อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > มาลาบูชาครู

แด่เธอผู้รู้สึกตัว : วิธีปฏิบัติการเจริญสติ

(1/2) > >>

ฐิตา:
   

   แด่เธอผู้รู้สึกตัว
และเดินทางลัด ของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ
ประจักษ์ได้ด้วยการรู้ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง
   
   วิธีปฏิบัติการเจริญสติ

   พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักหน้าที่ของเรา หน้าที่ของมนุษย์คือการปฏิบัติธรรม  หน้าที่ของมนุษย์คือการสอนมนุษย์ให้เป็นมนุษย์  ดังนั้นเราจึงควรดูที่ตัวของเราเองก่อน เราควรพิจารณาตัวของเราเองก่อน เราควรสอนตัวของเราเองก่อน ถ้าเราทำชีวิตของเราให้สูญไปโดยไร้ประโยชน์ เราไม่สามารถจะซื้อมันกลับมาได้อีก ถ้าเราปล่อยให้ชีวิตของเราเป็นทุกข์ เราทำชีวิตของเราให้สิ้นเปลือง
   
   พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนอะไรอื่นนอกจากการดับทุกข์ แต่เมื่อเราไม่รู้เราแสวงหาออกนอกตัวเรา แต่ทุกข์ชนิดนั้นมิได้ดำรงอยู่   คำสอนของผู้เป็นครูของโลกทั้งหลายเปรียบเหมือนกับใบไม้ทั้งป่า แต่ใบไม้ที่สามารถนำมาทำยาได้มีเพียงเล็กน้อย อย่าได้เอามาทั้งหมดทั้งรากและลำต้น เมื่อมาปฏิบัติกรรมฐาน หรือวิปัสสนา เราควรจะเอาเฉพาะสิ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้ทุกข์เกิด สามารถดับทุกข์ที่ต้นเหตุของมัน  สามารถทำลายโมหะ เราเอาเฉพาะแก่น 
   
   แก่นของคำสอนที่ข้าพเจ้าพูดถึงอยู่นี้คือ การมีสติ มีปัญญา เห็นความคิด เมื่อความคิดเกิดขึ้น เห็นมัน รู้มันเข้าใจมัน รู้มันในทุกลักษณะที่มันเกิด และรู้ถึงวิธีป้องกันมิให้มันมาลวงเรา     
   
   ไม่ว่าเราจะอยู่ ณ ที่ใด นั่นคือที่ที่เราจะต้องปฏิบัติ ไม่มีใครจะทำแทนเราได้ ไม่ว่าเราจะไปที่ใดเราเป็นบุคคลที่ไป ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด เราเป็นบุคคลที่อยู่ นั่ง กิน ดื่ม นอนหลับ เราเองเป็นผู้กระทำ ถ้าเราเป็นบุคคลที่รักษาศีลหรือให้ทาน เราสามารถปฏิบัติได้ และถ้าเราเป็นบุคคลที่ไม่เคยกระทำสิ่งเหล่านี้ เราก็สามารถปฏิบัติได้เช่นเดียวกัน การช่วยเหลือบุคคลอื่นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ดีในทางโลก ส่วนการปฏิบัติเจริญสติ สมาธิ ปัญญา นั้นดีในทุกๆ ทาง 
   
   ดังนั้นก่อนที่เธอจะสอนผู้อื่นเธอควรจะฝึกฝนตนเองกระทั่งเธอเห็น รู้ และเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งและอย่างแท้จริง เมื่อเธอเห็นจริง รู้จริง และเป็นจริงแล้วเธอจะสามารถสอนผู้อื่นได้อย่างสบาย

ฐิตา:
ดังนั้นการปฏิบัตินี้เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวของเราเอง เราต้องสอนตัวเราเอง เราต้องเห็นด้วยตัวของเราเอง เราต้องรู้ด้วยตัวของเราเองเราต้องเข้าใจด้วยตัวของเราเอง เราต้องทำด้วยตัวของเราเอง

ดังนั้นเธอไม่จำเป็นต้องสนใจในบุคคลอื่น เพียงปฏิบัติการเคลื่อนไหวนี้ให้มาก ทำเฉยๆ ไม่รีบร้อน ไม่ลังเลสงสัย ไม่คาดคิดล่วงหน้า และทำโดยไม่คาดหวังผล ให้ง่ายๆ และเพียงแค่เคลื่อนไหว เคลื่อนไหวทีละครั้ง และรู้ เมื่อเธอไม่รู้ ปล่อยมันไป เมื่อเธอรู้ ปล่อยมันไป บางครั้งเธอรู้ บางครั้งเธอไม่รู้ มันเป็นเช่นนั้น แต่ให้รู้

เมื่อร่างกายเคลื่อนไหว รู้มัน เมื่อจิตใจเคลื่อนไหว รู้มัน การปฏิบัตินี้เป็นการปฏิบัติตลอด ๒๔ ชั่วโมง ดังนั้นให้ผ่อนคลายและให้เป็นธรรมชาติ เป็นปกติธรรมดา จงตั้งใจปฏิบัติจริงๆและปฏิบัติอย่างสบายๆ

วิธีของการเจริญสติในชีวิตประจำวัน       เมื่อเราขึ้นรถหรือลงเรือ และนั่งลงเรียบร้อยแล้ว เราพลิกมือขึ้นพลิกมือลง เราเคลื่อนมือ เหยียดมือ หรือคลึงนิ้วมือ กะพริบตา หายใจกลืนน้ำลาย และอื่นๆ

ให้รู้สึกตัวถึงการเคลื่อนไหวเหล่านี้ มันเป็นวิธีที่เรียกความรู้สึกให้กลับมาที่ตัวของเราเอง เมื่อความคิดเกิดขึ้นให้รู้ถึงความคิดนั้นและปล่อยวาง วิธีของการเจริญสติเมื่อเราอยู่บ้าน   

 เราอาจจะนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งบนเก้าอี้ หรือนั่งเหยียดขา เราอาจจะยืนหรือนอนสร้างจังหวะได้เช่นเดียวกัน     

 เมื่อเราเดินจงกรม (เดินกลับไปกลับมาระยะประมาณ ๘ – ๑๒ ก้าว) เราต้องไม่แกว่งแขน เราอาจกอดอกหรือเอามือประสานไว้ข้างหน้า หรือประสานไว้ข้างหลังก็ได้

ฐิตา:


วิธีปฏิบัติในท่านั่งมีดังนี้
ภาค ๑ : อารมณ์สมมุติ 

   ต้องรู้ รูป-นาม (ร่างกาย-จิตใจ) ต้องรู้ รูปทำ-นามทำ

   ต้องรู้รูปโรค-นามโรค : รูป-โรค-นามโรค มีสองชนิด

โรคในทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง หรือมีบาดแผล เราต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

โรคทางจิตใจ คือ โทสะ โมหะ โลภะ (ความโกรธ, ความหลง, ความโลภ)

   ในการแก้ไขเราต้องใช้วิธีของการเจริญสตินี้     

ต่อไปต้องรู้ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา (ทนไม่ได้, ไม่เที่ยง, บังคับควบคุมไม่ได้)     

แล้วต้องรู้ สมมุติ (สิ่งที่ยอมรับตกลงกัน) ไม่ว่าสมมุติ อะไรในโลกรู้ให้ถึงที่สุด

ฐิตา:
   ภาค ๒ : อารมณ์ปรมัตถ์   

   ใช้สติดูความคิด เมื่อความคิดเกิด รู้มัน เห็นมัน เข้าใจมัน สัมผัสมัน ทันทีที่ความคิดเกิด ตัดมันทิ้งไปทันที
ทำเหมือนแมวตะครุบหนู หรือเหมือนนักมวยที่ขึ้นเวทีต้องชกทันที เขาไม่จำเป็นต้องไหว้ครู ไม่ว่าแพ้หรือชนะนักมวยต้องชก

เราไม่ต้องคอยใครหรือเหมือนกับการขุดบ่อน้ำ เมื่อเราค้นพบน้ำ เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตักโคลน ตักเลนออก ตักน้ำออกจนหมดน้ำเก่าเอาออกให้หมด บัดนี้น้ำใหม่จากภายในจะไหลออกมา เราจะต้องกวนที่ปากบ่อ ล้างปากบ่อ ล้างโคลน ล้างเลนออกให้หมด ทำมันบ่อยๆ น้ำจะใสสะอาดโดยตัวของมันเอง

เมื่อน้ำใสสะอาดมีอะไรตกลงไปในบ่อ เราจะรู้เห็นและเข้าใจทันที การตัดความคิดก็เช่นเดียวกัน ยิ่งเราตัดเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น   

   แล้วให้เราเห็น วัตถุ (สิ่งที่มีอยู่)
   เห็น ปรมัตถ์ (สิ่งที่กำลังมีอยู่เป็นอยู่ สัมผัสอยู่)
   เห็น อาการ (การเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่กำลังมีอยู่)

   วัตถุ หมายถึงของที่มีอยู่ในโลก ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวคนและจิตใจของคนและสัตว์
   ปรมัตถ์ หมายถึงของที่มีอยู่จริง เรากำลังเห็น กำลังมี กำลังเป็น เดี๋ยวนี้ต่อหน้าต่อตาของเรา สัมผัสอาการได้ด้วยจิตใจ
   อาการ หมายถึงการเปลี่ยนแปลง สมมุติเรามีสีย้อมผ้าอยู่เต็มกระป๋อง เดิมคุณภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเรานำมาย้อมผ้ามันจะติดเนื้อผ้าร้อยเปอร์เซ็นต์

เมื่อเรารู้ เราเห็น เราสามารถสัมผัสด้วยจิตใจ สียังเต็มกระป๋องเหมือนเดิม แต่คุณภาพได้เสื่อมไปแล้ว นำมันไปย้อมผ้ามันจะไม่ติดเนื้อผ้า สิ่งที่เราต้องเห็นจริงๆ ต้องรู้จริงๆ     
แล้วเห็น โทสะ โมหะ โลภะ

ฐิตา:
แล้วให้เราเห็น เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ (การรู้สึก-การจำได้-การปรุงแต่ง-การรับรู้)
เห็นมัน รู้มัน และสัมผัสมัน เข้าใจสิ่งนี้จริงๆเราไม่ต้องสงสัย     

บัดนี้ จะเกิด ปีติ (ความยินดี) ขึ้นเล็กน้อย แต่ปีติเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติในชั้นสูง เราไม่ต้องสนใจกับปีตินั้น
เราต้องมาดูความคิด นี้คือจุดเริ่มต้นของอารมณ์ปรมัตถ์ของการเจริญสติแบบนี้ของผู้มีปัญญา     

ดูความคิดต่อไป จะเกิดความรู้หรือ ญาณ หรือ ญาณปัญญา(ความรู้ของการรู้) ขึ้น       
เห็น รู้ และเข้าใจ กิเลส (ยางเหนียว) ตัณหา (ติด, หนัก)
อุปาทาน (ไปยึดไปถือ)
และ กรรม (การกระทำหรือการเสวยผล) ดังนั้นความยึดมั่นถือมั่นจะจืดลง จะหลุดตัวออก จะจางหายไป
เหมือนดังสีที่คุณภาพเสื่อมไปแล้ว ไม่สามารถจะย้อมติดผ้าได้อีก

จะเกิดปีติขึ้นอีก เราต้องไม่สนใจในปีตินั้น ถอนความพอใจและความไม่พอใจออกเสีย     

ดูความคิดต่อไป ดูจิตใจที่กำลังนึกคิดอยู่ จะเกิดญาณชนิดหนึ่งขึ้นเห็น รู้ และเข้าใจ
ศีล ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ หรือ

   อธิศีลสิกขา (ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัด อบรมในทางความประพฤติอย่างสูงๆ”)
   อธิจิตตสิกขา (“ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมในทางจิตเพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง”)
   อธิปัญญาสิกขา (“ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมในทางจิต เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูงในทางหลุดพ้นหรือถอนราก”)
   ขันธ์ หมายถึง รองรับหรือต่อสู้สิกขา หมายถึง บดให้ละเอียดหรือถลุงให้หมดไป

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version