ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน :สมเด็จพระญาณสังวร  (อ่าน 2473 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
ม้วนที่ ๑๖๕/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๖๖/๑ ( File Tape 127 )
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
-http://www.mahayana.in.th/tsavok/tape/127.htm
----------------------------------------

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้รู้เป็นผู้เห็นได้ตรัสแสดงแนะนำวิธีปฏิบัติกรรมฐาน
อันเกี่ยวแก่วิตก
ไว้อีกประการหนึ่ง

เพราะวิตกนั้นคือความตรึกหรือความคิดนึก คู่กับวิจารที่แปลว่าความตรอง
และก็เป็นอกุศลวิตก วิตกที่เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลวิตก วิตกที่เป็นกุศลก็มี
แม้ในการปฏิบัติจิตตภาวนาหรือกรรมฐาน ก็ต้องใช้วิตกคือความที่ตรึกนึกถึงกรรมฐานที่ปฏิบัติ


ที่เรียกว่าเป็นการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐาน หรือยกอารมณ์กรรมฐานขึ้นสู่จิต
ต้องมีวิตกคือความตรึกนึกคิด ซึ่งเป็นความกำหนดด้วยสติขึ้นเป็นเบื้องต้น
แต่ว่าถ้าเป็นอกุศลวิตกแล้วก็ตรัสสอนให้รำงับเสีย ดังที่ได้แสดงอธิบายไปแล้ว

สำหรับอีกปริยายหนึ่งนั้นตรัสสอนภิกษุ แต่ก็รวมถึงผู้ปฏิบัติประกอบกระทำจิตสมาธิทั้งปวงด้วย


ว่าในการกระทำกรรมฐานนั้น กรรมฐานที่ตั้งจิตสติกำหนดธรรมนั้นเรียกว่านิมิต
ที่แปลว่ากำหนด สิ่งที่กำหนดก็เรียกว่านิมิต ความกำหนดก็เรียกว่านิมิต
เพราะฉะนั้นในการทำกรรมฐานจึ่งต้องมีนิมิต คือเครื่องกำหนดของใจ
หรือความกำหนดใจในเครื่องกำหนดนั้น



นิมิตของกรรมฐาน
เช่นว่า เมื่อปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม
หรือปฏิบัติตามข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในพระสูตรใหญ่ที่ว่าด้วยสติปัฏฐานดังกล่าว

เริ่มด้วยหมวดกายอันตั้งต้นแต่อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก
ต่อมาก็กำหนดอิริยาบถทั้ง ๔ ต่อมาก็ให้กำหนดอิริยาบถประกอบทั้งหลาย
เช่น ก้าวไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลังเป็นต้น ให้มีความรู้ตัวอยู่ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหวนั้นๆ

และต่อมาก็กำหนดอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ที่มีอยู่ในกายนี้

เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
และต่อมาก็ตรัสสอนให้กำหนดธาตุทั้ง ๔ ในกายนี้อย่างนี้เป็นต้น

ข้อที่ตั้งจิตกำหนดเหล่านี้ก็ให้กำหนดข้อใดข้อหนึ่งในคราวหนึ่ง เรียกว่าเป็นนิมิต
แปลว่าเครื่องกำหนดของจิตใจ ความกำหนดในเครื่องกำหนดนี้ก็เรียกว่านิมิต
เพราะฉะนั้นในเวลาที่ตั้งใจทำกรรมฐาน
กำหนดนิมิตของกรรมฐานดังที่กล่าวมานี้ ข้อใดข้อหนึ่งอยู่

ถ้าหากว่าจิตไม่อยู่ในบทกรรมฐาน ไม่อยู่ในนิมิตของกรรมฐาน
แต่ว่ามีวิตกคือความตรึกนึกคิดไปในอารมณ์ที่ประกอบด้วยฉันทะความพอใจชอบใจ

หรือด้วยราคะความติดใจยินดี โลภะความโลภอยากได้ก็ดี
ตรึกนึกคิดไปด้วยพยาบาท คือความตรึกนึกคิดไปถึงสัตว์และสังขารทั้งหลาย
ด้วยพยาบาท คือความกระทบกระทั่งขัดเคืองโกรธแค้น จนถึงมุ่งหมายล้างผลาญก็ดี

ตรึกนึกคิดไปด้วยอำนาจโมหะคือความหลงก็ดีในสัตว์และสังขารทั้งหลาย


คำว่าในสัตว์และสังขารทั้งหลายนี้ สัตว์ก็หมายบุคคลก็ได้ เดรัจฉานก็ได้ คือเป็นสิ่งที่มีใจครอง
สังขารก็คือสิ่งทั้งหลายเช่นบ้านเรือนต้นไม้ภูเขา สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่ไม่มีใจครอง
หากว่าจิตเป็นดั่งนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้ส่งจิตไปสู่อารมณ์อื่น หรือสู่นิมิตอื่น
จากนิมิตกรรมฐานที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้น เพื่อที่จะได้ระงับวิตกคือความตรึกนึกคิดนั้นเสีย



สุภะนิมิต อสุภะสัญญา
และอารมณ์อื่นหรือนิมิตอื่นที่ตรัสสอนให้ส่งจิตไปนั้น
พระอาจารย์ได้อธิบายว่า จะเป็นนิมิตกรรมฐานข้อใดก็ขึ้นอยู่กับวิตกของจิตในขณะนั้น
คือถ้าหากว่าวิตกคือความตรึกนึกคิดของจิตไปในสัตว์และสังขารทั้งหลาย
ด้วยฉันทะความชอบ หรือราคะความติดใจยินดี โลภะความโลภอยากได้
ถ้าเป็นไปในสัตว์คือบุคคลลนั้นๆ หรือแม้ในสัตว์เดรัจฉานนั้นๆ
ก็ให้ใช้ อสุภะสัญญา ( เริ่ม ๑๖๖/๑ ) ความสำคัญหมายในบุคคลนั้นๆว่าไม่งาม
ด้วยพิจารณาว่ากายนี้ประกอบไปด้วยสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาดต่างๆเป็นอันมาก

ถ้าเป็นความชอบในสังขาร
คือในสิ่งทั้งหลายจะเป็นบ้านเรือนแก้วแหวนเงินทองหรือสิ่งใดๆก็ตาม
ก็ให้พิจารณาด้วย อนิจจะสัญญา ความกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง คือเป็นสิ่งที่ต้องเกิดดับ
หรือว่าด้วย อนัตตะสัญญา ความสำคัญหมายว่าเป็นเหมือนอย่างของขอยืม
ไม่ใช่เป็นของๆตน คือแม้จะได้มาก็ไม่ใช่ได้มาเป็นของๆตน
เหมือนอย่างเป็นของขอยืมเขามาซึ่งจะต้องส่งคืน ไม่มีเจ้าของ คือไม่มีตัวเราเป็นเจ้าของ
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะเป็นเหตุให้ระงับความตรึกนึกคิดออกไปด้วยความสำคัญหมายว่างดงาม
หรือว่าให้เป็นของๆเรา ดั่งนี้ได้

และถ้าวิตกตรึกนึกคิดไปด้วยอำนาจของความชอบในวัตถุทั้งหลาย ก็ให้ปฏิบัติดั่งนี้
ถ้าในสัตว์ทั้งหลายก็ให้ปฏิบัติด้วยอสุภะสัญญาดังกล่าวข้างต้น


ถ้าปฏิบัติดั่งนี้ความตรึกนึกคิดไปด้วยความชอบนั้นก็จะสงบ
และเมื่อสงบก็กลับเข้ามาสู่กรรมฐานที่ตั้งไว้เดิม
เช่น หากกำลังปฏิบัติทำอานาปานสติอยู่ ก็กลับมาทำอานาปานสติตามเดิม



ปฏิฆะนิมิต เมตตานิมิต ธาตุกรรมฐาน
อนึ่ง ถ้าตรึกนึกคิดไปในสัตว์และสังขารทั้งหลายด้วยอำนาจของโทสะ
คือความกระทบกระทั่งขัดใจโกรธเคือง จนถึงพยาบาทมุ่งร้ายหมายล้างผลาญดังกล่าว
ถ้าหากว่าเป็นไปในสัตว์ เช่นในบุคคลลนั้นๆ ก็ให้กำหนด เมตตานิมิต
นิมิตเครื่องกำหนดคือเมตตา แผ่เมตตาออกไปให้บุคคลนั้นๆเป็นสุข
ถ้าวิตกคือความตรึกนึกคิดด้วยโทสะนั้นเป็นไปในสังขาร เช่นในวัตถุทั้งหลาย
เช่นว่า ถูกหนามตำก็โกรธหนาม เหยียบกระเบื้องคมบาดเท้าหรือเจ็บเท้า ก็โกรธกระเบื้อง
เหยียบหินกรวดเจ็บเท้าก็โกรธก้อนหิน ดังนี้เป็นต้น ก็ให้พิจารณา ธาตุกรรมฐาน
คือพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ว่านั่นเป็นแต่สักว่าธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ
แม้ร่างกายของตนเองก็ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ
เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรจะไปโกรธธาตุทั้งหลาย และเมื่อพิจารณาดั่งนี้โทสะก็จะสงบ

โมหะนิมิต ปัญญาแก้ความหลง
อนึ่ง หากตรึกนึกคิดไปในสัตว์และสังขารทั้งหลายด้วยอำนาจของความหลง
เพื่อที่จะแก้ความหลง หากว่าแก้ด้วยปัญญาของตนไม่ได้ ตนยังไม่มีปัญญาที่จะแก้ความหลง
ก็ให้เข้าไปสู่สำนักอาจารย์ เรียนกับอาจารย์ ไต่ถามอาจารย์ ฟังธรรมโดยกาล
และพิจารณาวินิฉัยธรรมะที่เป็นฐานะ และไม่เป็นฐานะ คือตามเหตุและผล
เพื่อให้ได้ปัญญาที่จะแก้ความหลงนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้ความหลงนั้นดับลงไปได้
และเมื่อดับวิตกที่ประกอบด้วยโทสะ ประกอบด้วยโมหะคือความหลงลงได้แล้ว
ก็กลับเข้ามาปฏิบัติในกรรมฐานที่ตั้งเอาไว้เดิมต่อไป


เพราะว่าต้องการให้เปลี่ยนจากนิมิตของกรรมฐานเดิมที่ปฏิบัติอยู่ ไปสู่กรรมฐานอื่นใหม่
ในเมื่ออกุศลวิตก ความตรึกที่เป็นอกุศลบังเกิดขึ้นดังกล่าว
ก็เพื่อที่จะได้ดับอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้นนั้น
เพราะฉะนั้นเมื่อดับได้แล้วจึงกลับเข้ามาสู่กรรมฐานที่ตั้งไว้เดิม
ซึ่งถือเป็นข้อปฏิบัติเริ่มต้น หรือที่ถือเป็นข้อปฏิบัติประจำ

เปลี่ยนนิมิตของกรรมฐานแก้วิตก
อธิบายอย่างนี้ เป็นการอธิบายที่เป็นไปแก่บุคคล
ที่กำลังปฏิบัติกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่งที่ตนตั้งไว้อยู่ก่อนแล้ว
และเกิดอกุศลวิตกขึ้นมาขัดขวางเป็นกามวิตกบ้าง พยาบาทวิตกบ้าง วิหิงสาวิตกบ้าง
หรือว่าเป็น ฉันทะ ราคะ โลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ
จึ่งเปลี่ยนนิมิตของกรรมฐานใหม่ คือหยุดกรรมฐานที่กำลังปฏิบัติไว้เดิมก่อน
แล้วไปแก้จิตที่เกิดอกุศลวิตกนี้ขึ้นเสียก่อน เมื่อดับได้แล้วจึงกลับไปสู่กรรมฐานข้อที่ตั้งเอาไว้
นี้เป็นวิธีปฏิบัติในกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้


และเมื่อเปลี่ยนกรรมฐานให้ใหม่ดั่งนี้แล้ว อกุศลวิตกก็ยังไม่สงบ
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสอนต่อไปให้พิจารณาโทษของอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้นขัดขวางนั้น
ว่าเป็นสิ่งที่มีโทษ ดับปัญญา ไม่เจริญปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้นเดือดร้อน
ไม่เป็นเพื่อความดับกิเลสและดับทุกข์ และเมื่อเห็นโทษดั่งนี้ ก็จะทำให้เกิดความหน่าย
เกิดความระอา เกิดความเกลียดชังอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้น จิตก็จะสงบจากอกุศลวิตกนั้น
และเมื่อสงบแล้วก็กลับเข้าไปสู่กรรมฐานข้อเดิมที่ได้ตั้งเอาไว้
เปรียบเหมือนอย่างว่า ขยะแขยงรังเกียจศพของงูของสุนัข
หรือของมนุษย์ที่ผูกไว้ที่คอ ต้องการที่จะเหวี่ยงทิ้งไปเสียให้พ้นคอของตน
เพราะฉะนั้นเมื่อพิจารณาเห็นโทษของอกุศลวิตก บังเกิดความรังเกียจ
ต้องการจะสลัดทิ้งดั่งนี้ ก็จะสลัดทิ้งเสียได้ จะสงบลงได้


ส่วนข้อแรกที่ตรัสสอนไว้เป็นประการแรก
ให้เปลี่ยนนิมิตของสมาธิใหม่ คือให้พักนิมิตของสมาธิที่ทำไว้แต่เดิมก่อน
และไปกำหนดนิมิตของสมาธิอีกอันหนึ่งอื่นแทน ดังที่ได้อธิบายแล้วนั้น
ท่านก็อุปมาเหมือนอย่างว่า ช่างไม้หรือลูกมือของช่างไม้ ที่ตอกลิ่มเก่าที่ติดอยู่บนกระดานแล้ว
อันเป็นลิ่มที่หยาบที่ไม่ดี ด้วยลิ่มใหม่อันเป็นลิ่มที่ดี ลงไปแทนให้ลิ่มเก่านั้นหลุดออกไป
ลิ่มใหม่เข้าไปแทนที่ ก็เปรียบเหมือนอย่างว่าใช้วิตกในนิมิตของสมาธิใหม่
ตอกนิมิตของสมาธิเก่า โดยตรงก็คือว่าตอกอกุศลวิตกนั่นแหละ ให้หลุดไปจากจิต

เพราะอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้นนั้นก็เปรียบเหมือนเป็นลิ่มสลัก
ที่ตอกอยู่ในแผ่นกระดานคือจิตใจ ไม่หลุดไป ก็ต้องเอาลิ่มใหม่มาตอก
เพราะว่าสมาธิที่ปฏิบัติอยู่เดิมนั้นยังไม่อาจที่จะสลัดอกุศลวิตกได้
เพราะไม่ใช่คู่ปรับกันโดยตรง จึ่งต้องใช้นิมิตของสมาธิที่เป็นคู่ปรับกันโดยตรง
ดังที่แสดงแล้วในข้อ ๑ และเมื่อไม่สำเร็จก็มาใช้ข้อ ๒ คือพิจารณาเห็นโทษ
เมื่อมาใช้ในข้อ ๒ พิจารณาให้เห็นโทษไม่สำเร็จอีก ก็ตรัสสอนให้ใช้ข้อ ๓
คือให้ไม่ตั้งสติระลึกถึง ไม่ใส่ใจถึงอกุศลวิตกเหล่านั้น

คือถอนใจเสียออกจากอกุศลวิตกเหล่านั้น เบี่ยงบ่ายใจออกเสียจากอกุศลวิตกเหล่านั้น
เปรียบเหมือนอย่างว่า เมื่อมองดูสิ่งที่มาประจวบกับสายตาจำเพาะหน้า
เมื่อไม่ชอบใจในรูปที่มาประจวบจำเพาะหน้านั้น ไม่อยากดูก็หลับตาเสีย
หรือว่าเบนหน้าไปเสียในที่อื่น ไม่มอง
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้อกุศลวิตกที่เบี่ยงบ่ายใจออกไปเสียได้นั้นต้องสงบลงไป

แต่ว่าในข้อนี้แม้ว่าจะเบี่ยงเบนหน้าไปเสียจากสิ่งที่เห็นจำเพาะหน้า ไม่เห็นสิ่งจำเพาะหน้าแล้ว
ถ้าไม่หลับตาเสียก็จะต้องเห็นสิ่งอื่น จึงหมายความว่าไปคิดถึงสิ่งอื่นแทนก็ได้
ดังที่พระอาจารย์อธิบายไว้ว่า วิธีที่จะเบนใจออกไปจากอกุศลวิตก ดังที่ตรัสสอนไว้ในข้อนี้นั้น
กระทำได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่นด้วยวิธีที่มาจัดโน่นจัดนี่ ทำโน่นทำนี่ ด้วยกายก็ได้
ให้จิตใจเบนไปเสียจากอกุศลวิตก



ซึ่งวิธีนี้ก็ได้มีแสดงถึงว่าพระอาจารย์ได้เคยทำกับสามเณรรูปหนึ่งมาแล้ว
ซึ่งเป็นสามเณรที่บวชเข้ามาเพื่อตั้งใจปฏิบัติให้บรรลุถึงผลที่สุด
และต่อมาสามเณรนั้นก็เกิดเบื่อหน่ายใคร่ที่จะลาสิกขาไปเสีย
พระอาจารย์จึงใช้วิธีที่นำตัวเข้าไปอยู่ในถ้ำ และให้สามเณรสร้างเสนาสนะ
สำหรับอยู่ด้วยตนเองให้ไปทำการทำงาน และเมื่อสร้างเสนาสนะเสร็จแล้ว
พระเถระก็ให้สามเณรอยู่ในเสนาสนะที่สร้างขึ้นนั้นเอง
คราวนี้สามเณรก็กลับมาจับทำสมาธิไปใหม่ ก็ได้ความปลอดโปร่งของจิต
จากอกุศลวิตกทั้งหลาย เพราะได้เบนใจมาทำการทำงาน ทำโน่นทำนี่เสีย
จนหลุดออกจากอกุศลวิตก คือความเบื่อหน่ายที่บังเกิดขึ้นนั้น
ก็บรรลุถึงความสำเร็จได้ ดั่งนี้เป็นวิธีที่ ๓

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนไว้ถึงวิธีปฏิบัติในการทำสมาธิดั่งนี้
และหากจะถามว่าจะทำสมาธิข้อที่ตั้งไว้แต่เดิมต่อไปให้จริงๆ ไม่ได้หรือ
ก็ตอบว่า ก็อาจได้เหมือนกัน แต่ว่าอาจจะดับอกุศลวิตกได้ยากกว่า
เหมือนอย่างการดับไฟที่บังเกิดขึ้น จะดับด้วยฟืน ดับด้วยไม้ หรืออะไรก็ดับได้
คือเอาไม้ฟาด เอาฟืนฟาดไฟ เอาไม้ฟาดไฟ เอาผ้าฟาดไฟ อะไรเป็นต้น
ก็อาจจะดับไฟได้เหมือนกัน แต่ว่าไม่เหมือนอย่างดับด้วยน้ำ ดับด้วยน้ำสะดวกไฟจะดับได้ง่าย
เพราะฉะนั้น การจะใช้กรรมฐานที่ไม่ใช่คู่ปรับกันดับนั้น เช่นกรรมฐานที่ตั้งทำไว้เดิม
หากว่าไม่ใช่คู่ปรับกัน เช่นอานาปานสติเป็นต้นนั้น ก็จะดับได้เหมือนกัน แต่ว่าดับยาก

เพราะฉะนั้น ก็ให้พักกรรมฐานที่ทำไว้เดิมนั้นก่อน
แล้วมากำหนดนิมิตกรรมฐานใหม่ จากกรรมฐานเดิมนั้น
ดั่งที่ตรัสสอนมาในข้อ ๑ ข้อ ๒ และข้อ ๓ นี้ ก็จะดับอกุศลวิตกได้สะดวก
เหมือนอย่างไฟบังเกิดขึ้นก็เอาน้ำมาเทดับ ก็จะดับได้ง่ายกว่า
และเมื่อดับแล้วจึงกลับไปทำกรรมฐานเดิมต่อไปใหม่
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

VANCO :palungjit.com
มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน (๒)

วิตกสังขาร ๓
วิธีหยุดวิตก ๔
อุปมาเรื่องกระต่ายตื่นตูม ๕
อำนาจของตัณหาสัญโญชน์ ๗

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง
เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงนิมิตคือเครื่องกำหนดหมายของจิต ๕ ประการ
สำหรับแก้ไขอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้นแทรกแซง ในขณะเมื่อปฏิบัติกรรมฐานหรือจิตตภาวนา
ดังเช่นเมื่อปฏิบัติตั้งสติกำหนดสติปัฏฐานทั้ง ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ข้อใดข้อหนึ่งอยู่
อกุศลวิตกคือความตรึกที่เป็นอกุศลบังเกิดแทรกแซง อันประกอบด้วยฉันทะความชอบ
หรือราคะความติดใจยินดีบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง


ผู้ปฏิบัติก็พึงมีหน้าที่จะต้องทำจำเพาะหน้า คือจัดการระงับอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้นแทรกแซงนั้น
ด้วยการที่มากำหนดให้รู้จักว่าอกุศลวิตก ความตรึกที่เป็นอกุศลข้อนี้ๆบังเกิดขึ้น
จิตได้ไปกำหนดนิมิตคือเครื่องกำหนดหมายของอกุศลวิตกนั้นๆ
คือเอาอารมณ์ของอกุศลวิตกนั้นๆมาเป็นนิมิต คือเครื่องกำหนดของใจ
เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ให้ต้องแก้ไขในปัจจุบัน ด้วย ๑ กำหนดนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น
๒ พิจารณาให้เห็นโทษของนิมิตอันเป็นอกุศลที่บังเกิดขึ้นแทรกแซงนั้น
๓ ไม่ใส่ใจในนิมิตของอกุศลวิตกนั้น เมินใจไปเสียในนิมิตอื่น
ซึ่งได้อธิบายไปแล้ว

( เริ่ม ๑๖๖/๒ )
จึงมาถึงนิมิตที่ ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้
ให้ใส่ใจถึงสัณฐานของวิตกสังขาร

วิตกสังขาร
เพราะว่าวิตกคือความตรึกนึกคิดนี้ ทั้งที่เป็นกุศล และทั้งที่เป็นอกุศล
ย่อมมีสังขาร สังขารนั้นแปลว่าเครื่องปรุงแต่งก็ได้ สิ่งปรุงแต่งก็ได้
คือว่าปรุงแต่งขึ้นเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น ที่เรียกกันว่าสังขารร่างกาย
คือร่างกายนี้ก็เป็นสังขารอย่างหนึ่ง คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งอย่างหนึ่ง
ซึ่งแม้ว่าจะเป็นนามธรรมคือตัววิตกเองก็เป็นสังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่งเหมือนกัน

เรียกว่าสังขารของวิตก เหมือนอย่างสังขารร่างกายของบุคคล
อันสังขารร่างกายของบุคคลนั้น ก็ปรุงแต่งขึ้นเป็นร่างกายของบุคคล
ดังเช่นประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ มีอาการ ๓๒ รูปร่างภายนอกก็มีส่วนศรีษะ ส่วนลำตัว
และส่วนขาเป็นต้น มีมือมีแขนมีขา ส่วนศรีษะก็มีจมูกมีตามีหูเป็นต้น
เหล่านี้เป็นสังขารร่างกายทั้งนั้น และก็มีอิริยาบถยืนเดินนั่งนอน
ก็เป็นอิริยาบถของสังขารร่างกาย

แม้วิตกคือความตรึกนึกคิดเอง ก็มีสังขารของวิตกที่มีลักษณะอาการ
และก็มีอิริยาบถของวิตกเอง คือวิตกที่เดินยืนนั่งนอน เหมือนอย่างอิริยาบถของร่างกาย
วิตกที่เป็นไปอยู่ในจิต ก็เหมือนอย่างเดินไปหรือวิ่งไปในจิต วิตกที่หยุดอยู่ก็เหมือนอย่างนั่ง
หรือว่าเหมือนอย่างนอน แล้วเมื่อเป็นไปก็เหมือนอย่างลุกขึ้นมาจากนั่งลุกขึ้นมาจากนอน
แล้วก็เดินไปวิ่งไป เป็นกระบวนการของวิตกในจิต นี่เป็นสังขารของวิตก
และก็มีสัณฐานคือทรวดทรงของสังขารของวิตก
เหมือนอย่างมีสัณฐานคือทรวดทรงของสังขารร่างกายของสัตว์บุคคลทั้งหลาย
เช่นเดียวกัน แต่ว่าเป็นนามธรรม

  วิธีหยุดวิตก

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงมาตรัสสอนว่า เมื่อแก้ด้วย ๓ วิธีข้างต้นไม่สำเร็จ
ไม่สามารถที่จะรำงับอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้นแทรกแซงในจิตใจได้
หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็กล่าวได้ว่าไม่สามารถที่จะระงับดับนิวรณ์ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ให้ใช้การพิจารณาดูสัณฐานคือทรวดทรงของวิตกสังขารที่บังเกิดขึ้น
และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้สังขารของวิตกนั้น ในขณะที่อยู่ในอิริยาบถที่สมมติว่าวิ่งไปนั้น
ก็จะช้าเข้าในขณะที่จิตกำหนดดู เป็นเดิน แล้วก็จะช้าเข้าอีกได้ตามต้องการ
เหมือนอย่างเป็นยืนเป็นนั่งเป็นนอน คือว่าหยุด

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างว่า
เมื่อบุคคลวิ่งอยู่ ก็คิดว่าทำไมเราจึงจะต้องวิ่ง ทำไฉนเราจึงจะเปลี่ยนมาเป็นเดิน ดั่งนี้
ก็เปลี่ยนจากวิ่งมาเป็นเดิน และเมื่อเดินอยู่ก็คิดว่าทำไมเราจึงจะต้องเดิน ควรจะหยุดยืน
ก็หยุดยืนได้ และเมื่อหยุดยืนแล้วก็คิดว่าทำไมเราจึงจะต้องยืน ควรจะนั่ง ก็นั่งได้
และเมื่อนั่งก็คิดว่าทำไมเราจึงจะต้องนั่ง ควรจะนอน ก็นอนลงได้
ก็เป็นอันว่าเป็นอิริยาบถที่หยุดพัก ฉันใด

การพิจารณาจับดูสัณฐานคือทรวดทรงของสังขารวิตก คือสังขารของวิตกก็เช่นเดียวกัน
การที่เริ่มมาจับดูนั้นก็เหมือนอย่างว่า การทำให้วิตกกำลังวิ่งอยู่หยุดวิ่ง เป็นเดิน
และเมื่อเพ่งดูต่อไปอีก ก็จะทำให้วิตกที่เหมือนอย่างกำลังเดินนั้น หยุดยืน
และเมื่อดูเพ่งพินิจต่อไปอีก ก็จะทำให้วิตกที่เหมือนอย่างหยุดยืนนั้นนั่งลง
และเมื่อดูต่อไปอีกก็จะทำให้วิตกที่กำลังนั่งนั้นนอนลง
เป็นอันว่าสามารถหยุดอกุศลวิตกนั้นได้ ดั่งนี้เป็นวิธีที่ ๔

ในข้อที่ตรัสสอนให้กำหนดดูให้รู้จักวิตก
คือให้รู้จักสัณฐานคือทรวดทรงแห่งสังขารของวิตกดั่งนี้ เป็นวิธีที่หยุดวิตก

จะทำให้รู้เหตุรู้ผลว่าทำไมจึงต้องวิตก สมควรจะหยุด
เพราะว่าเมื่อวิตกวิ่งไปหรือเดินไปหยุดยืนอยู่หรือนั่งอยู่ก็ดี ก็เป็นการทำให้จิตไม่เป็นสมาธิ
ไม่สามารถที่จะปฏิบัติกรรมฐานที่ตั้งเอาไว้ได้ ทำให้รู้จักเหตุรู้จักผล
และรู้จักเหตุรู้จักผลด้วยว่ามูลเหตุของวิตกอันเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นแทรกแซงนั้น
เกิดมาจากอะไร และวิ่งไปดำเนินไปอย่างไร
เช่นว่าในขณะที่กำลังนั่งทำกรรมฐานอยู่
จิตกำลังรวมอยู่ในกรรมฐาน มีเสียงอะไรมากระทบหู จิตก็วิ่งไปที่เสียงนั้น
และเมื่อวิ่งไปที่เสียงนั้นแล้ว ก็วิ่งต่อไปถึงอันโน้นถึงอันนี้อันนั้นอีกมากมาย
จนเมื่อมีสติระลึกขึ้นมาได้ ก็นำจิตกลับเข้ามาตั้งไว้ใหม่

เพราะฉะนั้น เมื่อดูสัณฐานคือทรวดทรงแห่งสังขารของวิตกดังกล่าว
ก็เป็นการเท่ากับตรวจดู ว่าอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้นแทรกแซงนั้นเกิดมาจากเหตุอะไร
แล้วก็ไปไหนมาบ้าง แล้วจึงจะรู้สึกว่าจิตนี้แล่นไปเร็วมาก
แว๊บเดียวเท่านั้นจะออกไปหลายเรื่องหลายราว เพราะฉะนั้นสามารถจะจับจิตได้
ทำให้หยุดวิตกลงได้ ตั้งแต่ผ่อนให้ที่วิ่งไปเร็วนั้นกลับช้าลงๆ จนนอนลงได้ คือว่าหยุดได้
และเมื่อจิตแล่นออกไปอีก ก็ดูอีกว่ามาจากอะไร
ก็สามารถที่จะนำจิตกลับมาให้สงบอยู่ในกรรมฐานได้ คือให้รู้ต้นเหตุ

   อุปมาเรื่องกระต่ายตื่นตูม

ท่านจึงตรัสอุปมาด้วยเรื่องกระต่ายตื่นตูม ซึ่งเรื่องกระต่ายตื่นตูมนี้
มีอยู่ในนิทานสอนเด็กตั้งแต่ในชั้นประถม ซึ่งมีเรื่องเล่าว่ากระต่ายนอนอยู่ใต้ต้นมะตูม
ซึ่งมีลูกสุก มะตูมผลหนึ่งก็หล่นลงมาจากต้น ตกลงที่ใกล้หูของกระต่ายเสียงดังตูม
กระต่ายกำลังหลับเพลินได้ยินเสียงมะตูมหล่นลงดังตูมดั่งนั้น ก็ตกใจคิดว่าแผ่นดินถล่ม
รีบวิ่งหนีออกไปโดยเร็ว บรรดาสัตว์ทั้งหลายเห็นกระต่ายวิ่งหนีออกไปโดยเร็ว
ไต่ถามว่าแผ่นดินถล่ม ก็พากันตกใจวิ่งตามกระต่ายออกไปเป็นพรวน
จนถึงไปพบกับราชสีห์ซึ่งเป็นสัตว์มีปัญญา ราชสีห์จึงได้ถามกระต่ายว่าวิ่งมาทำไมกัน

กระต่ายก็ตอบว่าแผ่นดินถล่มจึงพากันวิ่งหนี
ราชสีห์ก็ถามว่าถล่มที่ไหน กระต่ายก็ตอบว่าเริ่มที่ใต้ต้นมะตูม
ราชสีห์จึงให้กระต่ายนำไป กระต่ายก็ไม่กล้า ราชสีห์บอกไม่เป็นไร
เราพระยาราชสีห์ก็จะไปด้วย จึงได้พาสัตว์เหล่านั้นเดินย้อนกลับไปยังต้นมะตูม
และเมื่อถึงต้นมะตูมแล้วราชสีห์ก็เข้าไปดู ก็เห็นลูกมะตูมหล่นอยู่ตรงที่กระต่ายนอนนั้น
และแหงนขึ้นดูที่ต้นมะตูมก็พบว่ามะตูมนั้นมีผลสุก
เพราะฉะนั้น จึงได้พูดให้กระต่ายเข้าใจว่าไม่ใช่แผ่นดินถล่ม แต่ว่าผลมะตูมหล่นลงจากต้น
เท่านั้นสัตว์ทั้งหลายก็เลยหายความตกใจ

นิทานเรื่องนี้เป็นนิทานสำหรับสอนว่า อาการที่จิตเป็นไปกับด้วยอกุศลวิตก
วิ่งพล่านไปนั้น ก็เหมือนอย่างกระต่ายตื่นตูมด้วยคิดว่าแผ่นดินถล่ม
พากันวิ่งพร้อมด้วยสัตว์ทั้งหลาย เพื่อจะหนีแผ่นดินถล่ม
แต่ว่าเมื่อใช้การพิจารณาดูสัณฐานแห่งสังขารของวิตก
ก็เหมือนอย่างว่าย้อนกลับไปดูถึงว่าวิตกนั้นมาจากไหน มาจากเรื่องอะไร
ก็จะพบปฐมเหตุหรือว่าต้นเหตุ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ววิตกในเรื่องนั้นก็จะสงบไป
จิตกลับมาสู่ตั้งอยู่เป็นสมาธิได้

ดั่งนี้เป็นอธิบายในวิธีปฏิบัติในข้อที่ ๔
และหากว่าเมื่อปฏิบัติในข้อที่ ๔ นี้ยังไม่สามารถที่ระงับความฟุ้งซ่านของจิตได้
คือไม่สามารถที่จะระงับอกุศลวิตกที่บังเกิดขึ้นนั้นได้ ก็ให้มาใช้ข้อ ๕ ซึ่งใช้วิธีบังคับ
คือว่าให้ใช้ฟันกัดฟัน เอาลิ้นดุนเพดาน ข่มจิต บังคับจิต เพื่อให้หยุดวิตกคือความตรึกนึกคิด
เหมือนอย่างบุรุษที่มีกำลังกว่า จับบุรุษที่มีกำลังอ่อนกว่าที่ศรีษะที่คอหรือที่ก้านคอ
บังคับกดเอาไว้ไม่ให้ไปข้างไหน
ดั่งนี้เป็นวิธีที่ ๕

และเมื่อใช้บังคับด้วยวิธีที่ ๕ นี้แล้ว
ก็จะสามารถระงับวิตก คือความตรึกนึกคิดที่ฟุ้งซ่านไปนั้นได้

จิตจะกลับมาตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ของสมาธิตามที่ต้องการ
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่าผู้ที่ปฏิบัติตามวิธีทั้ง ๕ ประการนี้
ย่อมจะเป็นผู้มีความชำนาญในกระบวนการของวิตกคือความตรึกนึกคิด
จะตัดตัณหาได้ จะคลี่คลายสัญโญชน์คือความผูกได้ จะทำทุกข์ให้สิ้นสุดลงได้

เพราะตรัสรู้ตามเป็นจริง

   อำนาจของตัณหาสัญโญชน์

เพราะว่าตัณหาและสัญโญชน์นี้เอง ซึ่งเป็นเครื่องดึงจิต
ให้วิ่งไปด้วยวิตกคือความตรึกนึกคิด ด้วยอำนาจของฉันทะคือความชอบใจบ้าง
โทสะบ้าง โมหะบ้าง ก็ด้วยอำนาจของตัณหา และสัญโญชน์นี่เอง

ตัณหา
ก็คือความอยากหรือความดิ้นรนของใจ ที่จะออกไปในกามคุณารมณ์ทั้งหลายบ้าง
ออกไปเป็นนั่นเป็นนี่บ้าง ออกไปไม่เป็นนั่นเป็นนี่บ้าง

และสัญโญชน์ก็คือความผูกใจ
ความผูกใจในเมื่อๆตากับรูปประจวบกัน ก็จะเกิดสัญโญชน์คือความผูกใจขึ้นในรูป
เมื่อหูกับเสียงประจวบกัน ก็จะเกิดสัญโญชน์คือความผูกใจขึ้นในเสียงที่ผ่านหู
เมื่อจมูกกับกลิ่นประจวบกัน ก็จะเกิดความผูกใจขึ้นในกลิ่นที่ผ่านจมูก
เมื่อลิ้นกับรสประจวบกัน ก็จะเกิดความผูกใจในรสที่ผ่านลิ้น
เมื่อกายกับสิ่งที่กายถูกต้องถูกต้องประจวบกัน ก็จะเกิดความผูกใจในสิ่งถูกต้องที่ผ่านกาย
เมื่อมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวประจวบกัน ก็จะเกิดความผูกใจ
คือเป็นสัญโญชน์ขึ้นในเรื่องราวที่ผ่านใจ นี้เป็นตัวสัญโญชน์

เพราะฉะนั้น ตัณหาคือความอยาก หรือความดิ้นรนของใจไปดังกล่าว
และสัญโญชน์คือความผูกใจนี้ จึงเป็นต้นเงื่อนอันสำคัญของวิตกคือความตรึก
ตลอดถึงวิจาร
คือความตรอง


ความตรึกความตรองทั้งหลายที่ให้วิ่งไปในโลก คือในอารมณ์ทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น เมื่อสามารถเป็นผู้ฉลาดในกระบวนการของวิตก
ชำนาญในกระบวนการของวิตกดั่งนี้ จึงจะเป็นผู้สามารถที่จำนง
จะตรึกเรื่องอันใด ก็จะตรึกเรื่องอันนั้น ไม่จำนงจะตรึกเรื่องอันใด ก็จะไม่ตรึกเรื่องอันนั้น
สามารถจะหยุดได้ตามที่จำนงต้องการ

เพราะฉะนั้น จึงเป็นการปฏิบัติเป็นไปเพื่อตัด เพื่อละตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

เพื่อคลี่คลายสัญโญชน์คือความผูกใจ จากอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายที่ผูกใจอยู่
ทำให้เป็นผู้สามารถทำทุกข์ให้สิ้นไปได้ เพราะตรัสรู้
คือรู้ถึงกระบวนการของวิตกเหล่านี้โดยชอบ
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

VANCO :palungjit.com
อนุโมทนาสาธุ ที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ