กลอนจากใจ 'ไฮกุ''ไฮกุ' คำประพันธ์ของญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง หลายคนอาจเคยผ่านสายตามาบ้าง ส่วนใหญ่ก็มักจะสะดุดตาและสะดุดใจที่ 'ไฮกุ' เป็นคำประพันธ์ที่ใช้คำง่าย ๆ น้อย ๆ มีเพียง ๓ บรรทัด รวม ๑๗ พยางค์เท่านั้น แต่มีผลให้ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์มากทีเดียว
สายการบินแจแปนแอร์ไลน์ (เจเอแอล) ร่วมกับเจแปนฟาวเดชั่น กรุงเทพฯ จัดโครงการประกวดบทกลอนไฮกุสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.๔ - ป.๖) ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องมานานกว่า ๑๕ ปี และเคยจัดครั้งแรกที่อเมริกาเมื่อ ๔o ปีที่แล้ว กระทั่งเผยแพร่โครงการไปทั่วยุโรป
การจัดประกวดบทกลอนไฮกุสำหรับเด็กไทยในปีนี้ (๒๕๔๘) มีผลงานส่งเข้ามาบ้างแล้ว หัวข้อเกี่ยวกับเรื่อง 'บ้าน' ความหมายครอบคลุมไปถึงคนและสัตว์เลี้ยงในบ้าน ทั้งวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน และบ้านในจินตนาการ โดยให้เด็ก ๆ เขียนเป็นกลอนไฮกุ ๑ บท พร้อมวาดภาพประกอบ
ทางโรงเรียนได้ชักชวนเด็กๆ ให้เขียนเข้ามา จากนั้นคุณครูคัดเลือกบทกลอนไฮกุที่ดีที่สุดจำนวน ๑o บทกลอน (คนละ ๑ บทกลอน) แล้วส่งเข้ามายัง แจแปนแอร์ไลน์ ภายในวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๙ เพื่อให้คณะกรรมการตัดสินคัดเลือกบทกลอนที่ดีที่สุดเพื่อรับเงินรางวัล
สำหรับเด็กๆ ที่กำลังจะเขียนกลอนไฮกุ ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทอง ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรรมการในการพิจารณาครั้งนี้ มีข้อแนะนำในการเขียนกลอนไฮกุ อาจจะส่งเข้ามาประกวดในครั้งนี้ หรือหัดเขียนเพื่อบันทึกเรื่องราวของตัวเอง เพราะไฮกุ ไม่ได้เป็นคำประพันธ์ที่ต้องการสัมผัสหรือมีฉันทลักษณ์ที่รัดกุม แต่ไฮกุเริ่มต้นเขียนง่ายๆ มีเพียงกติกาเรื่องจำนวนคำเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
ไฮกุ เป็นคำประพันธ์ของญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง เป็นบทกลอนขนาดสั้นในหนึ่งบทประกอบด้วยถ้อยคำรวม ๑๗ พยางค์เท่านั้น เขียนแบ่งเป็น ๓ บรรทัด เริ่มจาก ๕ พยางค์ ๗ พยางค์ และ ๕ พยางค์ ตามลำดับ ไม่ได้บังคับฉันทลักษณ์แต่ประการใด แต่ในบรรทัดสุดท้ายให้มีการจบแบบหักมุม เป็นจุดที่จะทำให้ผู้อ่านได้คิดหรือเกิดความประทับใจ
ส่วนใหญ่กลอนไฮกุ มักเขียนขึ้นจากความประทับใจที่มีต่อธรรมชาติและมนุษย์ มีเพียง ๓ วรรค แม้จะเป็นคำประพันธ์ที่ไม่มีสัมผัสสระหรือพยัญชนะ สิ่งที่พิเศษนอกจากวรรคสุดท้ายที่ผู้เขียนต้องหักมุมจบแล้ว การเลือกใช้คำง่าย ๆ สื่อความหมายตรง ๆ ก็เป็นอีกประเด็นของความโดดเด่นไฮกุ
"แต่ละคำก็ให้ความหมาย เด็ก ๆ จะแต่งได้ง่าย ไม่ต้องห่วงสัมผัส เด็ก ๆ ชั้นประถมก็แต่งได้ และเขียนได้ดีมาก เด็กจะแสดงความประทับใจจากสิ่งที่เขามองเห็นออกมา บางทีเขาก็มองได้ลึกมาก ผู้ใหญ่ก็คิดไม่ถึง เด็กที่เขียนไฮกุจะแสดงความรู้สึกออกมาซื่อ ๆ ไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองโดยการใช้ศัพท์หรูหรา เป็นคำพูดแบบเด็ก ๆ" ม.ร.ว.อรฉัตร พูดถึงความพิเศษของไฮกุ บทกลอนที่เรียบง่าย
ตลอด ๑๕ ปีที่มีการจัดการประกวด มีบทกลอนน่ารัก ๆ ของเด็ก ๆ ที่ยังอยู่ในความประทับใจของผู้จัดและคณะกรรมการ อย่างการประกวดเมื่อปี ๒๕๓๓ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ก็ทรงเข้าร่วมประกวดด้วย และผลงานก็ได้รับการคัดเลือกให้ชนะการประกวดในปีนั้นด้วย ในหัวข้อ 'ความเขียวขจีของพืชพรรณ ต้นไม้ ใบไม้ ฯลฯ' มีพระนิพนธ์ไว้ว่า
"ฝนโปรยลงมาแล้ว
ดอกไม้บานรับแสงอาทิตย์
ต้นไม้ผลิใบเขียว"อย่างสำนวนของ ด.ญ.สุวิดา สงวนพันธุ์ จากโรงเรียนวัดบางน้ำชน กรุงเทพฯ เขียนในหัวข้อ 'มุมหนึ่งของชีวิต' เมื่อปี ๒๕๔๓ ว่า "ฉันขึ้นรถไฟฟ้า ตึกสูงต่ำสวยงามแปลกตา กลับบ้านใต้สะพาน"
"วรรคแรกจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำกัด ปล่อยตามจินตนาการ ขณะที่แต่งออกมาให้อ่าน เพื่อจะได้รู้ว่า การพูดออกมาเป็นช่วง ๆ มันจะไปได้ราบรื่นแค่ไหน และให้ความไพเราะแค่ไหน หูจะได้ฟังแล้วจินตนาการตามไป เขาถึงบอกว่ากลอนไฮกุเขียนด้วยหัวใจ ใส่ความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนเข้าไปในนั้นเลย" ม.ร.ว.อรฉัตร บอกเทคนิคการเขียนไฮกุ
การหักมุมในวรรคสุดท้ายนั้นสำคัญ เป็นความงดงามของไฮกุ ในวรรคแรกอาจพูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ถัดมาวรรคที่สองอาจเป็นข้อความที่เสริมกัน ความประทับใจอยู่ที่วรรคสุดท้าย อย่างผลงานของ ด.ญ.ขจีวรรณ ตาเอื้อย อายุ ๑๒ ปี ชั้นป.๖ โรงเรียนสวนลุมพินี กรุงเทพฯ แต่งไฮกุออกมาได้ดีมาก เธอเขียนในหัวข้อ
'ฤดูกาลบ้านเรา' เมื่อปี ๒๕๔๖ บอกว่า
"ลมหนาวใบไม้ร่วง
เช้าตรู่พ่อปลุกใส่บาตร
แม่จะได้ไม่หิว"ไฮกุใช้คำง่าย ๆ แต่ส่งผลสะเทือนอารมณ์มาก
"เพราะเด็กใส่ความรู้สึกและจินตนาการเข้าไป ความรู้สึกของเด็กๆ จะสอดแทรกอยู่ในแต่ละคำ ในแต่ละความหมาย จะเป็นความรู้สึกตรง ๆ แบบเด็ก ๆ" กรรมการคนสำคัญ กล่าว
นอกจากไฮกุของไทยแล้ว ในต่างประเทศก็มีไฮกุเช่นกัน ม.ร.ว.อรฉัตร ถอดความบทกลอนไฮกุของเด็กจากสโลวาเนียมาให้ได้อ่านว่า
"เศษเสี้ยวของดวงดาว
คือส่วนหนึ่งของสรวงสวรรค์
สัมผัสในความมืด" ส่วนอีกบทกลอนหนึ่งคือ
"ปลายคลื่นคือฟองขาว
สายน้ำสัมผัสบนทรายชื้น
ปราสาททรายถล่ม"นอกจากผู้เขียนได้หัดใช้คำแทนความรู้สึกสื่อสารออกมาแล้ว เด็ก ๆ ยังได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากการเขียนไฮกุอีกด้วย
"เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้เรื่องกติกา เขาต้องเขียนให้ครบ ๕ คำหรือ ๗ คำ และที่สำคัญคือเขามีโอกาสที่จะเขียนได้มากกว่า เพราะเราไม่จำกัดเรื่องสระหรือพยัญชนะ จะเขียนอะไรก็ได้ มีเงื่อนไขนิดเดียวเอง ให้เขียนออกมาจากหัวใจง่าย ๆ" ม.ร.ว.อรฉัตร ทิ้งท้าย ว่า คนที่มีอารมณ์กวี ย่อมอยากเขียนอยู่แล้ว แต่ถ้าเริ่มต้นยากเกินไปอาจท้อ ไม่อยากจะทำ
เด็ก ๆ พอได้ทราบเทคนิคการเขียนกลอนไฮกุแล้ว คันไม้คันมืออยากจะเขียนก็ลองเขียนดูเล่น ๆ หรือจะส่งประกวดกันขณะนี้ก็ยังมีเวลาจนถึงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๙
หลักการเขียนกลอนไฮกุ
๑. ควรกล่าวถึงสิ่งใกล้ตัวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาขณะใดขณะหนึ่ง ไม่ควรกล่าวถึงช่วงเวลายาวนาน
๒. ต้องเอาใจใส่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แล้วนำมาแต่งเป็น ไฮกุ เลือกใช้คำที่กระชับได้ใจความ ไม่ใช้คำเยิ่นเย้อ หรือคำขยายความ
๓.ไฮกุ ไม่ใช่การพูดถึงเหตุผล หรือปรัชญาทางความคิด แต่เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เห็นออกมาตามธรรมชาติ ดังนั้นต้องพยายามหลีกเลี่ยงถ้อยคำเปรียบเทียบหรือคำอุปมาอุปไมย
๔.บรรทัดสุดท้ายของกลอนไฮกุ มักใส่ความแปลกลงในบทกลอน โดยมักจะมีถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกนึกคิดชั่วขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือจินตนาการของผู้ประพันธ์ก็ตาม
หมายเหตุ สอบถามเพิ่มเติมการประกวดบทกลอนไฮกุ โทร.o-๒๒๕๗-๔o๑o-๑๑ จากเวบ
bangkokbiznewslinkที่เกี่ยวกับไฮกุ
palungjit