โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 ตุลาคม 2553
คริสปี้ครีม คือชื่อของโดนัท หรือแป้งที่เอาไปทอดกับน้ำมัน เป็นของกินเล่นยอดฮิตชนิด “สุโค่ย” ที่สุดของคนกรุงใน พ.ศ.นี้ (คำสุโค่ยนี้ไม่รู้จักต้องถามวัยรุ่น) บ่ายวันหนึ่งระหว่างมองหาร้านกาแฟเพื่อนั่งจ่อม ผมเหลือบไปเห็นคนจำนวนมากเข้าคิวเพื่อซื้อขนมยี่ห้อนี้ เป็นแถวยาวเหมือนงูพันทบสัก ๓-๔ รอบ ส่วนปลายแถวทิ่มทะลุออกไปนอกห้างสรรพสินค้าชื่อดัง งานนี้น้องสาวแฟนที่เรียนอยู่ชั้นปีหนึ่งที่ ม.อ. สุราษฎร์ธานี ถึงกับอุทานแบบไม่เชื่อสายตาว่า
“บ้าไปแล้ว”
“บ้า” คือ ถ้อยคำที่สะท้อนตรงออกจากใจ สำหรับผมอยากจะใช้คำว่า “หลงเสน่ห์” มากกว่า การหลงเสน่ห์คือการที่คนเรายอมเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา เพื่อที่จะได้แลกมาซึ่งประสบการณ์ของการได้บริโภค ครอบครอง หรือเป็นเจ้าของ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าคริสปี้ครีม มันอร่อยหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่ามัน “สุโค่ย” แค่ไหน มันเท่ห์ที่ได้กินก่อนเพื่อน จะได้เอาไปคุยกับเขาได้ เมื่อฟังเพื่อนคุยแล้ว คนที่ยังไม่ลองก็เกิดความอยากลองบ้าง ผมรู้จักคนที่รอแถวเพื่อซื้อขนมรวยเสน่ห์นี้เป็นเวลา ๖ ชั่วโมง ไม่มีเวลารอก็ไม่เป็นไรเพราะเดี๋ยวนี้คิวมอเตอร์ไซค์แถวนั้นเขารับจ้างเข้าคิวแล้วนำส่งถึงบ้าน ก่อนหน้านี้กับขนมชื่อดังโรตีบอย ก็ฮิตวูบเดียวแล้วเลิกไป ไม่นานกระแสคริสปี้ครีมก็คงจะสร่างซาไปเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นก็คือธรรมชาติของคนไทยที่ “ตื่นตูม” ได้ทุกยุคทุกสมัย มิไยที่คุณหมอประเวศ วะสี จะพูดจนจวนหมดแรงให้พวกเรา “ตื่นรู้” แต่ในอนาคตอันใกล้ ผมก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
เหตุที่เรายังไปไหนไม่ได้ไกลในการวิวัฒน์จิต ผมสันนิษฐานว่าเป็นเพราะเราละทิ้งรากทางวัฒนธรรมของเรา เพราะไม่ได้ศึกษาให้ลึกซึ้งถึงแก่นศาสนาของตน เมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบ เราจึงสั่นไหวไหลเทไปตามกระแสได้ง่าย เหมือนผักตบชวาที่ลอยไปเรื่อยตามกระแสน้ำ
“คริสปี้” ในภาษาไทยแปลว่า “กรอบ” ในกระแสของการวิวัฒน์จิตในปัจจุบันใช้คำว่า “ความเปราะบาง” กันบ่อย คำว่าเปราะบางมีนัยว่าแตกหักง่าย หากใครมีจิตใจที่เปราะบาง เมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบก็ย่อมจะหวั่นไหวง่าย ถ้าโดนแรง ๆ ก็ย่อมจะแตกละเอียด ถ้าอยากจะเป็นวัยรุ่นใจสะออน คงใช้คำว่าเปราะบางได้ แต่หากอยากจะเรียนรู้เพื่อเป็นบัณฑิต ไม่ใช่ความเปราะบางหรอกที่ควรจะฝึกฝน แต่ควรฝึกจิตฝึกใจให้คู่ควรกับการงาน จนมีความฉับไวรู้เรื่องที่ควรรู้ในเวลาที่ควรรู้ คือนักสู้ที่ไร้กระบวนท่าแต่รับได้ทุกท่วงท่า
“ครีม” คือ ไส้ในหวาน ๆ ที่บีบใส่ไว้ในโดนัท เพื่อเพิ่มรสชาติ การศึกษาทางจิตตปัญญาทุกวันนี้ไปติดที่ความหวานกันมาก เพลงหวาน ๆ ถ้อยคำหวาน ๆ รื่นหู คนจำนวนมากตื่นเต้นที่เห็นพระมหายานออกมาร้องเพลง แต่เวลาเห็นพระสวดในทีวีเราเปลี่ยนช่องแทบไม่ทัน เราตื่นตูมกับอะไรที่แปะป้ายว่าเกี่ยวกับความรักและความสุข อาจเพราะจิตใจเราโหยหาความสุขและความรัก แต่พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้แสวงหาความสุข เช่นเดียวกับคริสต์ศาสนาที่ไม่ได้สอนให้รักแบบครอบครอง ส่วนอิสลามมีรากศัพท์มาจากคำว่าสันติ สันติภาพภายในใจย่อมจะเกิดไม่ได้หากผู้เรียนรู้ไม่เข้าใจ สับสนกันระหว่างเปลือกกับแก่น
ที่จั่วหัวเรื่องไว้ว่า “จิตวิญญาณ คริสปี้ครีม” จึงหมายถึงอาการของคนยุคนี้ ที่เปราะบางต่อสิ่งเร้าและโหยหาคำมั่นสัญญาของความสุข แม้สุขชั่วคราวก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เพราะชีวิตของตนที่แสนจะแปลกแยกและว้าเหว่ บางจำพวกก็อยากจะแสวงหาแต่โลกสวยงาม แต่ความเป็นจริงไม่ได้สวยงามอย่างนั้น มีความโลภไม่สิ้นสุด มีสงคราม ความรุนแรง จะผลักไสสิ่งเหล่านี้ไปจากความรู้สึกนึกคิดได้อย่างไรถ้ายังไม่รู้จักจัดการความรุนแรงในใจของตัวเอง จะมีเมตตาธรรมได้อย่างไรถ้าในใจยังแยกเขาแยกเราอยู่เป็นนิจ จะเป็นที่พึ่งให้ตนเองได้อย่างไรถ้ายังแสวงหาฮีโร่คนใหม่ไปเรื่อย จะวิวัฒน์จิตได้อย่างไรถ้าทุกวันนี้สิ่งที่เราทำคือการนั่งมองหรืออ่าน “จุดพลิกผัน” ของชีวิตผู้อื่น หรือหลอกตัวเองว่าเรากำลังช่วยเหลือผู้อื่น แท้จริงแล้วเรากลับทำเพื่อสนองความต้องการลึก ๆ ของเราเอง
ที่เขียนอย่างนี้ไม่ใช่ผมนิยมให้ไปอีกโต่งหนึ่ง คือกลายไปเป็นผู้เย้ยหยันโลก ผู้วิวัฒน์จิตบางจำพวกแสวงหาความสะใจที่ได้ประณามทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับสถาบันศาสนา ด้วยสำคัญว่าตนรู้ความจริงที่ผู้อื่นไม่รู้ แต่ไม่ได้เฉลียวใจว่าความรู้ที่ตนนำมาวิเคราะห์สังคมนั้นก็คืออีกกรอบกรงหนึ่งที่มาครอบครองพื้นที่ของใจไม่ให้เป็นอิสระจากความคิดเหล่านั้น การแสวงหาความรู้ด้วยการเข้ามาดูความจริงในใจที่เรียกว่าการ “ภาวนา” เท่านั้นจึงจะข้ามพ้นกรอบของความคิดเหล่านั้นได้ แต่ไม่ใช่การภาวนาทุกแบบทุกประเภทจะนำไปสู่อิสรภาพอย่างแท้จริงได้ หาไม่เช่นนั้นแล้วอินเดียสมัยโบราณก็คงจะมีผู้บรรลุธรรมกันเป็นว่าเล่น หรือผู้ที่สวดอ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าทุกคนก็ต้องได้ไปอยู่กับพระเจ้า การภาวนาจึงต้องมีหนทางที่ถูกและทางที่ผิด ไม่ใช่อะไรก็ได้อย่างที่กูรูด้านการพัฒนาจิตร่วมสมัยบางท่านพยายามทำให้เราเข้าใจไปแบบนั้น การขัดเกลาตนเองต้องไปในทางที่ “ถูกต้อง” ไม่ใช่จะเอาแต่ “ถูกใจ” แล้วเมื่อไหร่จะไปถึง หนทางที่ว่าไปทางไหนก็ต้องไปแสวงหาเอาจากครูบาอาจารย์ที่ได้เรียนรู้ปฏิบัติมาก่อนจนรู้จริง และมีความประพฤติที่สมควรแก่การบูชากราบไหว้ ส่วนใครจะไปได้ไกลแค่ไหนก็สุดวิสัยที่จะบอกได้ สำคัญอยู่ที่ได้เริ่มลงมือทำเสียก่อน เพราะ “ทำเพื่อให้ได้ทำ ก่อนที่ไม่มีเวลาจะทำ”
ถ้าทั้งหมดนี้ฟังดูแล้วเข้าท่าก็ไม่ต้องแปลกใจ หรือไม่เข้าท่าก็ไม่ต้องแปลกใจอีก เพราะอีกสองสามวินาทีหลังจากที่อ่านบทความนี้จบ คุณก็จะล่องลอยไปในความคิดที่เข้ามากระทบไปเรื่อย เหมือนสวะที่ลอยไปตามกระแสน้ำ ไหลไปอย่างไร้จุดหมาย แต่ชั่วแล่นหนึ่งคุณอาจจะคิดถึงคริสปี้ครีม คุณอาจจะนึกถึงความนุ่มของเนื้อสัมผัสของโดนัทที่เต็มไปด้วยไส้ครีมหวานหอม แต่ช้าก่อนคุณคงไม่อยากจะเข้าคิวรอหลายชั่วโมง คุณอาจพยายามหาเบอร์โทรศัพท์ของวินมอเตอร์ไซค์แถวนั้น แต่ไม่นานก็รู้สึกผิดเพราะพยายามลดแป้งกับน้ำตาล แต่เชื่อเถอะภาพของโดนัทน่ากินมันจะผุดขึ้นมาวนเวียนอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดคุณจะห้ามใจไม่ไหว ไม่ใช่เพราะ “ความหิว” แต่เป็นเพราะคุณ “อยากกิน”
วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2553 at ที่ 10:34 by knoom
ป้ายกำกับ: บทความมติชน, ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย | 2 ความคิดเห็น
http://jitwiwat.blogspot.com/search?updated-max=2010-11-19T13%3A30%3A00%2B07%3A00&max-results=3&reverse-paginate=true