พระสูตรสัทธรรมปุณฑรีกะ
วัดโพธิ์แมนคุณาราม
นายชะเอม แก้วคล้าย แปลจากต้นฉบับสันสกฤต
บทที่ 13
สุขวิหารปริวรรต
ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระมัญชุศรีกุมารภูตะ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง ที่พระโพธิสัตว์มหาสัตว์เหล่านี้ พระโพธิสัตว์มหาสัตว์เหล่านี้ จะประกาศในกาลสมัยสุดท้าย ได้อย่างไร" เมื่อ พระมัญชุศรีกราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับพระมัญชุศรีกุมารภูตะว่า ดูก่อนมัญชุศรี ธรรมบรรยายนี้อันพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมทั้ง 4 พึงประกาศในกาลสมัยสุดท้าย ธรรม 4 คืออะไรบ้าง ดูก่อนมัญชุศรี่ พระโพธิสัตว์มหาสัตว์
ผู้ตั้งอยู่ในอาจารโคจร พึงประกาศธรรมบรรยายนี้ในกาลสมัยสุดท้าย ดูก่อนมัญชุศรี พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ผู้ตั้งอยู่ในอาจารโคจร เป็นอย่างไร? ดูก่อนมัญชุศรี พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ เป็นผู้อดทนอย่างไร? เป็นผู้ระงับ เป็นผู้เข้าถึงภูมิแห่งความระงับ เป็นผู้มีใจไม่ตระหนก ไม่วู่วาม ไม่คิดร้าย ดูก่อนมัญชุศรี พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ย่อมไม่ยึดติดในธรรมใดๆ จักพิจารณาเห็นลักษณะของตน ตามความเป็นจริงในธรรมทั้งหลาย เป็นผู้ไม่วิจารณ์ เป็นผู้ไม่ตรวจสอบในธรรมเหล่านี้
ดูก่อนมัญชุศรี เราเรียกสิ่งนี้ว่า อาจาระ ของพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ดูก่อนมัญชุศรี (วิสัย) ของพระโพธิสัตว์มหาสัตว์เป็นอย่างไร ดูก่อนมัญชุศรี พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ไม่รับใช้ ไม่สามาคม ไม่คบ ไม่เข้าใกล้ ไม่เข้าหาพระราชา ราชบุตร ราชอำมาตย์ ราชบุรุษ ไม่รับใช้เดียรถีย์ อเจลกะ ปริพาชก อาชีวกและนิครนถ์อื่น หรือสัตว์ทั้งหลาย ผู้หลงใหลในกาพย์ศาสตร์ (วรรณคดี) ไม่คบ ไม่เข้าหา ไม่รับใช้ ผู้นิยมมนตร์ของโลกายัต (ของจารวาก) และผู้นับถือลัทธิโลกายัต ย่อมไม่สร้างความสัมพันธ์ กับชนเหล่านั้น ไม่เยี่ยมคนจัณฑาล น้ำมวยปล้ำ คนเลี้ยงสุกร คนเลี้ยงไก่ คนล่ากวาง คนล่าเนื้อ นักฟ้อนระบำ นักกระบี่กระบอง และนักรำดาบ ไม่เข้าไปสู่สถานที่อื่น อันเป็นแหล่งบันเทิงและเล่นกีฬาของชนเหล่าอื่น ไม่ควรสมาคมกับชนเหล่านั้น นอกจากสอนธรรมตามกาลแก่ชนเหล่านั้น ผู้เข้ามาหา ย่อมสอนโดยไม่หวัง(ทรัพย์) ไม่รับใช้ ไม่คบ ไม่เข้าหา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ปฏิบัติตามลัทธิสาวกยาน ไม่สมาคมกับชนเหล่านั้น ไม่ร่วมโคจร
ด้วยความตั้งใจกับชนเหล่านั้น ในที่เดินจงกรมหรือในที่พัก (วิหาร) นอกจากสอนธรรมตามกาลแก่
ชนเหล่านั้น ผู้เข้ามาหา ย่อมสอนโดยไม่หวัง (ทรัพย์) ดูก่อนมัญชุศรี นี่คือ
โคจรของพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ดูก่อนมัญชุศรี ยิ่งกว่านั้น
พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ย่อมไม่ยึดถือนิมิตความเรียบร้อยอย่างอื่น แล้วแสดงธรรมบ่อยๆ ไม่เป็นผู้ปรารถนาจะพบมาตุคามบ่อยๆ ไม่เข้าไปหาตระกูลทั้งหลาย ไม่พึงกล่าวกับเด็กหญิงบ่อยๆ ไม่ควรสนิทสนมกับเด็กสาวหรือหญิงสาว ไม่ควรแสดงธรรมแก่กระเทย ไม่ควรสมาคมและสนิทสนมกับกระเทยนั้น ไม่ควรไปบ้านเพียงผู้เดียว เพื่อประโยชน์แก่ภิกษา นอกจากยังภาวนาระลึกถึงพระตถาคตอยู่ ถ้าจะแสดงธรรมแก่มาตุคามอีกในที่สุด เขาไม่ควรแสดงธรรม ด้วยความเสน่หาในธรรม จะป่วยกล่าวไปไย ด้วยความเสน่หาในสตรีอีกเล่า โดยที่สุด แม้วลีแห่งฟัน(หัวเราะ)ก็ไม่ควรแสดง จะป่วยกล่าวไปไย ถึงการแสดงความเปลี่ยนแปลงใบหน้าของผู้พบเห็นกันอีกเล่า ย่อมไม่ใกล้ชิดกับสามเณร สามเณรี ภิกษุ ภิกษุณี กุมารและกุมารี ไม่สมาคมและไม่สนทนากับชนเหล่านั้น ไม่เน้นหนักในการสนทนา โต้ตอบ อมคบหาด้วยการสนทนาโต้ตอบชั่วขณะ ดูก่อนมัญชุศรี นี้แหละ
ที่เรียกว่า โคจรข้อที่หนึ่งของพระโพธิสัตว์มหาสัตว์
ดูก่อนมัญชุศรี ยิ่งกว่านั้นพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ย่อมเห็นธรรมทั้งปวงว่า
เป็นศูนยตา ย่อมเห็นธรรมทั้งหลาย ว่าตั้งอยู่
ตามความเป็นจริง มีสถานะที่ไม่เปลี่ยนแปลง มีสถานะที่เป็นจริง ไม่คลอนแคลน ไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลงและไม่ถอยกลับ มีสถานะที่เป็นจริง มีภาวะเป็นอากาศ
อยู่เหนือคติที่จะกล่าวถึง ไม่เกิด ไม่มี ไม่มีจริง มีรวมกัน ไม่ต่อเนื่องกัน
ดำรงอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถจะรวมนำมากล่าวด้วยถ้อยคำที่ไม่ประจักษ์ ซึ่งปรากฏตรงข้ามกับความรู้ (เห็นผิด) ดูก่อนมัญชุศรี พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ ย่อมพิจารณาธรรมทั้งปวงบ่อยๆ
เมื่ออยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ย่อมตั้ง
อยู่ในโคจร ดูก่อนมัญชุศรี โคจรนี้เองเป็น
ฐานะที่สองของพระโพธิสัตว์
ได้ยินว่า ในเวลานั้น พระผู้มีพระภาค เพื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้ ด้วยมาตราจำนวนมากจึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
1 พระโพธิสัตว์ ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้แกล้วกล้า พึงปรารถนาประกาศพระสูตรนี้ ในกาลภายหลังที่โหดร้าย
2 พระโพธิสัตว์ พึงรักษาอาจาระและโคจร พึงสร้างความบริสุทธิ์ พึงงดเว้นการสมาคม (สดุดี) กับพระราชาและราชบุตรเป็นนิตย์
3 ไม่พึงสมาคมกับราชบุรุษทั้งหลาย ไม่ควรคบกับคนจัณฑาลและนักมวย รวมทั้งนักเลงสุราและพวกเดียรถีย์โดยประการทั้งปวง
4 ไม่ควรเป็นคนมีอหังการ ควรตั้งมั่นในคัมภีร์วินัย ควรเว้นจากภิกษุผู้ทุศีล ผู้สมมุติตนว่า เป็นพระอรหันต์
5 พึงหลีกเลี่ยงภิกษุณี ผู้มีโคจรด้วยถ้อยคำร่าเริงเป็นนิตย์ พึงงดเว้นอุบาสิกาผู้มีความเสื่อมเป็นที่ปรากฏ6 อุบาสิกาเหล่าใด แสวงหาความประพฤติในธรรมที่ประจักษ์ พระโพธิสัตว์ควรสมาคมกับอุบาสิกาเหล่านั้น อย่างนี้เรียกว่าอาจาระของพระโพธิสัตว์
7 บุคคลใดเข้าไปหาพระโพธิสัตว์นี้ แล้วถามธรรมในพระโพธิญาณอันประเสริฐ พระโพธิสัตว์ ผู้เป็นปราชญ์ไม่หวั่นไหว(ลาภ) พึงบอก(ธรรม) แก่ผู้นั้นทุกเมื่อ หลีกเลี่ยงหญิงสาวและกุมารีในตระกูลทั้งหลาย
8 ไม่พึงให้สตรีเหล่านั้น ยินดีว่า ขอกุศลจงเกิดเพื่อถามถึงความสุข พึงเว้นการสมาคมกับคนเลี้ยงหมูและแพะ
9 ชนเหล่าใด เบียดเบียนสัตว์ต่างๆ เพราะต้องการทรัพย์ ชนเหล่าใด ขายเนื้อแก่ร้านค้า พระโพธิสัตว์พึงเว้นการสมาคมกับชนเหล่านี้
10 พระโพธิสัตว์ พึง เว้นจากการสมาคมกับบุคคลเป็นพ่อเล้า (แม่เล้า) (ผู้เลี้ยงดูโสเภณี) นักฟ้อน นักรำกระบี่กระบอง นักรำดาบ และชนเหล่าอื่นที่เป็นที่เป็นเช่นนั้น
11 ชนอื่นใด ที่มีความประพฤติเพื่อทรัพย์ พระโพธิสัตว์ ไม่ควรคบหาชนเหล่านั้น พึงงดเว้นการสนทนาโต้ตอบกับชนเหล่านั้น โดยประการทั้งปวง
12 บัณฑิต เมื่อจะแสดงธรรมแก่มาตุคาม ไม่พึงไปเพียงผู้เดียว ไม่ควรหยอกล้อกับสตรี
13 ถ้ามีความต้องการอาหาร จำเป็นต้องเข้าไปสู่หมู่บ้านบ่อยๆ ภิกษุพึงมีภิกษุรูปที่สองเดินทางไปด้วย หรือพึงระลึกถึงพระพุทธเจ้า
14 ฐานะที่หนึ่ง คืออาจารโคจรนี้ ที่เราแสดงแล้ว ผู้มีปัญญาทั้งหลาย ที่ทรงจำพระสูตรเช่นนี้ ย่อมดำรงอยู่ด้วยฐานะที่หนึ่ง
15 เมื่อบุคคลไม่ประพฤติธรรม ในชนชั้นต่ำ ชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ที่รวมกันหรือแยกกัน ที่เป็นจริง หรือไม่เป็นจริง โดยประการทั้งปวง16 ผู้ฉลาด ย่อมไม่จำแนกว่า นี่คือสตรี ไม่กำหนดว่า นี่คือบุรุษ เมื่อแสวงหาธรรมทั้งปวง ย่อมไม่พบจากสิ่งที่ยังไม่เกิด
17 เพราะว่า สิ่งนี้เรียกว่าอาจาระของพระโพธิสัตว์ทั้งปวง โคจรเป็นอย่างไร ขอท่านทั้งหลาย จงฟังโคจรของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จากการประกาศ(ของเรา)
18 ธรรมเหล่านี้ทั้งปวง เราประกาศแล้วว่า ไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่เกิด ไม่มีความปรารถนา เป็นศูนยตา ตั้งอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ นี้เรียกว่าโคจรของบัณฑิตทั้งหลาย
19 ชนเหล่านี้ ผู้มีความรู้ที่เปลี่ยนแปลง(เห็นผิด) ถูกกำหนดแล้วว่า มีหรือไม่มี จริงหรือไม่จริง เป็นสิ่งตั้งมั่น ธรรมที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นแล้ว เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดให้เปลี่ยนแปลงไป
20 ผู้มีจิตเลิศเป็นหนึ่ง จิตตั้งมั่นในกาลทุกเมื่อ เป็นผู้มั่นคงราวกับยอดเขาสุเมรุ ผู้ตั้งมั่นแล้วอย่างนี้ พึงพิจารณาเห็นธรรมทั้งปวงเหล่านั้นว่าเป็นอากาศธาตุ
21 ธรรมทั้งหลายที่ตั้งอยู่ตลอดกาล เสมอด้วยอากาศ ไร้สาร ไม่เคลื่อนไหว ปราศจากการปรากฏ นี้แลเรียกว่า โคจรของบัณฑิตทั้งหลาย
23 ภิกษุผู้รักษาครรลองความประพฤติอันงดงาม (ในศาสนา) ของเรา เมื่อเรานิพพานแล้วพึงประกาศพระสูตรนี้ในโลก ความเหน็ดเหนื่อยของภิกษุ ก็จะไม่มี
24 บัณฑิต ผู้คิดอยู่ตามกาล พึงเข้าไปสู่ที่อาศัย ครั้นเข้าไปแล้วอย่างนั้น จงพิจารณาธรรมนี้ทั้งปวง ด้วยอุบายอันแยบคาย เมื่อมีจิตไม่หวั่นไหวแล้วจึงลุกขึ้นแสดงธรรม