แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
กุญแจเซน โดย ท่าน ติช นัท ฮัน
ฐิตา:
นิ้วชี้กับดวงจันทร์
ความจริงนั้นจะสัมผัสได้ ก็ด้วยประสบการณ์จากชีวิตจริงเท่านั้น
หลักการในพระพุทธศาสนาจึงมิได้มีจุดมุ่งหมาย
ที่จะบรรยายให้เห็นถึงความจริง พุทธศาสนาจึงเป็นเพียงวิธีการ
เป็นเครื่องชี้นำให้ผู้ปฏิบัติได้เข้าถึงความจริงด้วยตนเอง
ใน มหาไวปุลยปูรณพุทธสูตร ปรากฏข้อความความว่า
" หลักการทุกประการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ อาจเปรียบได้กับ
" นิ้วอันชี้นำสู่ดวงจันทร์ "
เราใช้นิ้วเพื่อชี้ดวงจันทร์แต่เราจะต้องไม่เกิดความสับสนระหว่าง
นิ้วชี้กับดวงจันทร์ ด้วยนิ้วนั้นหาใช่ดวงจันทร์ไม่
คำว่า อุปายะ ( อุบาย ) ในภาษาสันสกฤต คือสิ่งที่ดัดแปลงขึ้น
โดยจุดมุ่งหมายที่จะเป็นแนวทางแก่บุคคล
เพื่อทำความเพียรไปสู่การรู้แจ้ง และถ้าถือเอาวิธีการนี้
มาเป็นตัวจุดมุ่งหมายเสียเองแล้วละก็
ย่อมเหมือนดั่งการถือเอาคำอธิบายเกี่ยวกับการตรัสรู้มาเป็นการตรัสรู้เสียเอง
ทำให้อุบายนั้นไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้ ในทางตรงกันข้าม
ก็จะกลับกลายเป็นเครื่องจองจำอันถาวรเสียอีก ในทันใดที่บุคคล
ไปคิดนึกเอาว่านิ้วมือคือดวงจันทร์เองแล้วไซร้ เขาย่อมไม่ปรารถนา
ที่จะมองต่อไปในทิศทางที่นิ้วได้ชี้ไปยังดวงจันทร์อีกเลย
" อุบาย " ในที่นี้ อาจจะเป็นคำพูดประโยคสั้น ๆ หรืออาจจะเป็น
อากัปกิริยาธรรมดาสามัญก็ได้ อาจารย์ใหญ่ ๆ นั้นมักมี
สิ่งที่เรียกว่า อุปายญาณ คือความสามารถที่จะจัดสรรวิธีการต่าง ๆ
มาใช้ให้เหมาะกับสภาพจิตแบบต่าง ๆ ในโอกาสที่ผิดแผกกันไป
การสนทนาระหว่างท่านเจาจูและนานจว๋าน คือตัวอย่างของอุบายเหล่านี้
" ต้นสนในสวน " และ " ดอกไม้ในอุ้งหัตถ์ของพระพุทธองค์ " ก็คืออุบายเหล่านี้
แต่วิธีการเหล่านี้จะเป็นอุบายที่แท้จริง ก็ต่อเมื่อมีความสอดคล้อง
เหมาะสมกับเหตุการณ์นั้น ๆ
จะต้องมีประสิทธิผลและต้องตอบสนองต่อปัจจัยแห่งอารมณ์ของผู้แสวงหา
หากว่าอาจารย์ไม่เข้าใจถึงสภาพจิตของศิษย์แล้ว
ท่านย่อมไม่สามารถสรรหา อุบายที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาได้
วิธีการแบบเดียวกันไม่อาจนำไปใช้กับทุกเหตุการณ์ ดังนั้นอาจารย์จึง
ต้องสรรหาวิธีการต่าง ๆ นานา แล้วแต่ว่าท่านมีความรู้ชัด
ในสภาวะจิตของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคนเพียงใด
ในพุทธศาสนากล่าวกันว่ามีวิธีเข้าสู่ความจริงถึง ๘๔,ooo วิธี
และพุทธศาสนานิกายเซน ได้นำเอาอุบายที่สำคัญยิ่ง
และมีประสิทธิภาพสูงมาใช้ โดยบรรดาอาจารย์เซน มุ่งประสงค์
ที่จะบันดาลให้ศิษย์ทั้งหลายได้เข้าถึงโมกขธรรมโดยทั่วกัน
ฐิตา:
ถ้าพบพระพุทธองค์ จงสังหารท่านเสีย
สิ่งหนึ่งซึ่งพละกำลังอำนาจอย่างใหญ่ของอุบายนี้คือ การปลดปล่อยตน
ให้พ้นจากที่คุมขังแห่งวิทยาการและอคติ ด้วยบุคคลมักจะยึดมั่น
อยู่กับความรู้ ยึดมั่นอยู่กับนิสัยและอคติของตน
ภาษาเซนจะต้องสามารถช่วยปลดปล่อยให้หลุดพ้นออกมาได้
ในพุทธศาสนาถือว่า ความรู้เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงของการตรัสรู้ อุปสรรคนี้เอง
ที่เรียกว่าอุปสรรคแห่งความรอบรู้ ความรอบรู้ที่เอ่ยถึงนี้หมายเฉพาะความรู้
ที่อาศัยการนึกคิดเอา คาดคะเนเอา ถ้าเราติดกับดักของความรู้นี้อยู่ละก็
เราจะไม่มีทางถึงการตรัสรู้ได้เลย
ในพระสูตรแห่งนิทานร้อยเรื่อง ได้เล่าถึงเรื่องราวของพ่อม่ายหนุ่มผู้หนึ่ง ซึ่งอาศัย
อยู่กับลูกชายอายุห้าขวบ เมื่อเขากลับมาบ้านก็ได้พบว่าเรือนได้ถูกไฟใหม้
ราบลงและบุตรก็สูญหายไปใกล้ ๆ กับเรือนที่ไฟใหม้นั้น ปรากฏซากศพเด็กไฟใหม
้เกรียมอยู่ศพหนึ่ง เขาเชื่ออย่างยิ่งว่านั่นคือศพลูกชายของเขา จึงได้ร้องไห้คร่ำครวญถึงลูก
แล้วก็จัดศพนั้นไปเผาตามประเพณีของชาวอินเดียในสมัยนั้น เผาเสร็จแล้ว
ก็นำเอาผ้ามาห่อกระดูกและขี้เถ้า เก็บติดตัวไว้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
ไม่ว่าจะในขณะกำลังทำงานหรือพักผ่อน
ที่จริงบุตรชายของเขามิได้ตายจากไป แต่ถูกลักพาตัวไปโดยโจรคณะหนึ่ง
เมื่อบุตรของเขาหนีออกมาได้
จึงกลับไปหาบิดาที่บ้าน เด็กนั้นไปถึงบ้านในตอนเที่ยงคืน ในขณะที่
บิดากำลังจะเข้านอนพร้อมกับห่อผ้าที่บรรจุกระดูก เด็กจึงเข้าไปเคาะประตู
" ใครกันนั่น " บิดาถาม
" บุตรของท่าน "
" เจ้าโกหก บุตรของเราตายไปได้สามเดือนล่วงมาแล้ว "
บิดานั้นเชื่ออยู่เช่นนั้น และก็หายอมไปเปิดประตูไม่ ในที่สุดบุตรของเขาก็จำใจ
ต้องผละจากไป และบิดาผู้น่าสงสารนี้ได้สูญเสียบุตรสุดที่รักของตนไปตลอดกาล
นิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อเราได้รู้ในบางสิ่งบางอย่าง เชื่อว่ามันเป็นสัจจะ
อันสูงสุดและยึดติดอยู่เพียงนั้น เราก็จะไม่ยอมเปิดประตูอีกเลย
แม้ว่าตัวสัจจะจะมาเคาะประตูเองก็ตาม ผู้ฝึกฝนเซนจะต้องปลดปล่อยตัวเอง
ออกจากความยึดมั่นถือมั่น
ในความรอบรู้เพื่อที่จะเปิดประตูแห่งตนออกมา สำหรับการเข้าครอบครองแห่งองค์สัจจะ อาจารย์เซนจะต้องช่วยศิษย์ของตนในความพยายามนี้
ครั้งหนึ่งอาจารย์หลินจีได้กล่าวว่า
" สหายผู้ร่วมเดินทางธรรม ถ้าท่านประสงค์ที่จะมองให้เห็นถึงความจริง
อันจริงแท้แล้ว จงอย่าปล่อยตนให้หลงเชื่อไปกับวาทะของผู้ใด เมื่อท่านได้พบ
ใครก็ตาม ไม่ว่าขณะกำลังไปหรือกำลังจะกลับ ท่านต้องฆ่าเขาเสีย
ถ้าท่านพบพระพุทธองค์ จงสังหารพระพุทธองค์ ถ้าท่านพบพระสังฆราช
จงสังหารพระสังฆราช ถ้าท่านพบนักบุญ จงสังหารนักบุญ นี่เป็นหนทางเดียว
ที่ท่านจะปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้น และเป็นอิสระโดยตัวของท่านเอง "
สำหรับผู้ซึ่งอุทิศตนเพื่อการปฏิบัติธรรม คำประกาศเช่นนี้ออกจะเป็นเรื่องที่น่ากลัว
เพราะทำให้เขางุนงงและสับสน แต่ผลย่อมขึ้นอยู่กับสภาพจิต
และความสามารถในการรับรู้ของผู้ได้ยิน ถ้าผู้นั้นเข้มแข็งพอ เขาก็จะ
มีความสามารถปลดปล่อยตัวเองออกจากอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของใคร
หรืออะไร และย่อมก่อให้เกิดสัจจะอันสูงสุดขึ้นในตน สัจจะนั้นย่อมเป็นจริง
อยู่ในตัวเองหาใช่การนึกคิดเอาไม่ ถ้าหากเราติดยึดอยู่กับความคิดบางอย่าง
และคิดว่านั่นเป็นความจริงเสียแล้ว เราก็จักห่างไกลออกไปจากความจริง
อย่างลิบลับ นี่แหละจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้อง " สังหารและกำจัด "
ความคิดในเรื่องของความจริง เพื่อองค์แห่งความจริงจะได้เปิดเผย
ปรากฏตัวออกมา การสังหารพระพุทธองค์เป็นทางเดียวที่จะได้พบพระพุทธองค์
ความคิดที่เราจินตนาการขึ้นเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกีดขวางไว้
มิให้ได้เห็นพระพุทธเจ้าโดยแท้
ฐิตา:
จงกลับไปล้างจาน
การกลับไปสู่เหย้า การกลับไปแลเห็นธรรมชาติของตน คือ จุดมุ่งหมายของ
ผู้ปฏิบัติธรรม แต่จะกลับไปแลเห็นธรรมชาติเดิมของตนได้อย่างไรเล่า
จำเป็นที่จะต้องมีแสงสว่างสาดส่องอยู่ในการดำรงอยู่ เพื่อจะได้อยู่อย่างมีชีวิตชีวา
อยู่กับปัจจุบัน และมีสติเป็นเครื่องกำหนดรู้ในกิจที่กระทำ หรืออีกนัยหนึ่ง
มีความจำเป็นที่บุคคลจะต้องมองให้เห็นต้นสนในสวน ถ้าหากบุคคลมองไม่เห็น
ต้นสนในสวน ที่อยู่ในสวนของตนเองแล้ว เขาจะแลเห็นธรรมชาติของตนได้อย่างไร
อาจารย์เซนผู้ตรัสรู้ชอบแล้ว คือบุคคลผู้ซึ่งมีดวงตาอันแลเห็นต่อการใช้ชีวิตจริง
ท่านคือผู้ซึ่งได้แลเห็นต้นสนในสวน และรวมทั้งธรรมชาติของตน
หลังจากได้หลงวนเวียนอยู่ในโลกแห่งการนึกคิด โลกแห่งเหตุผล เป็นเวลา
นานนับปี ดังนั้นท่านจึงไม่ยินยอมที่จะให้ศิษย์ล่องลอยอยู่ในโลกแห่งนึกคิด
และต้องสูญเสียชีวิตไปเปล่า สูญเสียโอกาสที่จะตื่นขึ้นไปอีก ท่านจะรู้สึก
สงสารศิษย์ทุกครั้ง เมื่อเขาตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องธรรมกายหรือ เรื่องตถตะ
ท่านย่อมรำพึงว่า " บุรุษนี้ปรารถนาจะแสวงหาความจริงจากการนึกคิด "
และท่านจะพยายามอย่างยิ่งที่จะนำศิษย์ให้หลุดพ้นออกมาจากโลกแห่งความ
นึกคิด เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตจริง " จงมองดูต้นสนในสวน "
ครั้งหนึ่งพระรูปหนึ่งได้ขอร้องให้อาจารย์เจาจูอธิบายให้ฟังเกี่ยวกับเซน
อาจารย์เจาจูจึงถามว่าขึ้นว่า
" เธอฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้วหรือ "
" ฉันเสร็จแล้วท่านอาจารย์ "
" ดังนั้น เธอจงกลับไปล้างจาน "
" จงกลับไปล้างจาน " นี้ก็เช่นเดียวกับ " จงกลับไปอยู่กับเซน "
แทนที่อาจารย์จะตอบคำถามเกี่ยวกับเซน ท่านกลับเปิดประตูออกและเชื้อเชิญ
ให้ศิษย์เข้ามาในโลกแห่งความจริงของเซนเสียเอง " จงกลับไปล้างจาน "
ถ้อยคำเหล่านี้มิได้มีความหมายลึกลับอันใด
ที่จะต้องอธิบายกัน มันเป็นคำพูดสามัญ
ตรงไปตรงมา และกระจ่างชัด ไม่ต้องตีความ
มิใช่รหัสนัย แต่มันคือข้อเท็จจริงอันเป็นจริงอย่างยิ่ง
ฐิตา:
อภิวัจนะ
ถ้อยคำในพุทธศาสนา เช่นคำว่า ตถตะ สภาวะ ธรรมกาย นิพพาน ฯลฯ
คือตัวสัญลักษณ์ของความจริง แต่หาใช่ตัวความจริงไม่ ในพุทธศาสนานิกายเซน
มิได้ถือว่านามธรรมและสัญลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญ สิ่งสำคัญคือตัวความจริง
การตื่นขึ้นและการมีสติกำหนดรู้ในปัจจุบันสภาพ
จึงน่าที่จะทำความเข้าใจว่า เพราะเหตุใดคำถามเกี่ยวกับ..
ตถตะ พุทธะ ธรรมกาย
อาจารย์เซนจึงกระตุ้นให้ผุดออกมาจากภายในสู่ภายนอก
ขอให้ลองมาพิจารณาถึงปัญหา ซึ่งศิษย์เซนมักจะถามอาจารย์ของตนว่า
" พุทธะ คืออะไร " และนี่คือตอบต่าง ๆ
อันอาจนับได้ว่าเป็น อภิวัจนะ
" พระพุทธเจ้าหรือ อยู่ในสถานศักดิ์สิทธิ์นั่นไง "
" พระองค์ทำด้วยดินเหนียว และถูกห่อหุ้มด้วยทอง "
" อย่าพูดจาไร้สาระ "
" ภยันตรายมาจากปากของเธอเอง "
" เราถูกล้อมรอบอยู่ด้วยภูเขา "
" จงมองดูชายผู้มีอกเปลือยเปล่า และเดินไปด้วยเท้าเปล่านั่นสิ "
บางทีคำตอบเหล่านี้อาจจะทำให้เรางุนงง แต่บุคคลผู้ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ด้วย
การกำหนดรู้ในสภาวะปัจจุบัน ย่อมอาจจะถึงการตรัสรู้ด้วยคำตอบอันใดอันหนึ่ง
ในคำตอบเหล่านี้ และบุคคลผู้ซึ่งหลงวนเวียนอยู่ในความหลงลืม
ก็อาจจะตื่นขึ้นด้วยคำตอบนี้ รวมทั้งบุคคลซึ่งวนเวียนอยู่แต่ในเรื่องของนามธรรม
ก็อาจจะกลับมาสู่ความเป็นจริงด้วยอาศัยคำตอบเหล่านี้เช่นกัน
ฐิตา:
กุงอัน
กล่าวกันว่ามีการสนทนาสั้น ๆ ระหว่างอาจารย์เซนกับศิษย์
กว่า ๑,๗๐๐ ชนิด ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นกุงอันได้
มีผู้เข้าใจกันว่ากุงอันเป็นข้อใหญ่ใจความ ที่นำมาใช้ในการฝึกฝนสมาธิชนิดหนึ่ง
แต่หาใช่เสียทีเดียวไม่
กุงอันเป็นภาษาจีน ( อ่านว่า โกอัน ในภาษาญี่ปุ่น ) แปลตามรากศัพท์เดิมว่า
เอกสารทางการตัดสินความ ที่แปลกันอยู่ทั่วไปเป็นภาษาไทย
มักเรียกว่าปริศนาธรรมกุงอัน ใช้เป็นวิธีในการฝึกหัดเซน
ผู้ฝึกฝนย่อมใช้กุงอันในการปฏิบัติสมาธิ จนกระทั่งจิตใจของเขาตื่นขึ้น พูดง่าย ๆ
คืออาจเปรียบกุงอันเหมือนกับโจทย์ทางคณิตศาสตร์
ซึ่งนักเรียนจะต้องทำเพื่อหาคำตอบออกมาแต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อแตกต่างอยู่
ระหว่างกุงอันกับโจทย์คณิตศาสตร์นั้นมีวิธีทำอยู่ในตัวโจทย์เอง
แต่คำตอบของกุงอัน กลับมีอยู่ในชีวิตของผู้ฝึกฝน
กล่าวอีกนัยหนึ่ง กุงอันคือเครื่องมืออันมีประโยชน์ ที่ใช้สำหรับการบำเพ็ญเพียร
เพื่อการตรัสรู้ เหมือนกับจอบเป็นเครื่องมืออันมีประโยชน์สำหรับ
ใช้ทำงานบนพื้นดิน สิ่งที่จะได้รับเป็นผลตอบแทนจากการทำงานบนพื้นดิน
ขึ้นอยู่กับ บุคคล ผู้ทำการงานมิใช่ขึ้นอยู่กับจอบ
กุงอันจึงมิใช่ข้อปัญหาอันจะต้องเฉลย นี่เป็นเหตุที่ทำให้ไม่อาจพูดได้
อย่างเต็มที่ว่า กุงอันเป็นข้อใหญ่ใจความสำคัญของการปฏิบัติสมาธิภาวนา
และมิได้เป็นจุดมุ่งหมายหรือตัวสมาธิภาวนา
ด้วยกุงอัน เป็นเพียงอุบายซึ่งช่วยให้ผู้ฝึกฝนได้ไปถึงจุดหมายของเขา
กุงอันเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในสมัยราชวงศ์ถัง ผู้ฝึกฝนเซนแต่ละคน
ต่างก็มีกุงอันของตนไว้สำหรับพิจารณา แต่ในสมัยก่อนหน้าราชวงศ์ถังขึ้นไป
อาจารย์เซนไม่ค่อยใช้กุงอันกันเท่าไหร่นัก ด้วยการฝึกฝนเซนนั้น
กุงอันมิใช่บางสิ่งบางอย่าง อันสูงสุดชนิดที่มิอาจขาดได้ หากเป็นเพียงอุบาย
ซึ่งอาจารย์เซนได้สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อช่วยศิษย์ในการแสวงหาตามทาง
ของแต่ละคน และกุงอันเองยังอาจจะกลับกลาย เป็นอุปสรรคอย่างใหญ่
ต่อการ ตรัสรู้ ได้เสียอีก หากผู้ฝึกมัวไปคิดว่ามีสัจจะแฝงอยู่ใน กุงอัน
และสามารถแสดงสัจจะนั้นออกด้วยระบบของการใช้ความนึกคิด
ท่านฮะกุอิน อาจารย์เซน( พระเซนชาวญี่ปุ่นนิกายรินซาย )
มักจะยกมือข้างหนึ่งของท่านขึ้น พร้อมกับถามศิษย์ของท่านว่า
" เสียงของการตบมือข้างเดียวเป็นอย่างไร "
นี่แหละคือกุงอัน
ผู้คนมักจะคิดทบทวน มักจะต้องการรู้ว่าเสียงซึ่งเกิดจากมือข้างเดียวนั้นเป็นอย่างไร
จะมีความหมายอันยิ่งใหญ่ซึ่งแฝงเร้นอยู่ในคำถามนี้หรือไม่ ถ้าไม่มี เหตุใดท่านฮะกุอิน
จึงได้ถามปัญหาขึ้นและถ้าหากว่ามีคำตอบอยู่จริงแล้ว จะหาคำตอบนั้นได้อย่างไร
ปัญญาของเรามักจะสร้างหลักการแห่งเหตุผลขึ้น และใช้ในการแสวงหาสัจจะ
ซึ่งที่จริงแล้วเหมือนกับรถไฟ ซึ่งมีรางทอดยาวอยู่เบื้องหน้าและพุ่งตามรางไปเรื่อย ๆ
ครั้นมาบัดนี้ รางได้ถูกตัดขาดและรื้อถอนออกเสีย ความเคยชินแต่ดั้งเดิมก็ยังฝืน
สร้างรางอันเป็น มายา ขึ้น เพื่อให้รถไฟแห่งปัญญาสามารถแล่นต่อไปเบื้องหน้า
เหมือนแต่ก่อน จงระวังไว้ให้ดี
หากยังขืนแล่นต่อไปเบื้องหน้า ก็จะตกอยู่ในหายนะภัยอันใหญ่หลวง
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version