"เต้าฉิง" (道情) : บทกวีถีบฟ้ากระทืบดิน โดย เจิ้งป่านเฉียว (อีกครั้ง) ผ่าง! ผ่าง! ผ่าง!
เอ้า เร่เข้ามา แม่พ่อน้องพี่
วนิพกเจ้านี้ จะขับเพลง ให้ฟัง
แต่งโดยคนดังซินแสเจิ้งปานเขียว
ร้อยปีมาทีเดียว..เดี๋ยวก็บ๊ายบายจร้าครับ......นี่คือบรรยากาศของมหรสพสมัยโบราณ
การเล่านิทาน ขับลำนำ ขับซอพื้นเมือง หมอลำแคน
ไม่ว่าจีน ไทย ลาว หรือชนชาติไหนๆ ก็ล้วนมีแบบนี้
ครั้งนี้ ผมเอาบทกวีที่แต่งเป็น'บทลำนำขับ' มาแปล
ตามที่สัญญากับเพื่อนๆบางท่านไว้ ทำได้แค่นี้ครับ
บกพร่องประการใดโปรดอภัยและขอคำชี้แนะด้วย สำหรับท่านที่เพิ่งแวะมาบล๊อกนี้
ประวัติของเจิ้งป่านเฉียว โปรดคลิกไปดูที่
กลุ่มบล๊อก ภาพเขียนจีน ตามลิงค์นี้
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=dingtech&group=2 ท่านจะได้ชมภาพวาดและอักษรศิลป์ลายมือ
ของ "จิตรกรประหลาดแห่งหยางโจว" ด้วย
.........................................................."เต้าฉิง" บทนี้ โดยศัพท์แปลว่า
ความรักใน"วิถี"โดยความก็คือ
"ความรักในวิถีแห่งธรรมชาติที่เรียบง่าย พอเพียง และงดงาม อันเป็นสัจจะนิรันดร์"เป็นผลงานที่โดดเด่นชิ้นหนึ่งของท่านเจิ้งป่านเฉียว
จะเห็นความเป็นอัจฉริยะของเขานอกเหนือไปจากงานเขียนภาพและอักษรศิลป์
แต่งในปี 1725 หรือ บางกระแสว่าปี 1729 (ตรงกับไทยสมัยอยุธยา รัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ)
ซึ่งตอนนั้นเจิ้งมีอายุ 37 ปี (ถ้านับปี 1729) ยังไม่ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญ
เขาปรับแก้บทกวีชุดนี้อยู่นานถึง 14 ปี ก่อนที่จะนำออกเผยแพร่
ต้นฉบับที่เป็นลายมือของเขาปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งมณฑลกว่างตง
ลักษณะของบทกวีแบบนี้ มีรูปแบบพัฒนามาจากเพลงสมัยราชวงศ์หยวน
(元曲) เมื่อประมาณ 600-700 ปีมาแล้ว
เต้าฉิงเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อ
"บอกความในใจ" กวีนิพนธ์บทนี้มุ่งหมาย 2 ประการ
ประการแรก สำแดงความปรารถนาที่จะหลีกพ้นไปจากโลกียโลก (紅塵:ธุลีแดง)
มองชีวิตอย่างเป็นมายาหลอน ไม่จีรัง ลำบาก น่าเบื่อหน่าย
ประการที่สอง ชี้แนะสอนแก่ผู้ที่ยังโง่งม จมอยู่กับอวิชชา
ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือขาดโอกาสทางการศึกษา
เจิ้งป่านเฉียวได้สอดสื่อความคิดของเขาที่มองดูความงดงามแห่งธรรมชาติขณะเดินทาง
โดยผ่านทางชาวประมง คนตัดฟืน นักบวช นักพรตเต๋า นักศึกษาปัญญาชน และขอทาน
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญลักขณ์แทนสำนึกที่ขาดหายไป
ของธรรมชาติแห่งจิตอันลึกล้ำภายในของมนุษย์
พวกเขาต่างต้องการเป็นอิสระจากโลกอันเปื้อนแปด ไม่บริสุทธิ์และไร้แก่นสาร
มาดมุ่งหวังที่จะได้พบกับสิ่งที่น่าพึงใจ
เจิ้งป่านเฉียวเชื่อในสาระปรัชญาแห่ง
"สัจจะอันเป็นอมตะนิรันดร์" ฉะนี้ ฯ
........................................................