คลิปนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องค่ะ แต่เกี่ยวกับ ‘ตัวตุ่น’
ป้าเห็นว่าขำขันดี ก็เลยขอนำมาพักคั่นเวลา ความยาว 4.19 นาที
Gopher Broke 3Dเมื่อคิดจะเอาชนะใครสักคน(หรือสักตัว) ความคิดนั้นก็สามารถผลักดันให้เราทำทุกอย่าง เพื่อจะได้ชัยชนะ โดยไม่สนใจหรือเผื่อใจคิดว่าจะสูญเสียอะไรบ้าง
ใช่หรือไม่ว่า บ่อยครั้งสิ่งที่เราสูญเสียไป ก็คือ สิ่งที่เราแสนรักแสนห่วง และหมายจะปกป้องนั่นเอง ไม่ว่าทรัพย์สมบัติ บุคคล ความคิด รวมไปถึงชื่อเสียงเกียรติยศ หรืออะไรก็ตาม
เมื่อใดที่เราถือว่ามันเป็นของเรา เมื่อนั้นเราก็กลายเป็นของมันทันที
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบก็คือ เป็นเพราะความยึดมั่นนั่นเอง เมื่อเรายึดมั่นอะไรก็ตาม ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอาสุขหรือทุกข์ของเรา ไปขึ้นอยู่กับสิ่งนั้น ถ้ามันเป็นไปตามใจเรา เราก็สุข แต่ถ้ามันไม่เป็นไปตามใจเรา เราก็ต้องทุกข์ ดังนั้นเราจึงพยายามที่จะควบคุมบังคับมัน ให้เป็นไปตามใจเราให้ได้
แต่ในโลกนี้มีอะไรบ้างที่เราสามารถควบคุมบังคับได้อย่างแท้จริง
อย่าว่าแต่ร่างกายเลย แม้แต่จิตใจ เรายังไม่รู้เลยว่าอีกหนึ่งนาทีข้างหน้า จะคิดอะไรบ้าง ยังไม่ต้องพูดถึงการบังคับให้นิ่งสงบ ดังนั้นยิ่งพยายามควบคุมบังคับให้เป็นไปตามใจ เราก็ยิ่งทุกข์ แม้บางครั้งจะสุข (เพราะมันเป็นไปตามใจเรา) แต่ก็ชั่วคราวเท่านั้น ในที่สุดก็ต้องกลับมาทุกข์ใหม่
น่าแปลกก็คือ เราชอบยึดอะไรต่ออะไรเป็นของเรา ทั้งๆ ที่บางอย่างก็ไม่น่ายึด เช่น ศัตรูของเรา
ศัตรูนั้นเป็นสิ่งที่...น่ามี ...น่าเอา อย่างนั้นหรือ?
แต่ทำไมจึงยึดมาเป็นของเรา ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ไม่มีศัตรูคนไหนที่อยู่ในบังคับบัญชาของเราได้เลย แต่พอเรายึดมาเป็นของเรา เราก็ตกอยู่ในอำนาจของเขาทันที
ถ้าเขาด่า เราก็ทุกข์ / หากเขาโจมตี เราก็โกรธแค้น / ยามเขาได้ดี เราก็อิจฉา
คำถามคือ .....ทำอย่างไรเราจึงจะไม่อยู่ในอำนาจของเขา
คำตอบง่าย ๆ ก็คือ .....เลิกยึดมั่นว่าเขาเป็นศัตรูของเรา ที่จริงไม่ใช่แค่ศัตรูเท่านั้น แม้แต่คนรัก ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเกียรติยศ หรือสิ่งทั้งปวง ก็น่าคลายความยึดมั่น .....ไม่ถือว่าเป็นของเรา
พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง
เราจะมีอะไร ก็มีได้ แต่น่าจะมีให้เป็น คือ ไม่ยึดมั่นว่าเป็นของเรา
เพราะความจริงก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้วคือ .....ไม่มีอะไรที่เป็นของเราจริง ๆ ทรัพย์สมบัติก็เป็นเพียงสิ่งที่เรามีอยู่ชั่วคราว สักวันหนึ่งก็ต้องไปอยู่ในมือของคนอื่น จะโดยความยินยอมของเราหรือไม่ก็แล้วแต่ ดังนั้นแทนที่จะยึดมั่นว่าเป็นของเรา (แล้วต้องทุกข์เมื่อมันหลุดจากมือเราไปหรือกลายสภาพไป) ก็ให้ถือว่าของเหล่านี้มาอยู่ในความดูแลของเราชั่วคราว จะเรียกว่ายืมมาใช้ชั่วขณะก็ได้
การที่พูดว่าทรัพย์สมบัติเป็นเพียงสิ่งที่ยืมมาใช้ชั่วคราว ไม่ได้หมายความให้ละทิ้งความรับผิดชอบ เวลาเรายืมของของใครมา ไม่ว่าโทรศัพท์ นาฬิกา รถยนต์ ใช่หรือไม่ว่าเรามีหน้าที่ช่วยดูแลรักษาให้ดี เพื่อคืนแก่เจ้าของเดิมในสภาพที่ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด แต่หากมันมีอันเป็นไป ก็ต้องพร้อมทำใจ
มีเรื่องเล่าว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์หนึ่ง ได้รับแจกันลายครามอายุหลายร้อยปี และมีราคาแพงมากจากผู้ศรัทธา เวลาศิษย์วัดทำความสะอาดพระตำหนัก พระองค์จะคอยกวดขันดูแลศิษย์ให้ระมัดระวังแจกันนั้นเป็นพิเศษ เวลาศิษย์ขยับแจกัน พระองค์ก็กำชับให้ค่อยๆ จับ เป็นเช่นนี้ทุกครั้ง
แล้ววันหนึ่งศิษย์ก็เผลอ ทำแจกันตกจากโต๊ะ แตกเสียงดังสนั่น พระองค์อยู่ตรงนั้นพอดี เมื่อได้ยินเช่นนั้น แทนที่จะโกรธหรือเสียใจ พระองค์กลับบอกว่า เออ หมดภาระไปเสียที
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นี้ ไม่ได้มีความหวงแหนแจกัน แต่พระองค์ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของพระองค์ ที่จะต้องดูแลแจกันนี้ให้ดีที่สุด แต่เมื่อมีอันเป็นไป ก็ปล่อยวางได้ เพราะพระองค์ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นแจกันนี้มาแต่แรก
พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธการมีทรัพย์ พระพุทธองค์ยอมรับความสุขจากการมีทรัพย์ และการใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันพระองค์ก็แนะว่า จะต้องมีและใช้ทรัพย์อย่างรู้เท่าทัน
สามารถรักษาใจให้เป็นอิสระหรือเป็นนายเหนือทรัพย์ด้วย มิใช่สยบมัวเมาหรือเป็นทาสมัน
กับร่างกายก็เช่นเดียวกัน แทนที่จะยึดมั่นว่ามันเป็นของเรา ควรมองว่ากายนี้เป็นสิ่งที่เราหยิบยืมมา สักวันหนึ่งก็ต้องคืนให้แก่ธรรมชาติไป ในขณะที่อยู่ในความดูแลของเรา เรามีหน้าที่รักษาให้ดี เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องรักษา เหมือนเรือที่ยืมมา หากรั่วก็ต้องซ่อม เพื่อรอวันคืนเจ้าของ
คนรัก .....ลูกหลาน .....พ่อแม่ .....มิตรสหาย เขาก็มีชีวิตของเขา เป็นตัวเขาเอง เขาไม่ใช่ของเรา มิอาจอยู่ในบังคับบัญชาของเราได้ ยิ่งยึดมั่นว่าเป็นของเรามากเท่าไร นอกจากเราจะทุกข์แล้ว การยึดมั่นของเราอาจผลักเขาให้อยู่ไกลจากเราเท่านั้น
ใช่หรือไม่ว่า .....ยิ่งพยายามครอบครอง ก็ยิ่งสูญเสีย
ยิ่งอยากให้เขารัก .....เขาก็ยิ่งหน่ายแหนง แม้แต่งานการที่เราทำมากับมือ ก็หาใช่ของเราจริงๆ ไม่ เราเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่ทำให้งานสำเร็จ แม้จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ แต่ความสำเร็จนั้นล้วนเกิดจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมได้
ดังมีภาษิตจีนกล่าวว่า ‘การกระทำเป็นของมนุษย์ ....แต่ความสำเร็จเป็นของฟ้า’พูดอีกอย่างก็ได้ว่า ‘ความพยายามเป็นของมนุษย์ .....แต่ความสำเร็จเป็นของธรรมชาติ’ธรรมชาติในที่นี้ หมายถึง กระแสแห่งเหตุปัจจัยซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
ถ้าเราทำงานโดยหมั่นยกผลงานให้เป็นของธรรมชาติ เราจะทุกข์น้อยลง เวลาคนตำหนิหรือวิจารณ์ผลงานดังกล่าว .....ขณะเดียวกันจะเปิดใจรับฟังได้มากขึ้น และพร้อมจะแก้ไขปรับปรุง ในทางตรงกันข้ามเมื่อมีคนชม ก็ไม่เหลิงจนลืมตัว
เมื่อใดก็ตามที่เรายึดมั่นถือมั่นในผลงาน ว่าเป็นของเรา
ตัวกู... ของกู จะเกิดขึ้นทันที
ผลที่ตามมาก็คือ เมื่องานนั้นถูกวิจารณ์
ตัวกู ก็จะถูกกระทบอย่างจัง ทำให้เกิดความขุ่นเคืองและไม่อยากรับฟังคำวิจารณ์นั้นต่อไป
ในทำนองเดียวกันเมื่อยึดมั่นความคิดว่าเป็นของเรา ใครที่วิจารณ์ความคิดของกู ก็เท่ากับเล่นงานตัวกู ความไม่พอใจหรือความเป็นปฏิปักษ์จะเกิดขึ้นทันที ส่วนสติและปัญญาจะหายไป ทีนี้จะไม่สนใจแล้วว่า สิ่งที่เขาพูดมานั้นถูกต้องหรือไม่ แต่จะคิดหาทางตอบโต้มากกว่า
คำสอนของท่านพุทธทาสถึงที่สุดแล้ว ความยึดมั่นว่าเป็นของเราเกิดขึ้นได้ เมื่อมี
ตัวกู ของกู ผุดมาเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ
เมื่อมี
ตัวกู ของกู เกิดขึ้น ทุกอย่างก็ถูกดึงมา สนองกิเลสตัวนี้ (หรือความหลง) แต่ยิ่งดึงสิ่งต่างๆ เข้ามาเป็น
ตัวกู ของกู มากเท่าไร เราก็ยิ่งถูกผลักเข้าไปอยู่ในอำนาจของสิ่งเหล่านั้นมากเท่านั้น กลายเป็นทาสของมันไปโดยไม่รู้ตัว
วิธีเดียวที่จะเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านั้น คือไม่ยึดมันมาเป็นของเรา ซึ่งหมายถึงการรู้เท่าทัน
ตัวกู ของกู ไม่ปล่อยให้มันมีอำนาจเหนือเรา
เมื่อไม่ยึดสิ่งต่างๆ มาเป็นของเราแล้ว นอกจากเราจะเป็นอิสระจากสิ่งต่างๆ ไม่สุขหรือทุกข์ไปตามอำนาจหรืออาการของสิ่งต่างๆ แล้ว เรายังจะกลับเป็นนายเหนือสิ่งต่างๆ
คือ สามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์แก่เราอย่างแท้จริง ...มีเงิน ก็ใช้เงินได้อย่างอิสระ
มีชื่อเสียง ก็ใช้ชื่อเสียงให้เกิดประโยชน์ โดยไม่ทุกข์เมื่อเงินหายหรือชื่อเสียงหด ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคลายความยึดมั่น หรือสละสิ่งต่างๆ ออกไป มันกลับหลั่งไหลเข้ามา
นักบวชที่สละทรัพย์สมบัติ และชื่อเสียงเกียรติยศ จะพบว่าทรัพย์สมบัติ และชื่อเสียงเกียรติยศ กลับเข้ามาสยบอยู่แทบเท้า เห็นได้จากพระป่าจำนวนมากที่บรรลุธรรมขั้นสูงและเคร่งครัดในธรรมวินัย คานธี เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคนทียิ่งสละโลก แต่กลับมีอำนาจเหนือโลก ในคริสต์ศาสนา มีนักบุญจำนวนไม่น้อยที่สละทุกอย่าง เช่น นักบุญฟรานซิส แห่งอัสสิสิ หรือนักบุญเบเนดิคท์ แต่ในเวลาไม่นาน ผู้คนก็พากันสละทรัพย์สมบัติและที่ดินให้แก่ท่านมากมาย จนคณะของท่านมีความมั่งคั่งอย่างยิ่ง
แต่ทันทีที่นักบวชรุ่นหลัง หมายมั่นเป็นเจ้าของทรัพย์เหล่านั้น ก็กลับกลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นไป เช่นเดียวกับพระภิกษุจำนวนไม่น้อย ที่ได้รับอานิสงส์จากครูบาอาจารย์ที่สละโลก แต่แล้วกลับเป็นทาสของโลกไปในที่สุด
ยิ่งอยากได้ ก็ยิ่งสูญเสีย / ยิ่งยึดมั่นเป็นเจ้าของ ก็ยิ่งกลับเป็นทาส
แต่เมื่อสละไป ...กลับได้มา
เมื่อไม่ยึดมั่นเป็นเจ้าของสิ่งใด .....สิ่งนั้นก็กลับมาเป็นของเรา
เมื่อคืนทุกอย่างให้แก่โลก .....ทุกอย่างในโลกก็กลับเป็นของเรา
นี้คือความจริงของโลก ที่ดูเหมือนเล่นตลกกับเรา.ธรรมสวัสดี
ร่มไม้เย็น ค่ะ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=trees&month=20-08-2010&group=8&gblog=43