.
น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช) พระองค์ท่านสร้างโครงการในพระราชดำริ มามากกว่า 4,000 โครงการ เพื่อประชาชนชาวไทย เพื่อแผ่นดินไทย อีกทั้งยังทำนุบำรุงพระศาสนาให้มั่นคงเจริญก้าวหน้า รวมทั้งที่พระองค์ท่านได้ศึกษาความรู้ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี
กราบ กราบ กราบ กราบ กราบ
.
.
.
.*****************************************.
.
.
ฝนหลวง โพสโดย โบราณนานมา
.
โบราณนานมา
20 ตุลาคม 2563
.
ว่าด้วยเรื่อง “ฝนหลวง” ที่ถูกคนบางกลุ่มบิดเบือน
.
สืบเนื่องจากตอนนี้มีคนบางกลุ่มได้โพสต์บิดเบือนเกี่ยวกับเรื่อง “ฝนหลวง” ว่าในหลวง รัชกาลที่ ๙ ไม่ได้คิดขึ้นเอง ได้ “ก๊อป” แนวคิด “ฝนเทียม” ของต่างชาติมาแล้วเอามาจด “สิทธิบัตร”
ย้อนไปในปี ๒๔๘๙ วินเซนต์ เชฟเฟอร์ และเออร์วิง ลองมัวร์ เริ่มทดลอง “ฝนเทียม” โดยพวกเขาเชื่อว่าสามารถกระตุ้นให้เกิดฝนได้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ พวกเขาเติม Silver Iodide แทนน้ำแข็งแห้งซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กทำให้เมฆเย็นเหนือจุดเยือกแข็ง และโปรยอนุภาคนี้ลงมาจากเครื่องบินหรือปล่อยให้ลมหอบขึ้นไปซึ่งสารนี้ก็จะไปทำให้เกิดการควบแน่นขึ้นและหนักมากพอจนตกลงมาเป็นฝน ซึ่งย่อยอย่างง่าย ๆ ก็คือเป็นการระหว่าง “ปล่อยให้ลมหอบไป” กับ “ลงไปปล่อยลงมา”
.
หลังจากการทดลองผ่านไป ก็ไม่มีการใช้งานจริงในเชิงเกษตรกรรม
จนเมื่อปี ๒๔๙๘ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคอีสาน ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร
.
“...แต่มาเงยดูท้องฟ้ามีเมฆ ทำไมมีเมฆ อย่างนี้ทำไมจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้ ก็เคยได้ยินเรื่องทำฝนก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...”
พระราชดำรัสในหลวง รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๒๙ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร เมื่อปี ๒๔๙๘
.
ในตอนนั้นพระองค์จึงเกิดพระราชดำริว่าจะทำอย่างไรให้ “ฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้ง” แต่ไม่ใช่มีพระราชดำริแล้วทำและจดสิทธิบัตรทันที เพราะการทดลองครั้งแรกของการทำ “ฝนเทียม” ที่ชื่อโครงการ “ฝนหลวง” คือในปี ๒๕๑๒ โดยเริ่มที่จังหวัดนครราชสีมา โดยการโรยน้ำแข็งแห้งก็ปรากฏว่ามีฝนตก ต่อมาเปลี่ยนที่ทดลองไปที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
.
ทดลองโดยการพ่นละอองน้ำพร้อมโปรยน้ำแข็งแห้ง และใช้เครื่องบินอีกชุดพ่นจากพื้นดิน โดยพระองค์ใช้วิธีแบบที่กล่าวไปข้างต้นตอนแรกร่วมกัน ต่อมาพระองค์ยังได้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสูตรที่ใช้อีกหลายครั้งจนในปี ๒๕๑๖ พระองค์ก็คิดค้นวิธีการทำ “แซนด์วิช (Sandwich)” ได้สำเร็จ นั่นคือ คือ ก่อกวน เลี้ยงอ้วน และโจมตี เป็น ๓ ขั้นตอนในการทำให้ฝนไปตกในพื้นที่เป้าหมายอย่างหวังผลแม่นยำ แต่อย่างไรก็ตามพระองค์มีพระราชกระแสต่อว่าจำเป็นต้องพัฒนาต่อไปอีก เพราะการพัฒนาไม่มีที่สิ้นสุด
.
ซึ่งตรงนี้ควรกล่าวด้วยว่าประเทศไทยเราโชคดีที่สภาพภูมิอากาศมีความชื้นสูงและจะกลายเป็นเหตุผลอีกอย่างที่ทำให้เกิดการจดสิทธิบัตรสำเร็จเพราะมันทำได้ผลกว่า
.
ต่อมาหลังจากใช้เวลาพัฒนากว่า ๔๐ ปี ในปี ๒๕๔๒ เกิดภาวะแห้งแล้งรุนแรงในขั้นวิกฤติ โปรดเกล้าฯ ให้ทบทวนเทคนิคที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นที่เคยใช้ปฏิบัติการที่ได้ผลมาแล้ว และพระราชทานให้ใช้เสริมการประยุกต์เทคโนโลยีฝนหลวงให้สัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น โดยให้สภาวะแห้งคลายความรุนแรงลง จนคืนเข้าสู่สภาวะปกติได้อย่างสิ้นเชิงในระยะเวลาอันสั้น ในระหว่างการปฏิบัติการสู้ภัยแล้งนี้ ทรงประดิษฐ์คิดค้นเทคนิคควบคู่ไปด้วย
.
โดยโปรดเกล้าฯ ให้นำเทคโนโลยีการทำฝนในส่วนของเมฆเย็นที่ทดสอบได้ผลแล้ว ร่วมกับเทคโนโลยีฝนหลวงจากเมฆอุ่น พร้อมทั้งพัฒนาเทคนิคการโจมตีเมฆอุ่นและเมฆเย็นในขณะเดียวกันได้อย่างสัมฤทธิ์ผล สามารถชักนำฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายหวังผลได้อย่างแม่นยำและเพิ่มปริมาณฝนสูงยิ่งขึ้น
.
โปรดเกล้าฯ ให้เรียกเทคนิคที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาใหม่ว่า เทคนิคการโจมตีแบบ “ซูเปอร์แซนด์วิช (Super Sandwich)” เทคโนโลยีฝนหลวงจึงได้รับการพัฒนาจาก ๓ ขั้นตอนเป็น ๖ ขั้นตอน
.
มีการพัฒนา “ฝนหลวง” มาเกือบ ๕๐ ปี พระองค์ทรงเห็นสมควรให้ขอจดสิทธิบัตรเทคโนโลยี “ฝนหลวง” ซึ่งรวมทั้งเทคนิคต่าง ๆ ที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเทคนิคในการโจมตีแบบ “ซูเปอร์แซนด์วิช (Super Sandwich)” นี่คือสิ่งที่พระองค์คิดค้นเองไม่ได้มีใครทำมาก่อนหน้านั้น
.
ดังนั้น การยื่นจดสิทธิบัตร “ฝนหลวง” ด้วยเทคนิค “ซูเปอร์แซนด์วิช (Super Sandwich)” จึงเริ่มในช่วงนั้น และได้รับในปี ๒๕๔๕ คำถาม คือ “ฝนเทียม” ที่มีมาก่อนหน้านี้เกือบ ๖๐ ปี แล้วทำไม “ฝนหลวง” ของพระองค์ถึงยื่นจดสิทธิบัตรได้ คำตอบก็คือ มันเป็น “กรรมวิธี” หรือ “เทคนิค” และกรรมวิธีนี้คือกรรมวิธีใหม่
.
หมายเลขการจัดสิทธิบัตร “ฝนหลวง” ในไทยคือ ๑๓๘๙๘ การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน (ฝนหลวง) จดในสหรัฐอเมริกา คือ Weather modification by royal rainmaking technology (รหัส US20050056705A1) และต่อมาสำนักสิทธิบัตรยุโรปก็ถวายสิทธิบัตรให้ รหัส EP1491088B1 เทคนิคของพระองค์ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์ องค์กรและสถาบันที่มีกิจกรรมการดัดแปรสภาพอากาศวิทยาศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาทั้งในระดับนานาชาติและระดับโลก และร่วมจัดแสดงในงานนิทรรศการ Brussels Eureka 2001
.
การยื่นคำขอจดสิทธิบัตรต่อสำนักงานสิทธิบัตรทั้งใน และต่างประเทศดังกล่าวต่างมีขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบ และค้นหากับสำนักงานสิทธิบัตรทั่วโลกว่ามีการซ้ำซ้อนหรือมีการจดสิทธิบัตรมาก่อนหรือไม่ เป็นนวัตกรรมใหม่หรือเป็นแนวคิดใหม่หรือไม่
.
ฉะนั้นสิทธิบัตรที่ได้รับจากสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศ จึงได้รับการกลั่นกรองและเผยแพร่สู่การรับรู้ของสำนักงานสิทธิบัตรทั่วโลกโดยปริยาย โดยเฉพาะประเทศสมาชิกขององค์กรการอุตุตนิยมวิทยาโลก ๑๘๑ ประเทศ
.
ดังนั้น การพูดว่า “ก๊อป” คือคิดไปเอง โมเดลของพระองค์เพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศมาขอศึกษาและนำไปใช้เพราะวิธีของเรามค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เช่น จอร์แดน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกา
.
“ฝนหลวง” คือกรรมวิธีในการทำให้ฝนตก สิทธิบัตรคือ “กรรมวิธี” ไม่ได้บอกว่าพระองค์เป็นผู้คิดค้น “ฝนเทียม” คนแรก
.
ที่มา เว็บไซต์มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
.
สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
และบทความจากเฟซบุ๊ก Jittra O. Tunho
.
.
.********************************************.
.
.
5 ธันวาคม วันดินโลก วันสำคัญที่สะท้อนพระปรีชาสามารถของ ร.9 ไปทั่วทั้งปฐพี
.
ที่มา kapook.com
.
วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก ที่องค์การสหประชาชาติมีมติยอมรับให้วันนี้เป็นวันสำคัญสากล ซึ่งเราชาวไทยทุกคนก็ควรได้รู้ถึงประวัติวันดินโลกไว้เป็นความประทับใจที่ชีวิตนี้ได้เกิดในรัชกาลที่ 9
.
นอกจากวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี จะเป็นวันพ่อแห่งชาติมาตลอดในรัชกาลที่ 9 แล้ว ทั่วโลกยังให้ความสำคัญต่อวันนี้ในฐานะวันดินโลก ตามมติของ UN อีกด้วย ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมจะพาทุกคนมาทราบถึงประวัติวันดินโลก และความสำคัญของวันดินโลก พร้อมด้วยโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับดิน อันเป็นเหตุผลสำคัญยิ่งที่ทำให้มีวันดินโลก
.
ประวัติวันดินโลก
.
วันดินโลก (World Soil Day) ถูกกำหนดขึ้นตามมติขององค์การสหประชาชาติ ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเงินของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ 68 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2556 ให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก (World Soil Day) และกำหนดให้ปี พ.ศ. 2558 เป็นปีดินสากล (International Year of Soils) โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรดิน ต่อการพัฒนาด้านการเกษตร โภชนาการ และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
.
ทั้งนี้สาเหตุที่กำหนดให้วันดินโลก ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมนั้น สืบเนื่องจากการประชุมสภาโลกแห่งปฐพีวิทยา (World Congress of Soil Science) ครั้งที่ 17 เมื่อปี พ.ศ. 2545 ทางสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) ได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการพัฒนาทรัพยากรดิน โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการเกษตร จึงได้เลือกวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ เป็นวันดินโลก เพื่อเทิดพระเกียรติพระวิริยอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในด้านการปกป้องและพัฒนาทรัพยากรดิน ซึ่งถ้าให้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการพัฒนาทรัพยากรดิน เราก็ขออนุญาตพาคนไทยทุกคนมาทบทวนโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับดินของในหลวง รัชกาลที่ 9 ดังนี้กันค่ะ
.
1. โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ)
.
ตั้งอยู่ที่บ้านเขาชะงุ้ม หมู่ที่ 2 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและสาธิตวิธีการฟื้นฟูปรับปรุงดินเสื่อมโทรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นรูปแบบและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ โครงการ ได้เรียนรู้วิธีการจัดการดิน น้ำ และพืชอย่างถูกต้อง มีความยั่งยืนไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
.
2. โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว
.
ด้วยพระปรีชาสามารถของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำริแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในจังหวัดนครนายก ด้วยการใช้วิธีธรรมชาติอย่างการเปลี่ยนถ่ายดินจากแปลงหนึ่งสู่แปลงหนึ่ง เพื่อลดความเปรี้ยวของดิน อีกทั้งพระองค์ยังได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้ปูนมาร์ล และสาหร่ายในการปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้น และต่อมาก็ได้พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการศึกษาผลกระทบ ของการใช้เถ้าลอยลิกไนท์ เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวเพิ่มเติมอีกด้วย
.
3. โครงการหญ้าแฝก
.
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ที่นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก โดยให้ทรงทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน จนปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงาน ดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ
.
4. โครงการแกล้งดิน
.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงรับทราบความเดือดร้อนของพสกนิกรในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาดินพรุเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวให้เป็นดินที่มีคุณภาพ สามารถทำการเพาะปลูกได้ ซึ่งพระองค์ทรงแนะนำให้ใช้วิธี "การแกล้งดิน" คือ เริ่มจากการแกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินพรุที่มีสารประกอบของกำมะถันที่จะทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดจัดเมื่อดินแห้ง จากนั้นจึงทำการปรับปรุงดินที่เป็นกรดจัดนั้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่จะลดความเป็นกรดลงมาให้อยู่ในระดับที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ได้
.
5. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน
.
ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 216 ไร่ และครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรเห็นสภาพความทุรกันดารของผืนดิน จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ ณ พื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งหมู่บ้านรอบ ๆ ศูนย์ โดยการวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทั้งยังให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า และสนามทดลองทางด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้ามาดูงานและนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติตาม และพัฒนาอาชีพและพื้นที่ของตนเพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่อให้ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมทั้งพระองค์ยังมีพระราชดำริให้ส่งเสริมศิลปาชีพและหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากอาชีพหลักอีกทางหนึ่งด้วย
.
6. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
.
หนึ่งในโครงการพระราชดำริที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์ แต่ได้ถูกราษฎรเข้าบุกรุกทำลายป่าเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม จนไม่เหลือป่าไม้และสัตว์ป่า ทำให้พื้นที่แห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และสภาพพื้นดินเสื่อมโทรมอย่างหนัก ทำการเกษตรกรรมไม่ได้ผล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณห้วยทราย เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ โดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และสามารถฟื้นฟูให้มีศักยภาพในการทำเกษตรกรรมและความเป็นอยู่ของประชากรได้อย่างต่อเนื่อง
.
7. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้
.
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทั้งด้านทรัพยากรต้นน้ำ ด้านเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม รวมทั้งด้านอุตสาหกรรม เนื่องมาจากมีพระราชประสงค์ที่จะให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้
.
โดยในด้านดินและเกษตรกรรมมีพระราชดำริให้ศึกษาพัฒนาสภาพดินในพื้นที่ที่มีความลาดชัน ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างสูงสุด โดยได้ทำการทดลองปลูกพืชที่เหมาะสม ทดสอบประโยชน์ของดินชนิดนี้ในรูปแบบอื่น ๆ รวมทั้งศึกษาความยากง่ายในการชะล้างพังทลายของดินดังกล่าวไว้เพื่อหาวิธีป้องกัน และเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ส่งผลให้ประชากรได้มีพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยได้อย่างไม่ลำบากมากนัก
.
หวนนึกไปถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อใด เมื่อนั้นก็รู้สึกว่าเราช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดมาเป็นประชาชนของพระองค์ท่านนะคะ ซึ่งนอกจากวันดินโลกจะเกิดขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระวิริยอุตสาหะ ของพ่อหลวง ร.9 แล้ว เราก็เชื่อว่าชาวไทยทุกคนคงทราบกันดีถึงความหมายของพระนามพระองค์ท่าน อันหมายถึง กำลังของแผ่นดิน...
.
"อันที่จริงเราชื่อ "ภูมิพล" ที่แปลว่า "กำลังของแผ่นดิน" แม่ก็อยากให้เธออยู่กับดิน เมื่อฟังคำพูดแล้วกลับมาคิด ซึ่งแม่คงจะสอนเราและมีจุดมุ่งหมายว่าอยากให้ติดดินและอยากให้ทำงานให้แก่ประชาชน"...พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
.
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
.
มูลนิธิชัยพัฒนา
.
เรารักพระเจ้าอยู่หัว
.
เว็บไซด์ un ดอท org
.
kapook
.
.
.*************************************.
.
.
.
วันดินโลก 5 ธันวาคม
https://www.youtube.com/watch?v=UcZx8PQmDFgกรมพัฒนาที่ดิน แชนแนล LDD Channel
9 เม.ย. 2018
ประชาสัมพันธ์ พระราชกรณียกิจด้านดิน เนื่องในวันดินโลก 5 ธันวาคม
.
.
.****************************
.
.
วีดิทัศน์ วันดินโลก
https://www.youtube.com/watch?v=zwknSf2fLJwสํานักงาน กปร.
13 พ.ย. 2018
วันดินโลก 5 ธันวาคมของทุกปี
ได้รับการสนับสนุน จากกรมพัฒนาที่ดิน
เผยแพร่โดยสำนักงาน กปร. 14 พฤศจิกายน 2561
.
.
.****************************
.
.
ชุดแสนสุดอาลัยพ่อหลวง เพลง World Soil Day วันดินโลก ศิลปิน เก้า กรุงเก่า
https://www.youtube.com/watch?v=_XtBesUiI18narupon pumchaivijit
8 ธ.ค. 2016
บทเพลงที่กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดถลยเดช ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก” เพื่อสดุดีพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตระหนักในการพัฒนาดินอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และมีหนึ่งประโยคที่ประชาชนคนไทยหลายคนยังไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งในหลวงทรงเคยตรัสว่า “อย่าจำตัวฉัน แต่ให้จำประโยชน์ที่ฉันทำ” ซึ่งเราชาวไทยรู้ดีว่า พระองค์ทรงเป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์
.