ผู้เขียน หัวข้อ: รู้จักโลก Post Modern กับ "ธีรยุทธ บุญมี"  (อ่าน 3309 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
รู้จักโลก Post Modern กับ "ธีรยุทธ บุญมี"
« เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2010, 04:47:35 pm »


รู้จักโลก Post Modern กับ "ธีรยุทธ บุญมี"

นักเขียนรางวัล "ศรีบูรพา"
สำรวจดูนักวิชาการไทยที่คนไทยรู้จักมากที่สุด เห็นจะไม่พ้นมีชื่อของธีรยุทธ บุญมี ติดอยู่ใน
อันดับต้นๆ สังคมไทยรู้จักเขามาตั้งแต่เขายังเป็นนักศึกษา ในยุคสมัยที่นักศึกษาเป็นความ
หวังสร้างสังคมใหม่ เมื่อเขานำเพื่อนนักศึกษาต้านสินค้าญี่ปุ่นก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ไม่กี่ปี และต่อเนื่องนับจากนั้นในฐานะผู้นำนักศึกษาผู้เรียกร้องเอกราชประชาธิปไตย

เขานั่งเป็นอาจารย์คณะสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาแล้วหลายปี
ยังคงศึกษาค้นคว้า และสะกิดสะเกานักการเมืองบ้างเป็นครั้งคราว และยังคงสร้างสรรค์งาน
ศิลปะเป็นอดิเรก และเมื่อถึง พ.ศ.2546 คณะกรรมการ "กองทุนศรีบูรพา" พิจารณาให้เขา
เป็น 1 ใน 2 ของผู้ที่สมควรได้รับรางวัลศรีบูรพา ซึ่งเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อเชิดชูนักคิด
นักเขียนที่มีผลงานทรงคุณค่า และมีแบบอย่างชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมีกำหนดมอบรางวัลในวันที่
5 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ เขากล่าวถึงการได้รางวัลนี้กับ "เนชั่นสุดสัปดาห์" ว่า

"ผมถือว่าเป็นหลักไมล์ของผม รู้สึกเป็นเกียรติ เป็นจุดที่ทำให้เราได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นว่า
ชีวิตที่เดินมามันถูกทาง ชีวิตที่เดินมาของผม คือชีวิตที่อยากจะศึกษาค้นคว้าความคิด
ถ่ายทอดความคิด เป็นนักคิด อย่างที่มีคนพูดถึงกันบ้าง ที่ผ่านมาเราก็ทำหน้าที่เหล่านี้
ให้แก่สังคม ศึกษาค้นคว้าค่อนข้างหนัก และผมก็ยังทำต่อไป"

และงานทางวิชาการของเขาชิ้นล่าสุดซึ่งออกมาเป็นหนังสือชุด ความรู้บูรณาการและ
ถอดรื้อ ความคิดตะวันตกนิยม แบ่งเป็น 3 เล่ม ประกอบด้วย

1.ความหลากหลายของชีวิต ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
2.โลก Modern & Post Modern และ
3.ถอดรื้อปรัชญาและศิลปะแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง ก็เป็นที่ฮือฮาในหมู่นักศึกษาที่รัก
ในความรู้ เมื่อเขาวางตัวเองเป็นนักคิด ผลงานชิ้นนี้ ก็คือหลักไมล์อันโดดเด่นบนเส้นทาง
ความคิดของเขาที่มีต่อโลก และเชิญชวนคุณๆ ให้รู้จักโลกด้วยการถอดรื้อ...
อย่างไรที่เรียกว่า โลกยุคหลังสมัยใหม่ (Post Modern) หลังอาณานิคม (Post Colonial)
และหลังตะวันตก (Post Western)

โลกยุคโมเดิร์น คือการบรรยายถึงโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเรื่องของความรู้ทาง
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เรื่องเศรษฐกิจ คือเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมนิยม
ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาขึ้นของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และยังหมายถึงระบบ
การเมืองแบบประชาธิปไตย แบบที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีแนวคิดเรื่อง
สิทธิเสรีภาพ การแสดงออก การเป็นอธิการ (subject) ของความรู้ คุณธรรม พฤติกรรม
การกระทำของคน พูดง่ายๆ คนต้องรับผิดชอบความรู้หรือการกระทำของตัวเอง


ลักษณะเช่นนี้ของโมเดิร์น มีพื้นฐานจาก 2 ส่วน หนึ่งคือ มันถูกผลิตจากนักคิดหรือวัฒนธรรม
ของตะวันตก แต่ทั้งนี้ ถ้าโดยประวัติศาสตร์แล้วก็ต้องบอกว่า เกิดจากการหยิบยืมวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยี หรือความคิดบางส่วนจากโลกมุสลิม จากเกาหลี จากอินเดีย เปอร์เซียฯ อีกทีหนึ่ง
ประการที่สอง ก็คือ ความรู้แบบตะวันตกพยายามที่จะอ้างตัวเองว่าเป็นสากลที่ใช้ได้ทั่วไป
เป็นความถูกต้องกับมนุษย์ทุกคน เพราะฉะนั้นความคิดแบบนี้ก็เป็นความคิดอันเป็นพื้นฐานเพื่อ
สร้างความชอบธรรมให้กับตะวันตกในการจะออกไปทำในสิ่งที่เรียกว่าภารกิจสร้างความศิวิไลซ์
(civilizing mission) หรือภารกิจในการไปพัฒนาให้คนอื่นเจริญ หลังจากที่การล่าอาณานิคม
ถูกต้านทาน จนประเทศอาณานิคมทะยอยได้รับเอกราชเมื่อกลางศตวรรษ จึงต้องเปลี่ยนการ
เข้าไปมีบทบาทในประเทศเหล่านั้นในนามของการพัฒนา นี่คือลักษณะของโมเดิร์น

ส่วนโพสต์ โมเดิร์น ก็คือการตั้งคำถามกับโมเดิร์น การที่มีคนใช้คำว่า โพสต์โมเดิร์น คุณ
ประโยชน์ที่สำคัญก็คือ มันทำให้เราสามารถหวนกลับไปมองสังคมโมเดิร์นหรือพฤติกรรมที่
ผ่านมาของมนุษย์ หรือความคิดความเชื่อของเราอย่างเป็นอิสระมากขึ้น เพราะถ้าเราไม่บอก
ว่า "โพสต์" โมเดิร์น เราก็จะยังจะอยู่ในกรอบของโมเดิร์น หรือยังให้มันครอบเราอยู่ ให้เรา
รู้สึกว่ายังจะต้องก้าวไปข้างหน้า ไปสู่ความเจริญ ยึดถือลัทธิความก้าวหน้า ซึ่งเป็นมิติที่
ควบคู่กับ civilizing mission ของตะวันตก


การบอกว่าโลกเป็น โพสต์ โมเดิร์น หรือเป็นโลกหลังสมัยใหม่ ในเชิงการเมืองนอกจากจะ
ทำให้มนุษย์สามารถมองโลกสมัยใหม่อย่างอิสระ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์มันได้ชัดเจนมากขึ้น
มองมันถนัดขึ้น ในทางความรู้ก็ทำให้หลุดพ้นจากกรอบ สมมติฐานแบบโมเดิร์น อย่างเช่น
ปรัชญาความเป็นสากล ปรัชญาความก้าวหน้า หรือปรัชญาประเภทที่ต้องมีแก่นแท้ มั่นคง
ถาวร เป็นอมตะ ซึ่งเอามาจากคริสต์ศาสนา เรื่องวิญญาณ เรื่องพระเจ้า หรือจากกรีกที่
เรียกว่าภาวะอุดมคติ เป็นต้น เพราะฉะนั้นตัวปรัชญาโพสต์ โมเดิร์น จึงเป็นตัวปรัชญาที่
แย้งกับความเป็นสากล หรือความเป็นแก่นแท้ที่ขัดแย้งไม่ได้ ล้มล้างไม่ได้ ถกเถียงไม่ได้

0 ที่มาของปรัชญาแบบโพสต์ โมเดิร์นมาอย่างไร

ประมาณ 1900 เศษๆ จากปรัชญาภาษาศาสตร์ ก็เกิดเป็นปรัชญาโพสต์ โมเดิร์นขึ้น จน
เป็นกระแสแรงในราวทศวรรษ 1950 ปรัชญาที่บอกว่า ภาษามันเป็นพื้นฐานของมนุษย์
ความเป็นมนุษย์เกิดจากภาษา มนุษย์จะคิดได้ก็ต้องคิดผ่านภาษา ซึ่งทุกคนสามารถ
ทดสอบดูได้ ไม่ว่าจะคิดอะไรจะมีคำมีภาษาเข้ามา นี่เป็นการปฏิวัติทางปรัชญาครั้งใหญ่
จากที่บอกว่าความคิดสำคัญที่สุด จากที่เคยบอกว่าภาษาเป็นเครื่องมือของความคิดเฉยๆ
ทีนี้ภาษากลับมีความสำคัญแล้วเพราะเราจะคิดไม่ได้ถ้าเราไม่มีภาษา ก็เริ่มต้นศึกษาภาษา
เข้าใจภาษา

และอันนี้ก็จะนำไปสู่ทฤษฎีสัมพัทธนิยม (relativism) ซึ่งอธิบายได้ว่า แต่ละวัฒนธรรมก็จะ
มีชุดของค่านิยม ภาษาความคิด หรือความรู้ที่ต่างกัน แต่มีค่าเท่ากัน เพราะสามารถเป็น
ตัวแทนของความรู้ได้เหมือนกัน อีกอันที่เป็นกลางๆ มาหน่อยก็อาจจะบอกว่า มันเป็น
อย่างนั้นจริง แต่พอจะแปลกันได้ แม้จะไม่สามารถแปลได้อย่างตรงตัว อย่างไรก็ตาม
พอถึงจุดบางอย่างลึกๆ เข้าไป เราจะรู้ว่า มันขึ้นอยู่กับรากเหง้าของคำๆ นั้น


อย่างเรายืมคำสันสกฤตมา บางทีคำสันสกฤตก็ไม่ตรงกับที่เราเข้าใจ ยกตัวอย่างเรื่อง Ideal
ของกรีก ที่แปลว่าแบบอุดมคติ หรือภาวะสูงสุดที่เพลโตพูด Ideal คำนี้ คือคำเดียวกับ
เวดอส คือคำเดียวกับเวทย์-เวทย-วิทยา-วิชชา ที่มีรากเดียวกับสันสกฤต แต่จะเห็นว่า
พอไปทางกรีก กลายเป็น แบบมีรูปทรง พอถึงอินเดีย เราก็ไม่แน่ใจว่าอินเดียคิดอย่างไร
กับคำว่าวิชชา แต่ของเราวิชชาหมายถึงความรู้ หรือความคิดของเราก็ไม่มีแม่แบบ (form)
นะ เราไม่คิดว่า ความคิดของเราเป็นทรงกลมซึ่งสมบูรณ์แบบกรีกคิด เราไม่คิดว่า เรามี
ความจริงสมบูรณ์ เป็นฟอร์ม เป็นรูปทรงอุดมคติแบบนั้น แต่รากคำที่มานั้นเป็นคำเดียวกัน
ซึ่งสะท้อนว่าพื้นฐานของคำซึ่งนำมาซึ่งความเข้าใจของแต่ละวัฒนธรรมนั้นจะต่างกันมาก


หรือคำว่า self ของฝรั่ง ที่เราหมายถึงตัวตน คำๆ นี้สำคัญมาก เป็นที่มาหรือเป็นอธิการ
ของความรู้หรือการกระทำของเขานั้น ของเราแต่เดิมไม่มีคำนี้ คำว่า "ตัว" ของเรานั้น
หมายถึงร่างกาย เป็นเนื้อๆ หุ้มด้วยหนัง ส่วน "ตน" ของเรา เป็นลักษณะนามของฤาษีหรือ
ยักษ์ เราเอามารวมกันเพื่อจะอธิบายแนวคิดบางอย่าง

คำว่า "ตัวตน" ของเราเกิดขึ้นเพื่อเอามาใช้อธิบายแนวคิดพุทธ คือความคิดแต่เดิมคนไทยนั้น
ไม่มีสิ่งที่จะมารองรับ กรรม คนไทยจะเชื่อว่า มี "บางอย่าง" ที่มารองรับกรรม ถ้าทำกรรมดี
"บางอย่าง" นั้นจะรับผลดี ถ้าทำกรรมชั่ว "บางอย่าง" นั้นจะมารับกรรมชั่ว "บางอย่าง" นั้นนั่น
แหละที่เราเอาคำว่า "ตัวตน" มาใช้แทน ซึ่งคล้ายกับ self หรือ subject ของตะวันตก ที่
บอกว่าแต่เดิมของไทย หมายถึงในภาษาไตเขิน ไตลื้อ ไตดำ ไตแดง ถ้าทำความผิดก็คือ
ผิดผี เพราะผีเป็นขนบ ผีเป็นกรอบแห่งพฤติกรรมของคน ถ้าทำความผิด ไม่เรียกว่า ผิด
ศีลธรรม แต่เรียกว่า ผิดผี ต้องเสียผี จากนั้นก็หาย ไม่ต้องมีตัวตนไปรับกรรมชั่ว พอเสียผี
แล้วความชั่วนั้นก็หาย เริ่มชีวิตใหม่ ลืมกันไปเลย แต่ของเราสมัยนี้ ถ้าทำชั่วนี่ ติดไปนานนะ
กลายเป็นคนชั่วจนกว่าจะพิสูจน์อีกเยอะมาก นี่คือพัฒนาการ จะเห็นว่า ปรัชญาหรือภาษา
มันมีความลึกซึ้งของมันอยู่


สำนักที่เชื่อว่าพอจะเข้าใจกันได้ หรือภาษาพอจะแปลกันได้ แต่ต้องเข้าใจที่มาที่ไปของมัน
เข้าใจความเหมือนความต่าง และยังอยากจะคงความเป็นสากลหรือจุดร่วมกันของมนุษย์ไว้
สำนักนี้ก็จะถือว่าภาษาพอจะแปลได้ เช่น เราแปล Humanism-Humanity
มนุษยธรรม-มนุษยภาวะ จากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยได้ เราแปลคำว่า Right มาเป็น
คำว่า สิทธิ ได้ มีคำสิทธิมนุษยชนขึ้นมา แล้วควรไหมที่จะยอมรับว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสากล
เรายอมรับว่าเป็นสากล แต่เป็นการยอมรับว่าเป็นสากลในลักษณะที่ไม่ใช่จิตวิญญาณที่มา
จากพระเจ้า แต่ยอมรับความเป็นสากลได้จากหลายๆ อย่าง อาจจะในฐานะที่เป็นจิตสำนึกที่ดี
ของมนุษย์ หรือเป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่เรารู้ว่า มีการเข่นฆ่ากันมานาน
เข้าใจผิดกันมานาน ดูถูกเหยียดหยามเชื้อชาติ และเราจึงเห็นว่าเราควรจะยอมรับความเป็น
สากลในคำๆ นี้ ผมเองก็ค่อนข้างเชื่อแบบนี้นะว่า เราสามารถหาจุดร่วมที่ดีของมนุษย์ได้ นี่ก็
เป็นกลุ่มหนึ่ง


ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ พวกหลังสมัยใหม่ไปเลย คือวิพากษ์ รื้อความคิด เสร็จแล้วจะเป็นอะไร
เขาอาจจะไม่เสนอชัด เพราะเขาถือว่ามีเยอะอยู่แล้ว ก็ขอถอดขอรื้อให้หมด แล้วจะทำอะไร
ต่อก็ว่ากันไป ซึ่งในที่สุด ถอด รื้อ แล้วก็ออกมาคล้ายๆ กัน คือเคารพความหลากหลาย เคารพ
ความแตกต่าง ยอมรับความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน สนใจในเรื่องของการกดขี่ในจุดย่อยๆ
เช่น เรื่องผู้หญิง เรื่องเด็ก เรื่องผิวสี เรื่องเกย์ เลสเบี้ยน ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ถูกกด


หรือแม้กระทั่งเรื่องที่เราเชื่อกันมามาก เช่น "ชาติ" ที่ทุกคนเชื่อกันว่า ทุกคนเกิดมาพร้อมกับ
มีชาติ เป็นชาติไทย ลาว จีน สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแต่ถูกถอดรื้อให้เห็นว่า เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่นะ
สมัยก่อนคนอยุธยาก็ไม่รู้สึกว่าเขาเป็นชาติไทยหรอก เขาก็รู้สึกเขาเป็นคนอยุธยา อาจจะ
เป็นคนไท แต่คำนี้ไม่ได้หมายความจะต้องรักชาติ เคารพสัญลักษณ์ของชาติ สมัยนั้นไม่มี
สิ่งเหล่านี้ถูกถอดรื้อโดยกระแสคิดแบบสมัยใหม่ เพื่อให้คนเข้าใจว่า เอ๊ะ! บางทีเราอาจมี
ความเป็นพลเมืองแบบวัฒนธรรมก็ได้นะ หรือความเป็นพลเมืองแบบภูมิศาสตร์ แบบชาติพันธุ์
ไม่ใช่ชาติอย่างเดียวแบบสมัยนี้ ซึ่งความคิดอย่างนี้ก็ทำให้เกิดความหลากหลายแล้วก็
ยืดหยุ่นในการแก้ปัญหามากขึ้น แล้วก็เกิดความยุ่งยากมากขึ้นในบางด้าน จึงไม่แปลกที่
ความคิดแบบนี้พวกอนุรักษ์นิยมจะปฏิเสธ
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: รู้จักโลก Post Modern กับ "ธีรยุทธ บุญมี"
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2010, 04:49:37 pm »



0 ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานของกระแสคิดแบบหลังอาณานิคม และหลังตะวันตก

โพสต์ โคโลเนียล ก็รับช่วงต่อมาจากโพสต์ โมเดิร์น หัวใจสำคัญก็คือ มองปัญหาเรื่องความรู้ว่า
เป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้โมเดิร์นหรือยุคที่เรียกว่าสมัยใหม่ แต่ปัญหาก็คือ โมเดิร์น
มันมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม มีข้อสมมติฐานที่ผิดพลาด เช่น ความเป็นสากล ความเป็นแก่น
หรือเช่นบอกว่า ผู้ชายต้องเข้มแข็ง ผู้หญิงต้องอ่อนแอ ซึ่งทำให้เกิดการไม่เคารพในสิทธิผู้หญิง
สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้มีการถอดรื้อและการต่อสู้เพื่อสิทธิมันก็ขยายตัวมากขึ้น

เมื่อโพสต์ โมเดิร์นช่วยชี้ปัญหาเรื่องความรู้ในยุคโมเดิร์น โพสต์โคโลเนียล ก็เป็นการมองต่อว่า
ผู้ที่ตกอยู่ใต้อาณานิคม มันไม่ได้หมดไปพร้อมกับการได้รับเอกราชของประเทศ แต่กลายเป็น
ตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นแบบแผนบางอย่าง เป็นแก่นบางอย่างที่ต่ำต้อยกว่าตะวันตก
ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ก็จะถูกจัดโครงสร้างแบบตะวันตก มีการจัดยุคเป็นยุคกรีก ยุค
คลาสสิค ยุคกลาง ซึ่งเป็นยุคตกต่ำ ส่วนใหญ่ประเทศอื่นก็จะชะงักอยู่ที่ยุคตกต่ำ มีกลุ่มเดียว
คือตะวันตกที่ "เกิดใหม่" แล้วพัฒนาต่อมาเป็นโมเดิร์น พัฒนาเป็นอะไรต่ออะไร ที่อื่นยังคงติด
อยู่กับความล้าหลัง ไสยศาสตร์ ความเชื่องมงาย ซึ่งมืดมน Enlighten

จะเห็นว่าศัพท์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นศัพท์ที่แสดงความเหนือกว่าของตะวันตก เพื่อสร้างความ
ชอบธรรมว่า ก็สมควรแล้วที่จะทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเป็นอาณานิคมโดยปริยาย สมควรแล้ว
ที่จะอยู่ใต้อำนาจการปกครองของตะวันตก แล้วการเสนอภาพผู้หญิงในประเทศเหล่านี้ให้เป็น
ในลักษณะวัตถุทางเพศ อย่างเช่น ฮาเล็ม กลายเป็นภาพของผู้หญิงยั่วสวาท แต่ถ้าไปศึกษา
เรื่องพันหนึ่งราตรี จะเห็นเลยว่า ผู้หญิงที่จะไปเป็นคู่ของปัญญาชนมุสลิมเหล่านั้น จะต้องรอบรู้
ทางด้านปรัชญา ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เพราะยุคนั้น จักรวรรดิมุสลิมรุ่งเรืองมาก แบกแดดนั้น
เจริญรุ่งเรืองในขณะที่เมืองหลวงอื่นๆ ของตะวันตกตอนนี้ยังเป็นชนบทอยู่

สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างให้ผิดไปจากความจริง ผู้หญิงในประเทศอาณานิคม จึงเป็นวัตถุทางเพศ
ส่วนผู้ชายก็เป็นแรงงาน และนี่คือประเทศที่ตกอยู่ในอาณานิคมเผชิญ พวกโพสต์ โคโลเนียล
เขาก็จะถกกันในปัญหาที่เขาเผชิญโดยตรง ประสบการณ์เขาก็จะเป็นชุดหนึ่ง

0 โพสต์ เวสเทิร์นจึงเป็นศัพท์ที่นำมาใช้กับประเทศที่ไม่ได้เป็นอาณานิคมแต่ถูกครอบงำจาก
ตะวันตกอย่างประเทศไทย
จริงๆ แล้ว ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากเท่าไร เพราะตะวันตกก็ใช้อิทธิพลทางความคิด ทางวัฒนธรรม
ทางอำนาจการเมือง เข้ามามีอิทธิพลต่อเราเหมือนกัน จึงต้องถอดรื้อความคิดที่ฝังลึกและ
ครอบงำเราอยู่ เรามักจะบอกว่า เราต้องภูมิใจที่เราไม่ได้เป็นอาณานิคม เราเป็นชาติเอกราช
แต่ความภูมิใจแบบนี้ทำให้โอกาสที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์ มีสติ (reflexive) มองดูปัญหาของเรา
ที่บางทีถูกเขาครอบถูกเขากดอยู่จึงน้อยไป มัวแต่ชื่นชมตัวเองว่า เรามีศักดิ์ศรี แต่ที่จริงมัน
กลับขาดศักดิ์ศรี เพราะพอไปดูความคิดแบบตะวันตกในสังคมไทย จะเห็นว่ามันฝังลึกอยู่ใน
ทุกที่ ในตำรา ในหลักสูตร อยู่ในราชการ ในเทคโนแครต ในการพัฒนาประเทศ อยู่ในฐาน
รากสำคัญๆของประเทศหมดเลย

0 ตอนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมช่วงทางสายไหมนี่มันไม่มีลักษณะวัฒนธรรมที่เหนือกว่า
ครอบงำหรือ
ความสัมพันธ์แบบไม่เท่าเทียมกันนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่พอมาถึงยุคนี้ เนื่องจากความเป็นระบบ
มันสูง การค้าเศรษฐกิจมีทั้งสิ้นค้าที่ควบคุมตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม วัตถุดิบ ตัวการเงิน
การลงทุน ยังมีทฤษฎีอีก ค่านิยมอีกว่าต้องเป็นแบบอเมริกัน ต้องเป็นผู้ประกอบการ กล้าลุกขึ้น
มาสู้ มาริเริ่ม แต่ถ้าเป็นธุรกิจแบบสนใจสังคมหน่อยอย่างเยอรมัน สนใจวัฒนธรรมหน่อยอย่าง
ญี่ปุ่น หรือแบบเอเชียที่เป็นแบบครอบครัว ก็ถูกมองว่าล้าสมัย เป็นทุนนิยมที่ไม่ดี ตัวความรู้ก็
ซึมเข้าไปในตำราเรียนที่ทุกคนต้องเรียน มีผลครอบงำวงกว้างมากกว่าสมัยก่อนที่มีเฉพาะพระ
ที่ได้เรียน อย่างนี้เป็นต้น

0 การถอดรื้อนี่ เพื่อเหลือความเป็นไทย แต่ถ้าบอกว่าไม่ใช่ ก็ให้เหลือความเป็นเอเชีย
อย่างนั้นใช่ไหม
ไม่ใช่ แต่ถอดรื้อเพื่อพ้น อย่าไปสร้างขั้วตรงข้ามว่าจะต้องเป็นตะวันตก-ตะวันออก แต่ที่ยังต้อง
ใช้คำว่า ตะวันตกอยู่ก็เพราะเป็นคำที่สื่อเพื่อความเข้าใจ แต่ต้องไปให้พ้นการแบ่งขั้ว ไม่ว่าจะเป็น
คู่ตรงข้ามระหว่างพื้นถิ่นนิยมกับจารีตสมัยใหม่ เทคโนโลยี ต้องไปให้พ้นจากขั้วตรงข้ามเหล่านี้
แต่ในวันนี้จะไปทางไหนยังไม่ชัด แต่คนในสังคมต้องตื่นตัว ต้องใช้สติ มีสติ ถอดรื้อมันเพื่อจะหา
ว่าไปทางไหนดี ไม่ตายตัว จะไปในทางพื้นถิ่นนิยม เพราะเห็นแล้วว่า เราเสียเปรียบเขามามาก
ก็อาจจะนิยมของไทยไปก่อน ถัดไปก็ของเอเชีย หรือมองในเชิงการทหารเห็นอเมริการุกอิรัก
หนักเหลือเกิน กลัวว่าจะมาเอเชียเมื่อไร มาเวียดนาม เกาหลีเมื่อไร นโยบายต่างประเทศก็อาจ
จะต้องมีพันธมิตร นี่ก็เป็นเรื่องเฉพาะกิจ แล้วแต่บริบทในแต่ละช่วง แต่ก็วิพากษ์ว่าเพื่อ
ประโยชน์ของใครไปด้วย


0 ในขณะที่การถอดรื้อต่างๆ ทำให้เกิดการเคารพในท้องถิ่นมากขึ้น เคารพความหลากหลาย มากขึ้น แต่โลกาภิวัตน์จะครอบไปหมดทำให้ทุกอย่างเป็นหนึ่งเดียว

คือมองโลกภิวัฒน์ได้หลายมุม ผมเองไม่เคยมองโลกาภิวัตน์แบบ The End of History หรือ
หมดแล้วซึ่งอุดมการณ์อย่างอื่นนอกจากอุดมการณ์เสรีนิยม โลกมันจะเหมือนๆกันไปหมด ซึ่ง
เป็นทฤษฎีพัฒนาเดิม ที่ว่าโลกจากที่ต่างกันมากจะไหลมารวมกันเหมือนๆ กัน แต่ตอนนี้ทฤษฎี
นี้ไม่มีใครเชื่อเลย เพราะพัฒนากันมาตั้งแต่ 1940 กว่าๆ ยิ่งพัฒนายิ่งต่างกัน เกิดลัทธิพื้นฐานนิยม
เกิดอะไรต่างๆ ขึ้นมาเยอะแยะ เพราะฉะนั้นนี่คือความฝันหวานอย่างหนึ่ง ฝันว่าเสรีนิยมจะชนะ
จะครอบงำทั้งหมด เป็นอุตสาหกรรมทั้งหมด เป็นแมคโดนัลด์ทั้งหมด คงเป็นฝันแบบอเมริกัน
ว่าคนจะเลิกกินข้าวเหนียว ลาบ ส้มตำ มากินแฮมเบอร์เกอร์เหมือนๆ กัน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้ามองในแง่ของกรอบ โลกาภิวัตน์มันได้ทำให้กรอบสลายตัวไป ถูกทำให้อ่อนลง การมอง
ภาพใหม่ของการร่วมมือกันเป็นเครือข่าย เปิดกว้างขึ้นในเชิงวัฒนธรรม การเกิดขึ้นของภูมิ
ปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย และชื่นชมซึ่งกันและกัน

มีศัพท์อันหนึ่งที่ดีคือ provincialisation ของยุโรป อเมริกา หรือตะวันตก หรือการทำให้ยุโรป
อเมริกา ตะวันตก เป็นต่างจังหวัด นี่เป็นคำขวัญของพวกหลังอาณานิคม หลังตะวันตก คือแต่
ก่อนตะวันตกเป็นเมืองหลวง อ้างตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางอารยธรรม กระแสต้านจึงออกมาว่า
ก็ทำให้ทุกคนเป็นต่างจังหวัดหมด ไม่มีใครเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกระแสแบบนี้กำลังมา เพราะพลัง
วัฒนธรรมตะวันตกนี่อ่อนลงไปมาก พลังการเมืองก็อ่อนไปมาก จนต้องหันมาใช้แสนยานุภาพ
แบบดิบๆ อย่างในกรณีสงครามอิรักครั้งนี้

0 ถ้าเช่นนั้น โลกข้างหน้าจะยังมียูโธเปียอยู่ไหม ยังมีโลกพระศรีอาริย์อยู่ไหม
คนส่วนหนึ่งยังเชื่ออยู่ แต่ผมค่อนข้างจะเชื่อว่า จะเป็นโลกที่หลากหลาย ถ้าเป็นสายชุมชน
นิยมนั้น เขาอยากจะเห็นโลกที่เล็กลงมา แล้วชื่นชมมนุษยนิยมแบบความสัมพันธ์ซึ่งหน้า
ความใกล้ชิด เป็นพี่น้องเป็นเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจจะมีหลายรูปแบบ อาจจะเป็นชุมชม หรือ
สื่อสารกันผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเป็นชุมชนในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมามันก็เกิดขึ้นมากมาย
เพื่อประโยชน์ในการสู้กับโลกาภิวัตน์ สู้กับความคิดที่มันเอียงข้างไปทางวัตถุนิยม
ไม่ไปสู่จิตใจ

0 งานชุดนี้เป็นงานที่จะพูดได้ว่า รวมความเป็น ธีรยุทธ บุญมี ไว้มากที่สุดไหม เพราะมีทั้ง
ส่วนที่เป็นงาน ส่วนที่ชื่นชอบส่วนตัวคือด้านศิลปะ รวมไปถึงสิ่งที่เป็นพันธกิจของชีวิตใน
การเคื่อนไหวต่อสู้ครั้งอดีตที่ผ่านมา

ก็ต้องถือว่าได้ทุ่มเทให้กับหนังสือชุดนี้ค่อนข้างจะเยอะ หนังสือชุดนี้ใช้เป็นตำราพื้นฐาน
การเรียนการสอนสังคมวิทยามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ด้วย หนึ่ง เพราะผมคิดว่า ความรู้
และตำราที่มีอยู่ มันเอียงไปทางตะวันตกอย่างเต็มที่ แล้วค่อนข้างยาว น่าเบื่อ ไม่เชื่อม
โยงเข้าสู่สังคมไทยได้ บางส่วนที่เป็นปรัชญาก็ไม่เข้าไปสู่แก่นของมัน อย่างคณิตศาสตร์
เราก็รู้สึกเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องทำให้นักศึกษาเข้าใจ เลยพยายามทำอันนี้ขึ้นมา

หนังสือชุดนี้จะเห็นว่า ผมพยายามจะโยงให้เห็นภาพรวมของวัฒนธรรมโลก ทำให้มันไม่
ไกลไปจากเรา ผมพยายามจะทำให้เห็นว่า ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ศิลปะ หรือวัฒนธรรม
ไม่ได้แตกต่างกัน มันเป็นสิ่งเดียวกัน

ที่สำคัญที่จะถือว่าใหม่ หรือผมเสนอขึ้นมาใหม่ในหนังสือเล่มนี้ก็ว่าได้ คือผมไม่แบ่งโลก
เหมือนที่เขาแบ่งกันทั่วไป ในตำราทั่วไป คือตำราประวัติศาสตร์ ตำรามานุษยวิทยาที่แบ่ง
โลกเป็นขั้นต่างๆ อย่างที่เราก็เรียนกันมาหรือสอนกันมา โดยแบ่งเป็นยุคหมู่บ้าน เกษตร
เมือง อุตสาหกรรม ผมรู้สึกนี่เป็นวิวัฒนาการที่ค่อนข้างถูกวิพากษ์มากในช่วงที่ผ่านมา
ว่าเป็นโครงที่ตั้งใจสร้างความชอบธรรมให้กับอุตสาหกรรมนิยม หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ดังนั้นจึงใช้เทคโนโลยีเป็นตัวแบ่ง อย่างเอาเครื่องมือหินใหม่ หินขัด มาเป็นเครื่องมือแบ่ง
มนุษย์ทั้งหมดได้อย่างไร ผมไม่ค่อยเข้าใจ

ในหนังสือชุดนี้จึงเอาวัฒนธรรมเป็นตัวแบ่ง ผมเริ่มต้นด้วยการเป็นมนุษย์เกิดจาการมีภาษา
ภาษาก็คือวัฒนธรรม ภาษาเป็นนามธรรม เกิดจากการคิดขึ้นโดยมนุษย์ และก็คิดต่างๆ กัน
มีสัก 7,000 ภาษา อย่างคำว่า น้ำ แทบจะไม่ซ้ำกันเลย ยิ่งความหมายอย่างคำว่า ความยุติธรรม
ความรัก นี่ยิ่งหนักไปกันใหญ่ น้ำ นี่ยังพอใกล้กัน แต่ความรักนี่ เราไม่รู้ว่าของฝรั่งกับของเรา
นี่เข้าใจเหมือนกันหรือเปล่า
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: รู้จักโลก Post Modern กับ "ธีรยุทธ บุญมี"
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2010, 04:52:42 pm »


0 หนังสือเล่มนี้ที่ถอดรื้อตะวันตก กับภาพของธีรยุทธที่ต้านจักรวรรดินิยมในอดีต เป็นเรื่อง
ที่เชื่อมโยงกันไหม

โดยพื้นฐานชีวิต ผมมาจากครอบครัวที่จน และขมขื่น ชีวิตไม่เคยง่าย ผ่านการทำงานมาอย่าง
ยากลำบาก มาจากการมุมานะ ผมจึงคิดว่า ผมไม่ชิงชัง ไม่เกลียดแค้นตัวเอง ผมรู้สึกว่า พื้นฐาน
ของเรามันทำให้เรามุ่งไปข้างหน้าได้ แบ็คกราวด์ชีวิตครอบครัวเรา มันทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่า
สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ แต่ที่ไม่ชอบมาก ก็เนื่องจากว่า ในภาวะที่หนักอยู่แล้วกับแรงกดดัน
ยังมีความไม่ยุติธรรมเข้ามา เมื่อมันเกิดขึ้น ผมก็ประท้วง อาจจะใจเย็นมากขึ้นในทุกวันนี้
สุขุมมากขึ้น

ที่ผมถือว่าเป็นพันธกิจ ก็เพราะผมเห็นว่ามันไม่ยุติธรรม และมันยังแฝงมาในความรู้ ในการ
หลอกคนให้ชื่นชมว่า เพลงคลาสสิกดีอย่างไร ศิลปะตะวันตกดีอย่างไร ผมเป็นคนชอบศิลปะ
ชอบวาดรูป และก็ชื่นชมศิลปินตะวันตกมากมาย เขาก็มีความสวยงามในศิลปะของเขา มันขึ้น
อยู่กับขนบของยุคสมัย ลักษณะของยุคสมัยทำให้คนคิดอย่างไร มีแรงบันดาลใจอย่างไร ยังขึ้น
อยู่กับวัสดุที่ใช้ที่ทำ สีแต่ละหลอดก็เข้มจางต่างกัน แต่ละคนก็ทุ่มเทจิตวิญญาณลงไปในงาน
แต่ต้องไปชื่นชมแบบไร้เดียงสา ต้องไปชื่นชมอย่างที่ฝรั่งบอกมา เขาสอนเราว่าอะไรดี
อย่างนี้มันไม่ละเอียดอ่อนเท่าที่ควร

วันหนึ่งผมไปพบท่านอังคาร (กัลยาณพงศ์) ก็คุยเรื่องภาพของปิกัสโซ แล้วก็ดูรูปที่ผมวาด
ท่านอังคารก็บอกว่าลายเส้นของปิกัสโซสะท้อนอะไร ทำให้ผมคิดว่า ผมที่ไม่ได้ฝึกมาอีก
20 ปี ก็ไม่มีทางจะทำได้เท่านั้น แต่ท่านอังคารบอกว่า ก็มีบางด้านที่รูปของผมดีกว่า มัน
ก็ทำให้ภูมิใจ

หลังงานนี้เผยแพร่ผ่านสื่อ ดูจะมีข้อโต้แย้งต่างๆ พอสมควร โดยเฉพาะจากคนตะวันตกเอง

นั่นแสดงว่า แม้แต่คนตะวันตกเองก็ตกอยู่ภายใต้บ่วงและวาทกรรมที่เขาสร้างขึ้นเองค่อนข้าง
มากอยู่เหมือนกัน อย่างประเด็นที่โต้มา คนกรีกปัจจุบันเองก็ยังสับสน เพราะกรีกถูกสร้างให้
เป็นเสาหลัก เป็นน้ำพุแห่งอารยธรรมตะวันตก คนกรีกเองยังสับสนว่าตัวเองเป็นอะไรแน่ กรีก
เป็นยุโรปหรือเปล่า เพราะกรีกเป็นเมืองขึ้นของตุรกีมาก่อน แล้วกรีกจะสร้างความเป็นคลาสสิก
ได้อย่างไร ก็เลยต้องสร้างความเป็นกรีกนิยม (Hellenism) ความเป็นลัทธิกรีกนิยมนี่ถูกสร้างขึ้น
ในศตวรรษที่ 18 มาจากหลายสายมาก ทั้งหมดจะไปหนุนกรีกให้ต่อสู้เพื่อเอกราชจากตุรกี ซึ่ง
เป็นมุสลิม กรีกจึงเป็นเหมือนปราการด่านหน้าของยุโรปซึ่งจะทานอำนาจของมุสลิม ตรงนี้ต้อง
เข้าใจว่า กรีกเพิ่งได้เอกราชมาไม่นาน

การตั้งมายาคติว่า ตัวเองมาจากกรีกซึ่งเกิดในสมัยหลัง แบ่งประวัติศาสตร์ใหม่เสีย เริ่มจาก
ยุคกรีกแล้วเสื่อมมาจนถึงสมัยใหม่ แล้วก็เอากรอบนี้ไปยัดเยียดใส่คนอื่นเขาว่า ตัวเองเป็น
โมเดิร์น คนอื่นเป็นยุคกลาง จีน อินเดีย ยังเป็นยุคกลางอยู่ คุณสกปรก คุณยังเชื่อสิ่งที่
เหลวไหลอยู่ เพราะอย่างนั้นเราจึงมีสิทธิที่จะไปครอบครอง

ผมยกอีกตัวอย่าง ปรัชญากรีกนี่เกิดขึ้นหลังอินเดีย หลังพระพุทธเจ้า อย่างศาสนาเชนนั้น
เป็นระบบอย่างมากในการสอบถามความจริงของโลกของชีวิต ทั้งๆ ที่ในปี พ.ศ.เดียวกันนั้น
กรีกยังกระท่อนกระแท่นอยู่ หรือพอมาดู Zoroaster ของเปอร์เซีย ที่มาก่อนกรีกหลายร้อยปี
จะเห็นเลยว่าเขาฉลาดมาก เขาอธิบายจักรวาลในแง่ของความดี กับความชั่ว ความมืดกับ
แสงสว่าง เพื่อให้คนทำสิ่งที่ดี เขาอธิบายจักรวาลและโลกผ่านภาวะนามธรรมการต่อสู้ของ
ภาวะที่ดีและไม่ดี และทั้งหมดที่เป็นเหมือนเทพของเขา เขาก็พูดชัดว่าเป็นนามธรรมนะ เป็น
เครื่องมือที่เขาเอามาสอนให้คนได้เข้าใจ จึงต้องเข้าใจว่าเทพเหล่านั้นไม่มีตัวตน แต่อันนี้กลับ
ไม่ใช่ปรัชญา เพราะปรัชญาต้องเป็นการค้นหาความจริงของโลกโดยไม่เกี่ยวกับเทพเจ้า
หรือความเชื่อ ถ้านิยามแบบตะวันตก

เอาละถ้านิยามใหม่ละว่า ปรัชญาต้องรับใช้ชีวิต คุณจะเห็นเลยว่า ปรัชญากรีกจะมามี
ความหมายก็แถวสมัยโสเกรติสนี่เอง ก่อนหน้านั้นที่บอกว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ไม่มีความหมาย
เพราะเป็นเรื่องของวัตถุธรรมดา ดูความลึกซึ้ง ดูคุณค่า ดูความเป็นระบบ จะเห็นว่า ที่อื่นมา
ก่อนทั้งนั้น แต่ตะวันตกจะเคลมว่า เขาเป็นต้นกำเนิดปรัชญา

ความเป็นยุโรป หรือความเป็น west นี่ก็เพิ่งเกิดในสมัยนั้น เมื่อก่อนยุโรปทะเลาะกันจะตายไป
ตอนนี้ฝรั่งก็ออกมาศึกษามากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ และคงต้องรื้อกันอีกเยอะ



ผ่า! post western - ปลดปล่อยประวัติศาสตร์ให้เป็นอิสระ

ถ้าจะถามว่าปรัชญา post western เป็นระบบคิดแบบใด คำตอบก็คือ ความคิดหลังตะวันตก
post western ไม่ใช่การเสนอระบบคิดใหม่ แต่เป็นการปลดแอกความคิดคนไทยจากการ
ครอบงำโดยตะวันตก ขณะเดียวกัน ก็เป็นการปลดเปลื้องอคติที่ต่อต้าน หรือชื่นชมตะวันตก
อย่างฉาบฉวยด้วย

ธีรยุทธ บุญมี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอบทความ
เรื่อง "ความคิดหลังตะวันตก (Post Western) กับสังคมไทย 2002-2020" ซึ่งทางหนังสือพิมพ์
เดอะเนชั่นจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2545 ที่ผ่านมา

"บทความเขียนมาหลายเดือนแล้ว ทัศนะที่ผมเสนอ คือ โลกยังถูกครอบงำโดยความรู้ หรือ
การศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เขายัดเยียดให้เราเรียนอะไร เราก็เรียนไปโดยคิดว่านี่เป็น
สิ่งที่ดีสำหรับชีวิต เหมือนไปหาหมอแล้วหมอให้ยากิน เราก็เชื่อ เป็นความเชื่อมั่นในระบบใหญ่
ถ้ามองเช่นนี้ มหาวิทยาลัยไทยก็เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเผยแพร่วิธีคิดแบบ Western
มาโดยตลอด"

ธีรยุทธยกตัวอย่างก็คือ ร็อกกี้เฟลเลอร์ เคยมาให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลไทยสมัยรัชกาลที่ 6
บอกว่า แพทย์แผนไทยไม่อยู่ในกรอบของวิทยาศาสตร์ ในที่สุดการแพทย์แผนไทยก็ถูกปัด
ตกไปจากการเรียนการสอน และเพิ่งมารื้อฟื้นเมื่อไม่นานมานี้เอง

"ในการเรียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวรรณกรรมของอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ
เขาแบ่งประวัติศาสตร์เป็นยุคอย่างละเอียด แต่พอเป็นของอารยธรรมอื่น เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น
หรือแม้แต่ของไทย กลับถูกแยกย่อยน้อยลงไป มันเกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัว ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้
เรารู้จักประวัติศาสตร์คนอื่น มากกว่าประวัติศาสตร์ตัวเอง เป็นการครอบงำทางวัฒนธรรมโดย
เราไม่รู้ตัว"

กรอบมุมมองใหม่แบบ post western ซึ่งธีรยุทธนำเสนอก็คือ ถึงเวลาที่เราต้องปลดปล่อย
ประวัติศาสตร์กันเสียที ที่ผ่านมาเราก็สอนเด็กโดยที่เราไม่เคยตั้งคำถามกันเลย เพราะฉะนั้น
ต้องปลดปล่อยในเรื่องจุดกำเนิดของมัน ให้คุณค่ากับระบบคิดทุกอารยธรรม รวมทั้งให้คุณค่า
กับปัญญาชนทุกวัฒนธรรม ให้คุณค่านักคิดนักเขียนในโลกตะวันออกและโลกมุสลิม ฯลฯ

"ที่จริงตะวันตกขอยืมจากโลกมุสลิมไปเยอะ แต่ไม่อ้างอิง ทั้งในประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา
มันหายไป อันนี้เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่จะต้องมองใหม่ มองแบบเชื่อมโยง เป็นเครือข่าย
มากกว่าที่เป็นอยู่"

ธีรยุทธเสนอต่อมาว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ต้องเปลี่ยนจากแนวตั้งไปสู่แนวนอนมากขึ้น
ความจริง ความเป็นกรีก ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความเป็นชาตินิยมของกรีก แล้วตะวันตกไปจับ
เพราะกำลังสร้างประวัติศาสตร์ของตนอยู่ ทั้งๆ ที่กรีกกับตะวันตกก็มีความเชื่อมโยงน้อย มุสลิม
เปอร์เซียซึ่งมาก่อนกรีกก็ถูกกดไว้ มุสลิมก็ถูกลดคุณูปการ จีนกับอินเดียก็ถูกลดคุณูปการใน
เชิงเทคโนโลยี

"การตั้งต้นที่การศึกษาของที่มาจากตะวันตก ทำให้ศิลปวัฒนธรรมก็มีความโน้มเอียงที่จะให้
คุณค่าศิลปะตะวันตกในการตีราคาด้วย อย่างเช่น ในปัจจุบันเริ่มบอกกันว่าคุณค่าอยู่ที่การตีค่า
ของตลาด แล้วเราก็ให้คุณค่าของที่มาจากตะวันตกสูงทุกอย่าง ตั้งแต่สินค้า และความงาม ส่วน
คุณค่าของที่อื่น ของโลกตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นโลกมุสลิม แอฟริกา ให้คุณค่าต่ำหมด ทั้งๆ ที่
ความจริงการให้คุณค่าของสิ่งต่างๆ ขึ้นอยู่กับยุคสมัย และของคนโดยส่วนรวมทั้งหมดในแต่
ละช่วงต่างหาก"

เพราะฉะนั้น แต่ละฉากของประวัติศาสตร์ถูกกำกับโดยค่านิยมเป็นชุดๆ มา ธีรยุทธเสนอว่า
ถ้าเราเปลี่ยนจากความคิดตะวันตกให้เป็น post western ให้ได้ การตีค่าทางสินค้าจะดีขึ้น

"ผมเป็นวิศวกร มาเรียนทางสังคมศาสตร์ ผมยังให้คำตอบไม่ได้ว่า ทำไมคอมพิวเตอร์รุ่น
แพนเทียมโฟร์จึงมีราคาแพงกว่าข้าวหอมมะลิ หรือแพงกว่างานศิลปะของอาฟริกา ถ้าตอบว่า
ลงทุนมากกว่า ทำวิจัยมากกว่าก็น่าตั้งคำถามว่า ทำไมค่าแรงคุณจึงแพงกว่า แล้วทำไมค่าแรง
คนอื่นจึงถูก คุณเก่งกว่าคนอื่นหรือไม่ ถ้าถามไปเรื่อยๆ ผมว่าเขาให้คำตอบไม่ได้"

มันอยู่ที่ว่าอารยธรรมมนุษย์จะให้ค่ากับอะไรมากกว่า ถ้าเรายังเป็น western อยู่ ค่าก็จะเอียง
ไปทางตะวันตก ถ้าเราเป็นอย่างอื่น ค่าก็จะโน้มเอียงมาทางอื่นและมีความชอบธรรม มีความ
ยุติธรรมมากขึ้น (จริงหรือ)

"ถ้าพูดในฐานะคนวาดรูป เราจะเห็นว่าภาพเขียนของจีนจะไม่ด้อยไปกว่าภาพเขียนของ
ตะวันตก มองจากหลายๆ แง่มุม มันมีความงามลึกซึ้งมาก ถ้าไม่ลำเอียง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามี
ความงามไม่น้อยไปกว่าตะวันตก"


" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: รู้จักโลก Post Modern กับ "ธีรยุทธ บุญมี"
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 18, 2010, 04:54:27 pm »

 
 
 
ทำไมศิลปะที่เราถูกสอนกันมาว่าวัฒนธรรมที่ดี ราคาสูง ต้องไปอยู่กับตะวันตก ?

ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
ช่วยสรุปว่าเหตุที่ตะวันตกมีพลังนั้นเป็นเพราะเขาสามารถหาภาษากลาง และสร้างตัวเลขออกมา
ออกมาใช้ เขาจึงสามารถตีคุณค่าของโลกด้วยตัวเลข ดังนั้น เงิน ความรู้ และเหตุผลนั่นเองที่
ทำให้มนุษย์พูดกันรู้เรื่องผ่านตัวเลข ทุกอย่างตีค่าเป็นราคาได้ ความรู้ และตัวเลขเป็นสิ่งสากล
ที่ทำให้โลกตะวันตกมีอำนาจ อนุญาตให้ตะวันตกเป็นผู้ตั้งค่าและสามารถกำหนดค่านั้นเป็น
มาตรฐานกลาง จึงสามารถควบคุมโลกได้

ธีรยุทธย้อนกลับมาที่ปรัชญาความคิดแบบ post western ต่ออีกว่า โดยส่วนตัวผมชอบการมี
เสรีภาพที่พ้นไปจากการพัฒนา เสรีภาพในการตั้งเป้าหมายให้กับสังคม ให้กับชีวิต เสรีภาพ
ในแนวกว้างในการบรรลุเป้าหมาย เสรีภาพในการหลุดจากกรอบดั้งเดิม อันนี้นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า
alternative modernity หรือ alternative post modernity ก็แล้วแต่ แต่เป็นทางเลือกหรือ
เป็นทางเปิดมากขึ้นของโลกยุคหลังการพัฒนา

"ผมคิดว่าสังคมตะวันตกเองกำลังถอดรื้อตัวเอง เขาหันกลับมาอยู่กับไลฟ์สไตล์มากขึ้น ใน
โลกตะวันออก ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ จีน เอเชียจะมีบทบาทมากขึ้น อินเดียก็จะเติบใหญ่
ขึ้นมา ในทางเศรษฐกิจจะบังคับให้เอเชียก้าวออกมา ...ภาวะเศรษฐกิจทำให้ชาวโลกหันมา
ทาง post western มากขึ้น

"ผมไมได้เสนอว่าหลังตะวันตกต้องเป็นใคร ไม่จำเป็นต้องเป็นเอเชีย หรือเป็นที่ไหนสักแห่ง
แต่เป็นเครือข่าย มองวัฒนธรรมอย่างหลากหลายและเชื่อมโยง"

ในบทที่ 3 ของบทความดังกล่าว ธีรยุทธเสนอเรื่อง โลกศตวรรษที่21 จะเป็นอย่างไร จุด
สำคัญคนไทยต้องคิดแบบหลังตะวันตก (post western) ข้อหนึ่งระบุว่า สำหรับประเทศไทย
และ "ประเทศโลกที่สาม" ทั้งหลาย ปรัชญา post western จะมีความสำคัญที่สุด ลักษณะ
สำคัญของความคิดแบบ post western ก็คือการทำให้พ้นจากการยึดเอากรอบตะวันตกเป็น
สรณะ แต่ไม่จำเป็นต้องคัดค้าน หรือมองตะวันตกเป็นสิ่งเสื่อมทรามเสมอ

คำถามก็คือว่า ถ้าเราจะไปให้พ้นจากกรอบตะวันตกแล้วทำไมคนไทยต้องคิดแบบหลัง
ตะวันตกด้วย?

"ผมคิดว่าความรู้สัมพันธ์กับอำนาจ เงินเป็นตัววัดแรงงาน แต่ไม่ได้วัดคุณค่าของมนุษย์ ถามว่า
มนุษย์ทั่วไปตาบอดกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือ ผมว่าไม่ใช่ มนุษย์อยู่บนผลผลิตร่วม
ของโลก ผมคิดว่าที่ผิดก็คือ เพราะคิดว่าเป็นผลผลิตของตะวันตกต่างหาก ตะวันตกใช้เทคโน-
โลยีในการผูกขาดทางการทหาร ทั้งๆ ที่ทุกอย่างคือการยำใหญ่กันของมนุษย์บนโลก ญี่ปุ่นเขา
ผลิตเทคโนโลยีออกมาใช้อย่างสนุกสนาน เพียง 250 ปี เปลี่ยนมือมาตะวันออกค่อนข้างมาก"

การใช้คำว่า "หลังตะวันตก" ก็เพื่อมุ่งปลดปล่อยความคิดแบบตะวันตก ?

"ผมไม่ชอบคำว่า "พัฒนา" เพราะคำนี้ทำให้เกิดความบิดเบี้ยวของการใช้ทรัพยากร ทั้งทาง
เศรษฐกิจ ความคิดไปในกลุ่มนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจกันเท่านั้น เท่าที่ทราบ ประเทศ
ที่ยังมีแผนพัฒนาอาจจมีอยู่ไม่มากนัก ถ้ามีคำว่า "พัฒนา" จะมีผลกระทบเกิดขึ้น ถ้าไม่พัฒนา
คนในประเทศจะมีความสุขมากกว่า"

ธีรยุทธอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมว่า อย่างเช่น การสร้างทาวเฮาส์ โดยภูมิศาสตร์ของเราต้อง
เจอกับน้ำท่วม ถ้าเราศึกษาดีๆ เราจะไม่สร้างบ้านสองชั้น แต่จะสร้างบ้านไม่มีชั้นหนึ่ง แต่มีชั้น
สองเลยแล้วให้ข้างล่างเปิดโล่ง ถ้าบ้านเราอยู่กับน้ำท่วมแล้วไปฝืนน้ำท่วมเป็นไปไม่ได้

"วิศวะอย่างพวกผม เรียนจบกันมาสามปีรู้เรื่องโลกหมดเลย สามารถตัดภูเขาตัดอะไรได้หมด
แต่ไม่รู้เลยว่าชีวิตไมโครเล็กๆ เป็นอย่างไร นั่นอาจจะเป็นข้อผิดพลาดขนาดใหญ่ที่เราต้องกลับ
มาทบทวนมากกว่าการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างเดียว"

โยงกลับที่การศึกษาอีกครั้งหนึ่ง ธีรยุทธแนะว่า การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ทุกระดับ ต้อง
ถอดรื้อ อย่างเช่นเคยบอกว่านักคิดตะวันออกไม่มี นักคิดไทยไม่มี นักคิดอินเดียไม่มี ผมว่า
สร้างได้ เพราะจริงๆ แล้วเรามีอยู่มากมายแต่ไม่เคยถูกอ้างอิง

"ผมคิดว่าการก้าวไปข้างหน้าของของโลกาภิวัตน์ หยุดไม่ได้ก็จริง แต่เราหยุดตัวเราเองได้
เสรีภาพจากการไม่พัฒนาอาจจะยิ่งใหญ่กว่า มันไม่ได้อยู่กับที่ แต่มันทำให้เราเห็นว่าปัญหา
เราคืออะไร แล้วเราจะเลือกเดินไปทางใด เสรีภาพตัวนี้น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่มีความหมายมาก"

อาจารย์สุวรรณาบอกว่า สิ่งที่เราลืมไปในวิชาปรัชญาคือ เราจะดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
อย่างไร รู้สึกว่าความสุขมันหายไปในสิ่งที่เราพูด ความสุขคืออีกข้างหนึ่งของเศรษฐศาสตร์
ความสุขเกี่ยวกับความต้องการ ความทุกข์ก็เกี่ยวกับความต้องการ แต่เศรษฐศาสตร์ ไม่สนใจ
ข้างที่เกี่ยวกับความต้องการ แต่คิดเพียงว่า ทำอย่างไรจึงจะตอบสนองความต้องการให้ได้

"ในประเด็นนี้ศาสนาพูดมาตลอดว่าเราจะจัดการอย่างไรกับความต้องการของเรา แต่ว่า ถ้าเรา
ไม่สามารถจัดการกับความต้องการของเราได้ หรือว่าเราอ่อนแอ เราจะ post capitalist หรือ
ไปให้พ้นจากทุนนิยมคงลำบาก เพราะทุนนิยมเป็นระบบที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างมี
ประสิทธิภาพระบบหนึ่ง"

สุวรรณาช่วยปลดปล่อยความคิดหลังตะวันตก โดยพาผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งหมดเดินทางผ่าน
เรื่องราวของชาวลาวที่เพิ่งไปสัมผัสมาเมื่อสองเดือนก่อนว่า ที่หลวงพระบาง เห็นเด็กเป็น
ร้อยคนกระโดดไปในแม่น้ำว่ายน้ำเล่น เขาไม่ต้องอายที่จะล้าหลัง ไม่ต้องอายที่จะไม่มี
เทคโนโลยี ไม่ต้องอายกับการไม่พัฒนา

"กลับมาสงสัยว่า เราจะพัฒนาไปทำไม ถ้าพัฒนาไปแล้วไม่มีความสุข"

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่สุวรรณายกขึ้นมาเปรียบเทียบ

"ข่าวในเมืองไทยที่เกิดขึ้น มีนักศึกษาขายบริการทางเพศมากขึ้น ส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจทำ
อย่างนี้เพราะอายที่ไม่มีมือถือ แต่ไม่อายที่ขายบริการทางเพศ คล้ายๆ ระบบทุนนิยมทำให้
ความต้องการของเรามีทิศทางที่ชัดเจนบางอย่างว่า ถ้าเราไมได้อย่างนั้นเราจะอาย"

สุวรรณาย้อนกลับมาที่ปรัชญาความคิดแบบ post western ของอาจารย์ธีรยุทธว่า จริงๆ
สิ่งที่ทุนนิยมกดขี่มากที่สุดคือ มันกำหนดขอบฟ้าความต้องการของเราด้วย เราไม่มีเสรีภาพ
ที่จะมีความต้องการโดยไม่ถูกการกำหนดโดยระบบทุน พอกลไกของโลกเป็นแบบนี้ มันเลย
เกิดปัญหาขึ้นว่า คนอีกจำนวนหนึ่งที่ยากจนแล้วไม่มีอะไรเลย เพราะสิ่งที่เขา need ถูกคน
ที่ want ไปหมดแล้ว

"ในที่สุดแล้วเราต้องคิดเหมือนกันว่า ความสุขมันเกี่ยวกับความพอใจด้วย แต่ไม่ใช่แค่การ
ตอบสนองความต้องการแบบไร้ขอบเขต ซึ่งศาสนาให้คำตอบมานานแล้วว่า เสรีภาพที่แท้จริง
กลับไม่ต้องการอะไรเลย"

อย่างที่ รศ.ดร.สุวิชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม จุฬาฯ กล่าวไว้ก็คือ
แทนที่เราจะไปชมสวนคนอื่นก็มาชมสวนของตัวเองกันดีกว่า ก่อนที่จะไม่มีสวนให้ชม!


อ่านเพิ่มเติม
http://www.midnightuniv.org/midschool2000/newpage19.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...