ริมระเบียงรับลมโชย > รับสายลมเย็นหน้าระเบียง

เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระปิยมหาราช

<< < (2/3) > >>

ฐิตา:



6.การปกป้องประเทศจากการสงครามและเสียดินแดน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ" ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมขุนพินิตประชานาถ" บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

          เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช

          ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม

          ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืน และนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน

          เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน

          ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี


ฐิตา:



เนื่องจากลัทธิจักรวรรดินิยมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ปรีชาสามารถอย่างสุดพระกำลังที่จะรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปก็ตาม โดยดินแดนที่ต้องเสียให้กับต่างชาติ ได้แก่ 

           พ.ศ.2431 เสียดินแดนในแคว้นสิบสองจุไทย 
           พ.ศ.2436 เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ให้ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้ 
           พ.ศ.2447 เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี แต่ฝรั่งเศสได้ยึดตราดไว้แทน

           พ.ศ.2449 เสียดินแดนที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับตราด และเกาะทั้งหลาย แต่การเสียดินแดนครั้งสุดท้ายนี้ไทยก็ได้ประโยชน์อยู่บ้าง คือฝรั่งเศสยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยอมให้ศาลไทยมีสิทธิที่จะชำระคดีใดๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชาวฝรั่งเศส ไม่ต้องไปขึ้นศาลกงสุลเหมือนแต่ก่อน

          ส่วนทางด้านอังกฤษ ประเทศไทยได้เปิดการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ รวมถึงเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้วย ใน พ.ศ.2454 อังกฤษจึงยอมตกลงให้ชาวอังกฤษ หรือคนในบังคับอังกฤษมาขึ้นศาลไทย และยอมให้ไทยกู้เงินจากอังกฤษ เพื่อนำมาใช้สร้างทางรถไฟสายใต้จากกรุงเทพฯ ถึงสิงคโปร์ เพื่อตอบแทนประโยชน์ที่อังกฤษเอื้อเฟื้อ ทางฝ่ายไทยยอมยกรัฐกลันตัน ตรังกานูและไทยบุรี ให้แก่สหรัฐมลายูของอังกฤษ

ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น

           พ.ศ.2411 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
           พ.ศ.2412 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์

           พ.ศ.2413 เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา, โปรดฯ ให้ยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย
           พ.ศ.2415 ทรงปรับปรุงการทหารครั้งใหญ่, โปรดให้ใช้เสื้อราชปะแตน, โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษแห่งแรกขึ้นในพระบรมหาราชวัง
           พ.ศ.2416 ทรงออกผนวชตามโบราณราชประเพณี, โปรดให้เลิกประเพณีหมอบคลานในเวลาเข้าเฝ้า

           พ.ศ.2417 โปรดให้สร้างสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน, ตั้งโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) และให้ใช้อัฐกระดาษแทนเหรียญทองแดง
           พ.ศ.2424 เริ่มทดลองใช้โทรศัพท์ครั้งแรก เป็นสายระหว่างกรุงเทพฯ–สมุทรปราการ, สมโภชพระนครครบ 100 ปี มีการฉลอง 7 คืน 7 วัน
           พ.ศ.2426 โปรดให้ตั้งกรมไปรษณีย์ เริ่มบริการไปรษณีย์ในพระนคร, ตั้งกรมโทรเลข และเกิดสงครามปราบฮ่อครั้งที่ 2

           พ.ศ.2427 โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนราษฎร์ทั่วไปตามวัด โรงเรียนแห่งแรกคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม
           พ.ศ.2429 โปรดฯ ให้เลิกตำแหน่งมหาอุปราช ทรงประกาศตั้งตำแหน่งมกุฏราชกุมารขึ้นแทน
           พ.ศ.2431 เสียดินแดนแคว้นสิบสองจุไทให้แก่ฝรั่งเศส, เริ่มการทดลองปกครองส่วนกลางใหม่, เปิดโรงพยาบาลศิริราช, โปรดฯให้เลิกรัตนโกสินทร์ศก โดยใช้พุทธศักราชแทน

           พ.ศ.2434 ตั้งกระทรวงยุติธรรม, ตั้งกรมรถไฟ เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา
           พ.ศ.2436 ทรงเปิดเดินรถไฟสายเอกชน ระหว่างกรุงเทพฯ-ปากน้ำ, กำเนิดสภาอุนาโลมแดง (สภากาชาดไทย)
           พ.ศ.2440 ทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก

           พ.ศ.2445 เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส
           พ.ศ.2448 ตราพระราชบัญญัติยกเลิกการมีทาสโดยสิ้นเชิง
           พ.ศ.2451 เปิดพระบรมรูปทรงม้า
           พ.ศ.2453 เสด็จสวรรคต


ฐิตา:



พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบรมรูปทรงม้า
          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างอนุสาวรีย์ถวายเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ผู้ทรงสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และเนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์นานถึง 40 ปี

          พระบรมรูปทรงม้านี้ หล่อด้วยโลหะชนิดทองบรอนซ์ พระองค์ใหญ่กว่าขนาดจริงเล็กน้อย ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนอันเป็นแท่นรองสูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาว 5 เมตร ห่างจากฐานของแท่นออกมามีรั้วเตี้ยๆ ลักษณะเป็นสายโซ่ขึงระหว่างเสาล้อมรอบกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร ที่แท่นด้านหน้ามีคำจารึกบนแผ่นโลหะติดประดับสรรญเสริญว่า "คำจารึกฐานองค์พระบรมรูปทรงม้า ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้ว 2451พรรษา จำเดิมแต่พระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ได้ประดิษฐาน แลดำรงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยาเป็นปีที่ 127 โดยนิยม"

          สำหรับแบบรูปของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ได้จ้างช่างหล่อชาวฝรั่งเศส แห่งบริษัทซูซ เซอร์เฟรส ฟองเดอร์เป็นผู้หล่อ ณ กรุงปารีส เลียนแบบพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ประดิษฐานอยู่หน้าพระราชวังแวร์ซายส์ ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2450 พระองค์ได้เสด็จประทับให้ช่างปั้นพระบรมรูป เมื่อวันที่ 22 สิงหคม ศกนั้น พระบรมรูปเสร็จเรียบร้อย และส่งเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ในทางเรือ

          เมื่อ พ.ศ.2451 โปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ พระลานหน้าพระราชวังดุสิต ระหว่างพระราชวังสวนอัมพรกับบสนามเสือป่า ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปนี้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 ตรงกับวันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกครองราชสมบัติได้ 40 ปี

          เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปทรงม้า ขึ้นประดิษฐานบนแท่นรองที่หน้าพระลานพระราชวังดุสิต ที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบันนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงอ่านคำถวายพระพรชัยมงคล เสร็จแล้วจึงน้อมเกล้าฯ ถวายพระบรมรูปทรงม้า กราบบังคมทูลอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช พระราชบิดาให้ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อประกาศเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้สถิตสถาพรปรากฏสืบไปชั่วกาลนาน



กิจกรรมใน วันปิยมหาราช
          ในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี หน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการและภาคเอกชน นักเรียน-นิสิตนักศึกษา รวมทั้งประชาชนจะมาวางพวงมาลาดอกไม้สักการะ และถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทำบุญตักบาตอุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ในหน่วยงาน และโรงเรียน มหาวิทยาลัย จะจัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นการประกาศเกียรติคุณให้ไพศาลสืบไป
 
ขอบพระคุณภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
( สมเด็จพระปิยมหาราช ) และทุกๆ ภาพ จาก : Internet

ขอบพระคุณข้อมูล จาก :  http://hilight.kapook.com/view/29980
  :13:  http://www.oknation.net/blog/prisanasweetsong/2010/10/23/entry-1


ขอร่วมเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระปิยมหาราช พระพุทธเจ้าหลวง
น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระองค์ท่านที่มีต่อปวงชนชาวไทย
นับเป็นอเนกอนันต์...

แก้วจ๋าหน้าร้อน:
 :13: อนุโมทนาสาธุครับ เชิดชูพระบารมีครับผม^^

ฐิตา:




การเลิกทาส
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่ 1 ในสมเด็จพระเทพ ศิรินทรา พระบรมราชินี ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์


          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีน้ำพระทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา ทรงเห็นว่าการมีทาสอยู่จะล้าสมัย ซึ่งแต่เดิมในเมืองไทยมีทาสอยู่ 7 ชนิด คือ ทาสสินไถ่ ทาสในเรือนเบี้ย ทาสได้มาแต่บิดามารดา ทาสช่วยมาแต่ทัณฑ์โทษ ทาสที่เลี้ยงไว้เมื่อเกิดทุพภิกขภัย และทาสเชลยศึก นอกจากนี้ การมีทาสยังเป็นการส่งเสริมให้มีการกดขี่เหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง จึงมีพระประสงค์เลิกทาสให้เป็นไท และทรงทราบว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดสงครามกลางเมืองจากการเลิกทาส พระองค์จึงเห็นสมควรใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไปตามขั้นตอน เช่น ให้กำหนดลดราคาค่าตัวทาส ที่มีอยู่แล้วลงทีละน้อยจนเจ้าตัวทาสสามารถไถ่ถอนได้ ตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ร.ศ. 93 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2417 กำหนดให้ลูกทาสที่เกิดปีมะโรง พ.ศ. 2411 ซึ่งเป็นปีแรกที่พระองค์ครองราชย์ให้ค่าเกษียณอายุ ลดค่าตัวลงทุก ๆ เดือนไปจนอายุครบ8 ปี จากนั้นให้เริ่มเกษียณอายุลงไปทุกปี จนอายุ 21 ปี จึงให้ถือว่าเป็นไท เมื่อเป็นอิสระแล้วห้ามการเป็นทาสอีก โดยทรงระบุโทษผู้ซื้อและผู้ขายไว้ด้วย ราษฎรที่เกิดตั้งแต่ปีมะโรง พ.ศ. 2411 เป็นต้นไปห้ามซื้อขายเป็นทาส หากเข้าอาศัยในบ้านเรือนหรือสถานที่ใดให้มีฐานะเป็นลูกจ้างเท่านั้น


          เมื่อมีพระชนมพรรษาครบ 2 รอบ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อช่วยทาสที่ขายตัวอยู่กับนายเงินคนเดียวมาครบ 25 ปี รวมทั้ง ลูกหลานของทาสและพระราชทานที่ทำกินให้ด้วย นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ.119 ให้ลดค่าตัวทาสเชลยทั้งปวงในเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ และน่าน ให้เป็นอัตราเดียวกันหมดและเมื่ออายุครบ 60 ปีก็ให้เป็นไท ส่วนทาสสินไถ่ ถ้าอายุครบ 60 ปีหาเงินมาไถ่ตัวไม่ได้ ก็ให้เป็นไทเช่นกัน

           

          สำหรับการตราพระราชบัญญัติลักษณะทาสมณฑลบูรพา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้นายเงินลดค่าตัวทาสลงเดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด และห้ามซื้อทาสอีก โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติทาน ร.ศ.124 ให้ทุกมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร ยกเว้นไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู กำหนดให้นายเงินปล่อยลูกทาสของตนทุกคนให้เป็นอิสระตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2448 ส่วนทาสอื่น ๆ ที่มิใช่ลูกทาสให้นายเงินลดค่าตัวให้กับทาสที่ยังไม่หลุดพ้นค่าตัวลงเดือนละ 4 บาทและห้ามนำคนไปเป็นทาสอีก และถ้าทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ห้ามทำกรมธรรม์ขึ้นค่าตัวสูงกว่าเงินค่าตัวเก่า จากนั้น ในปี พ.ศ. 2452 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตราประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 กำหนดว่าผู้ใดจะเอาคนเป็นทาส นอกจากที่ได้รับการยกเว้นอีกไม่ได้ ผู้ฝ่าฝืนจะต้องจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี ปรับตั้งแต่ 100-1,000 บาท ซึ่งเป็นการปลดปล่อยทาสอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ในระหว่างที่ทรงดำเนินการปลดปล่อยทาสอยู่นั้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการศึกษาตามแบบใหม่ควบคู่กันไป เพื่อส่งเสริมความรู้ความสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ด้วยพระปรีชาสามารถและพระบารมีในพระองค์ท่านเพียงระยะเวลา 35 ปี ก็สามารถทำให้ทาสหมดไปจากเมืองไทย


          เนื่องในโอกาส 100 ปี วันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดทำบทความเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพในด้านต่าง ๆ ของพระองค์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และน้ำพระทัยที่เปี่ยมล้นด้วยเมตตาของพระองค์ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยตลอดมา


-http://hq.prd.go.th/PRTechnicalDM/ewt_news.php?nid=289&filename=Test_04
รวม วีดีโอเกี่ยวกับรัชกาลที่ ๕ - http://phrapiyamaharach.blogspot.com/


ขอร่วมเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระปิยมหาราช พระพุทธเจ้าหลวง
น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระองค์ท่านที่มีต่อปวงชนชาวไทย
นับเป็นอเนกอนันต์...

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version