ผู้เขียน หัวข้อ: ตื่นรู้ที่ภูหลง : ปลูกสติกลางใจ  (อ่าน 1746 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด




ปลูกสติกลางใจ


   ช่วงนี้อากาศหนาวกว่าช่วงอื่น ๆ ที่จริงเมื่อปลายเดือนที่แล้วอุณหภูมิเคยลดต่ำแบบนี้เหมือนกัน ช่วงนั้นมีสมาชิกอาศรมวงศ์สนิทมาปฏิบัติธรรมกัน แต่พอคณะอาศรมฯกลับไปอากาศก็เริ่มอุ่นขึ้น พอพวกเรามาอากาศก็ลดต่ำลงมาอีก อาจจะเป็นความบังเอิญก็ได้ หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้ คล้ายกับว่าอากาศหนาวลงเพื่อเป็นเครื่องทดสอบนักปฏิบัติธรรม มาปฏิบัติธรรมเมื่อไหร่ก็หนาวเมื่อนั้น พอกลับไปก็เริ่มอุ่นอีก
ให้เราถือว่าอากาศหนาวแบบนี้ เป็นเครื่องทดสอบจิตใจของเรา รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ลองพิจารณาดูว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไร มันมีอาการอย่างไรเมื่อเจออากาศหนาว ถ้าเราทุกข์เพราะความหนาว ก็ให้ดูว่าทำไมถึงทุกข์ ดูที่ใจของเราไปด้วย อย่าไปมองที่อากาศหนาวอย่างเดียวว่ามันเป็นสาเหตุให้เราทุกข์ ใจของเราเข้าไปมีส่วนบ้างหรือเปล่า ให้ลองสังเกตดู เวลาอากาศหนาว ๆ ร่างกายกับจิตใจอาจจะทำงานสวนทางกันก็ได้ ร่างกายของเราพยายามสู้กับความหนาว เช่นอาจจะหดกล้ามเนื้อเพื่อให้รู้สึกอุ่นขึ้น ผิวหนังหดตัว เพื่อช่วยให้ความหนาวลดลง ขณะเดียวกันร่างกายก็พยายามปรับตัวเพื่อให้มีความคุ้นเคยกับความหนาว มาวันแรก ๆ อาจจะรู้สึกหนาว แต่พออยู่ไป อยู่ไป ก็จะรู้สึกว่าความหนาวลดลง

วันนี้ ๑๕ องศา ทีแรกก็รู้สึกหนาว แต่พออยู่ไป อยู่ไป ก็เริ่มทนได้ พออุณหภูมิขยับขึ้นเป็น ๑๗ – ๑๘ องศา ก็รู้สึกว่าอุ่นแล้ว ทั้ง ๆ ที่ตอนมาใหม่ ๆ ๑๗ – ๑๘ องศาถือว่าหนาว แต่คราวนี้ไม่รู้สึกหนาวแล้ว จะรู้สึกว่าหนาวก็ต่อเมื่ออุณหภูมิลดต่ำไปเป็น ๑๔ – ๑๕ องศา อันนี้เป็นเพราะร่างกายของเราปรับตัวให้คุ้นชินกับความหนาว

แต่ใจของเราอาจจะทำตรงกันข้าม ในขณะที่ร่างกายพยายามสู้กับความหนาว แต่ใจเรากลับเข้าไปจดจ่ออยู่กับความหนาวก็ได้ จึงทำให้รู้สึกหนาวยิ่งขึ้น ไม่พยายามหนี ไม่พยายามถอยจากความหนาวเลย ร่างกายส่วนไหนที่หนาว ใจก็เข้าไปจดจ่ออยู่ตรงนั้นแหละ แล้วบางทีก็บ่นด้วยว่า...หนาวเหลือเกิน หนาวเหลือเกิน พอใจไปจดจ่อกับความหนาวก็เลยยิ่งหนาวเข้าไปใหญ่ ใจเข้าไปในทุกขเวทนา ก็ยิ่งรู้สึกเป็นทุกข์เข้าไปใหญ่ เวลาเจอความร้อนก็เหมือนกัน มือของเราเวลาไปถูกไฟ มันจะรีบดึงออกมาทันที แต่ใจกลับไปจดจ่อกับร่างกายหรืออวัยวะที่ถูกไฟไหม้ ยิ่งเจอไฟโทสะด้วยแล้ว ยิ่งเข้าไปคลุกเคล้า คลอเคลีย ไม่ยอมถอยไม่ยอมหนีออกมาเลย

ขอให้สังเกตดูเวลาเราเจอความหนาว ใจเราเข้าไปจดจ่ออยู่กับความหนาวหรือเปล่า ร่างกายส่วนไหนที่หนาว ใจก็เข้าไปเกาะอยู่ตรงนั้น ทั้ง ๆ ที่ส่วนที่ไม่หนาวก็มีอยู่ในร่างกายของเรา แต่ไม่ไปเกาะ ที่จริงถ้ารู้สึกหนาว ลองย้ายจิตของเราไปยังส่วนที่อุ่นในร่างกาย ก็อาจจะรู้สึกดีขึ้น ที่จริงมันมีวิธีที่ช่วยให้ไม่รู้สึกหนาวได้หลายอย่าง เช่นปล่อยใจให้ลอยเพลินไปกับความคิด ลองสังเกตดูเวลาใจเราลอยหรือฟุ้งซ่าน จะไม่ค่อยรู้สึกหนาวเท่าไหร่ พอความคิดหายไป จะกลับมารู้สึกหนาวใหม่

ถ้าโกรธหรือเกลียดใครสักคน ลองปลุกใจให้ความโกรธเกลียดเกิดขึ้น พอโกรธเกลียดได้ที่ความหนาวก็หายไปเลย ที่จริงอากาศยังหนาวอยู่ แต่ใจเราไม่รู้สึกหนาวแล้ว เพราะใจไปจดจ่ออยู่กับคนที่เราโกรธเกลียด อย่างไรก็ตามวิธีแก้หนาวแบบนั้นไม่ใช่วิธีที่ดีเพราะว่ามันมีผลข้างเคียงเยอะ เหมือนกับกินยาแก้ปวดแต่ผลข้างเคียงกลับแรงกว่า หายปวดก็จริงแต่ว่ากระเพาะเป็นแผล หรือมีพิษสะสมในร่างกายทำให้เกิดมะเร็ง

การปล่อยใจลอยแก้หนาวได้ก็จริง แต่ก็เป็นการเพิ่มกำลังให้กับความคิดฟุ้งซ่าน ต่อไปใจก็ฟุ้งซ่านจนเป็นนิสัย ปรุงไปในเรื่องที่เป็นโทษ คราวนี้จะคุมไม่ได้ ความคิดฟุ้งซ่านถ้าเราให้กำลังมัน มันก็จะเติบใหญ่จนอยู่เหนือความควบคุมของเรา กลายเป็นนายเราไปในที่สุด ในทำนองเดียวกันการไปคิดถึงคนที่เราโกรธเกลียด มันช่วยให้หายหนาวก็จริง แต่ทำให้เรามีความโกรธเกลียดเพิ่มขึ้น หรือเป็นทุกข์ยิ่งกว่าเดิม

ทุกข์เพราะหนาว ยังไม่เท่ากับทุกข์เพราะโกรธ เกลียด หรือเพราะถูกไฟโทสะเผาลน วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ดี แต่ว่ามันเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ว่า ความหนาวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก หรือเกี่ยวข้องกับจิตใจของเราด้วย จิตใจมีส่วนทำให้เรารู้สึกหนาว คือพอคิดถึงเรื่องอื่นก็หายหนาว แต่พอไม่มีเรื่องคิด ใจมาจดจ่ออยู่กับอวัยวะส่วนที่หนาว หรือจมอยู่กับทุกขเวทนาจากความหนาว มันก็ยิ่งหนาวเข้าไปใหญ่ มองให้ดีจะเห็นว่าใจของเราก็มีส่วนทำให้รู้สึกหนาวมากขึ้น แล้วจะทำอย่างไรดี ก็ต้องรู้จักใช้ใจให้เป็นประโยชน์ เมื่อหนาวเพราะใจ ก็หายหนาวได้เพราะใจ เมื่อปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่ใจ ทางออกก็อยู่ที่ใจด้วย ใจเป็นทั้งต้นตอของปัญหาและเป็นทางออกในเวลาเดียวกัน เราสามารถใช้ใจช่วยให้หนาวน้อยลง มีหลายวิธี เช่น เคลื่อนใจไปยังจุดที่อุ่นในร่างกายเรา เช่น บริเวณหน้าอก แล้วก็กำหนดจิตปักอยู่ที่ตรงนั้น อันนี้ก็เรียกว่าอาศัยสมาธิคือการจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อุ่น เหมือนกับเวลาเราทุกข์ จะทุกข์เพราะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่อยากจมอยู่กับความทุกข์ ก็กำหนดจิตไปยังสิ่งอื่นแทน ปกติคนเราก็ใช้วิธีนี้เป็นประจำ เช่น กลุ้มใจก็ไปเที่ยว ไปดูหนังฟังเพลง จะได้ลืมเรื่องที่กลุ้มใจ พอใจไปเพลินกับเรื่องอื่น ก็ไม่ว่างมาครุ่นคิดถึงเรื่องที่เป็นทุกข์ แต่ว่าพอเที่ยวเสร็จ จิตก็หวนกลับไปสู่ความทุกข์ใหม่ บางคนทำหนักกว่านั้น คือใช้วิธีมอมเมาให้จิตหลงลืมไปเสียด้วยการกินเหล้า เล่นการพนัน วิธีนี้ช่วยให้หายทุกข์ไปได้ชั่วคราว แต่ว่าพอฤทธิ์เหล้าสร่าง หรือเลิกเล่นการพนันก็กลับไปทุกข์ใหม่ วิธีนี้แก้ปัญหาเพียงชั่วคราว แถมยังมีผลเสียตามมา ลงท้ายก็อาจจะทุกข์ยิ่งกว่าเดิม

เราลองมาใช้วิธีที่ประณีตดู ก็คือใช้สตินี่แหละเข้ามาช่วย นอกจากการใช้สมาธิให้จิตเรากำหนดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ถ้าหนาวก็ให้จิตเกาะอยู่กับส่วนที่ทำให้อุ่น แล้ว ลองใช้สติเข้าไปสร้างความรู้สึกตัว หรือทำให้จิตไม่ลืมตัว ลองสังเกตดู เราลืมตัวทีไรจิตก็เผลอเข้าไปในทุกขเวทนา ไปจมและติดอยู่กับทุกขเวทนา ทุกขเวทนาก็ได้แก่ความรู้สึกหนาวจนเป็นทุกข์ ทีนี้มันไม่ใช่แค่หนาวกายแล้ว แต่หนาวใจด้วย เพราะใจเข้าไปจมติดอยู่กับทุกขเวทนา ใจเข้าไปได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่เข้าไปแล้วก็ทุกข์ ก็เพราะความลืมตัวนั่นเอง สติแปลว่าความระลึกได้ ความระลึกได้อยู่ตรงข้ามกับความลืม ลืมอะไรไม่ทำให้เราทุกข์ได้มากเท่ากับการลืมตัว ลืมเบอร์โทรศัพท์เพื่อน ลืมนัดหมาย ลืมอะไรต่ออะไรก็ยังไม่อันตรายเท่ากับการลืมตัว ลืมตัวเมื่อไหร่เท่ากับว่าเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงอยู่กับอันตราย เช่นลืมตัวขณะขับรถ แทนที่ใจจะอยู่กับการขับรถกลับปล่อยใจลอย หรือทำอย่างอื่นแทน เช่น คุยโทรศัพท์ หรือทะเลาะกับเพื่อน ลืมตัวแบบนี้อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุถึงตายได้

เราจำต้องมีสติ เพื่อให้เกิดความระลึกได้ ระลึกได้ว่ากำลังขับรถอยู่ ความระลึกได้มีหลายอย่าง เช่น ระลึกได้ว่าเพื่อนเกิดเมื่อไหร่ นัดเพื่อนที่ไหน หรือระลึกได้ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงปฐมเทศนาที่ไหน อันนี้คือความระลึกได้ที่เกี่ยวกับข้อมูล เราเรียกว่าความจำ เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของสติ หน้าที่ของสติพูดอย่างรวม ๆ ก็คือดึงอารมณ์สู่การรับรู้ของจิต หรือคุมจิตให้อยู่กับอารมณ์ อารมณ์ในที่นี้หมายถึง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รวมทั้งสิ่งที่ใจรับรู้ เช่น ข้อมูลหรือความทรงจำที่อยู่ในสมอง เมื่อดึงมาสู่การรับรู้เราก็เรียกว่าระลึกได้ แต่การระลึกได้อย่างนี้ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อย่างเรากำลังตามลมหายใจอยู่ กำลังเดินจงกรมอยู่ ถ้าใจเกิดลืม คือลืมเข้าไปอยู่ในอดีต หรือหลุดเข้าไปในเรื่องอนาคต คือเผลอนั่นเอง อยางนี้เรียกว่าลืมตัว

เมื่อลืมตัวแล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องระลึกให้ได้ ให้ความรู้ตัวกลับมา อันนี้แหละเป็นหน้าที่ของสติ สติช่วยให้ระลึกได้อยู่บ่อย ๆ ช่วยให้ไม่ลืมตัว ของอย่างนี้ต้องอาศัยการฝึกฝน การที่เราระลึกหรือจำข้อมูลในตำราได้ จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ก็ดี เราจำได้แม่นก็เพราะว่าท่องบ่อย ๆ ระลึกอยู่บ่อย ๆ หรือเอามาใช้บ่อย ๆ จะจำบทอาขยานหรือกลอนได้ดีก็ต้องระลึกอยู่บ่อย ๆ ไม่ใช่แค่อ่านอย่างเดียว อ่านบ่อย ๆ บางทีก็จำไม่ได้ ต้องท่องหรือระลึกอยู่บ่อย ๆถึงจะจำได้แม่นและระลึกได้ไว พอนึกถึงก็ออกมาจากหัวสมองเลย อันนี้คือการระลึกได้ในเรื่องข้อมูล

การระลึกรู้ว่ากำลังทำอะไรหรือว่าการรู้ตัวก็เช่นกัน ต้องฝึกบ่อย ๆ ฝึกอย่างไร ก็ฝึกจาการปฏิบัตินี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติในรูปแบบหรือการปฏิบัตินอกรูปแบบ เช่นการตามลมหายใจ สร้างจังหวะ เดินจงกรม หน้าที่ของจิตคือกำหนดอยู่หรือรู้สึกกับกายที่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจที่เคลื่อนไหว หรือมือเท้าที่เคลื่อนไหว ก็ให้มีสติรู้ อันนี้เรียกว่ารู้กาย แต่พอเผลอคิดเข้า เผลอคิดนี่เรียกว่าลืมตัวแล้ว เพราะหน้าที่ของใจคืออยู่กับกาย แต่ถ้าแวบไปที่อื่น หรือฟุ้งซ่านไปนี่เรียกเผลอคิด

เผลอคิดแล้วจะทำอย่างไร ก็ให้ระลึกว่ากำลังทำอะไรอยู่ในขณะนี้ กำลังเดินจงกรมอยู่ กำลังตามลมหายใจอยู่ เมื่อระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ความรู้ตัวก็เกิดขึ้น จึงสลัดความฟุ้งซ่านออกไปได้ทันที หรือพูดอีกอย่างว่าจิตหลุดออกจากความคิดฟุ้งซ่านกลับมาอยู่ที่กายซึ่งกำลังเคลื่อนไหว หรือลมหายใจเข้าและออก จะเรียกว่าพาใจกลับบ้านก็ได้ คือเอากายที่กำลังเคลื่อนไหวหรือเอาสิ่งที่เป็นอารมณ์ทางกรรมฐานนี่แหละเป็นบ้าน นี่คือวิธีฝึกให้เรารู้ตัวหรือระลึกได้ไว ๆ

กับการปฏิบัตินอกรูปแบบก็เหมือนกัน ไม่ว่า กวาดใบไม้ อาบน้ำ ถูฟัน ล้างจาน โดยเฉพาะตอนกินข้าวนี่เป็นเวลาที่ฝึกสติอย่างดีเลย เพราะว่าเราจะเผลอได้ง่ายมาก รองลงมาจากการพูดคุย ใจมันจะเผลอแวบไปโน่น แวบไปนี่ แทนที่จะอยู่กับการกินกายกำลังเคี้ยวอาหารอยู่ แต่ใจไปไหนก็ไม่รู้ ยิ่งถ้าเพลินในรสชาติอาหาร ไปคลอเคลียดื่มด่ำกับรสชาติของอาหารที่เอร็ดอร่อย ไปหลงจมอยู่ในสุขเวทนาจากการกิน อย่างนี้ก็เรียกว่าลืมตัวเหมือนกัน ลืมตัวไม่ได้หมายถึงการปล่อยใจฟุ้งซ่านไปกับความคิด หรือ หลงไปยังอดีตกับอนาคตเท่านั้น การไปอยู่กับรสชาติของอาหาร ก็เรียกว่าลืมตัวเหมือนกัน

ให้เรามีสติรู้ตัว ระลึกได้เสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ ความระลึกได้นี่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดเอานะ มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งหรือ ความว่องไวของสติ แต่สติจะเข้มแข็งว่องไวได้ก็ด้วยการฝึกบ่อย ๆ คือ ฝึกให้ระลึกได้หรือรู้ตัวอยู่บ่อย ๆ ตอนปฏิบัติใหม่ ๆ กว่าจะรู้ตัวได้ก็ใช้เวลานาน แต่เราอย่าไปสนใจว่ามันจะใช้เวลานานแค่ไหน ขอให้ทำไปเรื่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ เมื่อรู้ตัวหรือระลึกได้อยู่บ่อย ๆ ความเผลอหรือความฟุ้งซ่านก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ เคยคิดเป็นสายหรือเหมือนขบวนรถไฟ ก็จะค่อย ๆ สั้นลง ๆ ๆ ๆ ยกเว้นเวลาเกิดอะไรมากระทบแรง ๆ ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นจะแรงตามไปด้วย แต่ถ้าเราถ้าเรามีสติเข้มแข็ง รู้ตัวได้ไว้หรือบ่อย ๆ อารมณ์ความรู้สึกก็จะมีพลังน้อยลง ๆ ความคิดที่ยืดยาวเป็นสาย ๆ ก็จะค่อย ๆ สั้นลง ๆ

ถ้าจะวัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติก็วัดจากตรงนี้แหละว่า เรารู้ตัวได้ไวขึ้นไหม ระลึกได้ไวขึ้นไหม ไม่ใช่ไปดูว่ามันฟุ้งซ่านมากหรือน้อย บางคนไปคิดว่าถ้าฟุ้งน้อย คิดน้อย หรือว่าไม่คิดเลยยิ่งดี อันนั้นไม่ใช่ ถึงแม้จะคิดเยอะแต่ถ้ารู้ตัวได้ไวนั่นแหละสำคัญกว่า

ไม่มีความคิดเกิดขึ้นเลยระหว่างปฏิบัติ บางทีก็ไม่ดีนะ เพราะเท่ากับว่าไม่มีเครื่องฝึกสติให้ว่องไว้เข้มแข็ง สติเราต้องมีคู่ซ้อมและต้องเป็นคู่ซ้อมที่พอฟัดพอเหวี่ยง ถ้าคู่ซ้อมมีกำลังมากไปก็ไม่ไหว สติโดนซัดหมอบทุกที อย่างเช่นผู้ปฏิบัติใหม่ ๆ จะไปเจริญสติท่ามกลางเสียงที่อึกทึกครึกโครม สิ่งล่อเร้าเย้ายวนมากมาย สติก็จะโตได้ยากเพราะว่าคู่ซ้อมมีกำลังเข้มแข็งมาก เราต้องมาเจริญสติในที่ซึ่งสงบสักหน่อย ไม่ให้มีเสียงรบกวนมาก ขณะเดียวกันก็มีการกำหนดไม่ให้พูดคุยกัน เพราะถ้าพูดคุยกันมาก เราก็มักเอาเรื่องที่คุยนั้นไปปรุงแต่ง ปรุงแต่งจนกระทั่งสติสู้ไม่ไหว ดังนั้นเราจึงต้องสร้างบรรยากาศที่ช่วยให้ใจไม่ฟุ้งซ่านมากเกินไป เพื่อให้สติสู้ อย่างพอฟัดพอเหวี่ยงได้

แต่ถ้าสติไม่มีคู่ซ้อมเลย มันก็ไม่โตไม่เข้มแข็งเหมือนกับนักเรียนที่ไม่มีการบ้านทำ แล้วนักเรียนจะฉลาดได้อย่างไร นักเรียนต้องทำการบ้านอยู่บ่อย ๆ แล้วการบ้านก็ต้องไม่ง่ายหรือยากเกินไป ทำผิดทำพลาดก็ได้ไม่เป็นไร ถือเป็นบทเรียน คนเรามีปัญญาเพราะทำการบ้านบ่อย ๆ บางทีก็ทำผิด แต่บทเรียนที่ได้ก็ทำให้เกิดปัญญา ไม่ใช่ว่าต้องทำการบ้านถูกทุกข้อถึงจะเกิดปัญญา ทำผิดก็ช่วยให้เกิดปัญญาได้ ถ้ารู้ว่าผิดเพราะอะไร ความผิดพลาดบางทีก็ทำให้เราเติบโตได้มากกว่าความสำเร็จด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจะฟุ้งซ่านแค่ไหนก็อย่าไปโมโหตัวเอง อย่าไปรำคาญหรือหงุดหงิดตัวเอง เด็กทารกเขาต้องล้มบ่อย ๆ ถึงจะเดินเป็น ข้อสำคัญคืออย่าท้อถอย และอย่าเร่งรีบก็แลว้กัน ต้องรู้จักคอยหรือให้เวลากับตัวเองบ้าง

การเจริญสติบางทีก็เปรียบเหมือนกับการปลูกต้นไม้ เราต้องขยันรดน้ำ พรวนดิน แต่ถึงจะขยันก็ใช่ว่าจะเห็นผลทันที กว่าต้นกล้าจะงอก หรือต้นไม้จะเติบใหญ่ ต้องใช้เวลา เราผู้ปลูกต้นไม้ขยันอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้จักคอยด้วย พร้อมกับมีศรัทธาหรือความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำนั้นจะต้องให้ผลในที่สุด ถ้าประกอบเหตุถูกต้องแล้วผลมันทนไม่ได้ต้องแสดงตนออกมาในที่สุด การปลูกต้นไม้ต้องอาศัยศรัทธา ศรัทธาคือความเชื่อมั่น เช่น แม้ตอนนี้จะมืด แต่ก็เชื่อมั่นว่าอีกไม่นานก็จะสว่าง ความหนาวจะหายไปความอบอุ่นจะมาแทนที่ ศรัทธาและการรู้จักคอยก็ทำให้เราทนกับความหนาวได้เหมือนกัน การปลูกต้นไม้ต้องอาศัยธรรมะหลายข้อ การเจริญสติก็เช่นกัน ต้องอาศัยธรรมะหลายอย่างเข้ามาประกอบ สติเมื่อเข้มแข็งแล้ว จะช่วยให้เราระลึกได้เร็ว รู้ตัวได้ไว เมื่อรู้ตัวรู้ตัวได้ไว เราก็ไม่เผลอเข้าไปในอารมณ์ เข้าไปในความคิดฟุ้งซ่านปรุงแต่ง เราจะวางจิตวางใจได้ถูกต้อง นั่นคือเพียงแต่ดูมัน รู้ว่ามันเกิดขึ้น เราไม่ต้องทำอะไรกับความคิด ไม่ต้องเข้าไปผลักไสไล่ส่งมัน แม้ว่าจะไม่ชอบ ก็เพียงแต่เห็นมัน อย่าประมาทอำนาจของการเห็น การเห็นเฉย ๆ นี้มีพลังในการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์

มีหนังเรื่องหนึ่ง ชื่อ A Beautiful Mind เป็นเรื่องราวของนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะ ซึ่งค้นพบหลักคณิตศาสตร์ที่เรียกว่าทฤษฎีเกมตั้งแต่ยังเรียนไม่จบปริญญาเอก ทำให้เขาได้รางวัลโนเบลในเวลาต่อมา เขาเป็นคนที่ฉลาดมาก คิดเก่ง คิดได้ไว แต่คิดไปคิดมาก็หยุดไม่ได้ จนผิดเพี้ยนไป คือเห็นภาพหลอนแต่นึกว่าเป็นจริงเป็นจัง เช่น เห็นสายลับรัฐบาล มาคอยติดตามเขา และชวนให้เขาทำงานต่อต้านสายลับต่างชาติ เขามีพฤติกรรมผิดเพี้ยนอยู่นาน จนต้องเข้าโรงพยาบาลประสาท ตอนหลังเขารู้ว่าสายลับคนนั้นเป็นภาพหลอนที่ปรุงขึ้นมาเอง แต่พยายามขับไล่เท่าไหร่มันก็ไม่ยอมไป มันคอยตามเขาไปทุกหนทุกแห่ง ตอนหลังถึงกับเข้าไปเตะต่อย ปลุกปล้ำ เพื่อไล่ให้ไป การทำเช่นนั้นกลับทำให้เขาแย่ลง เพราะใคร ๆ ก็เห็นว่าไอ้นี่มันบ้าเตะต่อยชกลมอยู่คนเดียว ตอนหลังเขารู้ว่าวิธีที่ดีที่สุดคือไม่ต้องไปสนใจมัน มันจะมาชักชวนหรือยั่วยุอย่างไรก็ทำหูทวนลม ไม่อินังขับขอบ ปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผล ภาพหลอนมาก่อกวนน้อยลง ถึงแม้จะไม่หายไปทีเดียว แต่นาน ๆ ถึงจะมาที มาทีไร เขาก็ไม่สนใจ ไม่พูดไม่คุยด้วย ทำงานของตัวเองต่อไป ตอนแรก ๆ ที่เขาทำทีไม่สนใจ มันก็พยายามยั่วยุ แต่เขาก็อดทน พอไม่สนใจมัน มันก็ทำอะไรไม่ได้ มีฤทธิ์น้อยลง จนไม่กลายเป็นปัญหาอีกต่อไป

เราอาจไม่เคยเจอภาพหลอน แต่มองให้ดีความคิดปรุงแต่ง ก็เป็นมายาไม่ต่างจากภาพหลอน มันเป็นมายาเพราะมันไม่มีจริง มันอาจจะเป็นอดีตซึ่งผ่านไปแล้ว หรือเป็นอนาคตซึ่งยังมาไม่ถึง ทั้งอดีตและอนาคตไม่ใช่ของจริง แล้วเราจะทำงานอย่างไรกับมัน คำตอบคือไม่ต้องทำอะไรกับมันทั้งสิ้น ไม่ต้องไปผลักไสไล่สง มันจะยั่วยุหรือเชิญชวน ก็ไม่ต้องสนใจ แล้วมันจะหายไปเอง จะทำอย่างนี้ได้เราต้องมีสติรู้ตัว สติช่วยทำให้เรานิ่ง ไม่เผลอไม่จมเข้าไปในอารมณ์เหล่านั้น

เห็นเฉย ๆ แต่ไม่ใช่ผู้เป็น อะไรจะเกิดขึ้นกับใจก็ตาม ขอให้เห็นเฉย ๆ เช่นความเครียด เราต้องเห็นมันนะ แต่อย่าไปเป็นผู้เครียด ความทุกข์เกิดขึ้นเราก็เห็นมัน แต่ไม่ใช่ผู้ทุกข์ “เห็น” กับ “เป็น” ไม่เหมือนกันนะ ใหม่ ๆ เราไม่เห็นหรอก แต่เข้าไปเป็นเลยเพราะลืมตัวไง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าความโกรธความเศร้ามันไม่ดีแต่ก็เข้าไปจ่อมจมอยู่กับมัน เพราะสติเราอ่อน แถมยังไปเพิ่มกำลังให้กับความโศกเศร้า เหมือนกับกองไฟที่ไหม้บ้าน แทนที่จะดับ ยังโยนฟืนหรือฉีดน้ำมันใส่เข้าไป การที่เราครุ่นคิดในอารมณ์เหล่านี้อยู่บ่อย ๆ ก็คือการเติมเชื้อให้มัน ทำให้มันเผาลนจิตใจเรา การครุ่นคิดถึงคนที่เราโกรธ ครุ่นคิดถึงเรื่องที่เราเครียด ครุ่นคิดถึงคนที่เราอาลัย การครุ่นคิดอยู่บ่อย ๆ ก็คือการเติมเชื้อให้อารมณ์เหล่านี้มีกำลัง จึงสามารถครอบงำจิตเรา

อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้บางทีก็เปรียบเหมือนกับแม่เหล็กขนาดใหญ่ แต่ใจเราเหมือนกับเหล็กก้อนเล็ก ๆ ที่ถูกแม่เหล็กดูดจนติดแน่น ไปไหนไม่ได้ อันนี้เป็นเพราะสติเราอ่อน นอกจากจะไม่เพิ่มพลังให้กับสติแล้ว เรายังไปเพิ่มพลังให้กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ด้วย

น่าแปลกไหม ทั้ง ๆที่เราไม่ชอบมัน ทั้ง ๆ ที่มันทำให้เราทุกข์แต่เราก็ยังเข้าไปจดจ่อและเพิ่มพลังให้มัน ปล่อยให้มันดึงจิตเราไปได้ทุกที ถ้าไม่อยากเป็นอย่างนี้ก็ ต้องเพิ่มความรู้ตัวให้เข้มแข็งขึ้น จะได้มีกำลังต้านทานแรงดึงดูดได้ มันจะดูดเราเข้าไปให้จมปลักในอารมณ์ เราก็ไม่ยอมเพราะเรามีสติแล้ว ใหม่ ๆ พยายามดึงทีไรก็เข้าไปในอารมณ์ความรู้สึกนั้นทุกที แต่พอมีสติมากเข้า ก็สามารถดึงจิตออกมาได้ รู้สึกตัวทีไร ระลึกขึ้นได้ทีไร ใจก็กลับมาสู่กายที่เป็นฐานของการปฏิบัติ อารมณ์ปรุงแต่งจะดึงไปแค่ไหน ก็ออกมาได้ จนกระทั่งรู้ทันมัน ไม่ยอมเผลอหลุดเข้าไปในอารมณ์เหล่านี้อีกต่อไป

ข้อสำคัญคือ ไม่ว่าคิดดีหรือคิดไม่ดี คิดบวกหรือคิดลบ รู้สึกสุขหรือทุกข์ มีปิติเบิกบานใจ หรือเหงาหงอยเศร้าสร้อย ก็ให้เพียงแต่รู้ว่าเกิดขึ้น เห็นเฉย ๆ ไม่ยินดียินร้าย อย่าไปคิดผลักไสหรือใจอ่อนอยากเข้าไปคลุกเคล้าคลอเคลียกับมัน บางทีเราต้องใจแข็งบ้าง อารมณ์เหล่านี้จะมายั่วยวน อ้อนวอนเราให้หลงเชื่อมัน หรือเข้าไปเสพมัน เราก็ต้องใจแข็ง อย่าไปเชื่อ ให้ถือว่านี่เป็นลูกไม้ของกิเลส มันจะต่อว่าเราอย่างไร ก็อย่าไปสนใจ

กิเลสมารนี่ฉลาดมาก มันมีลูกไม้สารพัด แม้แต่พระพุทธเจ้ามันก็กล้าเข้าไปต่อกรด้วยอย่างที่เคยเล่าให้ฟัง บางทีก็เข้าไปต่อว่าพระพุทธเจ้า บางทีก็เข้าไปหลอกล่อภิกษุหรือภิกษุณีที่ตั้งใจปฏิบัติว่า ตอนนี้อย่าเพิ่งประพฤติพรหมจรรย์เลย ยังหนุ่มยังสาว บริโภคกามก่อนดีกว่า ต่อเมื่อแก่แล้วจึงค่อยมาประพฤติพรหมจรรย์ก็ยังได้ บางทีก็มาหลอกให้กลัว เช่น ทำให้เกิดแผ่นดินไหว หรือปลอมเป็นงูใหญ่ จะได้เลิกปฏิบัติ กิเลสมารต้องการให้เราอยู่ในอำนาจของมัน มันจึงไม่ต้องการให้เราเจริญสติ คอยทำให้เราหลงในการปฏิบัติ มันจะมีลูกไม้มากมายสารพัดมาหล่อกล่อเรา แต่ถ้าเราปฏิบัติมากขึ้น มีสติมากขึ้น เราก็จะรู้ทัน สามารถที่จะรักษาจิตให้เป็นปกติ เป็นแค่ผู้เห็น

การเห็นนี่มีพลังมาก ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ไม่สามารถทนต่อการเห็นของสติได้ ในที่สุดก็ต้องสลายไป เหมือนหมอกเมื่อเจอแสงแดดก็จะค่อย ๆ เลือนหายไป ๆ เหมือนความมืดเมื่อถูกไฟฉายส่อง ก็หายไปเอง เราไม่ต้องไปขับไล่ความมืด ปล่อยให้แสงสว่างทำหน้าที่เอง แสงสว่างก็จะทำหน้าที่ของเขา เหมือนกับน้ำเสียเราไม่ต้องไปวิดออก เหนื่อยเปล่า ๆ เพียงแต่ปล่อยน้ำดีเข้าไป น้ำดีจะเข้าไปไล่น้ำเสียเอง

ในทำนองเดียวกัน เมื่อมีสิตเข้มแข็ง สติจะเข้าไปจัดการกับความรู้สึกนึกคิดที่ปรุงแต่งเอง แล้วความสงบจะเกิดกับจิตใจทีละเล็กทีละน้อย เมื่อความสงบเกิดขึ้นความปกติก็จะตามมา นี่แหละเป็นทั้งเบื้องต้นและเป็นผลของการปฏิบัติ เรียกว่าเป็นความสงบที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องปิดหู ปิดตา แม้เปิดหูเปิดตา แม้รอบตัววุ่นวาย แต่ก็สงบได้ เพราะสงบที่ใจไม่ใช่เพราะไม่ได้รับรู้อะไร

   
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: ตื่นรู้ที่ภูหลง : ปลูกสติกลางใจ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 20, 2010, 10:02:32 pm »
:13: อนุโมทนาครับ ขอบคุณครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~