โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553
เมื่อไม่นานมานี้ “หมอนุ้ย” ลูกศิษย์ที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งบทความ “ส่งต่อ (ด้วย) หัวใจ” ที่เขียนโดยคุณวรรณวนัช มาให้อ่าน เป็นเรื่องราวชีวิตจริงของคุณพ่อท่านหนึ่งที่ต้องสูญเสียลูกชายที่กำลังจะจบเป็นเภสัชกรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยโรคหัวใจเต้นผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด ผมอ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจ เห็นใจ เข้าใจ และภูมิใจในตัวคุณพ่อท่านนี้มาก เพราะผมก็เคยมีประสบการณ์ความสูญเสียที่คล้ายคลึงกัน
เรื่องย่อๆ คือ คุณพ่อต้องพาลูกชายเข้าโรงพยาบาลหลังจากเกิดได้เพียงสองวัน เพราะมีอาการตัวเขียวมากเวลาร้องไห้และหายใจคล้ายหอบ จากการตรวจของแพทย์พบว่าลิ้นหัวใจของลูกปิดไม่สนิท ทำให้หัวใจบีบตัวผิดปกติ จังหวะการเต้นของหัวใจจึงผิดปกติไปด้วย แพทย์อธิบายว่า ถ้ารักษาโดยการผ่าตัด จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ที่สำคัญคือโอกาสรอดน้อยมาก คุณพ่อตอนนั้นอายุแค่ยี่สิบเอ็ด ฐานะยังไม่มั่นคง จึงต้องรักษาด้วยการใช้ยา ลูกต้องอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณห้าเดือน และต้องรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องอีกห้าปี ตามด้วยการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ โชคดีที่ผลการตรวจสุขภาพพบว่าปกติดี ลูกจึงดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปหลังจากนั้นอีกสิบกว่าปี
ที่น่าสนใจคือคุณพ่อต้องเลี้ยงลูกชายคนนี้ตั้งแต่อายุหกขวบกับลูกชายคนที่สองอีกหนึ่งคน เพราะภรรยาเสียชีวิต คุณพ่อเล่าว่าลูกชายเป็นคนขยัน ตอนเรียนอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ปี ๕ เขาจะศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลทำรายงาน และมีความตั้งใจที่จะเป็นอาจารย์
เมื่อประมาณปี ๒๕๕๐ ตอนนั้นลูกชายอายุ ๒๐ ปี มาบอกให้ทราบว่าเขาได้ทำบัตรบริจาคอวัยวะและขอให้คุณพ่อเซ็นชื่อหลังบัตรเพื่อรับทราบ
คุณพ่อเล่าให้คุณวรรณวนัชฟังว่า “ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ลูกเริ่มมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติครั้งละห้านาทีบ้าง สิบนาทีบ้าง ซึ่งแต่ละครั้งค่อนข้างน่ากลัว เพราะมันเต้นแรงเหมือนกับจะทะลุออกมา วางมือลงไปนี่รู้สึกว่าหัวใจมันกระแทกมือเลย แต่ลูกดูแลตัวเองดี กินยาสม่ำแสมอ ไปหาหมอตรงตามนัด จึงคิดกันว่าไม่เป็นไร”
แต่ในที่สุด เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณพ่อต้องไปเยี่ยมลูกชายที่โรงพยาบาลกลาง ลูกชายอยู่ในห้องฉุกเฉิน ไม่หายใจ ต้องปั๊มหัวใจมาประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้ว คุณพ่อต้องขอร้องให้แพทย์ปั๊มหัวใจต่อจนเกือบสองชั่วโมง ชีพจรจึงกลับขึ้นมา แต่เป็นได้แค่ให้รู้ว่าลูกยังอยู่เท่านั้น
สองวันหลังจากลูกชายถูกย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ คุณพ่อก็ตัดสินใจนำบัตรบริจาคร่างกายไปยื่นให้โรงพยาบาล ในตอนนี้ คุณวรรณวนัชบันทึกไว้ว่า
“วันนั้นผมทำอะไรให้ลูกไม่ได้อีกแล้วนอกจากทำในสิ่งที่เขาตั้งใจ แต่กว่าจะผ่านเกณฑ์ผู้บริจาคซึ่งมีกฎว่าต้องรอเวลาอย่างน้อยที่สุดหกชั่วโมงเพื่อยืนยันภาวะสมองตายได้นั้นยากมาก เนื่องจากภาวะสมองตายมาหลายวันแล้ว เจ้าหน้าที่จึงต้องให้ยาเยอะมากเพื่อพยุงอวัยวะให้ผ่านเกณฑ์ผู้บริจาคได้ ผมผ่านช่วงเวลานั้นโดยคิดถึงสิ่งที่ลูกสอนผมเรื่องการเกิดแก่เจ็บตาย คิดว่ามีอีกหลายคนและหลายครอบครัวจะได้มีความสุขจากความตั้งใจดีของลูก และผมไม่อยากให้สิ่งสุดท้ายที่ลูกฝากไว้สูญเปล่า”
หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ทราบว่า ดวงตาสองข้าง ลิ้นหัวใจสองลิ้น ปอด ตับ และไตที่ลูกบริจาค สามารถนำไปช่วยผู้ป่วยซึ่งรอความหวังจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะอยู่ได้ถึง ๗ คน
คุณพ่อท่านนี้ได้พูดถึงลูกชายด้วยความภาคภูมิใจว่า
“ผมอยากบอกลูกว่าชาตินี้ที่อยู่กับพ่อ แม้จะสั้น แต่เราก็มีความสุขด้วยกันอย่างเต็มเปี่ยม ความภูมิใจที่ลูกทิ้งไว้ให้ พ่อจะเก็บไว้ตลอดไป และดีใจที่ลูกเกิดมาเป็นลูกพ่อ”
ขอขอบคุณคุณวรรณวนัชที่นำเรื่องดีๆ มาถ่ายทอด ขอบคุณคุณพ่อ (คุณโสมนัส แซ่ลิ้ม) และลูกชาย (คุณอรรถพล) ที่ให้แง่คิดและให้สติกับผมและผู้อ่านอีกหลายท่าน
เราควรจะไปบริจาคอวัยวะ ดวงตา และร่างกายของเรากับโรงพยาบาลให้มากๆ นะครับ จะได้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตและรอความหวังอยู่
มาร่วมกันเปลี่ยนความสูญเสียที่ปวดร้าวเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่
อ่านเรื่องนี้แล้วทำให้ผมคิดถึงการสูญเสียที่ปวดร้าวของครอบครัวผมเอง ผมต้องสูญเสีย "ลูกดร๊อบ (Drop)" ลูกชายที่น่ารักไป ด้วยความเสียใจและภูมิใจในการเกิดมาของลูก ลูกชายตัวน้อยเกิดมาพร้อมกับรูรั่วที่หัวใจสามรู แถมมีปัญหาที่ลิ้นหัวใจด้วย ผมจำคำศัพท์ทางการแพทย์ที่เพื่อนหมอที่ทำคลอดให้บอกไม่ได้ แต่รู้ว่าลูกมีความผิดปกติที่มีความเสี่ยงสูง ผมรับรู้ว่าลูกต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ในลักษณะที่เห็นความพ่ายแพ้อยู่ข้างหน้า นอกจากจะช่วยตัวเองไม่ได้เพราะเพิ่งเกิด ยังต้องพึ่งผู้อื่น พึ่งความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ไม่ต้องห่วงเรื่องความช่วยเหลือของพ่อแม่เพราะทุ่มเทเกินร้อย หมอที่เป็นเพื่อนบอกว่า ความรู้และเทคโนโลยี ณ ขณะนั้น (เมื่อประมาณเกือบ ๒๐ ปีก่อน) ยังไม่ดีพอ ถ้าจะผ่าตัดรักษาเลย มีโอกาสรอดสูงสุดแค่ร้อยละ ๑๕ - ๒๐ ถ้ารอไปอีกสิบ ยี่สิบปี จะมีโอกาสรอดสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ประมาณร้อยละ ๕๐
ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความสิ้นหวัง เสียใจ และความหวังของครอบครัวของผม คงคล้ายๆ กับครอบครัวของคุณโสมนัส ผมก็ไม่รู้จะบรรยายความสูญเสียครั้งนั้นให้ชัดเจนได้อย่างไร รู้แต่ว่าคนที่ไม่เคยประสบเหตุการณ์เช่นนี้ด้วยตนเอง จะอธิบายอย่างไรก็คงไม่เข้าใจสภาวะและความรู้สึกโดยรวมได้ทั้งหมด ลูกที่น่ารักน่าสงสารอยู่กับเราได้ไม่กี่เดือนก็จากเราไป แต่เด็กชายตัวน้อยที่ชื่อว่า "คุรุรัฐ พูลภัทรชีวิน" ก็ได้มีโอกาสทำหน้าที่สมกับชื่อ ทำสิ่งที่ดีให้กับวงการแพทย์ (นํ้าตาผมซึมออกมา ตอนที่เขียน) เพราะพ่อแม่ตัดสินใจมอบร่างกายของลูกน้อยที่น่ารัก รวมถึงชีวิตจิตใจของครอบครัวให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกได้เป็นครู เป็นอาจารย์แพทย์โดยที่ไม่ได้จบแพทย์ ไม่มีตำแหน่งทางวิชาการ ลูกมีเพียงประสบการณ์ชีวิตที่ไม่ปกติ เพียงไม่กี่เดือน แต่ลูกก็ได้ทำหน้าที่เป็นครูเต็มรูปแบบทุกอณูของร่างกาย ลูกสอนโดยไม่ต้องพูด ไม่ต้องบรรยาย ไม่มีอุปกรณ์ประกอบการสอน เพราะร่างกายของลูกคืออุปกรณ์ที่สำคัญที่สุด ลูกสอนโดยไม่มีการเตรียมตัวหรือวางแผนล่วงหน้า แต่ลูกสอนด้วยความสงบนิ่ง มอบร่างกายและอวัยวะให้กับลูกศิษย์ได้ศึกษา ลูกทำหน้าที่ครู (โดยมิได้เป็นผู้กระทำ) ได้ดีกว่า อาจารย์ ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน ผู้เป็นพ่อหลายเท่านัก พ่อภูมิใจในตัวลูกมากจริงๆ ลูกรักของพ่อ...
บ่อยครั้งที่ผมนั่งอยู่คนเดียวคิดถึงลูก และสิ่งที่ลูกสอนผม...มีอยู่วันหนึ่งที่ผมแต่งกลอน คุยกับลูก สองต่อสอง กลอนนี้ชื่อว่า "เพื่อลูกรัก...ด้วยความคิดถึงและขอบคุณ"
บัดเดี๋ยวดัง หง่างเหง่ง บรรเลงแว่ว
อุแว้แล้ว ขวัญตา ขวัญใจพ่อ
ช่างน่ารัก น่าถนอม น่าเคลียคลอ
พ่อสุดหล่อ พ่อสุดปลื้ม จนลืมนอน
บัดเดี๋ยวดัง หง่างเหง่ง วังเวงแว่ว
เจ็บป่วยแล้ว ลูกรัก จงพักผ่อน
กินยานะ ลูกรัก แล้วพักนอน
นอนเถิดนอน ลูกนอน นอนเถิดนอน
บัดเดี๋ยวดัง หง่างเหง่ง วังเวงแว่ว
สิ้นเสียแล้ว ลูกพ่อ รอพ่อก่อน
ลูกหนีพ่อ พ่อทุกข์ และอาทร
รอพ่อก่อน ลูกพ่อ พ่ออยากนอน
บัดเดี๋ยวดัง หง่างเหง่ง บรรเลงแว่ว
เข้าถึงแล้ว สัจธรรม ซึ่งคำสอน
อนิจจัง ทุกขัง นั้นแน่นอน
ศพลูกสอน เตือนพ่อ กงล้อชีวิต...
I'll be right here waiting for you, my dear son.
ขอเชิญชวนให้ผู้อ่านบริจาคอวัยวะ ดวงตา เลือดและร่างกายให้กับสภากาชาดไทยหรือโรงพยาบาลนะครับ
มาร่วมมือ รวมใจกัน ก้าวข้ามความสูญเสียที่ปวดร้าวสู่การให้ที่ยิ่งใหญ่...
วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 at ที่ 10:00 by knoom
ป้ายกำกับ: จุมพล พูลภัทรชีวิน, บทความมติชน | 1 ความคิดเห็น
http://jitwiwat.blogspot.com/search?updated-max=2010-11-19T13%3A30%3A00%2B07%3A00&max-results=3&reverse-paginate=true