(๖๙) ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อได้
ทำสมาธิให้มั่นคงแน่นหนาดีแล้ว จนกระทั่งจะเข้าจะออกเมื่อไรก็ได้ จะอยู่ให้นานๆ แลพิจารณากายอันนี้ให้เป็น
อสุภะหรือเป็นธาตุก็ได้ พิจารณาคนในโลกนี้ทั้งหมด
ให้เห็นเป็นโครงกระดูกทั้งหมด หรือพิจารณาให้เห็นในโลกนี้ทั้งหมด
ว่างเป็นอากาศว่างเปล่าไปหมดก็ได้
จิตผู้มีสมาธิเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ย่อมเป็นสมาธิอยู่ตลอดเวลาแล้วก็มอง
เห็นกิเลสของตน ซึ่งเกิดจากจิตของตนได้ชัดเจนว่า
กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะ
เกิดจากสิ่งนี้ๆ แล
มันตั้งอยู่ได้ด้วยอาการอย่างนี้ๆ
แล้วก็หาอุบายละด้วยอย่างนี้ๆ เหมือน กับน้ำในสระที่ขุ่นมาเป็นสิบๆ ปีพึ่งมาใสสะอาดมองเห็นสิ่งสารพัดที่มีอยู่ก้นสระว่า แต่ก่อนแต่ไร เราไม่นึกไม่คิดเลยว่า ในก้นสระนี้ มันจะมีของเหล่านี้ นั่นเรียกว่า
วิปัสสนา คือความรู้ความเห็นตามสภาพความเป็นจริงอย่างไร ก็เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น ไม่วิปริตผิดแปลกจากความเป็นจริงของมัน
(๗๐)
สมถะก็ละกิเลสได้เหมือนกัน แต่จะได้เหมือนคนดายหญ้าตัดแต่ต้นให้ขาด ไม่ขุดเอารากให้หมด ย่อมมีเวลาติดขึ้นมาอีก ในเมื่อฝนตกลงมา คือ
เห็นโทษในอารมณ์ ที่มันเกิดจากอายตนะหกเหมือนกัน แต่เมื่อเห็นโทษก็รีบเข้าหาความสงบ
โดยไม่พิจารณาอารมณ์นั้นๆ ให้ถ้วนถี่ (คือทำ
สมาธิ) สรุปความแล้ว เรียกว่า
ชอบเอาแต่ความสงบอย่างเดียว ไม่อยากพิจารณาให้เนิ่นช้า เหมือนกับตัวแย้อาศัยรูเป็นเครื่องป้องกันภัยอันตราย เมื่อเห็นศัตรูมาก็วิ่งเข้ารูเสีย พ้นอันตรายไปร
ะยะหนึ่งๆ เท่านั้น(๗๑) ผู้ต้องการ
ขุดรากเง่าของกิเลสในตัว เมื่อกิเลสมันเกิดจากอายตนะทั้งหก ณ ตัวของตน เช่น ตาเห็นรูป หูได้ฟังเสียง เป็นต้น เกิดผัสสะขึ้นให้ยินดี หรือยินร้าย ดีใจแลเสียใจ เป็นต้น แล้วเข้าไปยึดเอามาเป็นอารมณ์ของตน ขุ่นมัวในใจ จนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อน ดิ้นรน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนกระทั่งทำอัตตวินิบาต (ฆ่าตนตาย) ก็มี เมื่อเห็นชัดอย่างนี้แล้ว พึงทำ "
สมาธิ" ให้มั่นคงเป็นหลักเสียก่อน แล้วจึง
ตั้งจิตพิจารณาเฉพาะในอารมณ์นั้นแต่สิ่งเดียว เช่น
ตาเห็นรูปที่เป็น
อิฏฐารมณ์แล้ว เกิดความยินดีพอใจขึ้น ก็ให้พิจารณาเฉพาะแต่ความยินดีพอใจ
นั้นว่า มันเกิดขึ้นจากตาหรือเกิดขึ้นจากรูปกันแน่ เมื่อพิจารณาถึงรูปก็เห็นว่า รูปมันก็เป็นแต่รูปธรรมต่างหาก
มันจะดีแลเลว มันไม่ได้มาชักชวนให้เราไปยินดีหรือยินร้าย หรือให้เราไปหลงรักหรือชัง มันเป็นแต่รูปเฉยๆ
เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป ตามสภาพของมันต่างหาก เมื่อพิจารณาตาผู้ไปเห็นรูปเล่า ตาผู้ฉายแสงเห็นรูปพอกระทบเท่านั้น แสงสะท้อนกลับเข้ามาหาจักษุประสาทเข้าก็เป็นรูปต่างๆ นานาเกิดขึ้น ตาก็มิได้ชักชวนให้ไปยินดียินร้ายหรือให้รักให้ชังอะไร ตามีหน้าที่ให้เป็นรูปแล้วดับไป
สิ่งที่เป็น
อิฏฐารมณ์ แลอนิฏฐารมณ์ หรืออายตนะอื่นๆ ก็ให้พิจารณาอย่างเดียวกันนี้ เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นชัดว่า สิ่งทั้งปวงหมดในโลกนี้
มันจะเกิดกิเลสขึ้นก็เพราะอายตนะทั้งหกนี้เป็นต้นเหตุทั้งนั้น ถ้าเราพิจารณา
และไม่หลงตามอายตนะทั้งหกนี้ กิเลสก็จะไม่มีเกิดขึ้นในตัวของเรา ตรงกันข้ามมันจะเกิดปัญญาก็เพราะมีอายตนะทั้งหกนี้อายตนะทั้งหกนั้น
เป็นสื่อกลางของความดีแลความชั่ว
จะไปสุคติแลทุคติก็เพราะอายตนะทั้งหกเป็นต้นเหตุ โลกนี้จะกว้างก็เพราะจิตไม่มีสมาธิ ปล่อยตามอารมณ์ของอายตนะนั้นๆ โลกนี้จะแคบก็เพราะจิตนี้ได้ฝึกหัดสมาธิอยู่ในบังคับของตน แล้วจะ
พิจารณาอารมณ์ของอายตนะทั้งหกแต่ภายใน ให้อยู่ในขอบเขตของ
สมาธิก็ได้ หรือจะให้อยู่ใน
อารมณ์เป็นกลางๆ นิ่งเฉยก็ได้
เมื่อได้อย่างนี้แล้ว
อายตนะทั้งหลายย่อมไม่มี ให้อยู่แต่เฉพาะภายใน ไม่ให้ส่งออกไปภายนอก คือ เมื่อ
จิตเป็นสมาธิแล้วอายตนะเป็นต้นว่า ตาเห็นรูป หูฟังเสียง เหล่านี้จะไม่ปรากฏเลย จะปรากฏแต่รูป
ที่เป็นนามธรรม เสียง ที่เป็นนามธรรม ปรากฏเกิดขึ้นในสมาธินั่นโดยเฉพาะ อายตนะภายนอกจะไม่รู้เลยเมื่อทำสมาธิให้แน่วแน่เต็มที่ แล้ว
พิจารณาเห็นโลกอันนี้มันเป็นเหตุให้เกิดอายตนะ ผัสสะ สัญญา แลอารมณ์ แลตลอดสรรพกิเลสทั้งปวง แล้วจิตก็จะถอนจากสิ่งทั้งปวงหมด จะยังเหลือแต่
ใจ คือ ผู้รู้ อย่างเดียว จิตกับใจย่อมมีลักษณะอาการต่างกัน จิต คือ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง แลสัญญาต่างๆ ตลอดถึงไปยึดเอาสิ่งต่างๆ มาไว้ที่ใจ จิตเมื่อเห็นโทษทุกข์ทั้งปวงที่ยึดเอากิเลสทั้งปวงมาไว้ที่จิตของตนแล้ว ยอมสละถอนจากอารมณ์แลกิเลสทั้งปวงจากจิต จิตนั้นก็เป็นใจ จิตกับใจมีลักษณะอาการต่างกันอย่างนี้จิต คือ ผู้คิดปรุงแต่งสารพัดทั้งปวง ใจ คือ ผู้เป็นกลางๆ วางเฉยไม่คิดนึกอะไรทั้งสิ้น เป็นแต่รู้ตัวอยู่ว่าวางเฉย ใจเป็นธรรมชาติเป็นกลางแท้ กลางไม่มีอดีต อนาคต ไม่มีบุญหรือเป็นบาป ไม่มีดีแลชั่ว นั้นเรียกว่า ใจ ชาวบ้านเขาพูดกันทั่วไปว่า สิ่งที่เป็นกลาง เขาเรียกว่า “ใจ”ใจมือหมายเอาตรงกลางมือ ใจเท้าก็หมายเอาตรงกลางเท้านั่นเอง สิ่งทั้งปวงหมดถ้าพูดถึงใจแล้ว จะต้องหมายเอาตรงใจกลางทั้งนั้น แม้แต่ใจของคนซึ่งเป็นนามธรรม ก็ต้องชี้เข้าไปที่ท่ามกลางอกแต่ใจแท้ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน เราเอาความรู้สึกไปไว้ในส่วนกายส่วนใดส่วนหนึ่งลองดูซิจะรู้สึกขึ้นในที่ นั้น หรือเอาความรู้สึกนั้นไปไว้ภายนอกกาย เป็นต้นว่าเอาไปไว้ที่ต้นเสา หรือฝาผนังบ้าน ก็จะมีความรู้สึกอยู่ ณ ที่นั้น
เป็นอันสรุปได้ว่า
ใจแท้ คือ ความรู้สึก เมื่อมีความรู้สึกกลางๆ อยู่ ณ ที่ใด ใจก็อยู่ ณ ที่นั้น ที่ชาวบ้านเขาพูดกันว่า หัวใจๆ นั้น มิใช่ใจแท้ เป็น
หทัยวัตถุ เครื่องสูบฉีดเลือดให้ไปหล่อเลี้ยงสรีระร่างกาย เพื่อให้อยู่ได้ ถ้าไม่มีเครื่องสูบฉีดเลือด ไปหล่อเลี้ยงร่างกายแล้ว กายอันนี้ก็จะอยู่ไม่ได้ต้องตาย สมองก็เหมือนกัน จะคิดดีหรือไม่ดี
ก็เพราะสมองเป็นเครื่องใช้ของจิต ระบบประสาทของสมองเป็นรูปธรรม หรือปัจจัยต่างๆ ของรูปธรรมขาดไป รูปธรรมย่อมอยู่ไม่ได้ต้องดับไป
แต่จิตซึ่งเป็นนามธรรมนั้น ในพุทธศาสนาท่านว่า ยังเหลืออยู่เกิดได้อีก นามธรรมจะดับก็ต่อเมื่อปัญญาไปรู้เหตุรู้ผลของนามธรรมนั้นๆ แล้ว ถอนมูลเหตุของมันเสีย จิตกับใจมีลักษณะต่างกันดังอธิบายมานี้