วิหารที่ว่างเปล่า" : บทสำรวจวิกฤติแห่งจิตวิญญาณ
ของมนุษยชาติชิ้นล่าสุด ของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
1
พลันที่ผมอ่านจนถึงข้อความตอนสุดท้ายในหนังสือ "วิหารที่ว่างเปล่า" (สำนักพิมพ์สามัญชน, กันยายน 2544) ของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล หรือ "พี่เสก" ของผมจบลง ผมถึงกลับเปล่งคำอุทานออกมาในใจว่า หนังสือเล่มนี้หาใช่ "บันทึกการเดินทาง" ธรรมดาเหมือนดังรูปโฉมภายนอกที่ปรากฏออกมาไม่ แต่มันคือ บทสำรวจวิกฤติแห่งจิตวิญญาณของมนุษยชาติในยุคปัจจุบันสมัย ในลีลาของพี่เสกโดยแท้
พี่เสกได้เขียนขมวดในตอนจบของหนังสือเล่มนี้ว่า
""ผมคิดว่า นี่คือ ความน่าสะพรึงกลัวที่สุดของยุคสมัยปัจจุบัน และมันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากเกิดขึ้นทุกหนแห่งในโลกเนื่องเพราะ ผู้ได้เปรียบทางโครงสร้างรู้สึกหลุดพ้นจากมลทินทั้งปวง ...ขณะเดียวกัน บรรดาผู้เสียเปรียบทางโครงสร้างจำนวนมหาศาลต่างก็ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในความขาดแคลนหิวโหย ไร้โอกาสทุกอย่างในชีวิต รวมทั้งโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้มาปรับปรุงชีวิตของตน... อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าหากพวกเขาสูญสิ้นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีขึ้นมาบ้างเหมือนกัน?"" (หน้า 252-253, ตัวเน้นเป็นของผู้อ้าง)
ราวกับไม่บังเอิญเลย ที่ช่วงที่หนังสือเล่มนี้ออกวางตลาด เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตึกเวิลดเทรด เซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ก ถูกถล่มทลายโดยการถูกกลุ่มผู้ก่อการร้าย ขับเครื่องบินชนพินาศไปทั้งสองตึก... เหตุการณ์ช็อคโลกครั้งนี้ราวกับเป็น "คำตอบ" ต่อคำถามในตอนสุดท้าย ของหนังสือเล่มล่าของพี่เสกข้างต้น
นักปฏิวัติ หรือผู้ก่อการร้าย? คำสองคำนี้เริ่มมีเส้นขีดแบ่งที่รางเลือนพร่ามัว...
หากเป็นแค่เมื่อสามสิบปีก่อน ดูเหมือนว่า มันยังมีความชอบธรรมอยู่ ที่จะเป็นนักปฏิวัติ เพื่อโค่นล้มโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เป็นธรรมของผู้ได้เปรียบทางโครงสร้างกลุ่มหนึ่งในสังคม
โรแมนซ์ของนักปฏิวัติ ที่เห็น "ความตายราวกับความงามของชีวิต" (หน้า 209)
ความยากเข้าใจด้วยตรรกะเหตุผลของนักปฏิวัติ ที่พาตนเองไปสู่ความขัดแย้งแหลมคมทางความคิดกับเพื่อนมนุษย์ "กระทั่งยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพียงเพื่อให้โลกเปลี่ยนไปจากเดิม" (หน้า 225)
แต่อนิจจา ยุคสมัยแปรผันไป บัดนี้ ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ให้กับการดำรงอยู่ของ นักปฏิวัติตามความหมายที่แท้ ได้หยัดยืนอีกต่อไปแล้ว นักปฏิวัติในยุคก่อนกลับถูกแทนที่ด้วย ผู้ก่อการร้าย ที่ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อ ทำลาย โลกทุนนิยมที่เป็นอยู่ มิใช่เพื่อ เปลี่ยน โลกทุนนิยมที่เป็นอยู่
ความถดถอยในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองไปเป็นแค่ความคลั่งไคล้ทางความเชื่อเชิงศาสนา รวมทั้งความเสื่อมถอยจากนักปฏิวัติไปเป็นผู้ก่อการร้าย จึงเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็น ความเสื่อมทรุดทางจิตวิญญาณขั้นร้ายแรงยากเยียวยา ที่ดำรงอยู่ทั้งในโครงสร้าง ในระบบ และในจิตใจของมนุษย์สมัยนี้ ทั้งฝ่ายผู้ได้เปรียบทางโครงสร้าง และฝ่ายผู้เสียเปรียบทางโครงสร้างด้วยเช่นกัน
2
ผมอ่านหนังสือ "วิหารที่ว่างเปล่า" เล่มนี้ของพี่เสกด้วยจิตใจที่หดหู่มากกว่ารันทด ยังจำได้ว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนที่ผมได้อ่านข้อเขียนเรื่อง "พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในหัวใจ" ของพี่เสกที่เขียนลงใน ผู้จัดการรายสัปดาห์ ผมบังเกิดความรู้สึกปวดร้าวเจ็บแปลบยิ่งในหัวใจ ขนาดตัวผมที่เป็นผู้อ่านเองยังรู้สึกเจ็บปวดได้ขนาดนี้ แล้วตัวคนเขียนเล่า?
นั่นอาจเป็นเพราะในตอนนั้นตัวผมก็ยังมี "พื้นที่รกร้างว่างเปล่าในหัวใจ" ดำรงอยู่ด้วยเช่นกันกระมัง แต่ครั้งนี้ยามที่ผมได้อ่าน "วิหารที่ว่างเปล่า" ตัวผมกลับไม่ได้รู้สึกปวดร้าวเช่นนั้นแล้ว และก็คิดว่าตัวพี่เสกเองก็คงไม่ได้ปวดร้าวเท่าสมัยก่อนเช่นกัน
นั่นคงเป็นเพราะว่า บัดนี้ ในหัวใจของพี่เสกได้สถาปนา "วิหารในใจ" (หน้า 98) ขึ้นมาอีก บน พื้นที่ที่รกร้างว่างเปล่า นั้นแล้วกระมัง? ...วิหารในใจ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่สถิตของอุดมคติทางการเมืองและสังคม แต่บัดนี้ได้กลายเป็น วิหารในใจ ที่อัญเชิญก้อนหิน เกลียวคลื่น เวิ้งฟ้า เดือนดาวมาไว้ในวิหารแห่งตน และคงอัญเชิญ "ความว่างเปล่าอันลึกล้ำที่ไม่อาจมีรูปเคารพใด" (หน้า 98-99) มาเป็น "พระประธาน"
หัวใจของผม ก็เฉกเช่นเดียวกับพี่เสก เหตุหนึ่งที่ตัวผมมิได้ปวดร้าวลึกเช่นครั้งก่อนก็คงเพราะว่า ในก้นบึ้งแห่งหัวใจของผมได้เป็นที่สถิตของ "วิหาร" ที่มี "ความว่างเปล่าอันลึกล้ำ" นี้ เป็นองค์ประธานมาเนิ่นนานพอสมควรแล้ว
3
จิตใจมนุษย์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของเอกภพ เฉกเช่นเดียวกับก้อนหิน ดินทราย แมกไม้ กลุ่มเมฆ เกลียวคลื่น เดือนดาว มิหนำซ้ำยังเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของเอกภาพด้วย เนื่องเพราะ จิตใจมนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่เอกภพใช้รู้จักตนเอง และมีประสบการณ์เกี่ยวกับตนเอง
งานเขียนส่วนใหญ่ของพี่เสก แทบเป็นการตีแผ่ แต่ละแง่ แต่ละมุม แต่ละด้าน แต่ละส่วน และแต่ละเสี้ยว ของหัวใจ ของจิตใจที่เป็นอัตตาตัวตนของเขามาให้ผู้อื่นได้สัมผัสรับรู้กันได้ทั้งสิ้น พี่เสกมักเขียนหนังสือออกมาราวกับว่า เขาคิดอาศัย ความเจ็บปวดรันทด หดหู่ ชอกช้ำ โศกสลดที่บังเกิดในห้วงยามแห่งการแสวงหาคุณค่าความหมายของชีวิต และตำแหน่งแห่งที่ของตัวตนในเอกภาพเขานี้มาช่วยฟื้นฟู ความรัก ความเข้าใจ ความเห็นใจ ความสมานฉันท์ ความปรองดองในหมู่เพื่อนมนุษย์ นี่คือ ด้านแห่ง "กรุณา" ของ เสกสรรค์ ที่ตัวผมเข้าใจ
ขณะที่ในยามที่ตัวเขาปลีกวิเวก ถอนตัวจากผู้คน เร้นกายอยู่โดยลำพัง ""เริ่มต้นพูดคุยกับตนเอง และลงท้ายด้วยการจมหายไปในความเงียบที่สถิตอยู่เบื้องลึกสุดของจิตใจ ที่ในห้วงนั้นแม้บทเจรจาข้างในก็พร่าจางเลือนหาย"" (หน้า 39)
นี่คือ ด้านแห่ง "ปัญญา" ของเสกสรรค์ ที่ ตัวผมตระหนัก
หากเราเข้าใจและตระหนักสองด้านนี้ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ว่าทั้งสองด้านนี้มันเป็น ที่มา ของงานสร้างสรรค์ทั้งปวงของตัวเขาแล้ว เราจะรักคนๆ นั้น รักเขาอย่างที่ตัวเขาเป็น รักทั้งจุดอ่อนจุดแข็งในตัวเขา โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ เหมือนอย่างที่ตัวผมและคนกลุ่มหนึ่งในสังคมนี้ รักเขาและรักงานเขียนของเขา
.............................
หมายเหตุ ผมเขียนข้อเขียนชิ้นนี้ เพื่อ เฉลิมฉลอง ภาพยนตร์ "14 ตุลาคม สงครามประชาชน"
ที่เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิต เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในวัยหนุ่ม