แสงธรรมนำใจ > จิตวิวัฒน์ กระบวนการนิวเอจ นิเวศแนวลึก

ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว : ภาค ๑ กลับคืนสู่ต้นกำเนิด

(1/4) > >>

มดเอ๊กซ:


ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว
THE ONE STRAW REVOLUTION
ผู้เขียน : Masanobu Fukuoka 1975
ผู้แปล : รสนา โตสิตระกูล ๒๕๓๐
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม ๒๕๓๐



เป้าหมายสูงสุดของเกษตรกรรม
ไม่ใช่การเพาะปลูกพืชผล
แต่คือการบ่มเพาะความสมบูรณ์
แห่งความเป็นมนุษย์
คำนำ


คำนำสำนักพิมพ์้

คำนิยม

คำชี้แจงของผู้แปล
อารัมภกถาำ

บทนำ

บันทึกเกี่ยวกับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ

--------------------------------------------------------------------------------

จาก

http://olddreamz.com/bookshelf/onestraw/onestraw.html

 

มดเอ๊กซ:
คำนำสำนักพิมพ์


                เมื่อใดที่สังคมเกิดวิกฤตการณ์อันไม่อาจแก้ไขได้ด้วยแนวคิดและวิธีการแบบเดิม เมื่อนั้นผู้คนย่อมคาดหวังว่า "การปฏิวัติ" จะสามารถเป็นทางออกของยุคสมัยได้ คนจำนวนไม่น้อยมองไปที่การปฏิวัติโครงสร้างของสังคม และแล้วเราก็ได้เห็นการปฏิวัติทางการเมืองและเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่าในหลายศตวรรษที่ผ่านมา คนอีกมากมีความหวังกับการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและแล้วก็เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติเขียว ล่าสุดคือการปฏิวัติทางสารสนเทศโดยมีคอมพิวเตอร์เป็นสัญลักษณ์ แต่แล้ววิกฤตการณ์ต่าง ๆ ก็ยังเวียนวนไม่จบสิ้น โครงสร้างต่าง ๆ แม้จะถูกถอนรากถอนโคน แต่วิกฤตการณ์ต่าง ๆก็ยังเวียนมาอีกเช่่นเคย เผด็จการโดยคนกลุ่มน้อยผลัดเปลี่ยนกันมาอย่างซ้ำซากโดยที่การปฏิวัติเขียวก็ไม่ช่วยให้ความอดอยากหิวโหยสูญไปจากโลก ซ้ำกลับทำให้การเบียดบังเอาเปรียบคนยากไร้เป็นไปอย่างหนักข้อยิ่งขึ้น

            การปฏิวัติที่แท้จริงนั้น มิได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมหรือการเนรมิตเทคโนโลยีอันมหัศจรรย์ สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปมักมองข้ามก็คือการปฏิวัติทางทัศนคติอย่างถึงรากฐาน วิกฤตการณ์ในปัจจุบัน โดยเนื้อแท้แล้วเป็นวิกฤตการณ์ทางด้านแนวคิดและทัศนคติขั้นปฐมฐาน เราจำเป็นต้องกลับมามองที่ทัศนคติพื้นฐานของเรา อันได้แก่ ทัศนคติต่อธรรมชาติ และทัศนคติต่อตัวเราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นเพราะเราเห็นธรรมชาตินั้นไร้ชีวิตจิตใจ เราจึงครอบงำเบียดบังธรรมชาติเพียงเพื่อปรนเปรอตัณหาและสนองความยิ่งใหญ่ที่เราเข้าใจว่ามีอยูในตัวเรา โดยไม่คำนึงถึงความพินาศของระบบนิเวศน์ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลก เป็นเพราะเราเข้าใจอย่างฉาบฉวยว่า ธรรมชาติเป็นดังเครื่องจักรที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่แยกจากกันดังฟันเฟือง เราจึงแยกทุกสิ่งทุกอย่างออกเป็นส่วน ๆ แยกสัตว์ออกจากป่า แยกต้นไม้ออกจากภูเขา แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ จนแม้กระทั่งกายและใจก็ถูกแยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ จนต่อกันแทบไม่ติด แล้วเราก็ปรนเปรอตัวเองด้วยวัตถุที่ตักตวงจากธรรมชาติอย่างมโหฬาร จนเกิดวิกฤตการณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และในระบบนิเวศน์ทั้งระบบ

            เราจำต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติขั้นพื้นฐาน เราจะต้องลดความเชื่อมั่นในโลหะและคอนกรีต และหันมาศรัทธาในพื้นดิน ลำธาร และต้นไม้กันให้มากขึ้น มองให้เห็นถึงคุณค่าและศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน และจะต้องร่วมมือกับธรรมชาติยิ่งกว่าที่จะเอาชนะคะคานธรรมชาติ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติอย่างประสานกลมกลืน ยิ่งกว่าที่จะตั้งตัวเป็นเอกเทศเพื่อครองความเป็นเจ้าเหนือธรรมชาติในที่สุด

            ปฎิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว เป็นเรื่องของชาวนาผู้หนึ่งซึ่งได้ผ่านการปฏิวัติทางทัศนคติอย่างถึงรากฐาน เป็นการปฏิวัติอันเนื่องจากฟางข้าว ซึ่งได้แสดงให้เขาประจักษ์ว่า ธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่กว่าสารเคมีและประดิษฐกรรมทางวิทยาศาสตร์ทั้งปวง การค้นพบดังกล่าวมิเพียงแต่จะมีความหมายต่อเกษตรกรรม ซึ่งกำลังมาถึงจุดอุดตัน มันเป็นผลจากการปฏิวัติเขียวที่เห็นเทคโนโลยีเป็นคำตอบเท่านั้น หากยังมีความหมายต่ออารยธรรมมนุษย์อย่างสำคัญ ในยุคสมัยที่มนุษย์ทั้งมวลกำลังประสบกับความอับจนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ชนิดที่อาจมีผลทำลายมนุษยชาติให้สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปนั้น มาซาโนบุ ฟูกูโอกะได้บอกให้เรารู้ว่า ฟางข้าวนั้นสามารถปฏิวัติยุคสมัยให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไปได้ การปฏิวัติดังกล่าวก็คือการปฏิวัติทางทัศนคติ ที่มีความตระหนักและสำนึกในคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ซึ่งดูเผิน ๆ แล้วเหมือนว่าไร้ค่า ดังที่เราทั่วไปมักมองเช่นนั้นกับฟางข้าวในท้องทุ่ง นี้แหละคือการปฏิวัติที่แท้จริงที่ยุคสมัยของเรากำลังต้องการอย่างยิ่งยวด

            ปฎิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว เป็นงานเล่มแรกของ มาซาโนบุ ฟูกูโอกะที่สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทองได้พิมพ์เผยแพร่ต่อผู้อ่านชาวไทย เพื่อเสนอแนวคิดใหม่อันสามารถเป็นทางออกสำหรับสังคมปัจจุบันได้ พอ ๆ กับที่เป็นทางออกของกลุ่มบุคคลหรือปัจเจกชนที่ปรารถนาสังคมใหม่ที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออาทรต่อมนุษย์และสรรพชีวิต ........

มดเอ๊กซ:
คำนิยม


                หากถือตามหลักพุทธศาสนา สรรพสิ่งย่อมเป็นอนิจจัง นั่นคือมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หากสภาพเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งหรือรวดเร็วก็อาจเรียกว่า "การปฏิวัติ" ได้ ซึ่งการปฏิวัตินั้นเองก็อาจกลายเป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ต่อเนื่องกันไปได้อีกเป็นลูกโซ่ ดังเช่น "การปฏิวัติอุตสาหกรรม" ในยุโรปเมื่อคริสตศตวรรษที่ ๑๘ นำไปสู่การขยายตัวของลัทธิอาณานิคมและต่อมาเป็นชนวนให้เกิดมหาสงครามโลกขึ้น เป็นต้น

            ในด้านการเกษตรนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดที่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติก็คือ "การปฏิวัติเขียว" (The Green Revplution) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ ๖ คือประมาณ ๓๐ ปีที่ผ่านมานี้ โดยเริ่มต้นจากเทคโนโลยีการผลิต เช่น การผสมพันธุ์พืชสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูง การใช้สารเคมีชนิดต่าง ๆ เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ตลอดจนสุขภาพอนามัยและระบบนิเวศวิทยาของโลก

            จุดเด่นของการปฏิวัติเขียวอยู่ที่การนำเอาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เละเทคโนโลยี มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอย่างได้ผลชััดเจนดังเช่นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของพันธุ์ข้าว "มหัศจรรย์" ต่าง ๆ เป็นต้น แต่จุดอ่อนของมันก็คือละเลยต่อผลกระทบด้านอื่น ๆ เช่น สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาซึ่งมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง

            โดยอาศัยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ในที่สุด ระบบการเกษตรในแนวทาง "การปฏิวัติเขียว" ก็กลายเป็นนโยบายหลักของแทบทุกประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเกษตรกรต่างถูกชักจูงให้ยอมรับระบบการเกษตรดังกล่าวด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งผ่านระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชนนานาชนิด จนกระทั่งกลายเป็นกระแสหลักของระบบการเกษตรในปัจจุบัน

            กล่าวโดยสรุป ระบบการเกษตรปัจจุบันตั้งอยู่บนหลักการใหญ่ ๆ เพียง ๒ ประการคือ ความมักง่ายและความรุนแรง

            "ความมักง่าย" แสดงออกโดยการมองทุกสิ่งอย่างแยกส่วน เช่น มองเห็นดินเป็นเพียงพื้นที่สำหรับพืชอาศัยยืนต้นและเป็นแหล่งธาตุอาหารเท่านั้นเมื่อดินขาดความอุดมสมบูรณ์ก็เพียงแต่ใส่ธาตุอาหารลงไปโดยตรงในรูปของปุ๋ยเคมี ซึ่งในที่สุดก็พัฒนามาจนไม่ต้องปลูกพืชบนดินก็ได้ กล่าวคือ ปลูกบนกกรวดทรายที่มีสารละลายของธาตุอาหารหล่อเลี้ยงอยู่แทน (Hydroponic)

            ส่วน "ความรุนแรง" จะเห็นได้จากการแก้ปัญหาศัตรูพืช เช่น โรครา แมลง วัชพืชหรือสัตว์อื่น ๆ เช่นหนูนา โดยการฆ่าหรือทำลายโดยตรงด้วยสารเคมีพิษชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยากำจัดเชื้อรา ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช หรือยาเบื่อหนูก็ตาม

            ระบบการเกษตรปัจจุบันพยายามแยกตัวออกจากธรรมชาติ โดยใช้วิธีการควบคุมและบังคับธรรมชาติไปในทิศทางที่มนุษย์ต้องการ เพียงเพื่อสนอง "ความต้องการเทียม" ของคนกลุ่มน้อยที่มีกำลังซื้อ ตัวอย่างเช่น การปลูกพืชเมืองร้อนในประเทศเขตหนาว หรือปลูกพืชเมืองหนาวในประเทศเขตร้อน รวมทั้งการบังคับให้ต้นไม้ออกผลนอกฤดูกาล เป็นต้น

            รูปธรรมอันเป็นผลจากระบบการเกษตรดังกล่าวที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ก็คือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของกิจการกลุ่มบรรษัทผลิตสารเคมีและเครื่องจักรกลที่ใช้ในการเกษตร การล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย หนี้สินต่างประเทศของประเทศเกษตรกรรม ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วไปในฐานะผู้บริโภคผลจากระบบการเกษตรนี้

            และเมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปอีกก็พบว่าแท้จริงแล้ว ระบบการเกษตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้กลับมิได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นดังที่กล่าวอ้างกันมาแต่ต้น หากแต่เป็นระบบที่ด้อยประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการผลิตอาหารให้ได้พลังงาน ๑ แคลอรี่นั้น จะต้องใช้พลังงานในการผลิตถึง ๗ แคลอรี่ ในขณะที่ระบบการเกษตรดั้งเดิมนั้นใช้พลังงานการผลิตเพียง ๑ แคลอรี่ แต่ผลิตอาหารได้พลังงานถึง ๕๐ แคลอรี่ ดังนั้น ระบบการเกษตรในปัจจุบันจึงใช้ทรัพยากรของโลกอย่างฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดและไม่อาจหมุนเวียนกลับมาใช้้ใหม่ได้อีก เช่น น้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุต่าง ๆ เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดของเของเสียซึ่งเป็นพิษต่อดิน น้ำ อากาศ ตลอดจนปนเปื้อนมากับอาหารที่ผลิตได้ เป็นพิษภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย

            ปัญหาอันเกิดจากระบบการเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ทวีความรุนแรงและคับขันยิ่งขึ้นทุกขณะ จนอาจกล่าวได้ว่าใกล้ถึงจุด "วิกฤต" แล้ว เช่นเดียวกับปัญหาด้านอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ฯลฯ

            ทางออกของ "วิกฤตการณ์" ดังกล่าวก็คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้านเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น "การปฏิวัติ" ครั้งใหม่ในระบบการเกษตรของโลก

            ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว ของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เป็นทั้งแนวความคิดและรูปธรรมในการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้านดังกล่าว แต่เป็นการปฏิวัติด้วยฟางเส้นเดียว กล่าวคือเปลี่ยนระบบการเกษตรปัจจุบัน เป็นระบบเกษตรกรรมธรรมชาติ (Natural Farming) นั่นเอง

            ฟูกูโอกะเชื่อว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ไม่รู้อะไรเลย และไม่อาจเข้าใกล้ธรรมชาติได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นกิจกรรมทุกชนิดของมนุษย์จึงไร้ประโยชน์และสูญเปล่า นอกจากกิจกรรมประเภท "อกรรม" (Do-nothing) ซึ่งเป็นการร่วมมือกับธรรมชาติอย่างสอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกันเท่านั้น

            เกษตรกรรมธรรมชาติคือตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมชนิดอกรรม ซึ่งมิได้หมายถึงการไม่ทำอะไรเลย หรือปล่อยตามยถากรรม หากแต่เป็นการงดเว้นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นทุกชนิด ใช้แรงงานที่มีอยู่โดยไม่ใช้แรงงานจากสัตว์หรือเครื่องจักร ไม่พึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก และไม่แยกทุกสิ่งออกจากธรรมชาติ เป็นต้น

            ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายแต่สูงส่งในด้านจิตวิญญาณ มีเวลาเหลือเฟือสำหรับพักผ่อนและทำงานอดิเรกที่เขารัก เช่น การเขียนกวีไฮกุหรือแต่งบทเพลง ฟูกูโอกะได้แสดงให้เราเห็นว่า มนุษย์แต่ละคนมีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยมสำหรับการดำรงชีวิตที่เป็นอิสระและสมบูรณ์ โดยอาศัยเกษตรกรรมธรรมชาติเป็นหนทางที่จะนำไปสู่วิถีชีวิตดังกล่าว

            ดังนั้น ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว จึงไม่ใช่เพียงเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดหรือประสบการณ์ด้านเกษตรเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องชีวิตทั้งชีวิตของชาวนาญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งมีอดีตเป็นนักวิทยาศาสตร์ และมิใช่เรื่องส่วนตัวหรือเฉพาะสำหรับประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องสากลสำหรับมนุษยชาติทั้งปวงบนโลกใบน้อยดวงเดียวกันและยุคสมัยเดียวกันนี้

            สำหรับหนังสือ ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียวนี้ ทราบมาว่าผู้แปลใช้เวลาหลายเดือนในการถอดความจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ด้วยความอุตสาหะและพิถีพิถัน จนทำให้สามารถรักษาอรรถรสและความหมายตามต้นฉบับไว้ได้ครบถ้วน ทั้ง ๆ ที่มิได้สันทัดหรือมีพื้นฐานด้านเกษตรกรรมมาก่อนเลย นับว่าสมควรได้รับการชื่นชมอย่างจริงใจ

            เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลงแล้ว หลายคนคงมีความรู้สึกคล้ายคลึงกันคือเกิดแรงบันดาลใจที่จะเข้าร่วมในขบวนการ "ปฏิวัติ" ด้วยวิถีทางเกษตรกรรมธรรมชาตินี้บ้าง แต่คงจะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่กล้าอุทิศตนดำเนินชีวิตไปตามแรงบันดาลใจดังกล่าวอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่หรือ "การปฏิวัติ" ที่แท้จริงทั้งหลาย ต่างก็เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ด้วยกันทั้งนั้นมิใช่หรือ

เดชา ศิริภัทร
๘ มีนาคม ๒๕๓๐

มดเอ๊กซ:
คำชี้แจงของผู้แปล


                ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว มีชื่อในพากย์อังกฤษว่า The One Straw Revolution ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ และถอดความเป็นพากย์อังกฤษในปีรุ่งขึ้น ส่วนฉบับแปลไทยนี้ตีพิมพ์เผยแพร่โดยมีระยะเวลาห่างจากต้นฉบับเดิมถึง ๑๒ ปี แต่กระนั้น เนื้อหาสาระที่มาซาโนบุกูโอกะตั้งใจสื่อสารกับผู้อ่านยังคงความมีชีวิตชีวา ที่ไม่ล้าสมัยไปตามวันเวลาที่ผ่านไป ทั้งยังกลับจะเป็นการเสนอทางออกให้กับยุคแห่งความตีบตันของเราในขณะนี้อย่างสมสมัย

            ข้าพเจ้าเชื่อว่าใครก็ตามที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ย่อมจะได้รับแรงบันดาลใจจากทัศนคติอันลุ่มลึก และประสบการณ์อันน่าทึ่งผ่านงานเกษตรกรรมของฟูกูโอกะ ดังเช่นที่ข้าพเจ้าได้ประสบสัมผัสจากการอ่านและแปลงานของเขาเล่มนี้ สิ่งที่ฟูกูโอกะได้สื่อสารกับเราด้วยการใช้ชีวิตตลอด ๕๐ ปีกับงานเกษตรกรรมที่เขาได้เลือกแล้วก็คือ "การปฏิวัติ" ที่แท้จริงสามารถเริ่มต้นขึ้นได้จากคนเล็ก ๆ คนหนึ่ง และจากสิ่งธรรมดาสามัญที่ดูเสมือนไร้คุณค่าดังเช่นฟางข้าวในท้องทุ่ง ขอเพียงแต่เราแลเห็นคุณค่าในสิ่งธรรมดาสามัญนั้นอย่างแท้จริง

           ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว เป็นหนังสือหนึ่งในจำนวน ๕ เล่มของฟูกูโอกะ ที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาในขณะนี้ และในจำนวนดังกล่าวมี ๓ เล่มที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นพากย์อังกฤษแล้ว ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว เป็นหนังสือเล่มแรกของฟูกูโอกะ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อเขียนที่เสนอความคิดที่เป็นแม่บทของเขาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ งานเขียนหลังจากนั้นล้วนเป็นการเพิ่มเติมและลงรายละเอียดต่อความคิดพื้นฐานดังกล่าว

            ในฉบับแปลเป็นไทยนี้ ข้าพเจ้าได้ทำนามานุกรมชื่อพืชและสัตว์เฉพาะที่เป็นอาหารเพิ่มเติมไว้ท้ายเล่ม ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความรกรุงรังจากการกำกับชื่ออังกฤษไว้ในเนื้อหา ชื่อเหล่านี้ได้พยายามเทียบให้เป็นไทยมากที่สุด แต่กระนั้นก็ยังมีบางส่วนที่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นพืชและสัตว์ที่หาไม่ได้ในประเทศไทย ซึ่งก็ใช้วิธีเรียกชื่อทับศัพท์ตามต้นฉบับอังกฤษ แม้ชื่อที่ได้เทียบเป็นไทยแล้ว ก็ขอให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจด้วยว่า ชื่อของพืชและสัตว์เหล่านั้นมิได้เป็นชนิดเดียวกันเสียทีเดียวกับที่พบในบ้านเรา โดยมากจะเป็นพืชและสัตว์ที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน ส่วนชนิดพันธุ์อาจแตกต่างกันบ้าง สำหรับพืชและสัตว์ที่ชาวไทยไม่คุ้นเคย ข้าพเจ้าได้พยายามหารายละเอียดเพิ่มลงในนามานุกรมเท่านี้จะสามารถหาข้อมูลได้ โดยหวังว่าเนื้อหาในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านชาวไทยบ้าง นอกจากนี้ยังได้ทำเชิงอรรถเพิ่มเติมในบทแปลนี้ โดยกำกับต่อท้ายว่า ผู้แปล ส่วนเชิงอรรถนอกนั้นเป็นเชิงอรรถของผู้แปลเป็นอังกฤษได้ทำไว้แต่เดิม

            ข้าพเจ้าขอกราบขอบคุณ พระไพศาล วิสาโล ขอขอบคุณ คุณเดชา ศิริภัทร ที่กรุณาช่วยอ่านต้นฉบับ ตรวจแก้และให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับศัพท์เฉพาะทางเกษตรกรรม ขอขอบคุณ คุณสมยศ สุภาพรเหมินทร์ ที่ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มใจในการทำนามานุกรมชื่อพืชและสัตว์ ด้วยการเทียบชื่ออังกฤษให้เป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์จากนั้นจึงเทียบกลับมาเป็นชื่อไทย ซึ่งเป็นงานที่ใช้เวลาและต้องอาศัยความอุตสาหะอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังเอื้อเฟื้อรูปถ่ายของฟูกูโอกะเป็นภาพประกอบในเล่ม ข้าพเจ้ายังได้รับภาพประกอบบางส่วนจาก คุณพิภพ ธงไชย และคุณมานะ วิทยาวัชรินทร์ ซึ่งทั้งสามท่านมีโอกาสได้พบกับฟูกูโอกะที่ไร่นาของเขาเมื่อคราวไปดูงานที่ญี่ปุ่น ข้าพเจ้าขอถือโอกาสขอบคุณในน้ำใจและความเอื้อเฟื้อ คนสุดท้ายที่ข้าพเจ้าไม่อาจจะละเลยกล่าวถึงในที่นี้คือคุณพจนา อรุณสันติโรจน์ ที่ได้อดหลับอดนอนเร่งดีดพิมพ์ต้นฉบับ ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว ให้อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ข้าพเจ้าขอขอบคุณ เพื่อนคนอื่น ๆ และเจ้าหน้าที่ของสำนักพิมพ์ที่ไม่ได้เอ่ยนามในที่นี้ ด้วยความสำนึกว่าความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ล้วนได้รับความเอื้อเฟื้อและช่วยเหลือจากบุคคลเหล่านี้

รสนา โตสิตระกูล
๙ มีนาคม ๒๕๓๐

มดเอ๊กซ:

อารัมภกถา


                ผู้อ่านที่คาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเกษตรเท่านั้น คงจะรู้สึกประหลาดใจที่พบว่าหนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับอาหารสุขภาพ คุณค่าทางวัฒนธรรม ตลอดจนข้อจำกัดของความรู้ของมนุษย์อีกด้วย ส่วนท่านที่อ่านเพราะได้รับคำบอกเล่าว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับปรัชญา ก็คงจะรู้สึกประหลาดใจที่พบว่า หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยความรู้ทางภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการปลูกข้าว ธัญพืชฤดูหนาว ส้ม และพืชผักสวนครัวในไร่นาของญี่ปุ่น

            นี้เป็นความคาดหวังโดยปกติวิสัย เพราะว่าเราคุ้นเคยที่จะคาดหวังบุคคลในลักษณะของผู้เชี่ยวชาญ และหนังสือที่มีเนื้อหาเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งดังที่เราต้องการ จากหนังสือ ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าต่อเราเพราะมันเป็นทั้งคู่มือการปฏิบัติและมีเนื้อหาทางปรัชญาในขณะเดียวกัน เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเกษตรที่จำเป็นและให้แรงบันดาลใจ ด้วยเหตุที่ว่ามันมิใช่เพียงเรื่องราวที่เกี่ยวกับการเกษตรเท่านั้น

            ผู้อ่านที่มีความรู้ย่อมจะตระหนักได้ว่า เทคนิควิธีการของฟูกูโอกะไม่อาจนำมาใช้ได้โดยตรงกับไร่นาส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็ไม่ถูกต้องหากสรุปว่าความรู้ภาคปฏิบัติในหนังสือนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าสำหรับเราเพียงเพราะเหตุผลดังกล่าว สิ่งเหล่านี้ควรค่าแก่การใส่ใจ ด้วยเหตุที่ว่ามันได้เสนอตัวอย่างอันวิเศษว่ามีอะไรที่เราสามารถทำได้บ้าง เมื่อผืนดิน สภาพอากาศและพืชพันธ์ได้รับการพินิจพิจารณาด้วยความสนอกสนใจ ด้วยสายตาแห่งความเข้าใจ และด้วยการเกี่ยวข้องอย่างถูกต้องเหมาะสม หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าเพราะได้ให้คำแนะนำที่น่าใคร่ครวญ และเสริมสร้างแรงบันดาลใจแก่เรา เกษตรกรคนใดก็ตามหากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ย่อมจะพบว่า ความคิดของเขาถูกโน้มนำครั้งแล้วครั้งเล่าจากหน้าหนังสือสู่ไร่นาของตน และจากจุดนั้น จะก่อให้เกิดจุดเชื่อมต่อกับระบบทั้งหมดของการเกษตรกรรมในอเมริกา

            ฟูกูโอกะก็เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ คนในประเทศนี้ ที่มีความเข้าใจล้ำหน้ากว่าคนส่วนใหญ่ที่แลเห็นว่า เราไม่สามารถแยกด้านใดด้านหนึ่งของชีวิตออกจากด้านอื่น ๆ เมื่อเราเปลี่ยนแปลงวิถีการเพาะปลูกธัญญาหารของเรา เท่ากับเราเปลี่ยนแปลงลักษณะอาหาร เปลี่ยนแปลงลักษณะสังคม และเปลี่ยนแปลงค่านิยมของเราไปด้วย ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่ให้ความใส่ใจต่อเรื่องราวความสัมพันธ์ ต่อสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล และต่อความรับผิดชอบในสิ่งที่แต่ละคนรู้

            สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับงานเขียนทางด้านเกษตรกรรมอินทรีย์ (Organic Farming) คงจะแลเห็นความคล้ายคลึงระหว่างงานของฟูกูโอกะกับงานของเซอร์อัลเบิร์ต โฮวาร์ด ซึ่งเป็นผู้วางรากฐานศาสตร์แห่งเกษตรอินทรีย์ในโลกตะวันตก เช่นเดียวกับโฮวาร์ด ฟูกูโอกะก็เริ่มต้นด้วยการเป็นนักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลอง และเริ่มมองเห็นข้อจำกัดของห้องทดลองในเวลาต่อมา โฮวาร์ดได้นำงานของเขาออกจากห้องทดลองมาสู่ไร่นา และเมื่อเขาได้ตระหนักว่าความรับผิดชอบทำให้เขาต้องเริ่มต้นทำตามความเห็นของเขาก่อนที่จะนำเสนอสิ่งนี้ต่อผู้อื่น นี้ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไป ฟูกูโอกะก็ทำในสิ่งเดียวกัน "ในท้ายที่สุดผมได้ตัดสินใจที่จะทำให้ความคิดของผมปรากฏเป็นรูปร่างขึ้น โดยการนำมันมาสู่การปฏิบัติ เพื่อที่จะตัดสินว่าความเข้าใจของผมถูกหรือผิด ผมตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตด้วยการทำการเกษตร.....และนี่คือวิถีทางที่ผมเลือกเดิน" เขายังกล่าวอีกว่า "แทนที่จะพูดอธิบายเป็นร้อย ๆ ครั้ง สู้ลงมือทำตามความเชื่อจะมิเป็นวิธีที่ดีกว่าหรือ" เมื่อผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจที่จะทำตามความเชื่อของตัวเองและเริ่มทำในสิ่งที่เขาพูด เขาได้ทำลายกำแพงแห่งความเป็นผู้เชี่ยวชาญของเขาลง เรายอมรับฟังเขาอย่างที่เราไม่เคยทำมาก่อน นั่นเพราะว่าเขาพูดด้วยหลักฐานซึ่งไม่ใช่จากความรู้เพียงอย่างเดียว เป็นหลักฐานที่ได้จากความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน

            เมื่อฟูกูโอกะพูดถึงเกษตรกรรมแบบ "ไม่กระทำ" (do-nothing) ชาวตะวันตกอาจระลึกได้ถึงข้อความในเซนต์ แมทธิว ๖:๒๖: ที่ว่า "จงดูนกที่บินอยู่บนฟ้าสิ มันไม่ต้องหว่าน ทั้งไม่ต้องเก็บเกี่ยว หรือเก็บสะะสมไว้ในยุ้งฉางแต่กระนั้นพระบิดาบนสวรรค์ก็ประทานอาหารให้มันจนเพียงพอ" ข้าพเจ้ายกตัวอย่างทั้งสองนี้เพื่อจะเตือนให้เราระลึกถึงสถานะอันเหมาะสมของเราในบรรดาสิ่งทั้งหลาย เรามิใช่เป็นผู้สร้างโลกหรือตัวเราเอง เรามีชีวิตอยู่ด้วยการใช้ชีวิต หาใช่สร้างชีวิตไม่ แต่แน่นอนล่ะ เกษตรกรไม่อาจทำการเกษตรโดยไม่ทำงาน เช่นเดียวกับนกที่ไม่อาจมีอาหารโดยไม่ออกหากิน นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ฟูกูโอกะยอมรับอย่างมีอารมณ์ขันว่า "ผมประกาศสนับสนุนเกษตรกรรมแบบ "ไม่กระทำ" และมีคนจำนวนมากมาที่นี่โดยคิดว่าเขาจะได้พบกับดินแดนในฝัน (Utopia) ที่ซึ่งเขาสามารถมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องทำอะไรแม้แต่เพียงการลุกขึ้นจากเตียง คนเหล่านี้ต้องพบกับความประหลาดใจอย่างยิ่ง" ประเด็นโต้แย้งในที่นี้ไม่ใช่การคัดค้านการทำงาน แต่เป็นการคัดค้านงานที่ไม่จำเป็น บางครั้งคนเราทำงานเกินจำเป็นเพื่อให้ได้สิ่งที่เขาปรารถนา และบางสิ่งที่เขาปรารถนาก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับเขา และ "การไม่กระทำ" นี้ยังเป็นปฏิกิริยาของสามัญสำนึกที่ตอบโต้อำนาจของผู้เชี่ยวชาญ ปฏิกิริยานี้ก็คือ "ลองไม่ทำสิ่งนี้ดูสิ ลองไม่ทำสิ่งนั้นดูสิ" นั่นคือวิธีคิดของผม นี่เป็นอาการต่อต้านของเด็ก และคนแก่บางคนที่มีความไม่ไว้วางใจต่อ "ความสมัยใหม่ที่ซับซ้อน" ที่มุ่งรุดไปข้างหน้าโดยปราศจากการตั้งคำถามว่า "เพื่ออะไร"

            ฟูกูโอกะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สงสัยในวิทยาศาสตร์หรือดังที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวิทยาศาสตร์ นี่มิได้หมายความว่าเขาเป็นพวกไม่ปฏิบัติจริงหรือดูถูกในความรู้ แต่ทว่า ความลังเลสงสัยของเขาเกิดจากการปฏิบัติจริง และจากสิ่งที่เขารู้ ฟูกูโอกะก็เป็นเช่นเดียวกับ เซอร์ อัลเบิร์ต โฮวาร์ดที่กล่าวตำหนิความรู้ที่เป็นส่วน ๆ ของบรรดาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งหลาย เช่นเดียวกับโฮวาร์ด เขาต้องการที่จะสืบค้นเรื่องราวที่เขาเกี่ยวข้องอยูในลักษณะที่เป็นองค์รวมของสิ่งนั้น (Wholeness) และเขาไม่ลืมว่าความเป็นองค์รวมนั้นรวมถึงสิ่งที่เขารู้ และสิ่งที่เขาไม่รู้อยู่ด้วย สิ่งที่เขาหวาดเกรงเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์สมัยใหม่ก็คือ ความรู้สึกดูถูกในสิ่งที่เป็นรหัสยนัย ความสมัครใจที่จะลดส่วนของชีวิตมาสู่สิ่งที่สามารถรู้ได้และมีสมมติฐานว่าสิ่งที่ไม่รู้สามารถละเลยได้โดยไมมีผลเสียแต่อย่างไร เขากล่าวว่า "ธรรมชาติที่ถูกรับรู้โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นธรรมชาติที่ได้ถูกทำลายไปแล้ว เปรียบเหมือนภูตผีที่มีแต่โครงกระดูก แต่ปราศจากวิญญาณ" ข้อความดังกล่าวช่างคล้ายคลึงกับน้ำเสียงที่แสดงความไม่วางใจในแบบฉบับแห่งวัฒนธรรมของเรา ซึ่งเขียนขึ้นโดยเวิร์ดสเวิธ :

ความฉลาดอันอยู่ไม่สุขของเรา
ได้ทำลายรูปทรงแห่งความงามของสรรพสิ่ง
เรากระทำฆาตกรรมด้วยการผ่าทุกสิ่งออกศึกษา

            วิธีการของฟูกูโอกะเป็นวิทยาศาสตร์ที่เริ่มต้นและสิ้นสุดลงด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยความตระหนักรู้ว่า สิ่งที่มนุษย์เข้าใจได้ ย่อมมีน้อยกว่าสิ่งที่มีอยู่จริง ดูเหมือนสิ่งที่เขาต้องการจะกล่าวก็คือ หาใช่ความรู้ไม่ แต่เป็นความรื่นรมย์ต่างหากที่ให้ความรู้สัมผัสกับความเป็นหนึ่งของสรรพสิ่ง ซึ่งจะปรากฏขึ้นก็แต่ในขณะแห่งการไม่ยึดมั่นเท่านั้น เราสามารถพบข้อความที่ยืนยันความจริงข้อนี้ได้ในพระคัมภีร์ และในบทกวีของ วิลเลียม เบลก :

ผู้ซึ่งติดยึดอยู่กับความรื่นรมย์
ได้ทำลายปีกแห่งชีวิต
แต่ผู้ซึ่งจุมพิตความรื่นรมย์ขณะที่มันบินจากไป
จะมีชีวิตสถิตในนิรันดรภาพแห่งแสงอรุณ

            ความงดงามเช่นนี้แหละคือต้นธารแห่งปรีชาญาณ (insight) ในทางเกษตรกรรมของฟูกูโอกะ "เมื่อใดก็ตามที่บุคคลประจักษ์แก่ใจในความจริงที่ว่า ความรื่นรมย์และความสุขจะมลายหายไปเมื่อพยายามจะครอบครองมันไว้ เมื่อนั้นสาระของเกษตรกรรมธรรมชาติก็จะเป็นที่เข้าใจได้"

            และเกษตรกรรม "ธรรมชาติ" ซึ่งมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นต้นกำเนิดและเป็นจุดสิ้นสุดนี้เอง ที่มีความเป็นมนุษย์และความเมตตากรุณาในทุกหนทุกแห่ง มนุษย์จะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อเขาทำเพื่อความดีงามของมนุษย์ไม่ใช่เพื่อ "ผลผลิตที่สูงขึ้น" หรือเพื่อ "เพิ่มประสิทธิภาพ" ซึ่งเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานของเกษตรกรรมแบบอุตสาหกรรม ฟูกูโอกะกล่าวว่า "เป้าหมายสูงสุดของเกษตรกรรมไม่ใช่การเพาะปลูกพืชผล แต่คือการบ่มเพาะความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์" เขาได้กล่าวถึงเกษตรกรรมในฐานะที่เป็นมรรควิถีว่า "การอยู่ที่นี่ ดูแลทุ่งนาเล็ก ๆ ด้วยความรู้สึกที่เป็นอิสระในแต่ละวันทุก ๆ วัน นี้คือวิถีดั้งเดิมของเกษตรกรรม" งานเกษตรกรรมซึ่งมีความสมบูรณ์เป็นหนึ่งเดียวจะหล่อเลี้ยงบุคคลทั้งร่างกายและวิญญาณ เรามิได้มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารเพียงอย่างเดียว

เวนเดล แบร์รี่

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version