ผู้เขียน หัวข้อ: เต๋าแห่งฟิสิกส์ : บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง  (อ่าน 1908 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ภาคที่ 3 ความสอดคล้อง

บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง


เมื่อนักปราชญ์ตะวันออกกล่าวว่าท่านนั่งรู้สรรพสิ่งและเหตุการณ์ทั้งมวลเป็นการแสดงออกของเอกสภาวะอันเป็นพื้นฐาน นั่นมิได้หมายความว่าท่านเห็นทุกสิ่งเสมอเหมือนกันไปหมด ปัจเจกภาพของแต่ละสิ่งยังคงดำรงอยู่ ทว่าในขณะเดียวกันท่านเหล่านั้นก็ตระหนักรู้ว่าข้อแตกต่างและข้อขัดแย้งทั้งหมดเป็นสิ่งสัมพัทธ์ ดำรงอยู่ในความเป็นเอกภาพ และเนื่องจากความเป็นเอกภาพของสิ่งที่ขัดแย้งกัน และโดยเฉพาะความเป็นเอกภาพของสิ่งที่ตรงกันข้ามนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้โดยยากในสภาวะความรับรู้อย่างสามัญของเรา จึงทำให้ปรัชญาตะวันออกยังคงดูลึกลับน่าพิศวง อย่างไรก็ดี สิ่งนี้คือญาณทัศนะซึ่งเป็นรากฐานของโลกทัศตะวันออก สิ่งที่ตรงกันข้ามเป็นความคิดเชิงย่อสรุป เป็นฝักฝ่ายของอาณาจักรเชิงความคิดและดังนั้นจึงเปลี่ยนเป็นสิ่งสัมพัทธ์ โดยการที่เรามุ่งสนใจต่อความคิดอันใดอันหนึ่ง เราได้สร้างความคิดที่ตรงกันข้ามขึ้นมาด้วย ดังที่เหล่าจื๊อกล่าวไว้ว่า “เมื่อทุกคนในโลกนี้เห็นสิ่งสวยงามว่าสวยงาม เมื่อนั้นความน่าเกลียดก็ปรากฏ” (1) ศาสนิกก้าวพ้นอาณาจักรแห่งความชาญฉลาดดังกล่าว โดยการตระหนักถึงความเป็นสิ่งสัมพัทธ์และความสัมพัทธ์เชิงขั้วของสิ่งที่ตรงกันข้าม เขาตระหนักว่าสิ่งที่ดีและชั่ว สุขและทุกข์ ชีวิตและความตาย มิใช่สิ่งสัมบูรณ์ที่แยกเป็นคนละฝ่าย แต่เป็นเพียงสองด้านของความจริงอันเดียวกัน เป็นส่วนสุดโต่งสองด้านของสิ่งเดียวกัน ความตระหนักรู้ว่าสิ่งตรงกันข้ามทั้งหมดเป็นเพียงขั้วคนละขั้วของสิ่งเดียวกัน และทุกสิ่งเป็นเอกภาพนี้ ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ตามคำสอนในทางจิตวิญญาณของตะวันออก “จงดำรงอยู่ในสัจจะตลอดไป จงอยู่เหนือความขัดแย้งของโลก” พระกฤษณะกล่าวแนะนำอรชุนในภควทคีตา และคำแนะนำเดียวกันมีในหมู่พุทธศาสนิกชน ดี. ที. สึซึกิ เขียนไว้ว่า ความคิดพื้นฐานในพุทธศาสนาคือการไปพ้นโลกแห่งสิ่งที่ตรงกันข้าม โลกซึ่งสร้างขึ้นด้วยการแบ่งแยกอันชาญฉลาดและแปดเปื้อนทางอารมณ์ และเพื่อหยั่งรู้โลกแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งปราศจากการแบ่งแยก อันบุคคลได้บรรลุทัศนะที่สมบูรณ์(2)

11.1 สภาพขั้วตรงกันข้าม

คำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งหมด และโดยแท้จริงคำสอนของศาสนาตะวันออกทั้งหมด มุ่งสู่การบรรลุทัศนะอันสัมบูรณ์ในโลกแห่ง อจินไตย หรือ “ไร้ความคิด” ซึ่งเอกภาพแห่งสิ่งที่ตรงกันข้ามทั้งหลายกลายเป็นประสบการณ์จริง บทกวีเซ็นเขียนไว้ว่า เมื่อค่ำไก่ขัน บอกเวลารุ่งอรุณ เมื่อเที่ยงคืน พระอาทิตย์ส่องสว่างเจิดจ้า ความคิดที่ว่าสิ่งที่ตรงกันข้ามทั้งมวลเป็นเพียงขั้วตรงข้ามของสิ่งเดียวกัน สว่างและมืด แพ้และชนะ ดีและชั่ว เป็นเพียงด้านที่ต่างกันของปรากฏการณ์อันเดียวกัน เป็นหลักการพื้นฐานอันหนึ่งของวิถีชีวิตแบบตะวันออก ในเมื่อสิ่งที่ตรงกันข้ามเป็นสิ่งที่ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ความขัดแย้งระหว่างมันไม่เคยส่งผลเป็นชัยชนะอย่างสิ้นเชิงของด้านใดด้านหนึ่ง แต่จะปรากฏเสมอว่าเป็นการปรากฏแสดงของการขับเคี่ยวระหว่างด้านทั้งสอง ในตะวันออก ผู้ทรงคุณอันบริสุทธิ์จึงมิใช่ผู้ที่พยายามทำความดี และเพียรละความชั่ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นผู้ที่สามารถรักษาดุลยภาพอันเคลื่อนไหวระหว่างดีและชั่ว ความคิดในเรื่องดุลยภาพอันเคลื่อนไหวนี้เป็นสิ่งจำเป็นแก่วิถีทางในการหยั่งรู้เอกภาพของสิ่งที่ตรงกันข้าม ในศาสนาตะวันออก ดุลยภาพนี้มิใช้สภาวะสถิต แต่เป็นการขับเคี่ยวระหว่างสภาพสุดโต่งสองด้านเสมอ ประเด็นนี้ได้รับการเน้นย้ำมากที่สุดโดยนักปราชญ์ชาวจีนโดยการสร้างสัญลักษณ์ หยิน และ หยัง ซึ่งแสดงขั้วตรงกันข้ามของสรรพสิ่ง และเรียกเอกภาพภายใต้ หยิน และหยัง นั้นว่า เต๋า อันเป็นสิ่งที่ก่อเกิดการขับเคี่ยวระหว่างหยินและหยัง “สิ่งที่ทำให้เดี๋ยวมืด เดี๋ยวสว่าง คือเต๋า” เอกภาพอันเป็นพลวัตของขั้วที่ตรงกันข้ามนี้ อาจแสดงด้วยภาพการเคลื่อนที่ของวงกลมและเงาของมัน สมมติว่าเรามีลูกบอลซึ่งหมุนเป็นกลม และถ้าหากการหมุนนี้ถูกฉายให้เกิดเงาบนจอภาพ เราจะเห็นมันเป็นการเคลื่อนกลับไป-มา ระหว่างจุดปลายสองจุด (เพื่อเปรียบเทียบกับความคิดของจีน ข้าพเจ้าเขียนคำว่าเต๋า ในวงกลม และหยินกับหยังที่จะดูปลายทั้งสอง) ลูกบอลหมุนเป็นวงกลมด้วยความเร็วคงที่ แต่งเงาของมันจะเคลื่อนที่ช้าลงเมื่อเข้าใกล้ปลาย วกกลับ และเคลื่อนที่ด้วยความเร่งสู่ปลายอีกข้างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเข้าไปใกล้ก็จะเคลื่อนที่ช้าลงอีกครั้ง และดำเนินต่อไปในลักษณะเดียวกัน วนเวียนไม่รู้จบ เงาของการเคลื่อนที่ในลักษณะวงกลมดังกล่าวจะปรากฏเป็นการเคลื่อนที่กลับไป-มาระหว่างจุดปลายที่ตรงกันข้ามสองจุด แต่การเคลื่อนไหวในลักษณะวงกลมแสดงความเป็นเอกภาพและปราศจากสภาพขั้วตรงข้าม ซึ่งภาพการรวมเป็นเอกภาพของสิ่งที่ตรงกันข้ามในเชิงเคลื่อนไหวนี้ เป็นสิ่งที่นักคิดจีนคำนึงถึงเป็นอย่างมาก ดังที่จะเห็นได้จากคำกล่าวของจางจื๊อที่ว่า การที่ ”นั่น” และ “นี่” พ้นสภาพการเป็นสิ่งตรงข้ามคือแก่นแท้ของเต๋า ด้วยแก่นแกนนี้เท่านั้นที่เป็นศูนย์กลางแห่งวังวนของการเปลี่ยนแปลงอันไม่รู้สิ้นสุด

11.2 หญิงกับชาย

สภาพขั้วตรงกันข้ามอันสำคัญประการหนึ่งในชีวิต คือ ธรรมชาติแห่งความเป็นชาย – ปุริสภาวะ และความเป็นหญิง – อิตถีภาวะ เช่นเดียวกับสภาพขั้วตรงข้ามของดีและชั่ว หรือชีวิตและความตาย ที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดกับสภาพความเป็นชายหญิงในตัวเราเอง ดังนั้นเราจึงเน้นในด้านใดด้านหนึ่งเด่นขึ้นมา สังคมตะวันตกเน้นปุริสภาวะมากกว่าอิตถีภาวะ โดยไม่ได้ตระหนักรู้ว่าบุคลิกภาพของชายและหญิงแต่ละคนเป็นผลงานการผสมผสานระหว่างทั้งสอง ดังนั้นจึงยึดเอาว่าชายต้องมีลักษณะเข้มแข็ง และหญิงต้องมีลักษณะอ่อนหวานนุ่มนวล กำหนดให้ชายมีบทบาทหน้าที่มากมาย ทัศนคติดังกล่าวส่งให้เกิดการเชิดชูหยังหรือปุริสภาพวะของมนุษย์มากเกินไป เน้นความกระตือรือร้น การคิดอย่างเป็นเหตุผลการแข่งขัน ความก้าวร้าว และอื่น ๆ ด้านหยินหรืออิตถีภาวะ ซึ่งรวมเอาลักษณะแห่งความรับรู้ ที่อาจอธิบายด้วยคำต่าง ๆ เช่น ญาณ ศาสนา ลึกลับ จิตใจ ได้ถูกลดบทบาทในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่นี้ ในศาสนาตะวันออก ได้มีการพัฒนาอิตถีภาวะสู่สภาพที่สมดุลกับปุริสภาวะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ บุคคลผู้รู้แจ้งในทัศนะของเหลาจื๊อ คือผู้ที่”รู้จักความแข็งแรงอย่างชายและยังรักษาความนุ่มนวลอย่างหญิงไว้ได้” ในศาสนาตะวันออกหลายๆศาสนา เป้าหมายหลักของการทำสมาธิภาวนาก็คือ การสร้างดุลยภาพอันเป็นพลวัตระหว่างความรับรู้สองด้าน ชายและหญิง และมักจะแสดงออกในรูปของงานศิลปะ รูปสลักของศิวะเทพในโบสถ์ของฮินดูที่ เอลีเฟนตา (Elephanta) แสดงภาพพระพักตร์สามด้านของเทพ พระพักตร์ด้านขวาแสดงภาคบุรุษแทนความเข้มแข็งและอำนาจ ด้านซ้ายแสดงถึงสตรีแสดงความนุ่มนวลความสง่างาม ความมีเสน่ห์ ตรงกึ่งกลางอันเป็นภาพพระเศียรอันงดงามของพระศิวะมเหศวร พระผู้เป็นใหญ่ ซึ่งฉายแววแห่งความสงบและอุเบกขา แทนเอกภาพอันสูงส่งอันรวมทั้งสองภาคเข้าไว้ ในโบสถ์เดียวกัน ยังมีรูปสลักของพระศิวะลักษณะครึ่งหญิงครึ่งชาย ส่วนพระกายอยู่ในท่าที่ชดช้อยอ่อนไหว พระพักตร์อิ่มเอมอย่างสงบและปล่อยวาง รูปลักษณะนี้แสดงเอกภาพของอิตถีภาวะและปริสะภาวะอีกภาพหนึ่ง ในพุทธศาสนิกกายตันตระ ขั้วแห่งความเป็นชาย-หญิง มักถูกแสดงออกโดยอาศัยสัญลักษณ์ทางเพศ ปัญญาญาณถือได้ว่าเป็นธรรมชาติฝ่ายรับของมนุษย์และเพศหญิงความรัก ความกรุณา เป็นผ่ายกระทำและเพศชาย เอกภาพของทั้งสองฝ่ายในกระบวนการของการตรัสรู้แสดงด้วยสัญลักษณ์การสวมกอดกันและกันของเทพและเทพี ศาสนาตะวันออกยืนยันว่าเอกภาพดังกล่าวจะปรากฏก็แต่ในสำนึกระดับสูง ซึ่งไปพ้นอาณาจักรความคิดและถ้อยคำภาษา และสิ่งที่ตรงกันข้ามทั้งมวลปรากฏเป็นเอกภาพอันเคลื่อนไหว

11.3 โลกสี่มิติ

ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวมาแล้วว่า ฟิสิกส์สมัยใหม่ได้เสนอสิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้ การศึกษาสำรวจอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมได้เปิดเผยความจริงซึ่งได้แสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าไปพ้นภาษาและเหตุผล และการรวมเป็นเอกภาพของความคิดที่ เคยเชื่อว่าเป็นสิ่งตรงกันข้ามและไม่อาจผสมผสานกันได้ นั้นได้กลายเป็นคุณลักษณะอันน่าตื่นใจของความจริงอันใหม่นี้ แนวความคิดซึ่งดูแล้วว่าไม่น่าจะเข้ากันได้ดังกล่าวนี้ มิใช่แนวที่ศาสนาตะวันออกสนใจเกี่ยวข้องด้วยทว่าการรวมเป็นเอกภาพของมันในความจริงระดับที่สูงขึ้นไป เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับศาสนาตะวันออก ดังนั้นนักฟิสิกส์สมัยใหม่อาจที่จะบรรลุถึงญาณทัศนะอันปรากฏในคำสอนสำคัญของตะวันออกไกล โดยการค้นหาประสบการณ์ในสาขาของตน เป็นนักฟิสิกส์รุ่นใหม่กลุ่มเล็กๆซึ่งกำลังทวีจำนวนขึ้น ได้พบว่าวิธีการดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและกระตุ้นให้เกิดความสนใจในศาสนาตะวันออกมากขึ้นตัวอย่างของการรวมตัวกันของแนวความคิดที่ตรงกันข้ามในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่อาจจะพบได้ในการศึกษาในระดับอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม ซึ่งอนุภาคเป็นทั้งสิ่งที่ทั้งทำลายได้และทำลายไม่ได้และสสารวัตถุเป็นสิ่งที่มีสภาพต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่อง และแรงกับสสารวัตถุเป็นเพียงสองด้านของปรากฏการณ์เดียวกัน ตัวอย่างทั้งหมดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากรอบแนวคิดที่ตรงกันข้าม อันเกิดจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเรานั้น เป็นสิ่งที่คับแคบเกินไปสำหรับโลกของอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม ทฤษฎีสัมพัทธภาพเป็นทฤษฎีที่สำคัญยิ่งในการอธิบายโลภพิภพนี้ และในโครงราง”สัมพัทธ์” นั้น แนวคิดดั้งเดิมได้ถูกก้าวว่างไปสู่มิติที่สูงกว่า คือ กาล-อวกาศสี่มิติ อวกาศและเวลาในตัวของมันเองเป็นความคิดสองประการซึ่งดูเหมือนว่าแตกต่างกัน แต่ปรากฏเป็นเอกภาพในฟิสิกส์แห่งสัมพัทธภาพ เอกภาพพื้นฐานประการนี้เป็นรากฐานแห่งเอกภาพของความคิดที่ตรงกันข้ามทั้งมวลซึ่งกล่าวถึงข้างต้น และเช่นเดียวกับเอกภาพของสิ่งที่ตรงกันข้ามในศาสนาตะวันออก เอกภาพนี้เกิดขึ้นใน “ระดับที่สูงกว่า” นั่นคือในมิติที่สูงกว่า ทั้งยังเป็นเอกภาพซึ่งมีลักษณะเคลื่อนไหว เนื่องจากความจริงในเรื่องกาล-อวกาศอันสัมพันธ์นี้มีลักษณะเป็นความจริงอันมีสภาพเคลื่อนไหวอยู่ในเนื้อหาของมันเอง โดยที่วัตถุต่างๆ เป็นตัวกระบวนการด้วย และรูปลักษณ์ทั้งมวลเป็นแบบแผนแห่งการเคลื่อนไหว เพื่อที่จะให้เห็นชัดเจนในเอกภาพของสิ่งที่ดูเหมือนว่าแยกจากกันในมิติที่สูงกว่านั้น เราไม่จำเป็นต้องไปถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพ เพียงแต่ขึ้นไปจากหนึ่งมิติสู่สองมิติ หรือจากสองไปสามมิติ ตัวอย่างของการเคลื่อนที่ของลูกบอลเป็นวงกลม(ที่กล่าวถึงแล้ว) และเงาของมันซึ่งเคลื่อนที่กลับไปกลับมาระหว่างขั้วสองขั้วที่ดูเหมือนเป็นสิ่งตรงกันข้ามในสภาวะหนึ่งมิติ (ตามเส้นตรง) กลับรวมเป็นเอกภาพของการเคลื่อนไหวเป็นวงกลมในสภาวะสองมิติ (ในระนาบหนึ่ง) ภาพข้างล่างนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเปลี่ยนจากสภาพสองมิติไปสู่สามมิติ มันแสดงให้เห็นภาพวงของขนมโดนัทถูกตัดโดยแผ่นราบอันหนึ่งในสภาพของสองมิติในพื้นราบนั้น พื้นผิวของโดนัทที่ถูกตัดปรากฏเสมือนแผ่นสองแผ่นซึ่งแยกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่ในสภาพสามมิติมันเป็นส่วนของวงโดนัทอันเดียวกัน เอกภาพของสิ่งต่างๆดูเหมือนแยกออกจากกัน และรวมเข้ากันไม่ได้ในทำนองเดียวกันนี้ปรากฏในทฤษฎีสัมพัทธภาพ เมื่อเราไปจากสภาพสามมิติไปสู่สภาพสี่มิติ โลกของฟิสิกส์แห่งสัมพัทธภาพซึ่งมีสภาพสี่มิตินั้นคือโลกที่แรงและสสารเป็นหนึ่งเดียวกัน โลกที่สสารวัตถุอาจจะปรากฏเป็นอนุภาคซึ่งไม่มีสภาพต่อเนื่อง หรือเป็นสนามที่มีสภาพต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในกรณีนี้เราไม่อาจจะนึกเห็นภาพมันได้ชัดเจนนัก นักฟิสิกส์สามารถ “หยั่งรู้ในประสบการณ์” ถึงโลกแห่งกาล- อวกาศ สี่มิติ โดยผ่านสูตรคณิตศาสตร์ในทฤษฎีของเขา แต่มโนภาพของเขาก็ถูกจำกัดอยู่ในโลกแห่งการรับรู้อันมีสภาพสามมิติเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ภาษาและแบบแผนความคิดของเราทั้งหมดเกี่ยวข้องกับโลกสามมิติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่งที่เราจะเข้าใจความจริงของสภาพสี่มิติในฟิสิกส์แห่งสัมพัทธภาพได้




11.4 คลื่นกับอนุภาค

ในทางตรงกันข้าม ศาสนิกของตะวันออกดูจะสามารถหยั่งรู้ความจริงในมิติที่สูงขึ้นไปได้โดยตรงและชัดเจน ในสมาธิภาวนาอันลึกซึ้ง ท่านเหล่านั้นได้สามารถก้าวพ้นโลกสามมิติในชีวิตประจำวัน และหยั่งรู้ความจริงซึ่งต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ที่สิ่งตรงกันข้ามทั้งหลายหลอมรวมเป็นเอกภาพเดียวกัน และเมื่อนักปราชญ์ตะวันออกพยายามที่จะแสดงประสบการณ์นี้ออกมาเป็นคำพูด ท่านก็ต้องประสบปัญหาเดียวกันกับนักฟิสิกส์พยายามอธิบายความจริงของสภาพหลายมิติของฟิสิกส์แห่งสัมพัทธภาพ ลามะ โควินทะ กล่าวไว้ว่าประสบการณ์ในการหยั่งรู้มิติที่สูงขึ้นเป็นสิ่งที่จะบรรลุถึงได้โดยการรวมเอาประสบการณ์ของความรับรู้ซึ่งต่างศูนย์กลางและต่างระดับเข้าด้วยกัน ดังนั้นประสบการณ์ของสมาธิภาวนาดังกล่าวจึงไม่อาจจะอธิบายได้บนระนาบของความรับรู้สามมิติ และภายในระบบตรรกะ ซึ่งตัวมันเองได้ลดความอาจเป็นไปได้ในการแสดงออก โดยที่ตรรกะมีข้อจำกัดอยู่บนกระบวนการของความคิด(5)โลกสี่มิติของทฤษฎีสัมพัทธภาพมิใช่เป็นเพียงตัวอย่างประการณ์เดียวในวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ซึ่งความคิดที่ว่าดูเหมือนจะเป็นสิ่งตรงกันข้ามและไม่อาจจะรวมเข้ากันได้ กลับเป็นเพียงแง่มุมที่ต่างกันในความจริงอันเดียวกัน กรณีที่รู้จักกันมากในแง่ของเอกภาพของความคิดซึ่งขัดแย้งกัน ได้แก่ความคิดเรื่องอนุภาคและคลื่นในฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอม ในระดับอะตอมสสารวัตถุมีสองด้าน มันปรากฏเป็นทั้งอนุภาคและคลื่น มันจะแสดงด้านใดก็ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ ในบางสภาพการณ์ด้านอนุภาคเป็นด้านที่เด่น แต่ในอีกสภาพการณ์หนึ่งอนุภาคมีพฤติกรรมไปในทางที่เป็นคลื่นมากกว่า และธรรมชาติของทวิภาวะนี้ปรากฏในแสงและรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าอื่นๆ ทั้งหมดยกตัวอย่างเช่น แสงจะถูกปล่อยออกมาและดูดซึมเข้าไปในรูปของ “ควอนตา” หรือโฟตอน แต่เมื่ออนุภาคของแสงเหล่านี้เคลื่อนที่ผ่านที่ว่างมันจะปรากฏเป็นสนามแม่เหล็กหรือสนามไฟฟ้าที่สั่นสะเทือน ซึ่งแสดงพฤติกรรมทั้งหมดของคลื่น โดยปรกติอิเล็กตรอนถือว่าเป็นอนุภาค และเมื่อลำของอิเล็กตรอนถูกฉายผ่านช่องเล็กๆ มันจะเกิดการหักเหเช่นเดียวกับลำแสง พูดอีกอย่างหนึ่งคือ อิเล็กตรอนก็ประพฤติตัวเป็นคลื่นเช่นเดียวกัน ลักษณะทวิภาวะของรังสีวัตถุและสสารต่างๆ เป็นสิ่งที่น่าพิศวงอย่างแท้จริงและได้ก่อให้เกิด”โกอันควอนตัม” หลายๆอันซึ่งนำไปสู่การสร้างทฤษฎีควอนตัมโดยพื้นฐาน ภาพของคลื่นซึ่งมีลักษณะแผ่กระจายไปในที่ว่าง แตกต่างจากภาพของอนุภาคซึ่งแสดงตำแหน่งที่ชัดเจน เป็นเวลานานกว่าที่นักฟิสิกส์จะยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า สสารวัตถุแสดงตัวมันเองในวิถีทางต่างๆซึ่งดูเหมือนมีสองลักษณะรวมอยู่ในตัวมัน คืออนุภาคเป็นทั้งคลื่น และคลื่นก็เป็นอนุภาคด้วย เมื่อพิจารณาภาพข้างบน คนทั่วไปอาจจะคิดว่า ข้อขัดแย้งดังกล่าวอาจจะได้รับการแก้ไขโดยกล่าวว่า รูป ข. แสดงอยู่ในอนุภาคซึ่งกำลังเคลื่อนที่อยู่ในลักษณะของคลื่น อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งอันนี้ตั้งอยู่บนความเข้าไจผิดพลาดต่อธรรมชาติของคลื่น อนุภาคซึ่งเคลื่อนที่ในลักษณะเป็นคลื่นไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่นคลื่นน้ำ อนุภาคของน้ำมิได้เคลื่อนไปตามลูกคลื่น แต่เคลื่อนที่เป็นวงกลมในลักษณะที่คลื่นผ่านไป ในทำนองเดียวกัน อนุภาคของอากาศในคลื่นเสียงก็เพียงแต่สั่นสะเทือนกลับไปมาโดยที่มิได้ไปตามคลื่น สิ่งที่ถูกส่งต่อไปตามคลื่นก็คือการรบกวน ซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์ของคลื่นขึ้น มิใช่อนุภาคของสสารวัตถุแต่ประการใด ดังนั้นในทฤษฎีควอนตัมเรา ไม่ได้กล่าวถึงการโคจรของอนุภาค เมื่อเรากล่าวว่าอนุภาคเป็นคลื่นด้วย สิ่งที่เราหมายถึงคือแบบแผนของคลื่นทั้งหมดนั่นเป็นการแสดงออกของอนุภาค ดังนั้นภาพของคลื่นซึ่งกำลังเคลื่อนที่จึงแตกต่าง อย่างสิ้นเชิงจากภาพของอนุภาคซึ่งกำลังเคลื่อนที่ มันแตกต่างกันดังคำเปรียบเทียบของ วิคเตอร์ ไวส์คอปฟ์ ที่ว่า ”เหมือนความคิดเรื่องระลอกคลื่นบนผิวน้ำในสระ ที่แตกต่างจากฝูงปลาซึ่งกำลังแหวกว่ายในทิศทางเดียวกันกับคลื่นนั้น”

11.5 ความอาจเป็นไปได้

ปรากฏการณ์ของคลื่นที่พบเห็นในปริมณฑลที่แตกต่างกันมากในวิชาฟิสิกส์ และอาจจะอธิบายมันได้ด้วยสูตรทางคณิตศาสตร์ ในทฤษฎีควอนตัมสูตรทางคณิตศาสตร์ในทางเดียวกันนี้ยังใช้ในการอธิบายคลื่นซึ่งเกี่ยวพันกับอนุภาคอย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้คลื่นเป็นสิ่งที่มีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับลักษณะทางสถิติของทฤษฎีควอนตัมกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่ามันเหมือนกับสูตรทางคณิตศาสตร์ที่ใช้อธิบายคลื่นอื่น ๆ ด้วย คลื่นซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยอนุภาคนี้มิใช่คลื่น 3 มิติจริง ๆ เช่นคลื่นน้ำหรือคลื่นเสียงแต่เป็นคลื่นของ “ความอาจเป็นไปได้” ซึ่งเป็นปริมาณย่อสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่สัมผัสกับค่าความอาจจะเป็นไปได้ของการพบอนุภาคในที่ต่าง ๆ และด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ เช่นกัน การนำเสนอความคิดของความอาจเป็นไปได้ ได้คลี่คลายสภาพผกผันผิดธรรมดา อนุภาคอาจเป็นคลื่นได้ โดยได้นำมันเข้าสู่ปริมณฑลอันใหม่ นั้นคือความคิดเรื่องการดำรงอยู่และการไม่ดำรงอยู่ซึ่งก็เป็นคู่ไม่ตรงกันข้ามอีกคู่หนึ่งที่ความจริงในเรื่องของอะตอมดำรงอยู่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง และไม่อาจกล่าวได้ว่ามันไม่มีอยู่ โดยที่มันอยู่ในรูปของค่าความเป็นไปได้ และอนุภาคมีแนวโน้มที่จะปรากฏได้ในหลาย ๆ แห่ง ดังนั้นมันจึงแสดงความจริงทางฟิสิกส์ที่ประหลาดระหว่างการดำรงอยู่และไม่ดำรงอยู่ เราจึงไม่อาจอธิบายสภาพของอนุภาคในแบบของความคิดซึ่งตรงกันข้ามอย่างตายตัวอนุภาคมิได้ปรากฏ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ทั้งมีได้ไม่ปรากฏ มันมิได้เปลี่ยนตำแหน่งของมัน ทั้งมิได้อยู่นิ่ง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือแบบแผนของการอาจเป็นไปได้ และนั้นคือแนวโน้มของอนุภาคที่จะดำรงอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง โรเบิร์ต ออปเคนไฮเมอร์ (Robert oppenheimer) กล่าวว่า หากเราถามว่าตำแหน่งของอิเล็กตรอนคงเดิมอยู่เสมอหรือ เราต้องตอบว่า ”ไม่” หากเราถามว่าตำแหน่งของอิเล็กตรอนเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาผ่านไปหรือ เราต้องตอบว่า ”ไม่” ถ้าเราถามว่าอิเล็กตรอนอยู่นิ่งหรือ เราต้องตอบว่า ”ไม่” ถ้าเราถามว่ามันกำลังเคลื่อนที่หรือ เราต้องตอบว่า “ไม่” ความจริงในวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอมก็เป็นเช่นเดียวกับความจริงในศาสนาตะวันออกที่ไปพ้นกรอบแคบ ๆ ของความคิดที่ตรงกันข้าม คำกล่าวของ ออปเคนไฮเมอร์ จึงเปรียบเสมือนเสียงสะท้อนของคัมภีร์อุปนิษัท มันเคลื่อนที่ มันไม่เคลื่อนที่ มันอยู่ไกลและมันไม่อยู่ใกล้ มันปรากฏในสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด และมันปรากฏนอกสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น

11.6 ความคิดที่เป็นคู่ตรงกันข้าม

ความคิดในเรื่องแรงและสสารของวัตถุ อนุภาคและคลื่น การเคลื่อนไหวและการหยุดนิ่ง การดำรงอยู่และการไม่ดำรงอยู่ เหล่านี้เป็นความคิดตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกัน ซึ่งวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ข้ามพ้นไปได้ ในบรรดาความคิดตรงกันข้ามเหล่านี้ คู่สุดท้ายดูจะเป็นความคิดพื้นฐานที่สุด และในวิชาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอมเราต้องไปให้พ้นแม้กระทั่งความคิดเรื่องการดำรงอยู่และการไม่ดำรงอยู่ นี่คือลักษณะของทฤษฎีควอนตัมซึ่งยากที่สุดที่จะยอมรับได้ และเป็นหัวใจของการวิภาควิจัยต่อ ๆ มาเกี่ยวกับการตีความของมัน ในขณะเดียวกันการก้าวพ้นความคิดเรื่องการดำรงอยู่และไม่ดำรงอยู่ ก็เป็นแง่มุมหนึ่งซึ่งชวนฉงนมากที่สุดในศาสนาตะวันออก เช่นเดียวกับนักฟิสิกส์ที่ศึกษาเรื่องอะตอม นักปราชญ์ชาวตะวันออกสนใจค้นหาสัจจะซึ่งอยู่เหนือการดำรงอยู่และการไม่ดำรงอยู่ และท่านเหล่านั้นได้เน้นย้ำอยู่เสมอถึงข้อเท็จที่สำคัญประการนี้ ดังที่ท่านอัศวโฆษะกล่าวว่า ความเป็นเช่นนั้นเอง มิใช่ภาวะแห่งการดำรงอยู่ และมิใช่ภาวะแห่งการไม่ดำรงอยู่ในเวลาเดียวกัน ทั้งมิใช่ภาวะแห่งการดำรงอยู่หรือไม่ดำรงอยู่ในเวลาต่างกัน เมื่อต้องเผชิญกับความจริงซึ่งอยู่เหนือความคิดที่เป็นคู่ตรงกันข้าม นักฟิสิกส์และศาสนิกจึงนำต้องมีวิธีคิดที่พิเศษออกไป โดยที่มิให้จิตใจถูกจำกัดอยู่แต่ในกรอบตายตัวของตรรกะแบบดั้งเดิม แต่เคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนทัศนะอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ในฟิสิกส์ที่ว่าด้วยอะตอม เราคุ้นเคยกับการใช้ทั้งความคิดเรื่องอนุภาคและคลื่นในการอธิบายสสารวัตถุ เราได้เรียนรู้การใช้ทั้งสองความคิด สลับกันไปมา เพื่อที่จะสามารถอธิบายให้ครอบคลุมความจริงเกี่ยวกับอะตอมทั้งหมดได้ และวิธีการเช่นนี้ ก็เป็นสิ่งที่นักปราชญ์ชาวตะวันออกที่ใช้ในการพยายามอธิบายประสบการณ์แห่งสัจจะซึ่งอยู่เหนือความเป็นสิ่งตรงกันข้าม ดังที่ท่านลามะ โควินทะกล่าวว่า ”วิธีคิดของตะวันออกสั้นเป็นการวนรอบวัตถุที่ตั้งแห่งความคิดและการเพ่งพินิจพิจารณา..มีลักษณะหลายแง่มุม นั่นคือว่า เป็นความรู้สึกหลายมิติซึ่งเกิดจากการซ้อนกันของ ความรู้สึกแต่ละอัน จากแง่มุมต่าง ๆ กัน” ความคิดซึ่งดูเหมือนตรงกันข้ามซึ่งเราอาจนำมาใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ของสิ่งเดียวกันดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ได้แสดงให้เห็นว่าความคิดแต่ละแง่มุมไม่สมบูรณ์พอในตัวมันเอง นีลล์ บอห์ร ได้เสนอว่าความคิดที่เป็นคู่ตรงกันข้ามนั้นเป็นสิ่งซึ่งเสริมกันและกัน เราถือว่าลักษณะความเป็นคลื่นและลักษณะความเป็นอนุภาคเป็นสองแนวทางซึ่งเสริมกันและกันในการอธิบายความจริงในประการเดียวกัน แต่ละลักษณะนั้นถูกต้องเพียงบางส่วนและมีขอบเขตในการอธิบายอย่างจำกัดแต่ละลักษณะล้วนเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการอธิบายที่สมบูรณ์เกี่ยวกับความจริงของอะตอม ความคิดในเรื่องการส่งเสริมซึ่งกันและกันนี้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในวิธีคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของนักฟิสิกส์และบอห์รได้เสนอว่าแนวคิดดังกล่าวน่าจะใช้ได้นอกขอบเขตของฟิสิกส์ โดยแท้จริงแล้ว ความคิดเรื่องการเป็นองค์ประกอบซึ่งเสริมกันของสิ่งต่าง ๆ นี้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นความคิดที่มีประโยชน์มากตั้งแต่เมื่อ 2500 ปีที่ผ่านมา ความคิดนี้เป็นกระแสหลักในแนวคิดของจีนโบราณซึ่งมีรากฐานอยู่บนญาณทัศน์ที่ว่าความคิดที่เป็นคู่ตรงกันข้ามปรากฏในลักษณะขั้วซึ่งสัมพันธ์เสริมซึ่งกันและกัน แต่ชาวจีนได้สร้างลักษณะขึ้นแทนความคิดดังกล่าวในรูปหยินและหยัง โดยถือว่าการขับเคี่ยวระหว่างหยินและหยางเป็นแก่นแท้ของปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหลาย และสภาวะการรู้ทั้งมวลของมนุษย์ นีลล์ บอห์รได้ตระหนักรู้ถึงความคล้ายคลึงระหว่างความคิดเรื่ององค์ประกอบที่เสริมซึ่งกันและกันของเขากับความคิดของจีน เมื่อเขาเดินทางมาประเทศจีนในปี พ.ศ. 2480 ในขณะนั้นทฤษฎีควอนตัมของเขาได้รับการเสริมแต่งเรียบร้อยแล้วเขารู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้งต่อความคิดของจีนโบราณในเรื่องขั้วตรงข้าม หลังจากนั้นทำให้เขาสนใจในวัฒนธรรมของตะวันออกเรื่อยมา 10 ปีต่อมา บอห์รได้รับรางวัลพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อเป็นการยกย่องความสำเร็จของเขาในด้านวิทยาศาสตร์และคุณูปการอันใหญ่หลวงของเขาต่อชีวิตทางวัฒนธรรมของชาวเดนมาร์ก เมื่อเขาต้องเลือกคำขวัญตราประจำตัวของเขา เขาเลือกสัญลักษณ์ ไท้-จี่ ของจีน ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ในลักษณะประกอบเสริมซึ่งกันและกันของขั้วตรงกันข้าม หยินและหยังและมีคำว่า Contraria Sunt Comtlementa (สิ่งตรงกันข้ามเป็นองค์ประกอบซึ่งเสริมกันและกัน) นีลล์ บอห์ร ยกย่องความบรรสานสอดคล้องอย่างลึกซึ้งระหว่างปัญญาของตะวันออกโบราณและวิทยาศาสตร์ตะวันตกสมัยใหม่
 
               
คัดลอกจาก ::
http://www.rit.ac.th/homepage-sc/charud/scibook/tao%20of%20physics
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
 :45: ขอบคุณครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~