การผ่าตัดอารมณ์
คงจะต้องมีเรื่องมากมายมาเล่าเกี่ยวกับเรื่องของอารมณ์ ครั้งก่อนผมได้เขียนถึงการบายพาสเส้นทางของอารมณ์มาแล้ว ในครั้งนี้อยากจะเขียนถึงเรื่องของอารมณ์ในอีกประเด็นหนึ่ง นั่นก็คือเรื่องของ “การผ่าตัดทางอารมณ์” ด้วยเหตุที่ผมเป็นหมอผ่าตัด เมื่อมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการผ่าๆ ตัดๆ ก็ย่อมเป็นที่สนใจของผมเสมอ…..ทั้งนี้ไม่ยกเว้นแม้แต่เรื่องของอารมณ์ และแม้จะเป็นศัพท์ที่ดูจะดุเดือดไปสักหน่อยก็คิดว่าการใช้คำว่า “การผ่าตัดทางอารมณ์” จะสามารถสื่อความหมายและให้ความเข้าใจกับคนสมัยใหม่ได้ดีพอสมควร
อย่างไรก็ตามในความหมายของคำว่า “ผ่าตัดทางอารมณ์” ที่ว่านี้ออกจะไม่เหมือนกับความหมายของการผ่าตัดที่คนทั่วไปเข้าใจเสียทีเดียว เช่นการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกหรือการผ่าตัดเพื่อเย็บซ่อมอวัยวะที่ชำรุดจากโรคหรืออุบัติเหตุ แต่การผ่าตัดทางอารมณ์ดูๆ ไปจะเหมือนกับการผ่า (อารมณ์) และ “แบะ” ออกเฉยๆ มากกว่า หรือจะใช้เป็นคำว่า “ตัดผ่าน” (อารมณ์) ก็พอได้เป็นแบบ Emotionotomy มากกว่าที่จะเป็นแบบ Emotionectomy คือในความหมายของการผ่าตัดทางอารมณ์ที่ว่านี้ผมนำพื้นความคิดมาจากเทคนิคหนึ่งในสามของสถาบัน HeartMath ซึ่งได้เกริ่นถึงมาบ้างแล้วในบทความครั้งก่อนๆ นั่นก็คือเทคนิค CUT-THRU ซึ่งคำว่า “CUT-THRU” นั้นมีความหมายถึง Cut through the Emotion คือการตัดผ่านอารมณ์นั่นเอง
พอพูดถึงการตัดผ่านหรือการผ่าตัดอารมณ์นั้นก็ดูจะเป็นการเปรียบเทียบที่น่าสนใจ และพอจะทำให้นึกภาพได้ดีพอสมควรในการทำความเข้าใจกับเทคนิคที่ว่านี้ อย่างไรก็ตามในบรรดาเทคนิคทั้งสามของสถาบัน HeartMath ก็คือ FREEZE-FRAME CUT-THRU HEART LOCK-IN นั้น Doc Childre เจ้าของสถาบันบอกเลยครับว่าเทคนิค CUT-THRU หรือการตัดผ่านอารมณ์นี้เป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่สุด แต่ก็เป็นเทคนิคที่ใช้จัดการกับเรื่องของอารมณ์ลบเช่นความโกรธ ความหงุดหงิด เป็นการเฉพาะเลย
ในปี 1995 Doc Childre และในปี 1998 McCraty, R. แห่งสถาบัน HeartMath ได้ทำการทดลองให้เห็นชัดเจนได้ว่า การฝึกเทคนิค CUT-THRU นั้นสามารถทำให้สามารถเพิ่มค่าฮอร์โมน DHEA ซึ่งเป็นฮอร์โมนด้านบวกเช่นเดียวกันกับเอ็นดอร์ฟิน ในผู้เข้าร่วมการทดลองที่ทำการฝึกเทคนิคนี้เป็นเวลานาน 5 วันได้มากถึง 100% และในบางรายสูงถึง 300%-400% และในขณะเดียวกันเทคนิคนี้สามารถลดค่าฮอร์โมนคอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนด้านลบตัวหนึ่งได้ 23% ในเวลา 1 เดือนหลังจากการฝึกเทคนิคนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ของสถาบัน HeartMath ให้ผลที่ออกมาว่าเทคนิคนี้สามารถทำให้มีฮอร์โมนด้านบวกหลั่งออกมาอย่างค่อนข้างชัดเจน อย่างที่ผมได้เขียนไว้แล้วในบทความครั้งก่อนๆ ที่ผมพยายามชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของการที่มีฮอร์โมนบวกหลั่งออกมานั้นหมายถึง “สภาวะแห่งความเป็นปกติ” ซึ่งเป็นสภาวะที่ส่งผลดีต่อร่างกายของเราในทุกๆ ด้านไม่เฉพาะแต่ในเรื่องของการมีสุขภาพที่ดีเท่านั้น หากหมายถึงในด้านอื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีมากขึ้น ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือคนในครอบครัว ความมีสมาธิและการเรียนรู้ที่ดีขึ้นด้วย
ลองมาดูวิธีการฝึกเทคนิค CUT-THRU ที่เขียนไว้ในหนังสือ The HeartMath Solution สำนักพิมพ์ HarperCollins Book ปี 2000 หน้าที่ 203-205 บอกไว้ดังนี้
1. ให้รับรู้ว่าขณะนี้กำลังมีอารมณ์ที่ไม่ดีอยู่
2. เลื่อนความคิดไปที่บริเวณทรวงอกด้านซ้ายซึ่งเป็นที่ตั้งของหัวใจ หายใจเข้าออก รับรู้ถึงความรู้สึกรักและความรู้สึกดีๆ
3. ให้สมมติว่ามีคนสองคนอยู่ในตัวคุณ ตัวคุณกำลังเฝ้าดูอีกคนหนึ่งที่มีอารมณ์ไม่ดีคนนั้นอยู่
4. เฝ้าดูอย่างกลางๆ รับรู้อารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในตัวคุณ
5. ผ่อนคลายและลองพยายามเลื่อนความคิดไปยังอารมณ์ที่เป็นด้านบวกให้มากขึ้นทีละน้อยๆ โฟกัสความคิดไปยังบริเวณหัวใจมากขึ้น นึกถึงความรักและสิ่งดีงามให้มากขึ้นเรื่อยๆ ให้จมตัวเองอยู่ในความคิดตรงนี้ให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
6. ฝึกถามความรู้สึกจากหัวใจว่า ต้องการให้เราทำอย่างไรกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้า และให้อยู่กับขั้นตอนต่างๆ ของ CUT-THRU ได้ตามความพอใจ
ผมพบว่ามีข้อน่าสังเกตเกี่ยวกับเทคนิคการผ่าตัดอารมณ์ที่ว่านี้สองสามประการครับ
หนึ่ง จะเห็นว่าขั้นตอนแรกของเทคนิคนี้ เริ่มที่ให้ “รู้ตัว” ว่ากำลังมีอารมณ์ลบอยู่ แค่ขั้นตอนแรกนี้ก็ไม่ง่ายเสียแล้วสำหรับท่านที่ไม่เคยฝึก “การรับรู้” เพราะพวกเราส่วนมากก็โกรธแล้วโกรธเลย หรือกว่าจะรู้ตัวว่าโกรธหรืออารมณ์ไม่ดี บางครั้งก็ใช้เวลานานไปเห็นผลของความโกรธที่ใช้อารมณ์กระทำความรุนแรงออกไปแล้ว หรือบางท่านก็โกรธนานโกรธเป็นหลายวันยังไม่เลิกโกรธหรืออะไรแบบนี้เป็นต้น การฝึกการ “รู้ตัว” จึงเป็นเรื่องสำคัญแรกเริ่มเลย และผมเห็นว่าในทางปฏิบัติจริง การฝึกเรื่องลมหายใจเข้าออก เป็นแบบฝึกหัดที่ง่ายที่สุดที่จะฝึกกันได้ และเมื่อเส้นทางของปฏิกริยาชีวเคมีในสมองค่อยๆ เริ่มคุ้นเคยกับ “การรับรู้” เราก็จะรู้สึกเลยว่ามีความง่ายขึ้นเรื่อยๆ ในการรับรู้อารมณ์ซึ่งจะทำให้การฝึกขั้นตอนต่อๆ ไปของเทคนิคนี้เป็นรูปธรรมได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ ตามไปด้วย เหมือนกับที่ผมได้เคยยกตัวอย่างเรื่องการขับรถไปแล้วว่า ถ้าเราฝึกเรื่อง “การรับรู้” แบบนี้เราจะพบเลยว่าอารมณ์หงุดหงิดต่างๆ จะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ จนบางครั้งตัวเราเองก็ยังแปลกใจ
สอง ท่านที่ได้อ่านบทความเรื่องการบายพาสอารมณ์ในครั้งก่อนจะเห็นได้เลยว่า เทคนิคการผ่าตัดอารมณ์หรือ CUT-THRU ของสถาบัน HeartMath ที่ว่านี้มีความเหมือนกันเป็นอย่างมากกับวิธีการฝึกการบายพาสอารมณ์แบบที่เรียกว่า Transformation ซึ่งเป็นวิธีการที่ท่านติช นัท ฮันห์ได้เขียนอธิบาย เป็นแนวทางของพุทธศาสนาที่ใช้จัดการกับอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์
สาม โดยประสบการณ์ส่วนตัว ผมพบว่าเทคนิคการผ่าตัดอารมณ์นี้มีความเหมาะสมมากกับการใช้ในการจัดการกับ “การติดค้างของอารมณ์” เช่นในบางวันเราจะรู้สึกแปลกๆ อยู่ดีๆ ก็หงุดหงิดขึ้นมาเฉยๆ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรพิเศษในขณะนั้น แต่เป็นเหมือนกับการที่มี “อารมณ์ด้านลบตกค้าง” อยู่ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นที่เรารู้สึกไม่สบอารมณ์กับเรื่องบางเรื่องแล้วเก็บไว้ในจิตใจ การใช้เทคนิคนี้มาพิจารณามาเฝ้าดูอารมณ์ของตัวเอง ผ่าตัดผ่านอารมณ์ของตัวเราเองเข้าไปแล้วปรับเปลี่ยนให้เป็นพลังงานด้านบวกนั้นจะเกิดประโยชน์มาก ไม่เกิดเป็น “สารพิษตกค้างทางอารมณ์” อยู่ภายในจิตใจ เป็นวิธีการ “ล้างพิษหรือดีท็อกซ์” ของจิตใจที่ดีมากวิธีหนึ่ง
พวกเรากำลังฮิต “ล้างพิษ” ของส่วนที่เป็นร่างกายผ่านอวัยวะ “ตรงนั้น” กันอย่างแพร่หลาย อย่าลืม “ล้างพิษด้านใน” ผ่านวิธีการผ่าตัดอารมณ์ด้วยก็แล้วกันครับ
--------------------------------
บรรณานุกรม
นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ คอลัมน์จับจิตด้วยใจ เรื่อง “การผ่าตัดทางอารมณ์”
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน 2546
ขอบพระคุณที่มา
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=18061