แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

กุญแจเซน โดย ท่าน ติช นัท ฮัน

<< < (3/8) > >>

ฐิตา:



              พุทธศาสนา : ศาสนาแห่งการปฏิบัติ
คำว่า " พุทธศาสนา " มาจากคำกริยาในภาษาสันสกฤตที่ว่า " พุทธะ "
ซึ่งในคัมภีร์พระเวทอธิบายความหมายไว้ว่า " การรู้แจ้ง " " การตื่นแล้ว "
ผู้ซึ่งรู้แจ้ง ผู้ซึ่งตื่นแล้วย่อมเรียกได้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า ในภาษาจีน
ได้แปลคำว่า พระพุทธเจ้า นี้ว่า ผู้ซึ่งตื่นอยู่
ดังนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นศาสตร์แห่งการตื่นขึ้น เป็นศาสตร์แห่งการตรัสรู้

แต่พระพุทธองค์ได้ประกาศไว้แต่เริ่มแรกว่า การรู้แจ้งจะไปถึงได้ก็ต่อเมื่อได้
ปฏิบัติตนตาม " มรรค " มิใช่ด้วยการศึกษาเล่าเรียนหรือการขบคิด
การไถ่ถอนผลกรรมทั้งสิ้นนั้น พระพุทธศาสนาถือว่าเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอาศัยปัญญาญาณ
หาใช่ด้วยการรู้จักผิดรู้จักชอบ หรือรู้จักคุณความดีตามธรรมดาที่มีอยู่ไม่

การกำเนิดขึ้นของพุทธศาสนาในประเทศอินเดียนั้น อาจจะถือได้ว่าเป็นทัศนะอย่างใหม่
ซึ่งสัมพันธ์กับมนุษย์และชีวิต ทัศนะนี้ในเบื้องแรกแผ่ขยายไปในลักษณะของ
ปฏิกริยาต่อต้านแนวความคิดของลัทธิพราหมณ์ ซึ่งครอบงำสังคมอินเดียอยู่ในเวลานั้น



ดังนั้นพุทธศาสนาและระบบสังคม ซึ่งขัดแย้งกับแนวความคิดของพวกพราหมณ์
จึงเป็นธรรมชาติของการปฏิบัติอย่างชัดแจ้ง ก็สังคมอินเดียในครั้งกระนั้น
เป็นอย่างไรเล่า พวกพราหมณ์ในฐานะที่เป็นคุรุ เป็นปราชญ์และเป็นผู้ทรงความรู้
ได้มีอิทธิพลครอบงำสังคมอยู่ทั้งหมด คัมภีร์พระเวทพูดถึงการไถ่บาป
พูดถึงอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์และความสูงสุดของพระพรหม ตลอดจนพูดถึงอำนาจ
อันมหัศจรรย์ของการบูชายัญ เหล่านี้คือหลักพื้นฐานสามประการ อันไม่เปิดโอกาส
ให้ใคร ๆ แย้งได้ จากทัศนะความเชื่อทางศาสนาที่ว่า พระพรหม
พระวิษณุ ( นารายณ์ ) และพระศิวะ ( อิศวร ) เป็นจุดหมายปลายทางแห่งศาสนา

และจากทัศนะความเชื่อทางปรัชญาที่ว่า หลักการในคัมภีร์พระเวทและอุปนิษัทเป็น
หลักการพื้นฐานแห่งความคิดความอ่านในทางปรัชญาทั้งหมด ทั้งหลักสางขยะ โยคะ
อันมีอยู่ในปรัชญาทั้งหกแขนง * * ปรัชญาทั้งหกแขนงเรียกว่า
ษัฑทะ อันประกอบด้วยสางขยะ โยคะ นยายะ ไวเศษิกะ มีมางสา และเวทานตะ

ได้ถือกำเนิดขึ้นและพัฒนามาจากพื้นฐานอันเดียวกันนี้ พุทธศาสนาต่อต้านกับ
อำนาจของคัมภีร์พระเวทและความคิดอื่นที่ถือกำเนิดมาจากคัมภีร์พระเวท
ในด้านความเชื่อถือ พุทธศาสนาปฏิเสธเรื่องพระผู้เป็นเจ้าและการบูชายัญทุกชนิด
ในด้านสังคม พุทธศาสนาเป็นปฏิปักษ์กับระบบวรรณะ

โดยการยอมรับเอาวรรณะจัณฑาลให้เข้าอยู่ในวรรณะเดียวกันกับวรรณะกษัตริย์
( ในกาลเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงพบกับชายในวรรณะจัณฑาลซึ่งกำลังขนอุจจาระอยู่
 พระองค์ได้ทรงนำชายนั้นไปยังริมฝั่งแม่น้ำชำระล้างร่างกายให้ และยอมรับ
เข้าในหมู่สงฆ์สาวก พระองค์ทรงทำไปดังนี้โดยไม่ยอมฟังคำคัดค้านของผู้อื่น )
ในด้านหลักความคิด
พุทธศาสนาปฏิเสธหลักแห่งตัวตน ( อัตตา ) ซึ่งเป็นแก่นอันสำคัญยิ่งแห่งลัทธิพราหมณ์

ฐิตา:
 


จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงก้าวเดิน ทวนกระแส
ธารแห่ง ความคิด ในเวลานั้นอย่างไร
หากจะได้อ่านพรหมชาลสูตรแห่งทีฆนิกายในพระไตรปิฎก
จะเห็นได้ถึงความขัดแย้งของพระองค์ที่มีต่อ ความคิด ทางฝ่ายพราหมณ์
ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นปฐมฐานแห่งการปฏิวัติ

มากกว่าที่จะนับว่า เป็นการแสดงทัศนะทางศาสนาเท่านั้น
การปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ต่อลัทธิพราหมณ์ มิได้แสดงว่า
หลักความคิด ซึ่งมีอยู่ในพระเวทและอุปนิษัทจะผิดไปเสียทั้งหมด
หรือขัดแย้งกับความจริงเสียทั้งหมดก็หามิได้

การปฏิเสธหรือการคัดค้านนี้เป็นเพียงเสียงฟ้าผ่าที่มุ่งหวัง
จะให้เกิดการตระหนักขึ้น เพื่อ
จะได้มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม หลักปฏิบัติ และแนวความคิด
ซึ่งปิดล้อมมนุษย์ไว้ในหนทางอันปิดตัน หนทางอันคับแคบ

   

ด้วยเหตุที่ลัทธิพราหมณ์ ถือเอาหลักปรัชญาแบบที่ถือว่า
มีตัวตน ( อัตตา ) มาเป็นพื้นฐาน ของวิชาวิธานวิทยา* และภววิทยา**
พระพุทธเจ้าจึงทรงเผยแผ่หลักแห่งความไม่มีตัวตน ( อนัตตา )
และหลักนี้พระพุทธองค์ทรงหมายถึงอะไรเล่า คำตอบก็คือด้วย ตัวตน ที่เรา
มักพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นตัวตนอันต่ำ หรือตัวตนอันประเสริฐ ( อาตมัน )
สิ่งนั้นเป็นความคิดล้วน ๆ ซึ่งหาได้สัมพันธ์กับความเป็นจริงไม่

* วิธานวิทยา ( Methodology )  เป็นการศึกษาจำแนกแจกแจงเกี่ยวกับวิธีการ
และระบบที่ใช้ปฏิบัติอยู่ และที่ใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ
** ภววิทยา ( Ontology ) หลักปรัชญาหนึ่งในหกแขนงใหญ่ ศึกษาว่าด้วย
ภาวะของธรรมต่าง ๆ

การแห่งอัตตา ซึ่งถือว่าเป็นหลักการที่ผิดแต่ถ้าเรามาคิดกัน
ในแง่ของวิธานวิทยา เราก็จะเห็นได้ทันทีว่า
หลักการแห่ง อนัตตา เป็นหลักที่แท้ ซึ่งมุ่งหวังจะปลดปล่อย
ให้มนุษย์หลุดพ้นออกจากพันธนาการแห่งกฏเกณฑ์
ก่อนที่จะมาพิจารณาถึงเรื่อง สัตย์และอสัตย์ได้ จำเป็นที่จะต้อง
พิจารณาในเรื่องหลักความคิดและวิธีการเสียก่อน

นี่อาจอนุโลมได้ว่า หลักแห่งอนัตตา เกิดขึ้นมา
เพื่อที่จะปฏิเสธ  หลักแห่งอัตตา  ของพราหมณ์
มิใช่เป็นการค้นพบซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ ความคิด
ในสมัยนั้น เริ่มต้นขึ้นมาเป็นเพียงปฏิกิริยาธรรมดา ๆ แต่ต่อมา
ได้กลายมาเป็นจุดแห่งการก้าวล่วงไป
เพื่อการแสวงหา ปัญญาญาณ อย่างใหม่

ฐิตา:

อนัตตา
ในพุทธศาสนามีการใช้อุบายอันรุนแรงหลายอย่างเพื่อถอดถอนอุปนิสัยและอคติบางอย่าง
และคุณลักษณะเด่นเป็นพิเศษข้อนี้ในพระพุทธศาสนานั้นได้แสดงออกมา อย่างแจ้งชัดในเซน

พระพุทธเจ้าทรงใช้หลักอนัตตาเพื่อการถอดถอนและทำลายความหลงตลอดจน
อคติให้สิ้น แต่ต่อมาพระองค์ทรงใช้หลักการนี้ในการแผ่ขยายหลักแห่งการตรัสรู้
หรือนิพพาน อาจจะพูดได้ว่าหลักอนัตตานี้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพุทธศาสนา

ในพระสูตรต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนามักจะกล่าวถึงธรรมชาติเป็นอนัตตของ
ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไม่มีสิ่งใดเลยที่ครอบครอง " ตัวตน " ไว้ สพ.เพธม.มาอนต.ตา
( สรรพธรรมในราตมยะ ) * คำแรกในภาษาบาลี ในวงเล็บเป็นภาษาสันสกฤต
มีความหมายว่าธรรมทั้งหลายไม่มีตัวตน
( คำว่า ธรรม หมายถึง สิ่งทั้งปวงทั้งสิ้น วัตถุ สิ่งของ ชีวิต ทั้งที่มีรูปและ ไม่มีรูป )

หมายความว่าไม่มีอะไรที่ครอบครองตัวตนไว้ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อพูดไปดังนี้แล้ว
ย่อมเป็นการขัดแย้งกับหลักการที่ถือว่ามีตัวมีตนอันเป็นปฐมฐานแห่งตรรกวิทยา

ซึ่งถ้าถือตามหลักตรรกวิทยาแล้ว ก. จะต้องเป็น ก. ข. จะต้องเป็น ข.
ดังนั้น ก.จะมาเป็น ข. หาได้ไม่
แต่หลักอนัตตากลับกล่าวว่า ก. มิใช่ ก. ข. มิใช่ ข. ดังนั้นก. อาจเป็น ข. ได้
นี่เป็นหลักที่ทำให้ผู้คนตื่นตระหนก เป็นหลักการที่ท้าทาย และชวนให้ผู้คน
หันกลับมาพิจารณาตนเอง เพื่อที่จะได้เข้าใจหลักอนัตตาดีขึ้น จำเป็นจะต้อง
พิจารณากันถึงเรื่องอนิจจังกันเสียก่อน ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง ด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง
ย่อมมีลักษณะของ วิปริณาม ( การเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด )
ไม่มีสิ่งใดที่คงอยู่ในภาวะเดิมแม้ในช่วงขณะหนึ่ง

ด้วยสิ่งทั้งหลายย่อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้เอง จึงเป็นเหตุให้มัน
ไม่สามารถดำรงอัตสภาพของมันไว้ได้ แม้แต่ขณะเดียวกัน
เมื่อสิ่งทั้งหลายไม่สามารถดำรงอัตสภาพไว้ได้ ดังนี้ สิ่งทั้งหลายจึงไม่อาจ
มีตัวตน ปราศจากอัตสภาพที่สมบูรณ์ เมื่อปราศจากอัตสภาพ
ณ จุดหนึ่งแห่งกาลเวลา เมื่อช่วงเวลาผ่านไปขณะหนึ่ง ก. มิใช่ ก. อีกต่อไป



อนิจจังเป็นเพียงอีกชื่อหนึ่งหรือช่วงหนึ่งของอนัตตานั้นเอง ทุกสิ่งทุกอย่าง
ย่อมเป็นอนิจจังอยู่ในกาลและเป็นอนัตตาอยู่ในเทศะ ดังนี้ไม่เพียงแต่
เป็นอนิจจังและอนัตตาตามปรากฏการณ์ทางกายภาพเท่านั้น แม้ในปรากฏการณ์
ทางจิตก็เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากกายและจิต อันเราทุกผู้มีอยู่
อย่างไรก็ดี หลักอนิจจังและหลักอนัตตา หาใช่อะไรอื่นไม่นอกจากสัจจะที่ค้นพบจากความเป็นจริงที่เป็นอยู่ ด้วยเจตนาเพื่อจะได้พบกฏแห่งกรรม แต่ก็มีคนเป็นอันมากที่มิได้ทราบความจริงข้อนี้พากันพูดว่า อนัตตาและอนิจจังเป็นรากฐานของศีลธรรมในทางลบและเป็นไปในแง่ร้าย เขามักจะกล่าวว่า " หากแม้นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจังและอนัตตาแล้วไซร้ จะดิ้นรนขวนขวายไปครอบครองอะไรให้ยากลำบากทำไมเล่า " นี้นับว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิที่มีต่อสารัตถะแห่งพระพุทธศาสนา เราย่อมรู้กันอยู่ว่าพุทธศาสนานั้นมุ่งที่จะขจัดผลกรรมด้วยวิถีทางแห่งปัญญา จึงควรพิจารณาหลักการต่าง ๆ ในพุทธศาสนาโดยอนุโลมตามหลักแห่งความเข้าใจ และไม่ควรจะรีบร้อนไปสรุปในเรื่องกฏแห่งกรรม ดังนั้นหลักอนิจจังและอนัตตาจึงเป็นหลักที่ควรจะศึกษา ในฐานะที่เป็นหลักการอันจักชี้นำไปสู่สัมมาทัศนะ หรือสัมมาทิฏฐิเป็นข้อต้น

ฐิตา:




วัตถุธรรมกับสัญลักษณ์

หลักอนัตตาช่วยส่องแสงให้เห็นถึงช่องว่างอันกว้างใหญ่
ที่เปิดอยู่ระหว่างตัววัตถุ ( ธรรม ) กับตัวสัญลักษณ์ ( บัญญัติ )
 
ที่เราใช้อยู่ วัตถุเป็นสิ่งที่มีพลังและมีชีวิตชีวา ขณะที่สัญลักษณ์ที่เราใช้แทน
มันออกจะคับแคบและตายตัว
สมมติว่ามีโต๊ะอยู่ตัวหนึ่ง เมื่อเรามองเห็นโต๊ะ เราก็สร้างภาพพจน์และความคิดเกี่ยวกับโต๊ะขึ้นในใจ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นโต๊ะนั้นไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากสัญลักษณ์ที่เราคิดขึ้น ในขณะที่โต๊ะจริง ๆ นั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งผิดออกไปจากความคิดของเราโดยสิ้นเชิง เราก็มีความคิดอันกะพร่องกะแพร่งว่า โต๊ะนั้นมีลักษณะต่าง ๆ คือ ทำด้วยไม้ มีสีน้ำตาล แข็ง สูงสามฟุต เก่า ฯลฯ คิดอยู่แต่สิ่งเหล่านี้ แต่โต๊ะจริง ๆ นั้นหาได้กะพร่องกะแพร่งเช่นนี้ไม่ นักนิวเคลียร์ฟิสิกส์อาจบอกเราได้ว่า โต๊ะนั้นหาใช่ชิ้นวัตถุอันอยู่นิ่งตายตัวไม่

เพราะมันประกอบด้วยปรมาณูนับล้าน ๆ ตัว ซึ่งมีอีเล็กตรอนเคลื่อนที่วนเวียนคล้ายกับฝูงผึ้ง และหากเราสามารถนำปรมาณูเหล่านี้มาเรียงต่อกัน ก็จะได้สารที่มีขนาดเล็กกว่านิ้วมือเสียอีก โดยความเป็นจริง โต๊ะตัวนี้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งด้วยกาละและเทศะ มันต่อเนื่องเปลี่ยนแปลงไปจนเราอาจเรียกมันว่า " สิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะ "ปรมาณูเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งว่าหากเรานำเอา " สิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะ " ออกไปจากโต๊ะแล้ว ตัวโต๊ะเองก็จะไม่สามารถคงอยู่อีกต่อไป

ป่าไม้ ต้นไม้ เลื่อย ค้อน ช่างทำโต๊ะ ก็เป็นอีกอีกส่วนหนึ่งของ " สิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะ "นี้ และยังมีอย่างอื่นอีกซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ " สิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะ " นี้ ดังเช่น บิดามารดาของช่างทำโต๊ะ ข้าวที่เขากิน ช่างตีเหล็กซึ่งเป็นผู้ทำค้อน ฯลฯ ถ้าเรารู้จักมองดูโต๊ะ ด้านความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โต๊ะนี้ เราก็อาจจะกล่าวได้ว่าการดำรงอยู่ของโต๊ะย่อมขึ้นอยู่กับการคงอยู่ของ " สิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะ " ด้วย ซึ่งสิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะนี้คือความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อันมีอยู่ระหว่างทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล ความคิดแบบนี้ได้แสดงอยู่ในระบบอวตังสกะในพุทธศาสนา ด้วยความคิดเกี่ยวกับสหสัมพันธ์สมุฏฐาน คือ ความคิดที่ว่า หนึ่งเดียวก็คือสรรพสิ่ง และ สรรพสิ่งคือหนึ่งเดียว



ฐิตา:



หลักสหสัมพันธ์แห่งสรรพสิ่ง

หลักแห่งเหตุผลมีชื่อเรียกกันตามภาษาทางพุทธศาสนาว่า
หลักอิทัปปัจจยตา
ความเกิด ความเจริญ และความเสื่อมของสิ่งต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ อย่าง

มิใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียว การคงอยู่ของสิ่งสิ่งหนึ่ง ( ธรรมะ ) ย่อมต้องขึ้นอยู่
กับการคงอยู่ของทุก ๆสิ่ง พระอริยบุคคลผู้ตรัสรู้ชอบแล้ว
มิได้แลเห็นสิ่งต่าง ๆ แยกออกจากกันอยู่อย่างโดด ๆ แต่ได้แลเห็นความจริงทั้งหมด
ที่เปิดเผยออกอย่างสมบูรณ์

พระเซนชาวเวียดนามในสมัยศตวรรษที่ ๑๒ ชื่อท่านเด๋าฮัน ได้กล่าวไว้ว่า



" ถ้าจะพูดถึงเรื่องการดำรงอยู่
ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดำรงอยู่ แม้แต่ผงธุลีอันละเอียดยิบ
ถ้าจะพูดถึงเรื่องความว่าง
ทุกสิ่งทุกอย่างก็ว่าง แม้แต่ จักรวาลนี้ "

หลักอนัตตา มีจุดมุ่งหมายที่จะนำแสงสว่างมาส่องให้เห็นถึง " กระบวนการ
อิทัปปัจจยตา อันเป็นธรรมชาติแห่งสรรพสิ่ง " ในขณะเดียวกัน
หลักการอันนี้ยังช่วยเราให้เห็นข้อเท็จจริง

ของความคิดของเราที่มีต่อสรรพสิ่งอีกด้วย การจำแนกสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นฝักฝ่าย
เป็นหมวดหมู่ เช่น การดำรงอยู่ ( อัตถิภาวะ )
การไม่ดำรงอยู่ ( นัตถิภาวะ ) เอกภาพ( เอกัตตะ )สหภาพ ( นานัตตะ ) ฯลฯ

สัญลักษณ์เหล่านี้ไม่อาจสะท้อนความจริงได้อย่างตรงไปตรงมาและไม่ก่อให้เกิดการรับรู้
ที่ถูกต้องได้ หากแสดงให้เราเห็นถึงโลกแห่งความคิดกับโลก
แห่งความจริงว่าเป็นคนละโลกกัน
 
เตือนให้เรารู้ว่าความรู้อันเกิดจากการคิดไตร่ตรองนั้น มิใช่เครื่องมือที่จะ
ใช้ค้นหาสัจจะได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้หมายถึง คำพูดที่เราใช้กันอยู่ ย่อมไม่สามารถแสดงสัจจะ
อันเกี่ยวกับความเป็นจริงอันสูงสุดได้


มีต่อค่ะ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version