะปรากฏทุกเมื่อในสมาธิ อินทปัญโญก็ยังบอกว่า
วิถีแห่งพุทธธรรมของผู้นั้นจะถึงทางตันและสิ้นสุดลงเพียงนั้น เพราะเป็นการหลง
ไปยึดถือเอาตามความรู้ ตามการศึกษาและศรัทธาของตนเองอันคับแคบอยู่

แม้แต่ความรักในองค์พระพุทธเจ้าของบุคคลบางคนที่เป็นอริยบุคคลขั้นต่ำ
ยังไม่ถึงพระอรหันต์ เช่น พระอานนท์ ในสมัยที่พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่
ทั้งๆที่พระอานนท์รู้จัก ลู่ทางแห่งพุทธธรรมอย่างถูกต้อง วิถีแห่งพุทธธรรมของท่าน
ก็ยังไม่วายถูกสกัดได้   
ด้วยภูเขาหรือองค์พระพุทธเจ้าที่ท่านยึดถือไว้ด้วยความรักของท่านเอง

อินทปัญโญจึงบอกว่า ไม่มีภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมอะไรอื่น นอกไปจาก
ความยึดถือเกี่ยวกับตัวตน และ ไม่มีความยึดถือเกี่ยวกับตัวตนอะไรอื่น ยิ่งไปกว่า
ความยึดถือในสิ่งที่ตนถือเอาเป็นที่พึ่งของตน
เพราะฉะนั้น นอกไปจาก “พระพุทธเจ้า” ตามทัศนะของเขาแล้ว
แม้ “พระธรรม” ของเขา ก็ยังอาจเป็นภูเขาขวางวิถีแห่งพุทธธรรมของผู้นั้นได้
เพราะอาศัยความยึดถือทำนองเดียวกัน ยิ่งไม่ต้องไปพูดถึง
“พระสงฆ์ที่เป็นอาจารย์หรือคุรุ” ของเขา ซึ่งกลับเป็นภูเขาขวางวิถี
ีแห่งพุทธธรรมของเขาได้ เพราะอาศัยความยึดถือเช่นเดียวกัน

บางคนได้ยึดถือเอาเครื่องมือหรือหนทางที่จะปฏิบัติ
เพื่อเข้าถึงพุทธธรรมมาเป็นตัวพุทธธรรมเสียเอง
บางคนก็ถือเอาเล่มหนังสือหรือพระคัมภีร์เป็นตัวพระธรรมเสียเลยก็มี

บางคนกลับต้องการให้พระนิพพานหรือพุทธธรรมเป็นบ้านเมือง เป็นโลกอันแสนสุข
สำหรับตนจะไปจุติไปเกิดที่นั่น แล้วก็ตั้งบำเพ็ญสมาธิเพื่อความเป็นอย่างนั้น
ด้วยอำนาจความยึดถือในด้านวัตถุอันแรงกล้า

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: 19. ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2010, 03:18:21 am »

บางคนยึดถือในศีลของตนจนดูหมิ่นผู้อื่น ก่อการแตกร้าวทะเลาะวิวาทกันด้วยเรื่องศีล เพราะความยึดมั่นถือมั่นในศีลด้วยความสำคัญผิด ยึดมั่นทุกตัวอักษรอย่างงมงาย

ศีล จึงอาจกลายเป็นภูเขาขึ้นมาขวางวิถีแห่งพุทธธรรมก็ได้ เมื่อมีผู้ยึดถือว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันก็เป็นแค่ความจริงของบุคคลผู้นั้น ซึ่งไม่สามารถจะเห็นเป็นอื่นไปได้ ผลก็คือ ความเนิ่นช้ากว่าจะปีนป่ายภูเขาลูกนี้ข้ามพ้นไปได้

สมาธิ ก็อาจกลายเป็นภูเขาสกัดทางตัวเองในการเข้าถึงพุทธธรรมของผู้ปฏิบัติ หากเป็นที่ตั้งของความยึดถือโอ่อวด พอใจ หลงใหลในสมาธิของตนตามที่ตนปฏิบัติได้ เพราะความจริงของใคร ก็เป็นความจริงของคนนั้น เท่าที่เขารู้และพอใจยึดถือ จึงยากที่จะยอมเชื่อกันด้วยใจจริง เมื่อยังหลงผิดอยู่ด้วยความยึดถือเช่นนี้ ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมก็ยังตั้งสูงตระหง่านขวางหน้าอยู่เพียงนั้น

แม้แต่ ปัญญา เอง หากเป็นปัญญาที่ไม่รู้จักตัวเอง ยังมีมูลฐานตั้งอยู่บนความจริงของความเชื่อ ความคาดคะเน ก็ย่อมเกิดเป็นภูเขาขวางวิถีทางแห่งพุทธธรรมขึ้นเหมือนกัน ปัญญาของผู้ใดสิ้นสุดหยุดลงตรงไหน
ก็บัญญัติเอาเพียงแต่ตรงนั้นว่าเป็นความจริงด้วยบริสุทธิ์ใจของตนและยึดมั่น จนเกิดเป็นลัทธินิกาย ปรัชญาต่างๆ ต่อให้เฉียบแหลมแค่ไหน ก็ไม่วายที่จะเป็นภูเขากั้นขวางทางอยู่ระหว่างตัวเขากับนิพพานจนได้ ด้วยความยึดถืออีกเช่นกัน

ปัญญาคือแสงสว่างก็จริง แต่คนเราจะรับรู้ได้เท่าที่ปัญญาหรือแสงสว่างของเขาจะอำนวยให้ว่านั่นคือ ความจริง แต่หากผู้นั้นมีปัญญามากขึ้น เขาจะมองต่างไปจากเดิม สิ่งที่เรียกว่าความจริงของเขา ย่อมเปลี่ยนไปตามแสงสว่างหรือปัญญาที่เพิ่มขึ้นของเขา ความแตกต่างจึงขึ้นอยู่กับแสงสว่างหรือปัญญาที่ส่องไปยังวัตถุเรื่องราวนั้น จึงเห็นได้ว่า แสงสว่างนั้นเองที่เป็นผู้บังความจริง ทั้งในด้านจิตและด้านวัตถุ เพราะแสงสว่างชนิดหนึ่งๆ ย่อมให้ความจริงแก่เขาในการเห็นเป็นอย่างหนึ่ง นอกนั้นคือส่วนที่แสงสว่างนั้นบังเอาไว้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: 19. ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 26, 2010, 03:50:01 am »
อินทปัญโญได้พูดออกมาจาก ประสบการณ์โดยตรง ของเขาเองที่เพิ่งผ่านมาไม่นานว่า ความจริงที่จริงไปกว่านั้น หรือนอกเหนือไปจากนั้น ซึ่งเขายังไม่เห็นในตอนนั้น คือส่วนที่ปัญญาเพียงขนาดนั้นของเขา แม้จะล้ำเลิศเพียงใดได้ “บัง” เอาไว้ ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นตัวเขารู้สึกว่า ตัวเขาได้มองดูอย่างทั่วถึงอย่างหมดความสามารถของเขาแล้วอย่างคิดว่า ไม่มีอะไรเหลือซ่อนเร้นอีกแล้ว เพราะเขาเคยรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เขาจึงยึดถือเอาสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความจริงอันเด็ดขาด ด้วยความสำคัญผิด ซึ่งมันก็ยังเป็นภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมของเขาอยู่

ทั้งๆที่มันไม่น่าจะเป็นไปได้ และตัวอินทปัญโญเองก็ถึงกับตะลึง เมื่อตระหนักได้ว่า มันเป็นการ “บัง” ของแสงสว่างเสียเอง เพราะแม้ตัวเขาจะได้พยายามตีความพระพุทธวจนะ หรือขบคิดข้อความที่ยากๆ เรื่องอนัตตาอย่างสุดความสามารถเท่าที่ปัญญาของเขามี ซึ่งอาจแตกต่างไปจากคนอื่นบ้างไม่มากก็น้อย ขณะที่ยังไม่ถึงที่สุด เขาก็ย่อมต้องยึดถือเอาส่วนที่ตัวเขาคิดได้จนแจ่มแจ้งด้วยตนเองว่า นี่เป็นความจริงอันเด็ดขาดของตัวเขา ซึ่งตัวเขาเองเพิ่งมาตระหนักได้ทีหลังว่า

“นี่ก็ยังเป็นความยึดมั่นในความคิด และความเห็นแจ้งของตัวเราเอง และความยึดมั่นอันนี้ คือภูเขาที่ขวางอยู่ในวิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรมของตัวเรา ซึ่งเราเพิ่งทลายมันลงไปได้ด้วย เซน”


จากประสบการณ์แห่ง ซาโตริ ของตัวเขา อินทปัญโญจึงมองได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่า อัตตวา ทุปาทาน หรือ ความยึดมั่นว่ามีตัวตน นี่แหละที่เป็นมูลฐานของภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม ทำให้ ความว่างจากตัวตน ถูกปิดบังอย่างมิดชิด เพราะ ตัวเองที่บังตัวเองที่เป็นความว่าง เป็นสิ่งกีดขวางอันเร้นลับที่สุด

เพราะไม่มีการรู้จักตัวเองอย่างถูกต้อง จึงเกิดความต้องการพระพุทธเจ้า และสร้างพระพุทธเจ้าขึ้นมาด้วยตัณหาของตัวเอง ตามทัศนะของตัวเอง หุ้มห่อตนเอง จนเหลียวไปทางไหนก็พบแต่สิ่งนี้ จนกระทั่งเป็นสัญญาความทรงจำอันเหนียวแน่น เหลือที่จะปัดเป่าออกไปได้

เมื่อใดที่สามารถรู้จักตัวเองอย่างถูกต้อง คือรู้จักความว่างจากตัวตน เมื่อนั้นก็ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีผู้บังและไม่มีผู้ที่ถูกบัง ไม่มีการแสวงหาเพราะไม่มีผู้ที่มีความอยาก ไม่มีผู้แสวงที่พึ่งและไม่มีผู้ที่จะเป็นที่พึ่ง

เพราะ ผู้นั้นมีความว่างจากตัวตนแล้ว “พระพุทธเจ้า” ของเขา ก็เป็นความว่างจากตัวตนด้วยเช่นกัน ตราบใดที่คนเรายังคลำตัวเองไม่พบว่าเป็นอะไรกันแน่ ตราบนั้นก็ต้องมีการยึดถือ เที่ยววิ่งตะครุบนั่นนี่ไปตามความยึดถือเป็นธรรมดา จึงไม่อาจพบและเข้าถึงพุทธธรรมได้


อินทปัญโญได้ทำลายภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมของเขาลงไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว!



http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=balanceofsociety&group=16
สุขใจดอทคอม * อกาลิโกโฮม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ


เดิมไม่มีสิ่งใด แท้จริงไร้ต้นโพธิ์
21 สิงหาคม 2017
 
ทำอย่างไรจึงจะพ้นกรรม
เรื่องกรรม นี้ ส่วนมากยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ตรงตามที่เป็นจริงของหลักพุทธศาสนาคือรู้กันแต่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันเป็นคำสอนของศาสนาทั่วไป เพราะเรื่องกรรมของพระพุทธศาสนานั้น ได้กล่าวถึงกรรม (การกระทำ) ที่จะให้สิ้นกรรมอีกด้วย กล่าวคือ ให้สิ้นไปทั้งกรรมดี และกรรมชั่ว เพื่อไม่ต้องเป็นไปตามอำนาจของกรรมดี กรรมชั่ว เลยกลายเป็นการอยู่เหนือกรรม ไม่ต้องหวั่นไหว หรือเป็นทุกข์ เพราะดีเพราะชั่ว คือเป็นพระนิพพาน (สภาพแห่งความหมดทุกข์โดยสิ้นเชิง) นั่นเอง

เรื่อง กรรมที่คนเขาสอนกันตามวัดตามวา และที่ชาวบ้านเข้าใจกันอยู่นั้น มันยังเป็นเรื่องขั้นศีลธรรม เพราะคนส่วนมากไม่รู้จักหลักพระพุทธศาสนาที่แท้ จึงยังคงยึดถือว่าเขามีตัวมีตน และมีอะไรๆ เป็นของตน (อัตตวาทุปาทาน) เช่นทำบุญอะไร ก็เพื่อหวังเอาบุญมาเป็นของตน หรือหวังเอาสิ่งตอบแทน หากผิดหวังก็คงจะเสียใจ กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาได้เหมือนกัน คือ ยังต้องเวียนวายอยู่ในอำนาจของกรรม สู้การอยู่เหนือกรรม หรือพ้นกรรมไม่ได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้า นอกจากพระองค์จะสอน เรื่องกรรมดี (กรรมขาว) กรรมชั่ว (กรรมดำ) อย่างศาสดาอื่นๆ แล้ว ท่านยังสอนเรื่อง กรรมเหนือกรรม (กรรมไม่ดำไม่ขาว) กล่าวคือ เรื่องการกระทำที่จะทำ ให้พ้นจากอำนาจของกรรมทุกอย่าง ซึ่งศาสดาอื่นๆไม่สอน ฉะนั้น กรรมประเภทที่ ๓ นี้จึงเป็นเรื่องในระดับของสัจจธรรม หรือปรมัตถธรรม ซึ่งแม้ในเมืองไทยก็ไม่มีใครยอมสอนเช่นเดียวกัน

คำว่า...กรรม...นี้ จะต้องเป็นการกระทำด้วยเจตนา ด้วยกาย หรือวาจา หรือใจ ถ้าไม่มีเจตนาก็ถือว่าเป็นเพียง...กิริยา...และไม่มีผลว่าจะเป็นบาป หรือเป็นบุญ หากจะมีผลอะไรเกิดขึ้นมา ก็เรียกว่าเป็น...ปฏิกิริยา...ไม่ใช่...วิบาก...(ซึ่งแปลว่า ผลของกรรม) ฉะนั้น การกระทำใดๆ ของพระอรหันต์ หรือ ของพระพุทธเจ้า จึงไม่เรียกว่า กรรม...แต่เรียกว่า...กิริยา

ควรรู้ไว้ ด้วยว่า...เจตนา...นั้น ต้องประกอบด้วยกิเลส หรือ อวิชชา ฉะนั้น จึงพูดได้เลยว่า กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม ทำกรรมลงไปแล้วก็ย่อมได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แล้วก็จะก่อกิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา เพื่อทำกรรมใหม่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด จนถือได้ว่าเป็นวัฏฏสงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) แห่งความอยาก กระทำตามอยาก ได้รับผลหรือไม่ได้รับผล ก็อยากต่อไป กระทำต่อไป และในวงกลมนี้แหละ ความทุกข์ใจต่างๆ นานาจะประกฎขึ้นมาแก่ เขาผู้กระทำกรรม ฉะนั้น ถ้าผู้ใดไม่ต้องการมีความทุกข์ใจเลย ก็ต้องรู้วิธีทำความสิ้นไปแห่งกรรม ซึ่งถ้าจะกล่าวให้สั้นที่สุดก็คือ อย่ายึดมั่นถือมั่นว่าเรามีตัวตน หรือมีอะไรๆ เป็นของตน โดยถือหลักว่า ถ้ามีตนก็มีกรรม ถ้าหมดตัวตนก็หมดกรรม หรือพ้นกรรม

เรื่องกรรม จะส่งผลเร็ว หรือช้าอย่างไร ผู้ที่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ก็ยังอธิบายผิดไปอีก เช่น กรรมบางอย่างให้ผลทันทีทันใดเมื่อทำเสร็จ ถ้าให้ผลในระยะต่อมาอีกหน่อย เรียกว่า อุปปัชชเวทนียะ และถ้าให้ผลในระยะนานไปอีกหน่อย เรียกว่า อปราปรเวทนียะ และถ้ากรรมใดให้ผลเสร็จไปแล้ว หรือตกลงกันได้ โดยไม่ถือเป็นความผิด ก็เรียกว่า อโหสิกรรม แต่แล้วชาวพุทธที่ถือลัทธิสัสสตทิฏฐิของพราหมณ์ ก็ยกเอาผลกรรมประเภท ๒ และ ๓ ไปไว้ในชาติหน้า ชาติโน้น หลังจากตายแล้วอีก ซึ่งคำบาลี ก็หมายถึง...ทันควัน...เวลาถัดมา และเวลาถัดๆมาอีก อันเป็นเรื่องภายในชีวิตนี้ที่จะมองเห็นกันได้ นี่แหละ คือ ความสับปรับของผู้สอนพุทธศาสนาส่วนมาก ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า...เขาทำกรรมในอัตตภาพ...(ชีวิต) ใด ย่อมเสวยผลในอัตตภาพนั้นเป็นทิฏฐธรรมบ้าง เป็นอปราปริยายะบ้าง...(อันไม่ใช่เรื่องที่จะได้รับผลต่อตายแล้ว)

การกระทำสิ่งใดๆ โดยไม่เจตนา (ร้าย) ซึ่งเราไม่เรียกว่าเป็น...กรรม...นั้น ยังให้ความสะดวกใจแก่ผู้ทำ เพราะรู้ว่ามันไม่เป็นบาปเป็นกรรมแก่ตน เช่นการกินยาถ่ายตัวพยาธิในร่างกาย การต่อสู้ข้าศึกศัตรูที่มารุกรานประเทศชาติ การปราบปรามโจรผู้ร้าย การสั่งลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ฯลฯ ทั้งนี้โดยถือว่าเป็นการกระทำตามหน้าที่เพื่อรักษาธรรม หรือรักษาร่างกาย อย่างนี้เรียกว่า...พ้นกรรม...เหมือนกัน อันเป็นเหตุให้พ้นทุกข์ทางใจได้

ผัสสะ (การสัมผัส) ใดๆ ทำให้เขาเกิดความร้อนใจมากทางพุทธศาสนา ก็เรียกว่า เขาผู้นั้นเกิดเป็นสัตว์นรก ถ้าทำให้เขาโง่มากขึ้นไปอีก เขาก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าทำให้เกิดความโลภจัด เขาก็กลายเป็นเปรตซึ่งหิว หรืออยากได้อะไรๆ อยู่ตลอดเวลา ถ้าสัมผัสแล้วใช้สติปัญญาพิจารณาด้วยเหตุผล ก็ถือว่าเขายังเป็นมนุษย์ ถ้าผัสสะนั้นๆ ทำให้เขาสบายใจ หรือมีความสุข ก็ถือว่าเขาเกิดเป็นเทวดา ถ้าทำให้เกิดความสงบทางใจไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ เขาก็กลายเป็นพรหมไปในขณะนั้นเอง ไม่ใช่แบบที่คนสอนกันอยู่ทั่วไปในวัด ซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า


ฉะนั้น ถ้าใครไม่ต้องการเกิดเป็นอะไรเลยใน ๕ อย่างดังกล่าว พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้ดับเสียซึ่ง...ผัสสะ...ซึ่งต่างกับใน เรื่องการดับทุกข์ที่ท่านแนะนำให้ดับอวิชชา ตัณหา อุปาทานใน เรื่องนี้หมายความว่า เมื่อเราได้รับการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ต้องใช้สติเป็นเครื่องควบคุมจิตใจอย่าให้นึกคิดไปในทางของกิเลส จนกลายเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงงมงาย การสัมผัสนั้นจึงจะไม่ก่อความหวั่นไหวต่ออารมณ์ เช่น เห็นก็ให้เป็นแต่เพียงว่าเห็น ไม่ให้เป็นเวทนา หรือความรู้สึกพอใจ หรือไม่พอใจ แล้วมันก็จะไม่เกิดความอยาก ความยึดไม่เกิดภพ ไม่เกิดชาติเป็นตัวกูของกู คือ ไม่เกิดเป็นอะไรทั้งหมด นี่แหละคือการดับแห่งกรรม


กรรมเหนือกรรม กรรมสิ้นกรรม หรือ กรรมพ้นกรรม
โดยมี มรรคมีองค์๘ ประการ เป็นแนวทางปฏิบัติ เช่นมีความเข้าใจถูกต้อง มีความปรารถนาถูกต้อง พูดจาถูกต้อง เลี้ยงชีวิตถูกต้อง มีความเพียรถูกต้อง มีสติระลึกอยู่ในใจถูกต้องและมีสมาธิถูกต้อง (อ่านพุทธธรรมกำมือเดียว)

บางครั้งพระพุทธเจ้าก็ระบุว่าธรรมะที่ชื่อว่า โพชฌงค์ จะทำให้สิ้นไปแห่งกรรม คือการมีสติ มิให้การสัมผัสประกอบไปด้วยอวิชชา รู้จักเลือกเฟ้นวิธีที่จะรับการสัมผัสโดยมิให้กลายเป็นเหตุแห่งกรรม ใช้ความเพียรในการปฏิบัติให้มากขึ้น มีความพอใจในผลที่เราทำได้ แล้วจะเห็นว่าเรื่องราวต่างๆ มันเข้ารูปเข้ารอบก้าวหน้าไปอย่างสงบ เกิดความแน่วแน่ หนักแน่น ไว้ใจได้ถึงกับการวางใจรอได้คอยได้ในผล ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังที่พระองค์ก็กล่าวยืนยันไว้ว่า เมื่อมีโพชฌงค์อย่างนี้ตัณหาย่อมละไป เพราะตัณหาละไป กรรมย่อมละไป เพราะกรรมละไป ความทุกข์ย่อมละไป ด้วยเหตุดังนี้แล ความสิ้นไปแห่งกรรมย่อมมี เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา ความสิ้นไปแห่งทุกข์ ย่อมมีความสิ้นไปแห่งกรรม

เมื่อได้พูดแล้ว ถึงเรื่องทำอย่างไรจึงจะพ้นกรรมใหม่ ทีนี้ก็เหลือปัญหา เรื่องกรรมเก่า มีพุทธภาษิตอยู่ในคัมภีร์สังยุตานิกาย ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นแหละเรียกว่า เป็นกรรมเก่า (เพราะมันพร้อมเสมอที่จะรับการสัมผัส) ส่วนกรรมใหม่นั้น พระองค์อธิบายว่า เป็นการกระทำด้วยอวิชชา ด้วยเจตนาทางกาย วาจา และใจ ที่มันมีต้นเหตุ งอกออกมาจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของตนนั่นเอง บางครั้งพระองค์ก็บอกว่า กรรมเก่าก็คือกายนี้ (รวมทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ซึ่งไม่ใช่ของเธอและของคนอื่นด้วย (นี่ก็เป็นการย้ำว่าจิตใจ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วิญญาณนั้น ไม่เป็นของใครเป็นเพียงธรรมชาติที่ไหลไปเรื่อยๆ ตามกฎเกณฑ์

จากพุทธพจน์นี้เอง ในทางพระพุทธศาสนาจึงถือว่า ไม่มีอะไรที่จะถือได้ว่าเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา คือกฎที่ว่า เมื่อเกิดสิ่งใดขึ้นมาเป็นเหตุ ก็ย่อมเกิดอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลตามมา อันเป็นเรื่องของธรรมชาติล้วนๆ เมื่อใครรู้สัจจธรรมข้อนี้ ก็จะเกิดความไม่ยึดมั่นถือมั่น อันเป็นหัวในของการปฏิบัติธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น เช่น เริ่มด้วยการไม่ยึดมั่นถือมั่นในผัสสะ เป็นอันดับแรก แล้วจะได้ไม่เป็นต้นเหตุแห่งกรรม ผลของกรรม (วิบาก) ก็จะไม่มี ทุกข์หรือสุขก็ไม่มี มีแต่ความสงบสันติของอารมณ์ที่เรียกว่า สะอาด สว่าง สงบ

มีกิจการงานอะไรก็ทำของตนไป จะมีอะไรก็มีได้ แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนหรือของตน อย่างนี้ก็เป็นการอยู่เหนือกรรม ส่วนปัญหาที่ว่าจะทำกรรมเก่าให้หมดไปได้อย่างไรนั้น ก็ขอตอบว่า เมื่อเราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ก็จะไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวตน ที่จะออกไปรับว่านั่นเป็นกรรมเก่าของเรา นี่เป็นผลกรรมเก่าของเรา พร้อมๆไปกับการ ไม่รับผลกรรมใหม่ ว่าเป็นของเราด้วย โดยถือหลักว่ามันเป็นไปตามกฎ มันไม่ใช่เรื่องตัวเรา หรือไม่รับเอาเป็นของเรา...

พุทธทาสภิกขุ.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 24, 2017, 06:11:14 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: 19. ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 29, 2010, 01:19:28 am »
 :13: อนุโมทนาครับ
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~