รีวิวนี้ ถูกเผยแพร่ไปแล้วก่อนหน้า ทาง
http://www.chicministry.com ลิงค์ต้องถือว่ายาวนานเลยทีเดียว สำหรับการห่างหายไปจากจอเงิน ของผู้กำกับคนหนึ่งที่ยุคหนึ่งเคยได้ชื่อว่า มักทำให้ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามได้เสมอ ..เขา ก็คือ หนึ่งในบุรุษที่คนในวงการบันเทิงไทยต่างเรียกขาลกันว่า ‘หม่อม’ เป็นคำนำหน้าอยู่เสมอ ...ก็เพราะเขา คือ
“หม่อมหลวง พันธุ์เทวนพ เทวกุล” หรือที่ทุกคนคงรู้จักกันเป็นแน่ด้วยชื่อว่า
“หม่อมน้อย”หลังจากที่หลายปีได้พ้นไป เรามักจะเห็นผลงานของหม่อมน้อย ออกมาเป็น รูปแบบของละครเรื่องยาวไว้ฉายทางทีวี ดังเช่น
“สี่แผ่นดิน” หรือ
“ในฝัน” อยู่ล้วนๆ... คงทำให้ใครหลายคน เกิดหลงลืมไปแล้วว่าก่อนหน้านั้นนับเป็นสิบยี่สิบปี หม่อมน้อย ต้องถือว่าเป็นผู้กำกับหนังไทยอีกคนหนึ่งซึ่งมีผลงานเข้าตากรรมการ และคนดู อยู่เป็นเรื่องปกติ จนเมื่อมีผลงานออกฉายในคราใด ครานั้นย่อมต้องจุดกระแสสร้างความน่าสนใจอย่างเกรียวกราวได้เสมอ
ยิ่งได้อยู่ในช่วงเวลาที่หนังไทย เคยกล้าจะขายพลอตแรงๆ คละเคล้าความฉาวโฉ่ ด้วยกลิ่นคาวโลกีย์ อีกยังเลือกที่จะสะท้อนสังคมไทยในมุมมืดได้อย่างอาจหาญ (ประเภทที่ตอนจบ มักมีฉากการตายของคน เป็นเรื่องที่มีให้เห็นบ่อยๆ) ก็ย่อมต้องนับ หม่อมน้อย ให้เป็นหนึ่งในนั้น ที่ถือเป็นเบอร์ต้นๆ ของผู้กำกับที่ชอบจะหยิบยกเรื่องน้ำเน่า (ที่มีเค้าความจริง) มาตีแผ่ให้เห็นเป็นประจักษ์บนแผ่นฟิล์ม
แต่กระนั้น ในความน้ำเน่าของเรื่องราวใดๆ ก็ไม่เคยคิดคด หรือทำร้ายอะไรได้เลย กับส่วนของความรักที่มีในหนังของหม่อม ..ซึ่งล้วนแล้วแต่มีมุมมองของความสวยงาม คอยแฝงเร้นเอาไว้ ให้ได้รู้สึกอยู่เสมอ (เป็นประเภทที่ถึงจะตาย ก็ขอตายด้วยหัวใจที่เป็นสุขเพราะเคยมีความรัก)
แต่เมื่อวันเวลาผ่านพ้นไป ร่วมๆจะ 13 ปีได้ พร้อมกันกับเกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการหนังไทยในทางที่ดี โดยเฉพาะกับการมี เรตติ้ง จำกัดอายุคนดูหนัง ให้เหมือนบ้านเมืองคนอื่นๆเขาบ้าง (แม้จะใช้การไม่ค่อยอะไรได้ในตอนนี้ ก็ให้คิดเสียว่า มันยังเป็นของใหม่!) ..เมื่อนั้น ก็ได้เวลาพอดีที่ หม่อมน้อย จะหวนคืนสู่การทำหนัง อย่างเต็มตัว พร้อมกันกับ การกำกับหนังเรื่องแรก ในรอบ 13 ปี ที่ได้ให้ชื่อว่าโปรเจกต์แต่ต้นยันวันฉายนี้ว่า
“ชั่วฟ้าดินสลาย”ชั่วฟ้าดินสลาย มีที่มาจากนวนิยายความรักอันเป็นโศกนาฏกรรม ที่ถูกประพันธ์ขึ้นโดยคนไทย คือ คุณ
“มาลัย ชูพินิจ” (หรือในนามปากกา
“เรียมเอง” สำหรับการประพันธ์เรื่องนี้) ซึ่งก็ได้มีที่มาอันทับซ้อนอีกทีหนึ่ง เป็นบทปรัชญาว่าด้วยเรื่องชีวิตมนุษย์ จากชาวต่างชาติอย่าง
“The Prophet” ของ
“Kahlil Gibran” ...นำเสนอเรื่องราวของ คนสามคน ที่มอบบทบาทให้ ผู้ชาย สองคน มีความข้องเกี่ยวกันในฐานะของ อา กับ หลาน ที่รักกลมเกลียวกันเป็นที่สุด ประหนึ่งพ่อลูก ..หากต้องมาพานพบปัญหากินแหนงแคลงใจสุดเจ็บปวด เพียงเพราะมี ผู้หญิง หนึ่งคน ถูกขอให้เดินเข้ามาเป็นหนึ่งในครอบครัวนี้
ชายคนแรกที่มีศักดิ์เป็นอา คือ
“พะโป้” ผู้ที่มีสมญานาม ‘เสือผู้หญิง’ ด้วยฐานะที่ร่ำรวย มั่งคั่ง เป็นผู้มีอันจะกันที่พร้อมจะเก็บเกี่ยวความสุขได้ทุกอย่าง เพียงเพราะเงินซื้อได้
ชายคนที่สอง คือ
“ส่างหม่อง” เป็นเด็กนอกจบใหม่หัวก้าวหน้า ที่กลับบ้านมาย่อมมีหวังจะได้รับมรดกทรัพย์ของพะโป้ แต่ก็บังอาจ เผลอพลั้งพลาด ไปเสียทีกับของที่ไม่ใช่มรดกสำหรับเขา
และของสิ่งนั้น ก็คือ ผู้หญิงที่ชื่อว่า
“ยุพดี” สาวชาวกรุง ผู้รักจะเป็นอิสระ และมีจิตใจใฝ่หาแต่ ตัณหา ราคะ ที่ไม่รู้สำนึกว่า นี่คือสิ่งที่เลวร้ายสำหรับเธอ และทุกๆคนที่เป็นผู้ชายของเธอ
ชั่วฟ้าดินสลาย มาพร้อมกับพลอตเรื่องที่ชัดเจนแต่แรกเห็น ด้วยความเหมาะเหม็งที่จะกลายมาเป็นงานหนังครั้งแรกประเดิมของหม่อมน้อย เพื่อเป็นการต้อนรับตัวเองคืนสู่วงการนี้ ..ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เพราะมันมีฉากความรัก เป็นดังจุดขาย และไม่ได้มีเพียงความหวาบหวิว วางให้เป็นอาหารจานหลัก (ดังเช่นตัวอย่าง พยายามทำให้รู้สึก) แต่ ชั่วฟ้าดินสลาย ก็คือ หนังในแบบของหม่อมน้อย ตรงที่กล้าจะนำเสนอ เรื่องราวของมนุษย์ ที่ถูกทำให้เสียคน เพียงเพราะยอมปล่อยให้เรื่องราวทุกอย่างถลำลึก และนำพาจิตใจให้ต่ำช้า กลายไปเป็นดัง สัตว์เดรัจฉาน
พูดไปอย่างนั้น อาจจะว่าแรง! แต่ถ้าใครได้ดูหนังแล้วก็คงจะรู้ได้ว่า สิ่งที่ผมพูดไป มันไม่ผิดจากที่ว่าเอาไว้เลย! เพราะเมื่อถึงฉากสุดท้ายของตัวละครแต่ละตัว ..เขาเหล่านั้นก็จะไม่หลงเหลือความเป็นคน อีกต่อไป
แล้วถึงต่อให้ใจหนึง เราก็นึกสงสาร แต่ยังไงก็คงทำใจให้อภัยไม่ได้หรอก เพราะสิ่งที่ได้เห็นทั้งนี้ทั้งนั้น ตัว(ละคร)เองก็ทำร้ายตัวเองล้วนๆ
การที่ใครได้ดู ชั่วฟ้าดินสลาย แล้วลองกลับมานึกถึงตัวเองสำหรับคนดูอย่างเราๆ ก็เหมือนกับการได้นำเอาประโยควลีฮิตตลอดดาลอย่าง ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัวเอง มาปรับใช้ ..และครั้งนี้ ก็รู้สึกได้ถึงแรงกระแทกกระทั้นที่หนักพอสมควร กับการนึกภาพตัวเองเป็นดังตัวละครในหนัง ที่เผลอตัว และเผลอใจ ยอมจะให้อะไรๆเกินเลย เพียงเพื่อสุดท้ายจะต้องมาพบจุดจบที่เป็นโศกนาฎกรรมอันน่าหวาดกลัว ...ในจุดนี้ เอาแค่นึก ก็สยองแล้ว!
ในแง่ของการสร้างความรู้สึกชวนให้อึดอัด หดหู่ สิ้นหวัง คงต้องยอมรับว่า หม่อมน้อย ทำจุดนี้เอาไว้ได้ดี กับชั่วฟ้าดินสลาย เรื่องนี้.. เป็นการทำให้คนดู เห็นแล้วคงไม่อยากจะหลงผิดหลงพลาด เป็นอย่างคนที่เห็นอยู่ในหนัง
แต่เมื่อมามองในแง่ของการทำให้คนดูเคลิบเคลิ้มไปกับความเชื่อที่มีต่อความคิดและจิตใจของตัวละครแล้ว ต้องบอกว่า มีหลายห้วงที่หนังพาให้สะดุด เพราะมีสภาวะที่เราไม่อาจเข้าใจตัวละครได้ว่า ทำไมถึงเลือกทำอย่างนั้น ทำไมถึงเปลี่ยนไปเป็นคนอย่างนี้ และอยู่ดีๆ ทำไมถึงทำตัวได้น่ารำคาญ อย่างในฉากหนึ่งของ ยุพดี ที่อยู่ดีๆ ก็กลายมาเป็นคนขี้เอาแต่ใจ (จนกลายเป็นตัวตลกสำหรับคนดูไปซะงั้น ..หัวเราะกันครืนกับความง้องแง้งของเธอ)
ซึ่งในมุมนี้ ถ้าจะไปโทษว่าหนัง กำกับออกมาไม่ดี ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะในแง่ของการกำกับการแสดง ดาราชั้นดี แต่ละคนก็ถือเอาคาแรกเตอร์ของตัวเองที่เป็นได้อยู่กันทั้งนั้น และถ้าดูเอาความงดงามของการกำกับภาพในหนัง ก็ล้วนแล้วแต่สวยและสดอย่างจับต้องได้ ..โดยสองสิ่งนี้ ถือเป็นเรื่องปกติที่เห็นได้ในหนังของหม่อมอยู่แล้ว (อันนี้วัดจากการเคยดูละคร ส่วนหนังเหมือนจะยังไม่เคยมีโอกาสมาก่อน) อีกทั้งบทหนัง ก็คมด้วยการสนทนาที่ฝากประโยคเด็ดไว้ไม่น้อย รวมถึงการใส่ประเด็นสะท้อนสังคมที่น่าคิดเอาไว้อีกมาก (ถึงจะเล่าเรื่องย้อนอดีต ก็ยังมีมุมที่หยอกล้อกับสังคมปัจจุบันได้อยู่)
แต่ที่ให้รู้สึกว่า มันยังไม่เคลิ้มเป็นที่สุด อย่างที่น่าจะเป็นได้ ..มันได้เกิดมาจากความเห็น ที่เชื่อว่าปัญหาหลักๆ ของหนัง น่าจะมาจากการตัดต่อ แบบที่ไม่แม่นในจังหวะ (ดูว่ามีหลายช่วงที่เร่งรัดเกินไป) ...และยังเชื่อว่าน่าจะใช่เช่นนั้น ก็เพราะได้ข่าวจากวงในมาด้วยว่า เวอร์ชั่นที่ได้ดูในโรงนี้ เป็นฉบับ (เสี่ย) สั่งตัดเพื่อให้แชร์รอบฉายได้ต่อวันเยอะขึ้น หากยังไม่ใช่แบบที่ตรงตามใจทุกอย่างของ หม่อมน้อย
ก็อาจจะเป็นแค่ข่าว หรือไม่? อันนี้ ไม่ขอฟันธง ..แต่เห็นอย่างนี้ แล้วก็อยากจะดูฉบับผู้กำกับตัดต่อขึ้นมาเป็นที่สุด
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=onceupon&month=10-2010&date=12&group=2&gblog=227