ผู้เขียน หัวข้อ: เต๋าแห่งฟิสิกส์ : บทที่ 6 พุทธศาสนา  (อ่าน 2192 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ภาคที่ 2    มรรคาแห่งศาสนาตะวันออก



บทที่ 6 พุทธศาสนา

เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของเอเชียส่วนใหญ่ รวมทั้งประเทศในอินโดจีน ศรีลังกา เนปาล ธิเบต จีน เกาหลีและญี่ปุ่น เช่นเดียวกับศาสนาฮินดูในอินเดีย พุทธศาสนามีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตในทางสติปัญญาวัฒนธรรม และศิลปะของประเทศเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนที่แตกต่างไปจาก ฮินดู ก็คือ พุทธศาสนาเริ่มต้นจากเจ้าชายสิทธัตถะโคตมะ ผู้เป็นพระพุทธเจ้า “ในประวัติศาสตร์” เพียงพระองค์เดียว พระองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่ในอินเดียในตอนกลางของศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นยุคสมัยที่อัจฉริยะในทางจิตวิญญาณและปรัชญาเกิดขึ้นมากมายดังเช่น ขงจื๊อ และเหลาจื๊อในจีน ซาราธุสตระในเปอร์เซีย ปิทากอรัสและเฮราคลิตัสในกรีก ถ้าหากว่ากลิ่นอายของศาสนาฮินดูได้แก่เรื่องราวของ เทพและพิธีกรรมต่าง ๆ กลิ่นอายของพุทธศาสนาก็คือ จิตวิทยา พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสนพระทัยที่จะสนองตอบความใคร่รู้ของมนุษย์เกี่ยวกับกำเนิดของโลก ธรรมชาติของพระเจ้า หรือปัญหาในทำนองเดียวกันนี้ พระองค์ทรงมุ่งแก้ไขสภาพของมนุษย์ซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์และความผิดหวัง ดังนั้น คำสอนของพระองค์จึงมิใช่คำสอนทางอภิปรัชญา แต่เป็นคำสอนเชิงจิตบำบัด พระองค์ทรงแสดงเหตุของความทุกข์และวิธีที่จะเอาชนะมัน โดยทรงนำเอาคำในวัฒนธรรมของอินเดีย เช่น มายา กรรม นิพพาน และอื่น ๆ มาใช้ โดยให้ความหมายใหม่ในเชิงจิตวิทยา



6.1   แยกออกเป็น 2  นิกาย

ภายหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนาได้แยกออกเป็นสองนิกาย คือหินยานและมหายาน นิกายหินยานหรือยานเล็ก เป็นนิกายดั้งเดิมซึ่งยึดถือคำสอนในพระคัมภีร์เป็นหลัก ส่วนมหายานหรือยานใหญ่นั้น มีทัศนะซึ่งยืดหยุ่นกว่า โดยเชื่อว่าเจตนารมณ์ของคำสอนสำคัญมากกว่าพระคัมภีร์ นิกายหินยานตั้งมั่นลงในศรีลังกา พม่า และไทย ส่วนมหายานได้แพร่ขยายไปในเนปาล ธิเบต จีน และญี่ปุ่น ทั้งได้กลายเป็นนิกายสำคัญ ในอินเดียเองพุทธศาสนาได้ถูกกลืนหลังพุทธปรินิพพานโดยศาสนาฮินดู ซึ่งมีลักษณะยืดหยุ่นและรวบรวมทุกสิ่ง และในที่สุดพระพุทธเจ้าก็กลายเป็นปางหนึ่งของอวตารแห่งวิษณุเทพ เมื่อพุทธศาสนาแบบมหายานแพร่ไปทั่วเอเชียก็ได้สัมผัสประชาชนในหลายวัฒนธรรมหลายจิตใจ ประชาชนได้ตีความหลักคำสอนของพุทธศาสนาจากทัศนะเดิมของตน หยิบเอาคำสอนที่ลึกซึ้งหลายส่วนมาต่อเติมในรายละเอียดอย่างประณีตบรรจง โดยได้รวมเอาความคิดของตนเข้าไว้ด้วย ในลักษณะเช่นนี้เองที่พุทธศาสนาได้รับการรักษาสืบทอดอย่างมีชีวิตชีวาตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา และได้พัฒนาปรัชญาซึ่งละเอียดลออเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันก็ยังคงความลึกซึ้งในเชิงจิตวิทยาไว้ด้วย แม้ว่าข้อปรัชญาเหล่านี้จะมีความสูงส่งในทางสติปัญญามากก็ตาม เช่นเดียวกับศาสนาตะวันออกอื่น ๆ พุทธศาสนาแบบมหายานก็ไม่เคยลุ่มหลงในความเชิงเก็งความจริงในเรื่องธรรมะ ปัญญาเป็นแต่เพียงการตระเตรียมหนทางสำหรับประสบการณ์โดยตรงต่อสัจจะ ซึ่งชาวพุทธเรียกว่า “การตื่น” แก่นแท้ของประสบการณ์นี้ก็คือ อยู่เหนือโลกแห่งการแบ่งแยกและโลกแห่งสิ่งที่เป็นของตรงกันข้ามในความนึกสู่โลกแห่ง อจินไตย ซึ่งไม่อาจคิดคำนึงถึงได้ ณ ที่นั้นสัจจะปรากฏเป็นความไม่แบ่งแยกแตกต่างแห่ง “ความเป็นเช่นนั้นเอง” (Suchness) นี่เป็นประสบการณ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะแห่งวงศ์โคตมะได้รับในคืนหนึ่ง หลังจากการปฏิบัติธรรมอย่างพากเพียรในป่าเป็นเวลาถึงเจ็ดปี ในขณะที่ทรงประทับนั่งอยู่ในสมาธิภาวนาอันลึกซึ้งใต้ต้นโพธิ์ – ต้นไม้แห่งการตรัสรู้ พระองค์ทรงบรรลุความรู้อันกระจ่างชัดซึ่งขจัดความกังขาและเป็นจุดหมายแห่งกายแสวงหาของพระองค์ได้ ในการตื่นขึ้นอย่างสมบูรณ์เป็นเลิศนี้ได้กระทำให้พระองค์กลายเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ตื่นอย่างสมบูรณ์” สำหรับ โลกตะวันออกแล้ว พระพุทธรูปปางสมาธิถือเป็นรูปเคารพที่สำคัญ พอ ๆ กับรูปพระเยซูบนไม้กางเขนสำหรับชาวตะวันตก และได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินนับจำนวนไม่ถ้วนทั่วทั่งเอเชียในการสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิที่งดงามยิ่ง

6.2  อริยสัจสี่

ตามพุทธประวัตินั้น พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสีทันทีหลังการตรัสรู้ของพระองค์ เพื่อเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ พระองค์ทรงแสดงหลักอริยสัจสี่ ซึ่งสรุปแก่นคำสอนของพระองค์ในลักษณะเดียวกับที่แพทย์กระทำในการรักษาผู้ป่วย คือประการแรก ค้นหาสมุฏฐานโรคของมนุษย์จากนั้นก็ยืนยันว่าความเจ็บป่วยนั้นสามารถรักษาให้หายได้ และท้ายที่สุดก็ประกอบยาให้รับประทาน อริยสัจข้อแรก แสดงลักษณะสภาวะของมนุษย์ อันได้แก่ ทุกข์ คือความทุกข์ทนและความผิดหวัง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากเราไม่ยอมรับความจริงของชีวิตที่ว่า สรรพสิ่งรอบตัวเราล้วนไม่เที่ยงและเปลี่ยนแปลงไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สรรพสิ่งย่อมเกิดขึ้นและดับไป” (1) ความคิดที่ว่า ธรรมชาติมีลักษณะเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงนับเป็นรากฐานของพุทธศาสนา ในทัศนะของชาวพุทธ ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อเราต้านกระแสของชีวิตและพยายามยึดเหนี่ยวเอารูปลักษณ์อันใดอันหนึ่งอย่างตายตัว ทั้งที่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นมายา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ เหตุการณ์ บุคคล หรือความคิดก็ตาม คำสอนเรื่องความไม่เที่ยง รวมไปถึงความคิดที่ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตาซึ่งเที่ยงแท้ถาวรเป็นผู้รับรู้ประสบการณ์ทั้งหลายของเรา พุทธศาสนาถือว่าความคิดเรื่องอัตตาของปัจเจกบุคคลเป็นเพียงภาพลวง เป็นอีกรูปหนึ่งของมายา เป็นความคิดนึกที่เฉลียวฉลาดแต่หาความจริงไม่ได้ การยึดติดกับความคิดนี้นำไปสู่ความพลาดหวังเช่นเดียวกับการยึดติดกับความคิดลักษณะอื่น ๆ อริยสัจข้อที่สอง กล่าวถึงสาเหตุแห่งความทุกข์ คือ ตัณหา ความยึดอยาก การจับฉวยเอาด้วยความอยาก การไขว่คว้าอย่างไร้ประโยชน์ของชีวิตอันเนื่องมาจากทัศนะที่ผิดซึ่งเรียกว่า อวิชชา หรือความไม่รู้ จากอวิชชาเราได้แบ่งโลกซึ่งเรารับรู้ออกเป็นปัจเจกชนและสิ่งต่าง ๆ ที่แยกจากกัน ดังนั้นจึงพยายามที่จะจำกัดขอบเขตของสัจจะซึ่งมีลักษณะเลื่อนไหล ให้อยู่ลักษณะคงที่ตามที่จิตในของเราสร้างขึ้น ตราบเท่าที่ทัศนะเช่นนี้ยังคงอยู่เราก็ตกอยู่ภายใต้ความทุกข์ทนวนเวียน เมื่อเราพยายามที่จะยึดอยู่กับสิ่งซึ่งเราเห็นว่ามั่นคงและเที่ยงแท้ ทั้งที่จริงมันเป็นสิ่งคงอยู่ชั่วครั้งชั่วคราวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราก็ถูกจับอยู่ในวังวนซึ่งทุก ๆ การกระทำก่อให้เกิดการกระทำต่อไปอีก และคำตอบต่อทุกคำถามแฝงไว้ด้วย คำถามใหม่ วังวนอันนี้ในพุทธศาสนาเรียกว่า สังสารวัฏ วังวนแห่งการเกิดและการตาย ถูกผลักดันให้หมุนไปโดย กรรม ลูกโซ่แห่งเหตุและผลอันไม่รู้จบ อริยสัจข้อที่สาม กล่าวว่าความทุกข์ความพลาดหวังอาจทำให้หมดไปได้เป็นไปได้ที่เราจะก้าวพ้นวังวนแห่งสังสารวัฏ หลุดพ้นจากกรรมและลุถึงภาวะแห่งความหลุดพ้นที่เรียกว่า นิพพาน ในภาวะนิพพาน ความคิดที่ผิดพลาดในเรื่องตัวตนซึ่งเป็นเอกเทศได้มลายไป และความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพชีพปรากฏขึ้นอย่างคงที่ในความรับรู้ นิพพานเทียบเท่ากับโมกษะในปรัชญาฮินดู เป็นภาวะการรับรู้ที่ไปพ้นปัญญาอย่างสามัญ และท้าทายต่อคำอธิบายอีกมากมาย การบรรลุนิพพานคือการบรรลุถึงความตื่นหรือพุทธภาวะ อริยสัจข้อที่สี่ คือ โอสถของพระพุทธเจ้าซึ่งใช้บำบัดรักษาความทุกข์ทั้งมวล นั่นคือ อริยมรรคมีองค์แปด หนทางแห่งการพัฒนาตนเองสู่พุทธภาวะ องค์มรรคสองแรกคือสัมมาทิฐิและสัมมาสังกัปปะ นั่นคือญาณทัสนะที่กระจ่างชัด ส่องเข้าไปภายในสภาวะของมนุษย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็น องค์มรรคสี่ข้อต่อมาเป็นเรื่องการกระทำที่ถูกต้อง อันประกอบขึ้นเป็นวินัยของวิถีชีวิตของชาวพุทธ เป็นทางสายกลางระหว่างทางสุดโต่งสองสาย องค์มรรคสองข้อสุดท้าย คือ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ ในตอนท้ายได้บรรยายถึงประสบการณ์โดยตรงต่อสัจจะ ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายของมนุษย์

6.3  ตถตา

ความเป็นเช่นนั้นเอง พระพุทธเจ้ามิได้ทรงพัฒนาหลักธรรมของพระองค์ให้เป็นหลักปรัชญาที่ตายตัว แต่ทรงถือเป็นหนทางสำหรับการตรัสรู้ คำสอนของพระองค์เกี่ยวกับโลกได้เน้นให้เห็นความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง พระองค์ยังทรงย้ำถึงการเป็นอิสระจากผู้สอนธรรมซึ่งรวมทั้งพระองค์เองด้วย โดยตรัสว่าพระองค์เพียงชี้ทางไปสู่พุทธภาวะและปัจเจกชนแต่ละคนต้องเดินไปสู่จุดหมายด้วยความพยายามของตนเอง ปัจฉิมโอวาทของพระองค์ก่อนปรินิพพานแสดงให้เห็นลักษณะสำคัญของทัศนะต่อโลกของพระองค์ และความเป็นครูซึ่งมีจนวาระสุดท้าย พระพุทธเจ้าทรงตรัสเป็นครั้งสุดท้ายว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท” (2) ในสองสามศตวรรษแรกหลังพุทธปรินิพพาน ได้มีมหาสังคายนาหลายครั้งโดยพระเถระชั้นนำในสมัยนั้นได้มาประชุมกันจัดทบทวนวางหลักคำสอนให้แน่นอนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในมหาสังคายนาครั้งที่สี่ที่เกาะลังกา (ศรีสังกา) ศตวรรษแรกของคริสตกาล หลักธรรมที่เคยสืบทอดกันมาด้วยปากก็ได้ถูกบันทึกลงเป็นตัวอักษรเป็นครั้งแรกในภาษาบาลี รู้จักกันในนามพระไตรปิฎกฉบับบาลี และเป็นรากฐานของนิกายหินยาน ในทางตรงกันข้าม นิกายมหายานได้มีรากฐานอยู่บนพระสูตรจำนวนหนึ่ง บันทึกด้วยภาษาสันสกฤต ในราวหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีต่อมา บรรจุคำสอนของพระพุทธองค์ได้อย่างประณีตบรรจงและลึกซึ้งกว่าพระไตรปิฏกบาลี นิกายมหายานเรียกตนเองว่ายานใหญ่ (The Great Vehicle) เพราะได้เสนอวิธีการ หรือ “วิธีปฏิบัติด้วยความชำนิชำนาญ” เพื่อบรรลุถึงพุทธภาวะมากมากหลายวิธีแก่ผู้รับคำสอนของตน คำสอนเหล่านี้แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ที่เน้นความศรัทธาในคำสอนของพระพุทธองค์ จนกระทั่งถึงหลักปรัชญาที่ละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งมีแนวคิดที่เข้ามาใกล้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เป็นอย่างมาก บุคคลแรกที่อธิบายหลักคำสอนตามแนวมหายานและเป็นนักคิดที่ลึกซึ้งที่สุดผู้หนึ่งในหมู่พระเถระของพุทธศาสนาก็คือท่านอัศวโฆษา (Ashvaghosha) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษแรกของคริสตกาล ท่านได้อธิบายแนวความคิดพื้นฐานของพุทธศาสนาแบบมหายาน โดยเฉพาะในหลักธรรมเรื่อง “ความเป็นเช่นนั้นเอง” ในหนังสือเล่มเล็ก ๆ ชื่อ “การตื่นขึ้นของศรัทธา” (The Awakdning of Faith) เป็นคัมภีร์ที่ใช้ภาษาซึ่งสละสลวยมากและเข้าใจง่าย คัมภีร์เล่มนี้คล้ายกับคัมภีร์ภควัทคีตาในหลาย ๆ เรื่อง เป็นคัมภีร์เล่มแรกซึ่งถือว่าแสดงหลักธรรมของมหายานและยอมรับกันว่าเป็นคัมภีร์หลักของทุกนิกายของพุทธศาสนาแบบมหายาน ท่านอัศวโฆษาอาจจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อท่านนาคารชุน นักปรัชญาของมหายานซึ่งทรงภูมิปัญญาที่สุด ท่านนาคารชุนได้ใช้วิธีวิเคราะห์เหตุและผล อย่างละเอียดลออในการแสดงข้อจำกัดของความคิดทั้งมวลเกี่ยวกับสัจจะ ท่านได้หักล้างข้อโต้แย้งทางอภิปรัชญาในยุคของท่านได้อย่างชาญฉลาดและได้แสดงให้เห็นว่า โดยปรมัตถ์แล้ว สัจจะมิใช่เป็นสิ่งที่จับฉวยเอาได้ด้วยความคิด ดังนั้นท่านจึงเรียกสัจจะนั้นว่า สุญตา – ความว่าง ซึ่งมีความหมายตรงกันกับคำว่า “ตถตา” หรือ “ความเป็นเช่นนั้นเอง” ของท่านอัศวโฆษา เมื่อระลึกได้ถึงความไร้สาระของความคิดนึก เราจะประจักษ์สัจจะแห่งความเป็นเช่นนั้นเอง

6.4  เมตตาและกรุณา

คำสอนของท่านนาคารชุนที่ว่า ธรรมชาติแท้ของสัจจะคือความว่างนั้น มิได้หมายถึงความสาบสูญอย่างที่เข้าใจกันเพียงแต่ว่าหมายความว่าความคิดทุกชนิดเกี่ยวกับสัจจะที่จิตใจของมนุษย์สร้างขึ้น โดยแท้จริงเป็นสิ่งว่างเปล่า สัจจะหรือความว่างเปล่า มิใช่ภาวะแห่งความไม่มีอะไรแต่กลับเป็นแหล่งกำเนิดของทุกชีวิตและเป็นแก่นแท้ของรูปลักษณ์ทั้งมวล ทัศนะของพระพุทธศาสนาแบบมหายานดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น สะท้อนถึงด้านที่เป็นปัญญาและการคำนึงคำนวณ อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงด้านเดียวของพุทธศาสนา อีกด้านหนึ่งซึ่งเสริมกันคือ ด้านของศรัทราเมตตาและกรุณา ปัญญาญาณแห่งการตรัสรู้ที่แท้จริง (โพธิ) ย่อมประกอบด้วยคุณลักษณะสองประการซึ่ง ดี.ที. สึซึกิ เรียกว่า “สองเสาหลักซึ่งรองรับมหาวิหารแห่งพุทธศาสนา” นั่นคือปัญญาญาณทัศนะซึ่งไปพ้นความรู้จากการนึกคิดอย่างสามัญ และ กรุณาความรักและความปรารถนาจะช่วยผู้อื่น ประการต่อมาในพุทธศาสนาแบบมหายานนั้นมิได้อธิบายธรรมชาติแท้ของสรรพสิ่งด้วยเพียงคำว่าความเป็นเช่นนั้นเองและความว่างเท่านั้น แต่ยังใช้คำว่าธรรมกาย-กายแห่งสภาวะซึ่งหมายถึงสัจจะในสภาพที่ปรากฏแก่ชาวพุทธในขณะที่ปฏิบัติธรรม ธรรมกายมีความหมายคล้ายคลึงกับพรหมันในศาสนาฮินดู สิ่งนี้แทรกซึมอยู่ในทุกสิ่งในจักรวาล และในจิตใจมนุษย์ในรูปของ โพธิ-ปัญญาแห่งการตรัสรู้ ดังนั้นจึงเป็นทั้งจิตใจและวัตถุในขณะเดียวกัน คำสอนที่มุ่งเน้นให้เมตตาและกรุณาเป็นส่วนประกอบสำคัญของปัญญา ได้แสดงออกอย่างสูงสุดในอุดมคติแห่งพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาแบบมหายาน พระโพธิสัตว์คือผู้ที่ได้วิวัฒน์มาในสภาวะที่สูงส่งพร้อมที่จะเข้าสู่พุทธภาวะ ทว่าไม่ยอมตรัสรู้โดยลำพังตน แต่ได้อุทิศตนกับการช่วยเหลือผู้อื่นให้เข้าสู่พุทธภาวะก่อนที่ตนเองจะได้เข้าสู่นิพพาน ต้นกำเนิดของความคิดนี้ตั้งอยู่บนการตัดสินพระทัยของพระพุทธองค์ที่จะไม่เข้าสู่นิพพานแต่จะกลับมาสู่โลกเพื่อแสดงหนทางสู่ความหลุดพ้นแก่เพื่อนมนุษย์ อุดมคติของพระโพธิสัตว์สอดคล้องกับคำสอนเรื่องไม่มีตัวตนของพระพุทธศาสนาเพราะว่าเมื่อไม่มีตัวตนแห่งปัจเจกชนซึ่งแยกจากสรรพสิ่ง ความคิดที่ว่าจะเข้าสู่นิพพานโดยลำพังดูจะไร้ความหมายอย่างชัดแจ้ง

6.5   การพัฒนา

ท้ายที่สุด หลักศรัทธาได้รับการสอนเน้นในนิกายสุขาวดี คำสอนของนิกายนี้มีพื้นอยู่บนหลักธรรมที่ว่าธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์คือธรรมชาติแห่งการเป็นพุทธะ ดังนั้นนิกายนี้จึงถือว่าในการจะเข้าสู่นิพพาน หรือ “แดนสุขาวดี” สิ่งที่ทุกคนจะต้องกระทำคือ ให้มีศรัทธามั่นคงในธรรมชาติเดิมแห่งความเป็นพุทธะของตน ปราชญ์หลายท่านได้กล่าวว่า ความคิดฝ่ายพุทธะได้ถึงจุดสูงสุดในนิกายอวตังสก ซึ่งยึดพระสูตรชื่อเดียวกันเป็นหลัก พระสูตรนี้ถือกันว่าเป็นแก่นของพระพุทธศาสนาแบบมหายาน และได้รับการยกย่องจากสึซึกิด้วยคำพูดซึ่งแสดงถึงแสดงถึงศรัทราอย่างแรงกล้าว่า “อวตังสกสูตรนับเป็นสุดยอดแห่งความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์แบบพุทธ สำหรับใจข้าพเจ้า นั้นไม่มีคัมภีร์ศาสนาเล่มใดที่เข้าถึงความยิ่งใหญ่ของความคิดความลึกซึ้งแห่งอารมณ์ และความมโหฬารแห่งองค์ประกอบ ได้เท่ากับพระสูตรนี้ เป็นน้ำพุแห่งชีวิตซึ่งพวยพุ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่มีจิตใจซึ่งแสวงหาธรรมดวงใดเมื่อได้ดื่มน้ำพุนี้แล้ว จะกลับกระหายหรือพึงพอใจเล็กน้อย” พระสูตรนี้ได้เป็นแรงเร้าที่สำคัญต่อชาวจีนและญี่ปุ่น ในเมื่อพุทธศาสนาแบบมหายานได้แพร่ไปทั่วเอเชีย ความแตกต่างระหว่างชาวจีนและญี่ปุ่นกับชาวอินเดียมีมาก จนกล่าวกันว่าทั้งสองฝ่ายเปรียบได้กับสองด้านซึ่งแตกต่างกันในจิตใจมนุษย์ ในขณะที่ชาวจีนและญี่ปุ่นมีจิตใจที่เป็นนักปฏิบัติ เอาจริงเอาจังและถูกหล่อหลอมโดยสังคม ชาวอินเดียกลับมีจิตใจที่เต็มไปด้วยจินตนาการสนใจในอภิปรัชญา และเรื่องลึกซึ้งพ้นวิสัยสามัญ เมื่อนักปรัชญาจีนและญี่ปุ่นเริ่มแปลและตีความอวตังสกสูตร ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประพันธ์ขึ้นโดยอัจฉริยะทางธรรมชาวอินเดีย ซึ่งสองด้านของจิตใจได้หล่อหลอมรวมกันเป็นเอกภาพซึ่งมีลักษณะเป็นพลวัตอันใหม่ กลายเป็นปรัชญา ฮัว-เอี้ยน ในจีน และปรัชญา คีกอน ในญี่ปุ่น ซึ่งสึซึกิ ถือว่าเป็น “จุดยอดของความคิดแบบพุทธซึ่งได้รับการพัฒนามาในตะวันออกไกลในระยะเวลาสองพันปีที่ผ่านมา” แก่นกลางของพระสูตรนี้คือ เอกภาพและความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของสรรพสิ่งและเหตุการณ์ ความคิดนี้มิใช่เป็นแก่นแท้ของโลกทัศน์แบบตะวันออกเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นฐานอันหนึ่งของโลกทัศน์ซึ่งพัฒนามาจากฟิสิกส์สมัยใหม่ดังนั้นจะเห็นได้ว่า อวตังสกสูตรอันเป็นคัมภีร์โบราณเล่มนี้ เสนอแนวคิดซึ่งคู่ขนานไปกับแบบจำลองและทฤษฎีของวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่
 
               
คัดลอกจาก ::
http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/tao%20of%20physics
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: เต๋าแห่งฟิสิกส์ : บทที่ 6 พุทธศาสนา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2010, 12:48:44 am »
 :13: อนุโมทนาครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~