ฟางเส้นนี้ดูบอบบางและไร้น้ำหนัก และคนส่วนมากก็ไม่อาจรู้ว่าแท้จริงแล้วมันมีน้ำหนักมากขนาดไหน หากผู้คนรู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของฟางนี้ การปฏิวัติของมนุษยชาติก็จะเกิดขึ้น เป็นการปฏิวัติที่ทรงพลังเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ และโลกทั้งโลกเลยทีเดียว"
- มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ, "ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" สำนวนแปล รสนา โตสิตระกูลในบรรดาอาชีพทั้งหมด คงไม่มีอาชีพใดที่จำเป็นต่อความอยู่รอดของประชากรมนุษย์ซึ่งนับวันก็ยิ่งล้นโลกขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกคนอื่นดูแคลนหรือเย้ยหยันเท่ากับอาชีพเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยทุนน้อยผู้ต้องเผชิญกับปัจจัยความเสี่ยงมากมายที่ควบคุมไม่ได้ และไม่มีเงินพอที่จะซื้อวิธีป้องกันความเสี่ยงเหมือนกับบริษัทอุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย
นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ประเทศกำลังพัฒนาแทบทุกประเทศในโลกได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ตามรอย "เกษตรกระแสหลัก" ของประเทศโลกตะวันตก ซึ่งวิธีนี้แปลว่าเกษตรกรต้องละทิ้งวิธีการเพาะปลูกแบบโบราณโดยใช้วัตถุดิบตามธรรมชาติ เช่นปุ๋ยหมักและมูลสัตว์ หันมาใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเพื่อเพิ่มผลผลิตแทน ปัจจุบัน ผลเสียจากวิธีการเพาะปลูกที่เน้นการ "เอาชนะธรรมชาติ" ดังกล่าวได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในแทบทุกประเทศ การใช้สารเคมีจำนวนมากส่งผลให้ฮิวมัสในดิน (humus หมายถึงซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพังทับถมกันปะปนอยู่ในดิน ทำให้ดินมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ เหมาะแก่การเพาะปลูก) ถูกทำลายหมดไปภายในชั่วเวลาไม่กี่สิบปี คุณภาพดินเสื่อมลง ส่งผลให้พืชพันธุ์อ่อนแอและผลผลิตตกต่ำ ทำให้เกษตรกรยิ่งต้องพึ่งสารเคมีและเครื่องจักรมากกว่าเดิม
ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ปัญหาก็ยิ่งปรากฏให้เราเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า แนวทางของเกษตรกรรมกระแสหลัก ซึ่งคิดขึ้นมาช่วยให้คนใช้แรงงานในการเพาะปลูกน้อยลง กลับกลายเป็นตัวบ่อนทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดินลงอย่างช้าๆ จนส่งผลให้เกษตรกรยิ่งถลำลึกลงในปลักแห่งความยากจนมากกว่าเดิม จากต้นทุนและภาระหนี้สินที่พุ่งสูงขึ้นจากความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง
เมื่อปัญหาต้นทุนสูงและดินเสื่อมเกิดในพื้นที่ซึ่งไม่มีระบบการชลประทานที่ดีพอและทั่วถึง จนเกษตรกรต้องพึ่งดินฟ้าอากาศซึ่งมีความปรวนแปรและกำลังแย่ลงเรื่อยๆ จากปัญหาโลกร้อน ตลอดจนการกดราคาของผู้รับซื้อผลผลิตที่มีอำนาจในการต่อรองสูง จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเกษตรกรรายย่อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะชาวนา จึงมีภาระหนี้สินรุงรังและแทบไม่มีเงินเก็บเลย โดยผลการสำรวจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2545 พบว่าการปลูกข้าวนาปีต้องใช้ต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 1,700 บาทต่อไร่ แต่ได้กำไรเพียง 23 บาทต่อไร่ หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนการลงทุนเพียงร้อยละ 1.35 เท่านั้น
ยังไม่นับอันตรายด้านสุขภาพที่ตามมาจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ทั้งต่อเกษตรกรต้นทางและต่อผู้บริโภคปลายทาง
เกษตรกรส่วนใหญ่อาจยังมองไม่เห็นอันตรายของเกษตรกระแสหลัก หรือไม่ก็มองเห็นแต่คิดว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่น แต่เกษตรกรจำนวนน้อยที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า วิถีเกษตรกรรมแบบ "อยู่ร่วม" แทนที่จะ "เอาชนะ" ธรรมชาติ โดยหันหลังให้กับเกษตรกระแสหลัก อาศัยกระบวนการอันซับซ้อนเกื้อกูลกันของธรรมชาติที่มนุษย์ไม่มีวันเข้าใจอย่างถ่องแท้ แทนที่สารเคมีทุกชนิด ไม่เพียงแต่จะเป็นทางเลือกที่ "เป็นไปได้" เท่านั้น แต่ยังเป็นทางเลือกที่ "ดีกว่า" เกษตรกระแสหลักอีกด้วย ทั้งในแง่คุณภาพชีวิตของเกษตรกรและฐานะความเป็นอยู่ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคกำลังเรียกร้องผลิตภัณฑ์เกษตรที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบธรรมชาติล้วนๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
เราอาจเรียกเกษตรกรรมที่อยู่ภายใต้แนวคิดกว้างๆ นี้ ซึ่งมีรูปแบบและชื่อเรียกหลากหลาย ตั้งแต่ เกษตรผสมผสาน เกษตรยั่งยืน ไร่นาสวนผสม วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสารพิษ เกษตรถาวร ตลอดจนแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือเกษตรพอเพียง และเกษตร "ทฤษฎีใหม่" รวมกันว่า "เกษตรก้าวหน้า"
หนึ่งใน "เกษตรกรก้าวหน้า" ผู้มีอิทธิพลมหาศาลคือเกษตรกรอดีตนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ (Masanobu Fukuoka) เขาได้เล็งเห็นปัญหาของเกษตรกระแสหลักตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1930 ค้นคว้าทดลองจนพบทางออก เชื่อมั่นว่าแก่นสารของทางออกนั้นมีความเป็นสากลที่นำไปปรับใช้ได้ทั่วโลก และเรียบเรียงทางออกนั้นออกมาเป็นหนังสือชื่อ "ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" (The One-Straw Revolution) ในปี 1975 ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณรสนา โตสิตระกูล และวางจำหน่ายแล้วตั้งแต่ปี 1987
ก่อนที่เราจะซาบซึ้งกับแนวคิดของฟูกูโอกะได้ และก่อนที่จะเข้าใจได้ว่าแนวคิดนั้นเป็นมากกว่า "ทฤษฏีการเกษตร" หากเป็นปรัชญาในการดำรงชีวิตอย่างไร เราต้องทำความเข้าใจกับวิธีการของเกษตรกระแสหลักนั้นเสียก่อน ซึ่งในประเด็นนี้ คุณเดชา ศิริภัทร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญและ "โรงเรียนชาวนา" จ.สุพรรณบุรี ผู้ประมวลและสังเคราะห์แนวทาง "เกษตรยั่งยืน" ออกมาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ เขียนอธิบายที่มาและปัญหาของเกษตรกระแสหลักไว้อย่างน่าสนใจในคำนิยมฉบับภาษาไทยของ "ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว" ดังต่อไปนี้:
"…ในด้านการเกษตรนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดที่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติก็คือ "การปฏิวัติเขียว" (The Green Revolution) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ...โดยเริ่มต้นจากเทคโนโลยีการผลิต เช่น การผสมพันธุ์พืชสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูง การใช้สารเคมีชนิดต่างๆ เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ตลอดจนสุขภาพอนามัยและระบบนิเวศวิทยาของโลก
จุดเด่นของการปฏิวัติเขียวอยู่ที่การนำเอาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เละเทคโนโลยี มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอย่างได้ผลชััดเจนดังเช่นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของพันธุ์ข้าว "มหัศจรรย์" ต่าง ๆ เป็นต้น แต่จุดอ่อนของมันก็คือละเลยต่อผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาซึ่งมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง
โดยอาศัยเงื่อนไขต่างๆ เช่น ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ ในที่สุด ระบบการเกษตรในแนวทาง "การปฏิวัติเขียว" ก็กลายเป็นนโยบายหลักของแทบทุกประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเกษตรกรต่างถูกชักจูงให้ยอมรับระบบการเกษตรดังกล่่าวด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งผ่านระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชนนานาชนิด จนกระทั่งกลายเป็นกระแสหลักของระบบการเกษตรในปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุป ระบบการเกษตรปัจจุบันตั้งอยู่บนหลักการใหญ่ๆ เพียง 2 ประการคือ ความมักง่ายและความรุนแรง
"ความมักง่าย" แสดงออกโดยการมองทุกสิ่งอย่างแยกส่วน เช่น มองเห็นดินเป็นเพียงพื้นที่สำหรับพืชอาศัยยืนต้นและเป็นแหล่งธาตุอาหารเท่านั้น เมื่อดินขาดความอุดมสมบูรณ์ก็เพียงแต่ใส่ธาตุอาหารลงไปโดยตรงในรูปของปุ๋ยเคมี ซึ่งในที่สุดก็พัฒนามาจนไม่ต้องปลูกพืชบนดินก็ได้ กล่าวคือ ปลูกบนกกรวดทรายที่มีสารละลายของธาตุอาหารหล่อเลี้ยงอยู่แทน (Hydroponic)
ส่วน "ความรุนแรง" จะเห็นได้จากการแก้ปัญหาศัตรูพืช เช่น โรครา แมลง วัชพืชหรือสัตว์อื่นๆ เช่นหนูนา โดยการฆ่าหรือทำลายโดยตรงด้วยสารเคมีพิษชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยากำจัดเชื้อรา ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช หรือยาเบื่อหนูก็ตาม
ระบบการเกษตรปัจจุบันพยายามแยกตัวออกจากธรรมชาติ โดยใช้วิธีการควบคุมและบังคับธรรมชาติไปในทิศทางที่มนุษย์ต้องการ เพียงเพื่อสนอง "ความต้องการเทียม" ของคนกลุ่มน้อยที่มีกำลังซื้อ ตัวอย่างเช่น การปลูกพืชเมืองร้อนในประเทศเขตหนาว หรือปลูกพืชเมืองหนาวในประเทศเขตร้อน รวมทั้งการบังคับให้ต้นไม้ออกผลนอกฤดูกาล เป็นต้น
รูปธรรมอันเป็นผลจากระบบการเกษตรดังกล่าวที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ก็คือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของกิจการกลุ่มบรรษัทผลิตสารเคมีและเครื่องจักรกลที่ใช้ในการเกษตร การล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย หนี้สินต่างประเทศของประเทศเกษตรกรรม ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา ปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนทั่วไปในฐานะผู้บริโภคผลผลิตจากระบบการเกษตรนี้
และเมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปอีกก็พบว่าแท้จริงแล้ว ระบบการเกษตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้กลับมิได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นดังที่กล่าวอ้างกันมาแต่ต้น หากแต่เป็นระบบที่ด้อยประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการผลิตอาหารให้ได้พลังงาน 1 แคลอรี่นั้น จะต้องใช้พลังงานในการผลิตถึง 7 แคลอรี่ ในขณะที่ระบบการเกษตรดั้งเดิมนั้นใช้พลังงานการผลิตเพียง 1 แคลอรี่ แต่ผลิตอาหารได้พลังงานถึง 50 แคลอรี่ ดังนั้น ระบบการเกษตรในปัจจุบันจึงใช้ทรัพยากรของโลกอย่างฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดและไม่อาจหมุนเวียนกลับมาใช้้ใหม่ได้อีก เช่น น้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุต่างๆ เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดของเของเสียซึ่งเป็นพิษต่อดิน น้ำ อากาศ ตลอดจนปนเปื้อนมากับอาหารที่ผลิตได้ เป็นพิษภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย"
……