แสงธรรมนำใจ > ดอกบัวโพธิสัตว์

มธุรัตถวิลาสินี พรรณนาวงศ์พระทีปังกรพุทธเจ้า

(1/2) > >>

ตถตา:
พรรณนาวงศ์พระทีปังกรพุทธเจ้าที่ ๑
อุบาสกชาวรัมมนครเหล่านั้น ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธ-
เจ้าเป็นประธานแล้ว ก็บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเสวยเสร็จชักพระหัตถ์

ออกจากบาตรแล้ว ด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้นอีก ถวายบังคมแล้วอยาก

จะฟังอนุโมทนาทาน จึงเข้าไปนั่งใกล้ ๆ ลำดับนั้น พระศาสดาได้ทรงทำ

อนุโมทนาทานไพเราะอย่างยิ่ง จับใจของอุบาสกเหล่านั้นว่า

ธรรมดาทาน ท่านกล่าวว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของ
สุขเป็นต้น ยังกล่าวว่าเป็นที่ตั้งแห่งบันไดทั้งหลายที่
ไปสู่พระนิพพาน.
ทานเป็นเครื่องป้องกันของมนุษย์ ทานเป็นเผ่า
พันธุ์เป็นเครื่องนำหน้า ทานเป็นคติสำคัญของสัตว์ที่
ถึงความทุกข์.
ทาน ท่านแสดงว่าเป็นนาวา เพราะอรรถว่าเป็น
เครื่องช่วยข้ามทุกข์ และทานท่านสรรเสริญว่าเป็น
นคร เพราะป้องกันภัย.
ทาน ท่านกล่าวว่าเป็นอสรพิษ เพราะอรรถว่า
เข้าใกล้ได้ยาก ทานเป็นดังดอกปทุม เพราะมลทินคือ
โลภะเป็นต้นฉาบไม่ได้.
ที่พึ่งพาอาศัยของบุรุษ เสมอด้วยทานไม่มีในโลก
เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญทาน ด้วยการ
ทำตามอัธยาศัย.
นรชนคนไรเล่า ผู้มีปัญญาในโลกนี้ ผู้ยินดีใน
ประโยชน์เกื้อกูล จะไม่พึงให้ทานทั้งหลาย ที่เป็นเหตุ
แห่งโลกสวรรค์.
นรชนคนไรเล่า ได้ยินว่าทานเป็นแดนเกิดสมบัติ
ในเทวดาทั้งหลาย จะไม่พึงให้ทานอันให้ถึงซึ่งความ
สุข ทานเป็นเครื่องยังจิตให้ร่าเริง.
นรชนบำเพ็ญทานแล้ว ก็เป็นผู้อันเทพอัปสร
ห้อมล้อม อภิรมย์ในนันทนวัน แหล่งสำเริงสำราญ.
ของเทวดาตลอดกาลนาน.
ผู้ให้ย่อมได้ปีติอันโอฬาร ย่อมประสบความ
เคารพในโลกนี้ ผู้ให้ย่อมประสบเกียรติเป็นอันมาก
ผู้ให้ย่อมเป็นผู้อันมหาชนไว้วางใจ.
นรชนนั้นให้ทานแล้ว ย่อมถึงความมั่งคั่งแห่ง
โภคะ และมีอายุยืน ย่อมได้ความมีเสียงไพเราะและ
รูปสวยอยู่ในวิมานทั้งหลายที่นกยูงอันน่าชื่นชมนานา
ชนิดร้องระงม เล่นกับเทวดาทั้งหลายในสวรรค์.
ทานเป็นทรัพย์ไม่ทั่วไปแก่ภัยทั้งหลายคือโจรภัย
อริภัย ราชภัย อุทกภัย และอัคคีภัย ทานนั้น ย่อม
ให้สาวกญาณภูมิ ปัจเจกพุทธภูมิ ตลอดถึงพุทธภูมิ.
ครั้น ทรงทำอนุโมทนาทาน ประกาศอานิสงส์แห่งทาน โดยนัยดัง
กล่าวมาอย่างนี้เป็นต้นแล้ว ก็ตรัสศีลกถา ในลำดับต่อจากทานนั้น ธรรมดา

ศีลนั้นเป็นมูลแห่งสมบัติในโลกนี้และโลกหน้า

ศีลเป็นต้นเหตุสำคัญของสุขทั้งหลาย ผู้มีศีล
ย่อมไปไตรทิพย์สวรรค์ด้วยศีล ศีลเป็นเครื่องป้องกัน
เครื่องเร้น เครื่องนำหน้าของผู้เข้าถึงสังสารวัฏ.
ก็ที่พึ่งพาอาศัยของชนทั้งหลายในโลกนี้ หรือใน
โลกหน้าอย่างอื่น ที่เสมอด้วยศีลจะมีแต่ไหน ศีลเป็น
ที่ตั้งสำคัญของคุณทั้งหลาย เหมือนแผ่นดิน เป็นที่ตั้ง
แห่งสิ่งที่อยู่กับที่และสิ่งที่เคลื่อนที่ได้ ฉะนั้น.
เขาว่า ศีลเท่านั้นเป็นกรรมดี ศีลยอดเยี่ยมใน
โลก ผู้ประพฤติชอบในธรรมจริยาของพระอริยะท่าน
เรียกว่า ผู้มีศีล.
เครื่องประดับเสมอด้วยเครื่องประดับคือศีลไม่มี, กลิ่นเสมอด้วยกลิ่นคือ
ศีลไม่มี, เครื่องชำระมลทินคือกิเลสเสมอด้วยศีลไม่มี เครื่องระงับความเร่าร้อน

เสมอด้วยศีลไม่มี. เครื่องให้เกิดเกียรติ เสมอด้วยศีลไม่มี, บันใดขึ้นสู่สวรรค์

เสมอด้วยศีลไม่มี, ประตูในการเข้าไปยังนครคือพระนิพพาน เสมอด้วยศีลไม่มี

เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

พระราชาทั้งหลาย ทรงประดับด้วยแก้วมุกดา
และแก้วมณี ยังงามไม่เหมือนนักพรตทั้งหลาย ผู้
ประดับด้วยเครื่องประดับคือศีล ย่อมงามสง่า.
กลิ่นที่หอมไปทั้งตามลมทั้งทวนลมเสมอ ที่เสมอ
ด้วยกลิ่นคือศีล จักมีแต่ไหนเล่า.
กลิ่นดอกไม้ไม่หอมทวนลม หรือกลิ่นจันทน์
กฤษณามะลิ ก็ไม่หอมทวนลม ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษ
ย่อมหอมทวนลม สัตบุรุษย่อมหอมไปทุกทิศ.
กลิ่นคือศีล เป็นยอดของคันธชาติเหล่านี้ คือ
จันทน์ กฤษณา อุบล มะลิ.
มหานที คือ คงคา ยมุนา สรภู สรัสวดี
นินนคา อจิรวดี มหี ไม่สามารถชำระมลทินของสัตว์
ทั้งหลายในโลกนี้ แต่น้ำคือศีล ชำระมลทินของสัตว์
ทั้งหลายได้.

ตถตา:
อริยศีลนี้ ที่รักษาดีแล้ว เยือกเย็นอย่างยิ่งระงับ
ความเร่าร้อนอันใดได้ ส่วนจันทน์เหลือง สร้อยคอ
แก้วมณีและช่อรัศมีจันทร์ ระงับความเร่าร้อนไม่ได้.
ศีลของผู้มีศีล ย่อมกำจัดภัยมีการติตนเองเป็นต้น
ได้ทุกเมื่อ และให้เกิดเกียรติและความร่าเริงทุกเมื่อ.
สิ่งอื่นซึ่งเป็นบันไดขึ้นสวรรค์ที่เสมอด้วยศีลจะมี
แต่ไหน ก็หรือว่าศีลเป็นประตูเข้าไปยังนครคือพระ-
นิพพาน,
ท่านทั้งหลาย จงรู้อานิสงส์อันยอดเยี่ยมของศีล
ซึ่งเป็นมูลแห่งคุณทั้งหลาย กำจัดกำลังแห่งโทษทั้ง
หลาย ดังกล่าวมาฉะนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงอานิสงส์แห่งศีลอย่างนี้แล้ว เพื่อ
ทรงแสดงว่า อาศัยศีลนี้ย่อมได้สวรรค์นี้ จึงตรัสสัคคกถาในลำดับต่อจาก

ศีลนั้น ธรรมดาสวรรค์นี้ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ มีแต่สุขส่วนเดียว

เทวดาทั้งหลายย่อมได้การเล่นในสวรรค์นั้นเป็นนิตย์ ได้สมบัติทั้งหลายเป็น

นิตย์ เหล่าเทวดาชั้นจาตุมหาราช ย่อมได้สุขทิพย์ สมบัติทิพย์ตลอดเก้าล้าน

ปี เทวดาชั้นดาวดึงส์ได้สามโกฏิหกล้านปี ตรัสกถาประกอบด้วยคุณแห่งสวรรค์

ดังกล่าวมานี้เป็นต้น ครั้นทรงประเล้าประโลมด้วยสัคคกถาอย่างนี้แล้ว ก็ทรง

ประกาศโทษต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในเนก-

ขัมมะว่า สวรรค์แม้นี้ก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ควรทำความยินดีด้วยอำนาจ

ความพอใจในสวรรค์นั้น แล้วตรัสธรรมกถาที่จบลงด้วยอมตธรรม ครั้นทรง

แสดงธรรมแก่มหาชนนั้นอย่างนี้แล้ว ให้บางพวกตั้งอยู่ในสรณะ บางพวกใน

ศีล ๕ บางพวกในโสดาปัตติผล บางพวกในสกทาคามิผล บางพวกในอนา-

คามิผล บางพวกในผลแม้ทั้ง ๔ บางพวกในวิชชา ๓ บางพวกในอภิญญา ๖

บางพวกในสมาบัติ ๘ ลุกจากอาสนะแล้ว เสด็จออกจากรัมมนคร เข้าไปยัง

สุทัสสนะมหาวิหารนั่นแล ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า

ครั้งนั้น อุบาสกชาวรัมมนครเหล่านั้น ให้พระ
โลกนาถพร้อมทั้งพระสงฆ์เสวยแล้ว ก็ถึงพระทีปังกร
ศาสดาพระองค์นั้นเป็นสรณะ.
พระตถาคตทรงยังบางคนให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์
บางคนในศีล ๕ บางคนในศีล ๑๐.
พระองค์ประทานสามัญผล ๔ อันสูงสุดแก่บาง
คน ประทานปฏิสัมภิทา ในธรรมที่ไม่มีธรรมอื่นเสมอ
แก่บางคน.
พระนราสภประทานสมาบัติ ๘ อันประเสริฐแก่
บางคน ทรงประทานวิชชา ๓ อภิญญา ๖ แก่บางคน.
พระมหามุนี ทรงสั่งสอนหมู่ชน ด้วยนัยนั้น
เพราะพระโอวาทนั้น ศาสนาของพระโลกนาถจึงได้
แผ่ไปอย่างกว้างขวาง.
พระพุทธเจ้ามีพระนามว่าทีปังกร ผู้มีพระหนุ
ใหญ่ มีพระวรกายงาม ทรงยังชนเป็นอันมากให้ข้าม
โอฆสงสาร ทรงเปลื้องมหาชนเสียจากทุคติ.
พระมหามุนี ทรงเห็นชนผู้ควรตรัสรู้ได้ไกลถึง
แสนโยชน์ ก็เสด็จเข้าไปหาในทันใด ทำเขาให้ตรัสรู้.

ตถตา:
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ได้แก่ อุบาสกชาวรัมมนครเหล่า
นั้น. พึงทราบสรณะ สรณคมน์ และผู้ถึงสรณะในคำว่า สรณํ นี้ คุณชาตใด

ระลึก เบียดเบียนกำจัด เหตุนั้นคุณชาตนั้น จึงชื่อว่า สรณะ. สรณะนั้นคืออะไร

คือพระรัตนตรัย ก็พระรัตนตรัยนั้น ท่านกล่าวว่าสรณะ เพราะ ตัด เบียดเบียน

กำจัด ภัย ความหวาดกลัว ทุกข์ ทุคติ ความเศร้าหมอง ด้วยสรณคมน์

นั้นนั่นแหละของเหล่าผู้ถึงสรณะ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า

ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ชนเหล่านั้น จักไม่ไปอบายภูมิ ละกายมนุษย์ไปแล้ว
จักยังกายเทพให้บริบูรณ์.
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ชนเหล่านั้น จักไม่ไปอบายภูมิ ละกายมนุษย์ไปแล้ว
จักยังกายเทพให้บริบูรณ์.
ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ชนเหล่านั้น จักไม่ไปอบายภูมิ ละกายมนุษย์ไปแล้ว
จักยังกายเทพให้บริบูรณ์.
จิตตุปบาท ที่เป็นไปโดยอาการมีพระรัตนตรัยเป็นเบื้องหน้า ชื่อว่า
สรณคมน์. บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยสรณคมน์นั้น ชื่อว่า ผู้ถึงสรณะ. ๓ หมวด

นี้ คือ สรณะ สรณคมน์ ผู้ถึงสรณะ พึงทราบดังกล่าวมานี้ก่อน. บทว่า

ตสฺส ได้แก่ พระทีปังกรนั้น. พึงทราบว่าฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถทุติยวิภัตติ.

ปาฐะว่า อุปคจฺฉุํ สรณํ ตตฺถ ดังนี้ก็มี. บทว่า สตฺถุโน ได้แก่

ซึ่งพระศาสดา. บทว่า สรณาคมเน กญฺจิ ความว่า ยังบุคคลบางคนให้ตั้งอยู่

ในสรณคมน์. ตรัสเป็นปัจจุบันกาลก็จริง ถึงอย่างนั้นก็พึงถือเอาความเป็นอดีต

กาล แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้ ปาฐะว่า กสฺสจิ สรณาคมเน ดังนี้ก็มี.

แม้ปาฐะนั้น ความก็อย่างนั้นเหมือนกัน. บทว่า กญฺจิ ปญฺจสุ สีเลสุ

ความว่า ยังบุคคลบางคนให้ตั้งอยู่ในวิรติศีล ๕. ปาฐะว่า กสฺสจิ ปญฺจสุ

สีเลสุ ความก็อย่างนั้นแหละ. บทว่า สีเล ทสวิเธ ปรํ ความว่า ยัง

บุคคลอื่นอีกให้ตั้งอยู่ในศีล ๑๐ ข้อ. ปาฐะว่า กสฺสจิ กุสเล ทส ดังนี้ก็

มี ปาฐะนั้นความว่า ยังบุคคลบางคนให้สมาทานกุศลธรรม ๑๐ โดยปรมัตถ์

มรรคท่านเรียกว่าสามัญญะ ในคำนี้ว่า กสฺสจิ เทติ สามญฺญํ เหมือน

อย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สามัญญะคืออะไร อริยมรรคมีองค์ ๘

นี้คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายนี้เรียกว่า สามัญญะ.

บทว่า จตุโร ผลมุตฺตเม ความว่า ผลสูงสุด ๔. ม อักษร
ทำบทสนธิ ท่านกล่าวเป็นลิงควิปลาส ความว่า ได้ประทานมรรค ๔ และ

สามัญญผล ๔ แก่บางคน ตามอุปนิสัย. บทว่า กสฺสจิ อสเม ธมฺเม

ความว่า ได้ประทานธรรมคือปฏิสัมภิทา ๔ ที่ไม่มีธรรมอื่นเหมือน แก่บางคน.

บทว่า กสฺสจี วรสมาปตฺติโย ความว่า อนึ่งได้ประทานสมาบัติ ๘
ที่เป็นประธาน เพราะปราศจากนีวรณ์แก่บางคน. บทว่า ติสฺโส กสฺสจิ

วิชฺชาโย ความว่า วิชชา ๓ คือ ทิพยจักษุญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

และอาสวักขยญาณ โดยเป็นอุปนิสัยแก่บุคคลบางคน. บทว่า ฉฬภิญฺญา

ปเวจฺฉติ ความว่า ได้ประทานอภิญญา ๖ แก่บางคน.

บทว่า เตน โยเคน ได้แก่ โดยนัยนั้นและโดยลำดับนั้น. บทว่า
ชนกายํ ได้แก่ ประชุมชน. บทว่า โอวทติ แปลว่า สั่งสอนแล้ว พึงเห็นว่า

ท่านกล่าวเป็นกาลวิปลาส ในคำเช่นนี้ต่อแต่นี้ไป ก็พึงถือความเป็นอดีตกาล

ทั้งนั้น. บทว่า เตน วิตฺถาริกํ อาสิ ความว่า เพราะโอวาทคำพร่ำสอน

ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรพระองค์นั้น พระศาสนาก็แผ่ไป แพร่ไปกว้าง

ขวาง.

บทว่า มหาหนุ ความว่า เล่ากันว่า พระมหาบุรุษทั้งหลายมีพระ
หนุ [คาง] ๒ บริบูรณ์ มีอาการเสมือนดวงจันทร์ขึ้น ๑๒ ค่ำ เหตุนั้นมหา-

บุรุษพระองค์ใดมีพระหนุใหญ่ มหาบุรุษพระองค์นั้น ชื่อว่ามีพระหนุใหญ่

ท่านอธิบายว่า มีพระหนุดังราชสีห์. บทว่า อุสภกฺขนฺโธ ความว่า มหา

บุรุษพระองค์ใดมีลำพระศอเหมือนโคอุสภ อธิบายว่า มีลำพระศองามเสมือน

แท่งทองกลมเกลา มีลำพระศองามกลมเสมอกัน. บทว่า ทีปงฺกรสนามโก

ได้แก่ พระนามว่าทีปังกร. บทว่า พหู ชเน ตารยติ ความว่า ยัง

ชนที่เป็นพุทธเวไนยเป็นอันมากให้ข้ามโอฆสงสาร. บทว่า ปริโมจติ ได้แก่

เปลื้องแล้ว. บทว่า ทุคฺคตึ แปลว่า จากทุคติ ทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถ

ปัญจมีวิภัตติ.

บัดนี้ เพื่อแสดงอาการคือทรงทำให้สัตว์ ข้ามโอฆสงสารและเปลื้อง
จากทุคติ จึงตรัสคาถาว่า โพธเนยฺยํ ชนํ. ในคาถานั้น บทว่า โพธเนยฺยํ

ชนํ ได้แก่ หมู่สัตว์ที่ควรตรัสรู้ หรือปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า ทิสฺวา

ได้แก่ เห็นด้วยพุทธจักษุหรือสมันตจักษุ. บทว่า สตสหสฺเสปิ โยชเน

ได้แก่ ซึ่งอยู่ไกลหลายแสนโยชน์. ก็คำนี้ พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายถึงหมื่น

โลกธาตุนั่นเอง.

ได้ยินว่า พระศาสดาทีปังกรทรงบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
ทรงยับยั้งอยู่ ๗ สัปดาห์ ณ โคนโพธิพฤกษ์ ในสัปดาห์ที่ ๘ ก็ทรงประกาศ

พระธรรมจักร ณ สุนันทาราม ตามปฏิญญาที่ทรงรับอาราธนาแสดงธรรมของ

ท้าวมหาพรหม ทรงยังเทวดาและมนุษย์ร้อยโกฏิให้ดื่มอมฤตธรรม นี้เป็น

อภิสมัย คือการตรัสรู้ธรรมครั้งแรก.

ต่อมา พระศาสดาทรงทราบว่า พระโอรส ผู้มีลำพระองค์กลมเสมอ
กัน พระนามว่าอุสภักขันธะ มีญาณแก่กล้าจึงทรงทำพระโอรสนั้นให้เป็นหัวหน้า

ทรงแสดงธรรมเช่นเดียวกับราหุโลวาทสูตร ทรงยังเทวดาและมนุษย์ถึงเก้าสิบ

โกฏิให้ดื่มอมฤตธรรม นี้เป็นอภิสมัย คือการตรัสรู้ธรรมครั้งที่สอง.

ต่อมา พระศาสดาทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ณ โคนต้นซึกใหญ่ใกล้ประตู
พระนครอมรวดี ทรงทำการเปลื้องมหาชนจากเครื่องผูกพัน อันหมู่เทพห้อม

ล้อมแล้ว ประทับนั่งเหนือพื้นบัณฑุกัมพลศิลา ซึ่งเย็นอย่างยิ่ง ใกล้โคนต้น

ปาริฉัตตกะ ในภพดาวดึงส์ อันเป็นภพแผ่ซ่านแห่งความโชติช่วงเหลือเกินดัง

ดวงอาทิตย์ ทรงทำพระนางสุเมธาเทวีพระชนนีของพระองค์ ผู้ให้เกิดปีติแก่

หมู่เทพทั้งปวงเป็นหัวหน้า ทรงเป็นวิสุทธิเทพที่ทรงรู้โลกทั้งปวง เป็นเทพ

ยิ่งกว่าเทพ ทรงทำดวงประทีป ทรงจำแนกธรรม ทรงแสดงพระอภิธรรมปิฏก

๗ ปกรณ์ อันทำความบริสุทธิ์แห่งความรู้ อันสุขุมลุ่มลึกอย่างยิ่ง กระทำ

ประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง ยังเทวดาเก้าหมื่นโกฏิให้ดื่มอมฤตธรรม นี้

เป็นอภิสมัยคือการตรัสรู้ธรรมครั้งที่สาม ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า

ในอภิสมัยครั้งแรก พระพุทธเจ้าทรงยังเทวดา
และมนุษย์ให้ตรัสรู้ร้อยโกฏิ ในอภิสมัยครั้งที่สอง พระ
โลกนาถทรงยังเทวดาและมนุษย์ให้ตรัสรู้เก้าสิบโกฏิ.
ในสมัยใด พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในภพ
เทวดา แก่เทวดาเก้าหมื่นโกฏิ สมัยนั้นเป็นอภิสมัย
ครั้งที่สาม.
การประชุมสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรมี ๓ ครั้ง ใน ๓
ครั้งนั้น ครั้งแรกประชุมเทวดาและมนุษย์แสนโกฏิ ณ สุนันทาราม ด้วยเหตุ

นั้นจึงตรัสว่า

สาวกสันนิบาตของพระทีปังกรศาสดามี ๓ ครั้ง
ครั้งที่หนึ่งประชุมสัตว์แสนโกฏิ.
สมัยต่อ ๆ มา พระทศพล อันภิกษุสี่แสนรูปแวดล้อม ทรงทำ
การอนุเคราะห์มหาชน ตามลำดับ ตามนิคมและนคร เสด็จจาริก มาโดย

ลำดับ ก็ลุถึงภูเขาลูกที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ชื่อนารทกูฏ มียอดสูงจรดเมฆ

มียอดอบอวลด้วยไม้ต้นไม้ดอกส่งกลิ่นหอมนานาชนิด มียอดที่ฝูงมฤค

นานาพันธุ์ท่องเที่ยวกันอันอมนุษย์หวงแหน น่ากลัวอย่างยิ่ง เลื่องลือไปในโลก

ทั้งปวง ที่มหาชนเช่นสักการะในประเทศแห่งหนึ่ง เขาว่าภูเขาลูกนั้น ยักษ์มี

ชื่อนารทะหวงแหน ณ ที่นั้นมหาชนนำมนุษย์มาทำพลีสังเวยแก่ยักษ์ตนนั้น

ทุกๆ ปี.

ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรทรงเห็นอุปนิสัยสมบัติ
ของมหาชน แต่นั้นก็ทรงส่งภิกษุไปสี่ทิศ ไม่มีเพื่อน ไม่มีสหาย มีพระหฤทัย

อันมหากรุณามีกำลังเข้ากำกับแล้ว เสด็จขึ้นภูเขานารทะลูกนั้น เพื่อทรงแนะ

นำยักษ์ตนนั้น. ลำดับนั้น ยักษ์ที่มีมนุษย์เป็นภักษา ไม่เล็งประโยชน์เกื้อกูล

แก่ตน ขยันแต่ฆ่าผู้อื่นตนนั้น ทนการลบหลู่ไม่ได้ มีใจอันความโกรธครอบงำ

แล้ว ประสงค์จะให้พระทศพลกลัวแล้วหนีไปเสีย จึงเขย่าภูเขาลูกนั้น เล่า

กันว่า ภูเขาลูกนั้น ถูกยักษ์ตนนั้นเขย่า ก็มีอาการเหมือนจะหล่นทับบนกระ-

หม่อมยักษ์ตนนั้นนั่นแหละ เพราะอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

ตถตา:
แต่นั้น ยักษ์คนนั้นก็กลัว คิดว่า เอาเถิด เราจะใช้ไฟเผาสมณะนั้น
แล้วก็บันดาลกองไฟที่ดูน่ากลัวยิ่งกองใหญ่ ไฟกองนั้นกลับทวนลมก่อทุกข์

แก่ตนเอง แต่ไม่สามารถจะไหม้แม้เพียงชายจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้

ฝ่ายยักษ์ตรวจดูว่า ไฟไหม้สมณะหรือไม่ไหม้ ก็เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า

ทศพล เหมือนประทับนั่งเหนือกลีบบัว ที่อยู่บนผิวน้ำเย็นดุจดวงจันทร์ ส่อง

แสงนวลในฤดูสารททำความยินดีแก่ชนทั้งปวง จึงคิดได้ว่า โอ ! พระสมณะ

ท่านนี้มีอานุภาพมาก เราทำความพินาศใด ๆ แก่พระสมณะท่านนี้ ความพินาศ

นั้น ๆ กลับตกลงเหนือเราผู้เดียว แต่ปล่อยพระสมณะท่านนี้ไปเสีย เราก็ไม่มี

ที่พึ่งที่ชักนำอย่างอื่น คนทั้งหลายที่พลั้งพลาดบนแผ่นดิน ยังต้องยันแผ่นดิน

เท่านั้นจึงลุกขึ้นได้ เอาเถิด จำเราจักถึงพระสมณะท่านนี้แหละเป็นสรณะ.

ดังนั้น ยักษ์ตนนั้นครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงหมอบศีรษะลงแทบเบื้อง
ยุคลบาท ที่ฝ่าพระบาทประดับด้วยจักรของพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สำนึกผิดในความล่วงเกิน ขอลุกะโทษพระ-

เจ้าข้า แล้วได้ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสรณะ. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า

ก็ตรัสอนุบุพพิกถาโปรดยักษ์ตนนั้น จบเทศนา ยักษ์ตนนั้นก็ตั้งอยู่ในโสดา-

ปัตติผล พร้อมด้วยยักษ์หนึ่งหมื่น. ได้ยินว่าในวันนั้น มนุษย์สิ้นทั้งชมพูทวีป

ทำบุรุษแต่ละหมู่บ้านๆ ละคนมาเพื่อพลีสังเวยยักษ์ตนนั้น และนำสิ่งอื่น ๆ มี

งา ข้าวสาร ถั่วพู ถั่วเขียว และถั่วเหลืองเป็นต้นเป็นอันมาก และมีเนยใส

เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อย เป็นต้น. ขณะนั้น ยักษ์ตนนั้นก็ให้ของทั้ง

หมดที่นำมาวันนั้นคืนแก่ชนเหล่านั้น แล้วมอบมนุษย์ที่เขานำมาเพื่อพลีสังเวย

เหล่านั้นถวายพระทศพล.

ครั้งนั้น พระศาสดาทรงให้มนุษย์เหล่านั้นบวชด้วยเอหิภิกษุอุป-
สัมปทา ภายใน ๗ วันเท่านั้น ก็ทรงให้เขาตั้งอยู่ในพระอรหัตทั้งหมด ประทับ

ท่ามกลางภิกษุร้อยโกฏิ ทรงยกโอวาทปาติโมกข์ขึ้นแสดงในที่ประชุมอันประ-

กอบด้วยองค์ ๔ วันเพ็ญมาฆบูรณมี องค์ ๔ เหล่านั้นคือ ทุกรูปเป็นเอหิ-

ภิกขุ, ทุกรูปได้อภิญญา ๖, ทุกรูปมิได้นัดหมายกัน มาเอง, และเป็นวัน

อุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ ชื่อว่ามีองค์ ๔. นี้เป็นสันนิบาต การประชุมครั้งที่ ๒. ด้วย

เหตุนั้น จึงตรัสว่า

เมื่อพระชินเจ้า ประทับสงัด ณ ภูเขานารทกูฏ
อีก ภิกษุร้อยโกฏิเป็นพระขีณาสพ ปราศจากมลทิน
ก็ประชุมกัน.

ตถตา:
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปวิเวกคเต ได้แก่ ละหมู่ไป. บทว่า
สมึสุ แปลว่า ประชุมกันแล้ว.

ก็ครั้งใด พระทีปังกรผู้นำโลก เสด็จจำพรรษา ณ ภูเขาชื่อสุทัสสนะ
ได้ยินว่า ครั้งนั้น มนุษย์ชาวชมพูทวีปจัดงานมหรสพกัน ณ ยอดเขา ทุก ๆ ปี

เล่ากันว่า มนุษย์ที่ประชุมในงานมหรสพนั้น พบพระทศพลแล้วก็ฟังธรรม-

กถา เลื่อมใสในธรรมกถานั้น ก็พากันบวช ในวันมหาปวารณา พระศาสดา

ตรัสวิปัสสนากถา ที่อนุกูลแก่อัธยาศัยของภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นฟังวิปัส-

สนากถานั้นแล้ว พิจารณาสังขารแล้วบรรลุพระอรหัต โดยลำดับวิปัสสนาและ

โดยลำดับมรรคทุกรูป. ครั้งนั้น พระศาสดาทรงปวารณาพร้อมด้วยภิกษุเก้า

หมื่นโกฏิ. นี้เป็นการประชุม ครั้งที่ ๓. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า

สมัยใด พระมหาวีระผู้เป็นมหามุนี ทรงปวารณา
พร้อมด้วยภิกษุเก้าหมื่นโกฏิ ณ ภูเขาสุทัสสนะ.
สมัยนั้น เราเป็นชฎิล มีตบะสูง ถึงฝั่งใน
อภิญญา ๕ จาริกไปในอากาศ.
คาถานี้ ท่านเขียนไว้ในทีปังกรพุทธวงศ์ กถาพรรณานิทานของ
อรรถกถาธรรมสังคหะชื่ออัฏฐสาลินี แต่ในพุทธวงศ์นี้ไม่มี ก็การที่คาถานั้นไม่

มีนั่นแหละเหมาะกว่า ถ้าถามว่า เพราะเหตุไร ก็ตอบได้ว่า เพราะกล่าว

มาแล้วในสุเมธกถาแต่หนหลัง.

ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรทรงแสดงธรรม ธรรมาภิ-
สมัย การตรัสรู้ธรรมก็ได้มีแก่สัตว์หนึ่งหมื่นและสองหมื่น แต่ที่สุดแห่งการตรัสรู้

มิได้มีโดยจำนวนหนึ่งคน สองคน สาม และสี่คนเป็นต้น เพราะฉะนั้น

ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร จึงแผ่ไปกว้างขวาง มีคนรู้กันมาก

ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า

ธรรมาภิสมัย ได้มีเเก่สัตว์หนึ่งหมื่น สองหมื่น
ไม่นับการตรัสรู้ของสัตว์ โดยจำนวนหนึ่งคน สองคน.
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทสวีสสหสฺสานํ ได้แก่ หนึ่งหมื่นและ
สองหมื่น. บทว่า ธมฺมาภิสมโย ได้แก่ แทงตลอดธรรม คือสัจจะ ๔. บทว่า

เอกทฺวินฺนํ ความว่า ไม่นับโดยนัยเป็นต้นว่า หนึ่งคนและสองคน สามคน

สี่คน ฯลฯ สิบคน. ศาสนาชื่อว่าแผ่ไปกว้างขวาง ถึงความเป็นจำนวนมาก

เพราะการตรัสรู้นับไม่ถ้วนอย่างนี้ อันเทวดาและมนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตเป็นอันมาก

รู้ พึงรู้ว่าเป็นนิยยานิกธรรม อันเป็นความสำเร็จแล้วด้วยอธิศีลสิกขาเป็นต้น

และเจริญแล้วด้วยสมาธิเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า

ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร อันพระ-
องค์ทรงชำระบริสุทธิ์ดีแล้ว แผ่ไปกว้างขวาง คนเป็น
อันมากรู้กัน สำเร็จแล้ว เจริญแล้วในครั้งนั้น.

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version