ผู้เขียน หัวข้อ: ชั่วฟ้าดินสลาย : ความรักชั่วนิรันดร์ การลงทัณฑ์ชั่วชีวิต  (อ่าน 8912 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด






เนื้อเพลง ชั่วฟ้าดินสลาย (ต้นฉบับ - พ.ศ. 2498) - ศรีไศล สุชาติวุฒิ

ชั่วดินฟ้า รักเธอ เสมอใจ
ที่ฉันรำพัน ทุกวัน ฝันไป ถึงเธอ

อยากให้เธอ หวานใจ อยู่ใกล้ พรอดรัก
ร้อยเรียง ร่วมเคล้าเคียงฉันและเธอ

ก่อนเข้านอน ฉัน วอน ฝันไป เพ้อครวญ
ภาพรักหลอน ให้ชวน ละเมอ

อยากให้เป็น ของเธอ ชั่วฟ้า ดินได้
อย่ามี อันใดพรากไป ไกลกัน

**

ก่อนเข้านอน ฉันวอน ฝันไป เพ้อครวญ
ภาพรักหลอน ให้ชวน ละเมอ

อยากให้เป็น ของเธอ ชั่วฟ้า ดินได้
อย่ามี อันใดพรากไป ไกลกัน....


ชั่วฟ้าดินสลาย ศรีไศล สุชาติวุฒิ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 26, 2016, 12:28:20 am โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูหนังเรื่อง "ชั่วฟ้าดินสลาย" ผลงานการกำกับของ “มารุต” หรือ ทวี ณ บางช้าง ทางช่องทีวีไทย 
 

หลังจากดู “ชั่วฟ้าดินสลาย” จบลง ผมรู้สึกว่าตัวเอง "ถูกหลอก" อยู่นานมากเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ (น่าจะตั้งแต่ประมาณตอนเรียนประถมต้น) เพราะถ้าจำไม่ผิด สมัยผมยังเด็กมาก พี่สาวเคยเล่าเรื่องราวย่อ ๆ เกี่ยวของหนังเรื่องนี้ให้ฟัง ซึ่งเรื่องราวคร่าว ๆ ดังกล่าวก็คล้ายคลึงกับชั่วฟ้าดินสลายที่ผมเพิ่งได้ดูตอนวันเสาร์นั่นแหละ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่ผมได้ฟังตอนเด็ก กลับมีลักษณะในการประณามพระเอกนางเอก/ชู้รักในหนังอย่างชัดแจ้ง นอกจากนี้ ความรักของชู้รักในหนังก็ค่อย ๆ เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ (จากการเริ่มต้นอย่างหวานฉ่ำ) ด้วยความที่ต่างฝ่ายต่างเห็นแก่ตัว ก่อนจะลงเอยด้วยความตายของฝ่ายหญิงและความบ้าของฝ่ายชายในที่สุด สำหรับตัวละครนายห้างจากเรื่องเล่าที่ผมได้ฟังในตอนเด็ก ก็ดูเหมือนจะเป็นผู้มีอำนาจสัมบูรณ์สูงสุดในหนัง แล้วชีวิตของเขาก็ดำเนินต่อไปได้อย่างยิ่งใหญ่ภายหลังจากความรักที่พังพินาศลงของคู่พระนางในตอนท้ายเรื่อง

แต่เมื่อมาดูหนังเรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” จริง ๆ ผมกลับรู้สึกว่า ความรักของพระเอกนางเอก/ชู้รักในหนังไม่ได้มีเฉดสีที่ไล่เรียงจากสว่างใสไปสู่มืดหม่นตามลำดับเสียทีเดียว แต่มันอาจเริ่มต้นจากความสว่างใสแล้วค่อย ๆ ไล่เรียงไปสู่ความมืดหม่น ทว่าก็กลับมาสว่างใสอีกเป็นระยะ ๆ ก่อนจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่ไม่ได้มืดหม่นเสียทีเดียวในท้ายที่สุด เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกนางเอกภายหลังถูกลงโทษให้ล่ามโซ่เข้าด้วยกันในหนังเรื่องนี้ไม่ได้ดำเนินไปอย่างเลวร้ายลงตามลำดับ หากเป็นความสัมพันธ์ประเภทเดี๋ยวร้าย (เห็นแก่ตัว) เดี๋ยวรัก เดี๋ยวอยากตาย เดี๋ยวอยากมีชีวิตต่อ สลับกันไปอย่างมีความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ ความตายที่เกิดขึ้นของนางเอกในตอนท้ายเรื่อง ก็ดูเหมือนจะเป็นการเสียสละของฝ่ายหนึ่งมากกว่าการเอาเปรียบของอีกฝ่าย (ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด) แม้ว่าภายหลังจากความตายดังกล่าว หนังจะแสดงให้เห็นถึงท่าทีของพระเอกที่เรียกร้องหากุญแจมาไขโซ่ที่ล่ามตัวเองไว้กับฝ่ายหญิงก็ตามที แต่อย่างน้อย เมื่อนายห้างไม่ยอมมอบกุญแจให้ พระเอกก็เป็นฝ่ายตัดสินใจแบกศพหญิงคนรักออกจากอำนาจของนายห้างผู้เป็นอา/เจ้านาย/เจ้าชีวิตอย่างเด็ดเดี่ยว (และนำศพของเธอไปฝังในตอนจบของหนัง) จนส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกประการหนึ่งตามมา

ยิ่งไปกว่านั้น ผมยังรู้สึกทึ่งที่ว่า สุดท้ายแล้วชีวิตของตัวละครอีกตัวหนึ่งที่พังพินาศลงยิ่งกว่าชีวิตของพระเอกนางเอกในหนังเรื่องนี้เสียอีกกลับเป็นชีวิตของนายห้างผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งทั้งเสียเมีย เสียหลาน และดูเหมือนจะสูญเสียอำนาจในการปกครองผู้คนตามไปด้วย

ถ้าสังเกตให้ดี เราจะได้เห็นลักษณะทางชนชั้นหรือลำดับขั้นในการปกครองคนที่ไม่เป็นระบบระเบียบเรียบร้อยหรือไม่ค่อยมีความลงตัวนักในหนังเรื่องนี้ เช่น แม้นายห้างอาจมีอำนาจสิทธิ์ขาด ด้วยการตบหน้าคนใช้ที่พูดจาเสียดแทงใจตนเองได้ แต่อย่าลืมว่าคนใช้ก็สามารถเดินเข้าไปพูดจากระทบจิตใจของเจ้านายได้อย่างกล้าหาญเช่นกัน, การที่บรรดาคนใช้พยายามลองของยุพดี (นางเอก) ในตอนต้นเรื่อง, การที่ทิพย์ (ประจวบ ฤกษ์ยามดี) ผู้ช่วยของนายห้าง พยายามใช้อำนาจกดขี่คนงานต่าง ๆ ตลอด -คล้ายกับเป็นการเลียนการใช้อำนาจของนายห้าง- แต่คนงานเหล่านั้นกลับมีทีท่าเพิกเฉยไม่สนใจไยดีต่อการใช้อำนาจของเขา, หรือในฉากสำคัญตอนท้ายเรื่อง ที่คนงานคนหนึ่งขว้างก้อนหินไปใส่กระจกบ้านของนายห้าง เพื่อแสดงความไม่พอใจที่นายห้างตัดสินใจลงโทษพระเอกนางเอกต่อไปภายหลังจากการตายของนางเอก ซึ่งนำไปสู่ความวอดวายของชีวิตนายห้างในที่สุด

ผมจึงไม่แน่ใจว่า ตัวบทประพันธ์ "ชั่วฟ้าดินสลาย" ของมาลัย ชูพินิจ จะมีลักษณะบางอย่างที่สอดคล้องต้องกันกับวรรณกรรมจำนวนหนึ่งของนักเขียนกลุ่มสุภาพบุรุษหรือไม่? (เช่น ข้างหลังภาพ) คือ เป็นเรื่องราวที่อิงอยู่กับบริบททางสังคม-การเมืองภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ซึ่งมีการพูดถึงการสูญเสียอำนาจของผู้มีอำนาจยุคเก่า (ในนิยายเรื่องนี้ก็คือ นายห้าง) ที่ถูกคุกคามโดยเมียและหลานชายของตัวเองที่เป็นชู้รักกัน อีกทั้งยังไม่สามารถปกครองคนใต้ปกครองได้ จนต้องตรอมใจ/ยอมสิ้นใจตายกลางกองเพลิงที่ตนเองเป็นผู้จุดขึ้นในท้ายที่สุด 

 

หลังจากดู “ชั่วฟ้าดินสลาย” ทางทีวีจบ ผมจึงเพิ่งมาทราบจากกระทู้ที่พูดหนังเรื่องนี้ในเว็บบอร์ดเฉลิมไทยว่า “ชั่วฟ้าดินสลาย” เคยถูกนำมาสร้างเป็นหนังใหม่อีกครั้งหนึ่งในทศวรรษ 2520 และเรื่องย่อของหนังเวอร์ชั่นหลังก็สอดคล้องกับเรื่องเล่าที่ผมเคยฟังตอนเด็ก ๆ มาก ดังนั้น ผมจึงคงไม่ได้ "ถูกหลอก" เสียทีเดียว แต่น่าจะเป็นการเข้าใจผิดอย่างผิดฝาผิดตัวเล็กน้อยเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การสร้างให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกนางเอกมีความหายนะและด้านมืดที่เด่นชัดมากยิ่งขึ้น และการปรับเปลี่ยนให้นายห้างมีอำนาจสูงสุดอย่างคงทนสถาวร ของชั่วฟ้าดินสลายฉบับทศวรรษ 2520 ก็อาจแสดงให้เราได้เห็นถึงเป็นการแปรผันของ “ตัวบท” ตามบริบททางสังคม-การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจมิใช่น้อยเช่นกัน

 


" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ชั่วฟ้าดินสลาย ไม่ใช่แค่เรื่องศีลธรรมแบบฉาบฉวย



“…ชั่วฟ้าดินสลาย อาจไม่ใช่หนังที่วิเศษ ในแง่ของภาพยนตร์ อีกทั้งยังมีรูปแบบอันเชยล้าสมัย ชนะ ศรีอุบล นักแสดงนำจาก โรงแรมนรก ยังคงเล่นหนังแบบทื่อๆตรงๆ (ว่ากันว่า นี่คือหนังที่เจ้าตัวชอบมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ) ส่วนงามตา ศุภพงษ์ ผู้รับบทยุพดี ก้อาจไม่สวยสะเท่าสาวสมัยใหม่ (แสดงให้เห็นว่าความสวยเป็นเรื่องของยุคสมัย และ วัฒนธรรม) แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นี่ก็เป็นหนังไทยที่น่าจดจำ โดยเฉพาะในแง่มุมของการวิพากษ์ความรักหนุ่มสาว ที่ยังคงสดใหม่ แม้จะผ่านเวลาไปนานสักแค่ไหน และ ประสปการณ์การชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็เป็นประสปการณ์การดูหนังที่ดีที่สุดอีกครั้งในรอบปี…”
 
ประโยคข้างต้นนั้น คือบทวิจารณ์หนัง ชั่วฟ้าดินสลาย ที่ออกฉายในปี 2498 ที่ นิวโอเดียน-เฉลิมกรุง
 
ชั่วฟ้าดินสลาย..ดัดแปลงจากวรรณกรรมอมตะของ เรียมเอง หรือ มาลัย ชูพินิจ บรมครูแห่งวงการวรรณกรรมไทย ที่หยิบยกความรักในจิตใจของมนุษย์ชายหญิงมาตีแผ่ ชําแหละ และ พิสูจน์ให้เห็นว่า ความรักอันแท้จริงของมนุษย์นั้นเป็นเช่นไร .. นวนิยายเล่มนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ และ ละครโทรทัศน์หลายครั้ง
 
หนังโด่งดังที่สุดจากการนำมาสร้างครั้งที่ 2 โดยหนุมานภาพยนตร์ ที่มี รัตน์ เปสตันยี เป็นผู้อํานวยการสร้าง/กํากับภาพ , บันทึกเสียงโดย ปง อัศวินิกุล , กํากับฯ โดย “ครูมารุต” (ทวี ณ บางช้าง) นําแสดงโดย เอม สุขเกษม (นายห้างพะโป้) งามตา ศุภพงษ์ (ยุพดี) ชนะ ศรีอุบล (ส่างหม่อง) ประจวบ ฤกษ์ยามดี (ทิพย์)
 
นพิธีมอบรางวัลสำเภาทอง (ตุ๊กตาทอง) ครั้งที่ 1 ประจําปี พ.ศ.2500 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2500.. ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับ 3 รางวัลสําเภาทอง สาขาบทประพันธ์ยอดเยี่ยม บันทึกเสียงยอดเยี่ยม และ ถ่ายภาพยอดเยี่ยม (ประเภทฟิล์ม 35 ม.ม.) ซึ่งเวอร์ชั่นนี้ มีเพลงประกอบชื่อเดียวกัน ที่มีความไพเราะมาก ประพันธ์คําร้องโดย ครูมารุต ทํานองโดย แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ขับร้องโดย พูลศรี เจริญพงษ์ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงเงินพระราชทาน
 
และในปี พ.ศ.2553 เป็นการสร้างครั้งที่ 4 โดย ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล (หม่อมน้อย) นำแสดงโดย อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม , เฌอมาลย์ บุญยศักด์ (พระ-นาง ที่สอนการแสดงมากับมือ) และ ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์

หนังเปิดตัว เมื่อ นิพนธ์ (เพ็ญเพชร เพ็ญกุล) นักหนังสือพิมพ์หนุ่มเดินทางมายังค่ายที่เขาท่ากระดาน ตามคำเชิญของนายห้างพะโป้ (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) โดยมีทิพย์ (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ผู้จัดการปางไม้ เป็นผู้ต้อนรับ และ เปิดเผยเรื่องราวของความรักของ ส่างหม่อง (อนันดา เอเวอริงแฮม) และ ยุพดี (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) เมื่อ 10 ปีผ่านมา ให้ฟัง…
 
หนังเล่า เรื่องราวรัก 3 เส้า ระหว่างพะโป้ คหบดีหม้ายชาวพม่าผู้ที่ใจดีได้เท่ากับที่โหดร้าย , ยุพดี ภรรยาสาวสวยของพะโป้ที่ถืออิสระแห่งหัวใจเป็นใหญ่ และ ส่างหม่อง หนุ่มรูปงามที่เป็นหลานชายของพะโป้  เมื่อพะโป้ทราบว่าภรรยาสาวและหลานชายได้แอบคบชู้กัน เขาจึง ออกปากยกยุพดีให้แก่ส่างหม่อง โดยมีข้อแม้ว่า  ทั้งคู่ต้องถูกล่ามโซ่อยู่ด้วยกันตราบจน ชั่วฟ้าดินสลาย .”..พวกเอ็งอยากจะอยู่ด้วยกันทั้งวันทั้งคืน อยากอยู่ด้วยกันชั่วฟ้าดินสลาย ข้าก็จักให้พวกเอ็งได้สมมาตรปรารถนา ”
 
เมื่อ ทั้งสองต้องมาอยู่ด้วยกันทั้งวันทั้งคืน รักที่หวานชื่น ก็ขมขื่น ส่างหม่องหมดความอดทน..สิ้นรัก และ เมื่อพะโป้เสนอทางออกให้ด้วยความตาย เขาก็ยอมรับทางเลือกนั้น   ซึ่งในที่สุด ยุพดีก็เป็นคนตัดสินใจเลือกทางเดินนั้นด้วยตนเอง….ส่างหม่องอุ้มร่างไร้วิญญาณของยุพดี ไปหาพะโป้ เพื่อแลกกับกุญแจ สู่อิสรภาพ
แต่คำตอบที่ได้จากพะโป้ ผู้เป็นอา คือ ความเย็นชา ตอกย้ำคำว่า ชั่วฟ้าดินสลาย
 
หนังดำเนินเรื่องราวไปอย่างช้าๆ มุมกล้อง แสง สี เสียง การจัดวางตำแหน่งนักแสดง ตลอดจนบทพูด เป็นแบบละครเวทีตามสไตล์หม่อมน้อย ภาพสวย เน้นองค์ประกอบของฉาก มีรายละเอียดของ เสื้อผ้า – หน้า – ผม เพลงประกอบไพเราะ และ มีลูกเล่นเน้นอารมณ์ของหนังด้วยการตีฆ้อง ความกลมกลืนของอารมณ์รัก โกรธ หลง และ เคียดแค้น ยังไม่ลงตัว
 
ในบรรดานักแสดงที่รับบท 3 ตัวละครหลัก คือ พะโป้ ยุพดี และ ส่างหม่อง แสดงได้ไม่สอดรับกันเท่าที่ควร
 
อนันดา เอเวอริงแฮม ในบทของส่างหม่อง สามารถถ่ายทอดอารมณ์ แสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง และ แววตาได้ดีสมกับบทบาทของชายหนุ่มผู้รักธรรมชาติ เขินอาย ไม่ประสากับความรัก และ อารมณ์ทางเพศ
 
พลอย – เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ กับบทบาทของยุพดี ซึ่งเป็นตัวดำเนินเรื่อง / เป็นปมของเรื่อง โดยในตอนต้นเรื่องภาพลักษณ์ของเธอแสดงออกมา(ให้ดูเวอร์)เป็นหญิงจัดจ้าน กร้านโลก จากการแต่งหน้าเข้ม พอกแป้งจนขาว ทาปากแดงจัด และ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด ละลานตา ไม่เหมาะกับกาละเทศะ… และ กลับมาเป็นหญิงสาวที่ดูสวยใสตามธรรมชาติในตอนท้ายของเรื่อง …บทบาทการแสดงของพลอยยังขัดตา (ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนเรื่องอื่นๆที่เคยแสดง) ค่อนข้างเป็นแอ็คติ้งแบบละครเวที ซึ่งอาจจะเป็นเจตนาของหม่อมน้อย
 
บี๋ – ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ ในบทนายห้างพะโป้ ตัวละครสำคัญที่มีสองบุคลิก คือ ผู้มีเมตตา-ใส่ใจในศาสนา และ เจนต่อโลกีย์ ซึ่งบทนี้ไม่เหมาะกับเขาเลย (เนื่องจากไม่สามารถแสดงสีหน้า ท่าทาง หรือ ถ่ายทอดอารมณ์ของชายที่ต้องเก็บกดอารมณ์รัก และ แค้นในไว้ขณะเดียวกัน) นอกจากหน้าตาที่ละม้ายคล้ายชาวพม่า เมื่อแต่งกายด้วยชุดประจำชาติเท่านั้น …ทำให้อดนึกถึงนิรุตต์ ศิริจรรยา ขึ้นมาไม่ได้
 
นี่คือหนังโศกลึกที่มีมาก่อนกาล จึงไม่น่ามีบทตามใจตลาดออกมาให้เสียบรรยากาศของหนัง
 
หนังสะดุดอารมณ์ กับบทตลกร้ายแบบจงใจ และ อารณ์เศร้าแบบไม่สุดๆ บทโป๊จนเปลือยของพลอย และ อนันดา และ บทรักท่ามกลางธรรมชาติป่าเขา หรือ บนเตียงของทั้งคู่ดูแบนเรียบ ไม่มีมิติ หรือ อารมณ์แห่งรัก
 
ด้วยเนื้อเรื่องของชั่วฟ้าดินสลาย มีบทอีโรติก ซึ่งหลายคนคาดหวัง และ เฝ้าติดตาม(ถูกกระตุ้นจากโปสเตอร์โฆษณาของหนังมาก่อนล่วงหน้า) แต่จากผลงานกำกับของหม่อมน้อย ฉากเหล่านี้ไม่โดดเด่น เช่นในหนังชั่วฟ้าดินสลายที่เป็นผลงานการกำกับของ มารุต หรือ ทวี ณ บางช้าง ที่นำแสดงโดย ชนะ ศรีอุบล และ งามตา ศุภพงษ์ ในปี พ.ศ.2498 ซึ่งถือได้ว่า เป็นหนังอีโรติก และ สะท้อนภาพของความรักของหนุ่มสาวได้ช้ดเจน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในยุคนั้น ว่าเป็นประสบการณ์การดูหนังที่ดีที่สุดในรอบปี
 
และเมื่อมา ทำเป็นเป็นหนังโดยฝีมือการกำกับของหม่อมน้อย ชั่วฟ้าดินสลาย จึงเป็นหนังที่มีภาพสวย.. องค์ประกอบฉากเยี่ยม.. เสื้อผ้า-หน้า-ผม ยอด
 
หากเคยอ่านงานของเรียมเองมาแล้ว อาจต้องขัดใจ เพราะหนังดำเนินเรื่องตามสไตล์หม่อมน้อย แต่ถ้าชอบละครPeriod ไม่ผิดหวัง
 
….โศกนาฏกรรมของส่างหม่องกับยุพดี จะว่าไปออกจะแปลกธรรมเนียมเก่าอยู่ไม่น้อย เริ่มจากที่ ยุพดี หญิงผู้มีสามีอยู่แล้ว ยั่วยวนส่างหม่อง จนทั้งคู่ ซึ่งเป็นตัวเอก ไปเสวยสุขลับหลัง นายห้าง(โดยที่คนดู มีหน้าที่เพียงบุคคลที่สามที่สี่จับตาดูการกระทำโดยไม่เห็นอกเห็นใจ หรือถ้าจะมีก็ไปทางสมน้ำหน้า ) จนเมื่อทั้งคู่ต้องรับกรรมที่ก่อไว้จริงๆ คนดูก็เริ่มกลับสงสารในโชคชะตาของคนทั้งคู่ จนพาลเศร้าใจในช่วงท้าย แม้หนังจะเล่าเรื่องสุดแสน CLICHÉ เกี่ยว กับการเล่นชู้ แต่การเล่นกับประเด็น ชั่วฟ้าดินสลาย อันไม่จีรัง ทำให้หนังมองประเด็นนี้ลึกซึ้งกว่าเรื่องศีลธรรมฉาบฉวย จนเป็นที่น่าสงสัยว่า หากหนังเรื่องนี้ออกฉายในปีนี้ ซึ่งเต็มไปด้วย มนุษย์ ศีลธรรมจัด (โดยมีข้อแม้ว่าเป็นหนังใหม่ พลอตไม่ได้ยกมาจากบทประพันธ์คลาสสิค) หนังจะถูกบริบททางสังคมโจมตีหนักข้อขนาดไหน (ตลกดี ที่ผู้คนศีลธรรมจัดดังกล่าว มักยึดโยงกับความดีงามเชิงถวิลหาอดีต ราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ ต่อให้สิ่งนั้นขัดกับหลักการของเจ้าตัวก็ตาม ซึ่งนั้นทำให้เป็นเรื่องยั่วล้อ ชวนขันได้เสมอๆ และทำให้ตระหนักได้ว่าเส้นศีลธรรม ไม่ได้ถ่างออกหรือแคบเข้า มีแต่มีแต่ทรรศนะของเจ้าตัวเท่านั้นที่เป็นปัญหา)

ความรัก … ไม่ให้สิ่งอื่นใดนอกจากตนเอง
และก็ไม่รับเอาสิ่งใด นอกจากตนเอง
ความรักไม่ครอบครอง และก็ไม่ยอมให้ถูกครอบครอง
เพราะความรักนั้น พอเพียงแล้วสำหรับตอบความรัก


คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran)

http://movie.mthai.com/movie-review/78127.html


ชั่วฟ้าดินสลาย - สุเมธ&เดอะปั๋ง.wmv
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ชั่วฟ้าดินสลาย : ไม่นิรันดร์


- ชั่วดินฟ้า รักเธอ เสมอใจ ที่ฉัน รำพัน ทุกวัน ฝันไปถึงเธอ


อยากให้เธอ หวานใจ อยู่ใกล้ พลอดรัก ร้อยเรียง ร่วมเคล้าเคียง ฉันและเธอ



นั่นคือเพลงที่เธอร้อง เธอผู้นั้นคือ ยุพดี ภรรยาสาวของนายห้างพะโป้ ที่เขาไปแต่งมาจากในเมืองแล้วนำเธอมาที่ปางไม้ไกลผู้ไกลคนแห่งนี้ ที่นั่นเธอพบกับ ทิพย์ คนสนิทมือขวาของนายห้าง และ ส่างหม่อง หลานชายหนุ่มฉกรรจ์ ที่ทั้งหล่อทั้งโสด ยุพดี ชอบก้อร่อก้อติก กับพ่อหนุ่มคนเถื่อน ไม่ประสาสตรีผู้นี้ ยิ่งนายห้างเป็นชายชราร่างอ้วนลงพุงไหนเลยจะดึงดูดใจได้ดีเท่าหนุ่มๆ ยิ่งนานวันจากการหยอกล้อเล่นหัวให้เป็นที่ขันก็ยิ่งบิดผันไปตามอารมณ์วัยหนุ่มสาว ส่างหม่อง แม้จะหักห้ามใจไม่ให้ไปรักชอบของของคุณลุง ก็ยังไม่อาจห้ามใจ ยิ่งอยู่ไกลในป่าเขายิ่งพานลำบากยากเข็ญ ข้างยุพดี ก็เห็นคนหนุ่มเป็นเครื่องสนุก ด้วยว่าเขาไม่เดียงสา จนกระทั่งในที่สุดทั้งคู่ก็กระทำการเลยเถิดลักลอบเล่นชู้ให้เป็นที่โจษขานกันทั้งปางไม้ จะเว้นก็แต่นายห้างที่ยังไม่ทราบเรื่อง




แต่ความลับไม่มีในโลก ฉันใดก็ฉันนั้น แม้ทิพย์ผู้เฝ้าจับสังเกตอยู่ห่างๆจะออกโรงเตือนส่างหม่อง แต่พ่อก็ยังปฏิเสธเสียงแข็ง จนในที่สุดนายห้างก็จับพิรุธได้ แล้วตลบหลังตามทั้งคู่ไปยังบังกะโลกลางป่า




เมื่อรักแรงก็เกลียดแรง นายห้างออกปากยกยุพดีให้แก่ส่างหม่อง มีข้อแม้แต่ว่า ถ้าพวกเอ็งอยากจะอยู่ด้วยกันทั้งวันทั้งคืน อยากอยู่ด้วยกันชั่วฟ้าดินสลาย ข้าก็จักให้พวกเอ็งได้สมมาตรปรารถนา ว่าแล้วนายห่างก็จับยุพี ล่ามโซ่ไว้กับส่างหม่อง โยนกุญแจทิ้งไปเสียให้ทั้งคู่อยู่กินกันในเหย้าในเรือนโดยมีโซ่คล้องสองแขนไว้ด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ตราบ ชั่วฟ้าดินสลาย-




จากนิยายขนาดสั้นอมตะของนักเขียนอมตะผู้ยิ่งยงอย่าง เรียมเอง หรือ ครู มาลัย ชูพินิจ เจ้าของบทประพันธ์ ยิ่งใหญ่ อย่าง แผ่นดินของเรา และ ทุ่งมหาราช นำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี พศ. 2498 โดย ครูมารุต หรือ ทวี ณ.บางช้าง ภายใต้การควบคุมงานสร้างโดย หนุมานภาพยนตร์ บริษัทของครูรัตน์ เปสตันยี รัตนะแห่งหนังไทย โดยในเรื่องนี้ ครูรัตน์ ลงมาถ่ายภาพให้ด้วย



นี่คือหนังรักโศกลึกที่มาก่อนกาล แม้ตัวหนังจะถ่ายทำในรูปแบบหนังไทยคลาสสิค นั่นคือไม่ได้มีลีลากล้องอันพิเศษพิสดาร หรือมีเทคนิคภาษาภาพชวนค้นหา อีกทั้งเหล่านักแสดงก็แสดงไปตามบทบาท ถ้าไม่แข็งทื่อ ก็ออกจะล้นเกินงาม แต่สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็ไม่สามารถบดบังความจริงที่ว่านี่เป็นหนังที่มีเรื่องราวน่าสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซ้ำพอมองย้อนกลับไป การแสดงอันทื่อทึ่ม และการกำกับแบบสามัญ กลายเป็นเสน่ห์อันซื่อตรงของหนังจากยุคสมัยนั้นไปเสีย





ชื่อของหนังนั้นสุดแสนจะโรแมนติคอ่อนหวาน อีกทั้งฉากที่เพลง ชั่วฟ้าดินสลายปรากฏในหนัง ก็เป็นฉากที่ ยุพดีร้องเพลงนี้ขณะเล่นเปียโน ให้แก่ส่างหม่องฟังด้วยอารมณ์เคลิบเคลิ้มขัดเขิน หากแต่ในที่สุดหนังกลับจงใจยั่วล้อ ความรัก แบบ ชั่วฟ้าดินสลาย เพราะเมื่อทั้งสองต้องมาอยู่ด้วยกัน ทั้งวันทั้งคืน รักที่หวานก็พาลขมขื่น เพลงชั่วฟ้าดินสลายกลายเป็นเพียงคำรำพันพร่ำเพ้อเจ้อของหญิงนางหนึ่ง ความรักที่ไร้สถานะ ไร้กาลเวลาของเธอ ไม่ได้ยิ่งยืน ชั่วฟ้าดินสลายจริงอย่างในเพลง เพราะที่แท้แล้วไม่มีมนุษย์คนใด จะอยู่กับใครไปได้ชั่วนิรันดร์ เมื่อส่างหม่อง ถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน โดยไม่ได้ออกไปทำงาน ลดทอน ตำแหน่งหน้าที่ เพื่อจะได้ อยู่ด้วยกันทั้งวันคืน เขาก็พาลสิ้นอดทน สิ้นรัก ที่ว่าชั่วดินชั่วฟ้า เพลงหวานกลายเป้นเพลงขมที่บาสดจิตบาดใจ จนเมื่อนายห้างพะโป้เสนอทางออกในนามของความตาย ส่างหม่องก็เห็นเป็นดีไปเสีย น่าเศร้าที่ความตายไม่ได้ได้มาโดยง่าย และทำร้าย ชั่วฟ้า ดินสลาย จนสิ้นสูญ




โศกนาฏกรรมของส่างหม่องกับยุพดี จะว่าไปออกจะแปลกธรรมเนียมเก่าอยู่ไม่น้อย เริ่มจากที่ ยุพดี หญิงผู้มีสามีอยู่แล้ว ยั่วยวนส่างหม่อง จนทั้งคู่ ซึ่งเป็นตัวเอก ไปเสวยสุขลับหลัง นายห้าง(โดยที่คนดู มีหน้าที่เพียงบุคคลที่สามที่สี่จับตาดูการกระทำโดยไม่เห็นอกเห็นใจ หรือถ้าจะมีก็ไปทางสมน้ำหน้า ) จนเมื่อทั้งคู่ต้องรับกรรมที่ก่อไว้จริงๆ คนดูก็เริ่มกลับสงสารในโชคชะตาของคนทั้งคู่ จนพาลเศร้าใจในช่วงท้าย แม้หนังจะเล่าเรื่องสุดแสน CLICHÉ เกี่ยวกับการเล่นชู้ แต่การเล่นกับประเด็น ชั่วฟ้าดินสลาย อันไม่จีรัง ทำให้หนังมองประเด็นนี้ลึกซึ้งกว่าเรื่องศีลธรรมฉาบฉวย จนเป็นที่น่าสงสัยว่า หากหนังเรื่องนี้ออกฉายในปีนี้ ซึ่งเต็มไปด้วย มนุษย์ ศีลธรรมจัด (โดยมีข้อแม้ว่าเป็นหนังใหม่พลอตไม่ได้ยกมาจากบทประพันธ์คลาสสิค) หนังจะถูกบริบททางสังคมโจมตี หนักข้อขนาดไหน (ตลกดี ที่ผู้คนศีลธรรมจัดดังกล่าว มักยึดโยงกับความดีงามเชิงถวิลหาอดีต ราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ ต่อให้สิ่งนั้นขัดกับหลักการของเจ้าตัวก็ตาม ซึ่งนั้นทำให้เป็นเรื่องยั่วล้อชวนขันได้เสมอๆ และทำให้ตระหนักได้ว่าเส้นศีลธรรม ไม่ได้ถ่างออกหรือแคบเข้า มีแต่มีแต่ทรรศนะของเจ้าตัวเท่านั้นที่เป็นปัญหา)




ชั่วฟ้าดินสลาย อาจไม่ใช่หนังที่วิเศษ ในแง่ของภาพยนตร์ อีกทั้งยังมีรูปแบบอันเชยล้าสมัย ชนะ ศรอุบล นักแสดงนำ จาก โรงแรมนรก ยังคงเล่นหนังแบบทื่อๆตรงๆ (ว่ากันว่านี่คือหนังที่เจ้าตัวชอบมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ) ส่วนงามตา ศุภพงษ์ ผู้รับบทยุพดี ก้อาจไม่สวยสะเท่าสาวสมัยใหม่ (แสดงให้เห็นว่าความสวยเป็นเรื่องของยุคสมัยแล วัฒนธรรม) แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นี่ก็เป็นหนังไทยที่น่าจดจำ โดยเฉพาะในแง่มุมของการวิพากษ์ความรักหนุ่มสาว ที่ยังคงสดใหม่แม้จะผ่านเวลาไปนานสักแค่ไหน และประสปการณ์การชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นประสปการณ์การดูหนังที่ดีที่สุดอีกครั้งในรอบปี


http://filmsick.exteen.com/20070621/entry

ชั่วฟ้าดินสลาย-นรีกระจ่าง คันธมาส.wmv
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ชั่วฟ้าดินสลาย :
 
โศกนาฏกรรมแห่งตัณหาโซ่ตรวนจากความรัก
 
พันธนาการชีวิตให้ขมขื่นไปตลอดกาล
 
 
เรียกเสียงฮือฮาทันทีตั้งแต่แรกเห็นหนังตัวอย่างกับสองบั้นท้ายเฌอมาลย์,อนันดาที่ปลุกเร้าสร้างกระแสโหมโรงก่อนหนังฉาย หลายคนต่างคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรๆที่มันมากกว่าตัวอย่างในหนัง หลังจากไปดูมาแล้วต้องบอกว่านอกจากภาพเปลือยกายที่ได้เห็นซึ่งเป็นแค่เปลือกที่ห่อหุ้มไว้สำหรับล่อตาต่อใจให้คนสนใจเข้าไปดูเท่านั้น แต่แก่นที่แท้จริงหนังต้องการกะเทาะให้เห็นถึงเนื้อในของคนทั้งสองซึ่งเต็มไปด้วยกิเลสตัณหาราคะจนนำพาชีวิตไปสู่โศกนาฏกรรมสุดแสนขมขื่นไปตลอดกาล มันเป็นการกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรีอาจารย์ด้านการแสดงของวงการ 13 ปี หลังจากอันดากับฟ้าใส หม่อมหลวง พันธุ์เทวนพ เทวกุล (หม่อมน้อย) กลับมาปลุกโศกนาฏกรรมสุดคลาสิกจากวรรณกรรมอมตะของ “เรียมเอง” หรือ “มาลัย ชูพินิจ” ให้มาโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มอีกครั้งใน “ชั่วฟ้าดินสลาย”



 
หนังเรื่องนี้เป็นการนำกลับมาสร้างใหม่เป็นครั้งที่ 4 สำหรับเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ที่ได้ 6 นักแสดงมากฝีมือมาร่วมกันถ่ายทอดวรรณกรรมอันทรงคุณค่าชิ้นนี้ ธีรพงศ์ เหลี่ยวรักวงศ์ (พะโป้) อนันดา เอเวอริ่งแฮม (ส่างหม่อง) เฌอมาลย์ บุญศักดิ์ (ยุพดี) ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ (ทิพย์) ดารณีนุช โพธิปิติ (มะขิ่น) เพ็ญเพชร เพ็ญกุล (นิพนธ์)

โดยเริ่มเรื่องที่นิพนธ์ได้รับคำเชิญชวนจากพะโป้เพื่อนสนิทของพ่อให้เข้าไปล่าสัตว์ยังค่ายพักเขาท่ากระดาน โดยมีทิพย์คนสนิทของพะโป้คอยให้การดูแล ในค่ำคืนนั้นนิพนธ์ได้ยินเสียงร้องอันโหยหวนด้วยความสงสัยจึงถามถึงที่มาของเสียงนั้นกับทิพย์ จากนั้นหนังก็พาคนดูย้อนกลับไปสู่เรื่องราวในอดีตอันเป็นต้นเหตุของเสียงผ่านการสนทนาของคนทั้งสอง



หนังเล่าย้อนกลับไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พะโป้ คหบดีมหาเศรษฐีม่ายเจ้าของกิจการป่าไม้ที่ได้มาพบกับ ยุพดี ม่ายสาวพราวเสน่ห์มาดมั่นรักอิสระอันเป็นที่ต้องตาต้องใจทันทีที่พบเห็น ด้วยความที่เธอเป็นเลขาของชาวต่างชาติ รักการอ่านหนังสือ ชอบชีวิตอิสระมีความคิดแตกต่างจากสตรีในสมัยนั้น เธอตอบรับทันทีที่พะโป้ขอแต่งงานและย้ายไปอยู่กับพะโป้ในอาณาจักรแห่งเขาท่ากระดาน

ณ. ที่นี้เองยุพดีได้พบกับส่างหม่องหลานชายสุดที่รักของพะโป้ที่เพิ่งจบการศึกษาจากพม่า ทั้งสองต่างต้องตาต้องใจกันทันทีที่พบเห็น กิเลสตัณหาค่อยๆเข้ามาครอบงำจิตใจคนทั้งสองจนกระทั่งได้ลักลอบเป็นชู้กัน เมื่อเรื่องรู้ถึงพะโป้จากคำบอกกล่าวของมะขิ่นแม่บ้านผู้ซื่อสัตย์ ยุพดีและส่างหม่องถูกลงโทษด้วยการจองจำตรึงโซ่ตรวนบนแขนแต่ละข้างของทั้งสองคนโดยไม่สามารถจะตัดหรือไขโซ่ให้ออกจากกันได้ ในช่วงแรกทั้งยุพดีและส่างหม่องต่างเริงร่าสนุกสนานกับการมีชีวิตคู่ที่ไม่ต้องหลบๆซ่อนๆ จากโซ่ตรวนแห่งความรักกลับกลายเป็นพันธนาการแห่งความทุกข์ที่ขมขื่นไปชั่วชีวิต มีเพียงความตายจากหนึ่งชีวิตเท่านั้นที่จะปลดพันธนาการนี้ได้
 

 
หนังโดดเด่นมากๆในงานด้านการแสดง นักแสดงทั้ง 6 ไม่ใช่เพียงแค่แสดงผ่านคำพูดกริยาท่าทางที่ปรากฏให้เห็นแต่ภายนอกเท่านั้น พวกเขายังแสดงลึกเข้าไปถึงจิตใจผ่านแววตาที่แต่ละคนต่างถ่ายทอดออกมาตามความรู้สึกของตัวละครได้อย่างดีเยี่ยม

เฌอมาลย์แววตาที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอันแรงกล้าของยุพดีซึ่งต้องการจะครอบครองพะโป้ในช่วงแรก, ส่างหม่องในช่วงกลาง และแววตาอันหวาดวิตกกลับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของส่างหม่องในช่วงท้าย

อนันดาจากแววตาอันใสซื่อบริสุทธิ์ไ์ม่เคยสัมผัสสาวใดของส่างหม่อง เปลี่ยนเป็นแววตาที่แข็งกร้าวเมื่อไม่สามารถอดทนกับชีวิตผูกติดด้วยโซ่ตรวนที่ ไม่สามารถปลดมันออกไปได้

ธีรพงศ์แววตาพะโป้เฝ้าดูพฤติกรรมของยุพดีและส่างหม่องที่ค่อยๆพัฒนาขึ้นจนเป็นความรัก แววตาที่สงสัยและไม่มั่นใจว่าหลานชายที่ตัวเองรักเหมือนลูกจะทำกับเขาได้มากเพียงนี้

ศักราช(ทิพย์)แววตาที่เป็นห่วงส่างหม่องคอยเตือนถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่มีต่อยุพดี และแววตาความไม่สบายใจกับการกระทำของพะโป้ที่มีต่อหลานชายและภรรยาอันเป็นที่รัก

ดารณีนุช(มะขิ่น)เป็นตัวละครที่มีบทพูดน้อยที่สุด เธอใช้แววตาบอกความรู้สึกไม่พอใจตั้งแต่แรกเห็นยุพดีและสายตาบ่งบอกความรักและซื่อสัตย์ที่มีต่อพะโป้


 
ทั้งหมดนั้นถ้าไม่ได้ผู้กำกับระดับอาจารย์ด้านการแสดงอย่างหม่อมน้อยเชื่อเหลือเกินว่า ผมคงไม่รู้สึกอะไรได้มากมายขนาดนี้ และเชื่อว่าหนังเรื่องนี้คงถูกเสนอชื่อในทุกเวทีการประกวดปลายปีนี้อย่างแน่นอน พลอย:เฌอมาลย์ บุญศักดิ์และธีรพงศ์ เหลี่ยวรักวงศ์ คงคว้ารางวัลนักแสดงนำและนักแสดงสมทบจากเรื่องนี้ได้ไม่ยากนัก (ปีนี้น่าจะเป็นปีของพลอยทั้งหนังและละคร)

หนังไม่ได้โดดเด่นแต่เฉพาะงานด้านการแสดงเท่านั้นในส่วนของโปรดักชั่นส์ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ตั้งแต่การถ่ายภาพ การจัดแสง เสื้อผ้าหน้าผมคอสตูมดีไซน์ ดนตรีประกอบล้วนแล้วแต่บรรจงสรรสร้างออกมาได้อย่างงดงาม หนังยังใช้ภาพเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารบอกสถานะอารมณ์ของตัวละครในหลายฉาก



เช่นปากสีแดงของยุพดีที่แดงจัดตลอดทั้งเรื่องมันแสดงให้เห็นถึงความร้อนแรงในตัวเธอได้เป็นอย่างดี
 
การเ็ด็ดดอกกล้วยไม้ขาวของส่างหม่องเพื่อนำไปมอบให้กับยุพดีทั้งที่ในวัยเด็กพะโป้สอนเสมอว่าความงาม

ของดอกไม้ควรทะนุถนอมมันไว้ให้อยู่คู่กับป่า ฉากนี้ถือว่าจุดเริ่มที่สื่อว่ากิเลสตันหาได้เข้าครอบงำจิตใจส่างหม่อง เขาเริ่มทำสิ่งไม่ถูกต้องเพื่อยุพดี

หรือฉากการเล่นหมากรุกระหว่างพะโป้กับทิพย์ที่ส่างหม่องและยุพดีเข้ามาขอความเมตตาเพื่อปลดโซนตรวน แต่ได้รับการปฏิเสธพร้อมกับการรุกฆาตของพะโป้บนกระดานหมากรุก การรุกฆาตมันเหมือนการฆาตชีวิตของส่างหม่องและยุพดีไปพร้อมกัน ยังมีภาพหรือสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายแทนคำพูดอยู่อีกหลายๆฉาก มันทำให้หนังดูมีความลึกสนุกในการค้นหาสิ่งที่ผู้กำกับแอบซ่อนอยู่



หนังเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องสุดท้ายในบทบาทผู้กำกับภาพยนตร์ของหม่อมน้อยจึงทุ่มเทกำกับมันอย่างเต็มที่ หนังน่าจะโดนใจคนดูที่เป็นผู้ใหญ่มากกว่าวัยรุ่นประเภท กวนมึนโฮหรือสิ่งเล็กๆ เพราะหนังดำเนินเรื่องไปอย่างช้าๆไม่เร่งเร้าหรือบีบอารมณ์ให้เศร้ารันทดไปกับตัวละครมากนัก หนังเผยให้เห็นปูมหลังของตัวละครแต่ละตัวไปพร้อมกับพัฒนาการความรักของส่างหม่องกับยุพดีอย่างค่อยเป็นค่อยไป
 
ยุพดีเป็นตัวแทนหญิงสาวหัวก้าวหน้าเป็นตัวของตัวเอง กล้าที่จะทำอะไรนอกกรอบขนบประเพณีหรือแม้แต่ศีลธรรม ด้วยความเป็นเด็กกำพร้าที่ขาดความอบอุ่นเติบโตมาด้วยตัวของตัวเอง ซ้ำร้ายยังมาประสบปัญหาชีวิตคู่ที่เธอถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงจากสามีคนแรก กลายเป็นสิ่งบ่มเพาะให้ยุพดีเป็นสาวที่มากด้วยกิเลสตัณหา
ส่างหม่องตัวแทนของเด็กหนุ่มผู้ใสซื่อบริสุทธิ์อ่อนต่อโลกเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตผ่านตัวหนังสือ เมื่อยุพดีหยิบยื่นหนังสือบทกวีของคาริน ยิบรานให้อ่าน มันเป็นประสบการณ์ความคิดแปลกใหม่ที่ไร้กรอบกฎเกณฑ์อิสระไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ทำให้เขาค่อยๆเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามหนังสือที่อ่านโดยมียุพดีเป็นผู้นำทางความคิด

พะโป้ตัวแทนของคนมากล้นด้วยกิเลสตัณหาราคะ กระหายในอำนาจเชื่อว่าตนเองอยู่เหนือคนอื่นสามารถกำหนดชะตาชีวิตผู้เป็นบริวารได้ทุกคน ชีวิตที่โดดเดี่ยวเดียวดายหลังการจากไปของภรรยา เขาพยายามควานหารักใหม่เพื่อมาเติมเต็มชีวิตแต่ก็ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง



มีอะไรอีกหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ในหนังเรื่องนี้แล้วแต่ใครจะสามารถค้นหาพบเจอนำมันกลับไปปรับใช้ในชีวิต ถ้าสังเกตให้ดีทุกครั้งที่โซ่ตรวนจากความรักถูกเหนี่ยวรั้งให้ตึงไม่มีคนหนึ่งคนใดจะยอมโอนอ่อนผ่อนตามเพื่อให้มันหย่อนลงทั้งคู่ก็จะได้รับความเจ็บปวด มันดูไม่ต่างจากการมีชีวิตคู่ซึ่งมีสายใยจากความรักที่ยึดโยงคนสองคนเข้าไว้ด้วยกัน ถ้าไม่รู้จักประคับประคองโอนอ่อนผ่อนตามระวังไม่ให้สายใยเส้นนี้ตึงจนเกินไป ควรรำลึกไว้เสมอว่าสายใยเส้นนี้มันเปราะบางและพร้อมที่จะขาดออกจากกันทุกเมื่อ เพราะมันไม่ใช่โซ่ตรวนที่สามารถผูกพันธนาการชีวิตไปตลอดกาลจวบจน “ชั่วฟ้าดินสลาย”
 
 
--------------------
กาง-แปรง
19/09/2010
grang-prang@hotmail.com

 

http://www.oknation.net/blog/GRANG-PRANG/2010/09/19/entry-1


MV เพลง ชั่วฟ้าดินสลาย
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

โศกนาฏกรรมรักชั้นเยี่ยม ที่ตราตรึงทุกหัวใจตราบ ชั่วฟ้าดินสลาย



แค่ปล่อยตัวอย่างแรกออกมาก็เรียกเสียงฮืฮฮากันทั่วบ้านทั่วเมือง สำหรับภาพยนตร์ พีเรียด-ดราม่า “ชั่วฟ้าดินสลาย” ผลงงานการกำกับของผู้กำกับชั้นครู “หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล” หรือที่รู้จักกันดีกับ “หม่อมน้อย” และเมื่อได้พระเอกเบอร์หนึ่งของเมืองไทยอย่าง “อนันดา เอเวอริงแฮม” มาประกบคู่กับ “พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์” ก็ยิ่งตอกย้ำให้ภาพนตร์เรื่องนี้ กลายเป็นหนังรักยิ่งควรค่าแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง
 
“ชั่วฟ้าดินสลาย” เป็นวรรณกรรมคลาสสิคของ “เรียมเอง” (ครูมาลัย ชูพินิจ) ซึ่งแต่งขึ้นในยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2486) ซึ่งนับว่าเป็นเวลาล่วงเลยมากว่า 67 ปี แต่วรรณกรรมชิ้นเอกชิ้นนี้ ก็ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ขึ้นหลายครั้งหลายครา ซึ่งแต่ละครั้งก็ล้วนตราตรึงหัวใจผู้ชมไว้ตราบชั่วฟ้าดินสลาย และการกลับมาเป็นครั้งที่ 4 โดยการรีเมคใหม่ของ  “หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล” ก็เรียกว่าเป็นผู้กำกับที่เหมาะสมที่สุดแล้วที่จะนำวรรณกรรมเรื่องสั้น เรื่องนี้กลับคืนสู่ความทรงจำของคนไทยอีกครั้ง ด้วยการรังสรรค์ทุกอย่างได้อย่างละเมียดละไม ยิ่งทั้งยังคงความเป็นเอกลักษณ์แบบเดิมของต้นฉบับเอาไว้ อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทำให้ภาพยนตร์ชิ้นนี้ เป็นงานมาสเตอร์พีช ชิ้นเยี่ยมที่สุดของหม่อมน้อย


ถ้าจะเอ่ยถึงผู้กำกับชั้นครูท่านนี้ ในวงการบันเทิง หลายคนคงจะรู้จักกันดี ว่า “หม่อมน้อย” ท่านเป็นครูในด้านศิลปะการแสดงเบอร์หนึ่งของเมืองไทย ที่เปิดเนตรให้กับนักแสดงไทยทั้งใหม่และเก่าอย่างนับไม่ถ้วน ส่วนในด้านผลงานการกำกับภาพยนตร์ “หม่อมน้อยได้เคยกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกภายใต้การดูแลของค่ายสหมงคลฟิล์ม กับภาพยนตร์เรื่อง “เพลิงพิศวาส” (พ.ศ. 2527) โดยได้นักแสดงตัวแม่อย่าง “สินใจ เปล่งพานิช” แสดงนำ ผลงานชิ้นนี้กลายเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วใน 27 ปีที่แล้ว จากนั้นมา “หม่อมน้อย” ก็ได้ละเมียดผลงานภาพยนตร์ไว้หลายเรื่อง อาทิ “ช่างมันฉันไม่แคร์ (พ.ศ. 2529),ฉันผู้ชายนะยะ (พ.ศ.2530),นางนวล (2530),เผื่อใจให้กันสักหน่อย (พ.ศ. 2532),ความรักไม่มีชื่อ (พ.ศ.2533),มหัศจรรย์แห่งรัก (พ.ศ.2538) และอันดากับฟ้าใส (พ.ศ.2540)

ละใน พ.ศ. นี้ “หม่อมน้อย” ได้หยิบเอา “ชั่วฟ้าดินสลาย” กลับมาทำอีกครั้ง โดนได้คัดสรรเอานักแสดงเบอร์ต้นๆของเมืองไทย มาเล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมรักชั้นเยี่ยม ตราตรึงทุกหัวใจตราบ “ชั่วฟ้าดินสลาย”


“ชั่วฟ้าดินสลาย” เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมรักที่เกิดขึ้นระหว่าง ชายวัยกลางคนในฐานะอา“พะโป้” (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) กับหลานชายรุ่นลูก “ส่างหม่อง” (อนันดา เอเวอริงแฮม) อาหลานคู่นี้ดูจะต่างกันทั้งอายุ อุดมคติ และการใช้ชีวิต แต่มีสิ่งหนึ่งที่ดูจะเหมือนกันคือความรัก… โดยมีหญิงสาวผู้เลอโฉมจากพระนครเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ที่มาพร้อมกับความทันสมัย ทำให้ม่ายสาวอย่าง “ยุพดี” (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) เกิดต้องตาต้องใจ พ่อม่ายคราวพ่อ อย่าง “พะโป้” ทั้งคู่ตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่กันในอาณาจักรปางไม้ที่ใหญ่โตของพะโป้ ที่ๆเต็มไปด้วยธรรมชาติและความสะดวกสบาย ด้วยข้าทาสบริวารมากมาย และการมาครั้งนี้ของ “ยุพดี” ในฐานะแม่หญิงของปางไม้แห่งนี้ เธอก็ต้องได้รับอีกตำแหน่งหนึ่ง ในบทบาทอาสะใภ้ของหลานชายรุ่นราวคราวเดียวกับเธอ “ส่างหมอง” และนี่คือจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมรักครั้งนี้


เรื่องราวถูกเปิดเรื่องด้วยการมาเยือนของสหายต่างแดน “นิพนธ์” (เพ็ญเพชร เพ็ญกุล) ที่ร่อนเร่มาไกลกว่าจะถึงปางไม้แห่งนี้ โดยขอเอ่ยถึงคุณ “แจ๊บ เพ็ญเพชร เพ็ญกุล” อดีตพระเอกชื่อดัง ที่หายหน้าหายตาไปจากจอเงินมานานหลายสิบปี และการกลับมารับบท  “นิพนธ์ ” ชายหนุ่มวัยสามสิบกว่า ที่ดูสุขุมลุ่มลึก ก็นับว่าเป็นการวางตัวที่เหมาะชมที่สุดกับการที่เลือก “คุณแจ๊บ” มารับบทนี้ ที่จะมาเป็นผู้เล่าเรื่อง โดยมี ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ ในบท “ทิพย์” หัวหน้าคนงานคู่ใจของ “พะโป้” เป็นผู้เล่าและรับรู้เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดในปางไม้แห่งนี้


ชายหญิงรุ่นราวคราวเดียวกัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดการใกล้ชิดสนิทสนมกัน แต่ทว่าความใกล้ชิดนั้นมีเส้นแบ่งของความซื่อสัตย์ ที่ทั้งคู่จะมีต่อ สามีอันเป็นที่รัก และอาอันเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ก็คงไม่มีเรื่องราวความสูญเสียที่มิอาจลืมเลือนได้ตราบชั่วฟ้าดินสลาย

โดยตัวละครทั้ง “ยุพดี ” และ “ส่างหม่อง” ต่างมีความรัก ความโลภความโกธร ความหลง ตัญหาราคะ อยู่ในตัวเองอยู่แล้ว แต่มันจะผุดขึ้นมาเมื่อใดก็เท่านั้น การดำเนินเรื่องในช่วงต้นได้ดำเนินเรื่องราวโดยการเล่าผ่านสองตัวละคร  ได้อย่างบรรจงและลงตัว ทุกอย่างถูกตัดผ่านเรื่องราวในอดีต มาถึงปัจจุบันได้อย่างประณีตละเมียดละไม เรียกว่าถ้าคะแนนในเรื่องการตัดต่อ ถือว่าได้รับไปแบบ 10 เต็ม 10 เลยทีเดียว
 
และที่ไม่พูดถึงไม่ได้กับฉากเลิฟซีน ที่เรียกว่าเล่นเหมือนจริง ถอดกันจริงๆ เห็นกันจะๆ แต่กลับไม่ได้ดูโป๊เปลือยจนเกินไป แต่กลับเป็นงานศิลปะที่ “หม่อมน้อย” รังสรรค์มาได้อย่างละเอียดละออ ไม่ทำให้รู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จงใจที่จะสื่อไปในแนวทางแบบนั้น ความสัมพันธ์ของชายหนุ่มกับหญิงสาวได้เริ่มต้นขึ้นอย่างสวยงาม แต่จบลงด้วยสิ่งที่ทำให้ความสวยงามกลายเป็นความน่ารังเกียจ  ด้วยพันธะที่ “พะโป้”  มอบเป็นของขวัญ กับ “โซ่ตรวน” ที่จะผูกเขาและเธอตราบชั่วฟ้าดินสลาย

ความรักที่ถูกผูกกันอย่างใกล้ชิด แรกๆก็หอมหวาน แต่นานไปความหอมหวานก็กลายเป็นความขื่นขม เพราะแท้จริงแล้วธรรมชาติของมนุษย์ก็คือเกิดมาคนเดียวและตายคนเดียว มนุษย์ต้องการความเป็นอิสระ  การที่ถูกผูกตัดด้วยโซ่จึงถือเป็นบทลงโทษที่แสนจะหนักหนา เปรียบดังเช่นเหมือนตายทั้งเป็น นี่แหละคือเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้  ที่สะท้อนแง่คิดในมุมมองความรัก ที่เกิดขึ้นอดีตและปัจจุบัน
 
การเอาตัวละครชั้นดีชั้นเอกมาปะทะฝีมือกัน กับ 3 ตัวละครนำ “ยุพดี ” (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์)  “ส่างหม่อง” (อนันดา เอเวอริงแฮม) และ  “พะโป้” (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) ตัวละครเอกทั้ง 3 ได้บรรจงฝีมือได้อย่างดีเยี่ยม ขอพูดถึง ตัวละครแรก “ยุพดี ” เธอเป็นเหมือนหญิงแพศยา แต่อีกหนึ่งมุมกลับรู้สึกสงสารและเห็นใน “ยุพดี ” ไปในคราเดียวกัน ส่วน “ส่างหม่อง” ชายหนุ่มที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ แลความดี และในส่วนลึกๆเขาก็คือคนธรรมดาทั่วไป ที่มีทั้งความความดีความชั่วปะปนอยู่ และตัวละครตัวที่สาม “พะโป้” โดยได้คุณ บี๋-ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์ ช่างภาพเบอร์หนึ่งมารับบทนี้ เรียกว่าคุณบี๋แสดงได้อย่างดีเยี่ยมมาก การคัดสรรค์ตัวละครทุกตัวเรียกว่าเป็นการเลือกสรรค์ที่ดีที่สุด ลงตัวและเหมาะสม

โดยรวมแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ควรค่าแก่การชมอย่างยิ่ง นอกจากเรื่องราวที่ซ่อนเร้นในปางไม้แห่งนี้ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ผู้มาเยือนถึงกับตราตรึงไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย รับไป 4.5 ดาว ดูแล้วมาคุยกัน

บทวิจารณ์โดย หนามเตย


http://movie.mthai.com/movie-review/77907.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
 :13: น่าดูจังครับเรื่องนี้ ผมชอบอนันดาแสดงนะ เค้าเก่งเน้อ ขอบคุณครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
รีวิวนี้ ถูกเผยแพร่ไปแล้วก่อนหน้า ทาง http://www.chicministry.com ลิงค์





ต้องถือว่ายาวนานเลยทีเดียว สำหรับการห่างหายไปจากจอเงิน ของผู้กำกับคนหนึ่งที่ยุคหนึ่งเคยได้ชื่อว่า มักทำให้ความรักเป็นสิ่งที่สวยงามได้เสมอ ..เขา ก็คือ หนึ่งในบุรุษที่คนในวงการบันเทิงไทยต่างเรียกขาลกันว่า ‘หม่อม’ เป็นคำนำหน้าอยู่เสมอ ...ก็เพราะเขา คือ “หม่อมหลวง พันธุ์เทวนพ เทวกุล” หรือที่ทุกคนคงรู้จักกันเป็นแน่ด้วยชื่อว่า “หม่อมน้อย”

หลังจากที่หลายปีได้พ้นไป เรามักจะเห็นผลงานของหม่อมน้อย ออกมาเป็น รูปแบบของละครเรื่องยาวไว้ฉายทางทีวี ดังเช่น “สี่แผ่นดิน” หรือ “ในฝัน” อยู่ล้วนๆ... คงทำให้ใครหลายคน เกิดหลงลืมไปแล้วว่าก่อนหน้านั้นนับเป็นสิบยี่สิบปี หม่อมน้อย ต้องถือว่าเป็นผู้กำกับหนังไทยอีกคนหนึ่งซึ่งมีผลงานเข้าตากรรมการ และคนดู อยู่เป็นเรื่องปกติ จนเมื่อมีผลงานออกฉายในคราใด ครานั้นย่อมต้องจุดกระแสสร้างความน่าสนใจอย่างเกรียวกราวได้เสมอ

ยิ่งได้อยู่ในช่วงเวลาที่หนังไทย เคยกล้าจะขายพลอตแรงๆ คละเคล้าความฉาวโฉ่ ด้วยกลิ่นคาวโลกีย์ อีกยังเลือกที่จะสะท้อนสังคมไทยในมุมมืดได้อย่างอาจหาญ (ประเภทที่ตอนจบ มักมีฉากการตายของคน เป็นเรื่องที่มีให้เห็นบ่อยๆ) ก็ย่อมต้องนับ หม่อมน้อย ให้เป็นหนึ่งในนั้น ที่ถือเป็นเบอร์ต้นๆ ของผู้กำกับที่ชอบจะหยิบยกเรื่องน้ำเน่า (ที่มีเค้าความจริง) มาตีแผ่ให้เห็นเป็นประจักษ์บนแผ่นฟิล์ม

แต่กระนั้น ในความน้ำเน่าของเรื่องราวใดๆ ก็ไม่เคยคิดคด หรือทำร้ายอะไรได้เลย กับส่วนของความรักที่มีในหนังของหม่อม ..ซึ่งล้วนแล้วแต่มีมุมมองของความสวยงาม คอยแฝงเร้นเอาไว้ ให้ได้รู้สึกอยู่เสมอ (เป็นประเภทที่ถึงจะตาย ก็ขอตายด้วยหัวใจที่เป็นสุขเพราะเคยมีความรัก)



แต่เมื่อวันเวลาผ่านพ้นไป ร่วมๆจะ 13 ปีได้ พร้อมกันกับเกิดการเปลี่ยนแปลงของวงการหนังไทยในทางที่ดี โดยเฉพาะกับการมี เรตติ้ง จำกัดอายุคนดูหนัง ให้เหมือนบ้านเมืองคนอื่นๆเขาบ้าง (แม้จะใช้การไม่ค่อยอะไรได้ในตอนนี้ ก็ให้คิดเสียว่า มันยังเป็นของใหม่!) ..เมื่อนั้น ก็ได้เวลาพอดีที่ หม่อมน้อย จะหวนคืนสู่การทำหนัง อย่างเต็มตัว พร้อมกันกับ การกำกับหนังเรื่องแรก ในรอบ 13 ปี ที่ได้ให้ชื่อว่าโปรเจกต์แต่ต้นยันวันฉายนี้ว่า “ชั่วฟ้าดินสลาย”

ชั่วฟ้าดินสลาย มีที่มาจากนวนิยายความรักอันเป็นโศกนาฏกรรม ที่ถูกประพันธ์ขึ้นโดยคนไทย คือ คุณ “มาลัย ชูพินิจ” (หรือในนามปากกา “เรียมเอง” สำหรับการประพันธ์เรื่องนี้) ซึ่งก็ได้มีที่มาอันทับซ้อนอีกทีหนึ่ง เป็นบทปรัชญาว่าด้วยเรื่องชีวิตมนุษย์ จากชาวต่างชาติอย่าง “The Prophet” ของ “Kahlil Gibran” ...นำเสนอเรื่องราวของ คนสามคน ที่มอบบทบาทให้ ผู้ชาย สองคน มีความข้องเกี่ยวกันในฐานะของ อา กับ หลาน ที่รักกลมเกลียวกันเป็นที่สุด ประหนึ่งพ่อลูก ..หากต้องมาพานพบปัญหากินแหนงแคลงใจสุดเจ็บปวด เพียงเพราะมี ผู้หญิง หนึ่งคน ถูกขอให้เดินเข้ามาเป็นหนึ่งในครอบครัวนี้





ชายคนแรกที่มีศักดิ์เป็นอา คือ “พะโป้” ผู้ที่มีสมญานาม ‘เสือผู้หญิง’ ด้วยฐานะที่ร่ำรวย มั่งคั่ง เป็นผู้มีอันจะกันที่พร้อมจะเก็บเกี่ยวความสุขได้ทุกอย่าง เพียงเพราะเงินซื้อได้

ชายคนที่สอง คือ “ส่างหม่อง” เป็นเด็กนอกจบใหม่หัวก้าวหน้า ที่กลับบ้านมาย่อมมีหวังจะได้รับมรดกทรัพย์ของพะโป้ แต่ก็บังอาจ เผลอพลั้งพลาด ไปเสียทีกับของที่ไม่ใช่มรดกสำหรับเขา

และของสิ่งนั้น ก็คือ ผู้หญิงที่ชื่อว่า “ยุพดี” สาวชาวกรุง ผู้รักจะเป็นอิสระ และมีจิตใจใฝ่หาแต่ ตัณหา ราคะ ที่ไม่รู้สำนึกว่า นี่คือสิ่งที่เลวร้ายสำหรับเธอ และทุกๆคนที่เป็นผู้ชายของเธอ





ชั่วฟ้าดินสลาย มาพร้อมกับพลอตเรื่องที่ชัดเจนแต่แรกเห็น ด้วยความเหมาะเหม็งที่จะกลายมาเป็นงานหนังครั้งแรกประเดิมของหม่อมน้อย เพื่อเป็นการต้อนรับตัวเองคืนสู่วงการนี้ ..ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เพราะมันมีฉากความรัก เป็นดังจุดขาย และไม่ได้มีเพียงความหวาบหวิว วางให้เป็นอาหารจานหลัก (ดังเช่นตัวอย่าง พยายามทำให้รู้สึก) แต่ ชั่วฟ้าดินสลาย ก็คือ หนังในแบบของหม่อมน้อย ตรงที่กล้าจะนำเสนอ เรื่องราวของมนุษย์ ที่ถูกทำให้เสียคน เพียงเพราะยอมปล่อยให้เรื่องราวทุกอย่างถลำลึก และนำพาจิตใจให้ต่ำช้า กลายไปเป็นดัง สัตว์เดรัจฉาน

พูดไปอย่างนั้น อาจจะว่าแรง! แต่ถ้าใครได้ดูหนังแล้วก็คงจะรู้ได้ว่า สิ่งที่ผมพูดไป มันไม่ผิดจากที่ว่าเอาไว้เลย! เพราะเมื่อถึงฉากสุดท้ายของตัวละครแต่ละตัว ..เขาเหล่านั้นก็จะไม่หลงเหลือความเป็นคน อีกต่อไป

แล้วถึงต่อให้ใจหนึง เราก็นึกสงสาร แต่ยังไงก็คงทำใจให้อภัยไม่ได้หรอก เพราะสิ่งที่ได้เห็นทั้งนี้ทั้งนั้น ตัว(ละคร)เองก็ทำร้ายตัวเองล้วนๆ

การที่ใครได้ดู ชั่วฟ้าดินสลาย แล้วลองกลับมานึกถึงตัวเองสำหรับคนดูอย่างเราๆ ก็เหมือนกับการได้นำเอาประโยควลีฮิตตลอดดาลอย่าง ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัวเอง มาปรับใช้ ..และครั้งนี้ ก็รู้สึกได้ถึงแรงกระแทกกระทั้นที่หนักพอสมควร กับการนึกภาพตัวเองเป็นดังตัวละครในหนัง ที่เผลอตัว และเผลอใจ ยอมจะให้อะไรๆเกินเลย เพียงเพื่อสุดท้ายจะต้องมาพบจุดจบที่เป็นโศกนาฎกรรมอันน่าหวาดกลัว ...ในจุดนี้ เอาแค่นึก ก็สยองแล้ว!





ในแง่ของการสร้างความรู้สึกชวนให้อึดอัด หดหู่ สิ้นหวัง คงต้องยอมรับว่า หม่อมน้อย ทำจุดนี้เอาไว้ได้ดี กับชั่วฟ้าดินสลาย เรื่องนี้.. เป็นการทำให้คนดู เห็นแล้วคงไม่อยากจะหลงผิดหลงพลาด เป็นอย่างคนที่เห็นอยู่ในหนัง

แต่เมื่อมามองในแง่ของการทำให้คนดูเคลิบเคลิ้มไปกับความเชื่อที่มีต่อความคิดและจิตใจของตัวละครแล้ว ต้องบอกว่า มีหลายห้วงที่หนังพาให้สะดุด เพราะมีสภาวะที่เราไม่อาจเข้าใจตัวละครได้ว่า ทำไมถึงเลือกทำอย่างนั้น ทำไมถึงเปลี่ยนไปเป็นคนอย่างนี้ และอยู่ดีๆ ทำไมถึงทำตัวได้น่ารำคาญ อย่างในฉากหนึ่งของ ยุพดี ที่อยู่ดีๆ ก็กลายมาเป็นคนขี้เอาแต่ใจ (จนกลายเป็นตัวตลกสำหรับคนดูไปซะงั้น ..หัวเราะกันครืนกับความง้องแง้งของเธอ)

ซึ่งในมุมนี้ ถ้าจะไปโทษว่าหนัง กำกับออกมาไม่ดี ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะในแง่ของการกำกับการแสดง ดาราชั้นดี แต่ละคนก็ถือเอาคาแรกเตอร์ของตัวเองที่เป็นได้อยู่กันทั้งนั้น และถ้าดูเอาความงดงามของการกำกับภาพในหนัง ก็ล้วนแล้วแต่สวยและสดอย่างจับต้องได้ ..โดยสองสิ่งนี้ ถือเป็นเรื่องปกติที่เห็นได้ในหนังของหม่อมอยู่แล้ว (อันนี้วัดจากการเคยดูละคร ส่วนหนังเหมือนจะยังไม่เคยมีโอกาสมาก่อน) อีกทั้งบทหนัง ก็คมด้วยการสนทนาที่ฝากประโยคเด็ดไว้ไม่น้อย รวมถึงการใส่ประเด็นสะท้อนสังคมที่น่าคิดเอาไว้อีกมาก (ถึงจะเล่าเรื่องย้อนอดีต ก็ยังมีมุมที่หยอกล้อกับสังคมปัจจุบันได้อยู่)



แต่ที่ให้รู้สึกว่า มันยังไม่เคลิ้มเป็นที่สุด อย่างที่น่าจะเป็นได้ ..มันได้เกิดมาจากความเห็น ที่เชื่อว่าปัญหาหลักๆ ของหนัง น่าจะมาจากการตัดต่อ แบบที่ไม่แม่นในจังหวะ (ดูว่ามีหลายช่วงที่เร่งรัดเกินไป) ...และยังเชื่อว่าน่าจะใช่เช่นนั้น ก็เพราะได้ข่าวจากวงในมาด้วยว่า เวอร์ชั่นที่ได้ดูในโรงนี้ เป็นฉบับ (เสี่ย) สั่งตัดเพื่อให้แชร์รอบฉายได้ต่อวันเยอะขึ้น หากยังไม่ใช่แบบที่ตรงตามใจทุกอย่างของ หม่อมน้อย

ก็อาจจะเป็นแค่ข่าว หรือไม่? อันนี้ ไม่ขอฟันธง ..แต่เห็นอย่างนี้ แล้วก็อยากจะดูฉบับผู้กำกับตัดต่อขึ้นมาเป็นที่สุด




http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=onceupon&month=10-2010&date=12&group=2&gblog=227
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...