ผู้เขียน หัวข้อ: กายนี้เหมือนท่อนไม้ไร้ประโยชน์ วศิน อินทสระ  (อ่าน 2491 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



กายนี้เหมือนท่อนไม้ไร้ประโยชน์

ทางแห่งความดี ๓๑

วศิน อินทสระ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖

พระพุทธภาษิต
อจิรํ วตยํ กาโย  ปฐวี อธิเสสฺสติ
ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ  นิรตฺถํ ว กลิงฺครํ


คำแปล
ไม่นานเลย กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน
กายนี้เมื่อปราศจากวิญญาณอันเขาทิ้งแล้ว
ก็เหมือนท่อนไม้อันไร้ประโยชน์

อธิบายความ

กายนี้ ประกอบด้วยอายุ ไออุ่น และวิญญาณ จึงยังมีการเคลื่อนไหวทำนั่นทำนี่ได้อยู่ แต่เมื่ออายุสิ้น ไออุ่นดับ วิญญาณออกจากร่าง กายนี้ก็ไร้ประโยชน์ ทำอะไรไม่ได้ ส่งกลิ่นเหม็น เป็นที่รังเกียจ เพราะไม่มีสาระอะไร สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

"อายุ อุสฺมา จ วิญฺญาณํ ยทา กายํ ชหนฺติมํ อปวิฏฺโฐ ตทา เสติ เอตฺถ ลาโร น วิชฺชติ
เมื่อใด อายุ ไออุ่น และวิญญาณและทิ้งกายนี้เสีย เมื่อนั้น กายนี้ก็ถูกทอดทิ้งนอนอยู่ สาระในกายนี้ไม่มีเลย"

ท่อนไม้ด้วยซ้ำไปยังมีสาระในการหุงต้ม หรือทำทัพพสัมภาระอย่างอื่น แต่กายนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้ มีแต่เป็นเหยื่อของหมู่หนอนและแร้งกา เมื่อตายแล้ว คนที่เคยรักก็ไม่ปรารถนาจับต้อง วิญญาณ หรือจิตจึงเป็นแกนสำคัญให้ร่างกายนี้พอมีค่าอยู่ปราศจากวิญญาณเสียแล้ว กายก็กลายเป็นของไร้ค่าทันที

พระศาสดาตรัสเทศนาเรื่องนี้ที่เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระปูติคัตตติสสเถระ (ผู้มีร่างเปื่อย)
มีเรื่องย่อดังนี้ ;
เรื่องพระปูติคัตตติสสเถระ


ท่านเป็นชาวเมืองสาวัตถี ฟังธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วมีความเลื่อมใส ขอบรรพชาอุปสมบท ตั้งใจบวชตลอดชีวิต

ต่อมาโรคชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแก่ท่าน เป็นต่อมเล็กๆ เกิดขึ้นตามผิวหนังก่อน แล้วโตขึ้นเรื่อยๆ เท่าเมล็ดถั่วเขียว เมล็ดถั่วดำ เมล็ดกระเบา เท่าผลมะขามป้อม และเท่าผลมะตูมตามลำดับแล้วแตก น้ำเหลืองไหลทั่วกาย ร่างของท่านปรุพรุนไปด้วยรอยแผลจึงได้นามว่า "ปูติตัตตติสสะ" แปลว่า "พระติสสะผู้มีกายเน่า" ต่อมากระดูกของท่านแตกเจ็บปวดแสนสาหัส ผ้านุ่งผ้าห่มของท่านเปื้อนด้วยเลือดและหนอง พวกลัทธิวิหาริก อันเตวาสิกของท่านรังเกียจพากันทอดทิ้งท่านหมดสิ้น ท่านหมดที่พึ่ง นอนอยู่คนเดียว


เช้าวันหนึ่งพระศาสดา ทรงตรวจดูอุปนิสัยของเวไนยสัตว์ พระปูติคัตต์เข้าไปในข่ายพระญาณ ทรงทราบว่า ปูติคัตต์มีอุปนิสัยแห่งอรหัตผล และไม่มีใครเป็นที่พึ่ง นอกจากพระองค์เพียงผู้เดียว จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ประหนึ่งเสด็จจาริกไปในวิหาร เสด็จไปที่กุฎีของพระปูติคัตต์ ทรงถามทราบความทั้งหมดแล้ว เสด็จไปสู่โรงไฟ ทรงติดไฟล้างหม้อ ใส่น้ำแล้วยกขึ้นสู่เตาไฟ ประทับยืนในโรงไฟเพื่อรอน้ำให้เดือด ทรงทราบว่าน้ำเดือดแล้ว เสด็จไปจับปลายเตียงข้างหนึ่งที่พระปูติคัตต์นอน มีพระประสงค์จะยกเตียงด้วยพระองค์เอง

ขณะนั้นภิกษุหลายรูป เห็นดังนั้น จึงขออาสาทำเสียเอง ช่วยกันยกเตียงของพระปูติคัตต์ไปยังโรงไฟ
พระศาสดาทรงให้นำรางมา ทรงเทน้ำร้อนใส่ แล้วสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นเปลื้องผ้าห่มของภิกษุป่วยออก ขยำด้วยน้ำร้อน แล้วให้ผึ่งแดดไว้

พระศาสดาประทับยืนอยู่ที่ใกล้เธอ ทรงรดน้ำอุ่นให้เอง ทรงถูสรีระของภิกษุป่วย ให้อาบน้ำอุ่น เมื่อผ้าห่มแห้ง ทรงให้เอาผ้าห่มนั้นนุ่ง ดึงเอาผ้านุ่งออกมาให้ขยำน้ำร้อนแล้วผึ่งแดดไว้ เมื่อตัวของเธอแห้ง ผ้านุ่งก็แห้ง พระศาสดาให้เธอนุ่งผืนหนึ่งและห่มผืนหนึ่ง

พระปูติคัตต์ได้รับปฏิบัติเช่นนั้นสรีระก็กระปรี้กระเปร่าขึ้น จิตหยั่งลงสู่เอกัคคตารมณ์ (มีอารมณ์เดียว ไม่วอกแวก)
พระศาสดา ทรงทราบว่าจิตของพระปูติคัตต์ พร้อมที่จะรับพระธรรมเทศนาแล้ว จึงตรัสพระคาถาว่า

"อจิรํ วตยํ กาโย" เป็นอาทิ มีนัยและคำอธิบายดังได้พรรณนามาแล้วแต่ต้น
เมื่อจบเทศนา พระปูติคัตต์ได้บรรลุอรหัตผล แล้วปรินิพพาน คนเหล่าอื่นก็ได้สำเร็จอริยผลมีโสดาปัตติผล เป็นต้น

พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดให้ทำฌาปนกิจศพแล้ว ทรงเก็บอัฏฐิธาตุแล้วโปรดให้ทำเจดีย์ไว้
ภิกษุทั้งหลายสงสัยทูลถามพระศาสดาว่า "ภิกษุผู้มีอุปนิสัยแห่งพระอรหัตเช่นนี้ เหตุไรจึงมีร่างกายเปื่อยเน่า และกระดูกแตก?"

พระศาสดาตรัสตอบว่า เป็นผลอันเกิดแต่อดีตกรรม ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป พระติสสะเป็นพรานนก ฆ่านกบำรุงอิสรชน คือรับจ้างฆ่านกให้คนใหญ่คนโต นกที่เหลือก็เอาขาย นกที่เหลือจากขายก็หักปีกหักขาเก็บไว้ เพราะคิดว่า ถ้าฆ่าแล้วเก็บไว้มันจะเน่าเสียหมด ตนต้องการบริโภคเท่าใดก็ปิ้งไว้ นกที่เขาหักปีกหักขาไว้นั้นขายในวันรุ่งขึ้น

วันหนึ่ง เมื่อโภชนะอันมีรสดีของเขาสุกแล้ว เขากำลังเตรียมบริโภค พระขีณาสพองค์หนึ่งมาบิณฑบาตหน้าบ้าน เขาเห็นพระแล้วคิดว่า
"เราได้ฆ่าสัตว์มีชีวิตเสียมากมายแล้ว บัดนี้ พระมายืนอยู่หน้าเรือน โภชนะอันดีของเราก็มีอยู่ เราควรถวายอาหารแก่ท่าน"
เขาคิดดังนั้นแล้ว ได้รับบาตรพระใส่โภชนะอันมีรสเลิศจนเต็มบาตรแล้วถวายบิณฑบาตนั้น ไหว้พระด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วว่า
"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ด้วยกุศลผลบุญนี้ ขอข้าพเจ้าพึงบรรลุธรรมที่ท่านบรรลุแล้วด้วยเถิด" พระเถระอนุโมทนาว่า "จงเป็นอย่างนั้นเถิด"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย" พระศาสดาตรัสในที่สุด "ผลทั้งหมดได้เกิดแก่ติสสะเพราะกรรมของเขาเอง เพราะทุบกระดูกนก จึงยังผลให้มีร่างกายเปื่อยเน่า กระดูกแตก อาหารบิณฑบาตที่ถวายแก่พระขีณาสพและอธิษฐานเพื่อธรรมยังผลให้เธอบรรลุธรรม คือพระอรหัตผล ภิกษุทั้งหลายกรรมที่บุคคลทำแล้วย่อมไม่ไร้ผล"



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก
ฉบับประชาชน

        ๔๗. ฐานะ ๕ ที่ควรพิจารณาเนือง ๆ 

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ เหล่านี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ คือ

              ๑. ควรพิจาณาเนือง ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
              ๒. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
              ๓. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
              ๔. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง
              ๕. ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรม๑ (การกระทำและผลแห่งการกระทำ) เป็นของตน
                  เป็นผู้รับผลแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
                  เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น."

๔๘. เหตุผลที่ควรพิจารณาฐานะ ๕ เนือง ๆ 

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนือง ๆ ก็จะละความเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวได้สิ้นเชิง หรือความเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้น จะลดน้อยลงไปเพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรพิจาณาเนือง ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเมาในความไม่มีโรคของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติทุจจริตทาง กาย วาจา ใจ. เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนือง ๆ ก็จะละความเมาในความไม่มีโรคนั้นได้สิ้นเชิง หรือความเมาในความไม่มีโรคนั้นจะลดน้อยลงไป เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเมาในชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ. เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนือง ๆ ก็จะละความเมาในชีวิตนั้นได้สิ้นเชิง หรือความเมาในชีวิตนั้น จะลดน้อยลงไปเพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือ บรรพชิต จึงควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความติดด้วยอำนาจแห่งความพอใจ๒(ฉันทราคะ แปลว่า ความคิด ด้วยอำนาจแห่งความพอใจ เพื่อให้มีความหมายกว้างกว่าความกำหนัด ) ในสิ่งเป็นที่รัก ของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ซึ่งเป็นเหตุให้ประพฤติทุจจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนือง ๆ ก็จะละความคิดด้วยอำนาจแห่งความพอใจในสิ่งที่เป็นที่รักได้สิ้นเชิง หรือความคิดด้วยอำนาจแห่งความพอใจในสิ่งเป็นที่รักนั้น จะลดน้อยลงไปเพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งปวง"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไรเล่า สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุจจริตทางกาย วาจา ใจ ของสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ เมื่อพิจารณาฐานะนั้นเนือง ๆ ก็จะละทุจจริตได้สิ้นเชิง หรือทุจจริตนั้น จะลดน้อยลงไปเพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แล จึงควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น."

ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๘๑


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




สิ่งที่เป็นของยาก
๘. ทุติยฉิคคฬสูตร
(ว่าด้วยการได้ความเป็นมนุษย์แสนยาก)
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่มที่ ๓๑ - หน้า๔๗๖-๔๗๘



[๑๗๔๔]พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาปฐพีนี้ มีน้ำเป็นอันเดียวกัน   
บุรุษโยนแอกซึ่งมีช่องเดียวลงไปในมหาปฐพีนั้น
ลมทิศบูรพาพัดเอาแอกนั้นไปทางทิศประจิม  ลมทิศประจิมพัดเอาไปทางทิศบูรพา 
ลมทิศอุดรพัดเอาไปทางทิศทักษิณ ลมทิศทักษิณพัดเอาไปทางทิศอุดร

เต่าตาบอดมีอยู่ในมหาปฐพีนั้น ต่อล่วงร้อยปี ๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่ง ๆ
เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดนั้น
ต่อล่วงร้อยปี  ๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่ง ๆ   
จะสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้น ได้บ้างหรือหนอ?



ภิกษุทั้งหลาย  กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ    ข้อที่เต่าตาบอด    ต่อล่วง ร้อยปี  ๆ  มันจะโผล่
ขึ้นคราวหนึ่ง ๆ จะสอดคอเข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นเป็นของยาก.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า

ฉันนั้น ภิกษุทั้งหลาย การได้ความเป็นมนุษย์ เป็นของยาก,
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก เป็นของยาก,
ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองใน โลก
ก็เป็นของยาก,ความเป็นมนุษย์นี้ เขาได้แล้ว
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติแล้วในโลก
และธรรมวินัยที่ตถาคตประะกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองอยู่ในโลก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย
พึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์   นี้ทุกขสมุทัย  นี้ทุกขนิโรธ   นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
.

จบทุติยฉิคคฬสูตรที่  ๘



Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 20, 2011, 07:01:51 am โดย ฐิตา »