อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > พระอริยบุคคล

คำสอนท่านก.เขาสวนหลวง (นิสัยเถื่อน)‏

<< < (3/7) > >>

lek:
ก. เขาสวนหลวง ๑๗ มีนาคม ๒๔๙๗
หมายเหตุ สรุปแนวทางการปฏิบัติธรรมนี้ ท่าน ก. เขาสวนหลวง
ได้เรียบเรียงเขียนขึ้นด้วยตนเอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗
เพื่อพิมพ์ในหนังสืออ่านใจตนเอง ท่าน ก. ได้สังเกตพิจารณา
ศึกษา ค้นคว้า และปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ตามแนวนี้มาด้วยตนเอง และเป็นแนวทางที่ท่านได้ย้ำอธิบาย
แก่ผู้ปฏิบัติธรรม ณ เขาสวนหลวงเสมอมา

ผู้ปฏิบัติควรศึกษาให้เข้าใจเป็นลำดับไป ดังนี้
การศึกษาที่เรียนรู้ได้ง่าย ทำได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกาล
ทุกขณะได้ผลทันที ไม่ต้องรอรับผลข้างหน้า ก็คือ ศึกษาในห้องเรียน
กล่าวคือในร่างกายยาววา หนาคืบ มีสัญญาใจครอง
ในร่างกายนี้มีสิ่งที่น่าเรียนรู้ตั้งแต่ขั้นหยาบจนถึงขั้นละเอียด

ขั้นของการศึกษา
ก.เบื้องต้นให้รู้ว่า กายนี้ประกอบขึ้นด้วยธาตุต่างๆ
ส่วนใหญ่ได้แก่ดิน น้ำ ลม ไฟ
ส่วนย่อย ได้แก่ ส่วนที่จับติดอยู่กับส่วนใหญ่
เป็นต้นว่า สี กลิ่นลักษณะ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้มีลักษณะไม่คงทน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เต็มไปด้วยของปฏิกูล พิจารณาให้ลึกจะเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร
มีแต่สภาพธรรมล้วนๆ ไม่มีภาวะที่ควรเรียกว่า “ตัวเรา ของเรา”
เมื่อตามเห็นกายอยู่อย่างนี้ชัดเจนก็จะคลายความกอดรัด
ยึดถือในกายว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขาเป็นนั่น เป็นนี่เสียได้
ข.ขั้นที่สองในส่วนของนามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณกำหนดให้รู้ตามความเป็นจริง ล้วนเป็นเอง
ในลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปคือ เกิดๆ ดับๆ เป็นธรรมดา
พิจารณาเห็นจริงแล้วจะคลายความยึดถือในนามธรรมว่าเป็นตัวตน
เป็นเรา เป็นเขา เป็นนั่น เป็นนี่ เสียได้

ค.การศึกษาขั้นปฏิบัติ มิได้หมายเพียงการเรียน การฟัง การอ่านเท่านั้น
ต้องการปฏิบัติให้เห็นประจักษ์แจ้งด้วยจิตใจตนเอง ด้วยการ

๑. ปัดเรื่องภายนอกทั้งหมดทิ้งเสียก่อน มองย้อนเข้าดูจิตใจตนเอง
(จนรู้ว่ามีความแจ่มใส หรือมัวหมอง วุ่นวายอย่างไร)
ด้วยความมีสติสัมปชัญญะกำกับ รู้กาย รู้จิตใจ อบรมจิตทรงตัวเป็นปรกติ

๒. เมื่อจิตทรงตัวเป็นปรกติได้ จะเห็นสังขาร หรืออารมณ์ทั้งหลายเกิดดับ
เป็นธรรมดาจิตจะว่างวางเฉย ไม่ยินดียินร้าย และเห็นรูปนามเกิดดับเองตามธรรมชาติ

๓. ความรู้ว่าไม่มีตัวตนแจ่มชัดเมื่อใด จึงจะพบเข้ากับสิ่งที่มีอยู่ภายในเป็นสิ่งที่พ้นทุกข์
ไม่มีการหมุนเวียน เปลี่ยนแปลง เป็นอมตะ ไม่มีความเกิดความตาย
สิ่งที่มีความเกิดย่อมมีความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา

๔. เมื่อเป็นความจริงชัดใจแล้ว จิตจะวาง ไม่เกี่ยวเกาะอะไร
แม้ตัวจิตเองก็ไม่สำคัญว่าเป็นจิต หรือเป็นอะไร คือ ไม่ยึดถือตัวเอง
ว่าเป็นอะไรทั้งหมด จึงมีแต่สภาพธรรมล้วนๆ เท่านั้น

๕. เมื่อบุคคลมองเห็นสภาพธรรมล้วนๆ อย่างแจ่มแจ้ง
ย่อมเบื่อหน่ายในการทนทุกข์ ซ้ำๆ ซากๆ เมื่อรู้ความจริงฝ่ายโลก
และฝ่ายธรรมตลอดแล้วจะเห็นผลประจักษ์ว่า สิ่งที่หลุดพ้นจากทุกข์นั้น
มีอยู่อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องเชื่อตามใครไม่ต้อง ถามใครอีก
เพราะพระธรรมเป็นปัจจัตตัง คือ รู้เฉพาะตนจริงๆ
ผู้ที่มองเห็นความจริงด้านในแล้ว จะยืนยันความจริงอันนี้ได้เสมอ

รวบรวมข้อปฏิบัติ คำสอน (ท่าน ก. เขาสวนหลวง)
การเกิดมานี้มิใช่เพื่ออะไรอื่น เพื่อจะมีการศึกษาให้รู้เรื่องทุกข์เรื่องเหตุ
ที่ทำให้เกิดทุกข์ และทางดำเนินไปสู่ความดับสนิทแห่งทุกข์
ให้มีความละอาย และมีความกลัวต่อทุกข์โทษนานัปประการ
ให้ค้นหาความจริง จนแน่ใจในตนเองให้ได้ ไม่ต้องไปเชื่อตามใคร
ถ้ามีหลักของพิจารณาตนเองพอสมควร ก็จะรู้เรื่องของกาย ของใจ
ที่มันเป็นกลุ่มของธรรมชาติ ที่มีความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ไม่ใช่ตัวตนถ้ารู้อยู่ในลักษณะอย่างนี้ก็ดับทุกข์ ดับกิเลสได้เรื่อยไป
และจะต้องตรวจกันให้ละเอียด ตรวจให้ลึก จึงจะทำลายโรคกิเลสได้

ขั้นแรก ต้องฝึกฝนอบรมให้จิตสงบ โดยมีกรรมฐานเป็นเรือนที่อยู่ของจิต
และก็ควบคุมอายตนะ ผัสสะให้อยู่ในอำนาจของสติ
แล้วก็คอยเฝ้ามองแต่จิตใจของตนเองทุกอิริยาบถ
อะไรจะเกิดขึ้นมาก็เห็นมันไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป จิตก็เป็นปรกติ
ก็รู้อยู่อย่างนั้น แล้วก็พิจารณาประกอบทุกอิริยาบถ
ฉะนั้นความรู้ที่เป็นการอ่าน การฟัง มันก็เท่ากับเป็นแผนที่อยู่แล้ว
แต่ตัวจริงนี้มันต้องมากำหนด ต้องมารู้ ต้องมาพิจารณา
มันจึงจะปล่อยวางได้เรื่องจริงมีอยู่อย่างนี้ มันจึงจะปล่อยวางได้
ดังนั้นจึงต้องใช้ปัญญาของตนเองเป็นเครื่องมือสำคัญ
การเจริญวิปัสสนาสามารถทำได้ทุกอิริยาบถ กำลังพูด กำลังฟังอยู่เดี๋ยวนี้
ให้รู้แจ้งด้วยใจจริงในลักษณะของความว่าง คือ ฟังให้เข้าใจ
และให้ความรู้สึกอย่างนี้เข้ามาอยู่ในใจด้วย แล้วก็ให้รู้ว่าเสียง
เป็นเพียงสื่อให้เข้าไปรู้ใจเป็นสื่อให้ใจรู้จริง แล้วก็เป็นสื่อให้ใจรู้แจ้ง
แม้จะมีข้อปฏิบัติมากมาย แต่ความสำคัญอยู่ตรงที่หยุด จะต้องย้ำอยู่อย่างนี้
ให้หยุดดูทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นแล้วดับหมด พิจารณาเรื่องนี้เรื่องเดียว
แล้วจะแก้ปัญหาในข้อปฏิบัติได้มากมาย
ขอให้รู้อยู่ตรงจิต ตรงใจทุกขณะไปให้ได้ การปฏิบัติธรรมก็จะเป็นการทำได้ง่ายๆ
จิตก็สงบ มันสงบจากการทำชั่ว ศีลก็บริสุทธิ์อยู่ในตัว
หยุดดู หยุดรู้ หยุดปล่อย หยุดวาง ดับหมด แล้วให้ทรงภาวะของจิตที่มีความรู้
ความรู้ในลักษณะที่ว่างอยู่ในตนเองไว้
ถ้าว่างอย่างนี้ได้ติดต่อ นิพพานก็ปรากฏอยู่ที่จิต เป็นการดับสนิทของทุกข์ได้ทุกขณะ
ดับความโกรธ ความโลภ ความหลงได้ขณะไหน ก็เป็นนิพพานขณะนั้น
เป็นนิพพานทีละเล็กละน้อยไปก่อน จนกว่าเป็นนิพพานจริงคือ
โลภ โกรธ หลง หรือกิเลส ตัณหาสลายตัวหมดสิ้นเหมือนกับตาลยอดด้วนไม่มีงอกเลย
ในขณะที่ตาเห็นรูป จิตนี้ก็ยังเป็นปรกติอยู่ ในขณะที่ฟังเสียง จิตก็ยังเป็นปรกติอยู่
ตลอดจนการได้กลิ่น ลิ้นรู้รส หรือ การสัมผัสผิวกายอะไรขึ้นมานี้
จิตก็มีการดำรงสติอยู่ เป็นอันว่ารู้อยู่โดยเฉพาะตัวจิต ไม่มีการแส่ส่ายไปตามผัสสะ
ความรู้สึกรับสัมผัสอะไรทางทวารนี้ ขอ ให้มองเห็นเป็นธรรมชาติไว้
คือว่าไม่ให้ไปหมายว่ามันดี มันชั่ว หรือมันสุข มันทุกข์อะไรทั้งหมด
ปล่อยวางให้เป็นไปตามธรรมชาติแล้วจิตนี้จะอยู่ในภาวะที่อยู่ในความสงบได้
มันไม่มีเรื่องที่จะคิดนึก ปรุงแต่ง แส่ส่ายไป มันก็สงบตามธรรมชาติของมันได้
การอบรมข้อปฏิบัติในด้านจิตใจนี้เป็นของละเอียด และเป็นของสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้นเราจะต้องสำรวมแล้ว สำรวมอีก ระวังอยู่รอบด้านทีเดียว
เพราะว่ากิเลสเกิดง่ายๆ ถ้าไม่สำรวม ไม่ระวังรักษาตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจไว้
กิเลสสำคัญนัก จะมาเผาให้จิตใจเร่าร้อน เศร้าหมอง

ที่มาhttp://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1145.php
ขอบพระคุณที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=35349

lek:
สัจจะ (คำสอนท่านก.เขาสวนหลวง)

                การมีสัจจะเป็นเครื่องบังคับตัวเอง  เป็นความดี 
เป็นความเหมาะสม  เพราะถ้าไม่มีเครื่องบังคับ  กิเลสตัณหา
มันพาโลเล  เลื่อนลอย  พบอะไรมันก็จะเอา  จะหยิบจะฉวยรวบรัด
เอาเฉพาะหน้า  แบบเห็นแก่ได้

                สัจจะจะช่วยป้องกันความเหลวไหนได้รอบตัว 
คุ้มครองให้ศีลบริสุทธิ์  ผุดผ่องขึ้น  ข้อปฏิบัติอื่นๆ 
ก็เจริญงอกงามตามไป  ทำให้ศีล  สมาธิ  ปัญญา 
ก็คล้อยตามกันไป  เกิดเป็นมรรคเป็นผลเต็มที่

                การมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว  จะเป็นกำลังผลักดัน
ให้ก้าวหน้า  ถ้าไม่มีอย่างนี้มันจะโลเลถอยหลัง 
จะไปเป็นทาสของกิเลสตัณหา

                พอจะมีสัจจะเด็ดขาดขึ้น  อารมณ์โลเลพวกนี้
มันก็ดับหายไปหมด  ไม่มาสอพลออีก  ถ้าไปทำเล่นๆ 
อารมณ์พวกนี้มันหาโอกาสมาแหย่  จะให้เลี่ยงวินัย 
ข้อบังคับ ทีละน้อย

                คนที่ตั้งสัจจะนับว่าเป็นคนเด็ดขาดไม่เหลวไหล 
ถ้าใครยังพูดให้กำลังกิเลสอยู่  คนนั้นเป็นคนเหลาะแหละโลเล
ระวังจะเอาตัวไม่รอด

                จะต้องรู้ว่า  กิเลสตัณหามันก็กลัวการมีสัจจะอยู่เหมือนกัน



............





ผลประโยชน์มากสุด

                คนมีความอดทน  เมื่อกระทบกระทั่งอะไรแล้วก็นิ่งได้ 
สงบได้  พิจารณาปล่อยวางไปได้  ไม่เที่ยวเอะอะโวยวาย
ไปกระทบกระเทือนคนอื่นเขาง่ายๆ  ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนแล้ว 
เป็นอันไม่ถูก  ไม่ชอบทั้งนั้น

                ควรหัดสำรวมระวัง  สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
ก็ให้รู้จักฝึกเลี่ยงหลีกปลีกตัวให้ได้  ศีลจึงจะบริสุทธิ์ 
ผุ้ปฏิบัติจะต้องมีความรุ้สึกอย่างนี้ไว้เป็นประจำ

                อย่างมุ่งแต่แก่งแย่งผลประโยชน์ 
อย่าไปเชื่อกิเลสเชื่อมามากแล้ว  ร้อนรน 
ทนทุกข์มามากน้อยเท่าไรแล้ว?

                ค่อยๆ  ลองคิดทบทวนดู  ผลประโยชน์ที่ได้มานั้น
มันเป็นผลประโยชน์ของกิเลส  หรือประโยชน์ของเรา 
เหนื่อยร้อนอ่อนใจขนาดนั้น  เคยคิด  เคยรู้สึกตัวไหม? 
ผลน่าพึงพอใจคุ้มทุนดีหรือ?

          ควรหมั่นตรวจสอบดู  อย่าทำเฉยเมย
มัวประมาทอยุ่เลยหัดตัวเองให้รุ้จักอดทนยิ่งๆ  ขึ้น 
อดทนต่อแรงยั่วยุของกิเลสแล้ว
จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด  คือ 
จะสามารถดับทุกข์ดับกิเลสได้เป็นลำดับ  มีสันติอย่างนิรันดร

ขอบพระคุณ คุณนริศรา

แก้วจ๋าหน้าร้อน:
 :13: อนุโมทนาครับพี่เล็ก ขอบคุณมากมายครับผม^^

lek:
อันตรายของชีวิต (คำสอนท่านก.เขาสวนหลวง)

            วันเวลาของชีวิตมันนับแต่จะหมดไป  สิ้นไปอยู่ในตัว

                อันตรายของชีวิตมีการเปรียบว่า  เหมือนประทีปที่จุดไว้ในที่แจ้ง 
พายุจะพัดดับเมื่อไรก็ไม่รู้           จะต้องพยายามให้ได้ที่พึ่งของตัวเอง 
ก่อนที่  ความแก่  ความเจ็บ  ความตาย  จะมาถึง

                การปฏิวัติเพื่อสร้างที่พึ่งก็ไม่มีเรื่องอื่น 
มีแต่เรื่องการพิจารณาควบคุมจิตใจ  การพิจารณาให้ปลงตก 
ไม่ยึดมั่นจนสามารถปล่อยวางได้ในที่สุด

                เมื่อรู้ด้วยสติปัญญาออกมาจริงๆ  แล้ว 
มันก็จะปล่อยวางอะไรต่ออะไรออกไปได้เอง 
ทำให้จิตใจเกิดการสงบยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น

                กิเลสตัณหาอุปทานแม้มีมากมาย  มันก็ไม่ได้ไปเกิดที่ไหน 
ล้วนแต่มาเกิดกลุ้มรุมสุมเผาอยู่ที่จิตเท่านั้น

                ถึงแม้ว่ามันจะอาศัยการสัมผัส  และเครื่องอวัยวะที่รับสัมผัสต่างๆ 
เป็นที่เกิด  แต่ในที่สุดแล้วมันก็กลุ้มรุมล้อมเข้ามาที่จิต

                จึงต้องระวังรักษาจิตให้มากเป็นพิเศษ 
ควบคุมจิตไว้ได้อย่างเดียว  ศีลกี่ข้อๆ  ก็จะบริสุทธิ์ขึ้นมาได้

                การที่จะรู้จักใช้  กาย  วาจา  ใจ  ให้เป็นไปด้วยสติปัญญา
จึงเป็นสิ่งที่ต้องฝึกหัดอบรม  ต้องฝึกให้เป็นความเคยชิน

                เท่ากับรู้จักสร้างที่พึ่งของตนเอง  ถึงตอนนั้นแม้ลมพายุจะมา 
วันเวลาของชีวิตจะหมด  เราก็ไม่เสียใจ


ขอบพระคุณ คุณนริศรา

lek:
คำสอน (ท่านก.เขาสวนหลวง)

                พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานมากแล้ว 
แต่คำสอนของพระองค์ยังคงอยู่  ก็อย่างที่พวกเรา
ได้นำมาปฏิบัติดับกิเลสกันอยู่นี้เป็นตัวอย่าง 
ถ้าคำสอนของพระองค์ไม่มีเหตุผล 
ก็คงต้องสูญหายไปนานแล้ว

                นี่เป็นแก่นธรรมแท้  จึงปรากฏคงอยุ่ได้จนปัจจุบัน 
และทำให้เราสามารถนำคำสอนนั้นมาปฏิบัติ  ดับทุกข์ 
ดับกิเลสกันได้จริงตามสติกำลัง

                เราจะต้องพยายามดับความหลงของตนเอง 
เกิดมาจะได้ไม่เสียเที่ยวเสียชาติ

                เมื่ออบรมปฏิบัติพิจารณาเรื่อยไป 
การบรรลุธรรมแต่ละกระแส  จะรวมกำลังกันเข้าทีละน้อย 
ทุกครั้งที่เราเอาชนะได้

                เมื่อมันรวมกำลังมากเข้า 
บางที่อาจจะไปถึงจุดสิ้นสุด เรียกว่าการบรรลุธรรมสูงสุด 
หมดอาสวะกิเลส  (สิ่งหมักหมมต่างๆ  ในใจ)  ไปก็ได้ 
เป็นของไม่แน่  เพราะเป็นปัจจัตตัง (รู้เฉพาะตน) 
ไม่มีใครรุ้ของใครได้

                เมื่ออบรมจิต  ปฏิบัติใจไปอย่างนี้ 
จิตย่อมจะค่อยมีความสะอาด  สว่าง  สงบเพิ่มขึ้นเรื่อยไป 
พอมันรวมจุดขึ้นมา  มันตัดอะไรได้เด็ดขาด 
อาจจะว่า  สำเร็จบรรลุนิพพานได้ ก็ไม่มีใครรุ้ล่วงหน้า

                เป็นอย่างนี้  จะไม่น่าปฏิบัติได้อย่างไร 
ใครจะมาปฏิบัติแทนก็ไม่ได้  ต้องทำเอง 
กิเลสในหัวใจใคร  ก็ต้องดับเอาเองเพราะต่างคนต่างใจ

 
ขอบพระคุณ คุณนริศรา

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version