ผู้เขียน หัวข้อ: เต๋าแห่งฟิสิกส์ : บทที่ 5 ศาสนาฮินดู  (อ่าน 1936 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด




ภาคที่ 2    มรรคาแห่งศาสนาตะวันออก


บทที่ 5 ศาสนาฮินดู

ในการที่จะทำความเข้าในปรัชญาใด ๆ ที่จะอธิบายต่อไปนี้จะต้องเข้าใจว่าแก่นแท้ของมันคือศาสนา จุดประสงค์สำคัญของปรัชญาเหล่านี้ก็คือประสบการณ์โดยตรงต่อสัจจะ ซึ่งโดยลักษณะธรรมชาติของประสบการณ์นี้เป็นไปในทางศาสนามันจึงไม่อาจแยกออกจากศาสนา ลักษณะเช่นนี้ปรากฏชัดในศาสนาฮินดูมากยิ่งกว่าธรรมเนียมปฏิบัติอื่น ๆ ของตะวันออก ในฮินดูความเกี่ยวพันระหว่างปรัชญาและศาสนาเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น กล่าวกันว่าแนวคิดแทบทั้งหมดในอินเดียเป็นแนวคิดทางศาสนา และในหลายศตวรรษที่ผ่านมา ศาสนาฮินดูมิได้มีอิทธิพลเฉพาะต่อวิถีชีวิตในทางปัญญาของอินเดียเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งกำหนดสภาพสังคมและวัฒนาธรรมอินเดียด้วยอย่างสิ้นเชิง ศาสนาฮินดูไม่อาจเรียกว่าปรัชญา และไม่เชิงเป็นศาสนาในความหมายดังที่อธิบายกันอยู่หากเป็นระบบสังคม – ศาสนาที่ใหญ่และซับซ้อนประกอบด้วยนิกายและลัทธิย่อย ๆ และระบบปรัชญาจำนวนนับไม่ถ้วน มีพิธีกรรม ประเพณี และระเบียบปฏิบัติมากมาย รวมทั้งการบูชาเทพและเทวีซึ่งมีมากมายเหลือคณานับแง่มุมต่าง ๆ มากมายของระบบนี้ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่ฝังแน่นและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต ได้สะท้อนความซับซ้อนของสภาพภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมของอนุทวีป – อินเดีย คำสอนของศาสนาฮินดูมีทั้งในระดับที่เป็นปรัชญาชั้นสูง รวมทั้งแนวคิดในระดับต่าง ๆ และลึกลงไปถึงการประกอบพิธีกรรมของประชาชนซึ่งบริสุทธิ์ไร้เดียงสาแบบเด็ก ๆ แม้นว่าชาวฮินดูส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นชาวบ้านสามัญ ยังคงรักษาสืบทอดศาสนาของตนไว้อย่างมีชีวิตชีวาในการบูชาประจำวันของพวกเขา ในอีกด้านหนึ่งศาสนาฮินดูก็ยังมีผู้เป็น คุรุ – อาจารย์ ผู้มีชื่อเสียง จำนวนมากที่จะทำหน้าถ่ายทอดญาณทัสนะอันลึกซึ้งของฮินดูได้ ที่มาของคำสอนของศาสนาฮินดูนั้นคือคัมภีร์ พระเวท (Vedas) ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมคำสอนนับแต่โบราณกาล ประพันธ์โดยปราชญ์ชาวฮินดูผู้ไม่ปรากฏนามหลายท่าน มักเรียกกันว่า “ผู้พยากรณ์” พระเวท คัมภีร์พระเวทประกอบด้วยคัมภีร์สี่เล่มด้วยกัน เล่มที่เก่าแก่ที่สุดคือคัมภีร์ ฤคเวท (Rig Veda) คัมภีร์พระเวทซึ่งถูกจารึกด้วยภาษาสันสกฤตโบราณ อันถือเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียยังคงเป็นแหล่งความรู้ที่เป็นที่ยอมรับกันในทุกนิกายของฮินดู ในอินเดีย ระบบปรัชญาใดซึ่งไม่ยอมรับคัมภีร์พระเวทจะถูกถือว่าเป็นระบบปรัชญาที่ไม่ถูกต้อง คัมภีร์พระเวทแต่ละคัมภีร์ประกอบด้วยหลายภาค แต่ละภาคเขียนขึ้นในระยะเวลาต่าง ๆ กัน คงจะอยู่ในระหว่าง 1,500 – 500 ปีก่อนคริสตกาล ภาคที่เก่าที่สุดเป็นบทเพลงและบทสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า ภาคต่อมาว่าด้วยพิธีบวงสรวงบูชาซึ่งเชื่อมโยงกับบทเพลงในพระเวท และภาคสุดท้ายซึ่งเรียกว่า “อุปนิษัท” (Upanishads) เต็มไปด้วยหลักปรัชญาและหลักปฏิบัติ คัมภีร์อุปนิษัทจึงบรรจุแก่นคำสอนของศาสนาฮินดูเอาไว้ มันได้ชี้นำและเร่งเร้าจิตใจอันใหญ่หลวงของอินเดียตลอดเวลายี่สิบห้าศตวรรษที่ผ่านมา ให้สอดคล้องไปกับคำสอนในรูปของบทประพันธ์ของอุปนิษัท: จงรับเอามหาศัสตราวุธแห่งอุปนิษัทดังหนึ่งคันศร หยิบลูกศรซึ่งเหลาให้แหลมคมด้วยสมาธิภาวนาขึ้นพาดสาย เหนี่ยวน้าวด้วยความคิดที่มุ่งตรงต่อแก่นแท้ของสิ่งนั้น ปล่อยมันสู่จุดหมายแห่งอมตะเถิด สหาย (1)

5.1   มหาภารตะ

อย่างไรก็ตาม ชาวอินเดียส่วนใหญ่มิได้รับเอาคำสอนของฮินดูโดยผ่านทางคัมภีร์อุปนิษัท แต่โดยผ่านตำนานต่าง ๆ ซึ่งผูกขึ้นเป็นโคลงเล่าเรื่องราวพื้นฐานของเทพปกรณัมอันงดงามจำนวนมาก หนึ่งในจำนวนนั้นคือ มหาภารตะ (Mahabharata) ซึ่งบรรจุอยู่ด้วยคัมภีร์ ภควัทคีตา (Bhagavad Gita) บทกวีแห่งจิตวิญญาณอันงดงามและเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน โดยทั่วไปจะเรียกว่า คีตา คีตา เป็นบทสนทนาโต้ตอบระหว่างกฤษณเทพกับอรชุนกษัตริย์นักรบที่กำลังตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง เนื่องจากจำต้องต่อสู้กับญาติสายโลหิตของตนในมหาสงครามระหว่างวงศ์ญาติ อันเป็นโครงเรื่องสำคัญของมหาภารตะ พระกฤษณะซึ่งปลอมเป็นสารถีของอรชุน ได้นำอรชุนไปสู่สมรภูมิในระหว่างกองทัพทั้งสองฝ่าย ณ ที่นั้น พระกฤษณะได้เปิดเผยสัจจะแห่งฮินดูธรรมต่ออรชุน เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสภาพภูมิหลังสงครามระหว่างสองครอบครัวก็ได้ลางเลือนไป และที่กลับปรากฏชัดเจนก็คือความจริงที่ว่า การสัประยุทธ์ของอรชุนนั้นเป็นการต่อสู้ของมนุษย์ เป็นการต่อสู้ของนักรบเพื่อค้นหาการรู้แจ้ง พระกฤษณะได้ตรัสแนะนำอรชุนว่า: จงสังหารซึ่งความกังขาอันมาจากอวิชชาในหัวใจของท่าน ด้วยดาบแห่งปัญญา จงรวมร่างกายและจิตใจให้เป็นหนึ่งในโยคะ และจงลุกขึ้นเถิด นักรบผู้ยิ่งใหญ่ จงลุกขึ้นเถิด (2) พื้นฐานแห่งคำสอนของพระกฤษณะ เช่นเดียวกับคำสอนอื่น ๆ ในศาสนาฮินดู คือแนวคิดที่ว่าสิ่งต่าง ๆ และเหตุการณ์ทั้งหลายรอบตัวเรา ซึ่งดูเสมือนว่าหลายสิ่งแตกต่างกันออกไปนั้น แท้จริงเป็นการปรากฏในรูปลักษณ์ต่าง ๆ กันของสัจจะสูงสุดประการเดียว เรียกว่า พรหมัน (Brahman) แนวคิดนี้ทำให้ศาสนาฮินดูมีลักษณะเป็นเอกเทวนิยม แม้ว่าจะมีการบูชาเทพและเทวีที่แตกต่างกันมากมาย สัจจะสูงสุดหรือพรหมันนั้นคือ “วิญญาณ” หรือแก่นแท้ภายในของสรรพสิ่งเป็นอนันต์ และไปพ้นความคิดทุกชนิด ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยความชาญฉลาด ทั้งไม่อาจกล่าวอธิบายได้ด้วยภาษา “พรหมันไม่มีต้นกำเนิดสูงสุด ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอะไร หรือมิใช่อะไร” (3) “ “วิญญาณสูงสุดนั้น ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยความคิดนึกสามัญ เป็นปรมัตถ์ ไม่มีเกิด อยู่เหนือเหตุผล คิดคำนึงเอาไม่ได้” (4) กระนั้นประชาชนก็ปรารถนาที่จะกล่าวถึงสัจจะนี้ นักปราชญ์ฮินดูจึงได้สร้างภาพของพรหมันในลักษณะที่เป็นพระเจ้า และกล่าวถึงโดยใช้ภาษาของเทพปกรณัมลักษณะต่างๆ มากมาย แต่ละลักษณะของพระเจ้า ถือเป็นเทพองค์หนึ่ง ๆ ซึ่งชาวฮินดูนับถือบูชา แต่ในคัมภีร์ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า เทพเหล่านั้นเป็นแต่เพียงภาพสะท้อนของสัจจะสูงสุดเพียงประการเดียว ซึ่งประชาชนกล่าวว่า “จงบูชาเทพองค์นี้ จงบูชาเทพองค์นั้น” ต่าง ๆ มากมายแท้จริงล้วนเป็นการรังสรรค์ของพระองค์ (พรหมัน) และพระองค์ก็คือเทพทั้งมวล (5) พรหมันในวิญญาณของมนุษย์เรียกว่า อาตมัน (Atman) ความคิดที่ว่า อาตมันและพรหมัน ปัจเจกสัจจะและปรมัตถสัจจะนั้นเป็นหนึ่งเดียว เป็นแก่นแท้ของอุปนิษัท สิ่งนั้นซึ่งเป็นแก่นแท้ที่ละเอียดลึกซึ้ง โลกพิภพทั้งมวลมีสิ่งนั้นเป็นวิญญาณ สิ่งนั้น คือ สัจจะ สิ่งนั้นคือ อาตมัน สิ่งนั้นคือตัวท่าน (6)

5.2  กรรม

โครงสร้างพื้นฐานของเทพปกรณัมของฮินดูก็คือ การสร้างโลกโดยการพลีตนเองของพระเจ้า “การพลี” ซึ่งมีความหมายเดิมว่า “กระทำให้ศักดิ์สิทธิ์” พระเจ้าได้กลายเป็นโลกและในที่สุดได้กลับเป็นพระเจ้าอีกครั้ง กิจกรรมแห่งการสร้างสรรค์นี้เรียกว่า ลีลา (lila) การแสดงของพระเจ้า และโลกก็คือเวทีแห่งการแสดงอันศักดิ์สิทธิ์นี้ เรื่องราวแห่งลีลานี้มีลักษณะเป็นปาฏิหาริย์อยู่มากดังเช่นเรื่องเกี่ยวกับเทพของฮินดูทั่ว ๆ ไป พรหมันเป็นผู้แสดงปาฏิหาริย์ผู้ยิ่งใหญ่ โดยได้แปลงตนเองเป็นโลก โดยอาศัย “พลังสร้างสรรค์อย่างปาฏิหาริย์” ซึ่งเป็นความหมายเดิมของคำว่า มายา (maya) ในคัมภีร์ฤคเวท คำว่ามายาซึ่งเป็นคำสำคัญที่สุดคำหนึ่งในปรัชญาอินเดีย ได้กลายความหมายไปเมื่อเวลาล่วงเลยไปหลายศตวรรษจาก “พลัง” หรือ “ อำนาจ” ของพระผู้สร้าง กลับกลายเป็น สภาวะทางจิตของบุคคลซึ่งตกอยู่ใต้อำนาจของปาฏิหาริย์ของพรหมัน ในขณะใดที่เราหลงยึดเอารูปลักษณะนับหมื่นนับแสนของลีลาของพระเจ้าว่าเป็นสัจจะ โดยมิได้ยอมรับความเป็นเอกภาพของพรหมันซึ่งก่อกำเนิดแก่รูปลักษณ์เหล่านี้ทั้งหมด เรากำลังตกอยู่ใต้มนต์สะกดของมายา ดังนั้น มายาจึงมิได้หมายความว่าโลกคือภาพลวง ดังที่กล่าวกันทั่วไป ภาพลวงเพียงแต่คงอยู่ทัศนะของเราเท่านั้น หากเราคิดว่ารูปร่างและโครงสร้างสรรพสิ่งและเหตุการณ์รอบ ๆ ตัวเราเป็นสิ่งที่แท้จริงของธรรมชาติ แทนที่จะตระหนักรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงความคิดในการวัดค่าและจำแนกแจกแจงของจิตใจของเราเท่านั้น มายาก็คือภาพลวงแห่งการยึดเอาความคิดเหล่านั้นว่าเป็นความจริงหลงยึดเอาแผนที่ว่าเป็นตัวเขตแดน ในทัศนะเกี่ยวกับธรรมชาติของฮินดู รูปลักษณ์ทุกรูปเป็นสิ่งสัมพันธ์ เลื่อนไหล และเป็นมายาที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นลวงมนุษย์ โดยปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่ของพระผู้สร้าง โลกแห่งมายาเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องกัน เนื่องจากลีลาของพระเจ้า เป็นการแสดงซึ่งเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ แรงแห่งการเคลื่อนไหวของการแสดงนี้ก็คือ กรรม ซึ่งเป็นความคิดที่สำคัญอีกประการหนึ่งในแนวคิดของอินเดีย กรรม หมายถึง “การกระทำ” เป็นหลักการอันมีชีวิตชีวาของการแสดง จักรวาลทั้งหมดเป็นจักรวาลแห่งการกระทำซึ่งทุก ๆ สิ่งเชื่อมโยงอย่างเคลื่อนไหวกับสิ่งอื่น ในภาษาของ คีตา “กรรม คือ แรงกระทำแห่งการสร้างสรรค์ ซึ่งให้กำเนิดแก่สรรพชีพ” (7) เช่นเดียวกับคำว่ามายา ความหมายของกรรมก็ถูกจำกัดลงมาจากความหมายระดับกว้างขวางที่สุด ครอบคลุมทั้งเอกภพ สู่ระดับที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในแง่จิตวิทยา ตราบใดที่โลกทัศน์ของเรายังคงมีพื้นฐานอยู่บนความแบ่งแยกสรรพสิ่งออกเป็นส่วน ๆ ตราบเท่าที่เราตกอยู่ใต้มนต์ของมายา คิดว่าตัวเรานั้นแยกจากสิ่งแวดล้อม และสามารถกระทำสิ่งใด ๆ ได้อย่างอิสระ ตราบนั้นเรากำลังถูกยึดเหนี่ยวโดยกรรม การหลุดพ้นจากกรรม หมายถึง การตระหนักรู้ในเอกภาพและความบรรสานสอดคล้องของธรรมชาติ ซึ่งรวมทั้งมนุษย์ และกระทำการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความรุ้นั้น ในประเด็นนี้ ในคีตาได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า การกระทำทั้งมวล เกิดขึ้นภายใต้กาลเวลาโดยการโยงใยของแรงกระทำของธรรมชาติ แต่มนุษย์ได้หลงผิดด้วยความเห็นแก่ตัว คิดว่าตัวเขาเองคือผู้กระทำ แต่สำหรับผู้ที่รู้ความสัมพันธ์ระหว่างแรงกระทำของธรรมชาติและการกระทำ จะเข้าใจการกระทำต่อกันและกันของแรงกระทำของธรรมชาติ และไม่ตกเป็นทาสของมัน (8)

5.3   ความหลุดพ้น

การจะเป็นอิสระจากมนต์ของมายา การจะหลุดพ้นจากกรรม หมายถึง   การตระหนักรู้ว่าปรากฏการณ์ทั้งมวล ซึ่งเรารับรู้ด้วยประสาทสัมผัสของเรานั้นเป็นส่วนหนึ่งของสัจจะเดียวกัน นั่นหมายความว่า ผู้นั้นจะต้องประจักษ์แจ้งเฉพาะตัวว่า สรรพสิ่งรวมทั้งตัวตนของเรา คือ พรหมัน ประสบการณ์แห่งการประจักษ์แจ้งนี้เรียกว่า โมกษะ (moksha) หรือ “ความหลุดพ้น” และเป็นแก่นแท้ของศาสนาฮินดู ศาสนาฮินดูถือว่ามีวิถีทางมากมายที่จะนำเข้าสู่ความหลุดพ้นได้ ศาสนาฮินดูมิได้มุ่งหวังให้ศาสนิกของตนทั้งหมดเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าด้วยมรรคาสายเดียว ดังนั้นจึงมีแนวคิด พิธีกรรม และการปฏิบัติหลายรูปหลายแนว ซึ่งให้ผลแตกต่างกัน ข้อเท็จจริงที่ว่าความคิดและการปฏิบัติหลาย ๆ แนวขัดแย้งกันนั้น มิได้กระทบกระเทือนชาวฮินดูแม้แต่น้อย เนื่องจากพวกเขารู้ว่า พรหมันนั้นอยู่เหนือความคิดและภาพพจน์ในทุก ๆ กรณี จากทัศนคติดังกล่าวนี้ ทำให้ศาสนาฮินดูมีความยืดหยุ่น และมีความใจกว้างเป็นอย่างยิ่ง นิกายซึ่งเปรื่องปราดหลักแหลมที่สุด ได้แก่ นิกายเวทานตะ (Vedanta) ซึ่งมีคำสอนที่มีรากฐานอยู่บนคัมภีร์อุปนิษัท นิกายนี้สอนเน้นว่าพรหมันมิใช่บุคคลและไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเทพทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเป็นนิกายที่มีปรัชญาสูง ลึกซึ้ง และหลักแหลมเพียงใด วิถีทางแห่งการหลุดพ้นตามแบบเวทานตะก็แตกต่างจากสำนักปรัชญาตะวันตกอย่างมากมายด้วยการทำสมาธิภาวนาทุกวันและการปฏิบัติธรรมแบบอื่น ๆ เพื่อนำตนเข้ารวมกับพรหมัน วิธีการเข้าสู่ความหลุดพ้นอีกวิธีหนึ่งซึ่งสำคัญและมีอิทธิพลมากก็คือ โยคะ (Yoga) ซึ่งคำนี้มีความหมายว่า “ประสาน” “เชื่อมสัมพันธ์” และมุ่งหมายถึงการเชื่อมโยงปัจเจกวิญญาณเข้ากับพรหมัน มีสำนักหรือ “ทาง” ของโยคะมากมาย ซึ่งรวมเอาการบริหารกายพื้นฐานบางประการและระเบียบปฏิบัติทางจิต เป็นแบบปฏิบัติสำหรับประชาชนแต่ละแบบแต่ละระดับจิตใจ

5.4   เทพหลายปาง

สำหรับชาวฮินดูทั่วไป วิธีการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าที่นิยมกระทำกันมากที่สุด คือ การบูชาเทพและเทพีประจำตัว จินตนาการอันเฟื่องฟูของชาวอินเดียให้กำเนิดแก่เทพต่าง ๆ นับเป็นพัน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เทพซึ่งได้รับการนับถือมากที่สุดสามองค์ของอินเดียในปัจจุบัน คือ พระศิวะ พระวิษณุ และพระแม่เจ้า พระศิวะนับเป็นเทพที่เก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งของอินเดีย และปรากฏกายในรูปต่าง ๆ กันมากมาย พระองค์ทรงพระนามว่า มเหศวร (Mahesvara) หมายถึง พระเจ้าผู้เป็นใหญ่ เมื่อปรากฏในฐานะเป็นบุคคลแทนสภาพพรหมันที่สมบูรณ์และยังปรากฏในปางย่อย ๆ ได้อีกมากมาย ปางที่มีผู้นับถือกันมาก เรียกว่า นาฏราช (Nataraja) กษัตริย์ผู้เริงรำ ในฐานะผู้เริงรำแห่งเอกภพ พระศิวะเป็นเทพแห่งการสร้างสรรค์และการทำลาย เป็นผู้ซึ่งให้จังหวะแก่การเคลื่อนไหวอันไม่รู้สิ้นสุดของจักรวาลโดยการเริงรำของพระองค์ พระวิษณุก็ทรงปรากฏกายในรูปต่าง ๆ กัน ปางหนึ่งก็คือกฤษณเทพในคัมภีร์ ภควัทคีตา โดยทั่ว ๆ ไป พระวิษณุทรงทำหน้าที่เป็นผู้ปกปักรักษาจักรวาล เทพองค์ที่สามคือ ศักติ (Shakti) พระแม่เจ้า เป็นเทพีซึ่งเป็นตัวแทนของพลังฝ่ายหญิงในจักรวาล แสดงออกในปางต่าง ๆ กัน ศักติ ปรากฏในฐานะมเหสีของพระศิวะด้วย และทั้งสององค์มักปรากฏเป็นภาพที่กำลังสวมกอดซึ่งกันและกันบนหินสลักของวิหารสำคัญ ๆ เปล่งประกายแห่งความรู้สึกในทางกามารมณ์ชนิดที่พิเศษสุด ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักเลยในศิลปะศาสนาของตะวันตก ตรงกันข้ามกับศาสนาของตก ความปลื้มปิติในกามารมณ์ มิได้เป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาฮินดู เนื่องจากร่างกายถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์โดยไม่แยกจากส่วนจิตวิญญาณ ดังนั้นชาวฮินดูจึงมิได้พยายามที่จะควบคุมความปรารถนาของกายด้วยเจตจำนงแน่วแน่ แต่มุ่งมาดที่จะเรียนรู้จักตนเองด้วยกายและจิตของตน ศาสนาฮินดูในยุคกลางได้เคยมีนิกายย่อยที่เรียกว่านิกายตันตระ (Tantrism) ซึ่งสอนว่าสามารถค้นพบความรู้แจ้งโดยผ่านประสบการณ์แห่งความรักในเชิงกามารมณ์ “ซึ่งแต่ละบุคคลก็คือทั้งสอง” คัมภีร์อุปนิษัทได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า   ชายผู้ซึ่งสวมกอดภรรยาสุดที่รักของเขา ไม่รับรู้สิ่งใดว่าเป็นภายในหรือภายนอก ชายผู้นี้ เมื่ออยู่ในวงแขนของวิญญาณอันชาญฉลาดนั้น ย่อมไม่รับรู้สิ่งใด ว่าเป็นภายในหรือภายนอก (9)  พระศิวะมักถูกแสดงในรูปลักษณะดังกล่าว รวมทั้งศักติ และเทวีองค์อื่น ๆ จำนวนมาก การที่มีเทวีจำนวนมากมายนั้นได้แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า ในศาสนาฮินดูถือด้านร่างกายและกามารมณ์อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งมักเชื่อมโยงกับสตรีเสมอนั้น เป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าด้วย เทวีในศาสนาฮินดูมิได้ถูกวาดภาพให้เป็นสตรีพรหมจารี แต่ให้อยู่ในการสวมกอดซึ่งมีความงามอันน่าพิศวง จิตใจแบบตะวันตกจะเกิดความสับสนได้อย่างง่ายดายกับเทพและเทวีจำนวนมากมายเหลือเชื่อ ซึ่งปรากฏในเทพปกรณัมของฮินดูในรูปลักษณะและอวตารต่าง ๆ กัน นั่นคือจะไม่เข้าใจว่าชาวฮินดูรับเอาความหลากหลายของเทพเหล่านี้ได้อย่างไร เราต้องตระหนักถึงทัศนคติพื้นฐานของศาสนาฮินดูที่ว่า โดยสาระแล้ว เทพทั้งมวลนั้นมีเอกลักษณ์เดียวกัน ทั้งหมดเป็นการปรากฏแสดงของสัจจะหนึ่งเดียว เป็นภาพสะท้อนลักษณะต่าง ๆ ของพรหมันซึ่งเป็นอนันต์ ปรากฏในทุกหนแห่งและโดยปรมัตถ์แล้ว ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยความรับรู้อย่างสามัญ
 
               
คัดลอกจาก ::
http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/tao%20of%20physics
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: เต๋าแห่งฟิสิกส์ : บทที่ 5 ศาสนาฮินดู
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2010, 12:47:45 am »
 :45: ขอบคุณครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~